แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีนะคะ เช้านี้อยากจะขอพูดถึงหมวดที่ 2 หรือจตุกกะที่ 2 คือเวทนานุปัสสนาภาวนา แล้วก็จะพูดต่อไปเลยถึงหมวดที่ 3 คือ จิตตานุปัสสนาภาวนา ก่อนอื่นก็อยากจะขอบอกให้ทราบทุกท่านนะคะว่า ในเมื่อผู้ปฏิบัติยังไม่สามารถที่จะปฏิบัติหมวดที่ 1 ได้อย่างช่ำชองคล่องแคล่ว จนกระทั่งรู้จักลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดแล้วก็สามารถควบคุมลมหายใจได้คือยังทำไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่ก็เชื่อว่า ทุกท่านพอทราบหนทางหรือวิธีที่จะปฏิบัติต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติทุกท่านที่จะต้องปฏิบัติหมวดที่ 1 ตลอดเวลาที่เรายังอยู่ที่นี่จนกระทั่งออกไปจากที่นี่แล้ว เมื่อกลับไปมหาวิทยาลัย กลับไปทำงาน ไปอยู่บ้าน ถ้าคิดว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ปฏิบัติต่อไป ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็จะมีความชำนาญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่ที่จำเป็นต้องถือโอกาสพูดถึงหมวดที่ 2 แล้วก็หมวดที่ 3 คือหมวดเวทนา แล้วก็หมวดจิต ทั้งๆ ที่ผู้ปฏิบัติยังไม่คล่องแคล่วชำนาญในหมวดที่ 1 ดี แล้วเมื่อมาฟังหมวดที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 ต่อไป อาจจะทำให้เกิดความสับสนก็ได้แต่ความสับสนนี้จะไม่เกิด ความสับสนนี้จะไม่เกิดเลยถ้าผู้ปฏิบัติทำใจให้เข้าใจเสียแต่ต้นว่า การที่พูดถึงหมวดที่ 2 หมวดที่ 3 ให้ฟังนั้นก็เพื่อเป็นความเข้าใจ ให้เป็นความรู้เป็นความเข้าใจ ผู้ปฏิบัติจะได้มีความรู้ในเรื่องของอานาปานสติอย่างถี่ถ้วนสมบูรณ์ในเรื่องของความเข้าใจตลอด แล้วก็เมื่อกลับไปบ้านแล้วปฏิบัติหมวดที่ 1 ชำนาญดี ก็ต้องการที่จะปฏิบัตต่อไปในเรื่องของเวทนาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงฉาบฉวยก็จะสามารถทำได้ แล้วก็จะรู้ว่าวิธีการปฏิบัติทางจิตซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ฝึกปฏิบัติธรรมก็เพื่อพัฒนาจิตนั้นทำกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องราวที่ต้องการขอบอกฝากไว้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจแล้วก็จะนำมาใช้ได้เมื่อต้องการนะคะ
ฉะนั้นในขณะนี้ถ้าผู้ปฏิบัติใดรู้สึกว่ายังทำหมวดที่ 1 ไม่ได้เลย ก็อย่าเกิดความหงุดหงิดหรือว่าสับสนในเมื่อมาฟังเรื่องของเวทนา หรือว่าเรื่องของจิต ทางที่ถูกต้องในระหว่างที่ฟังนี้ก็เชื่อว่า ทุกท่านทราบดีว่าควรจะทำยังไง ทราบไหมคะว่าระหว่างที่นั่งฟังนี่ควรจะทำยังไง ควรจะอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจเอาไว้ทุกขณะ จะรู้แบบตามบ้างก็ได้ ตอนนี้เรายังไม่ได้ปฏิบัติกันตามลำดับขั้น จะรู้แบบตามคือตามเข้าตามออก ว่าจิตใจมันจะชักง่วงเหงาหาวนอนหรือว่าหงุดหงิดก็ใช้ลมหายใจไล่มันไป เมื่อจิตสบายก็รู้มันเฉยๆ รู้ลมหายใจเฉยๆ รู้เข้ารู้ออกเหมือนอย่างกับในขั้นที่ 4 แต่ไม่ได้ต้องการให้ทำให้สงบในขณะนี้เพราะจะต้องใช้สมาธิในการฟังนะคะ ก็หวังว่าจะเข้าใจถูกต้องนะคะ จะเข้าใจถูกต้องในจุดประสงค์ที่เราจำเป็นจะต้องพูดกันเพราะเวลามันน้อย
