แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ศึกษาความสุขทุกอย่าง ทุกชนิด ที่เรียกว่าสุขๆๆ น่ะมันเป็นยังไง ตอนนี้ค่ะ ทำความรู้จักกับเรื่องของความสุขให้เต็มที่ทุกลมหายใจเข้าออก ที่พูดอย่างนี้ นึกจำแนกความสุขออกได้ไหมคะ เราได้เคยพูดแล้วนิดหน่อย จำแนกชนิดของความสุขได้ไหมคะ ลองถามตัวเองซิคะว่าเราเคยมีความสุขชนิดใดๆ บ้างที่ได้ผ่านพ้นมาแล้ว เช่น สุขจากความสำเร็จในการเรียน พอได้ปริญญาบัตรหรือแม้แต่ประกาศนียบัตรมัธยม ครั้งแรกรู้สึกอย่างไร ตื่นเต้น ดีใจ มีความสุข พอได้ทำงานครั้งแรก เป็นเงินเดือน เงินเดือนแรกที่รับมาจากมือ เราไม่เคยมีเงินของเราเองเลย เราไม่เคยหาเงินได้เอง นอกจากขอเงินคุณพ่อคุณแม่ใช้มาตลอด บัดนี้ได้เงินของเราเอง น้ำพักน้ำแรงเงินเดือนของฉัน รู้สึกยังไง ตื่นเต้น พอใจ ยินดีไหม แล้วก็วันแรกที่มีคนเข้ามาบอกว่าเขารักเรา เขาพร้อมจะยืนอยู่เคียงข้าง เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนตายนะ เราจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันจนตายนะ วันนั้นน่ะแหมจิตใจมันเป็นยังไง ไม่ต้องกินข้าวก็ได้ ไม่ต้องนอนก็ได้ ไม่ต้องมีใครอยู่ด้วยซักคน เงินไม่มีติดกระเป๋าก็ไม่เป็นไร แต่มันพอง มันพอง มันอิ่มเอิบ เบิกบาน อบอุ่น มั่นคง เมื่อมีคนหนึ่งเขาจะยืนอยู่ข้างเรา นี่คือการศึกษาความสุข ที่ขอให้ทุกท่านลองนึกดูว่าอาการของความสุขที่เกิดจากความสำเร็จในการเรียน ความสำเร็จในการงาน ความสำเร็จในครอบครัว เช่น มีลูกมีเต้าที่ได้อย่างใจทุกอย่าง ภรรยาก็ดี สามีก็ดี มีความรักมั่นคงต่อกัน ความสุขที่เกิดจากความรัก เมื่อได้ความรักตามที่ปรารถนา ปรารถนาอย่างไร พอใจอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ความสุขที่เกิดจากการมีทรัพย์สินเงินทอง เป็นเศรษฐีพันล้านหมื่นล้าน ความสุขที่ไปนั่งอยู่ในเก้าอี้ที่มีอำนาจ สามารถจะชี้ จะบงการได้ ถึงยังไม่ได้นั่ง ก็ลองนึกดู สมมุติดู เหมือนกันไหมคะ ไม่เหมือน ใช่ไหมคะ มันไม่เหมือนกัน ความสุขที่ได้ลูกคนแรก ผู้ที่มีลูกคนแรกยังจำได้ไหม มีลูกที่อยากได้นะคะ ไม่ใช่มีลูกที่ไม่ต้องการ มีลูกที่อยากได้ เฝ้าคอยมานานแล้วเมื่อไหร่จะมีซักที โอ๊ยพอมีขึ้นมา ความรู้สึกเป็นยังไง ที่เหี้ยมเกรียมก็อ่อนโยน ที่ไม่เคยเห็นใจใครก็จะเริ่มเห็นใจ ความเมตตากรุณาจะเกิดขึ้น มันเปลี่ยนไปทีเดียว ความรู้สึกที่อยากได้ลูก ถ้าได้อีกชีวิตหนึ่งที่เป็นของเราออกมาจากเลือดเนื้อของเรา นี่พูดตามความยึดมั่นอย่างชาวโลก เหมือนอย่างพระเจ้าอชาตศัตรูที่คิดปลงพระชนม์พระราชบิดา