แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฆนะ คือความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้น ฆนะ ความหมายของ ฆนะ ความเป็นแท่ง,เป็นก้อน,เป็นชิ้น ซึ่งมันเป็นหน่วยรวมกันอยู่เป็นอันเดียว ความที่มันรวมกันอยู่เหมือนอย่างเช่นร่างกายนี้ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณมันรวมตัวกันอยู่ มันก็ดูเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นรูปร่างอย่างที่เราเห็นอย่างนี้ เราก็เลยมองไม่เห็นอนัตตา เข้าใจใช่ไหมคะ เพราะว่ามองมันก็เห็น จับต้องมันก็ได้ หยิกมันก็เจ็บ มันแสดงความเป็นตัวตน ความเป็นอัตตาให้เห็นชัด นี่ก็เพราะความเป็นก้อน ความเป็นแท่งในลักษณะของมัน หรือเสื้อกางเกงเครื่องนุ่มห่มที่เราใช้ เราก็มองไม่เห็นอนัตตาเพราะมันมีความเป็นก้อนเป็นแท่งคือรวมกันเข้าแล้วมันเป็น ๆหน่วยรวมในตัวของมันเอง หรือจะเป็นศาลานี้ จะเป็นบ้าน เป็นรถยนต์ เป็นเตียงนอน เป็นที่นอน เป็นหมอนสารพัด มันรวมกันอยู่เราจึงมองไม่เห็นความเป็นอนัตตาของมัน หรือแม้แต่ของกินอาหารน้ำพริกถ้วยหนึ่งใครเห็นอนัตตาของน้ำพริกบ้าง หรือรู้แต่ว่าแหมน้ำพริกถ้วยนี้เปรี้ยวไป เผ็ดไป หวานไป แหมรสชาตินี้กลมกล่อม เปรี้ยวหวานเค็มกำลังดี ก่อนที่จะเป็นน้ำพริกถ้วยนี้มันอาศัยปัจจัยอะไรที่มาประกอบกันเป็นน้ำพริก มันก็ต้องอาศัยกะปิ อาศัยกุ้งแห้ง แล้วแต่จะตำน้ำพริกอะไร ถ้าจะตำน้ำพริกปูก็อาศัยปูแล้วก็พริก มะนาว น้ำตาล กระเทียม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เอามาโขลกเอามาผสมให้อย่างได้สัดส่วนกันแล้วก็ปรุงมันเป็นน้ำพริก เราก็มองเห็นน้ำพริกถ้วยหนึ่งเราก็เห็นแต่น้ำพริกจนกว่าจะกินหมด เราก็ว่ามันหมดแล้วเอามาอีกถ้าอร่อยแต่เราไม่ได้นึกเลยว่าน้ำพริกนี่คืออนัตตามองไม่เห็น
แต่ถ้าเราจะดูให้ลึกซึ้งไปอีก สิ่งที่เรียกว่าเป็นกะปิ สมมุติกะปิกะปิที่เราเอามาทำน้ำพริก ถ้าเราหยิบกะปิมาขวดหนึ่งหรือว่าทางใต้บางแห่งเขาชอบทำกะปิเป็นแท่ง ๆ เขาทำเป็นแท่ง เป็นแท่งสี่เหลี่ยมแข็งเชียวยิ่งมองเห็นชัดใหญ่ว่านี่เป็นตัวกะปิไม่ใช่เป็นอนัตตา แต่ถ้าเราเอากะปินั้นมานั่งใคร่ครวญมองดูด้วยธรรมก็พอจะมองเห็นว่ากะปินี่มันเป็นกะปิอาศัยองค์ประกอบอะไร อาศัยเหตุปัจจัยอะไรใช่ไหมคะ แล้วเราก็จะค่อย ๆ มองเห็นว่า อ้อ ทุกอย่างเป็นอนัตตา
แต่เพราะ ฆนะ คือ ฆ-ระฆัง , น-หนู , สระ อะ .. ฆนะที่แหละมันจึงทำให้มองไม่เห็นอนัตตามันมองเห็นอะไรก็เป็นส่วนเป็นก้อนเป็นแท่ง ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเมื่อจะใคร่ครวญอนัตตาต้องรู้จักฝึกที่จะชำแหละ ชำแหละด้วยใจนะคะ ชำแหละมันออกไปทีละส่วน ละส่วน ละส่วน ละส่วน แล้วก็จะค่อยๆ เห็นชัดเองว่าทั้งหมดทั้งสิ้นผล ที่สุดก็คือสลายไปไม่มีอะไรคงทนได้เลยสักอย่าง ถ้าเป็นร่างกาย คือเป็นชีวิตคนก็ต้องแยกออกไปให้เป็นธาตุ นี่คือเรื่องของอนิจจตา ทุกขตา แล้วก็อนัตตตา
