แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉลาดมามาก คือ หยุดพูดหยุดคิดหยุดไปกับความรู้สึกที่เพ้อเจ้อ เหลวไหลทั้งหลายซะบ้าง หยุดสิ่งนั้นเมื่อไหร่ จิตย้อนเข้าข้างใน มีโอกาสได้ดูข้างใน มีโอกาสได้รู้จักใคร่ครวญว่าอะไร เป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตเราเป็นอย่างนี้ ระกำลำบากทั้งที่นั่งอยู่บนกองเงิน-กองทอง ตำแหน่งการงานก็ใหญ่โตแต่ทำไมมันลำบาก-มันระกำ ชีวิตนี้มันระหก-ระเหินนัก มันระหก-ระเหินที่ข้างใน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ นั่นแหละ หยุดดูเมื่อไหร่แล้วจะเห็น แล้วจะฉลาด แล้วทีนี้จะฉลาดจริง ก็ทั้ง อินเทลลิเจนท์( intelligence) ทั้ง วิสดอม (wisdom) มันจะมาผสมกันเข้า มันจะทำให้ชีวิตนี้เกิดความสมดุล เดินไปด้วยความมั่นคง ด้วยความสว่างไสวภายใน พร้อมด้วยสติ สมาธิและปัญญา
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ดูอยู่อย่างนี่ไม่ต้องทำอะไร จนกระทั่ง สภาวะของความนิโรธ คือความดับนั้นน่ะ มันแจ้งขึ้นชัดขึ้น ชัดขึ้นๆ จนมันไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าอยากจะติด จะข้องแวะ ข้องแวะ หรือเกี่ยวเกาะสักนิดนึงไม่มี มันเกลี้ยง โดยเฉพาะตัวตนนี้ ก็เห็นชัดว่า มันเป็นธาตุตามธรรมชาติ แล้วก็มองเห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ของตัวที่มองเห็นนี่ มันมองเห็นชัด แล้วเสร็จแล้ว สิ่งที่ 4 จะเกิดขึ้นภายใน นั่นคือความรู้สึกสลัดคืน ที่เรียกว่า..ปฏินิสสัคคะ
ปฏินิสสัคคะ : ป.ปลา ,ฏอ ปฏัก ,สระอิ , น.หนู , สระอิ , ส.เสือ , ส.เสือ ,หันอากาศ , ค.ควาย แล้วก็ ค.ควาย , สระอะ ... ปฏินิสสัคคะ ความรู้สึกสลัดคืน ก็คล้ายๆกับ โวสสัคคะ ที่พูดแล้วเมื่อวันก่อน คือ มันเป็นความรู้สึกที่พร้อมจะคืนให้ โดยเฉพาะก็คือร่างกายนี้,ชีวิตนี้ พร้อมที่จะคืนให้เจ้าของเดิม แล้วก็ไม่ได้บอกไม่ได้พูดนะ ไม่ต้องบอกไม่ต้องพูด แต่มันไม่มีความรู้สึกที่จะยื้อยุดเอาไว้เลย มองเห็นทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น พร้อมที่จะคืนให้แก่ธรรมชาติอย่างชนิดไม่ได้หวงแหน ไม่ได้เสียดาย ไม่ได้อาลัยแม้แต่เท่าขี้เล็บ เพราะรู้เสียแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันจึงไม่มีอะไรเป็นของเรา แล้วสิ่งที่ผู้ปฏิบัติทำ ทำอะไรก็จ้องดูลงไปที่ความรู้สึกของ ปฏินิสสัคคะ คือความรู้สึกที่ไม่เอาอะไรทั้งหมด มันปล่อย จ้องดูอยู่อย่างนั้นอย่างเดียวที่จุดนั้น จนความรู้สึกของ ปฏินิสสัคคะ หรือสลัดคืนชัดขึ้นชัดขึ้นๆ และภายในนั้นก็จะบังเกิดความรู้สึกที่เบาสบาย เบาสบายลอยตัว อย่างที่เรียกว่าลอยตัว มันลอยตัวด้วยความเบาสบาย เบาสบายเพราะมันไม่ติดไม่ยึดไม่มีความหนัก