แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แล้วส่วนอาการของเวทนานั้น ก็จะมีอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ว้าวุ่น ครุ่นคิด นี่เป็นอาการของเวทนา อ่อนเปลี้ย เพลียแรง ว้าวุ่น ครุ่นคิด กระสับกระส่าย บางทีก็ถึงกับฮึดฮัด กัดฟัน แล้วก็อะไรต่าง ๆ อีกเยอะแยะ อันนี้กล่าวได้ว่า เป็นอาการของเวทนา ทั้งสุขเวทนา และทุกขเวทนา
บางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยว่า สุขเวทนาจะมีอาการอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ว้าวุ่น ครุ่นคิด ได้ยังไง จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ลองใคร่ครวญดู เป็นไปได้ไหมคะ เมื่อมีสุขเวทนา ก็มีความพอใจ แล้วจะมาอ่อนเปลี้ย เพลียแรง ครุ่นคิด ว้าวุ่นทำไม ท่านผู้ใดเคยมีความสุข สุขบอกกับตัวเองว่าสุข แล้วเสร็จแล้วก็มีอาการอย่างนี้ มันเกิดขึ้นข้างในด้วย เคยมีไหมคะ เคยเป็นไหม เคยพบไหม มันเป็นได้ไง ๆ ก็ในขณะนั้นมันบอกเราว่าสุข ในใจบอกเราว่าใจเราสุข แล้วทำไมถึงมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะอะไร นึกดูสิคะ มันมีอะไรที่แทรกซ้อนอยู่ในนั้น ในขณะที่สุข ฉันได้มาแล้ว เป็นของฉันแล้ว แล้วทำไมถึงจะว้าวุ่น ครุ่นคิด เพราะอะไร ... เพราะความกลัวใช่หรือเปล่า กลัวอะไร ... กลัวจะเสีย กลัวถึงสิ่งที่รักที่ชอบที่ได้มาแล้วนั้นเดี๋ยวมันจะไม่ได้อยู่นาน เดี๋ยวมันจะยึดไม่ได้อยู่นาน เคยมีไหมคะ ... นั่นล่ะแสดงถึงอาการของการว้าวุ่น ครุ่นคิด เพราะได้มาแล้ว แต่ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เต็มพร้อมด้วยความหวัง ก็ตั้งใจว่าสิ่งนี้จะต้องอยู่กับเรา อยู่กับเราตลอดไม่ให้ไปไหนเลย ก็เกิดความกลัว นี่มันมาจากไหน ความกลัวนี่มาจากไหน ถ้าเราศึกษาธรรมะให้ตลอด เราจะเห็นว่า มันต่อเนื่องสัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ มาจากไหนคะ กลัวจะสูญเสียนี่มาจากอะไร อาการของกิเลสตัวไหนคะ กลัวจะเสีย ... “โลภ” ใช่ไหมคะ โลภ กลัวจะเสีย ก็คือกลัวจะไม่ได้ นั่นก็คือความโลภ เมื่อเวลาที่เราจะศึกษาเรื่องของจิต ต้องพยายามดูให้มันละเอียดลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุม แล้วเราก็จะเห็นว่า สิ่งนี้ก็สาวสิ่งนั้นต่อมา สาวสิ่งนั้นต่อมา ถ้าเรารู้มันอย่างเป็นสายอย่างนี้ เราจะได้รู้จักตัดให้ขาด สับมันไป สับมันไป กวาดถอนรากถอนโคนออกไปให้เกลี้ยง ไม่ไปจดจ่ออยู่แต่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันไม่เฉพาะอันนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นความว้าวุ่น ครุ่นคิด กระสับกระส่าย มันเกิดขึ้นได้ แม้แต่สุขเวทนา เพราะความกลัว ใครกลัว ใครกลัว นี่แหละวิธีฝึกค่ะ ฝึกอบรมตัวเอง แต่การถามอย่างนี้ว่า ใครกลัว ..