แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพราะฉะนั้นเราจึงไม่คิด เราหยุดคิด ในขณะที่มาอยู่ที่นี่ 11 วัน เนี่ยนะคะ หยุดคิด แต่เปลี่ยนจากวิธีการศึกษาด้วยการคิด เป็นการดู ย้อนดูเข้าไปข้างใน ดิฉันทำมือว่า ย้อนดูเข้าไปข้างใน ถ้าจะถามว่า ดูเข้าไปที่ไหนข้างในเนี่ย ไปดูที่ตับ ที่ปอด ที่หัวใจ ที่ม้าม ที่ลำไส้ ที่กระเพาะ อย่างนั้นรึ. “เปล่า”
ไม่ใช่ดูในสิ่งที่เป็นวัตถุ หรือเป็นอวัยวะ แต่ดูเข้าไปในสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ เข้าใจใช่ไหมคะ ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวไม่ชอบ เดี๋ยวถูกใจ เดี๋ยวไม่ถูกใจ เดี๋ยวเอา เดี๋ยวไม่เอา เดี๋ยวก็ ซัดส่าย ยกขึ้นยกลง ไปซ้ายไปขวา ตลอดเวลา ดูลงไปที่ความรู้สึก ที่มันชอบเกิดในลักษณะนั้นบ่อย ๆ ในใจของเรา ดูลงไปที่ตรงนี้ค่ะ
ซึ่งถ้าหากว่าเราต้องคิดวุ่นวาย เราต้องยุ่งกับข้างนอก เราไม่มีเวลาดู เพราะฉะนั้น ดูเข้าไปที่ความรู้สึก และการอยู่เงียบ จะช่วยให้การดูชัดเจน แจ่มแจ้ง ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ได้มากขึ้น เราจึงต้องอาศัยการอยู่เงียบ เหมือนกับเรานั่งที่ข้างสระน้ำ ในขณะที่น้ำมันไหวพริ้ว เพราะลมพัดบ้าง เพราะปลาว่ายบ้าง เพราะใครเอาก้อนหินโยนลงไปในบ่อน้ำสระน้ำบ้าง น้ำมันก็พริ้วตลอดเวลา เราจะพยายามมองลงไป จ้องลงไปในน้ำ เพื่อจะดูว่าใต้น้ำนี่ มีอะไรบ้าง ก็ไม่เห็นชัด ใช่ไหมคะ
เราไม่เห็นชัด เพราะน้ำมันพริ้วมันไหวอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งลมสงบ ปลาหยุดว่าย ไม่มีใครเอาอะไรมาโยนลงไปในบ่อนั้น น้ำนิ่ง สงบ ที่เป็นตะกอนก็ค่อย ๆ ลงไปข้างล่าง มีความใส นั่นแหละ เมื่อเรามองลงไปในน้ำ เราจึงจะมองเห็นว่าในน้ำนั้นมีอะไร มีปลาเงินปลาทอง มีก้อนหินก้อนกรวด หรือว่ามีสัตว์อะไรที่มันแอบอาศัยอยู่ที่ตรงไหนบ้าง เราจะเริ่มมองเห็น
เช่นเดียวกับจิต เมื่อจิตนี้เริ่มเงียบ เงียบจากความคิด จากความรู้สึก เงียบจากความจำได้หมายมั่นในอดีต เงียบจากความกังวลในอนาคต มันเงียบ มันเฉย มันไม่เอาอะไร มันหยุดนิ่ง จิตนั้นจะเริ่มสงบ แล้วก็ใส แล้วก็เกลี้ยงก็ได้ ในชั่วขณะนั้น ตอนนี้ล่ะค่ะ เราจะมองลงไป เราจะค่อย ๆ เห็น อ๋อ ลักษณะของจิต ใจของเรานี่มันเป็นยังไง เราจะค่อยรู้จักมันยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีการที่เราจะศึกษา เราก็เปลี่ยนจากการคิดเป็นการดู ถ้า "ดู" แล้วจะเห็น ถ้า "คิด" จะไม่มีวันเห็น
ฉะนั้น นี่คือประโยชน์ของการอยู่เงียบ นะคะ นอกจากเราจะมีหลักเกณฑ์ในการอยู่เงียบแล้ว เราก็จัดให้มีการสวดมนต์ทำวัตร ซึ่ง ท่านก็คงได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของประโยชน์สวดมนต์ทำวัตรบ้างแล้ว จุดประสงค์ก็เพื่อ ที่จะให้การสวดมนต์ทำวัตรนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติทางจิต เพราะบทสวดมนต์นั้น มีคำอธิบายเป็นภาษาไทย ซึ่งเราเคยสวดมนต์เป็นภาษาบาลีมาตั้งแต่เล็ก เราไม่รู้ไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร กลายเป็นว่าสวดมนต์แล้วมันขลัง เหมือนอย่างเวลาที่ทำน้ำมนต์ ก็ถือว่าเป็นขลัง เพราะเราไม่รู้ แต่การที่สวดอย่างไม่รู้ ประโยชน์มันไม่ได้เท่าที่ควร