ถ้าเป็นไปได้จริงๆ ที่จะเอาความชำนาญพอสมควรล่ะก็ตลอด 11 วันนี่ไม่ต้องทำอย่างอื่นปฏิบัติหมวดที่ 1 ไปเรื่อยตลอดเวลาแล้วก็จะค่อยรู้สึกเห็นหน้าเห็นหลังนะคะ ทีนี้ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติเพื่อให้จิตมีฐานที่ตั้งพร้อมอยู่ด้วยสตินั้น ก็เริ่มด้วย 4 หมวด ด้วย 4 หมวดคือ หมวดกาย เวทนา จิต ธรรม เลือกเอากายมาเป็นหมวดที่ต้องปฏิบัติก่อนเพราะเป็นส่วนที่หยาบ มันเป็นรูปธรรม มันเป็นสิ่งที่มองเห็นได้จับต้องได้ เพราะมนุษย์คุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตจะเชื่ออะไรจะเห็นอะไรก็ตามที่ตาเนื้อเห็น หูเนื้อได้ยิน ทีนี้เราจะดิ่งเข้าไปที่จิตทันทีเป็นไปไม่ได้ เพราะจิตนั้นเป็นนามธรรม เราจึงศึกษาที่เรื่องของกาย แต่อานาปานสติก็เน้นเรื่องลมหายใจ จะต้องศึกษาเรื่องของลมหายใจให้รู้จักทุกอย่างทุกชนิดอย่างช่ำชองคล่องแคล่ว จนควบคุมไม่ให้เกิดก็ได้ ควบคุมให้เกิดก็ได้ และสามารถควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ ปรุงแต่งกายสบาย สะท้อนถึงจิตที่จะมีความสงบ มีความเยือกเย็นผ่องใส เป็นสมาธิยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับจนสามารถเป็นเอกัคคกาได้ นี่คือความสำเร็จของหมวดที่ 1 นะคะ มีท่านผู้ปฏิบัติใดสำเร็จถึงนี่แล้วบ้าง มีไหมคะ มีหรือไม่มีก็รู้ตัวเองไม่ต้องไปเล่าให้ใครฟัง ไม่ต้องไปถามเขาว่า ใช่ไหม จริงไหม เราต้องรู้ของเราเองว่า จริงแล้ว ใช่แล้ว เมื่อจิตนั้นมันนิ่ง มันสงบ มันดิ่ง หนักแน่น มั่นคง พร้อมอยู่ด้วยความเบาสบาย เยือกเย็น ผ่องใส ต้องดูเองรู้เอง และความรู้อันนี้ก็จะเกิดจากการสัมผัส ที่เราได้สัมผัสกับความเจริญของการปฏิบัติที่มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ
ทีนี้พอจิตนี้สงบในระดับหนึ่ง คือสงบอยู่ด้วยสติ สมาธิในระดับหนึ่ง เพราะผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมลมหายใจให้สงบได้แล้วก็สร้างสรรค์สมาธิให้เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว ต่อไปนี้เราก็จะใช้พื้นจิตที่มีความสงบพอสมควรนี้ใคร่ครวญในสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตนัก มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครหลีกพ้นไปจากสิ่งนี้ได้ นั่นก็คือเรื่องของเวทนา อย่าลืมอ่าน เว-ทะ-นา นะคะ ซึ่งแปลว่าความรู้สึก เวทนาคือความรู้สึก ถ้าเวด-ทะ-นา ล่ะก็สงสารเป็นภาษาไทย เวทนาความรู้สึกเราก็จะมาศึกษากันเรื่องของเวทนา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหยิบเวทนามาศึกษา เวทนาที่เขาแปลว่า มันแสดงอาการของความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่ความหมายของเวทนาโดยตรงก็แปลว่า ความเสวยอารมณ์