ก็ฉันนี่แหละกลัว เรานี่แหละกลัว กลัวจะเสีย กลัวจะไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นไหมคะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนเรื่อง “อนัตตา” เพราะอะไร ถ้ามองเห็นเสียว่า สิ่งนี้เป็นเพียงสักว่าเป็นเบญจขันธ์ รูปก็สักว่ารูป นามก็สักว่านาม กายก็สักว่ากาย จิตก็สักว่าจิต ถ้าเห็นว่าสักว่า ก็ไม่ต้องมีตัว พอไม่มีตัวแล้วจะกลัวไหม ไม่มี มันหายไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีตัวผู้กลัว
ฉะนั้น อาการว้าวุ่น ครุ่นคิด กระสับกระส่ายก็เกิดได้ แม้แต่สุขเวทนา จึงอย่าประมาทนะคะ แต่มนุษย์เราพอสุขเวทนาเกิดขึ้น มองทุกอย่าง เห็นเป็นดีงาม เป็นทางบวกไปหมด จึงตกเป็นทาสของสุขเวทนาอย่างลึกซึ้ง หรืออาการอ่อนเปลี้ย เพลียแรง เกิดขึ้นได้นะคะเมื่อมีสุขเวทนา ได้ไหม ทำไมล่ะ พอเป็นสุขแล้วต้องมาอ่อนเปลี้ย เพลียแรง หมดเรี่ยวหมดแรงทำไม เพราะอะไร นึกดูสิคะ ยิ่งคนที่มีแรงมาก หนุ่ม ๆ สาว ๆ พอได้อะไรถูกใจ เดี๋ยวนี้ต้องทำยังไง มันถึงจะสะใจ “กระโดด ร้องกรี๊ด ตะโกน มาดูๆ ๆ เราได้อะไรต่าง ๆ แล้วก็ไม่พอต้องกระโดดโลดเต้น ต้องกางปีกเหมือนกับแร้งกำลังบินกระพือปีกทำนองนั้น” นี่แหล่ะ เรี่ยวแรงทั้งหลายก็หมดไป หมดไปเพราะความลิงโลด เริงร่า ตื่นเต้นจนรั้งไว้ไม่อยู่ สติมีไหม ...ไม่มี... อย่าลืมส่องกระจกๆ ไปเต้นต่อหน้ากระจกบานใหญ่ในบ้าน จะได้มองเห็นว่าอีท่านี้มันเหมือนท่าอะไร สวยไหม งามไหม นี่ล่ะค่ะ เรี่ยวแรงมันหมดไปตรงนี้ แล้วบางทีก็ยิ่งกว่านั้น เดี๋ยวนี้ถือว่า มันต้องทำอย่างนี้ จับมือเพื่อนกันกระโดดโลดเต้นไปรอบ ๆ เต้นระบำลิงโลดต่อไปอีก แล้วก็มานั่งลงหอบแฮกๆๆ ด้วยความสุข แต่เป็นความสุขที่ผลตามมาคือ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นี่คือความสุขของคนที่ขาดสติ แล้วก็ไม่รู้หรอกว่า ในความสุขนั้นมันคือมีอะไรซ่อนอยู่