เราใช้บทสวดมนต์แปล ถ้าหากว่าในขณะที่สวด ทุกท่านปล่อยใจที่เงียบสงบนี้ ให้ซึมซาบไปในถ้อยคำ ในบทสวดมนต์ แต่ละคำ แต่ละคำ แต่ละคำ อย่างสวดทำวัตรเช้า เมื่อเช้านี้นะคะ ทุกบท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทสรรเสริญพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะแสดงถึงกฎของธรรมชาติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เราได้เข้าใจชัดเจน ในบรรยากาศที่สงบเงียบด้วย
ฉะนั้น การที่เราให้มีการสวดมนต์ทำวัตร เพื่อประโยชน์อันนี้ เพื่อส่งเสริมให้จิตนั้น เงียบได้เร็วขึ้น สงบได้เร็วขึ้น แล้วก็จะมีความเข้าใจในธรรมะได้เร็วขึ้นด้วย การอ่านบทธรรม ก็เช่นเดียวกัน ก็ได้พยายามเลือกเฟ้นบทธรรม ที่จะสนับสนุนในการส่งเสริมการปฏิบัติ ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องของธรรมะ แล้วก็บางที ก็จะเป็นการที่จะแนะชี้ หนทางของการปฏิบัติ ว่าควรจะกระทำอย่างใด จึงจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น สรุปแล้วก็คือ ให้กำลังใจในการปฏิบัติ
แต่การให้กำลังใจนี้ ก็อาจจะมีทั้งชี้แนะ และก็อาจจะมีทั้งขู่ขนาบ ซึ่งท่านที่เป็นครูอาจารย์ก็ทราบ นี่เป็นวิธีการในเรื่องของการให้ความรู้หรือการให้การอบรม บริหารกายบริหารจิต ท่านก็ได้ทดลองแล้วเมื่อเช้านี้ ก็จะเห็นว่าการบริหารกายบริหารจิตนั้น นอกจากประโยชน์ที่จะให้บริหารกายให้ว่องไวกระฉับกระเฉงแล้ว ก็ยังผู้ที่แนะนำในเรื่องของการบริหารกายบริหารจิต ก็ยังได้พยายามที่จะใช้วิธีการบริหารกายนั้น ผสมผสานกับวิธีการปฏิบัติอานาปานสติ ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดความชำนาญ และก็ให้เห็นว่าการปฏิบัติอานาปานสตินี้ สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นจะต้องเมื่อนั่งสมาธิอย่างชนิดเป็นทางการเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ เราก็จะมีการฝึกปฏิบัติทั้ง 4 อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เพราะ 4 อิริยาบถนี้ เป็นอิริยาบถธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่เราจะเน้นใน 3 อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง มากกว่า นอน เพราะเชื่อว่าในเรื่องของนอนปฏิบัตินั้น ทุกท่านคงจะมีความชำนาญอยู่ เราจึงคิดว่า ท่านจะใช้อิริยาบถนี้ดีที่สุด เมื่อตอนที่พร้อมที่จะล้มตัวลงนอน ก็ฝึกการปฏิบัติในอิริยาบถนอน คือนอนสมาธิภาวนา