พระเจ้าพิมพิสาร จนถึงกับจับไปขังไว้ในคุกเพราะอยากจะได้ราชสมบัติเร็วๆ พระราชบิดาก็ไม่สิ้นพระชนม์ซักที แล้วก็ถูกยุยงจากพระเทวทัต ก็เลยคิดวิธีปลงพระชนม์ แต่ก็ไม่กล้าจะจับไปตัดพระเศียรหรือว่าทุบด้วยท่อนจันทน์อะไรอย่างนี้ก็ไม่กล้า กลัวคนจะตำหนิติฉิน ก็นำไปขังเอาไว้แล้วก็พยายามที่จะไม่ให้ได้อาหาร และก็เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสามารถที่จะดำรงชีวิตให้ชุ่มชื่นอยู่ได้ด้วยการเดินไปเดินมา คือเดินจงกรม
เพราะว่าเป็น เรียกว่าเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติมากจนกระทั่งบรรลุในระดับที่ท่านเรียกว่าโสดาบัน แล้วก็เมื่อรู้ว่าที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทางด้านใด ก็จะมองไปทางด้านนั้น พร้อมกับน้อมใจนี่เคารพ ระลึกรู้ในพระพุทธคุณ แล้วก็เดินจงกรมด้วยความมีสติ ก็อาศัยธรรมโอสถเป็นเครื่องช่วย พระเจ้าอชาตศัตรูก็ใจร้าย อยากให้พ่อตายเร็วๆ ถึงกับสั่งคนเอามีดไปกรีดพระบาทซะให้เลือดออก จะใช้เกลือชโลมด้วยรึเปล่าก็จำไม่ได้ เพื่อจะได้ให้เดินไม่ได้ ใครเอาอาหารไปถวายก็ไม่ให้กิน พระมารดาก็ด้วยความรักพระเจ้าพิมพิสาร คือ พระราชสวามี ก็ใช้วิธีถึงที่สุด คือ ไปเยี่ยมโดยการเอาอาหารทาไปที่ผิวหนัง แล้วพอไปถึงก็ให้พระเจ้าพิมพิสารเลีย แล้วก็พระเจ้าอชาตศัตรูก็สืบว่า ทำไมไม่ให้เสวยอะไร ทำไมไม่ให้ถวายพระกระยาหารอะไรเลย แล้วทำไมถึงไม่สิ้นพระชนม์ซะที ก็ทราบข่าวว่า อ๋อ ด้วยวิธีนี้เอง ก็ห้ามไม่ให้พระราชมารดาเยี่ยม ไม่ให้ใครเยี่ยม มิหนำซ้ำยังกรีดเท้าไม่ให้เดิน ทรมานทุกอย่างเพื่อจะให้ตาย เพื่อจะเอาสมบัติเท่านั้นเอง แล้วก็วันหนึ่ง พระมเหสีของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงครรภ์แล้วก็ประสูติพระราชโอรสออกมา พอได้พระราชโอรสเท่านั้นล่ะ พระเจ้าอชาตศัตรูก็เกิดความรัก ความรัก ความเมตตา ความปรานีต่อพระโอรสของพระองค์เองอย่างท่วมท้นอยู่ในหัวใจ แล้วก็หวนรำลึกขึ้นว่า พระราชบิดาของเรานี่ก็คงจะทรงรักเราอย่างหมดหัวใจ เรียกว่าสุดจิตสุดใจเหมือนอย่างนี้เหมือนกัน เกิดหวนรำลึกไปถึงความรัก ความเมตตาปรานีที่พระราชบิดาทรงมีต่อพระองค์เองทุกอย่าง เพราะว่าทรงไม่เคยใช้พระราชอำนาจที่จะจัดการกับพระราชโอรส คือ พระเจ้าอชาตศัตรูองค์นี้เลย แม้รู้ว่าพระโอรสร้ายกาจเพียงใด พระเจ้าพิมพิสารไม่เคยทรงกระทำอะไรเป็นการตอบแทน อยากได้ราชสมบัติก็ให้ ก็ไม่พอใจ จนมีลูกของตัวเอง เกิดนึกขึ้นมา ก็ให้คนไปดู คือให้ข้าราชการไปดูแล้วก็ขอให้รีบนำพระราชบิดานี่ออกจากที่คุมขังมาเลี้ยงดู รักษาให้ดี แต่ก็หมดโอกาสเสียแล้ว เมื่อคนไปดู เจ้าหน้าที่ไปดูก็ปรากฏว่าพระเจ้าพิมพิสารได้สิ้นพระชนม์ซะแล้ว
เพราะฉะนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูนี้จึงเรียกว่าได้กระทำกรรมอันหนัก แล้วมันก็ฝังอยู่ในใจของท่าน จนกระทั่งไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมด้วยจิตใจที่เกลี้ยงสะอาดจนถึงที่สุดได้ เพราะว่าได้กระทำปิตุฆาต ทีนี้ ที่พูด ที่ถามเมื่อกี้นี้ก็เพื่อที่จะแสดงว่าความสุขที่เกิดจากการได้ลูก เป็นความชุ่มชื่น เบิกบาน อ่อนโยนอีกอย่างหนึ่งซึ่งเหมือนกับความสุขที่ตอนมีคู่รักใหม่ๆ เหมือนกันไหมคะ ถึงแม้มันจะมีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนกัน แต่มันก็ไม่เหมือนกัน เพราะความสุขเมื่อมีคู่รักใหม่ๆ มันก็เป็นความอบอุ่น เป็นความมั่นใจในกันและกัน แต่มันก็มีความร้อนแรง ความหวงแหน ความที่ประสงค์จะต้องเป็นของเราๆ คนเดียว ความวิตกกังวลมันตามมา มันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติในขั้นที่สองของหมวดที่ 2 จึงต้องพยายามศึกษาเรื่องของสุขเวทนาทุกอย่างทุกชนิด เพื่ออะไร เพื่อจะได้รู้จักสุขเวทนาให้ถี่ถ้วน พอมันเกิดขึ้น จะได้รู้เท่าทันมัน พร้อมด้วยสติ แล้วก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตนี้ผิดไปจากความเป็นปกติ ก็จะใช้ลมหายใจขับไล่มันไปในวิธีต้น แล้วก็จะใช้วิปัสสนาภาวนาเข้ามาใคร่ครวญต่อไปในอันดับหลัง
ฉะนั้น ในขั้นที่ 2 นะคะ ผู้ปฏิบัติก็จะศึกษาเรื่องของสุขเวทนาให้ชัดเจน เหมือนอย่างการศึกษาเรื่องลมหายใจยาวในขั้นที่ 1 อย่างชัดเจน นี่ก็ศึกษาสุขเวทนาอยู่เรื่อยทุกอย่าง ทุกชนิด จนชัดเจนว่า สุขเวทนาก็สักแต่ว่าเท่านั้นเอง สักแต่ว่าเป็นสุขเวทนา หาใช่จริงจังไม่ เห็นความเป็นมายาของมัน เห็นความหลอกลวง เห็นความโง่ของตัวเองที่หลงตกเป็นทาสของมัน เมื่อชัดเจนอย่างนี้แล้ว ก็ต่อไป ปฏิบัติในขั้นที่ 3 หรือขั้นที่ 9 ของอานาปานสติ นั่นก็คือ ศึกษาทุกขเวทนาและเวทนาทุกชนิดไปพร้อมๆกันด้วย นั่นก็คือ ไม่ว่าสุขเวทนาชนิดใด ทุกขเวทนาชนิดใด เช่น ความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียลูก ความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียตำแหน่งการงาน สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าสูญเสียญาติมิตรที่รักใคร่ ความทุกข์ต่างๆ เหล่านี้เหมือนกันไหม ศึกษาเรื่องของความทุกข์ทุกลักษณะเช่นเดียวกับการศึกษาความสุขที่ว่ามาแล้ว แล้วทีนี้ก็ลองสลับกัน ลองศึกษาให้ทั่วถึงสลับกัน