แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นอกจากนี้ คุณค่าของไตรลักษณ์ก็คือ เป็นหลักประกันของศีลธรรมที่สมบูรณ์ เป็นหลักประกันของศีลธรรมที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ก็จะเห็นได้ว่า เรื่องของศีลธรรมนั้นได้มีการสอนกันมาเป็นไม่รู้กี่สิบกี่สิบปีมาแล้ว แต่ศีลธรรมก็ไม่ฝังรากลึกลงไปในใจมนุษย์อย่างมั่นคง จริงจัง และก็แพร่หลาย เรามักจะพูดกันในปัจจุบันว่า ศีลธรรมกำลังเสื่อม อันที่จริงตัวศีลธรรมนี้มันไม่ได้เสื่อม สิ่งที่เป็นธรรมมันคงสภาพของมันอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำของคนต่างหากที่หย่อนในความเชื่อ หย่อนในศรัทธา หย่อนการอบรมก็เลยประพฤติที่ไม่ได้อยู่ในครรลองของศีลธรรม แล้วก็เลยว่าศีลธรรมเสื่อม
ฉะนั้น ถ้าหมั่นศึกษาใคร่ครวญจนเข้าใจซึมทราบในเรื่องของไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี้ก็จะช่วยส่งเสริมหรือเป็นหลักประกันให้ศีลธรรมนั้นสมบูรณ์ จะไม่ได้ยินคนที่พูดว่า หยุด หยุดทำดีสักที ไม่ทำดีต่อไปอีกแล้ว ทำดีก็ไม่เห็นได้ดี นั่นก็เพราะมีความเสื่อมศรัทธา เสื่อมศรัทธาในผลที่เกิดจากการกระทำ แล้วก็มาโยนให้ว่าศีลธรรมเสื่อม เพราอะไรเขาจึงพูดเช่นนั้น ? เพราะว่าคนดีนั้นก็ยังกระทำอย่างยึดมั่น เพราะมองไม่เห็นไตรลักษณ์ แต่เมื่อใดที่เขาเห็นไตรลักษณ์ เขาประจักษ์ในผลของไตรลักษณ์ เรียกว่ามี ปรมัตถธรรม คือธรรมอันสูงสุดที่หมายถึงกฎของธรรมชาติเป็นหลักอยู่ในใจ เป็นรากฐานอยู่ในใจ ศีลธรรมนั้นก็จะไม่มีวันเสื่อมถอยไปจากจิตใจของเขาเลย ไม่ว่าชีวิตนั้นจะผิดหวัง จะต้องล้มเหลวสักกี่ครั้ง เขาก็จะมองดูที่เหตุปัจจัย แล้วก็พยายามแก้ไขมันพร้อมกับดูเหตุปัจจัยประกอบอื่น ๆ อีกด้วย ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ไตรลักษณ์เป็นหลักประกันของศีลธรรมที่สมบูรณ์เพราะเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งจะเป็นรากฐานของศีลธรรมให้มั่นคง แน่นอน
ทีนี้ สิ่งที่ควรจะพิจารณาในคำที่ใกล้เคียงกันนะคะ ที่จะเห็นพูดอยู่ในไตรลักษณ์ก็มี ในขันธ์ 5 ก็มี ในปฏิจจสมุปบาทก็มี คือคำว่า สังขาร อย่างเช่น ในไตรลักษณ์ก็จะได้ยินพูดว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
สังขารของไตรลักษณ์หมายความว่าอะไร ? ก็หมายความว่าสิ่งทั้งปวงที่เกิดจากการปรุงแต่ง ความหมายของคำว่า สังขาร นี้นะคะ สังขารของไตรลักษณ์นั้นหมายถึงสิ่งทั้งปวงที่เกิดจากปรุงแต่ง คือที่มันมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะเหตุปัจจัยมันปรุงแต่งให้เป็นเช่นนั้น เหมือนอย่างเช่น ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากแข็งแรงเป็นอ่อนแอ มีโรคภัยไข้เจ็บ นั่นก็เพราะเหตุปัจจัยที่มาเปลี่ยนแปลง เช่น กาลเวลาที่ผ่านไป การรักษาสุขภาพอนามัยไม่ถูกต้องทั้งการอยู่ การกิน การนอน อาหาร อากาศ อะไรเหล่านี้ เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องก็เป็นเหตุปัจจัยให้โรคร้ายเข้ามาได้ ที่ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือใจที่ไม่รักษาใจให้สามารถอยู่กับความสงบเย็นได้ ปล่อยให้ชีวิตประกอบด้วยความเครียด ความเครียดเป็นต้นเหตุของโรคดังที่เราได้กล่าวแล้วในวันต้น ๆ นี่คือ เหตุปัจจัยที่มันปรุงแต่ง นี่คือสังขาร ฉะนั้น ที่บอกว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ที่มันไม่เที่ยงก็เพราะมันเกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ คือจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มาปรุงแต่งให้มันเป็นอย่างนั้น หรือสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ก็คือสิ่งต่าง ๆนั้น สิ่งทั้งปวงนั้นมันเป็นทุกข์ มันอยู่ในสภาวะทนได้ยากเพราะมันเนื่องจากความไม่เที่ยงที่มันเป็นสภาวะอยู่ในตัวของมันเองตามธรรมชาติ แต่ก็จะสังเกตนะคะเมื่อพูดถึงอนัตตาท่านไม่ใช้ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ท่านใช้ว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั่นก็คือไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย เพราะธรรมมันมีอยู่ 2 อย่าง อย่างหนึ่งท่านเรียกว่า สังขตธรรม ส เสือ ไม้หันอากาศ ง ข ไข่ ต เต่า สังขตธรรม สังขตธรรมก็คือธรรมที่ปรุงแต่งได้ หมายถึงสิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ เช่น ใจที่ยังไม่ประกอบด้วยวิชชา พอเกิดผัสสะขึ้นมันก็ปรุงแต่งไปได้ต่าง ๆ นานา เป็นทุกข์ เป็นสุขอย่างนั้น เป็นต้น นั่นเรียกว่า สังขตธรรม หรือว่าดิน หิน กรวด ทรายมันอยู่แต่ตัวของมันเอง แต่มันก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้มันเป็นอย่างอื่น พอมารวมกันเข้าก็เป็นคอนกรีต เป็นเสา เป็นพื้น อะไรอย่างนี้ เป็นต้น นั่นคือสิ่งทั้งปวงที่เกิดจากการปรุงแต่งได้
แต่ส่วนอนัตตาท่านบอกว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาทั้งที่เป็นสังขตะ และ อสังขตะ ธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ อสังขตะ เติมตัว อ เข้าไปหน้าสังขตะ อสังขตะก็คือธรรมที่ปรุงแต่งไม่ได้มันจะคงสภาพอย่างนั้น คือ นิพพาน สภาวะของนิพพานเป็นอสังขตะ นิพพานที่แท้จริงจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไป นี่ ท่านจึงบอกว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่ เป็นความหมายของสังขารในไตรลักษณ์นะคะ เป็นสังขารที่ไม่ต้องการจะเรียกร้องให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น หรือเกิดความสะเทือนใจทั้งในทางบวกและทางลบ สังขารในไตรลักษณ์เพียงจะบอกว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ตามธรรมชาติเท่านั้นเอง
