แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพราะมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบต่างๆมาคลุมกันเข้า แล้วแต่ละอย่างนั้นก็ทำหน้าที่ ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านั้นหรือปัจจัยเหล่านั้นมันยังคลุมกันอยู่ แล้วก็ยังทำหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง สิทธิ์นั้นก็ยังอยู่ แล้วผู้ที่ไม่ศึกษาเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง ก็เลยยึดมั่นถือมั่นว่า มันเป็นอัตตา แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่เช่นนั้น เหมือนอย่างบ้าน เรามองดูบ้านหลังหนึ่ง หรือศาลาหลังนี้ เป็นต้น มันมองดูเป็นรูปร่างศาลา หรือมันมองดูเป็นบ้านแต่ละหลังๆ จะเป็นบ้านไม้ เป็นบ้านตึกก็ตาม มันเกิดเป็นบ้านขึ้น เพราะอาศัยองค์ประกอบหรืออาศัยปัจจัยอะไร ลองนึกสิคะ สร้างบ้านหลังหนึ่ง สร้างศาลาอย่างนี้ขึ้นมา อาศัยอะไร ไม้อย่างเดียวได้ไหม อิฐอย่างเดียวได้ไหม ปูน ทราย อย่างเดียวได้ไหม หิน ซีเมนต์ อย่างเดียวได้ไหม ดิน อื่นๆอีกเยอะแยะ ตลอดจนกระทั่งเหล็ก แล้วก็แปลงมาเป็นรูปที่เล็กออกไปอีก เช่น ตะปู เสา บานหน้าต่าง อะไรต่างๆเหล่านี้ นี่คือองค์ประกอบหรือปัจจัยต่างๆ ที่มาเป็นองค์ประกอบ มาคลุมกันเข้า เพราะว่าผู้สร้างมีความเข้าใจ ก็จับสิ่งเหล่านี้ทั้งหลายมารวมกันเข้า ตั้งแต่ทํา หิน กรวด ทราย ซีเมนต์ ให้มันรวมตัวกันเข้า แล้วก็เอามาทำเป็นเสา เป็นคอนกรีต เป็นพื้น อย่างนี้เป็นต้น หรือเป็นตึกก็ทำเป็นฝาไปด้วยในตัว บางแผ่นก็ใช้เป็นคานไปด้วยในตัว สิ่งเหล่านี้เอามารวมกันเข้าเป็นองค์ประกอบ แล้วเคยเห็นบ้านทลายบ้างไหมคะ? เคยเห็นไหมบ้างไหมค่ะ บ้านทลาย? ทลายเพราะลมพายุ ทลายเพราะมีสิ่งกระทบ เช่น เขาเอารถมาไถเข้าไป หรือว่าทลายเพราะเขารื้อลง เขาต้องการที่จะสร้างใหม่ปลูกใหม่ หรือต้องการเนื้อที่นั้น พอเขาทลายมันลง หรือเขารื้อลง องค์ประกอบเหล่านี้มันรวมกันอยู่ไหมค่ะ มันก็ไม่รวม ยิ่งคนที่รื้อ เป็นคนหยาบ รื้อก็โยนๆ ๆ ๆ โยน ลงมาจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันหาได้รวมกันอยู่เป็นรูปเป็นร่างไม่ แต่เมื่อมันคลุมกันอยู่ มันรวมอยู่ด้วยกัน ก็มองดูเหมือนกับว่ามันเป็นตัวเป็นตน เป็นจริงเป็นจัง แต่ที่จริงมันหาใช่ไม่ พอเราแยกแยะออกมา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเวลาที่ มันแยก แตกทำลายเพราะการรื้อหรือการถูกทำลาย อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือตัวอย่างที่ขอได้ลองหมั่นดูเราจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับรถ รถยนต์คันหนึ่ง ที่เราเรียกว่ารถยนต์เพราะมันประกอบเข้าเป็นรูปร่าง ตามที่สมมุติเรียกกันเรียกว่า ถ้า รูปร่างอย่างนี้ เราเรียกว่ารถยนต์ แต่รถยนต์คันนั้นอันที่จริงแล้วมีองค์ประกอบหรือปัจจัยอะไรบ้าง ประกอบด้วยอะไร ตัวถัง หลังคา เครื่องยนต์ รถ พวงมาลัย แล้วก็ส่วนต่างๆภายในรถนั้น เบรก ครัช เกียร์ คันเร่ง อีกตั้งหลายอย่าง นี่มองดู ในส่วนที่มันเป็นในส่วนของรถยนต์แล้ว แต่ถ้าเราแยกออกไปอีก เราก็จะได้เหล็ก ได้สังกะสี หรือว่าได้ล้อรถ ได้ยาง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นต้น ได้เครื่องจักร ที่มันมารวมตัวกันเข้าเป็นตัวรถยนต์ แต่พอเราเอารถยนต์ไปยกเครื่อง เห็นไหมคะ ความแตกแยกของส่วนต่างๆ เมื่อเขายกเครื่องเพื่อจะทำมันอันใหม่ให้ดี เขาก็ต้องแยกส่วนนั้นส่วนนี้ออกจากกัน หรือเมื่อต้องการที่ จะขายทำลายเป็นของเก่า ขายอย่างของเก่าเขาก็รื้อออกไป อย่างชนิดที่จะคุมกันไม่ติดอีกแล้ว เหมือนอย่างกับรื้อบ้านที่ทลายลง นี่คือแสดงถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่เวลาที่ได้รถมาใหม่ คนบางคนนั้นเอาชีวิตจิตใจไปผูกไว้กับรถ พอขึ้นนั่งก่อนจะขึ้นนั่ง ลูบคลำ มีรอยขีดอยู่ตรงไหนไหม ถ้าวันนี้ไปจอดตรงไหน โดนเด็กมือบอนมาขีดหรือเอาอะไรมาทำให้สกปรก ก็หัวฟัดหัวเหวี่ยง นี่เห็นไหมคะ ที่ท่านบอกว่า ยึดมั่นสิ่งใดก็เป็นทุกข์กับสิ่งนั้น ยึดรถยนต์ก็จะเป็นจะตายกับรถยนต์ ถ้ารถยนต์เผอิญไปถูกอุบัติเหตุอะไรเข้าก็แทบจะขาดใจตาย ตรงรอยบุบของรถยนต์ตรงข้างหน้า หรือว่าบังโคลน หรือว่าตรงท้าย มันเหมือนกับรอยบุบที่หัวใจของเจ้าของ คือมันกระแทกเข้าไปถึงหัวใจของเจ้าของ เจ็บปวดไปด้วย นี่เพราะยึดมั่นถือมั่น ว่ารถยนต์นั้นเป็นตัวเป็นตน ไม่เคยได้มองให้ทะลุลงไปถึงความเป็นจริงว่า ที่มันเป็นรถยนต์ขึ้นมาได้เพราะมันอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆที่มาคลุมกันเข้ารวมกันเข้า แล้วมันก็ยังอยู่ในลักษณะสมบูรณ์มันจึงทำหน้าที่ได้ เท่านั้นเอง ไม่เคยสังเกตเลย แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คนนี่แหละ ที่เรียกว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ที่เราได้เคยพูดกันแล้ว ก็เพราะว่าธาตุต่างๆ ทั้ง 6 ธาตุ มันประชุมรวมกันอยู่แล้วก็ทำตามหน้าที่ของมัน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ มันก็เป็นคน เป็นชีวิต แต่เมื่อใดเมื่อธาตุนี้มันไม่ทำหน้าที่ มันไม่คลุมกันอยู่เพราะมันต้องแตกสลายไปตามกฎของธรรมชาติ คนนั้นก็สลายไป มนุษย์นั้นก็สลายไป ชีวิตนั้นก็ไม่มีแล้ว แต่ก็ไม่ได้สังเกตนะคะ เราพูดเรื่องธาตุมามากแล้วก็ไม่ต้องพูดซ้ำอีก นี่คือลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านบอกว่าไตรลักษณ์นั้น มีคุณค่าเป็นอันมากกล่าวได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม ที่ว่าเป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม จริยธรรมก็คือสิ่งอันควรประพฤติ ควรปฏิบัติ ควรกระทำ จริย-จริยาก็หมายถึง ประพฤติ เป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม ทำไมถึงว่าไตรลักษณ์เป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม นั่นก็หมายความว่า ตราบใดที่บุคคลใดไม่เห็นไตรลักษณ์ บุคคลนั้นย่อมจะมีชีวิตอยู่ด้วย ด้วยอะไร ด้วยความเห็นแก่ตัวใช่ไหมคะ เห็นแก่ตัวเพราะยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นในฉัน แล้วก็มีของฉันเป็นบริวารนับไม่ถ้วน ฉะนั้นจริยธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงแม้คนนั้นเป็นคนดี พยายามจะกระทำดี พยายามจะทำอะไรให้ถูกต้อง แต่มันก็ถูกต้องไม่ได้อย่างแท้จริง มันกระพร่องกระแพร่ง มันขาดๆวิ่นๆอยู่บ่อยๆเพราะอะไร ก็เพราะเมื่อไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ย่อมจะมีความยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือชีวิตนี้ ร่างกายนี้ ว่าเป็นฉัน ฉะนั้นจริยธรรมที่แท้จริง เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะชีวิตนั้นคนนั้นยังคงมีความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือนอยู่ ท่านจึงบอกว่าไตรลักษณ์เป็นจุดกำเนิดของ จริยธรรม