ทีนี้ผู้ปฏิบัติ ในขณะที่จะปฏิบัติในหมวดที่สี่ เราจะทำอย่างไร ท่านก็บอกว่าทุกขณะ ที่หายใจเข้าและหายใจออก ให้ดูลงไป ที่จุดของอนิจจังคือความไม่เที่ยง ทีนี้ก็จะมีคำถามว่าจะเอาอะไรมาดู นึกขึ้นมาสมมุติขึ้นมาหรืออย่างไร คำแนะนำก็คือว่าสำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่อย่างนี้นะคะ ไม่อยากให้นึกเพราะถ้านึกแล้วเผลอไปนิดเดียวมันจะกลายเป็นสังขารปรุงแต่งเอาอะไรต่ออะไรมาปรุงแต่งให้เกิดความติดเพลิดเพลินต่อออกไป ออกไปพ้นจากการใคร่ครวญธรรมเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว ฉะนั้นถ้าหากว่านึกไม่ออก ว่าจะเอาอะไรมาเป็นสิ่งที่พิจารณาอนิจจัง ก็ขอแนะนำว่าก็จงใช้ลมหายใจนั่นแหละ ลมหายใจนี่มีประโยชน์หลายอย่าง
ในหมวดที่หนึ่ง เราเจาะจงใช้มันเพื่อเป็นเครื่องพัฒนาความสงบ สติ สมาธิให้เกิดขึ้นพอมาถึงวิปัสสนาโดยตรง เราก็สามารถใช้ลมหายใจนี่นะคะ เป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนิจจังในขณะที่เรากำหนดจิตรู้ ลมหายใจเข้า-ออก จิตก็เป็นสมาธิหนักแน่นมั่นคง ใส ว่องไว เราก็ดูลงไปในขณะนั้นมันดูได้เองถ้าจิตสงบจริง มันจะค่อยๆ มองเห็นสภาพของลมหายใจที่ผ่านเข้า-ผ่านออก ผ่านเข้า-ผ่านออก บางทีก็หนัก บางทีก็เบา บางทีก็ช้า บางทีก็เร็ว ซึ่งมันเป็นไปเองโดยเราไม่ต้องบังคับแต่พอมองดูไป ดูไป ดูไปเท่านั้นจะค่อย ๆ เห็นสภาวะของความเป็นอนิจจังเริ่มดูที่อนิจจังก่อน ค่อย ๆ เห็นสภาวะของความเป็นอนิจจังเกิดขึ้นทีละน้อย ละน้อย ละน้อย และความที่เกิดขึ้นหมายความว่า มันเป็นความรู้สึกซึมซาบ ซึมซาบเข้าในใจถึงสภาวะของความเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยง ดูซิแม้แต่ลมหายใจที่ว่าเป็นของเรา เราก็บังคับไม่ได้เลยสักอย่างเดียว เราบังคับมันได้แต่เพียงให้สงบระงับ แต่จะบังคับให้มันเข้าอย่างเดียวนะ ออกอย่างเดียวนะก็บังคับไม่ได้ มันจะต้องเข้าบ้าง ออกบ้างเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง การที่ลมหายใจเข้าบ้างแล้วก็เปลี่ยนเป็นออกบ้าง นี่คือสภาวะของอนิจจังอย่างชัดเจน มันจะค่อยๆ ซึมซาบ ซึมซาบทีละน้อยมันไม่เกิดขึ้นเอง
ทีนี้พอใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการกำหนดอนิจจังชัดเจนขึ้น เรียกว่าค่อยชำนาญขึ้นก็ใช้เวทนาในหมวดที่สองนั่นแหละ ดึงมันมาอีก ดึงมันมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนิจจัง หรือถ้าเผอิญเวทนาเกิดขึ้นในจิตในขณะนั้น เกิดขึ้นในจิตในขณะนั้น ดูให้เห็นเป็นเวทนาอย่างใดชนิดใดอย่างที่ได้ปฏิบัติแล้วในหมวดที่สอง ต่อจากนั้นก็ดูความเที่ยงหรือไม่เที่ยงของเวทนานั้นในใจ จะเป็นเวทนาที่เป็นสุขเวทนา สุขเวทนาที่เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ซึ่งถือว่าเป็นเวทนาที่รวมกันในประเภทใหญ่ ๆ ได้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว มันก็ไม่เคยอยู่นาน เป็นเพื่อนกันรักกันคุยถูกคอกัน อาจจะได้สักสามปีพอต่อไปมันเกิดเหตุปัจจัยทำให้เกิดเหตุขัดใจ ไม่สามารถจะไปเที่ยวด้วยกันกินด้วยกันเล่นด้วยกัน หรือปรับทุกข์กันเหมือนอย่างแต่ก่อน มันไม่อยากพูดกันเพราะพูดแล้วมันเกิดความไม่เข้าใจเคยพบไหมคะ เคยมีบ้างไหม นี่แสดงถึงลักษณะของอนิจจัง
