แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาและก็ปฏิบัติในหมวดที่ 2 คือ เวทนานุปัสสนาภาวนา ก็คือว่า มันจะต้องเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติหมวดที่ 1 นี่พูดถึงลักษณะของการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีรู้สึกอึดอัด ตึง ปวดเมื่อยที่ตรงไหน มันผ่อนคลาย มันสบายและก็สะท้อนถึงใจ ใจก็ค่อยๆสงบ เยือกเย็น ผ่องใสทีละน้อย และขณะนั้นผู้ปฏิบัติรู้สึกอย่างไรที่ได้ลิ้มชิมรสเอาไว้แล้วบ้าง รู้สึกอย่างไร เมื่อจิตมันเริ่มสงบ มันเริ่มนิ่ง มันเริ่มตั้งมั่น และมันก็เริ่มมีความว่าง ว่างจากความวุ่นจากประการทั้งปวง เริ่มจากมีความว่าง เริ่มมีความเบา ความเย็นสบาย รู้สึกอย่างไรคะ ในขณะนั้นรู้สึกยังไง ชื่นใจบ้างไหมคะ มีความรู้สึกชื่นใจ มีความรู้สึกเย็น มีความรู้สึกพอใจ และในขณะเดียวกันผู้ที่มักจะมีความรู้สึกว่า โอ๊ยฉันคงทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ชาตินี้ฉันคงทำไม่ได้ ทำทีไรมันปวดหัวตัวร้อน มันเคร่งเครียด มันทำไม่ได้เลย และบัดนี้สิ่งที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้ ความสงบที่คิดว่าไม่สามารถจะพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ มันกำลังเพิ่มพูนขึ้นภายใน ภายในนิ่งสงบมากขึ้น นิ่งมากขึ้น เย็นมากขึ้น มั่นคงมากขึ้น มีความรู้สึกยังไง นอกจากชื่นใจที่จะเกิดขึ้น นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนเลย เมื่อสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ บัดนี้ มันเกิดทำได้อย่างไม่คาดฝัน มีความรู้สึกยังไง เขาเรียกว่าอะไร เคยมีไหมคะ เหมือนเราจะสอบเอ็นทรานซ์ เราไม่เคยนึกเลยว่าเราจะสอบติด มิหนำซ้ำไปติดที่ 1 เข้าด้วยนี่เป็นยังไง นี่เธอๆเห็นไหมว่าชื่อใคร เขาก็รู้แล้วว่าชื่อใคร เขาก็อ่านออก ตัวเองก็รู้ว่าชื่อใคร เห็นไหมๆว่าชื่อใคร ถ้าพ่อแม่พี่น้องไปกันตั้งเยอะ มาดูๆนี่ชื่อใคร ทำไมถึงทำอาการอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมีความรู้สึกที่ท่านเรียกว่า ปีติ เคยได้ยินไหม คำว่าปีติ มันปีติขึ้นในใจ อาการของปีติก็คือ เมื่อได้สิ่งใดอย่างไม่คาดคิดว่าจะได้ เช่นเดียวกับท่านที่อยู่ในโลกทั้งหลายนี่ ท่านทั้งหลายที่อยู่ในโลกทำงานทำการทำโปรเจคอันนี้ ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะทำได้ แล้วผลที่สุดเราทำได้ แล้วก็ทำได้ดีซะด้วย มันก็ปีติ ทีนี้โปรดสังเกตว่า ในอาการของความปีติ ซึ่งก็จัดว่าเป็นสุขเวทนา เพราะมันพอใจ ชอบใจ แต่ในอาการของปีตินั้น จิตสงบ นิ่งไหม ลองนึกดู ไม่สงบนิ่ง อาการของจิตที่ปกติต้องสงบนิ่ง สงบนิ่งคือมันราบเรียบ มันไม่ซัดส่าย ไม่ขึ้นลง มันราบเรียบ ราบเรียบอยู่ด้วยความเบา สบาย สงบ นิ่ง มั่นคง มันมีความเบิกบาน ผ่องใส มันแลอะไรไปก็เห็นว่าสิ่งนั้นมันเป็นเช่นนั้นเอง มันไม่หงุดหงิด ขุ่นหมอง นี่คือจิตที่ปกติ
ทีนี้พออาการของปีติเกิดขึ้นในใจ จิตนี้มันจะเปลี่ยนจากความราบเรียบ กระเพื่อม กระเพื่อมน้อย กระเพื่อมมากก็แล้วแต่อัตราของความปีติ ถ้ากระโดดตื่นเต้นลิงโลดมันก็ซัดส่ายมากในขณะนั้น เหนื่อยไหม ตอนนั้นไม่รู้หรอกขณะที่ตะโกนร้องเรียกใครต่อใครมาช่วยกันดู มาช่วยกันยินดี ดีใจ ไม่รู้ พอเสร็จแล้วลงนั่ง ขอพักก่อน ขอกินน้ำก่อน นั่นคืออาการเหนื่อยของปีติ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสังเกตอาการของปีติที่เกิดขึ้น ว่าลักษณะของปีติที่ท่านถือว่าเป็นสุขเวทนาอย่างหนึ่งนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันช่วยให้จิตนี้สงบไหม