ถ้ามนุษย์เราพยายามที่จะศึกษาจนกระทั่งจิตใจซาบซึ้ง เข้าไปในไตรลักษณ์ได้ ความเห็นแก่ตัวค่อยลดลง ความเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น การกระทำต่างๆ ที่จะเป็นการเบียดเบียนกันก็พยายามที่จะไม่กระทำ ศีลที่อุตส่าห์สมาทานไว้ เอาแค่ศีล 5 ที่เป็นพื้นฐานอย่างสำคัญ นี่แหละก็จะสามารถรักษาไว้ได้โดยไม่ด่างพร้อย แต่ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังมีความเห็นแก่ตัวเพราะความยึดมั่นถือมั่นเนื่องจากไม่ประจักษ์ในไตรลักษณ์ ตราบนั้นก็ยังเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ คือ คนที่สามารถกระทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแล้วตัวเองก็ไม่เป็นทุกข์ไม่ได้ เมื่อนั้นจริยธรรมที่แท้จริงก็ยังไม่เกิด
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ไตรลักษณ์นั้นเป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม จะเตือนใจมนุษย์ไม่ให้ประมาท เมื่อมีสุข คือได้สิ่งที่สมมุติเรียกกันว่าสุข ก็ไม่ประมาทลิงโลดแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น แต่จะมีสติเตือนตนเองว่า แม้สิ่งที่ได้ที่มีนี้จะดีงามเพียงใดน่ารักน่าชมเพียงใดมีค่าเพียงใด มันก็ตกอยู่ภายใต้กฎ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง แต่เมื่อมีก็ใช้มันไป เมื่อได้ก็รักษาไว้เท่าที่ควรจะรักษา แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น เช่นเดียวกับเมื่อเป็นอะไร คือ อยู่ในตำแหน่งอะไร ก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด โดยไม่ต้องยึดมั่นเก้าอี้ เก้าอี้มันจะเป็นเก้าอี้ของคนอื่นเมื่อไหร่ ก็ตัวเบา เดินได้สบาย ไม่ต้องใจวูบโหวงเหวงเมื่อถูกเก้าอี้เขาดึง เก้าอี้ถูกเขาดึงไปเสียแล้ว เพราะว่าไม่ต้องมีความยึดมั่น แต่ทำหน้าที่ ฉะนั้นนี่คือเตือนใจไม่ให้ประมาท หรือเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจ คือ ความทุกข์ก็ไม่ถึงกับเสียสติ ไม่ถึงกับ ซวดเซตั้งตัวไม่ได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า แม้แต่สิ่งที่เป็นความทุกข์ ที่ไม่น่าดู ไม่น่าชม ไม่น่าเอาเพราะมันน่าเกลียด ก็รู้ว่า มันไม่เที่ยง วันหนึ่งมันก็เปลี่ยนไป กฎของไตรลักษณ์ไม่เคยยกเว้นให้ใคร ไม่มีใครจะสามารถอยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์ไปได้ ทุกคน ทุกชีวิต ไม่มีอยู่เหนือใคร ไม่มีใครอยู่เหนือกฎไตรลักษณ์ได้ พอนึกได้เท่านี้ จิตที่กำลังแป้ว แฟบ เพราะความหมดหวัง ความทุกข์ ความเสียใจ ก็จะเกิดกำลังใจที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไปทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม จะช่วยสามารถให้ผู้ที่สามารถประจักษ์ในไตรลักษณ์ แม้จะไม่ประจักษ์อย่างเต็มที่และถาวร แต่พอประจักษ์เท่านั้นแหละนะคะ ความจางคลายเกิดขึ้น ความจางคลายในความยึดมั่นเกิดขึ้น ก็จะมีกำลังใจกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อตนเอง เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อครอบครัว ถ้าพูดง่ายๆก็คือเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมาคอยคิด ว่าประโยชน์นี้จะเกิดขึ้นกับใคร ใครจะได้ เราหรือเปล่า พวกพ้องของเราหรือเปล่าไม่สำคัญ
