แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้ชีวิตประกอบไปด้วยอะไร ชีวิตก็ประกอบไปด้วย กาย จิต ฉะนั้นการที่จะพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องนั้นจึงต้องพัฒนาอย่างชนิดที่ ให้สอดคล้องกัน ให้สอดคล้องกันกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติของชีวิต ชีวิตไม่ได้มีแต่กายไม่ได้มีแต่ร่างกาย ชีวิตมีจิตหรือมีใจด้วย เพราะมันมีจิตหรือมีใจกายนี้มันจึงแสดงอะไรต่ออะไรต่างๆออกมาให้เห็น ถ้าปราศจากกาย จิตมันก็หมดอิทธิฤทธิอำนาจที่จะแสดงความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตประกอบด้วย กาย จิต การที่จะพัฒนาชีวิต จึงจะต้องพัฒนา ให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ นั่นคือต้องพัฒนา ทั้งกายและทั้งจิตให้พร้อมๆ กัน
ทีนี้ถ้าจะถามว่า ชีวิต คืออะไร เราก็ได้พูดไปแล้วนะคะว่า ชีวิตคือสิ่งที่งอกงามได้ แล้วมันจะงอกงามได้ยังไง ก็คืองอกงามได้ จากวิธีของการพัฒนา ถ้าถามในใจของมนุษย์ ที่มนุษย์จะรู้สึกว่า ตนมีความงอกงามขึ้นในจิตเมื่อไหร่ เมื่อรู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่า ใช่ไหมคะ เมื่อเรากระทำการที่เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่า เพราะมันมีประโยชน์ ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อใดที่มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มีคุณค่า เหมือนอย่างยายแหม่มคนนั้นที่เขาคลุกคลีมากับความชั่วความร้ายกาจ ความเจ็บปวด ขมขื่นสารพัด แล้วเขาก็ดูถูกตัวเขาเอง เขามองเห็นว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเลย แต่บัดนี้เมื่อเขามาพัฒนาชีวิตในลักษณะวิธีการที่เขาได้เรียนรู้ และก็ฝึกอบรมไป แล้วเขาก็มองเห็นว่า อ๋อนี่เองคือคุณค่าของชีวิต และก็จะสามารถนำสิ่งนี้เป็นต้นทุน เพื่อไปกระทำการที่จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ก็ยิ่งเกิดความงอกงามด้วยความเบิกบานชุ่มชื่น ว่าชีวิตนี้มีคุณค่า มีคุณค่าอย่างนี้ และคุณค่าอันนี้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น เมื่อรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ อะไรที่ทำให้มนุษย์ยอมรับซึ่งกันและกัน ก็คงทราบอยู่แล้ว เราไม่ได้ยอมรับซึ่งกันและกันด้วยชื่อเสียงเกียรติยศ ด้วยตำแหน่งการงาน หลายท่านก็อาจจะเถียงว่าไม่จริง เพราะฉันเป็นผู้อำนวยการเขาถึงยกมือไหว้ เพราะฉันเป็นหัวหน้างานจึงมีคนเชื่อฟังและเกรงกลัว อันนั้นเป็นเพียงสิ่งที่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยภายนอกเท่านั้น เราต้องดูว่าคนที่เขาไม่ได้เป็นผู้อำนวยการเขาไม่ได้เป็นประธานเขาไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่จะไปที่ไหนๆทั้งที่เป็นนายอะไรคนหนึ่งก็ยังมีคนตามยกมือไหว้ ยังมีคนเคารพนับถือ นั่นแหละคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง คือเรานับถือกันที่การกระทำ เรายกย่องเคารพกันที่การกระทำ
