แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาการสมาธิของจิตนี่มันสงบ แล้วก็มีความว่องไว มีภาวะของจิตที่เป็นสมาธินะคะ มีความว่องไว คือความว่องไวนั้นหมายถึงจิตนั้นไม่ง่วงงุนซึมเซาเลย มันว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน ทั้งการงานทางโลก และการงานทางธรรม ฉะนั้นการที่จะใคร่ครวญธรรมเมื่อใด ท่านจะใคร่ครวญธรรมในภาวะของจิตที่เป็นสมาธิในระดับที่ 2 ที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิ คือหมายถึงภาวะของจิตที่เป็นสมาธิมีความหนักแน่น มั่นคง มีความบริสุทธิ์ ตั้งมั่นในระดับนึง แล้วก็มีความว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน มันเป็นภาวะจิตที่เป็นสมาธิอย่างชนิดที่จะไม่ซวนเซได้ง่ายๆ ถ้าเป็นขนิกะจะยังพิจารณาใคร่ครวญธรรมอะไรไม่ค่อยจะได้ เพราะประเดี๋ยวมันก็สงบ ประเดี๋ยวมันก็หายสงบ การพิจารณาอะไรมันก็ได้เพียงผิวๆ เผินๆ ไม่เป็นเรื่องเป็นราวเป็นชิ้นเป็นอันจนกระทั่งสงบมากขึ้นที่ท่านเรียกว่า เป็นอุปจารสมาธิ นี่เป็นภาวะของสมาธิที่ท่านใช้ในการทำงานทางธรรม การทำงานทางธรรมก็คือ การพิจารณาธรรมใคร่ครวญธรรม
ทีนี้บางท่านก็อาจจะพิจารณาธรรมใคร่ครวญธรรมไปนาน การใคร่ครวญธรรมทางจิตนี้ต้องใช้พลังนะคะ ไม่ใช่ว่าไม่ใช้พลัง เพราะฉะนั้นความเหนื่อย ความเหนื่อยความเพลียก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้เหมือนกัน ทางร่างกายนี่ค่ะ และก็รวมทั้งทางจิตด้วย เพราะฉะนั้นท่านที่มีความชำนาญ ท่านผู้ปฏิบัติที่ชำนาญมากแล้ว ท่านก็จะค่อยๆ ถอนจิต คือถอนจิตออกมาจากการใคร่ครวญธรรม ให้เป็นจิตที่อยู่ในสมาธิต่อไป และก็เพ่งจิตจดจ่อให้จิตนั้นรวบรวมกันแน่นสนิท มั่นคงยิ่งขึ้นๆๆ จนเข้าอยู่ในภาวะของจิตที่เป็นเอกัคคตารวมกันเป็นหนึ่งแน่นสนิทมั่นคงไม่เคลื่อนไหว ไม่หวั่นไหว ท่านเรียกระดับนี้ว่า อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิ นั่นหมายถึง สมาธิของจิตที่หนักแน่น มั่นคง ลึก ละเอียด ปราณีต ไม่หวั่นไหว แต่ไม่ใช่ภาวะจิตที่จะใคร่ครวญธรรมคือ เป็นภาวะจิตที่ท่านผู้ปฏิบัติต้องการพัก ให้จิตได้มีโอกาสพักอยู่กับความนิ่ง ความสงบ ความที่เป็นสมาธินั้นอย่างเต็มที่ แล้วแต่ท่านจะต้องการพักเพียงใด พอท่านรู้สึกว่า ท่านพักเพียงพอแล้วจะนานเท่าใดก็ตาม ท่านที่ปฏิบัติจนกระทั่งท่านมีความชำนาญ ท่านก็จะถอนจิตออกมาจากอัปปนาสมาธิเข้าสู่สมาธิขั้นที่สอง หรือระดับที่สองคือ อุปจารสมาธิอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ใคร่ครวญธรรมที่ได้ใคร่ครวญค้างอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนิจจังหรือ ทุกขัง หรืออนัตตา หรือเรื่องธาตุ หรือเรื่องอริยสัจท่านก็ใคร่ครวญต่อไปจนแจ่มแจ้งชัดเจน แล้วพอเหนื่อยท่านก็กลับไปอีก ท่านผู้ชำนาญนี้ท่านย่อมผ่านสมาธิระดับขณิกอย่างสบายๆ คืออย่างไม่ต้องไปนึกถึงมันเลย พอท่านปฏิบัติท่านก็อาจจะเข้าถึงขั้นของอุปจารสมาธิ แล้วก็ใคร่ครวญธรรมได้เลย