ที่เกิดจากการติดการยึดเหมือนเมื่อก่อนเลย มันเบาสบายมันเป็นอิสระ แล้วก็สามารถจะมองอะไรรอบตัวอย่างที่เป็นจริง อะไรที่เคยหมั่นไส้ก็เห็นเป็นธรรมดา อะไรที่เคยหงุดหงิดก็เห็นเป็นธรรมดา อะไรที่เคยทนไม่ได้ก็เห็นเป็นธรรมดา ไม่ต้องหงุดหงิดไม่ต้องหมั่นไส้ไม่ต้องทน เพราะมันเพียงแต่เกิดดับ เกิดดับๆ มันเป็นเช่นนั้นเอง มันไม่ใช่ตัวใช่ตนให้ยึดมั่นถือมั่น นี่มันมีแต่ความเบาสบาย มากขึ้น มากขึ้นๆ แล้วความรู้สึกผ่องใส เยือกเย็น อย่างชนิดที่เกิดจากความเป็นอิสระ อิสระภายใน
อย่างที่ไอสไตล์เขาบอกว่า พ้นจากโซ่ตรวน ของความเห็นแก่ตัว พ้นจากโซ่ตรวนของความเห็นแก่ตัว ที่เขาบอกว่าคนจะเข้าถึงศาสนาจำได้ไหมคะที่เราพูดกัน ก็คือ ผู้ที่สามารถปลดเปลื้องโซ่ตรวนออกจาก ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
ถ้าพูดเป็นธรรมะแบบของเราก็คือ เมื่อปราศจากความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นแก่ตัว มันเป็นความอิสระที่เกิดจากอันนั้น ความเห็นแก่ตัวมองไม่เห็น แต่อิทธิฤทธิ์ อิทธิพลของมันร้ายกาจมาก มันทำให้ชีวิตนี้ทั้งหนักทั้งเหน็ดเหนื่อย ทั้งทุกข์ทรมานเจ็บปวด เกลือกกลิ้งคร่ำครวญ สารพัด เลือดตกยางออกอยู่ข้างใน หยดติ๋งๆ ติ๋งๆ เพราะความยึดมั่นถือมั่น มันร้ายกาจมาก
ฉะนั้นความรู้สึกของความเป็นอิสระ ที่เบาสบายเพราะความเป็นอิสระ ก็คือไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความเป็นตัวของเรา ชื่อนี้ สกุลนี้ ตำแหน่งนี้ จะเป็นอาจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เป็นอะไรชั้นไหน ไม่มีความหมาย มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติทั้งสิ้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ดูอยู่อย่างนี่ จนจิตนั้นทวีความว่าง ที่นั่นเรียกว่า สุญญตา
สุญญตา ก็คือ สภาวะของความว่างที่เกิดขึ้นในจิต แต่ต้องเข้าใจว่างในที่นี้ ให้ถูกต้องนะคะ ความว่างในที่นี้หมายความว่า ว่างจากความรบกวนของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่างจากตัณหาด้วยกิเลส ว่างจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากอวิชชา เพราะจิตมันเต็มไปด้วยวิชชาแล้วตอนนี้ มันจึงว่างอย่างเป็นอิสระ ประกอบอยู่ด้วยสติ-สมาธิ-ปัญญาทุกขณะ เต็มไปด้วยสติ-สมาธิ-ปัญญาทุกขณะ มองไปทางไหน รอบด้านมันมีแต่ความประจักษ์แจ้ง สว่างอยู่ด้วยความประจักษ์แจ้ง ในสัจธรรมนั้น นี่คือ สัมมาวิมุติ นึกออกนะคะ สัมมาวิมุตติ ในสัมมัตตะ10 ที่เราพูดกันเมื่อพูดถึงอริยะมรรคมีองค์แปด สัมมาญาณะเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติเริ่มเห็น วิราคะในการปฏิบัติขั้นที่สอง เริ่มเห็นวิราคะความจางคลาย แล้วก็เริ่มเห็น นิโรธะ ความดับ นั่นสัมมาญานะ คือมีญาณทัศนะที่จะเห็นแจ้ง ค่อยๆปรากฏขึ้นตามลำดับ เมื่อถึงปฏินิสสัคคะ คือ ความรู้สึกสลัดคืนที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นใดๆจนจิตมีแต่ความรู้สึกว่าง พร้อมอยู่ด้วยสติ-สมาธิ-ปัญญาอย่างเป็นอิสระ อยู่เหนือความเป็นไปในโลก ทั้งๆที่ยังอยู่ในโลก นั่นคือสัมมาวิมุตติ เกิดขึ้นแล้ว
