แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แต่ทีนี้ มันเป็นอาการเปลี่ยนเป็นกรุ่นๆ ครุ่นๆอยู่เรื่อย เหมือนแมลงหวี่ แมลงวันมาตอม นี่คืออาการของอะไรนึกออกไหมค่ะ “นิวรณ์” ซึ่งเป็นตัวร้ายมาก พอมันไม่มาในลักษณะของกิเลสกระโดดโพลงพลางเข้ามา ซัดเอาตายเลยไม่ถึงอย่างนั้น แต่มันครุ่นๆ พอตื่นเช้าขึ้น จิตนี่ไม่ผ่องใส ปวดหัวหรือเปล่า ปวดหัวก็ไม่ปวดหัว ปวดท้องไหม ก็ไม่ปวดท้อง หิวไหม ก็ไม่หิว อยากจะเอาอะไรล่ะ ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันไม่สบาย นี่คืออะไรคะ “นิวรณ์” อย่าปล่อยให้เป็นอย่างนั้นนะคะ
บางคนอยากเป็นอย่างนั้นเพื่อจะได้เรียกร้องความสนใจ ของคนที่อยู่ใกล้ ของคุณพ่อ คุณแม่ ของพี่น้อง หรือ คู่ครองของตน ลูกเต้าลูกหลาน นี่คือเห็นแก่ตัวร้ายกาจ และตัวเองนั่นแหละก็จะได้รับโทษจากความเห็นแก่ตัวนั้น เพราะฉะนั้นพออาการที่มันไม่รู้อะไรเป็นอะไรอย่างนี้เกิดขึ้น จงรู้เถอะว่านิวรณ์ ค้นหาทันทีทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก ที่เราพูดกันเรื่องนิวรณ์มาละเอียดแล้วนะคะ ค้นหาทันทีว่า นี่นิวรณ์ตัวไหน กำลังเข้ามาพัวพันอยู่ข้างใน มาทำให้จิตนี้ไม่เป็นอันสงบได้เลย
ถ้าเป็นอาการที่ดึงเข้ามา นึกถึงอยู่เรื่อย แหมอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากมีโน่น นี่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่ารักน่าพอใจ นิวรณ์ตัวไหนค่ะ “กามฉันทะ” บริวารของเจ้าตัวความโลภ ดูเชียว รูป กลิ่นเสียง สัมผัส รวมทั้งกามารมณ์คือความต้องการทางเพศ ตัวไหนที่กำลังมารบกวนที่สุด ดูให้เห็นชัดนะคะ อย่าไปดูรวมๆ ว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือว่ากามารมณ์ อย่าดูรวม ๆ ต้องดูแยกแยะให้ละเอียด เมื่อเรามาปฏิบัติในขั้นที่ 1 เพื่อศึกษาธรรมชาติของจิต จะดูเหมาไม่ได้ ต้องดูให้ละเอียดแยกแยะลงไป เอ! มันกามฉันทะตัวไหน จะได้รู้ให้ชัดว่าตัวไหนมันฝังลึก และจะได้พยายามถอน แก้ไขมันเสียได้นะคะ ก็ดูด้วยอาการของมัน และดูด้วยจิตให้ลึกลงไปว่า มันกำลังมีความต้องการในสิ่งใด รุนแรงมากกว่า แล้วก็แก้ไขอย่างไร ก็แก้ไขขั้นแรกด้วยการใช้ลมหายใจนั่นแหละเป็นเครื่องมือกำจัดมันไปเสียก่อน แล้วเสร็จแล้วก็ใช้วิธีกำจัดนิวรณ์แต่ละอย่างที่ได้พูดไปแล้ว ไม่ต้องพูดซ้ำนะคะ เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์
ถ้าหากว่ามันไม่ดึงเข้ามา ไม่ครุ่นอยู่กับความอยากได้ อยากมี แต่มันครุ่นอยู่กับความอึดอัด หงุดหงิด รำคาญ มันอึดอัด มันหงุดหงิด มันรำคาญ มันเบื่อ มันไม่ชอบ อันนี้เป็นนิวรณ์ตัวไหน “พยาบาท” พยาบาทก็คือ บริวารของโทสะ แต่มันไม่ถึงกับโกรธ โผงผางออกมาทางวาจา ทางกายตึงตัง นั่นเป็นกิเลสโทสะ แต่นี่มันหงึดหงัด มันอึดอัด มันหงุดหงิด แล้วมันก็ บอกไม่ถูกไม่สบายใจ มันรำคาญ นี่คือ “พยาบาท” ก็ต้องศึกษาลงไปให้ลึก พยาบาทด้วยเรื่องอะไร หงุดหงิดด้วยเรื่องอะไร รำคาญด้วยเรื่องอะไร แล้วบางทีมันเกิดจาก “อนุสัย” ก็ได้ อนุสัยที่ไม่สามารถจะทำในสิ่งนั้น หยุดในสิ่งนั้นได้ เพราะรู้แล้ว่ามันไม่ดี มันก็เลยทำให้หงุดหงิด อึดอัด รำคาญ หรือบางที่อนุสัยที่เป็นอยู่มันผลักออกมา ผลักออกมาอยากจะให้ทำอย่างนั้นซ้ำอีก แต่ว่ามันไม่มีโอกาส มันก็เลยหงุดหงิดๆ อึดอัด กินข้าวก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่สบาย นั่งก็ไม่สบาย อยู่ที่ไหนมันก็ร้อนไปหมด นี่คืออาการของพยาบาท
ทีนี้ ถ้ามันไม่ใช่พยาบาท แต่ว่าเป็นอาการง่วงเหงาหาวนอน มึนซึมเซา เหี่ยวแห้ง ไม่นึกอยากจะทำอะไร อยากจะนั่งกอดเข่า มองฟ้า มองน้ำ หรือว่านอนทอดหุ่ยไม่ต้องกระดิกกระเดี้ย อ่อนเปลี้ยเพลียกำลัง แล้วก็หมกมุ่นอยู่ในความรู้สึกอันนั้น ความรู้สึกหดหู่เหี่ยวแห้งที่มีอยู่ในใจนั้น หม่นหมองอยู่นั้น นี่คือนิวรณ์ตัวไหนค่ะ “ถีนมิทธะ” อันตรายมาก น่ากลัวมาก ขับไล่มันไปด้วยลมหายใจที่ลึก-แรง เพราะว่ามันมีน้ำหนักมาก มันร้ายมาก มันไม่ค่อยถอนออกไปได้ง่าย ๆ ต้องลึก-แรงหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งมันสลัดสิ่งที่มันหนักอยู่ในหัว ให้มันโล่ง มันว่าง ในใจที่ค้างคาก็ออกไปด้วย แล้วก็แก้ถีนมิทธะด้วยการลุกขึ้น วิ่งเลย กระโดด กระโดดเชือกก็ได้ ออกกำลังกายต่างๆให้เลือดลมเดิน ดึงตัวออกมาให้ว่องไวให้จงได้ แล้วก็แก้ไขด้วยวิธีอื่นต่อไป อย่างที่พูดกันแล้ว
หรือตรงกันข้ามกับ ถีนมิทธะที่จิตมันตก นี่จิตมันฟูมันล่องลอยดูอาการที่เกิดขึ้น แหม มันฟู มันตื่นเต้น มันมองอะไรก็มีสีสันสวยงาม มันพอใจ แต่ความพอใจนั้นหามีจริงไม่ มันสร้างขึ้นเอง มันนึกขึ้นเอง มันวาดไปเอง จินตนาไปเอง ว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่นิวรณ์ตัวไหนค่ะ “อุทธัจจะกุกกุจจะ” ที่บอกว่าหยุดความคิดไม่ได้ หยุดคิดไม่ได้ นี่ล่ะ ความคิดมันมาเรื่อย แหมมันไหลมาเป็นสายเชียว ตัดไม่ขาด นั่นก็ดี นี่ก็ดี อยากจะรวบคิดไว้หมด ก็จงแก้ไขด้วย “วิปัสสนาภาวนา” หลังจากที่ใช้ลมหายใจกำจัดไปแล้ว
ทีนี้ บางทีมันก็ไม่ขึ้น มันก็ไม่ลง แต่มันวนเวียน ลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ก็คือ วิจิกิจฉาตัวไหน อ๋อขอโทษ พูดไปแล้ว ก็คือ “วิจิกิจฉา” นิวรณ์ที่ชื่อว่าวิจิกิจฉานั่นเอง ลังเลสงสัย
ซึ่งทั้ง 3 ตัวหลังนี้ก็คือลูกน้องของใครคะ ของ“โมหะ” อย่าลืมเชียวนะคะ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย การที่เราจะศึกษาธรรมชาติของจิต อันแรกต้องการรู้ว่าจิตถูกครอบงำด้วยกิเลสตัวไหนมากที่สุด มันมีทั้ง 3 ตัวนะคะ แต่ตัวไหนที่มันวนเวียนเข้ามากที่สุด หรือถ้าพูดตามคำชาวบ้านก็บอกว่า เป็นพื้น เป็นพื้นเป็นเจ้าเรือน กิเลสตัวไหนมากที่สุด แต่ส่วนมากแล้วกิเลสทั้ง 3 นี่มันก็จะวนเวียนกัน แล้วก็เป็นเหตุ เป็นผลแก่กันและกัน พอลดละจากความรุนแรงมาก็จะมาเหลือในรูปของนิวรณ์ ก็ต้องดูให้ละเอียด ถ้าไม่ดูเรื่องนิวรณ์นะคะจนเห็นชัด จิตนี้จะไม่มีวันที่จะปฏิบัติให้เกลี้ยงสะอาดได้เลย ไม่มีวัน ก็นิวรณ์จะคอยมารบกวน ทำให้รำคาญ ทำให้เหมือนกับมีฝุ่นมีเสี้ยนอะไรติดอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นนิวรณ์นั้นจึงต้องดูให้รู้ให้จริง แล้วค่อยๆ กวาดมันให้เกลี้ยงทีละน้อย ละน้อย ละน้อย ถ้าดูนิวรณ์มากเท่าใดก็จะสามารถกำจัดสิ่งที่เรียกว่า อนุสัย ออกไปได้ ทีละน้อย ละน้อย เช่นเดียวกัน
ทีนี้ บางท่านในขณะที่ศึกษาจิตตามขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 3 นี้นะคะ ก็มีความรู้สึกว่า เอ้! จิตสงบนี้ ไม่เห็นมีอะไร กิเลสก็ไม่รบกวน นิวรณ์ก็ไม่รบกวน ท่านก็บอกว่า ก็จงดูลงไปที่ความสงบที่เกิดขึ้นแล้ว พื้นของความสงบ ของความเป็นสมาธิที่มีอยู่แล้วในใจ ดูอย่างไร ก็เอา “จิตดูจิต” สัมผัสมันลงไป ให้รู้ว่าความสงบที่มีอยู่แล้วนั้น สงบขนาดไหน ยังสงบน้อยๆ อยู่ เป็นสมาธิน้อยๆ อยู่ ซึ่งความสงบนี้อาจจะเลือนหายไปเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ต้องรู้เองว่า ก็ต้องรีบเร่งที่จะพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้น พร้อมกับดูว่า ถ้าสงบมากขึ้น รู้สึกว่ามันสงบมาก มันหนักแน่นพอสมควร ก็ดูลงไปด้วยจิต สัมผัสลงไปให้ชัดว่า แล้วจะสงบกว่านี้อีกได้ไหม
การที่ดูเพื่อให้เห็นว่า จะสงบกว่านี้อีกได้ไหม ก็เพื่อผู้ปฏิบัติจะได้บอกตัวเองไงคะว่า เรายังไม่สิ้นสุดนะ หนทางของการปฏิบัติยังไม่ถึงปลายทาง จะยังต้องปฏิบัติต่อไป ฉะนั้นการดูจิตนี่เท่านั้นที่จะบอกให้ผู้ปฏิบัติรู้ว่า ถึงหรือยังไม่ถึง ยังจะต้องทำอะไรต่อไป
ถ้าสมมติว่าเป็นจิตที่สงบมั่นคงดี เขาเรียกว่าเป็น “จิตใหญ่” ใหญ่จริงหรือยัง ดูลงไปอีก ดูลงไปอีกให้ชัด ดูด้วยอะไร ดูด้วยความรู้สึก ด้วยสัมผัส ทุกขณะที่ลมหายใจเข้าออก ดูให้รู้ธรรมชาติของจิต จุดบกพร่องอะไรยังเหลือ จุดเข้มแข็งหนักแน่นมั่นคงอะไรที่ได้พัฒนาเอาไว้แล้ว ดูอย่างนี้ค่ะทุกขณะ เอาสอดส่องเข้าไปทุกขณะที่จะดูด้วย ดูจิตของตนให้รู้ตลอดเวลา
นี่คือวิธีการที่จะศึกษาธรรมชาติของจิต จิตนี้เป็นจิตฟุ้งก็ให้รู้ว่าฟุ้ง จิตสงบก็ให้รู้ว่าสงบ จิตร้อนก็ให้รู้ว่าร้อน จิตเย็นก็ให้รู้ว่าเย็น คือดูทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมให้รู้จักธรรมชาติของจิต ให้รู้จักถ่องแท้เพื่อที่สามารถจะได้ใช้ความรู้ธรรมชาติของจิตนั้นมาชำระล้างจิตในส่วนที่ยังบกพร่อง ที่ยังเป็นทาสของกิเลส ของตัณหา ของอุปาทาน จะได้แก้ไขมันให้เป็นจิตที่เป็นอิสระ มั่นคงอยู่ด้วยความสงบ สติ สมาธิ ปัญญา จนเป็นจิตที่ยิ่งและใหญ่จริงๆนะคะ
ฉะนั้นถ้าจะถามว่า ขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 3 นี้จะต้องทำนานเท่าใด คำตอบก็คือตลอดชีวิต ทุกขณะด้วยนะคะ ไม่ใช่ว่าเดือนนี้นึกได้ดูมันสักที แล้วก็ลืมไป 3 เดือนดูอีกที แล้วลืมไปปีดูอีกที จำไม่ได้แล้วว่านี่จิตของใคร จำไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องดูทุกขณะ ยิ่งดูทุกขณะเท่าใด ผู้ปฏิบัติก็แสดงว่ามีสติ สมาธิ และก็ปัญญาเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น สามารถจะควบคุมจิตได้มากขึ้น และจิตนี้จะเชื่องขึ้น เชื่องยิ่งขึ้นๆ