แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
1 หรือจตุกกะที่ 1 เพื่อเป็นการวางรากฐานของการปฏิบัติ พัฒนาจิตให้เป็นจิตที่มีพื้นฐานของความสงบแห่งสติ สมาธิอยู่เป็นประจำเสียก่อน เพราะถ้าหากว่าจิตไม่สงบจะไม่สามารถใคร่ครวญธรรม แม้แต่เวทนาที่เรารู้สึกได้ เรามองไม่เห็นเราก็จะดูมันอย่างเลือนๆ ลางๆ จะไม่รู้จักชัด บางทีอาจจะหลอกตัวเองด้วยซ้ำไปในเรื่องเวทนาอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหมวดที่ 1 เพื่อวางรากฐานของการปฏิบัติ สร้างสรรค์พื้นจิตที่สงบให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่วุ่นวาย มันจะหยุดตัวเอง หยุดตัวเองที่อยากพูด อยากคิด อยากรู้สึก อยากทำโน่นทำนี่ที่มันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของตัวเองเลยสักนิดเดียว มันให้หยุดได้และจะรู้จักใช้พื้นจิตที่สงบที่ประกอบด้วยสติ สมาธิ กระทำสิ่งที่ควรทำ รู้ว่าเมื่อใดควรทำ ทำแล้วเกิดประโยชน์ ไม่ใช่เกิดประโยชน์แก่ตัวเองเท่านั้น เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวเองก็มีความสบายใจในการที่ได้กระทำฉะนั้นการปฏิบัติหมวดที่ 1 ฟังดูง่ายๆ แต่มีพื้นฐานที่สำคัญมากเหมือนกับการปลูกบ้านเราจะต้องลงพื้นฐานลงรากฐานของบ้านให้แข็งแรง เพื่อให้บ้านนั้นอยู่ทนคงนาน ถ้ามิฉะนั้นโดนลมพายุแรงมันอาจจะพังได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับการที่จะไปพิจารณาเวทนาจะรีบร้อนไปดูจิต เดี๋ยวก็ไม่รู้เรื่อง เกิดซัดส่าย สับสน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยพื้นจิตที่สงบแล้วก็จะสัมพันธ์กันไปโดยตลอดนะคะ
ฉะนั้นการที่จะมาฝึกจิตภาวนาก็คงจะได้สังเกตแล้วว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการศึกษาข้างนอกมาเป็นศึกษาข้างในจากการคิดเป็นการดู การศึกษาข้างในมีประโยชน์อะไรบ้างการศึกษาข้างนอกทุกท่านทราบดีแล้ว แล้วก็ได้พูดเอาไว้แล้วบ้างแต่การศึกษาข้างในมีประโยชน์อะไรบ้าง ประโยชน์หรือคุณค่าของการศึกษาข้างใน
ข้อแรกที่จะเห็นได้ชัดก็คือ จากการปฏิบัติในลักษณะนี้นะคะมันจะช่วยหยุดความคิดที่ไม่ถูกต้อง ความคิดที่ไม่ถูกต้องก็คือความคิดที่คิดแล้วทำให้เกิดปัญหาข้างใน ทำให้ใจมีปัญหา ทำให้ชีวิตมีความทุกข์ทราบแล้วนะคะ คิดเกลียด คิดโกรธ คิดชอบ คิดจะเอา คิดเบียดเบียน คิดเพ้อเจ้อ คิดฟุ้งซ่าน นั่นแหละเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เมื่อดึงจิตมาอยู่ข้างในไม่ให้มันออกมาข้างนอกผลักมันเข้าข้างใน ทุบตีมันบ้างก็ได้จิตที่ดื้อด้าน อย่าไปตามใจมันผลักมันเข้าข้างในถ้ามันต้องอยู่ข้างในเรื่อยๆ มันก็ต้องหยุดข้างนอก สิ่งแรกที่หยุดก็คือความคิด และขอได้โปรดทราบเถอะความคิดนี่แหละที่มันรบกวนมนุษย์เหลือเกิน ทำความสับสน ทำความไม่สบาย ทำความไม่สงบให้เกิดขึ้นตลอดเวลาเพราะความคิด มนุษย์เราทุกข์เพราะความคิด ความคิดปรุงแต่งที่ในภาษาธรรมะท่านใช้คำว่า “สังขาร” เพราะฉะนั้นสังขาร ถ้าเราหยุดสังขารการปรุงแต่งได้เมื่อใด เมื่อนั้นจิตสบายชีวิตสงบเยือกเย็นผ่องใสจริงหรือไม่จริงก็คิดดูนะคะ ที่นอนไม่หลับนี่เพราะความคิด