นอกจากนี้ท่านบอกว่า ไตรลักษณ์นี้เป็นที่บรรจบของ โลกียธรรม และ โลกุตรธรรม โลกียธรรมก็คือธรรมะอย่างโลกๆก็เช่น ความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด ความได้ ความเสีย ความชอบ ความชัง สิ่งที่เป็นสิ่งคู่ทั้งหลายนี้มันเรียกได้ว่าเป็นโลกียธรรม คือเป็นธรรมะของ คนโลกๆที่ยังยึด ยึดมั่นถือมั่นทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบวกทั้งลบ เมื่อยังไม่เห็นไตรลักษณ์ก็ยังยึด ยึดไปยึดมา ยึดมากยึดน้อย ก็ยังคงยึด แต่เมื่อใดที่ค่อยๆประจักษ์ในไตรลักษณ์ โลกุตรธรรมจะเกิดขึ้นในใจ โลกุตรธรรมก็หมายถึงธรรมที่อยู่เหนือโลก โลกุตร หมายถึงเหนือโลก เหนือโลกก็คือเหนือความยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นจริง มันจะต้องคงอยู่ มันจะไม่มีวันเปลี่ยน ไม่มีวันสูญสลาย โลกุตรธรรมนี้เป็นธรรมที่อยู่เหนือโลก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เหนือโลกก็คือ เหนือความยึดมั่นถือมั่น จะไม่ตกเป็นทาส ของสิ่งที่เคยพอใจ เคยติดใจ หรือว่าเคยเป็นทุกข์อย่างสาหัสเพราะมัน มันไม่มีความหมาย มันเป็นแต่เพียงสิ่งสั่งว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้นเอง นี่คือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยโลกุตรธรรม คือสามารถมองเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นจริงโลกุตรธรรม คือธรรมที่อยู่เหนือโลก ตัวก็ยังอยู่ในโลกนะคะ เดินไปเดินมา ทำอะไรต่ออะไรเหมือนคนอื่นเขาเนี่ย แต่ภายในมันเปลี่ยน แม้จะพูดก็ ยังคงพูดเหมือนเดิม จะพูดกับลูกกับคุณพ่อคุณแม่ หรือจะพูดกับพี่น้องหรือพูดกับเพื่อนร่วมงาน หรือพูดกับใครๆ คำพูดวาจาก็ยังใช้เหมือนเดิม แต่ข้างในนั้นมันไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเอา.. จะต้องเอาให้ได้อย่างนี้ แต่พูดเพราะรู้ว่าควรจะต้องพูดอย่างนี้ เพื่อความถูกต้องที่จะเกิดขึ้นในการทำงาน หรือเพื่อเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลที่กำลังพูดด้วยก็พูด แต่ใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า เขาต้องทำตามฉัน แล้วสิ่งที่เราพูดไปนี้ต้องถูก ต้องใช้ได้ ต้องเห็นผล ไม่มีความหวัง ไม่มีความยึดมั่นอย่างนั้น แต่ทำ พูด เพราะเห็นเป็นสิ่งที่ควรทำ นี่คือความรู้สึกที่แตกต่าง ท่านมีคำกล่าวที่บอกว่าผู้ที่ประจักษ์แจ้งในธรรมแล้วนั้น จะต้องเป็นเสมือนกับผู้..ปากอย่างใจอย่าง
แต่ปากอย่างใจอย่าง ในที่นี้เป็นภาษาธรรมไม่ใช่ภาษาคน ถ้าภาษาคน บอกว่าคนนี้เป็นคนปากอย่างใจอย่างแสดงว่าคนนี้เป็นคนยังไง คบได้ไหม? คบไม่ได้ หน้าไหว้หลังหลอก ปากหวานก้นเปรี้ยว ปากอย่างใจอย่าง อย่างภาษาโลกนะคะ ภาษาโลกหรือภาษาคน แต่ถ้าปากอย่างใจอย่าง อย่างภาษาธรรม ก็หมายความว่าภายนอกจะเป็น คำพูดก็ดี จะเป็นการกระทำก็ดี ที่ควรพูดอย่างใด กระทำอย่างใดเพื่อเกิดประโยชน์ ทำเต็มที่เลย แต่ภายในนั้นไม่มีความยึดมั่น ถือมั่นว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นความทุกข์จึงไม่เกิด แม้ขณะที่พูดอาจจะดูเอาจริงเอาจัง แต่ก็ไม่ได้มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจเพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น นี่ค่ะ ท่านถึงบอกว่าปากอย่างใจอย่าง เพราะบางทีก็ต้องใช้ปากอย่างใจอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลในแต่ละกรณีไป