ส่วนสังขาร สังขารขันธ์ในขันธ์ 5 หมายถึงสภาวะที่ปรุงแต่งจิต เพราะว่ามันเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต คงจำได้นะคะที่ตั้งแต่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ 4 ขันธ์หลังนี้เป็นลักษณะอาการของจิต หรือบอกให้รู้ว่าจิตมีความสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ในลักษณะอย่างนี้ คือ รู้สึก รู้จำ รู้คิด รู้นึก แล้วก็รู้จัก วิญญาณที่รู้จักนี้ถ้าได้รับการพัฒนา ปลูกฝัง อบรมอย่างถูกต้องวันหนึ่งก็จะถึง รู้แจ้ง แต่โดยทั่ว ๆ ไปนี้ก็แค่ รู้จัก เพราะว่าอวิชชาบ้าง วิชชาบ้างนิดหน่อยเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนวันใดวิชชาเต็มที่ เมื่อนั้นวิญญาณนี้ก็จะไม่แต่เพียงรู้จักแต่จะรู้แจ้ง แจ้งในอะไร ? แจ้งในสัจธรรม
ทีนี้ สังขารในปฏิจจสมุปบาทนั่นก็คือการปรุงแต่ง คือการคิดนึกปรุงแต่งต่าง ๆ เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่เป็นหัวแถวอย่างที่พูดแล้วเมื่อวานนี้ ฉะนั้น เมื่อเห็นคำว่า สังขาร มีอยู่ในทั้ง 3 เรื่องก็โปรดเข้าใจว่ามันมีความหมายในเฉพาะเรื่องของมันอย่างนี้นะคะ
ทีนี้ ทั้ง ๆ ที่เราพูดว่า ไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเป็นสัจธรรมที่แสดงตัวมันอยู่ทุกขณะไม่เคยหายไปไหนเลย ทุกขณะที่เรากำลังหายใจอยู่นี้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแสดงตัวของมันอยู่ แต่ทำไมเราจึงไม่รู้ หรือทำไมจึงไม่เห็น ? หรือทำไมจึงไม่ยอมมอง ไม่ยอมสัมผัส ไม่ยอมศึกษา ? และก็ยิ่งกว่านั้น ไม่ยอมเชื่อ บางท่านไม่ยอมเชื่อ ท่านบอกว่าสิ่งที่มาปิดบังไตรลักษณ์ที่ทำให้มนุษย์ที่ไม่ได้สนใจจะศึกษาข้างในมัวแต่วุ่นวายอยู่กับข้างนอกจะมองไม่เห็น ก็เพราะเหตุว่ามันเป็น สันตติ สันตติ ส เสือ ไม้หันอากาศ น หนู ต เต่า และก็ ต เต่า อีกตัวหนึ่ง สระอิ สันตติ สันตติหมายความว่ามันเป็นความสืบต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดตอน ท่านเปรียบเหมือนกับกระแสไฟฟ้า เรารู้แต่ไฟฟ้าว่าพอเปิดเข้าเปิดสวิตซ์เข้าไฟฟ้าก็มา ปิดสวิตซ์ก็ดับ แต่ผู้ที่ไม่ได้เรียนในเรื่องของวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าก็จะไม่รู้ว่าไฟฟ้าที่มันเป็นไฟฟ้ามันมาจากอะไร นั่นก็คือไม่รู้เรื่องของกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่ทำให้มีไฟฟ้าเพราะว่ามันมีความต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดตอน เมื่อใดมันขาดตอนไฟฟ้าก็เสีย เปิดแล้วไม่ติด เช่นเดียวกันกับร่างกายของเรานี้มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะแต่เรามองไม่เห็น เพราะเราอยู่กับมันตลอดและก็อยู่อย่างประมาทด้วย เราจึงไม่เคยสนใจว่าร่างกายนี้มีความเปลี่ยนแปลง ใช่ไหมคะ ? จนกระทั่งวันไหนเห็นผมขาวปรากฏขึ้นบนศีรษะ นั่นแหละ สะดุ้งขึ้นมา เอ.. ผมเคยดำสลวยเป็นธรรมชาตินะคะไม่ใช่ดำย้อม มันดำสลวยอยู่อย่างนี้ตลอดเวลาแล้ววันนี้ทำไมมันถึงขาวขึ้นมา ? สะดุ้ง ตกใจสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้มีสติใคร่ครวญในเรื่องของชีวิตของตัวเลย ก็นี่ก็เพราะไม่ดูจึงเห็นเอาเมื่อมันขาวเสียแล้ว