แต่สำหรับของผู้ปฏิบัติใหม่นั้นก็อย่าเพิ่งหวังอย่างนั้น แล้วก็โปรดอย่ามาถามว่า เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ ทำไปเถอะลงมือทำไป นี่คือสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราลงมือทำๆๆ เราก็จะผ่านจากขณิกสู่อุปจารสมาธิได้ ฉะนั้นก็จงทำไป ทำไปเรื่อยๆ แล้วก็เชื่อว่าทุกท่านนี่นะคะจะได้มีความสามารถในการที่จะมีจิตที่เป็นสมาธิในระดับขณิกสมาธิได้ทุกคน จริงไหมคะ วันนี้วันที่7แล้ว ได้สัมผัสกับสมาธิผิวๆ เผินๆ ในระดับแรกๆนี้บ้างไหมคะ เชื่อว่าต้องมีบ้าง มากบ้างน้อยบ้างที่จิตเริ่มรวมเป็นสมาธิแต่จะใช้ประโยชน์ในการที่จะทำการงานให้เต็มที่ยังไม่ได้ เพราะมันยังไม่หนักแน่นมั่นคงพอ นี่คือระดับของสมาธิ แล้วถ้าจะถามว่า ที่จะพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิในระดับอย่างนี้จะใช้วิธีอะไรก็ใช้วิธีอานาปานสติในหมวดที่ 1 นี่ค่ะแต่ต้องทำขั้น 1 2 3 ให้ชำนาญ พอขั้น 1 2 3 ชำนาญจะไม่มีความลำบากใจ จะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติขั้นที่ 4 จิตจะเพ่งจดจ่ออยู่ที่จุดที่เลือกแล้วจุดเดียวจนกระทั่งมันเป็นสมาธิมากยิ่งขึ้นๆๆ แล้วผู้ปฏิบัติก็จะค่อยรู้เอง
ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติใดสามารถพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิได้อย่างหนักแน่นมั่นคง นั่นคือความสำเร็จของการปฏิบัติหมวดที่ 1 ซึ่งแสดงว่า ผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมลมหายใจได้ ควบคุมลมหายใจได้อย่างที่ต้องการ ควบคุมให้เกิดก็ได้ ไม่ให้เกิดก็ได้ กำจัดมันก็ได้ ป้องกันมันก็ได้ ทุกอย่างพร้อมทั้งสามารถจะเรียกลมหายใจอย่างไหนมาใช้เมื่อไรได้ทันที ไม่ต้องรอเลยนะคะ ไม่ต้องร้องชื่อเรียก ไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่จะมา พอนึกเท่านั้นแหละทำได้ทันที พอนึกเท่านั้นทำได้ทันที นี่คือความสำเร็จจริงๆ ของการที่เราได้ทำความรู้จักกับลมหายใจให้ทั่วถึงที่จะเกิดขึ้นนะคะ จะสามารถทำได้ทันที สามารถทำได้จริงๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติในหมวดที่ 1 ที่จริงในหมวดที่ 1 ยังมีอย่างอื่นอีก แต่ดิฉันไม่อยากพูดเพราะว่า จะทำให้ผู้ปฏิบัติสับสนโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่ ดิฉันคิดว่าถ้าสามารถทำได้เพียงแค่นี้เหลือกินเหลือใช้แล้วในชีวิตประจำวันเหลือกินเหลือใช้ขอให้ทำได้เท่านี้
ทีนี้ที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของนิมิตนะคะ นิมิตต่างๆ นิมิตนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะของการปฏิบัติ หรือของการทำสมาธิซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่พูดบ้างแล้วเมื่อวานนี้ ในขณะที่ทำสมาธินี้อาจจะมาในรูปเสียงก็ได้ สีก็ได้ แสงก็ได้ หรือวัตถุ ผู้คน ซากศพ ได้ทั้งนั้นออกมาในรูปไหนก็ได้ ทีนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรนิมิต ถ้าหากว่าผู้ใดได้รับคำสอน หรือว่ามีการปฏิบัติเอียงไปในทางนั้น อยากจะได้นิมิตอย่างที่ได้ยินคนอื่นเขากล่าว ในขณะที่ปฏิบัตินี่จิตมันฝังความรู้สึกเกี่ยวกับนิมิตนี่ไว้ในจิตใต้สำนึกพร้อมๆ กับประสบการณ์ที่ผู้นั้นมีอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือพร้อมๆ กับความคิดความคำนึงต่างๆ ที่มีอยู่ในจิต พอจิตมันว่างมันสงบมันก็มีโอกาสจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น