แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีนะคะ อยากจะอ่านข้อความที่คุณตะวันผู้เข้าอบรมด้วยกันกับเรา เพื่อนของเรานี่เขียนมาให้ฟัง ดิฉันคิดว่า ข้อเขียนนี้ที่จะอ่านให้ฟังก็เพื่อว่าอาจจะเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่นั่งอยู่ในที่นี้ด้วยกันนะคะ ว่าเพื่อนที่เข้ารับการอบรมด้วยกันนั้น บางท่านได้มองเห็นอะไรจากการอบรมนี้บ้าง หรือว่าได้รับอะไรจากการอบรมนี้บ้าง
คุณตะวันเขียนมาว่า ฉันเดินทางมาอบรมอย่างไม่ได้หวังอะไรมากมาย เพราะที่ผ่านมามันไม่ค่อยได้อะไรดังหวัง ครั้งนี้ฉันจึงไม่หวังแต่ฉันได้อะไรมากมาย ฉันได้ยินเรื่องอานาปานสติตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แต่ฉันเพิ่งเข้าใจเรื่องลมหายใจแจ่มแจ้งวันนี้เอง ที่นี่ มีน้ำใจจากแมกไม้ เนินหญ้าและรอยยิ้ม ฉันสัมผัสได้ถึงมิตรภาพและความอบอุ่น ที่นี่ไม่สอนอะไรมาก เพียงให้กำหนดสติ และรู้จักลมหายใจให้รู้จักตนเอง ค้นพบตัวเองด้วยลมหายใจและย่างก้าวของตนเอง, 3- 4 วันผ่านไปฉันยังไม่ได้อะไรนอกจากความอึดอัด ปวดเมื่อยแข้งขา ฉันทนต่อไปอย่างไม่หวังอะไร น่าอัศจรรย์ความทุกข์สับสนจากความครุ่นคิดที่เกาะฝังมานานถูกสลัดออกไปได้ด้วยลมหายใจที่ยาวแรงเพียง 2 -3 ครั้ง น่าอัศจรรย์ อนุสัย-อาสวะที่พอกพูนสั่งสมมานาน ถูกขัดเกลาออกได้เพียงหยุดพูด อยู่เงียบ งดสนทนา ฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเอง ปีติ สุข เอกัคคตา ที่เคยใฝ่ฝันฉันได้พบแล้ว สุข-ทุกข์ที่เคยยึดมั่นกลับกลายเป็นสายรุ้งและควันไฟ วันนี้ฉันได้อะไรมากมายมากมาย แต่ฉันกลับไม่อยากได้อะไรเลย ก็หวังว่าเพื่อนผู้ปฏิบัติคงจะเข้าใจความหมายในสาสน์ที่คุณตะวันได้แบ่งปันมาให้ นะคะ แล้วก็ขออนุโมทนาต่อผู้เขียนว่าขอให้ได้รักษาในสิ่งที่ได้แล้วนี้ให้อยู่ยืนนาน
เช้าวันนี้ก็จะพูดถึงเรื่องถึงเรื่องหมวดที่ 4 คือ ธัมมานุปัสสนาภาวนานะคะ ทั้งนี้ต้องสมมุติกันนะคะว่า ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติหมวดที่ 1, หมวดที่ 2 ,หมวดที่ 3 คือ เรื่องเกี่ยว กับกาย กับเวทนา กับจิต จนสามารถพัฒนาจิตได้สงบมั่นคงเป็นสมาธิและก็แจ่มใสอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตที่พร้อมที่จะใคร่ครวญธรรมต่อไป แล้วก็โปรดอย่าลืมว่าตลอดระยะเวลาเหล่านี้ เรายังคงใช้ลมหายใจ เป็นเครื่องมือ หรือเป็นเครื่องกำหนดอยู่ตลอดนะคะ ผู้ปฏิบัติจะต้องคงรู้ลมหายใจอยู่ทุกขณะ และการรู้ในที่นี้ก็เป็นการรับรู้เพราะความชำนาญ รับรู้ว่ามันเข้ามันออกจากการปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติมา ถ้าเมื่อใดที่รู้สึกลืมก็ต้องกำหนดจิตจดจ่อตรงจุดที่เรากำหนด แล้วในการปฏิบัติขั้นที่ 4 แล้วก็เพ่งสติรับรู้ด้วยความรู้สึกสัมผัสทุกครั้งที่ลมหายใจผ่านเข้าและออกนะคะ ทีนี่ก็สมมุติว่าผู้ปฏิบัติแจ่มใสแล้วก็ว่าง คือจิตนั้นว่างหนักแน่นมั่นคง แล้วก็มีสติระลึกรู้
ที่นี่ก็จะขึ้นต่อไปคือปฏิบัติต่อไปในหมวดที่ 4 ขั้นแรก ท่านก็บอกว่าให้ใช้จิตที่สะอาด เกลี้ยงเกลา และก็แจ่มใสว่องไวพร้อมที่จะทำการงานนั้น ใคร่ครวญในธรรมและธรรมที่จะนำมาใคร่ครวญก็คือไตรลักษณ์ คือธรรมอันเป็นลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ สิ่งที่เป็นธรรมดาอันแรกตามธรรมชาติ นั่นก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ตามที่พูดกันมามากแล้วนะคะ เมื่อดูอนิจจังมากๆเข้า ทุกลมหายใจเข้าออกผู้ปฏิบัติก็จะมองเห็นสภาวะของทุกขัง