เป็นสุขเวทนาบ้าง รู้ทันไหมว่านี่มันเป็นสุขเวทนาอย่างหนึ่ง ทุกขเวทนาบ้าง รู้ทันไหมว่าเป็นทุกเวทนาอย่างหนึ่ง ศึกษาให้สลับให้รู้ทั่วถึง จนกระทั่งสามารถบอกตัวเองว่า ขึ้นชื่อว่าเวทนา เชื่อไม่ได้ทั้งนั้น ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นจริงเป็นจังไม่ได้เลยซักอย่างเดียว มันเป็นแต่เพียงมายา เกิดดับ มาไป แต่สัญญาที่เกิดขึ้น ที่มันพาเอาสัญญามาด้วยจึงทำให้เกิดความจำ ความสัญญามั่นหมายว่ามันเป็นจริงเป็นจัง ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น ถ้าชัดเจนอย่างนี้ สัญญาก็จะไม่มีอิทธิพล แล้วก็จะไม่พาเอาสังขารหรืออุปาทาน หรือตัณหาตามมาด้วย มันก็จะหยุดได้เพียงแค่เวทนา
ฉะนั้น ขั้นสุดท้ายของหมวดนี้ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำก็คือ กำหนด ควบคุมเวทนาทุกอย่างทุกชนิดให้สงบระงับ ควบคุมเวทนาทุกอย่าง ทุกชนิดให้สงบระงับ ไม่ว่าเป็นเวทนาหยาบ เวทนาละเอียด สุขหรือทุกข์ ควบคุมทุกอย่างให้สงบระงับ ด้วยอะไรแล้วคะ ควบคุมด้วยอะไร ลมหายใจ อย่าลืม เพราะระหว่างที่เราศึกษาเวทนาเราก็ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ ทีนี้เราจะใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์จริงก็จะเห็นชัดตอนนี้ ตอนที่เราต้องการจะควบคุมเวทนาทุกอย่างให้สงบระงับ ก็ใช้ลมหายใจที่เราแน่ใจแล้วว่ามันจะทำให้เวทนามารบกวนไม่ได้ นั่นก็จะเป็นการปฏิบัติด้วยวิธีเดียวกัน เหมือนกับที่เราปฏิบัติในขั้นที่ 4 ของหมวดที่ 1 คือ ด้วยการควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ ลมหายใจสงบระงับได้เพียงใด เวทนามันก็ต้องลดกำลังลงไป ลดกำลังลงไปจนหมด แล้วจิตนี้ก็จะเข้าสู่ความสงบเยือกเย็นของใจ
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็คงจะเห็นนะคะว่าวิธีการของการปฏิบัติในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 นั้นมีเขาโครงของการปฏิบัติเหมือนกัน คือ เริ่มด้วย 1 ทำความรู้จักกับเรื่องของลมหายใจทุกอย่างทุกชนิด หมวดที่ 2 ก็เริ่มด้วยการทำความรู้จักกับเวทนาทุกอย่างทุกชนิดจนทั่วถึง ชัดเจน แจ่มแจ้ง ว่ามันเป็นเพียงมายา แล้วก็ต่อไปก็ควบคุมมันให้สงบระงับ หมวดที่ 1 ก็ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ หมวดที่ 2 ก็ควบคุมเวทนาให้สงบระงับ ก็ด้วยการใช้ลมหายใจนั่นเอง ฉะนั้น การปฏิบัติในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 มีวิธีการปฏิบัติเหมือนกัน เพียงแต่ว่าในหมวดที่ 2 นั้น เราเน้นจุดของการศึกษาไปที่เวทนา