หรือรักษาความสงบของจิตไว้ได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ มันจะทำให้จิตนี้กระเพื่อม ผิดจากความเป็นปกติ ขึ้น ลง โยนขึ้นลงและผู้ปฏิบัติด้วยการฝึกดูลมหายใจ พอย้อนกลับเข้าไปดูจิตข้างใน ก็จะเห็นว่าลมหายใจอย่างไหนกำลังเกิดขึ้นในขณะที่จิตเต็มไปด้วยปีตินี่ ลมหายใจอย่างไหน ยาว เบาสบายรึเปล่า ไม่ เป็นลมหายใจอย่างไหน ลมหายใจสั้น ถี่ ด้าน หรือมิฉะนั้นก็เป็นลมหายใจแรง อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมันแสดงถึงร่างกายภายใน มันก็พร้อมที่จะรับกับอารมณ์นี้ มันก็สวมกันเข้า ช่วยกันเข้า จิตก็ผิดไปจากความเป็นปกติ เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติใดสามารถกระทำได้ คือควบคุมลมหายใจได้สงบระงับ จนกระทั่งจิตนี้เป็นสมาธิอย่างแน่วแน่ ประณีต ละเอียด หนักแน่น มั่นคงสนิท เยือกเย็น ผ่องใส อย่างบอกไม่ถูก เป็นธรรมดาที่อาการของปีติที่จะเกิดขึ้น มีบ้างไหมคะ ท่านผู้ใดได้มีปีติที่เกิดจากการปฏิบัติแล้วบ้าง 6 วันที่ผ่านมา มีไหมคะ 7 วันที่ผ่านมา มีไหมคะ ยังไม่มีก็ไม่เป็นไร ทำต่อไป แล้วเราจะพบว่าผู้ใดมีก็จะทราบแล้วว่าอาการของปีติมันเป็นยังไง
ทีนี้ถ้าจะถามว่าแล้วปีตินี้มันดีหรือไม่ดี? มันก็ดี คืออาการที่เป็นสุขเวทนามันก็ดีกว่าทุกขเวทนา ดีกว่าร้องไห้ ดีกว่าหงุดหงิดไม่ชอบใจ แต่จุดมุ่งหมายของการมาปฏิบัติจิตตภาวนา อย่าลืมว่าเพื่ออะไร เพื่อพัฒนาจิต ให้เห็นจิตที่มีความเป็นปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทีนี้อาการของปีติเมื่อมันเกิดขึ้น แม้จะเป็นสุขเวทนาแต่มันก็ทำให้จิตนี้กระเพื่อม ซัดส่าย ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ เมื่อสัมผัสได้ว่าอาการปีติกำลังเกิดขึ้นในใจ และก็ทำการศึกษาอาการของปีติทันที เพื่อจะได้รู้จักลักษณะอาการของปีติว่า สุขเวทนาที่เป็นปีตินั้น มีลักษณะอาการอย่างไร ก็จะพบว่า มันมีอาการลิงโลด ตื่นเต้น ร่าเริง ยินดี ผสมอยู่ในอาการของปีตินั้น มันก็ทำให้จิตนี้กระเพื่อม ไม่อยู่นิ่ง พอผู้ปฏิบัติสังเกตได้อย่างนี้ รู้จักอาการของปีติแล้ว ก็ต้องจัดการควบคุมปีตินั้นให้สงบระงับ อย่ายอมให้มันปีติต่อไปหรือปีติๆยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เราไม่ยอม เพราะอะไร ก็เพราะจุดประสงค์ของเราต้องการที่จะฝึกควบคุมจิตให้จิตสงบระงับ เป็นปกติ เป็นสมาธิอยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งใดที่จะมาทำลายความเป็นปกติของจิต แม้จะเป็นปีติซึ่งจัดว่าดี เราก็ต้องควบคุมมันให้สงบระงับ นี่คืองานในขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 2 ศึกษาปีติจนรู้จักลักษณะอาการของปีติ แล้วควบคุมปีตินั้นให้สงบระงับ ให้จิตนั้นกลับมาเป็นจิตที่ปกติดังเดิม แต่ก็ยากที่มันจะปกติดังเดิม พอปีติค่อยจางคลายไป สิ่งที่เกิดขึ้นแทนปีติจะเป็นยังไง เราไม่ตื่นเต้นลิงโลด ไม่เหมือนอย่างตอนต้นแล้ว แต่เมื่อนึกถึงยังพอใจไหมคะ ยังพอใจในรสชาติที่ได้รับไหม ยังพอใจ เสียใจที่ได้รสชาติอย่างนั้นไหม ไม่เสียใจ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือสุข คือความสุข พอนึกขึ้นทีไรมันยังรู้สึกเป็นสุข เป็นสุขที่เราสามารถทำได้ เหมือนอย่างเราผู้เป็นผู้ใหญ่แล้วนี่นะคะก็ผ่านอาการของความได้ที่ทำให้เกิดอาการปีตินี่มาหลายอย่าง เหมือนอย่างเช่น วันแต่งงานใหม่ แหม…มันปีติ ตื่นเต้น ยิ่งได้แต่งงานกับคนที่รักและพร้อมได้อย่างใจ มันก็ตื่นเต้นปีติกันทั้งคู่ นอนไม่หลับไปหลายคืน แล้วถ้าเป็นงานแต่งงานที่ใหญ่ยิ่ง ก็ยังจะจำไปคุย ปีติอวดได้ แต่พอผ่านไปสัก 10 ปี 20 ปี มีลูกมีหลาน ความปีติตื่นเต้นลิงโลดอย่างนั้นยังมีอยู่ไหมคะ ไม่มีแล้ว แต่พอเล่าให้ลูกหลานฟัง อู๊ย…สมัยที่ยายแต่งงานนะ โอ้โหเป็นงานใหญ่ในรอบปีเลย ไม่มีใครเหมือนเลย บรรยายต่อไปต่างๆ นั่นบรรยายด้วยความรู้สึกที่เป็นไง พอใจหรือไม่พอใจ พอใจ ยินดี เป็นสุขที่ได้เอ่ยถึงครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นอย่างนั้น หรือความปีติยินดีในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิตในการทำงาน พูดถึงเมื่อไหร่ก็ยังสามารถจะไปเล่าให้ใครๆฟังได้ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ปีติ ตื่นเต้น ลิงโลด เริงร่าเหมือนอย่างในตอนแรก แต่มันมีความสุข คล้ายๆกับสุขอยู่เงียบๆ พอใจอยู่เงียบๆ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมอาการของปีติให้สงบระงับไปได้ในขั้นที่ 1 ของหมวด 2 แล้วนะคะ สิ่งที่เหลืออยู่ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้จิตย้อนดูในจิต สำรวจด้วยความรู้สึกก็จะพบว่าสิ่งที่ยังเหลืออยู่นั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสุข ความสุขคือความพอใจ
ทีนี้คำถามคือว่า ปีติก็เป็นสุขเวทนา ความพอใจก็เป็นสุขเวทนา แล้วมันต่างกันอย่างไร ความต่างของมันก็อยู่ที่อาการ ซึ่งขอให้ทุกท่านจงโปรดย้อนสังเกตจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ว่าตื่นเต้นเริงร่านั้น จิตมันอย่างนี้ มันแรง หรือมันอย่างนี้ แรง แต่มันลดลงเพราะเราควบคุมมันได้ด้วยลมหายใจ มันก็ลดลงจากอาการซัดส่าย ขึ้นลงแรงๆ มันก็ค่อยๆช้าลงๆๆ แต่มันยังไม่นิ่งสนิท เหมือนกับจิตซึ่งปราศจากอารมณ์ใดๆ จิตที่ปราศจากอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงจะนิ่งสนิท ราบเรียบเพราะมันว่าง ว่างจากการรบกวนของความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือว่าตัณหาอุปาทาน นี่มันยังมีอยู่ ยังมีอะไรอยู่ สุขนั้นคือยังอะไรอยู่ ยังพอใจอยู่ นี่ความพอใจนี้มันก็ยังมีความอิ่มใจอยู่ จิตจึงไม่นิ่งสนิท แต่ยังมีอาการกระเพื่อมอยู่น้อยๆ กระเพื่อมอยู่น้อยๆเหมือนกับระลอกคลื่น พริ้วๆที่ถูกลมอ่อนๆ ไม่ใช่ลมแรง ลมอ่อนๆ มันจะยังมีอาการอย่างนี้อยู่ นี้คือท่านเรียกว่าสุข เพราะฉะนั้นเมื่ออาการอย่างนี้มันยังมีอยู่ จิตปกติเต็มที่หรือยังคะ ยัง ยังไม่ปกติเต็มที่ ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติขั้นที่ 2 ของหมวด 2 หรือขั้นที่ 6 ของอานาปานสติทั้งหมดนั้น นั่นก็คือ ศึกษาสุขเวทนาอันเป็นความพอใจยินดีเงียบๆ แม้จะเงียบๆ ที่ยังเกิดอยู่ภายในจิตนั้น ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก เรายังคงใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมืออยู่ตลอดเวลาในการปฏิบัติ ศึกษาปีติก็ศึกษาทุกลมหายใจเข้าออก มาศึกษาสุขเวทนาที่เป็นความพอใจก็ศึกษาทุกลมหายใจเข้าออก ศึกษาเพื่อรู้จักอาการของมันอย่างไร ก็จะรู้ว่า มันมีอาการของความชื่นชมยินดี มีอาการของความพอใจปรากฏอยู่ภายใน จิตนี้มันจึงกระดิก กระดิกอยู่นิดๆ มันยังมีสีสันอยู่ พอตอนเป็นปีติมันแดงแปร๊ด ชมพูแปร๊ด เหลืองจ๊าดไปเลย แต่ตอนนี้มันลดลง ตอนที่มันกระดิกนี้มันลดลง สีสันมันก็จางลง แต่มันก็ยังมีอารมณ์ของความพอใจอยู่นิดๆ ฉะนั้นในขั้นที่ 2 นี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามศึกษาเรื่องของความสุขให้ทุกอย่างทุกชนิดเลย