ข้อที่สองก็คือ หยุดความรู้สึกที่ซัดส่าย ที่ซัดส่ายไปมา ชอบไม่ชอบ เอาไม่เอา ถูกใจไม่ถูกใจ นี่มันจะหยุด เพราะมันหยุดออกข้างนอกมันอยู่ข้างในมันก็หยุดความคิดความรู้สึกที่ซัดส่าย
ข้อที่สามก็หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา ถ้าหยุดคิด หยุดรู้สึก รู้สึกกับข้างนอก หยุดพูดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่การปฏิบัติข้างใน หยุด มันจะหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ การวิพากษ์วิจารณ์นี้มันเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของความฉลาด ของปัญญาชน ถ้าคนไหนไม่รู้จักวิพากษ์วิจาร์ณคนนั้นก็โง่ไม่มีสติปัญญา อะไรมันก็ตื้อมึน คนโง่ แต่บางทีคนโง่ก็ดีเหมือนกันมันช่วยให้เงียบดี เพราะฉะนั้นการที่จะวิพากษ์วิจารณ์นี่ ในขณะที่วิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ แยกแยะ ตัดสิน เหล่านี้ดูแล้วมันมาจากไหน มาจากทิฐิของตนเองทั้งนั้น ทิฐิที่เกิดจากความรู้ จากประสบการณ์ จากความเคยชินของตัวเองทั้งนั้น ก็เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในการวิพากษ์วิจารณ์นี่คือเหตุแห่งปัญหาระหว่างคนต่อคนในปัจจุบันนี้ใช่ไหมคะ หรือระหว่างกลุ่มต่อกลุ่ม นี่เราดูหน้าหนังสือพิมพ์วิจารณ์กันตลอดเวลาจนไม่รู้ว่าใครจริงใครเท็จ ถ้าจะตามก็เป็นบ้าไปด้วย เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์นี้มันมิได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้วิพากษ์วิจารณ์ปราศจากธรรมะเป็นพื้นฐาน ตัวเองออกไปตีกับเขาเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว แต่คิดว่ากำลังวิพากษ์ถูกวิจารณ์ถูก ทำถูกแล้วนี่คือฉลาด พวกปัญญาชนเห็นแก่ส่วนรวมแต่ความจริงไม่ใช่ อยากจะขอให้ท่านผู้เป็นปัญญาชนทั้งหลาย ทั้งท่านผู้ใหญ่ผู้เยาว์โปรดดูในข้อนี้ให้มากๆ โดยเฉพาะในวงการทำงานการวิพากษ์วิจารณ์นี่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในระหว่างผู้ร่วมงาน หรือระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องเสมอเลย เพราะมักจะวิจารณ์ คนนั้นทำงานไม่ได้เรื่อง ไม่รับผิดชอบ อู้งาน เรานี่อุทิศทุกอย่างแต่ก็ไม่ค่อยมีใครเห็น ไม่ค่อยมีใครร่วมมือเห็นไหมคะ เวลาวิพากษ์วิจารณ์มักจะไปวิจารณ์งานของคนอื่น เมื่อเสียเวลาไปวิจารณ์งานของคนอื่นแทนที่จะไปทุ่มเทเวลาลงไปเพื่อการปฏิบัติงานของตนมันก็ผ่านไป ลักษณะนี้ไม่รู้หรอกว่า ตนเองกำลังบกพร่องในหน้าที่ของตน
