แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้นต่อไปนี้ก็ให้เราลองปฏิบัติด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง ขยับเขยื้อนเนื้อตัว พลิกให้สบาย ให้สดชื่น นวดแขน นวดต้นคอ นวดหน้าผาก ให้รู้สึกว่องไว ทำใจให้ปลอดโปร่งนะคะ ไม่สนใจกับสิ่งข้างนอก ไม่ว่าแสงแดด ไม่ว่าอากาศที่ร้อน หรือว่าเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ ไม่หงุดหงิดไม่รำคาญผู้ใด เพราะผู้ปฏิบัติมีหน้าที่ ที่จะสอดส่องจิต เข้าไปในจิตของตนเองแต่อย่างเดียว ไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องข้างนอก จึงจะสามารถปฏิบัติได้ สิ่งใดที่กำลังเข้ามาขัดข้องอยู่ในจิต กวาดมันออกไปเสีย ด้วยลมหายใจที่ทราบแล้ว ว่าใช้ประโยชน์ในการนี้ได้ แล้วกำหนดจิต อยู่ที่ลมหายใจตามปกติที่หายใจอยู่ ตามมันด้วยสติ ตามลมหายใจนั้นด้วยความรู้สึก ด้วยสติ ทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย
ต่อไปนี้เราจะเริ่มปฏิบัติขั้นที่ 1 พร้อมกันนะคะ
ตามลมหายใจยาว ผ่อนลมหายใจปกตินั้นให้ยาวออกไปทีละน้อย และคงกำหนดจิตตามลมหายใจที่กำลังผ่อนให้ยาวนั้น ให้ตลอดสายทั้งเข้าและออก แล้วก็ผ่อนลมหายใจยาวนั้น ให้ยาวออกไปทีละน้อย จนเป็นลมหายใจยาวลึก-เบา, ลึก-เบา คงกำหนดจิตตามลมหายใจนั้น ให้ตลอดสาย ทั้งเข้าและออกด้วยสติ ยังไม่สงบนะคะ ยังไม่จำเป็นต้องสงบ เรากำลังศึกษาทำความรู้จักกับลมหายใจยาว ขณะนี้เรากำลังหายใจ ยาว-ลึก-เบา ปรุงแต่งกายอย่างไร สังเกตดูด้วย นั่งตัวตรงแต่อย่าให้แข็ง ไม่เงยหน้าขึ้นเพดาน ไม่ก้มหน้าลงพื้น ให้ใบหน้าหรือศีรษะตั้งอยู่บนคอให้ตรงในระดับพองามเหมือนพระพักตร์พระพุทธรูป
ต่อไปนี้เปลี่ยนลมหายใจ ยาว-ลึก-เบานั้นให้เป็น ยาว-ลึก-หนัก มีอะไรที่ค้างอยู่ภายในก็ให้ขับไล่ไปเสียให้เกลี้ยง แล้วค่อยๆผ่อน ยาว-ลึก-หนักนั้นให้เบาลง ให้สั้นเข้าเป็นลมหายใจยาว-ธรรมดา อยู่กับลมหายใจยาว-ธรรมดา ตามด้วยความรู้สึกทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย ค่อย ๆ เปลี่ยนลมหายใจยาวธรรมดา เป็นยาว-แรง ตามลมหายใจที่ยาว-แรงด้วยความรู้สึกที่ประกอบด้วยสติ ค่อย ๆ ผ่อน ยาว-แรง ให้เบาลง ให้ช้าลง จนเป็นลมหายใจยาวช้า ๆ เบา ๆ คงตามอยู่ด้วยความรู้สึกที่ประกอบด้วยสติ ทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย เปลี่ยนจากลมหายใจ ยาว-ช้า-เบา ให้เป็น ยาว-ลึก-หนัก เปลี่ยนจากยาว-ลึก-หนัก ให้เป็นยาว-ลึก-เบา, ยาว-ลึก-เบา ในขณะที่ผ่อนลมพยายามให้เป็นธรรมชาตินะคะ จะได้รู้สึกสบาย