นอกจากนี้ ในการจัดตารางอบรมนั้น ท่านก็จะมองเห็นว่า มีทั้งการบรรยาย แล้วก็มีทั้งการฝึกปฏิบัติ ที่เรามีทั้ง 2 อย่าง นี้นะคะ เพราะมีความรู้สึกว่า ในการที่จะกระทำการสิ่งใดก็ตาม จะไปศึกษาเล่าเรียนในเรื่องใดก็ตาม ความเข้าใจในเรื่องนั้นซะก่อนอย่างถูกต้องว่า คืออะไร ทำทำไม ทำเพื่อประโยชน์อะไร แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นน่ะจะเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งจำเป็นเดียว ไม่ว่าเราจะเรียนอะไรทั้งนั้น พวกที่เป็นปัญญาชนที่มีมันสมอง ย่อมจะไม่หลับหูหลับตาเรียน ถ้าหลับหูหลับตาเรียน ก็เรียกว่าเรียนอย่างงมงาย ไม่ได้ใช้สติปัญญา ซึ่งไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา พุทธะ ก็หมายถึงปัญญา หมายถึงความฉลาด ที่ได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะ ได้รับพระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะทรงค้นพบสัจธรรมนี้ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง ศาสนานี้จึงเรียกว่า พุทธศาสนา
ฉะนั้น ท่านผู้เข้ามาสนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนาของพุทธศาสนา จึงควรจะได้ทราบเหตุผลว่า คืออะไร ปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เรากำลังปฏิบัติกันนี้ คืออะไร ทำทำไม ทำเพื่ออะไร แล้วจะได้รับผลประโยชน์อย่างใดแก่ชีวิต
ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ก็เหมือนกับว่า เรารู้ รู้ว่าเราเริ่มต้นทำไม เริ่มต้นตรงนี้ทำไม กำลังเดินไปหนทางไหน และจุดสุดท้าย คือจุดหมายปลายทางนั้นคืออะไร ก็จะไม่ทำให้เกิดความสงสัยลังเล ไม่ต้องรีรอ ไม่ต้องนึกว่าจะทำดีหรือทำไม่ดี หรือไม่ทำดี นะคะ เพราะฉะนั้น จึงมีการบรรยาย และการบรรยายนี้ ก็บรรยายทั้งทฤษฎีของเรื่องอานาปานสติ แล้วก็บรรยายเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ ที่ถือว่าเป็นธรรมะหลักสำคัญ ๆ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น ถ้าผู้ใดต้องการจะปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อเข้าถึงสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ควรที่จะได้มีความเข้าใจในข้อธรรมเหล่านี้ ให้แจ่มชัด
เชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ เริ่มต้นด้วยการมีวินัย แล้วจากนั้น ในภาคที่ 2 ของพระไตรปิฎก ก็คือ พระสูตร คำสอนคำอธิบายอย่างละเอียดลออ ทั้งทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ เพื่อจะบอกให้รู้ว่า ผู้ใดปฏิบัติถูกต้องตามนี้ทุกอย่างทุกประการอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ ผู้นั้นจะพบกับพระอภิธรรม
อภิ ก็คือ ยิ่งใหญ่
อภิธรรม ก็คือหมายถึง ธรรมะ อันสูง สูงยิ่ง สูงสุด หรือจะเรียกว่าเป็น บรมธรรม นั่นเอง
นี่ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่เราพยายามจะเลียนแบบของวิธีการสอน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงวางแบบไว้นะคะ รู้สึกอากาศร้อนนะคะ พยายามลืมความร้อนซะ ดึงใจเข้าข้างใน แล้วจะรู้สึกว่า ร้อนมันก็ร้อนเช่นนั้นเอง เหงื่อที่หยด มันก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาใจของเราเข้าอยู่ข้างในให้ได้
