แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บางท่านคงเคยได้ยินนิทานเซ็นที่เขาเล่าถึงการดูจิตที่ได้เคยพูดตอนท้ายให้ฟัง เขาก็เขียนเป็นรูป เริ่มแรกก็เป็นรูปสมมุติเป็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังยืนครุ่นคิดแล้วก็มอง เขาครุ่นคิดเรื่องอะไร เขาครุ่นคิดเรื่องชีวิต คนมีปัญญาจะไม่ค่อยคิดเรื่องอื่น ชีวิตคืออะไร ชีวิตมาจากไหน ชีวิตเป็นยังไง ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้อย่างที่เป็นอยู่ ร้อนๆ หนาว ๆ ชีวิตนี่คืออะไร มาจากไหน แล้วเขาไม่ยอมปล่อยความคิดนี้เลยคือเขาคงคิดจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ แม้จะทำอะไรอย่างอื่นก็ไม่เว้นการคิดเรื่องนี้เพราะเขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วในภาพนั้นก็พอเขาคิดๆ คิดไปเป็นภาพที่สองก็เริ่มเห็นรอย รอยเท้าปรากฏบนพื้นดิน นี่เขาทำเป็นอุปมา ก็ต้องมีรูปรอยเท้าปรากฏบนพื้นดิน นายคนนี้ก็เริ่มดีใจว่ามีลู่ทางแล้วที่เรากำลังคิดว่าชีวิตคืออะไร มาจากไหน ทำไมจึงต้องร้อนๆ หนาวๆ ทำไมจึงต้องเป็นทุกข์ สาเหตุของความทุกข์นี่มาจากไหน ก็เริ่มเห็นรอย เขาก็ยิ่งแกะรอยนั้นใหญ่ ไม่ยอมปล่อยให้รอยนั้นลบเลือน ด้วยการคิดในจุดนั้นยิ่งขึ้นเพราะเชื่อว่ามาถูกทางแล้วจึงมองเห็นรอย
พอรูปที่สามก็ปรากฏเห็นบั้นท้ายของเจ้าวัวตัวหนึ่งสีดำมืดสนิทเลย นายคนนี้ก็ยิ่งแน่ใจใหญ่ว่าวิธีการศึกษาใคร่ครวญของเรานี้ถูกต้องแน่ ทีแรกเห็นแต่รอยเท้าตอนนี้เห็นตัวแต่ยังไม่เห็นหมดทั้งตัวเห็นเพียงบั้นท้ายของวัว เขาก็ตรงเข้าไปเพื่อที่จะจับเจ้าตัวนี้ให้ได้ แล้วก็พยายามคาดคั้นเรียกว่าจะจับให้มั่นคั้นให้ตายจะไม่ยอมปล่อยในเรื่องนี้ ก็จดจ่อคิด คิดคิด คิดต่อไป รูปต่อไปก็เห็นทั้งตัวเลยเป็นวัวดำมืดเลยคือแสดงถึงความเป็นวัวป่า วัวเถื่อน แล้วก็พยศร้าย เกเรดุร้ายด้วยพร้อมที่จะขวิดนายคนนี้ให้ตาย ในภาพนั้นก็ปรากฏว่าพอนายคนนี้เห็นเจ้าตัววัวเต็มที่แล้วท่าทางดุร้ายอย่างนั้นก็เตรียมเข้าต่อสู้รับมือกับวัวเต็มที่เหมือนกัน ก็มือเปล่านี่แต่ว่าคงจะใช้กำลังความสามารถอย่างสุดกำลังเพราะเขารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเขาขืนไม่เอาชนะเจ้าวัวตัวนี้ให้ได้เขาจะต้องถูกวัวฆ่าตาย ไม่มีหนทางเลือกเราจะยอมให้วัวฆ่าตายหรือจะฆ่าวัวซะก่อน ฉะนั้นในภาพนั้นก็เป็นภาพของการต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงระหว่างเจ้าวัวป่าตัวนี้ที่พร้อมจะขวิดให้ตายกับคนคนนั้น ก็สู้กันจนกระทั่งผลที่สุดเขาก็จับเจ้าวัวตัวนี้ได้อย่างชนิดที่วัวดิ้นไม่ได้ แล้วก็จับแล้วเขาก็ยึดวัวไว้ให้มั่นคือหมายความว่าควบคุมบังคับวัวไว้ให้มั่น ไม่ให้วัวมีหนทางหนีได้ แล้วก็พยายามฝึกวัวฝึกจนกระทั่งวัวค่อยๆ เชื่องเข้า ผู้เขียนภาพเขาก็ทำภาพ ทำภาพสีตัววัวที่ทีแรกออกมาดำมืดทมิฬก็ค่อยๆ เป็นสีจางลงๆ จางลงจนกระทั่งมองดูขาวขึ้น แล้วนายคนนี้ก็สามารถขึ้นหลังวัวได้ ขึ้นนั่งบนหลังวัวป่าตัวนั้นได้ มิหนำซ้ำยังเป่าขลุ่ยบนหลังวัวตัวนั้นได้อีก จากนั้นไปวัวตัวนั้นก็ไม่มี เขาก็ปล่อยตัววัวนั้นไปนั่นก็คือความรู้สึกหรือความรู้ที่เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นข้างในว่าถ้าขืนยังมีตัวแม้ว่าจะเป็นตัวที่ขาวแล้ว เป็นตัวที่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีความยึดมั่นถือมั่นแห่งความเป็นตัวตนอยู่นั่นเองเพราะว่าผู้ฟังก็คงจะรู้ได้ว่าที่มองเห็นทีแรกนะเป็นลูกวัวตัวดำนะ มีจิตป่าที่ดุร้ายเหมือนอย่างเจ้าวัวตัวนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นครั้งแรกที่เราเริ่มดูจิต ในการปฏิบัติของหมวดที่สามนี่ เราอาจจะพบจิตในลักษณะเหมือนวัวป่าดุร้ายพร้อมที่จะดื้อดึงไม่ยอมสู้กันถึงที่สุดก็ต้องสู้กับวัว นั่นก็คือหมายถึงจิตที่ยังไม่ได้ฝึกเลยจนกระทั่งฝึกไปก็เป็นจิตที่เกลี้ยงเกลาดีขึ้น จึงได้ขึ้นไปนั่งหลังวัวแล้วก็เป่าขลุ่ยได้ แล้วเขาก็เกิดความสำนึกขึ้นมาในใจว่า แต่ถ้าหากว่ายังมีการยึดว่าจิตนี้เป็นของเราก็ยังไม่หมดสิ้น ยังมีความยึดมั่นคืออุปาทานอยู่นั่นก็หมายความว่าอวิชชานะยังมีอยู่ในจิต ผลที่สุดเขาก็ปล่อย ปล่อยจิตคือปล่อยการยึดมั่นถือมั่นว่าจิตมีตัวมีตนนั้น ก็มีความว่าง แล้วเขาก็ศึกษาค้นคว้าต่อไปจนกระทั่งกำจัดสิ่งที่จะเป็นธุลีหรือเป็นละอองแห่งกิเลสหรือนิวรณ์หรืออนุสัยแม้แต่อาสวะก็ไม่ให้เหลือหลอ จิตนั้นก็มีแต่ความว่าง เป็นความว่างเป็นรูปวงกลม ว่าง สะอาด เกลี้ยง เกลี้ยงจากอะไร เกลี้ยงจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เกลี้ยงจากตัณหา ความอยากโน่นอยากนี่ เป็นโน่นเป็นนี่ ว่างจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะในความเป็นตัวตน แล้วก็อวิชชาไม่สามารถจะเข้ามาครอบงำได้อีกเลย จิตนั้นจึงเป็นจิตที่เป็นอิสระ ว่างจริงแต่เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ว่องไว ตั้งมั่น มั่นคง พร้อมที่จะทำการงานทุกอย่างทุกประการ แล้วก็เป็นจิตที่พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิและปัญญา และหลังจากที่นายหนุ่มคนนั้นใช้เวลาชื่นชมกับผลงานของความสะอาด สว่าง สงบ ที่ตนสามารถพัฒนาได้แล้ว เขาก็ออกไปแจกของส่องตะเกียงคือช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
ฉะนั้นนี่ก็เป็นนิทานเซ็นที่เขาเล่าถึงวิธีการศึกษาจิต ดูจิต ต้องสู้กันอย่างนี้ ถ้าหากว่าสู้ไม่ชนะก็ถูกจิตนี้ดึงเข้าป่าเข้ารกหลงทางไป เหมือนกับนิทานหนึ่งนาทีของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ที่ท่านเล่าว่ามีนายคนนึงก็ขึ้นขี่ม้าแล้วก็ควบม้าตะบึงไป สองข้างก็ผ่านคนที่เขาเดินถนนอยู่สองข้างทาง เขาเห็นนายคนนี้ขี่ม้าหน้าตั้งไปเขาก็ถามจะไปไหน จะไปไหนนั่นนะ นายคนบนหลังม้าก็ตอบว่า ไม่รู้โว้ยแล้วแต่ม้าโว้ย นี่ก็หมายความว่าอะไร ม้าที่ขี่นั่นคือม้าชื่อว่าอะไร จะให้ชื่อม้าตัวนี้ว่าชื่ออะไร ม้าอวิชชา ชื่อม้าอวิชชา คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เพราะฉะนั้นก็พาแล่นตะบึงไปเรื่อยไม่รู้จะไปไหน เข้าป่าไผ่ เข้าป่าชัฏหรือว่าลงเหวหรือว่าขึ้นภูเขาสูง แล้วก็จะตกลงมาแข้งขาคอหักตาย ไม่รู้ มนุษย์ส่วนมากก็ขี่ม้าอวิชชา ให้ม้าพาห้อตะบึงไปตามมิจฉาทิฐิ เข้าเป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ลงเอยด้วยอบายมุข การเบียดเบียนทั้งปวงเพราะความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นใครถามจะไปไหน ไม่รู้แล้วแต่ม้าจะพาไป เป็นคนมีปัญญาแต่ไม่สามารถจะควบคุมจิตได้ ก็จะต้องเข้ารกเข้าพงอย่างนั้น ฉะนั้นการศึกษาธรรมชาติของจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพยายามศึกษาจนกระทั่งรู้จริง รู้ธรรมชาติของจิต แล้วก็รู้วิธีคือรู้ทางหนีทีไล่ว่าจะพัฒนาจิตอย่างไร
ทีนี้เมื่อผู้ปฏิบัติใดสามารถศึกษาจิต ดูจิตจนรู้จักธรรมชาติของจิตชัดเจนแล้วนะคะ ขั้นต่อไป ขั้นที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ของหมวดที่สาม หรือขั้นที่ 10 11 12 ของหมวดที่สามนี้ของอานาปานสติทั้งหมดนี้นะคะ ก็เป็นการทดสอบกำลังของจิตหรือกำลังของการปฏิบัติว่าจิตนี้จะสามารถบังคับควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เพียงใด พอรู้แล้วทีนี้ก็จะดูละว่าเราจะควบคุมได้เพียงใด ท่านจึงบอกว่าในขั้นที่ 2 ของหมวดที่สามหรือขั้นที่ 10 ของอานาปานสติให้ลองบังคับจิตให้บันเทิงปราโมทย์ จิตจะอยู่ในภาวะใดก็แล้วแต่ แต่บังคับคือกระทำ กระทำให้เกิดอาการบันเทิงปราโมทย์ขึ้นภายใน บันเทิงปราโมทย์ก็คือ ปิติ ยินดี เริงร่า นั่นนะบันเทิงปราโมทย์ ฉะนั้นอาการของบันเทิงปราโมทย์ จิตต้องฟูขึ้นๆ บังคับให้ฟูขึ้นๆ ฟูขึ้นทีละน้อย แล้วก็มีความร่าเริงยินดีอยู่ในนั้นด้วยนะในอาการของฟูขึ้น ร่าเริง ยินดี บันเทิงปราโมทย์เพราะพออกพอใจได้อย่างใจ อะไรต่ออะไรต่างๆ บังคับทุกขณะที่หายใจเข้าและออกนะคะ ยังไม่ทิ้งลมหายใจทุกขณะที่หายใจเข้าและออก จดจ่อจิตเข้าไปข้างใน บังคับให้มีอาการของความร่าเริงบันเทิงปราโมทย์ แล้วก็จะสักนานเท่าใดก็แล้วแต่ แต่ให้จิตนี้สัมผัส สัมผัสกับความรู้สึกที่เป็นปิติปราโมทย์บันเทิงปราโมทย์อยู่ตลอดเวลาจะนานสักเท่าใดก็แล้วแต่พอใจ ทุกขณะที่หายใจเข้าออกให้สัมผัสกับอาการของความรู้สึกบันเทิงปราโมทย์ ถ้าทำได้ก็แสดงว่าบังคับควบคุมจิตได้พอสมควร ทีนี้ลองต่อไปอีกว่าจะควบคุมได้จริงมั้ยในขณะที่ฟูฟ่องปราโมทย์เริงรื่นอยู่นั้นก็บังคับให้สงบตั้งมั่นโดยให้เป็นสมาธิ จากขณะที่กำลังสนุกสนานนี่ ให้นิ่ง ให้สงบ ให้เป็นสมาธิ ควบคุมให้นิ่งให้เป็นจิตที่อยู่ในภาวะของความเป็นสมาธิ คือมั่นคง หนักแน่น นิ่ง สงบและทุกขณะที่หายใจเข้าและออกก็ให้จิตย้อนไปสัมผัสกับความเป็นสมาธิของจิตที่เกิดขึ้นภายในนั้นทุกขณะ จะนานเท่าใดก็สุดแล้วแต่ความพอใจของผู้ปฏิบัติ ถ้าหากว่าควบคุมได้นานแต่ละอาการควบคุมได้นานก็แสดงถึงกำลังของความควบคุมนั้นมีมาก อันเป็นผลจากการปฏิบัตินั่นเองนะคะ