ความทนได้ยาก ที่เราจะดูความทนได้ยากนี้อย่างไร ซึ่งเราจะดูทุกขังก็คือดูที่ทุกขลักษณะของมัน ทุกขลักษณะลักษณะที่มันแสดงอาการของความเปลี่ยนแปลงไป มันก็มีความเก่าคร่ำคร่า น่าเกลียด ไม่น่าดูนะที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของทุกขัง แล้วจากนั้นเมื่อค่อยๆเห็นอนิจจัง ทุกขัง ชัดเข้า ชัดเข้า ความเป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนก็จะค่อยๆชัดเจนขึ้นในใจทีละน้อย ฉะนั้นก็พูดได้ว่าไตรลักษณ์คือลักษณะ 3 ประการของธรรมชาติทั้ง 3 นี้ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติไม่ได้ตั้งใจจะกระทำให้มนุษย์ที่สัมผัสนั้นเกิดความรู้สึก คือเกิดเวทนา ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดเวทนา ไม่ได้ตั้งใจจะให้ไปยึดมั่นผูกพันด้วยความชอบ หรือความชัง ธรรมชาติต้องการแต่จะแสดงสภาวะความเป็นจริงที่มันเป็นสัจธรรมมันจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ คือมันไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ มันมีอะไรทนอยู่ได้นาน มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนจะแสดงให้เห็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ให้เกิดความรู้สึกอะไรเลยนะคะ ส่วนที่จะเกิดความรู้สึกคือเกิดเป็นทุกขเวทนาขึ้นนั้น นั่นมันก็เพราะอวิชชาที่อยู่ในจิตของมนุษย์แต่ละคน แต่แท้จริงแล้ว ธรรมชาติไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าให้ยินดี หรือไม่ยินดี ชอบหรือไม่ชอบ เพียงแต่จะสะกิดจิตสำนึกของมนุษย์แต่ละคนให้ได้สำเนียกกับความเป็นจริงอันนี้นะ จะได้ไม่เขลา ไม่งมงาย ไม่หลงไปยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ทำให้ใจเป็นทุกข์
ที่นี้ก็อยากจะพูดถึงลักษณะของ หรือความหมายของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้ชัดอีกสักนิดนึงนะคะ ถ้าหากว่าเราเรียกเต็มอนิจจังก็เราก็จะเรียกว่าอนิจจตา อนิจจตาก็คือความไม่เที่ยง เมื่อเติมคำว่า ตา เข้าไปทำเป็นคำนาม อนิจจตา ความไม่เที่ยง และอนิจจลักษณะ. อนิจจลักษณะ ก็คือลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยงนั่นคืออย่างไร อนิจจตาและอนิจจลักษณะเมื่อเกิดขึ้นที่ใด ก็ต้องดับไปที่นั่น นี่คือความเป็นจริงที่เป็นอยู่นะคะ เกิดขึ้นที่ใด ก็ดับที่นั่น เราจะดูได้ในทุกสิ่ง เช่น ชีวิตคน ๆ ชีวิตของเราทุกคนมันมีอนิจจตาและอนิจจลักษณะอยู่ในตัวทุกขณะคงสังเกตเห็นแล้วนะคะ บางทีจากชีวิตที่แข็งแรงก็เปลี่ยนเป็นชีวิตที่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน มันก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความผ่องใส แข็งแรงกระปรี้กระเปร่า กลายเป็นความไม่น่าดู กลายเป็นความมึนซึม ความอ่อนแอ นี่ก็เป็นอนิจจลักษณะที่จะมองเห็นได้เป็นลักษณะของอนิจจตาที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งเราพูดเรื่องชีวิตคนหรือคนมาหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ เราก็อาจจะดูเรื่องของอนิจจตาและอนิจจลักษณะจากวัตถุสิ่งของต่างๆที่มันแสดงถึงอายุของการใช้งานที่ไม่เคยตายตัวเลย เป็นต้นว่า ยา เราซื้อยา ผู้ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการกินยาจะรู้เรื่องของยาจะต้องถามเสมอว่า ยานี้เก่าหรือใหม่ ทำเมื่อไหร่ หมดอายุเมื่อไหร่ ที่บอกว่า expire เมื่อไร นี้คือการแสดงถึงอนิจจัง ทุกขังชัดเจน และถ้าเรารู้ไปให้ชัด เราก็จะเห็นอนัตตา หรืออย่างตั๋วเดินทางต่างๆ เราไม่เคยใช้ได้ตลอดไปแม้ว่าเราจะใช้เงินจ่ายเงินในจำนวนเท่ากันจะเป็น ตั๋วรถทัวร์ ตั๋วรถไฟ ตั๋วเครื่องบินเขาก็มีการจำกัดใช่ไหมคะ ว่านี่จะใช้ได้ 3 เดือนนี้จะใช้ได้ 6 เดือนอะไรอย่างนี้เป็นต้น