เหมือนอย่างที่ดิฉันเปรียบจิตเหมือนกับน้ำในบ่อให้ฟังนั่นน่ะ ในขณะที่น้ำในบ่อมันพลิ้ว มันสั่น มันขุ่น เราไม่สามารถจะเห็นอะไรก้นบ่อได้ พอลมสงบ น้ำใส พอเรามองลงไปเราก็จะเห็นอะไรต่ออะไรที่อยู่ในน้ำนั่นชัดเจน เหมือนกับจิตที่วุ่นวายเพราะความคิดความรู้สึก เราไม่ทันเห็นเรามองอะไรไม่เห็น มันเห็นแต่ความวุ่น ความขุ่นมัว ความขัดใจ ความเจ็บปวด เศร้าหมองต่างๆ มองอะไรอื่นไม่เห็น มันแน่นอัดอยู่ด้วยความทุกข์ ด้วยปัญหา พอเราทำจิตให้สะอาด คือเคลียร์สิ่งเหล่านั้นออกไปแล้วจิตค่อยๆ ว่างๆ กลายเป็นจิตที่มีความสงบขึ้น มีสมาธิขึ้น มีความเบา มีความเยือกเย็น ผ่องใส ตอนนี้ค่ะเป็นตอนที่อะไรที่มันซ่อนอยู่มันจะโผล่ขึ้นมา แล้วคนที่ติดในนิมิตก็ชอบ พอชอบ ติดใจก็เลยติดอยู่แค่นั้นพอนั่งสมาธิต้องมีนิมิต ฉะนั้นพอนั่งสมาธิต้องมีนิมิตนึกออกไหมคะว่า นิมิตนั่นมันมาจากไหน เรียกว่าเกิน 50% มันมาจากจินตนาการของตนเอง เห็นนั่น เห็นนี่แล้วก็เกิดความยึดมั่นก็เลยหลงไปว่า เรานี่วิเศษ เรานี่เป็นผู้พิเศษ มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่นเขา พอปฏิบัติๆ ไปเราได้โน่นได้นี่ พอเอาเข้าจริงมันก็ยัง โลภ โกรธ หลง อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นที่ได้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นก็ได้โลภ ได้โกรธ ได้หลง แต่มันหลงอยู่กับนิมิตเพราะฉะนั้นถ้าหากยึดติดอยู่กับสิ่งนี้ไม่เกิดผลอะไร
เมื่อตอนดิฉันปฏิบัติใหม่ๆ มีมาก เดี๋ยวก็สี เดี๋ยวก็แสง เดี๋ยวก็รูปนั้น รูปนี้ แล้วใจก็บอกว่า มันจริงด้วยนะเราไม่นึกเลยเหมือนกับมีมาบอกว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้น เหตุการณ์นั้นเป็นอย่างนั้น เออแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น พอมาดูๆ ไป เพราะเราก็เป็นคนมีสติปัญญา มีความคิด มีเหตุมีผล มีการวางรูปอะไรของเราไว้ในใจ พอเงียบๆสิ่งนั้นมันก็โผล่ออกมา เราก็ลืมไปว่า เราได้เคยคิดไว้อย่างนั้น เคยนึกไว้อย่างนั้น เคยตั้งใจคาดคะเนว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น ทึกทักเอาเลยว่า นี่เป็นญาณวิเศษของเรา เรารู้อะไรพิเศษกว่าคนอื่น เคยปลื้มมามากแล้วจะบอกให้ ปลื้มมาเยอะ เรียกว่าหลงมาเยอะ แล้วก็เสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านั้น เพราะมันไม่ใช่หนทางตรง
จุดประสงค์ของการมาปฏิบัติสมาธิเพื่ออะไร ตอบตัวเองได้ไหมคะ ที่เรามาปฏิบัติจิตและภาวนา มาปฏิบัติสมาธิเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือ เพื่อพัฒนาจิตที่วุ่นวายให้เป็นจิตที่สงบ เยือกเย็น ผ่องใส พัฒนาจิตที่เต็มไปด้วยอวิชชาให้เป็นจิตที่ประกอบด้วยวิชชาแทนที่ คือมีปัญญา มีความสว่าง รู้แจ้งประจักษ์ในสิ่งที่เป็นสัจธรรม คือเป็นความจริงตามธรรมชาติ นี่คือจุดหมายปลายทาง แล้วมันถึงจะตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัดตัณหา ตัดอุปาทานออกไปได้ นี่คือจุดหมายปลายทาง ถ้าตราบใดเรายังไม่สามารถจะขูดขัดตัณหา กิเลส อุปาทานให้เกลี้ยงออกไปจากใจได้ ไม่มีวัน ต่อให้มีนิมิตวิเศษ หูทิพย์ ตาทิพย์แค่ไหน ก็ยังทิพย์อยู่กับความหลงอยู่นั่นเอง อยู่กับโมหะนั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่หนทาง เมื่อมีใครมาถามดิฉัน ดิฉันจะบอกว่า ให้คิดเสียว่ามันเป็นผลพลอยได้ มันเป็นผลพลอยได้ที่เราไม่ตั้งใจจะได้ เพราะฉะนั้นคนฉลาดก็ไม่เอา ไม่ต้องเห็นแก่ตัว เก็บกวาดมารวบรวมไว้ ปล่อย พอนิมิตอะไรเกิดขึ้นจะเป็นสี เป็นเสียง เป็นแสง เป็นรูป เป็นวัตถุ เป็นอะไรก็ตาม ก็ให้รู้ว่าอืม...