ต่อไปนี้เปลี่ยนเป็นยาว-แรง เปลี่ยนเป็นยาว-ธรรมดา ผ่อนลมหายใจธรรมดา ให้ช้า ให้เบา เปลี่ยนลมหายใจ ยาว-ลึก-เบา เป็น ยาว-ลึก-หนัก, ยาว-ลึก-หนัก เป็นยาว-ธรรมดา, ยาว-แรง, ยาว-ช้า ๆ, ยาว-ช้า ๆ ควบคุมมันด้วยสติ ผ่อนมันทีละน้อย ให้เป็นธรรมชาติ, ยาว-ลึก-เบา, ยาว-ลึก-เบา คงตามรู้ให้ตลอดสายอยู่เสมอนะคะ ยาว-ลึก-หนัก, ยาว-ลึก-ธรรมดา, ยาว-ลึก-ธรรมดา ก็คือ ยาว-ลึก-เบา ยาว-แรง ยาว-ธรรมดา ถ้ารู้สึกง่วงจะแก้ด้วยอะไร ใช้ทันทีเพื่อทดสอบ ว่าทำได้ไหม
ต่อไปนี้เราจะเลื่อนขึ้นไปขั้นที่ 2 คือการตามลมหายใจสั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะค่อยๆผ่อนลมหายใจที่ยาวอยู่นั้น ให้สั้นเข้าทีละน้อย ให้ค่อยเป็นค่อยไป และก็อยู่กับลมหายใจสั้น ขณะนี้เรากำลังตามลมหายใจสั้น สั้น-เบา, สั้น-เบา ปรุงแต่งกายอย่างไรกำหนดรู้ไว้ด้วยนะคะ สั้น-แรง, สั้น-แรง, สั้น-เบา, สั้น-ถี่, สั้น-เบา, สั้น-ถี่, สั้น-แรง, สั้น-เบา
ต่อไปนี้เราจะปฏิบัติขั้นที่ 3 คือการตามลมหายใจทุกชนิด ทั้งยาวและสั้น เพื่อให้รู้จักมันอย่างทั่วถึง เห็นชัดในการปรุงแต่งกายของลมหายใจแต่ละอย่าง สามารถที่จะควบคุมมันได้ ให้เกิดก็ได้ ไม่ให้เกิดก็ได้นะคะ ฉะนั้นต้องเพ่งจิต จดจ่อตามมัน ให้จริงจังยิ่งขึ้นสักหน่อยหนึ่ง แต่พยายามให้เป็นธรรมชาติ ไม่ให้เครียด ยาว-แรง, ตามลมหายใจยาว-แรง ยาว-ธรรมดา, ยาว-ธรรมดา, สั้น-แรง, ยาว-ลึก-เบา, ยาว-ลึก-เบา ค่อย ๆ ผ่อนออกไป ขยายลมหายใจออกไป จนกระทั่งมันลึก และก็เบา สั้น-ถี่, สั้น-ถี่, ยาว-ลึก-หนัก สังเกตความแตกต่างด้วยสตินะคะ ว่าปรุงแต่งกายแตกต่างกันอย่างไร ประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร ยาว-ลึก-เบา ผ่อนยาว-ลึก-เบา เป็นยาว-ธรรมดา
ต่อไปเป็น สั้น-แรง “สั้น-แรง” กับ “สั้น-ถี่” คนละอย่างนะคะ (เสียงลมหายใจดัง) นี่สั้น-แรง พอหายใจสั้น-แรงออกมาแล้วมันเว้นจังหวะ ถ้า สั้น-ถี่ มันจะต่อ ๆ กัน สั้น-ถี่ มันอย่างนี้ (เสียงลมหายใจดังถี่) มันเหนื่อยมาก มันหายใจไม่ทัน มันจะขัดใจมาก มันโกรธมาก สั้น-เบา, สั้น-เบา ต่อไปนี้ปฏิบัติขั้นที่ 3 เองค่ะ ไม่ต้องให้บอก ควบคุมบังคับ สลับกันไปเอง เพื่อให้เกิดความชำนาญ แล้วก็ดูผลของการปฏิบัติด้วยตนเอง ด้วยสตินะคะ ลองปฏิบัติเองค่ะ
ถ้ากำลังง่วง กำลังเพลียจะใช้อะไรขับไล่ไปเสียก่อน ใช้ทันทีค่ะ เรากำลังปฏิบัติอยู่ในขั้นที่ 3 นะคะ คือการตามลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดทั้งยาวและสั้นให้ทั่วถึง เพื่อฝึกฝนอบรมให้เกิดความชำนาญ ความสามารถที่จะควบคุมมันได้ ทั้งให้เกิดและไม่ให้เกิด ทั้งสามารถเรียกใช้ให้ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการทันที
ขั้นที่ 3 คือ ตัวการปฏิบัติอย่างจริงจังของหมวดที่ 1