ทีนี้พอจิตสงบ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ บังคับได้ ขั้นสุดท้ายก็ทดลองต่อไปว่า ทีนี้ให้เป็นจิตปล่อย ให้เป็นอิสระ ไม่ต้องนิ่ง ไม่ต้องสงบอย่างนั้น แต่ว่าเป็นจิตที่เป็นอิสระ คำว่าอิสระนี้ก็หมายความว่าปลดเปลื้อง ปลดเปลื้องจิตที่ตกเป็นทาสของกิเลส ของตัณหา ของอุปาทาน ของความอยากได้โน่นได้นี่ของเวทนา ปลดเปลื้องให้เป็นจิตที่เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นความเป็นอิสระที่ปลดเปลื้องออกไปเสียจากสิ่งที่ผูกมัดรัดรึงเหล่านั้นก็ย่อมจะเป็นจิตที่เป็นอิสระอยู่ด้วยความสงบ เยือกเย็นผ่องใส เป็นจิตที่อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่น เป็นจิตที่อยู่เหนือการจะเอาโน่นเอานี่อย่างใจ เป็นจิตที่มีความว่าง เบาสบาย บังคับว่าให้อยู่ลักษณะนี้ทุกขณะที่หายใจเข้าและออก แล้วก็ให้จิตนั้นสัมผัสกับอาการของจิตปล่อยที่เป็นอิสระเพราะปลดเปลื้องจิตออกจากสิ่งที่รัดรึงเหล่านั้นได้ทุกขณะที่หายใจเข้าและออก จะนานเท่าใดก็แล้วแต่พอใจ แล้วแต่ว่าจะสามารถจะควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าต้องการให้จิตเป็นไปในลักษณะใดสามารถควบคุมได้ สั่งได้อย่างนี้ นั่นแสดงว่าผู้ปฏิบัติบรรลุถึงความสำเร็จของการปฏิบัติในหมวดที่สามแล้ว คือสามารถควบคุมจิตได้ เป็นนายของจิต แล้วจิตนี้ก็จะพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิและปัญญาในระดับนึง เป็นจิตที่สะอาด ละเอียด ใส เพียงพอที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการที่จะพิจารณาธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดประณีตอย่างยิ่ง อันเป็นการปฏิบัติในหมวดที่สี่ ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติที่เน้นในเรื่องของวิปัสสนาภาวนาโดยเฉพาะ นี่ก็จบเรื่องของหมวดที่สาม การปฏิบัติของหมวดที่สาม
ทีนี้ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดสงสัยว่าจะทำได้หรือ บังคับจิตให้ปราโมทย์ บังคับจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ บังคับจิตให้ปล่อยเป็นอิสระปลดเปลื้องจากสิ่งที่รึงรัดผูกพันทั้งปวง ทำได้ ทำได้ด้วยอย่างไร ด้วยการที่ผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมในขั้นแรกได้นั่นคือควบคุมลมหายใจได้ การที่เราควบคุมลมหายใจได้ทีละน้อยนี่คือการสร้างพลัง สร้างพลังทางจิตให้เกิดขึ้นทีละน้อยๆ ทีละน้อยจนสามารถควบคุมจิตตัวเองได้ กำลังโกรธหยุดโกรธ บางทีไม่ต้องใช้ลมหายใจไล่เลย หยุดไม่ให้โกรธ เป็นจิตนิ่ง บังคับให้ยิ้ม ยิ้มได้ ยิ้มทั้งข้างนอกข้างใน ไม่ใช่ยิ้มแต่ใบหน้าบังคับให้เป็นจิตว่าง ไม่เอาขณะนี้ไม่เอา สามารถทำได้ แต่จะทำได้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จความชำนาญในการปฏิบัติหมวดที่หนึ่ง ฉะนั้นก็คงจะเห็นแล้วนะคะว่าการปฏิบัติหมวดที่หนึ่งมีความจำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติซ้ำซากจนกระทั่งเกิดความสามารถในการควบคุมได้จริงๆ แล้วก็จะเป็นบันไดให้ควบคุมอย่างอื่นต่อไป