มันเช่นนั้นเองแล้วก็ผ่านไปดึงจิตกลับมาอยู่กับสิ่งที่เราใช้เป็นเครื่องกำหนดในการปฏิบัติต่อไป เพื่อเราจะได้สามารถเดินไปได้จนจิตนี้สงบจริง แล้วก็ใช้จิตที่สงบนี้ให้เกิดประโยชน์ให้เต็มที่นะคะ
เพราะฉะนั้นอย่าไปติดอยู่กับนิมิตเลย ดิฉันน่ะเคยมีนิมิตอย่างชนิดที่คิดว่า โอ้เรานี่วิเศษจริงๆ เลย มีอะไรพิเศษปฏิบัติไม่ทันไร โอ้โหจักรวาลนี้เป็นของเรา เรานี่อยู่เหนือจักรวาลมันมีความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็หลงอยู่อย่างนั้นคุยอวดมาหลายปี จนกระทั่งวันนึงถึงได้ตื่นขึ้นจากความโง่อันนั้น แล้วก็มองเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์เพราะเราไม่ได้มาปฏิบัติเพื่อจะเอา ไม่ต้องการจะมาเอาอะไร เอาความวิเศษ เอาความเก่ง หรือว่าจะเอาโน่นเอานี่ เราไม่ได้ต้องการจะเอาอะไร ถ้าตราบใดที่ยังต้องการว่า “เอา” ก็คือความยึดมั่นในอัตตา เรามาปฏิบัติเพื่อลดละอัตตาให้เห็นซึ่งอนัตตาชัดขึ้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ปฏิบัติต้องการประโยชน์สูงสุดของชีวิตนะคะ อย่าไปข้องเกี่ยวเลยไม่ว่าเป็นภาพ เป็นสี เป็นแสง เป็นเสียง หรือว่าเห็นอะไรต่ออะไรต่างๆ ก็หยุดซะ อาจจะมีเหมือนกันนิมิตที่จะแสดงเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติ แต่นั่นมันต้องใช้เวลาพอสมควร มันอาจจะเกิดขึ้นมาบ้างแล้วผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่านี่เพียงแต่เป็นเหมือนกับการบอกนำทางของการปฏิบัติ แต่ว่านานๆ ปฏิบัติไปนานๆ ก่อนแล้วบางทีมันอาจจะมีบ้างนิดหน่อย แต่ขณะนี้ไม่ต้องนึก ขอให้รู้แต่เพียงว่า ปฏิบัติอย่างไรถูกทำตามนั้น ทำตามที่รู้แล้วว่าถูกเท่านั้นพอ อะไรคะ (มีคำถาม) รู้สึกค่ะ แต่ว่าอัปปนาสมาธินั้นจะดิ่งไปในความเงียบสงบมากกว่า แต่ก็มิได้หมายความว่า ปราศจากสติ ถ้าปราศจากสติก็จะ ไม่บอกว่าเมื่อไหร่จะถอนออกมาใช่ไหมคะ นี่รู้เพราะฉะนั้นหมายความว่า สตินั้นยังมีอยู่แต่ทว่ามันลึก ดิ่ง แน่วแน่ เพราะผู้ปฏิบัติท่านต้องการอย่างนั้น ท่านต้องการจะให้จิตนี้พัก ไม่ต้องการใช้ความคิดใคร่ครวญพิจารณาแม้จะใคร่ครวญข้างในด้วยจิตก็ไม่ต้องการ
เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติหมวดที่ 1 นะคะกล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ปฏิบัติต้องสามารถใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดทำจิตนี้ให้สงบจนกระทั่งเป็นสมาธิอย่างแท้จริงได้ นั่นก็คือ พัฒนาจิตที่หวั่นไหว ที่ซวนเซ ที่อ่อนกำลัง ให้เป็นจิตที่มีกำลังมั่นคง ตั้งมั่น ว่องไว บริสุทธิ์ สะอาด ในระดับหนึ่ง นี่คือจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติหมวดที่ 1 ถ้าสามารถพัฒนาจิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ให้เกิดขึ้นได้ตลอดไป นั่นก็เท่ากับช่วยจิตให้พ้นมาจากความร้อนในระดับนึงแล้ว และก็มีหนทางที่จะเดินไปสู่ความเย็นยิ่งขึ้นๆ ได้