เพราะได้ปฏิบัติถูกต้องมาตามลำดับของอริยะมรรคมีองค์แปดทุกประการ ที่ว่าตามลำดับก็คือแปดองค์แรกปฏิบัติพร้อมกัน แล้วก็กระทำอยู่อย่างนั้น ๆ จนค่อยๆเกิดสัมมาญานะ แล้วก็สัมมาวิมุติ นั่นก็คือถึงสภาวะของจิตที่สงบเย็นสนิท ถ้าผู้ใดปฏิบัติจนถึงที่สุดจริงๆ นี่ก็คือนิพพาน แต่เมื่อยังไม่ถึง มันก็ขึ้นๆลงๆ ไม่เป็นไร ทีนี้ถ้าจะถามว่า แล้วเมื่อไหร่ถึงจะถึง ปฏินิสสัคคะ ก็ปฏิบัติมันไป ปฏิบัติไปมาไปมาๆ เพื่อกันเหน็ดเหนื่อย แต่ว่ามันก็จะปฏิบัติได้แต่ในเฉพาะขั้นที่หนึ่ง ของหมวดที่สี่คือดู อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างไม่เหนื่อย อย่างไม่ยอมแพ้ ดูไปจนกระทั่งค่อยๆเห็นทีละนิด แล้ววิราคะ นิโรธะ ปฏินิสสัคคะจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องไปยื้อยุด มันจะเกิดมาเองตามลำดับ
นี่ก็คือการปฏิบัติตามอานาปานสติทั้ง 16 ขั้น ผลที่สุด ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ในระดับสูง ระดับกลาง หรือระดับเบื้องต้นก็สุดแล้วแต่กำลังของการปฏิบัติของแต่ละท่าน ปฏิบัติน้อยก็ได้น้อย ได้เพียงความสงบ ได้เพียงสติก็ยังดี พอคุ้มครองใจไม่ให้ทุกข์เกินไป ไม่ให้มีปัญหาเกินไป ยังมีเวลาเย็นได้บ้าง ก็ยังดีกว่าที่จะร้อนตลอดเวลา ถ้าปฏิบัติมากขึ้นมาในระดับกลาง ก็จะมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ชัดขึ้นๆ ก็จะรู้จัดลด - ละความเห็นแก่ตัวได้บ้าง แล้วก็รู้จักทำอะไรตามหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยไม่ยึดตัวเองเป็นสำคัญ ก็เป็นที่ชื่นใจภูมิใจ ในตัวเองได้ เป็นความสุขที่จะทำให้ชีวิตมีความหมาย ชีวิตมีค่า ถ้าปฏิบัติจนถึงที่สุดจิตใจนั้นก็จะมีแต่ความเยือกเย็นผ่องใส พร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเป็นสวรรค์ทุกแห่ง สวรรค์ในที่นี่ก็คือหมายถึง ความสุขอันเย็นใจที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงภายใน เพราะสามารถจะกระทำชีวิตนี้ให้เป็นชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น คุ้มค่าแก่การเกิดมาเป็นมนุษย์
ถ้าหากมีอะไรสงสัยก็ คิดเอาไว้ในใจ แต่ก่อนที่จะคิดก็ใคร่ครวญดู แล้วก็ลองเอาไปทดสอบข้างในนะคะ แล้วมีอะไรก็พรุ่งนี้เขียนถามได้ แต่วันนี้ก็ต้องเอามาใคร่ครวญและลองปฏิบัติด้วยตัวเองก่อน เชิญพักได้ค่ะ