ฉะนั้นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมันก็มาจากสิ่งนี้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว และก็เพ่งดูให้มาก ๆ ที่เรื่องของความรัก ดูให้มากๆ ที่เรื่องของความรักไม่ใช่หมายถึงแต่เฉพาะความรักระหว่างเพศเท่านั้น ความรักระหว่างพี่น้อง ระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง ระหว่างลูกน้องของเรากับตัวเราเองกับสัมพันธภาพอื่นๆ ทั้งหมด แม้แต่ความรักต่อสถานที่ สถานที่ที่อยู่ที่เคยรักที่เคยพอใจอย่างชนิดที่ว่าจะไม่ยอมย้ายไปไหนอีกเลย จะไม่ยอมให้ใครเข้าล่วงล้ำมาในสถานที่นี้เลย มั่นคงไหม เที่ยงไหมอยากจะอยู่ที่นี้ต่อไปอีกไหม ที่นี้มันสงบ มันเงียบอากาศดีไม่มีคนรบกวน แต่เสร็จแล้วปัจจัยเหตุปัจจัยมันก็เกิดขึ้น
เดี๋ยวนี้เมืองขยายออกไปทุกทีเพราะอะไร ชนบทที่เคยอยู่เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเมืองความรักในสถานที่นั้นก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นี่เพราะมันถูกปรุงแต่ง มันมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งดูทุกขณะนะคะ หยิบเอาเวทนาทุกอย่างดูทุกขณะ และขณะใดที่ผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าสติมั่นคง สมาธิมั่นคงจะลองหยิบเอาประสบการ์ณในชีวิตที่ผ่านมา มาใคร่ครวญมาพิจารณาบ้าง ทั้งความสูญเสียทั้งความได้ ถ้าจิตมีสติมั่นคงมันก็จะไม่กระเทือนมากไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาในอดีตที่ผ่านมาแต่สามารถจะมองดูอย่างใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพิจารณาธรรม แต่ผู้ใดรู้สึกว่าจิตใจยังไม่เข้มแข็งหนักแน่นด้วยสติเพียงพอก็อย่าเพิ่ง เอาแต่สิ่งที่มองเห็นที่ใช้ได้ก่อนคือลมหายใจจนกระทั่งชัดเจน แล้วก็ร่างกายนี้นอกจากลมหายใจก็พิจารณาดูร่างกายนี้ นี่นั่งมองดูมืออย่างเดียวเท่านั้นหรือ ถ้ามีสติเอากระจกมาตั้งเข้าตรงหน้าแล้วก็มองดูพิจารณาใบหน้าตั้งแต่เส้นผม ตั้งแต่นัยน์ตาแววตา ผิวพรรณ ปาก จมูก แก้มดูซิมันยังเหมือนเดิม หรือมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ดูอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องคิดนะคะ ขอได้โปรดระวัง ทุกขณะที่หายใจเข้าและออกจดจ่อจิตดูลงไปที่จุดนี้ จุดของเรื่องของความไม่เที่ยง ไม่ใช่คิดว่ามันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้น จะไปร้องตะโกนไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง มันก็ไม่เกิดขึ้นในใจ นอกจากดู ดู จ้องมันลงไปจนภาวะของความไม่เที่ยงคือความเปลี่ยนแปลงมันเห็นชัด ตาเนื้อเห็นชัดแล้วมันก็ซึมเข้าในใจ จิตใจก็ซึมลงในความไม่เที่ยงนั้นชัดเจนอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเห็น แล้วก็ค่อย ๆ เห็นทีละน้อยจนกระทั้งชัดขึ้น พอเห็นสภาวะของความไม่เที่ยงคือความเปลี่ยนแปลงความเป็นอนิจจัง ทุกขังมันตามมาเอง จะมองเห็นทุกขัง คือ ความทนได้ยากตามมาเอง จะเห็นชัดเอง เห็นความน่าเกลียดของผิวพรรณหน้าตาที่มันเปลี่ยนแปลงไป หรือบางคนอาจจะสดสวยขึ้นเปล่งปลั่งขึ้น นั่นมันก็ไม่ได้เป็นไปเองมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยเหมือนกัน เช่นสุขภาพจิตดีขึ้น ปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิต จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นขึ้น ก็เป็นสาวขึ้นเป็นหนุ่มขึ้นรู้สึกตัวบ้างไหม นี่แหละยาชะลอความแก่ ไม่ต้องไปสถานเสริมสวยที่ไหนนี่เป็นยาชะลอความแก่จริง ๆ และเป็นยาชะลอความแก่ที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเสียสตางค์สักสตางค์