ในความสุขนั้นมันคือมีอะไรซ่อนอยู่คะ คือมีความทุกข์ซ่อนอยู่ ฉะนั้นที่เราพูดถึงในอริยสัจ เรื่องทุกข์ ท่านจึงบอกว่า มันมาได้ในลักษณะสองอย่าง คือมาอย่างเปิดเผย นั่นก็คือว่า ทุกข์ เจ็บปวด เพราะสูญเสีย เห็นชัด ไม่มีอะไรได้มาเลย หรือได้ก็ได้ในสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ นั่นมาอย่างเปิดเผย ในรูปของความรู้สึกที่เป็นนรกอยู่ในใจ แต่อีกอย่างหนึ่งก็มาในรูปการซ่อนเร้น คือซ่อนเร้นมาในรูปของความสุข แล้วก็มนุษย์ผู้มีแต่อินเทลลิเจ้น (Intelligent) แต่ขาดวิสด้อม (Wisdom) ก็จะหลงใหลในมัน แล้วก็เชื่อว่า นี่ล่ะใช่แล้ว ๆ แล้วก็ตกเป็นทาสของมัน แล้วก็พยายามยื้อแย่งเบียดเบียนที่จะให้ได้ ดึงมาเป็นของเราตลอดเวลา ฉะนั้นจึงต้องรู้จักอาการของเวทนา ซึ่งอ่อนเปลี้ย เพลียแรง กระสับกระส่าย ฮึดฮัด กัดฟัน นี่พอบอกว่าเป็นอาการของทุกขเวทนา ไม่มีผู้ใดสงสัย ยอมรับได้ทันที แต่ถ้าเป็นอาการของสุขเวทนามองไม่เห็น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า จงศึกษาสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนานี่ค่ะให้มาก ๆ เมื่อได้ยศ เมื่อได้ทรัพย์ เมื่อได้ตำแหน่งการงาน เมื่อได้ลูก เมื่อได้คู่รัก เมื่อได้บ้านใหม่ รถยนต์คันใหม่ เมื่อได้อะไรที่รู้สึกว่าตัวได้ แล้วก็บอกว่าสุขแล้ว ขอจงรีบนำสติเข้ามาหยุดยั้งความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นก่อน แล้วก็ศึกษาสุขเวทนานั้นให้ชัดๆว่ามันสุขจริงรึเปล่า หรือว่ามันเป็นเพียงสุก (ก.ไก่) นะคะ
ฉะนั้นจะต้องศึกษาให้ชัดและอย่าลังเลสงสัยในเรื่องของสุขเวทนา เรียกว่า พอสุขเวทนามาล่ะก็ ผู้มีสติพึงถอยก่อน ถอยหลังก่อน อย่ารีบยื่นมือไปรับ หรือว่าอย่ารีบไปโอบเอามา กวาดเอามาเป็นของเรา จงรู้เถิดว่า สุขเวทนานี่ร้ายยิ่งกว่างูพิษๆ เพราะมันจะขบกัดเราตลอดเวลาให้เจ็บปวดเพราะสุขเวทนา ด้วยความวิตกกังวล ด้วยความห่วงหาอาลัย ด้วยความผุดลุกผุดนั่ง นอนไม่ค่อยจะหลับสนิท บางทีก็ถึงกับกินไม่ค่อยจะได้ เรียกว่าจิตนั้นจะไปผูกอยู่กับอนาคต หรือบางทีก็หวนกลับไปนึกถึงอดีต ปัจจุบันนั้นอยู่ไม่ได้เลย มันจึงทำให้ชีวิตนี้ เป็นชีวิตที่เสียเวลาเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงควรที่จะศึกษาเรื่องของสุขเวทนานั้นให้เห็นชัดให้ยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเห็นมายา เห็นความเป็นมายาของมัน
ที่ว่าความเป็นมายาของมันนั้น ก็ลองนึกดู ในสิ่งใดที่เรามองเห็นเหมือนกับว่ามันมีรูปร่าง มีตัวตนให้จับต้องได้ ให้ยึดเอาไว้ได้ แต่ผลที่สุดมันก็หายไป มันหาอยู่ไม่ ดิฉันชอบเปรียบสุขเวทนาเหมือนรุ้งกินน้ำ ทุกขเวทนาเหมือนกับควันไฟ ถ้าเป็นควันไฟคนไม่ค่อยชอบ ใครมาก่อไฟใกล้ๆที่เราพักหรือที่เรานั่งอยู่ ไม่สบาย เพราะเราจะต้องสูดควันไฟนั้นเข้าไปในปอด เราไม่ชอบ แล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่า