ฉะนั้น หวนกลับมาว่าการจะพัฒนาชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ก็คือต้องพัฒนาชีวิตทั้งกายและทั้งจิต ทีนี้ก่อนที่เราจะพูดถึงการพัฒนาอย่างไรนะคะ ก็อยากจะขอเชิญให้ทุกท่านลองนึกดูว่า ในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้น ถ้าเราอยากจะแบ่งช่วงชีวิตออก เป็นตอนๆ มันน่าจะแบ่งได้สักกี่ตอน ลำดับตอนของชีวิต ก็ลองนึกดูสิคะว่า พอเกิดมาเราอยู่ในช่วงชีวิตของอะไร อย่างนิสิตนักศึกษานี่จะมองเห็น อยู่ในช่วงชีวิตของอะไร คะ การศึกษา นิสิตนักศึกษานี่อยู่ในช่วงชีวิตของการศึกษา เรียกว่าตั้งแต่เกิดมา เราจะอยู่ในช่วงชีวิตของการศึกษา จนอายุประมาณจบจากมหาวิทยาลัย เอาอย่างชนิดคนที่ไม่ต้องเรียนเก่ง เรียนข้ามชั้นเอาเรียนธรรมดา ก็อาจจะให้สักประมาณ 25ปี นี่ช่วงชีวิตต้นนี่เป็นชีวิตของการศึกษา ใช่ไหมคะ ช่วงชีวิตที่2 ถ้าศึกษาแล้วไปทำไม ทำงาน ท่านเรียกว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการเผชิญชีวิต ทุกรูปแบบเลย อย่างชนิดที่ไม่มีการสอนในห้องเรียนในวิชาเรียนที่เราได้ปริญญามา ไม่มีการสอน หลายคนจะบ่นว่า ไม่เห็นมีที่อาจารย์สอนไว้เลย ปัญหาที่เราพบไม่เห็นมี นี่แหละคือการเผชิญชีวิต และก็ช่วงของการเผชิญชีวิตนี้ มันหนักหน่วงเสียเหลือเกิน ใช่ไหมคะ ท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่อยู่ในชีวิตการทำงาน ย่อมประจักษ์เองดีว่า ชีวิตของการเผชิญชีวิตนี้มันเหน็ดเหนื่อย มันต้องต่อสู้ เรียกว่าต่อสู้ทุกรูปแบบอีกเหมือนกัน แต่การต่อสู้นี้ มันก็เป็นหน้าที่ของชีวิต ใช่ไหมคะ ปลามันก็ต่อสู้อย่างปลา แมวก็ต่อสู้อย่างแมว สิงสาราสัตว์ในป่าหรือว่าบนฟ้าเช่นนก มันก็ต่อสู้ตามแบบของมัน ชีวิตคือการต่อสู้ มันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องต่อสู้ เรียกว่าต่อสู้ทั้งกายและจิต ต่อสู้ทั้งระดับสัญชาตญาณและก็ต่อสู้ทั้งปัญญา คือใช้ทั้งสองอย่างในการต่อสู้นั้น
นอกจากนี้พอเผชิญชีวิตไป ก็ในช่วงชีวิตประมาณสักอายุเริ่ม26 นี่เรากะอย่างคร่าวๆ นะคะ จากเสร็จการศึกษาประมาณ26ปี ไปถึง45ปี นี่เรียกว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ เรายกให้ว่าเป็นวัยของการเผชิญชีวิตทุกรูปแบบ ซึ่งหนัก เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน เผชิญชีวิตทำไม เผชิญชีวิตจากการ ต่อสู้หรือจะว่าตะเกียกตะกายให้พ้นจากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ นี่พูดในทางธรรมใช้คำในทางธรรม จากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกนะคะ พอจากนั้นแล้วช่วงที่3 ของชีวิต จากอายุ46ปีไปจนถึงอายุประมาณ60ปี เทียบกับอายุของวัยเกษียณของทางราชการ ก็น่าจะเป็นช่วงชีวิตของการบริโภคผล บริโภคผลของชีวิต จากการที่ได้เผชิญชีวิตมาทุกรูปแบบ ในตอนเผชิญชีวิตนั้น พยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นมนุษย์จากความเป็นคน เพราะฉะนั้นมาถึงช่วงชีวิตของการบริโภคชีวิต ในระหว่างช่วงอายุประมาณ46-60ปี ก็จะเป็นช่วงชีวิตที่มีปัญหาน้อยลงๆๆ จนเกือบจะไม่มีเลย เพราะได้รู้จักเรื่องของปัญหา ได้มีวิธีการแก้ปัญหา ได้ขบปัญหาจนกระทั่งรู้จักหลีกเลี่ยงปัญหา พยายามที่จะกระทำใจ ยกใจให้อยู่เหนือปัญหา เพราะฉะนั้นตอนที่3 คือมาบริโภคผลของชีวิตนั้นจึงเป็น ช่วงชีวิตที่เมื่อมองดูรอบๆ แล้ว สุขภาพอนามัยก็ดีพอใช้ได้ เพราะในช่วงของการเผชิญชีวิตได้พยายามต่อสู้หรือว่ารักษาชีวิตในหนทางที่ถูกต้อง