ถ้ามีความชำนาญในขั้นนี้ก็เป็นอันว่าไม่ต้องห่วง ในการที่จะปฏิบัติต่อ ๆ ไป จนถึงขั้นที่ 16 จะสามารถใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือได้อย่างแท้จริงนะคะ ทำใจให้สบาย ๆ อย่าเครียด อย่ากังวล อย่ารำคาญ อย่าหงุดหงิด ใจเย็น ๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่ต้องเร่งร้อน ในขณะที่กำลังหงุดหงิด เอาใจมาอยู่ที่ลมหายใจเสียเท่านั้น ความหงุดหงิดจะหายไป เวลามีไม่มาก จงใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วจะได้ไม่ต้องเสียดายทีหลัง ผู้ที่กำลังหงุดหงิด กำลังง่วง กำลังไม่สบาย ลองดูซิว่าจะใช้ลมหายใจกำจัดสิ่งเหล่านั้นได้จริงมั้ย ทดสอบมันดูค่ะ
ผู้ที่รู้สึกว่าแหมการปฏิบัตินี่ทารุณนะฮะ ก็จงรู้เถิดว่านี่ เบาะ ๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้ทารุณเลย หลวงพ่อ ท่านอาจารย์ชาที่ท่านฝึกปฏิบัติ คือที่ท่านฝึกลูกศิษย์ของท่าน ที่ได้ยินเล่ามา สมัยที่หลวงพ่อยังแข็งแรง สุขภาพยังดีอยู่ พอฉันเสร็จ ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จ คือ ล้างบาตรทำอะไรเสร็จ ทุกคนทุกองค์เข้าห้องศาลา ถ้าเป็นฤดูหนาวท่านก็เปิดประตูหน้าต่าง สว่างโล่ง โถง ลมพัดเข้าได้อย่างเต็มที่ แล้วก็อย่าลืมว่าลมหนาวของตะวันออกเฉียงเหนือเมืองอุบลฯ มันหนาวจับใจเข้าขั้วหัวใจ หนาวถึงกระดูกแค่ไหน ท่านเปิดหมด แล้วก็นั่งสมาธิไป ทำอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้ ไปเรื่อยเชียว ไม่ต้องมาดูชั่วโมง ไม่ต้องมาดูเวลา ถ้าหากว่าลูกศิษย์องค์ไหนทำท่าทุรนทุราย หงุดหงิด รำคาญ ท่านยิ่งให้นั่งนานกว่าปกติ แล้วองค์ไหนที่นั่งเรียบร้อย สงบเป็นสมาธิ ก็พลอยถูกทำโทษไปด้วย
ถ้าเป็นเวลาหน้าร้อนท่านปิดประตูหน้าต่างหมด ไม่ให้ลมพัดเข้าเลย แล้วก็นึกดูนะคะว่า ร้อนอิสานนะไม่เหมือนกับร้อนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกับร้อนเมืองเหนือ หรือภาคใต้ มันร้อนทารุณแค่ไหน ใครจะมานั่งเหงื่อออก มามั่วเช็ดเหงื่อ มาอึดอัด มาอะไร ก็อยู่ไปเถอะ จนจะระเบิด ห้องไม่ระเบิดหรอก ใจคนนั้นจะระเบิดเอง ท่านจะฝึกด้วยวิธีนี้ นี่คือฝึกให้มีความอดทน มีความที่จะควบคุมบังคับใจของตัวเอง เพราะว่าปัญหาของชีวิตของแต่ละคนนั้นดูให้ดี ๆ นะคะ ไม่ได้เกิดจากที่อื่น เกิดจากการที่ตามใจตัวเอง ไม่บังคับใจตัวเอง จะเอาให้ได้อย่างใจตัวเอง นี่แหละคือต้นเหตุของความทุกข์ ตามความอยาก ตามอุปาทาน ตามอวิชชา จะเอาแต่ใจตัวเอง ทุกคนเขาก็มีใจของเขา งั้นใจกับใจเข้ามาตีกัน กัดกันเหมือนตุ๊กแก 2 ตัวนั่น เราไม่ต้องการเป็นอย่างนั้น เราจึงต้องฝึกหัดควบคุมจิต ที่มันชอบจะเอาแต่ใจ ให้มันรู้จักยอมบ้าง ให้มันรู้จักมีวินัย มีระเบียบ ในตัวของมันเองบ้าง ฉะนั้นที่คิดว่าโอ้ย! เหลือหลาย ความจริงที่นั่งไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะซะพูดตั้งกว่าครึ่งชั่วโมง เชิญพักได้ค่ะ สัก 10 นาที