เวทนา คือความเสวยอารมรณ์ มันมีอารมณ์เข้ามาข้องเกี่ยวอยู่ภายในเป็นอารมณ์สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ถ้าถามถึงอารมณ์ของเวทนาก็จัดได้เป็น 3 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ สุขเวทนา ประเดี๋ยวก็รู้สึกเป็นสุข เพราะมันถูกใจมันชอบใจตามทิฐิของตัว ไม่ใช่ถูกใจชอบใจตรงไหน ตรงทิฐิของตัวเองที่เราคิดว่า อย่างนี้ดีมันก็ดี อย่างนี้สวยมันก็สวย แล้วมันก็ได้อย่างที่ใจคิด ใจเห็นนี่ดีได้มา ใจเห็นนี่สวย นี่เก๋ นี่มีประโยชน์ได้มาๆ ก็เกิดสุขเวทนา คือมองดูแต่เฉพาะหน้าที่มันมาอย่างเปิดเผยตามที่ตาเนื้อเห็นเท่านั้นเองนะคะนี่เราก็เรียกว่า สุขเวทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายไขว่คว้าหาจนกระทั่งเจ็บปวด ขมขื่น ทรมาน ก็เพราะอันนี้อย่างเดียวเท่านั้น ความต้องการอย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น
ทีนี้เวทนาอย่างที่ 2 ก็คือ ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาซึ่งมันตรงกันข้ามกับสุขเวทนา ในขณะที่สุขเวทนาเกิดจากการที่ได้ตามสิ่งที่ต้องการ คือปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น มันก็เกิดความพอใจเกิดความเป็นสุข ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นสุข ทีนี้พอปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นมันก็กลายเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจมันก็ต้องเป็นทุกข์ รักแล้วพอใจแล้วอยากจะกอดรัดเอาไว้ อยากจะยึดมั่นถือมั่นให้เป็นของเราตลอดเวลา ไม่เป็นอย่างนั้นก็เกิดทุกขเวทนา หรือกลับต้องไปประสบกับสิ่งที่รัก ที่ไม่รัก ไม่พอใจ ไม่ชอบ ไม่พอใจแต่เกิดกลับมาต้องมาอยู่ต้องมาพบต้องมาคลุกคลีกับสิ่งนั้นมันก็เป็นทุกขเวทนา นี่ตามที่พบในบทสวดมนต์นะคะ นี่ก็เป็นสุขเวทนากับทุกขเวทนา แต่เวทนาอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นเวทนาที่ท่านเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา อทุกขมสุข อะก็ อ. ทุกข์ ก็คือคำว่า ทุกข์ นี่นะคะ อทุกข์ แล้วก็ สุขเวทนา ก็มีความหมายว่าไม่แน่ใจว่ามันทุกข์หรือมันสุขตอบไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าชอบหรือไม่ชอบ ถูกใจหรือไม่ถูกใจ บางครั้งพอไปดูหนังดูละครเรื่องใดมาพอออกจากโรงก็จะบอกได้ทันทีว่า สุขเวทนา ชอบ ถูกใจ ดี สนุก พูดทันทีไม่ต้องรีรอ หรือบางทีก็ไม่ชอบ เรื่องนี้บ้าแท้ๆ ทีหลังจะไม่ดูอีกเลย คือตัดสินเด็ดขาดออกมาทันทีไม่รีรอเหมือนกัน นี่ก็คือทุกขเวทนา เพราะไปยึดมั่นในสิ่งที่ได้ดูได้เห็นเป็นอย่างนั้น แล้วในขณะที่ดูจิตใจก็ซัดส่ายไปมาเพราะอารมณ์ของความไม่ชอบ แต่บางคนพอออกมาแล้วบอกไม่ได้ว่า ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเพื่อนถามเป็นยังไงดีไหมหนังเรื่องนี้ อืม...