แต่ก็คงใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือกำกับเพื่อให้สติคงอยู่ จะได้สามารถพิจารณาเวทนาหรือว่าศึกษาเวทนาได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ด้วยการคิด แต่ด้วยการสัมผัสความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น ทีนี้เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถรู้จักเวทนาชัดเจนแจ่มแจ้งจนบอกได้ว่ามันเป็นมายา เวทนาคืออาการของจิตอย่างหนึ่งใช่ไหมคะ เวทนาเป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง เมื่อเรารู้จักเรื่องของเวทนาได้ชัดเจน นี่ก็จะเป็นหนทางหรือเป็นสื่อที่จะชี้ให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักชนิดของเวทนา ชนิดของจิตของเราหรือธรรมชาติของจิตของเราได้ชัดขึ้น เมื่อจิตนี้มักจะถูกครอบงำด้วยเวทนาชนิดใด คือหลงใหลยึดมั่นอยู่ในเวทนาชนิดใดมากกว่ากัน คือ ที่เป็นสุขเวทนา สุขเวทนาอย่างไหนที่มันติดอกติดใจนัก ทุกขเวทนาอย่างไหนที่มันรู้สึกเจ็บปวดชอกช้ำนัก เราจะรู้ธรรมชาติของจิต และเมื่อเรารู้ว่าธรรมชาติของจิตถูกครอบงำด้วยเวทนาชนิดใดมาก มันก็จะชี้ให้เห็นเองว่า จิตนี้ตกเป็นทาสของกิเลสชนิดใด ความโลภ ความโกรธ ความหลง อันไหนมากที่สุดที่มันมากระตุ้นตัณหาให้ทำงานยิ่งขึ้น นี่คือจุดประสงค์ของหมวดที่ 2 หนึ่ง รู้จักเวทนา สอง ควบคุมเวทนาได้ สาม โดยอัตโนมัติหรือเป็นผลที่ตามมาโดยอัตโนมัติ จะทำให้รู้จักธรรมชาติของจิตขึ้นทีละน้อย
เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าในการปฏิบัติหมวดที่ 2 นี้ ผู้ปฏิบัติจะสามารถพัฒนาสมาธิเหมือนดังที่ได้กระทำแล้วในหมวดที่ 1 ขั้นที่ 4 มีสมาธิ มีความสงบ แล้วก็จะเป็นสมาธิที่เจือปัญญา เจือปัญญา คือ ปัญญาที่ค่อยๆ มองเห็นว่าเวทนาก็เป็นเพียงสักว่าเวทนา เห็นตามสัจธรรม ว่าเป็นเพียงสักว่าเวทนา มันหาใช่สิ่งจริงไม่ เพราะมันอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันทนอยู่ไม่ได้ตลอดไป ฉะนั้น มันจึงไม่มีตัว ไม่มีตนให้ยึดมั่นถือมั่นเลยซักอย่างเดียว เวทนานั้นก็คงเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกฎของอิทัปปัจจยตา
นี่ก็เป็นเรื่องของหมวดที่ 2 นะ ก็ขอความกรุณา รับฟังไว้ ทำความเข้าใจไว้ให้ถูกต้อง แต่ยังไม่ต้องหวังว่าจะสามารถปฏิบัติได้ในช่วงของการอบรมคราวนี้ แต่ขอให้รู้วิธีไว้ แล้วเราก็จะลองเรียนวิธีการ ลองฝึกวิธีการปฏิบัติทางลัดบ้างก่อนที่จะเสร็จสิ้นการอบรม แต่การที่จะปฏิบัติเต็มตามรูปนี้ก็ค่อยๆทำ ค่อยๆไปเมื่อกลับไปบ้านแล้ว