ก็ต้องรีบเข้าร้านทำผม ย้อม จะเป็นย้อมดำ ย้อมแดง ย้อมเทา ย้อมเงินก็แล้วแต่ ทำให้มันเปลี่ยนไปเสียเพื่อไม่ให้มันมองดูน่าเกลียด หรือบางทีเพื่อนกันจากกันไปซัก 3 ปี พอกลับมาพบกันเข้าก็ทักทาย แหม เธอเปลี่ยนไปมาก เธออ้วนไป เธอผอมไป เธอแก่ไป เธอสาวขึ้น เธอดูแข็งแรงดี ทำไมเธอดูขี้โรคอย่างนี้ ? ที่ทักกันอย่างนี้นั่นคือแสดงอะไร ? แสดงอนิจจัง ใช่ไหมคะ ? แสดงอนิจจัง เพราะฉะนั้น ร่างกายนี้ที่มนุษย์เราไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเพราะเราอยู่กับมันทุกวัน อยู่กับมันทุกวันจนชิน จนชินจนมองไม่เห็นแล้วก็ทึกทักว่าเป็นของเราด้วย เราจึงมองไม่เห็น เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่ง ต้นหญ้า ดอกไม้ ดอกบัว หรือว่าสัตว์ไก่แมว หมา ปลา เต่า ทุกอย่างมันมีความเปลี่ยนแปลงแต่เราไม่เห็น เพราะในความเปลี่ยนแปลงนั้นมันเป็นอย่างสันตติคือต่อเนื่องกัน ท่านเปรียบเหมือนกับใบพัด อย่างพัดลมนี่นะคะพัดลมที่กำลังพัดอยู่ ที่เหมาะที่อยู่ตั้งอยู่หลายที่ในห้องประชุมนี้ ในขณะที่กำลังพัดอยู่อย่างนี้เราเห็นไหมว่ามีกี่ใบพัด ? ไม่เห็น เราเห็นแต่มันพัดกันอย่างต่อเนื่องจนมองดูแล้วเหมือนกับเป็นอันเดียวกัน ใช่ไหมคะ ? เหมือนกับเป็นอันเดียวกัน นี่ อาการของใบพัดลักษณะอย่างนี้คืออธิบายถึงสันตติ ที่ว่าสันตติหมายความว่าอย่างไร ? มันคืออย่างนี้ มันคือต่อเนื่องกันอย่างนี้จนทำให้ผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างประมาทคิดว่ามันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ท่านจึงบอกว่า สันตติ คือ ความสืบต่อเนื่อง หรือ ความเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนนี่เองที่มันปิดบังอนิจจลักษณะ หรือ อนิจจตา ไม่ให้มนุษย์ได้สังเกตเห็น ฉะนั้น เมื่อเราทราบก็อย่ายอมตกเป็นทาสของสันตติ
ทีนี้ สิ่งที่ปิดบังทุกขังหรือหรือทุกขลักษณะ คือ อิริยาบถ อิริยาบถความเคลื่อนไหวในแต่ละท่วงท่า อิริยาบถก็คือการยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง นี่พูดถึงสำหรับคนนะคะ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถจากพับเพียบซ้ายเป็นขวา จากขวาเป็นซ้าย จากนั่งพับเพียบเป็นขัดสมาด จากนั่งกับพื้นไปเป็นนั่งเก้าอี้ นี่คืออิริยาบถที่เราเปลี่ยน เพราะฉะนั้น มันก็ อิริยาบถก็หมายถึงความยักย้ายเคลื่อนไหวถ้าจะแปลง่าย ๆ ความยักย้ายเคลื่อนไหวที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ ก็เลยทำให้ไม่ค่อยจะเห็นทุกขลักษณะ ก็ประมาทต่อทุกขลักษณะคือความทนได้ยากที่มันเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องของร่างกาย เรื่องของผัก เรื่องของปลา เราเปลี่ยนมันยักย้ายไปโน่นมานี่เราก็ไม่ค่อยจะเห็นทุกขลักษณะของมัน แต่ถ้าทิ้งมันไว้ที่เดียวแม้แต่จะทิ้งเอาไว้ในตู้เย็น ถ้าไม่เปลี่ยนมันเลย มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