เป็นอาการของทุกขเวทนา เมื่อไม่ชอบ มันก็เป็นทุกขเวทนา แต่เมื่อเรามองไปที่ควันไฟ ที่มันพุ่งขึ้นมาเป็นสีขาว เป็นสีเทา เตี้ยบ้าง สูงบ้าง มองดูเป็นควันก้อนใหญ่บ้าง ในตาก็บอกว่าควันนี้มันมี ใช่ไหมคะ คือมันมีควัน แต่เมื่อเอื้อมมือไปจับควัน เรากำควันเต็มที่เลย หรือจะเอาถังไปตักก็ยังได้ เราตักมาเต็มที่เลย แต่เข้ามามองดู มีไหมควัน ...ไม่มี.. แบมือออกก็ไม่มี นี่ล่ะคือลักษณะอาการของความทุกข์ที่อยากจะเปรียบ ความทุกข์ที่เราเกลียดนัก พอความเสียใจเศร้าหมอง เจ็บปวดชอกช้ำเกิดขึ้นในใจ ก็เก็บมันเอาไว้ๆแล้วก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นจริงเป็นจัง มีตัวมีตน ทุกข์นี่มันทุกข์จริง ทุกข์แสนสาหัสมีตัวมีตน ปล่อยไม่ได้ เก็บมันเอาไว้ จิตก็ยิ่งทุกข์ยิ่งขึ้นๆ ก็จงเปรียบความทุกข์ นึกถึงความทุกข์เหมือนควันไฟ ที่มันดูมีตัวมีตนนั้นเพราะอะไร เพราะความรู้สึกยึดมั่นของเราใช่ไหมคะ ความรู้สึกยึดมั่นในใจ ที่พอมันเกิดขึ้นแล้วจิตเจ็บปวด เราก็รู้สึกมันเป็นตัวเป็นตน แต่อันที่จริงแล้ว มันหามีตัวตนไม่ มันเป็นเพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนกับควันไฟ พอมันหมดแรงของไฟ มันก็มอดดับไป ใครจุดใหม่ มันก็เกิดขึ้นอีกตามเหตุตามปัจจัย
ส่วนสุขเวทนา ดิฉันชอบเปรียบเหมือนรุ้งกินน้ำ เพราะว่าตั้งแต่เราเด็ก ๆ นี่ เรามองไปข้างบนฟ้า มองดูรุ้งกินน้ำสีสวย ทุกท่านรู้จักแล้ว จะเรียกพี่ เรียกน้อง เรียกเพื่อนมาดู มาดูรุ้งกินน้ำ แหมสีสวยเหลือเกิน แล้วก็ดูซินี่มันจะไปถึงไหน ก็มีความรู้สึกว่าอยากจะหยิบรุ้งกินน้ำ อยากจะได้รุ้งกินน้ำมาเป็นของเรา แต่ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่า อย่าเอามือไปชี้นะ อย่าเอานิ้วไปชี้รุ้งกินน้ำ เคยได้ยินไหมคะ ถ้าชี้แล้วประเดี๋ยวนิ้วจะขาดๆ เราก็ได้แต่พยักหน้ากัน แล้วก็ไม่เอามือชี้ เพราะเชื่อผู้ใหญ่ กลัวนิ้วจะขาด แต่ถ้าเรามานึกดูให้ดี ผู้ใหญ่นี่ท่านมีสติปัญญาลึกล้ำเหมือนกัน ท่านจึงสอนว่า ดู แต่อย่าเอานิ้วไปชี้ ชี้เข้าแล้วประเดี๋ยวนิ้วจะขาด มีความรู้สึกว่า มีปริศนาธรรมอะไรซ่อนอยู่ในนั้นบ้างไหมคะ ก็ถ้าหากเราเปรียบความสุขเหมือนกับรุ้งกินน้ำ ใครไม่อยากได้ความสุข ทุกคน อยากได้ความสุข แล้วก็ได้อย่างที่ทุกคนต้องการไหมคะ ...ไม่ได้... ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แม้เมื่อได้มาแล้วยังรักษาไว้ได้ไหมคะ ก็ยังรักษาไว้ไม่ค่อยได้ พอมันสูญสิ้นไป เช่น ความรัก ความรักที่มันเวลารักก็เป็นสุข แล้วมันก็เป็นจริงเป็นจัง ความเป็นจริงเป็นจังของความสุข ก็คือ อยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่ตัวคนที่เรารัก ที่มันมีความเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาก็อยู่ที่ตัวคนที่เป็นที่รักนั่นล่ะ จะเป็นผู้หญิงก็คนนั้น จะเป็นผู้ชายก็คนนั้น ก็ยึดมั่นอยู่ที่ตัวนั้น แต่พอมันมีอาการเปลี่ยนแปรไป ความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้น ฉะนั้นที่ท่านบอกว่าอย่าเอามือ อย่าเอานิ้วไปชี้รุ้งกินน้ำนะ ประเดี๋ยวนิ้วจะขาด พอมานึกถึงในทางธรรม ดิฉันก็แปลเสียว่า มันไม่ใช่นิ้วขาดหรอก ใจน่ะมันจะขาด มันจะขาดเมื่อความสุขนั้นสูญสลายไป หรือเมื่อความสุขนั้นแปรเปลี่ยนไป ผู้ใหญ่ปู่ย่าตายายท่านอยากจะบอกว่าให้คิดอย่างนี้ อย่าไปยึดมั่นในความสุข ท่านสอนธรรมะอย่างชาวบ้าน สอนธรรมะอย่างง่าย ๆ ด้วยถ้อยคำธรรมดา แล้วถ้าจะว่าไปแล้ว การที่อย่าเอานิ้วไปชี้ที่รุ้งกินน้ำนี่ ใช้ได้ทั้งในระดับของศีลธรรม และปรมัตถธรรม ที่ใจจะขาดก็เพราะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใจก็ไม่ขาด เพราะมันรู้แล้วว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง นี่ก็เป็นการที่จะนำเข้าสู่การศึกษาในเรื่องของกฎของธรรมชาติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้ง อิทัปปัจจยตาที่ว่า ผลอย่างใด เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนั้น
ทีนี้ในขั้นศีลธรรม เราก็รู้ว่า ผู้ใหญ่ท่านบอกว่า อาการที่ชี้โน่นชี้นี่ ชี้อย่างนี้ แล้วคนนั่งอยู่ แล้วเราก็ชี้ไปเหมือนกับข้ามหัวคน เป็นกิริยามารยาทที่เป็นอย่างไร ใช้ไม่ได้ เป็นมารยาทที่ไม่งาม ไม่เหมาะสม หรือบอกว่านี่ไม่ใช่กิริยาของผู้ดี อย่างที่ท่านพูดกัน นี่คือการสอนให้เป็นคนดีในระดับของศีลธรรม ฉะนั้น ถ้าเอามาคิดดูแล้ว ผู้ใหญ่โบราณที่ท่านบอกอะไรนี่ท่านมีความหมายทั้งนั้น หรือสวรรค์ในอก นรกในใจ ท่านก็มีความหมายเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ชอบเปรียบความสุขก็เหมือนรุ้งกินน้ำ อยู่ไม่นานประเดี๋ยวก็หายไป หามีตัวตนให้จับต้องได้ไม่ ความทุกข์ก็เหมือนกับควันไฟ จะชอบหรือไม่ชอบ มันก็ไม่อยู่นานประเดี๋ยวมันก็ไป ทำไมไม่รู้จักที่จะจัดใจของเราให้พร้อมอยู่ด้วยสติและปัญญา เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นโทษเพราะเวทนานั้น แล้วก็สามารถเหยียบเวทนาให้มันอยู่ใต้อุ้งเท้า คือเหยียบโลกให้อยู่ใต้อุ้งเท้า ตัวก็ยังอยู่ในโลก แต่จิตนี้ มันจะเป็นจิตที่อยู่เหนือโลก