ตอบยาก จะว่าชอบก็ไม่เชิง ไม่ชอบก็ไม่เชิง จะว่าสนุกก็ไม่เชิง จะว่าไม่สนุกก็ไม่เชิง มันก้ำกึ่งกัน มันก้ำกึ่งกันอย่างที่ยากที่จะตัดสินว่า มันใช่หรือไม่ใช่ มันดีหรือไม่ดี มันถูกหรือไม่ถูก มันอยู่ในความลังเลสังสัย เพราะฉะนั้นอย่างนี้ท่านก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา คือเป็นอทุกขมสุขเวทนา เป็นความเสวยอารมณ์อยู่ในความลังเลสงสัย เป็นความลังเลสงสัยเพราะเกิดจากความไม่แน่ใจ ทีนี้ความไม่แน่ใจ ความลังเลสงสัยจะคิดว่า มันอยู่เป็นทางสายกลาง มันอยู่ตรงกลางใช่ไหม ก็ขออธิบายว่า ไม่ใช่
มันไม่ได้อยู่ตรงกลาง จิตที่อยู่ตรงกลางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทานั้น ไม่มีลังเลสงสัยในแง่ใดมุมใด มันสว่างรอบไปหมด ความรู้นั้นมันรอบไปหมด มันมีแต่ความแจ่มแจ้ง แต่อทุกขมสุขที่อยู่ในความลังเลสงสัยนั้นมันมัว มันเป็นความรู้สึกที่มัวๆ สลัวๆ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ฉะนั้นถ้าดูจากที่เราได้ปฏิบัติมาแล้ว หรือได้ฟังมาแล้วนี่ก็พอจะคาดได้ไหมคะว่า ถ้าพูดถึงกิเลส อทุกขมสุข นี่มาในลักษณะของกิเลสอันไหน ตัวไหน โลภ โกรธ หลง หลง โมหะ เพราะมันมัวๆ ถ้าเป็นนิวรณ์ก็นิวรณ์ตัวไหนคะ วิจิกิจฉา เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ในมัชฌิมาปฏิปทา มันอยู่ในความดึงไปซ้ายไปขวา มันลังเล มันไม่แน่ใจ มันมัวสลัวอยู่ในใจ นี่คืออทุกขมสุขเวทนา ฉะนั้นเวทนาที่เกิดขึ้นในจิตของมนุษย์ที่เรียกว่า มนุษย์มีความเสวยอารมณ์อยู่ด้วยเวทนานั้นก็มี 3 ลักษณะ อาจจะเป็นสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง หรืออทุกขมสุขเวทนาบ้าง ทีนี้อารมณ์แปลว่าอะไร อารมณ์ในที่นี้ความหมายในทางภาษาบาลีนั้นหมายถึงเครื่องยึดหน่วงของจิต เวทนาเป็นสิ่งที่ยึดหน่วงอยู่ในจิต ยึดหน่วงอยู่ในจิต ก็หมายความว่าจิตของมนุษย์นั้นมักถูกจะยึดหน่วงอยู่ด้วยเวทนา อารมณ์ในที่นี้ไม่ได้แปลถึง อารมณ์ที่ ขึ้นๆ ลงๆ เขาอารมณ์ดี เขาอารมณ์ร้าย ไม่ได้หมายความอย่างนั้นเหมือนอย่างภาษาไทยที่เราพูดกัน อารมณ์ในภาษาธรรมะหมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต ฉะนั้นถ้าหากว่าแต่ละคนจะสังเกตให้ดีจะเห็นว่า จิตของเราที่ไม่ว่างเลยวุ่นวายระส่ำระสายอยู่ตลอดเวลานั้นก็เพราะมันถูกยึดหน่วงอยู่ด้วยเวทนา หรือเวทนาเข้ามายึดหน่วงอยู่ในจิตตลอดเวลา นั่นก็คือ ประเดี๋ยวชอบ ประเดี๋ยวไม่ชอบ ประเดี๋ยวถูกใจ ประเดี๋ยวไม่ถูกใจ ประเดี๋ยวก็ไม่รู้จะเอาดีหรือไม่เอาดี สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อยู่เป็นนิจ