เพราะฉะนั้นการมาศึกษาข้างใน มาปฏิบัติข้างใน ฝึกการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ถ้าต่างคนต่างรู้จักทำหน้าที่ของตนถูกต้องอย่างเต็มที่ ปัญหาไม่เกิด ไม่ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กัน เก็บลมปากที่จะต้องเสียแรงไปเพราะลมปากมาทำงานกันดีกว่าพร้อมกับจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรักกัน สามัคคีกัน เห็นใจกันยิ่งขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาข้างในจะช่วยหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ขอฝากข้อนี้มากๆ เพราะตัวเองก็เคยทำอย่างนี้มาเยอะสมัยที่ยังทำงาน ยังอยู่ในโลก เป็นคนโลกเต็มที่ก็คิดว่ายิ่งวิจารณ์ได้มากเท่าใดแล้วทำให้คนอื่นเขาหมดเหตุผลจะโต้แย้ง มันวิเศษ มันหนึ่งจริงๆ มันโก้จริงๆ หารู้ไม่ว่าโง่แท้ๆ ไม่รู้หรอกว่านี่คือโง่แท้ๆ เพราะมันทำให้ตัวเองต้องเสียเวลาต่างๆ นานาโดยเปล่าประโยชน์ ยกเว้นเป็นการพูดที่มีธรรมะเป็นพื้นฐาน พูดเพราะมันควรจะต้องพูดเพื่อให้เกิดประโยชน์และเมื่อพูดอย่างเต็มที่ตามหน้าที่แล้วก็ไม่หวัง ไม่ไปเคี่ยวเข็ญคาดคั้นขู่บังคับถ้ามันเป็นสิ่งสุดวิสัย แต่ถ้าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและส่วนรวมก็ทำโดยไม่ให้ใจของเราต้องเป็นทุกข์
คุณประโยชน์ของการศึกษาข้างในข้อที่สี่ก็คือ หยุดการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น มันหยุดในขณะที่คิด คิดไปรู้สึกไปตามความจำตามความคิดนั่นน่ะ แล้วจิตมันก็เศร้าหมองบ้าง ตื่นเต้นบ้าง ลิงโลดบ้าง นี่คือการเบียดเบียนตนเองเพราะเป็นการทำลายพลังข้างใน ทำให้พลังข้างในที่ควรจะเต็มที่จะสมบูรณ์จะได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การงานมันไม่มี มันสูญสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นเมื่อหยุดการเบียดเบียนตนเองได้ก็เป็นการหยุดเบียดเบียนผู้อื่นไปด้วย
ประโยชน์ของการศึกษาข้างในอีกข้อหนึ่งก็คือ ทำให้เป็นผู้ที่สามารถควบคุมความฉลาด ความฉลาดจากวิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากประสบการณ์ในชีวิตให้สามารถใช้ความฉลาดนั้นอย่างถูกต้อง ถูกต้องโดยธรรม คือโดยธรรมะ และข้อสุดท้ายถ้าอยู่ข้างในได้มันมีแต่ความเย็น มันเย็นสบายเพราะมันนิ่งได้ มันสงบได้ มันยอมได้ พอดิฉันพูดคำว่า “ยอม” อาจจะมีบางท่านนึกว่า คนที่เข้าธรรมะแล้วก็ แหย เพราะมันดูยอมเขาเสียเรื่อย มันก็เลยแหย ขอตอบว่า ไม่แหยเลย ไม่มีความแหยอยู่ในความยอมของผู้มีธรรม ที่ยอมเพราะมันยังไม่ถึงโอกาสที่ควรจะพูด ควรจะชี้แจง ควรจะอธิบาย ยังไม่ถึงโอกาสก็หยุดคอยเอาไว้ก่อน ไม่ต้องเสียแรงโดยเปล่าประโยชน์แต่เมื่อถึงโอกาสที่จะกระทำก็จะทำอย่างเต็มที่ เต็มกำลังฝีมือความสามารถ ไม่ใช่ยอม ถ้าจะเรียกว่า ถอยก็ถอยอย่างมีหลักไม่ได้ถอยร่นอย่างตะลีตะลาน อย่างแตกทัพไม่ใช่อย่างนั้น ถอยอย่างมีหลัก เพื่อตั้งหลักที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป นี่คือคุณประโยชน์ของการศึกษาข้างใน ฉะนั้นเมื่อมาศึกษามาฝึกปฏิบัติจิตภาวนาก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีการศึกษาจากการที่คุ้นเคยกับการศึกษาข้างนอกเป็นการศึกษาข้างในจำเป็นมากนะคะ ถ้ามิฉะนั้น 12 วันนี่สูญเสียไปโดยเปล่า ไม่เกิดอะไรเลยไม่คุ้มเหนื่อยทั้งฝ่ายผู้จัดและก็ไม่คุ้มเหนื่อยทั้งฝ่ายผู้มา