ครอบครัวลูกหลานญาติพี่น้องก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฐิ มีทุกอย่างพอตัวตามสถานะแห่งตน ตามสถานะแห่งตนก็คือว่าตามสติปัญญา ตามความสามารถ ตามโอกาสของแต่ละคน เรียกว่าตามสถานะแห่งตน มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีเพื่อนฝูง มีบารมีพอตัว ถ้าหากว่าผู้ใด มีความพอตัว ก็จะมีความรู้สึกว่านี่คือผลของชีวิต ที่คุ้มแก่การที่จะบริโภคนะคะ และก็สามารถที่จะบริโภคผลของชีวิต ก็คือสิ่งที่ตนมี จะมีเงิน ทรัพย์สินเงินทองชื่อเสียงเกียรติยศ หรือในสิ่งที่ตนเป็น จะเป็นปู่ย่าตายาย หรือจะเป็นอดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ อดีตอะไรก็แล้วแต่ จะบริโภคเป็นก็คือว่า มีก็รู้จักใช้ ได้มาก็รู้จักเก็บอย่างไม่เห็นแก่ตัว มีการรู้จักแบ่งปัน เมื่อเป็นก็สามารถเป็นได้อย่างถูกต้อง นี่คือการบริโภคชนิดที่ไม่เป็นยาพิษมากัดตัวเอง ถ้าหากว่าในช่วงชีวิตนี้บุคคลใดสามารถบริโภคชีวิตบริโภคผลของชีวิตได้ในลักษณะนี้ก็เรียกว่าสามารถทำได้
ส่วนช่วงสุดท้ายของชีวิต คิดอย่างเฉลี่ยง่ายๆ จากอายุ61ปีขึ้นไป ก็เป็นชีวิตแห่งความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ต่อโลก ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อโลก นี่เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต คือชีวิตแห่งความสงบ เย็นและเป็นประโยชน์ต่อโลก ถ้าจะถามว่าชีวิตแห่งความสงบเย็นมันเป็นยังไง ชีวิตแห่งความสงบเย็นก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า มันมีสวรรค์อยู่ทุกอริยาบท ยืนมันก็เป็นสวรรค์ นั่งก็เป็นสวรรค์ นอนก็เป็นสวรรค์ เดินก็เป็นสวรรค์ และสวรรค์ในที่นี่ไม่ได้อยู่บนฟ้า ไม่ได้อยู่ไกลตัว มันเป็นสวรรค์ที่อยู่ข้างใน อย่างที่ผู้ใหญ่โบราณท่านบอกว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่แหละสวรรค์อันนี้ สวรรค์ในที่นี้ก็คือ ความพอใจความอิ่มใจ ความเบิกบานใจ มันหยุด หยุดความโลภ หยุดความโกรธ หยุดความหลง มันพร้อมที่จะแบ่งปัน พร้อมที่จะให้ รู้จักยิ้มรู้จักยอมรู้จักเย็น ไม่ร้อน ไม่ดิ้นรน เหมือนอย่างที่เคยไป ที่เคยเป็น นอกจากนั้น บางท่าน ยิ่งไปกว่าระดับนี้อีก ก็จะมีความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ในการที่ได้แจกของส่องตะเกียง นี่เป็นสำนวนของเซ็น ที่เขาชอบใช้ แจกของส่องตะเกียง แจกของ ของอะไร ของนั้นก็คือ หมายถึงความสุขความสงบที่ตนมี เผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนมนุษย์ ในรูปของนิทานเซ็นเรื่องหนึ่งไม่พูดตั้งแต่ต้นนะคะ แต่พูดตอนรูปสุดท้ายเลยหลังจากที่เขามาสู่ช่วงชีวิตสุดท้ายคือชีวิตแห่งความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ตาคนนี้เขาก็ออกไปแจกของส่องตะเกียงแต่งตัวง่ายๆเรียกว่าธรรมดาที่สุดไม่มีอะไรหรูหราเลย แล้วก็แบกถุงใบใหญ่ถุงใบใหญ่นั้นยาวจนกระทั่งเกือบจรดพื้นแล้วก็ที่แบกก็ใช้ไม้เท้า แล้วอีกมือนึงก็ถือตะเกียงเดินส่องไปอย่างนี้ ถ้าจะถามว่าสิ่งที่เขาไปแจกนั้นคืออะไร ที่เราพูดว่าความสุขความสงบเย็น ตะเกียงให้แสงสว่างทุกท่านก็ทราบแล้วเมื่อที่ใดมืด พอเราจุดไฟเปิดสวิทช์ความสว่างเข้ามาแทนที่ขับไล่ความมืดออกไปนี่เป็นสิ่งข้างนอก