ดิฉันทำจำประสบการณ์ครั้งแรก ที่สนใจในการปฏิบัติแล้วก็ไปอยู่เงียบ อย่างสำรวมอินทรีย์ หรืออินทรีย์สังวรที่เขาสวนหลวงนี่ได้ ตอนที่ไปตอนนั้นก็ยังทำงานอยู่นะคะ แล้วก็ลางานไป พอไปอยู่ตอนนั้นก็เป็นฤดูร้อน แล้วก็อากาศร้อนอย่างยิ่งที่เขาสวนหลวงนี่ ชื่อว่าเขา มันน่าจะเย็น แต่เผอิญเป็นเขาที่กำลังถูกทำลาย เพราะว่ามีผู้ได้รับสัมปทานที่จะไปขุดเขาเอามา เอาอิฐเอาหินอะไรมาทำถนน เพราะฉะนั้น ทั้งร้อน แล้วก็ทั้งเสียงดัง จากเสียงโรงงานที่เขาทำเกี่ยวกับการขุดหินขุดเขา แล้วก็ยังผงฝุ่นละอองของโรงโม่เขานี่ ปลิวมาตลอดเวลา แต่จำได้ว่า ตอนนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่รู้สึกรบกวนเลย ยิ่งกว่านั้น กุฏิเล็ก ๆ ที่คุณแม่เขาสวนหลวงท่านจัดให้ ตอนนั้นท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นกุฏิเล็กนิดเดียว แล้วหลังคาก็สังกะสี ไม่มีฝ้าบังเลย ขณะที่นั่งอยู่ในเรือนกุฏิน้อยนั่นน่ะ เหงื่อนี่แตกโทรม ๆ ไหลพลั่ก ๆ อย่างกับอาบน้ำฝักบัว แต่จำได้ว่า ใจตอนนั้นไม่มีความรู้สึกสะดุ้งกับความร้อน ไม่เดือดร้อนกังวลกับความร้อน ไม่มีเลย แล้วก็มาย้อนถามตัวเองว่า ทำไมถึงไม่มี อ๋อ ตอนนั้นกำลังเต็มไปด้วยศรัทธา ศรัทธาที่อยากจะเรียนรู้ ว่าธรรมะคืออะไร มันมีประโยชน์อะไรกับชีวิต แล้วมันจะช่วยชีวิตเราได้อย่างไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ได้ประจักษ์ขึ้นมาเองในใจอ่ะค่ะว่า ความร้อนของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์น่ะ มันร้อนซะยิ่งกว่าอากาศร้อนหลายพันเท่า พันเท่าพันทวีเชียว เปรียบกันไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะกลัวความร้อนของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ที่มันเดือดร้อนอยู่ข้างในอ่ะ มากกว่าความร้อนข้างนอก ความร้อนข้างนอกเลยไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น ขอลองทำใจนะคะ ลองเอาใจของเราเข้าข้างใน แล้วเราจะรู้สึกว่าความร้อนที่กำลังรบกวนนี้ มันไม่สักเท่าไหร่เลย มันไม่สักเท่าไหร่เลยนะคะ ถ้ารู้สึกเมื่อย เพราะว่าต้องนั่งอยู่ในท่าเดียว จะขยับเนื้อขยับตัว เปลี่ยนท่านั่ง โปรดอย่าเกรงใจนะคะ ไม่ต้องเกร็งค่ะ โปรดตามสบาย ดิฉันก็ขออนุญาตเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน เพราะว่าขาก็ไม่ค่อยจะทนทานนานนักนะคะ สำหรับการนั่งในท่าเดียว
ทีนี้ก็จะได้มาเข้าเรื่องของเรานะคะว่า เมื่อจะมาพูดถึงเรื่อง ศิลปะการพัฒนาชีวิต ด้วยวิธีอานาปานสติภาวนา คำที่เป็นกุญแจ หรือ คำที่ว่าเป็น Key ในที่นี้ ก็คือคำว่าชีวิต เหมือนดังที่ดิฉันธรรมะสวัสดี ต่อทุกท่าน ผู้มีความสนใจที่จะเรียนรู้ เรื่องของชีวิต ทั้ง ๆ ที่ชีวิตนี่เรามีมานานแล้ว คือตั้งแต่ลืมตา ตั้งแต่หายใจ จนอายุเท่านี้นะคะ เราก็เรียกว่านี่เป็นชีวิต แต่ รู้จักชีวิตแล้วหรือยัง พอถามว่าชีวิตคืออะไร รู้จักชีวิตแล้วหรือยัง ถ้าจะให้คำอธิบาย คำว่า ชีวิต สักหน่อย นั่งกันอยู่ร้อยกว่าท่าน คงจะได้คำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตต่าง ๆ กัน