นี่แสดงถึงความเป็นอนิจจัง คือแสดงถึง อนิจจตาและอนิจจลักษณะของสิ่งนั้นๆ หรือยางรถยนต์ ท่านผู้ใดที่ขับรถยนต์เป็นเจ้าของรถยนต์ก็รู้ว่าซื้อยางรถยนต์ครั้งหนึ่งไม่ได้ใช้ไปจนกระทั่งรถยนต์พัง เราจะต้องมีการเปลี่ยนยางรถยนต์ซึ่งก็แล้วแต่อายุของการใช้งาน หรือการใช้งานนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าใช้รถมากเหลือเกินตลอดวัน กลางคืนบางทีก็ยังใช้อีกเดินทางไกลบ่อยๆอีกก็อาจจะต้องเปลี่ยนยางก่อน 1 ปีก็ได้หรือ 1 ปีไปแล้วหรือว่า 2 ปีหรือว่า 3 ปีขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามยางรถยนต์นั้นก็ไม่สามารถจะคงทนได้มันจะต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ดี นี่คือสิ่งที่เราจะมองดูอายุของการใช้งาน อายุของการใช้งานของวัตถุสิ่งของและความเสื่อมสลายก็เกิดขึ้นจากการที่มันได้ถูกใช้ไปในลักษณะนั้น
ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าถ้าผู้ใดบอกว่าไม่เห็น ยังไม่เห็นอนิจจัง ไม่รู้จะดูอย่างไรก็ดูกับสิ่งที่เราสามารถจะมองเห็นได้ง่ายๆที่เราเกี่ยวข้องอยู่ทุกวัน เสื้อผ้าเครื่องใช้ หรือว่าแบมือดู หรือว่าดูผิวหนังหลังมือ เราก็จะเห็นอนิจจังที่เกิดขึ้น จากผิวที่เกลี้ยงเกลาเรียบน่ารัก ก็กลายเป็นผิวที่เหี่ยวขรุขระมีเส้นเอ็นโปนขึ้นมาตามอายุตามกาลเวลาที่ผ่านไป กาลเวลาก็คือปัจจัย ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ กฏอิทัปปัจจยตา ที่ซ่อนอยู่ในอนิจจตา นั้นนะคะ ที่นี้ อนิจจตานี้ที่มันมีหรือเราบอกว่ามันเป็นอนิจจังก็เพราะมันมีการเกิด มีการสลายไป มีการแปรปรวนเปลี่ยนไป สลายไปบ้างคือเกิดเกิดดับดับแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนไปบ้างแล้วก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ชั่วคราว หรือเป็นของชั่วคราวอยู่ได้ชั่วขณะขณะๆ นี่คือลักษณะของสิ่งที่เป็นอนิจจตา ฉะนั้นก็ต้องดูคือศึกษาอนิจจตาในทำนองนี้หรือในลักษณะนี้นะคะ
ที่นี้ทุกขตาและทุกขลักษณะ ก็ทุกขัง แต่พอเรียกว่าทุกขตา เติมตาเข้าไป ก็หมายความว่าทำให้มันเป็นนาม ความทนได้ยากและลักษณะของความทนได้ยาก ก็คือหมายถึงภาวะที่มันไม่สามารถจะคงตัวได้เหมือนเดิมให้ตลอดไป มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมันมีความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่เกิดจากความเกิดขึ้นและก็ความเสื่อมสลายไปในลักษณะของอนิจจังดังที่กล่าวแล้วนั้น มันจึงไม่สามารถที่จะทนอยู่ได้ เช่น คน สัตว์ สิ่งของอื่นๆ วัตถุสิ่งของอื่นๆ เช่น ยาง ตั๋วเดินทาง ยางรถยนต์ที่เรายกตัวอย่าง หรือท่านอาจจะยกตัวอย่างอื่นๆที่เคยพบมาอีกได้ ซึ่งมันเมื่อมันแสดงอนิจจตา แล้วทุกขตาก็อยู่ในนั้น หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นความสุขเป็นต้น ความสุขนี่แสดงอนิจจังชัด แสดงทุกขังชัด แม้จะเป็นสิ่งที่เรามนุษย์เรายึดมั่นว่าเป็นจริง แต่ความเป็นจริงนั้นมันก็หาใช่ไหม ที่นี่ลักษณะที่ 3 ก็คืออนัตตาและอนัตตลักษณะ อนัตตาก็ต้องเป็น ต 2 ตัวนะคะ ,ต ตัวแรกเป็นตัวสะกดของอนัต แล้วก็ตาอีกตัวหนึ่ง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน