แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดว่าพอเวทนาเกิดขึ้นมันจะนำสัญญาตามมา แล้วก็จากสัญญาก็จะเป็นสังขารเป็นอุปาทาน พูดอย่างนี้เข้าใจรึเปล่าคะ ที่จะเป็นสัญญาเกิดขึ้นนี่ ก็อย่างเช่นว่าพอเวทนาเกิดขึ้นมันก็จะทำให้เกิดสัญญา คือความสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น เช่นเวทนาที่กำลังเกิดนี้เป็น สุขเวทนาคือสัญญามันจะบอกว่าอย่างนี้บอกว่าเป็นสุขเวทนาหรือนี่เป็นทุกขเวทนา นี่สัญญามันจะบอกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจนะคะว่าความสุขหรือความทุกข์นี้เป็นตัวเป็นตนแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นเอาว่าเป็นตัวเป็นตน นี่ก็เป็นอุปาทาน แล้วก็ยังยึดต่อไปอีกว่าสุขเวทนานี้เป็นของเรา คือเป็นเราเป็นของเรา หรือทุกขเวทนานี้ก็เป็นของเรา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นของใคร เมื่อมันจะเกิดขึ้นแก่ใครมันก็มีลักษณะอาการเดียวกันอย่างนี้แหละ เหมือนกันหมดเลยทุกชีวิต แต่ว่าจิตของคนนั้นก็ไปยึดมั่นเอาว่าเป็นของเรา นอกจากนี้พอยึดมั่นว่าเป็นของเรามันก็ยังปรุงแต่งสัญญาซ้อนขึ้นมาอีก เป็นว่า ถ้าสมมุติว่าเป็นสุขก็จะปรุงแต่งซ้อนขึ้นมาอีกว่าสุขนี้ดีนะสุขอย่างนี้ดีนะสุขอย่างนี้น่ารักนะน่าพอใจนะหรือเอร็ดอร่อยนะ แล้วตัณหาก็ตามมาทีเดียวว่า อยากมีสุขอย่างนี้บ่อยๆ อยากมีความชื่นบาน พอใจ อย่างนี้บ่อยๆแล้วเจ้าตัวสัญญามันไม่ได้หยุดแค่นี้มันก็จะปรุงแต่งวิตกคือความนึกคิด ความนึกคิดต่อไปอีกว่าชอบ อย่างนี้ชอบ รัก จะต้องเอาให้ได้จะต้องเก็บรักษาไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปาทานซ้อนขึ้นมาอีกเหมือนกัน นี่ที่เรียกว่าพอเวทนาเกิดขึ้นมันจะนำเอาสัญญา สังขาร วิญญาณ ขอโทษ สังขาร อุปาทาน ตัณหา อุปาทานตามมา แล้วมันก็สลับกลับมาย้อนย้ำอีกครั้งหนึ่งได้ถ้ามันไม่รู้จักหยุด มันจะวนอยู่อย่างนี้ มันจึงทำให้จิตนี้ไม่นิ่งเลย ถ้าเป็นทุกขเวทนามันก็จะมีสัญญาว่า นี่เป็นทุกข์ถ้าไม่ใช้สุข มันก็จะมีสัญญาว่านี่เป็นทุกขเวทนา แล้วมันก็จะปรุงแต่งว่าทุกข์นี้ไม่ดี ทุกขเวทนาอย่างนี้ไม่ดีเลย มันเจ็บปวด มันร้ายกาจ มันขมขื่น ทรมาน แล้วมันก็จะปรุงแต่งต่อไปว่า อย่างนี้ไม่เอาไม่เอา ไม่อยากได้ ขับไล่ ไปให้พ้น ผลักไสทำลายมัน แล้วก็มีตัณหา มีความอยากความรู้สึกต้องทำลายมัน ต้องกำจัดมันให้ได้ แล้วก็เกิดอุปาทานตามมา ยึดมั่น ยึดมั่นขึ้นมาในใจว่า ต้องทำลายมันให้ได้ ต้องทำลายมันให้ได้ แล้วจิตนี้ก็ทุรนทุรายเผาไหม้ไปด้วยความทุกข์นั้น หรือลิงโลดตื่นเต้นไปเพราะความสุขนั้น เพราะไม่เห็นความเป็นมายาของมัน ว่ามันสามารถพาพรรคพวก เพื่อนฝูงมารุมเล่นงานเรานี้มากมายเหลือเกิน จึงว่ามันมีอิทธิพลอย่างนี้ นะคะ ก็ขออธิบายขยายความเพื่อให้ชัดขึ้นอีกนิดนึง
ทีนี้ต่อไปก็อยากจะขอพูดถึง หมวดที่3 คือจิตตานุปัสสนาภาวนา พอผู้ปฏิบัติที่กำหนดจิต รู้ลมหายใจอยู่ทุกขณะทั้งเข้าและออก ในการปฏิบัติของหมวดที่2 เราก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดตามเดิม แต่ใช้การปฏิบัติของขั้นที่4 นะคะ คือเฝ้าดูลมหายใจอยู่จุดเดียว ไม่ต้องตามลมหายใจ ก็คงกำหนดรู้ลมหายใจ เมื่อเวทนาสงบระงับ ผู้ปฏิบัติก็จะประจักษ์อยู่ในใจเองว่า เวลานี้เวทนาสงบระงับแล้ว ฉะนั้นผู้ปฏิบัติที่มีความสำเร็จในการปฏิบัติหมวดที่2 สภาวะของจิตนั้นจะสงบ นิ่ง ผ่องใส พอสมควร มั่นคงพอสมควร เพราะชนะเวทนาได้ ก็เป็นจิตที่ใสพอใช้ได้ เหมือนอย่างกับน้ำใสพอใช้ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงได้รับการแนะนำว่า ต่อไปนี้ มุ่งจิต จดจ่อลงไปในจิตเอง ก็จะถามอีกละว่า เอาจิตอะไรจดจ่อจิตอะไร คงจำได้นะคะ ที่ได้ตอบคำถามไปแล้ว ก็คือเอาจิตในส่วนที่มีความรู้ จิตส่วนที่ฉลาดขึ้นนั่นแหละ ย้อนลงดูจิตในส่วนที่ยังเขลา ยังไม่ฉลาด ยังไม่นิ่งมั่นคงว่องไวพอ เพราะความฉลาดที่เกิดขึ้นมันยังไม่ทั่วถึง เหมือนกับแสงสว่าง ห้องใหญ่มาก ห้องมืดทั้งห้องเลย ต้องการจะให้แสงสว่างก็เปิดไฟขึ้น แต่ไฟนั้นมีไม่เพียงพอ มันมีอยู่ด้านเดียว มันก็ให้แสงสว่างได้เพียงด้านเดียว ถ้าหากว่าผู้ที่ให้แสงสว่างหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้น พยายามที่จะให้ด้านที่มืดอยู่นี้มีแสงสว่างมากขึ้น ก็จดจ่อพยายามหาทางที่จะปรับดวงไฟให้มันสามารถส่องเข้ามาให้ในอีกด้านนึงที่ยังไม่สว่างค่อยๆ สว่างขึ้น ก็เหมือนกับจิตที่เริ่มฉลาดขึ้น เริ่มมีปัญญาขึ้น เริ่มมีความสงบรู้อะไรเป็นอะไรบ้างแล้ว ก็พยายามที่จะ สอดส่องความสว่างที่เกิดจากปัญญาที่มีภายใน เข้าไปในที่มืดคือในส่วนของจิตที่ยังมืดยังเขลา เพราะจิตนี่เป็นของไม่มีรูปไม่มีสีไม่มีกลิ่นก็จริง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้ปล่อยปละละเลยมาชั่วชีวิต ไม่เคยได้ฝึกหัดอบรมเลย ปล่อยให้มันเกเรเกะกะ เรียกว่าระเหระหนเร่ร่อน ตามใจของมันตลอด ตามใจคือตามอำนาจของกิเลสตัณหา ฉะนั้นจึงต้องใช้เวลานานที่จะยื้อยุดมันเอามา เมื่อส่วนหนึ่งได้ยินได้ฟังได้ฝึกอบรมปฏิบัติในหนทางที่ถูกต้อง ค่อยๆ มองเห็นแล้วว่า เออนี่ใช่ ก็กำลังเริ่มจะทำ เพราะฉะนั้นที่บอกว่า เอาจิตดูลงไปในจิต ก็คือเอาสติปัญญาที่เริ่มเป็นสัมมาทิฐิขึ้นมาบ้าง ที่เริ่มเป็นสัมมาทิฐิขึ้นมาบ้างส่องลงไปเพื่อจะละลายปัญญาที่ยังคงเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ ที่มันยังเป็นปัญญาที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัญญาเฉโก ท่านเรียกว่าเฉโก เพราะยังเป็นปัญญาที่เต็มไปด้วยความยึดมั่น พยายามเอาปัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิเปรียบเสมือนแสงไฟ ค่อยๆที่จะส่องเข้าไปเพื่อละลาย ละลายสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฐิที่ยังซ่อนอยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้นในหมวดที่3 ขั้นที่1 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขั้นที่9 ของหมวดอานาปานสตินะคะ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำก็คือจดจ่อจิตเข้าไปภายใน เข้าไปที่ข้างในตลอดเวลา ไม่ให้จิตออกข้างนอก พยายามรักษาจิตให้อยู่ในจิตให้ได้ตลอดไป แล้วก็ดูลงไป ทำการศึกษาดู เพื่อให้รู้จักธรรมชาติของจิต เนื้อแท้ของจิต เนื้อแท้ของจิตนี้เป็นยังไง มันไม่มีเนื้อไม่มีหนัง แต่เราใช้คำตามสมมติว่า เนื้อแท้ของจิต ธรรมชาติของจิต พื้นอาการลักษณะของจิตนี้ เป็นอย่างไรให้ชัดเจน เพราะจุดประสงค์ของการมาปฏิบัติจิตตภาวนา ก็เพื่อพัฒนาจิต พัฒนาจิตที่มันไม่สงบมันวุ่นวายมันระส่ำระสายเพราะเวทนานั้นให้เป็นจิตที่เยือกเย็น ผ่องใสเบาสบายเป็นสมาธิอยู่ได้จริงๆ เราจึงต้องการจะรู้เสียก่อนว่า ตรงไหนจะต้องถมมากน้อยเพียงใด ตรงไหนจะต้องขุดรากถอนโคนออกมา แล้วก็จะทำการปรับ ปรับเกลี่ยให้มันเป็นที่เป็นพื้นจิตที่เกลี้ยงเกลาสะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นผ่องใสได้ เราจึงต้องศึกษา
ทีนี้วิธีศึกษาจิต ศึกษาอย่างไรนะคะ เพราะมันไม่มีตัวตนให้ศึกษา ก็ขอแนะนำว่าวิธีศึกษาจิตก็คือ ดูลงไปที่อาการที่เกิดขึ้นในจิต อาการที่เกิดขึ้นในจิต อาการที่เกิดขึ้นในจิตนี้ก็คือ ดูอาการของความโลภ คือดูอาการของกิเลสที่เกิดขึ้น มันไม่มีอะไรนอกจากกิเลส อาการของความโลภ อาการของความโกรธ อาการของความหลงคือโลภะ โทสะ โมหะ ยังจำได้ไหมคะถึงอาการ ก็คือดู เมื่อใดที่จิตมีแต่อาการจะดึงเข้ามา จะดึงเข้ามาจะกวาดเข้ามาเป็นของเรามองอะไรก็อยากได้ นั่นก็อยากได้นี่ก็อยากได้ ขอโทษขี้หมูขี้หมาก็อยากได้ ความโลภที่มันมีอยู่ในนิสัยที่เขาเรียกในสันดานจนแกะไม่หลุด เอาหมด ถามให้ใครถามจะเอาไหม ฉันเอา นั่นฉันก็เอานี่ฉันก็เอา ถ้ามีอาการดึงเข้ามาอย่างนี้ ดึงเข้ามาอย่างนี้ แล้วก็จะเอาทั้งหมด แรง นี่เป็นอาการของความโลภ อ๋อ ที่เราว่า เราก็แบ่ง แต่ในความแบ่งนั้นก็มีความจะเอา โลภตลอดเวลา ถ้าไม่ดูก็ไม่เห็น จะเห็นแต่ภาคใจดี ภาคใจดีของเราอย่างเดียว ไม่เห็นภาคร้ายด้วยความโลภ ไม่เห็น แต่พอเราดูเข้าไป แล้วเราจิตที่สงบพอสมควร ก็จะค่อยๆ สัมผัสกับอาการภายในของจิต ที่มันมีแต่อาการจะกวาด จะดึง จะโกยมาเป็นของฉัน มันมีอาการอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วก็ความรู้สึกก็ เอา จะเอาๆอยู่ในใจ อยากได้ๆๆ อ้อก็กำหนดไว้ด้วยสติ โลภยังมีอยู่ จะมีอยู่มากอยู่น้อยก็ดูตามอัตราที่มันเกิดขึ้น
ถ้าหากว่าเป็นอาการตรงกันข้าม พอเห็นอะไรก็ผลักๆๆ อะไรมามันไม่ถูกใจหมดทุกอย่าง นั่นก็ตรงกันข้ามกับโลภ เรานี่ยังเป็นคนโทสะร้ายนะ เป็นคนเอาแต่ใจตัวเหลือเกิน ใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจ มีแต่จะผลักไสเขาไปเรื่อย อย่างคนบางคนที่ไปเข้าretreat ก็รักษาความเงียบดี แต่เงียบเกินไปเกินพอดี พอออกจากretreatแล้ว ยังอยู่ต่อ เพื่อนเขาก็ห่วงใยเขาก็ถาม ไปไหม ไปmeditationกัน ไปนั่งสมาธิกัน ไม่ไป ธุระอะไร ธุระอะไรต้องมาถามฉัน จะไปเมื่อไหร่ฉันก็ไปเอง ไปหาอะไรดื่มกันไหม มาชวนทำไมนะ ยุ่ง มันเรื่องของฉัน นี่ ผลักหมดแม้แต่ความปรารถนาดีของคนอื่น เขาจะชักชวนอะไรไม่เอา นี่จริงๆ นะไม่ใช่เสแสร้งแกล้งแต่งเรื่อง เป็นคนจริงๆ แล้วเขาก็มาหาแล้วเขาก็บอกเขาเป็นคนอย่างนี้ เขาก็รู้ว่าคนอื่นก็เจตนาดี หวังดีแต่มันรับไม่ได้ มันไม่อยากรับ มันหงุดหงิด นี่คืออาการของคนเจ้าโทสะ เจ้าโทสะโดยไม่มีเหตุไม่มีผลด้วย เอาแต่ใจตัวอย่างเดียว ถ้าเห็นอาการอย่างนี้ อะไรก็ผลักออกไป ทั้งสิ่งของทั้งวัตถุทั้งคำพูดที่น่าฟังความเอื้ออารี ใครๆ อะไรไม่เอาทั้งนั้น ใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจ ทำไมไม่อย่างนั้นทำไมไม่อย่างนี้ นี่คืออาการของธรรมชาติของจิตที่กอปรไปด้วยโทสะตลอดเวลา ทีนี้ถ้ามันเปลี่ยน ไม่ดึงเข้ามาไม่ผลักออกไปแต่มันวนเวียน เป็นอยู่เสมอเลยอย่างที่เคยพูดถึงเรื่องของกิเลสแล้ว นี่โมหะ โมหะนี่มันมาเหมือนกับไม่มี มาเหมือนกับไม่มีตัวไม่มีอาการ แท้จริงคืออาการของวนเวียน เมื่อใดที่บอกว่าหยุดคิดไม่ได้ นั่นแหละคืออะไร โมหะ หยุดนึกไม่ได้ นั่นแหละโมหะ หยุดลืมไม่ได้ หยุดจำไม่ได้ ต้องจำไว้เรื่อยมันลืมไม่ได้ นั่นแหละโมหะ แล้วก็เอามาคิด เอามาคิดทั้งนั่งทั้งนอน ไม่ว่าจะทำอะไรเป็นวันเป็นคืน บางคนก็ร้ายกาจเป็นปี ปล่อยไม่ได้ นี่คืออาการของโมหะ ซึ่งมันจะทำลายความปราดเปรียวคล่องแคล่ว เฉียบแหลมของสมองของสติปัญญา จนกระทั่งพลังกายก็หมดไปด้วย พลังใจก็หมดไปด้วย เพราะฉะนั้นคนจึงมองไม่เห็น คนเป็นกันมากอาการนี้เป็นกันมากเลย แต่ก็มองไม่ค่อยเห็นเพราะไม่เคยดู ฉะนั้นจึงต้องดูให้ชัด ทีนี้ถ้ามันไม่มาแรงๆ เพราะรู้สึกว่าอาการที่จะผลักแรงๆ ดึงแรงๆ หรือว่าวนเวียนครุ่นคิดอย่างชนิดไม่ลืมหูลืมตา ไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งถ้ามันแรง ก็เป็นอาการของกิเลสที่เราพูดแล้ว ว่ามันมามีแรงเหมือนเสือ