แต่ความมืดที่เกิดขึ้นข้างในนั่นคือความเขลา ความเขลาที่ตกเป็นทาสของตัณหาความอยาก เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลงเมื่อขับไล่สิ่งนั้นออกไปได้ด้วยแสงสว่างแห่งปัญญาฉะนั้นตะเกียงเขาก็หมายถึงเป็นสัญลักษณ์ แล้วถุงใบใหญ่ที่เขาแบกเอาไปนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ตามสมมติกันว่านั้นแหละว่าเป็นถุงแห่งปัญญาก็หยิบเอาปัญญาซึ่งเป็นนามธรรมออกแบ่งปันให้แก่เพื่อนมนุษย์นั่นก็คือปัญญาที่มีอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นในช่วงชีวิตสุดท้ายนี้บางท่านอาจจะเพลิดเพลินในการแจกของส่องตะเกียงเพราะมีชีวิตอยู่เหนือปัญหาแห่งความตายและความอยู่ สิ่งที่มันข้องอยู่ในจิตของมนุษย์ก็คือ กลัวตายกลัวจะอยู่ไม่เป็นสุข คำว่าอยู่ไม่เป็นสุขก็คือว่ากลัวจะไม่ได้มีอย่างที่อยากจะมี ไม่ได้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น มันก็ดิ้นรน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้เพราะความดิ้นรนของมนุษย์ อยากจะอยู่อยากให้มีมากกว่าคนอื่นได้มากกว่าคนอื่นเป็นอะไรที่วิเศษกว่าคนอื่น นี่คือดิ้นรนอยู่กับความอยู่ และก็กลัวความตายไม่อยากตายอยากจะอยู่แต่ก็ไม่เห็นมีใครไม่ตายหรือว่าหนีความตายพ้นสักคน แต่ลืม ลืมตายในขณะที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่ที่จะให้ได้มากกว่าเขา ก็ลืมตาย แต่ในช่วงชีวิตสุดท้ายของบุคคลที่สามารถปฏิบัติมาจนถึงช่วงชีวิตนี้ได้ย่อมจะไม่มีความดิ้นรน ในระหว่างความอยู่และความตายเพราะมองเห็นแล้วว่าความสงบเย็นของชีวิตนั้นหาได้ในทุกแห่งถ้าสามารถรู้จักที่จะแก้ไข
ทีนี้ถ้าเราจะดูว่าถ้าเราแบ่งชีวิตออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่1ชีวิตแห่งการศึกษา ช่วงที่2 ชีวิตแห่งการเผชิญชีวิต ช่วงที่3 ชีวิตแห่งการบริโภคผลของชีวิต ช่วงที่4 ชีวิตแห่งความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและก็ต่อเพื่อนมนุษย์ เชื่อว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายของชีวิตนั้นคือช่วงชีวิตที่เท่าไหร่ค่ะ ที่4ใช่ไหมคะ นี่คือช่วงชีวิตที่4 ที่เป็นเป้าหมายของชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่เราต่างตะเกียกตะกายดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนทำงานทำการเหน็ดเหนื่อยสายตัวจะขาดเพื่ออะไร เพื่อความมีชีวิตเย็นเป็นประโยชน์ แล้วเรามองดูผู้ใหญ่ที่เราได้ผ่านพบมาก็ลองตอบตัวเองก็แล้วกันนะคะว่าเราได้พบบุคคลเช่นนี้ในปัจจุบันนี้สักเท่าใดที่สามารถบรรลุผลสุดท้ายของชีวิตคือความมีชีวิตเย็นเป็นประโยชน์ ความมีชีวิตที่สงบเย็นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีน้อย มีน้อยมากส่วนมากมักจะยังคงอยู่ด้วยความทุรนทุราย คำถามต่อไปก็คือว่าทำไม ทำไมจึงไม่สามรถบรรลุถึงช่วงชีวิตสุดท้ายเช่นนี้ได้ มองเห็นไหมคะว่าการที่จะบรรลุผลสุดท้ายได้ ช่วงชีวิตสุดท้ายได้และก็สามารถเผชิญชีวิตได้อย่างชนิดที่ไม่ต้องกระเสือกกระสนเหมือนปลาหมอที่ถูกเหวี่ยงขึ้นมาบนทรายและก็สามารถบริโภคผลของชีวิตได้ มันจะต้องเนื่องมาจากอะไรคะ มาจากช่วงชีวิตไหนเป็นสำคัญคะ ช่วงชีวิตต้นคือช่วงชีวิตแห่งการศึกษา