ฉะนั้นที่ถามถึงการที่จะสร้างพลังจิตนะจะสร้างกันได้ไหม ทำกันได้ในหมวดที่สามนี่แหละ ถ้าเราจะฝึกให้ถึงที่ ถึงที่ก็คือเอาจริง ถึงที่จริงๆ ได้จริงๆ ก็จะเป็นการสร้างพลังจิตให้เกิดขึ้น ผู้ที่คิดอยากจะควบคุมคนอื่นนั่นนะคะ ท่านก็สอนว่าจงควบคุมตัวเองเสียก่อนใช่ไหมคะ ถ้าเราควบคุมตัวเราเองไม่ได้เราจะไปควบคุมคนอื่นได้อย่างไร นอกจากจะไปใช้อำนาจโทสะเข้าควบคุมเขา ก็ได้เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเขาไม่กลัวนาน แต่ถ้าเราใช้อำนาจของจิตที่พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา เป็นการควบคุมด้วยธรรมะเพราะฉะนั้นการควบคุมเช่นนี้ยืนนานและเป็นการควบคุมที่ไม่เป็นการเบียดเบียนด้วย ฉะนั้นก็จงทราบเถิดว่าการปฏิบัติอานาปานสตินี้ จะเห็นว่าเราเริ่มปฏิบัติจากข้างนอกคือจากกายที่หยาบๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าสู่เวทนาที่เป็นครึ่งหยาบครึ่งละเอียด ที่ว่าครึ่งหยาบครึ่งละเอียดเพราะเวทนามองไม่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่มีรูปร่างแต่เราสัมผัสได้ และเราก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับเวทนาตลอดชีวิตของเรา พอพูดถึงเราก็พอจะมองเห็นว่าเป็นอะไรๆ นี่ก็เรียกว่าจากหยาบเข้าสู่สิ่งที่ครึ่งหยาบครึ่งละเอียดแล้วก็ต่อไปถึงสิ่งที่ละเอียดลึกคือจิต ซึ่งไม่มีรูปไม่มีร่างให้เราที่จะแตะต้องสัมผัสได้ และก็ต่อไปที่สุดในหมวดที่สี่ก็จะเข้าไปถึงสิ่งที่ลึกที่สุด ประณีตที่สุด นั่นก็คือเรื่องของธรรมะ ซึ่งจิตใจที่ยังหยาบกระด้างและก็ยังมัวเมาในการตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่สามารถจะพิจารณาธรรมได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องค่อยๆ พัฒนาจิตที่วุ่นวายสับสนให้เป็นจิตที่สงบ ตั้งมั่น จิตที่รวนเรซัดส่ายให้ตั้งมั่นและในขณะเดียวกันก็ทำจิตที่ขุ่นมัวให้ค่อยๆ ใสสะอาด พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา แล้วจึงจะใช้จิตเช่นเนี้ยพิจารณาใคร่ครวญธรรมต่อไป
ก็หวังว่าคงจะได้พยายามทำความเข้าใจนะคะ ถ้ามีอะไรที่รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจ สงสัย ก็ลองใคร่ครวญดูด้วยตนเองข้างใน ย้อนใคร่ครวญดูข้างในด้วยสติที่เราได้สร้างให้เกิดขึ้นแล้ว แล้วถ้าหากว่ายังไม่แจ่มแจ้งก็โปรดเขียนคำถามเอาไว้ถามได้ในวันที่ 10 แต่อย่าพึ่งรีบเขียนคำถาม พยายามที่จะศึกษาหาคำตอบด้วยตนเองก่อนแล้วคำตอบที่ได้ด้วยการค้นหาด้วยตนเองนั้นจะชัดเจนยิ่งกว่าคำตอบที่มาจากผู้อื่นนะคะ และในวันนี้ก็ขอได้กรุณาปฏิบัติหมวดที่หนึ่งต่อไปให้ช่ำชองยิ่งขึ้น ขั้นที่หนึ่ง สอง อาจจะผ่านไปโดยไม่ต้องช้ามาก แต่ขั้นที่สามทำให้มากเพื่อหาความชำนาญให้ได้ แล้วพอเหนื่อยก็ไปขั้นที่สี่เพื่อหาความสงบ ก็กลับไปกลับมา กลับไปกลับมาอย่างนี้ก็จะได้ทั้งความชำนาญและผลที่สุดก็จะค่อยๆ สามารถควบคุมลมหายใจได้เรียกว่าเป็นนายของลมหายใจ นะคะ ขอเชิญพักนะคะ