ถ้าสามารถฝึกฝนอบรมจิต อ๋อนี่มันสาวขึ้น ดูหนุ่มขึ้นเพราะว่ามันไร้ริ้วรอยของความวิตกกังวล ที่เมื่อก่อนนี้แบกอะไรต่ออะไรเอาไว้หนักเต็มบ่าเป็นของเราไปหมดบัดนี้รู้จักวาง เพราะรู้จักเปลี่ยนมาทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ให้ถูกต้องแล้วมันก็สบายใจที่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง เลือดลมมันก็ดีหรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่าเซลล์ต่าง ๆ มันก็ทำหน้าที่เพราะความเครียดไม่เกิดขึ้น มันก็ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามธรรมชาติ ความหนุ่ม-ความสาวตามที่ควรเป็นมันก็กลับคืนมา เห็นไหมคะความเครียดนี่ที่มันฆ่า ถ้าจะบอกเป็นพยัคฆ์ร้ายเจ้าความเครียดนี่เป็นพยัคฆ์ร้ายที่ฆ่าความหนุ่มความสาวให้กลายเป็นความแก่อย่างไม่รู้ตัวนี่ ดู ดูอย่างนี้ดูลมหายใจ ดูร่างกายนี้นั่งหยิบพิจารณา ถ้าเก่งก็หยิบกระจกมานั่งส่องหน้าลองดู กระจกส่องหน้าจะชี้ให้เห็นชัด แต่รักษาใจให้เที่ยง ๆ ในขณะที่ดู เที่ยงด้วยสติจะได้ไม่ล้มซวนเซไปกับสิ่งที่ปรากฏขึ้น ทั้งในทางบวกและในทางลบ แล้วจะเห็นชัดอนิจจังแล้วก็จะเห็นสภาวะของทุกขัง ความทนได้ยาก
ความทนได้ยากในทีนี้ เดี๋ยวจะว่า ว่าถ้ามันสาวขึ้น มันหนุ่มขึ้นทำไมถึงจะว่าทนได้ยากละ พอจะตอบตัวเองได้ไหมคะ ที่เราก็ยังใช้คำว่าทนได้ยากอยู่นั่น ลนทนได้ยากต่ออะไรตอบตัวเองได้ไหมคะ ต่ออะไร อะไรล่ะ ที่มันทำให้เปลี่ยนแปลง ต่อเหตุปัจจัย มันทนได้ยากเมื่อมีปัจจัยมาปรุงแต่งมันในทางที่ถูกต้องมันก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ถ้าปัจจัยที่มาเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ถูกต้องความเปลี่ยนแปลงมันก็เปลี่ยนแปลงไปในทางลบและสภาวะของความทนได้ยากก็สุดแต่ว่ามันจะออกมาในทางใด แต่ทุกขัง ก็ยังคงอยู่ในนั้นแล้วก็ดูไปเถอะดูไปไม่ต้องไปถามว่าอนัตตาอยู่ไหนยังไม่เห็น อนัตตาอยู่ไหน ไม่ต้องถาม ทุกขณะที่หายใจเข้าและออกดูอนิจจังให้ชัด ทุกขังจะตามมา แล้วเสร็จแล้วความรู้สึกหรืออนัตตาที่มันไม่ใช่ตัวตนของเราเลยจริง ๆ มันจะค่อย ๆ เกิดขึ้นในจิตทีละน้อยละน้อย ละน้อย อีกวิธีหนึ่งอาจจะใช้ได้อย่างบทสวดมนต์ ติลักขณาทิคาถา จำได้ไหมคะ บทสวดมนต์ ติลักขณาทิคาถา ที่พูดถึงไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลองไปสวดบทนั้นทั้งคำบาลีและก็ทั้งคำภาษาไทย สวดแล้วก็เดินไปเดินมาคือจะเดินจงกลม เอาใจอยู่กับลมหายใจไม่ได้ก็สวดบทนั้นอยู่ในใจทั้งบาลีและก็ทั้งคำไทยจะค่อย ๆ ซึมซาบกับสภาวะของความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดชึ้นทุกขณะที่หายใจเข้าและออกแล้วไม่ต้องทำอะไรเลยดูลงไปอย่างเดียว