แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้การปฏิบัติใน หมวดที่ 1 กายานุปัสสนาภาวนา เมื่อวานก็พูดไว้บ้างแล้วนะคะ แต่ว่าไม่ทันจบเพราะเวลาเราหมดซะก่อน ขั้นที่ 1 ก็คือ การทำความรู้จัก เราจะเริ่มการปฏิบัติหมวดที่ 1 ด้วยการทำความรู้จัก ทำความรู้จักกับลมหายใจที่แบ่งแยกออกเป็นชนิดใหญ่ๆ ก็ได้ 2 พวก ก็คือ พวกลมหายใจยาวกับลมหายใจสั้นและในระหว่างลมหายใจสองอย่างนี้ การทำความรู้จักลมหายใจยาวง่ายกว่าลมหายใจสั้น ที่ง่ายกว่าก็เพราะว่า มันสบายกว่า มันไม่หนักเหน็ดเหนื่อยเหมือนอย่างการตามลมหายใจสั้น
ท่านจึงแนะนำว่าในขั้นที่หนึ่งให้เริ่มด้วยการตามลมหายใจยาว คือทำความรู้จักกับลมหายใจยาวด้วยการตามรู้มัน และคำว่า “รู้” ในที่นี้ “รู้สึก” เอาความรู้สึกสัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจยาว แล้วผู้ปฏิบัติก็ควรที่จะลองหายใจยาวหลายๆอย่าง หลายๆชนิดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าเราสามารถหายใจยาวได้มากอย่าง มากชนิดเพียงใด ก็แสดงว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจยาวของเรากว้างขวาง และเมื่อฝึกไปมากๆเข้าก็จะมีความชำนาญ เพราะเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ จะรู้ทีเดียวว่า ลมหายใจยาวอย่างไหนมีลักษณะอย่างไร การที่จะรู้จักลมหายใจ รู้จักว่า กำลังหายใจยาวธรรมดา มันเบาและมันปรุงแต่งกายยังไง ปรุงแต่งกายก็คือกายนี่รู้สึกยังไง สบายมั้ย หรือว่าเหนื่อย หรือว่าหนัก ก็จะบอกได้ว่ามันสบาย พอหายใจยาวธรรมดารู้สึกมันสบาย กายนี่สบาย ไม่หนัก ไม่เหน็ดเหนื่อย มันมีความผ่อนคลายอยู่ในนั้น
ทีนี้เปลี่ยนจากลมหายใจยาวธรรมดาเป็นลมหายใจยาวแรง (มีเสียงสูดลมหายใจแรง) ปรุงแต่งกายเป็นยังไง สบายมั้ย ไม่สบาย มันต้องใช้แรง ใช้แรงในการที่จะหายใจยาวแล้วก็แรง (มีเสียงสูดลมหายใจแรง) เพราะฉะนั้น มันมีความรู้สึกเหนื่อย กายนี่ไม่สบาย แต่มีประโยชน์มั้ย ลมหายใจยาวแรงเนี่ยแหละค่ะ มีประโยชน์อย่างไร มันช่วยไล่อะไรๆที่ติดขัดอยู่ข้างใน มันไล่ออกไปใช้ไหมคะ เหมือนเราฉีดน้ำแรงๆเพื่อที่จะไล่อะไรที่สกปรกออกไปหรือว่าเราจะล้างท่อ เราไล่มันออกไปพวกสิ่งสกปรกนั้น
สิ่งสกปรกในใจก็คือความคิดที่เกินจำเป็น เช่น ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดเพ้อเจ้อ ความคิดวุ่นวายสับสน หรือความรู้สึกที่วนเวียนอยู่กับเอาไม่เอา ชอบไม่ชอบ เดี๋ยวชังเดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวรัก นี่เป็นสิ่งที่สกปรก ที่ทำให้จิตนี้ไม่มีความสงบสุขเลย ความจำได้หมายมั่นในเรื่องของอดีตที่ผ่านไป ไม่รู้กี่ปีๆ ก็เอามาครุ่นคิดอยู่นั่น จิตก็ไม่มีวันว่างได้ รำคาญนักแต่ไม่รู้จะทำไง ก็หายใจยาวแรง(มีเสียงสูดลมหายใจแรง) ไล่มันออกไป ถ้ามันยังยาวแรงไม่พอ ก็เอาให้มันลึกและแรงลงไปอีก (มีเสียงสูดลมหายใจยาวแรงและยาว) สังเกตมั้ยคะ ยาวแรงกับยาวแรงลึกต่างกันยังไง ยาวแรงลึกต้องใช้พลังมากกว่ายาวแรงธรรมดาใช่มั้ยคะ แล้วก็ระยะความยาวหรือขนาดของมันก็ยาวกว่ายาวแรงธรรมดาใช่ไหมคะ ลองทำดูได้ (มีเสียงสูดหายใจแรง) นี่แรง ทีนี้แรงลึก (มีเสียงสูดหายใจแรงยาว) เรียกว่ามันเต็มที่
กำลังของแต่ละคนนั้นจะสามารถสูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มที่ได้เพียงใด เอาให้เต็มที่ถึงเพียงนั้น ใครที่บอกว่าลมหายใจไม่เคยถึงช่องท้องเลย พอเราตั้งใจเต็มที่ (มีเสียงสูดลมหายใจแรง) มันจะออกได้ ถึงช่องท้องได้ เพราะฉะนั้น ก็ดูว่ายาวลึกเป็นยังไง มีประโยชน์มั้ย มีคุณค่ามั้ย มันปรุงแต่งกายอย่างไร ก็ไม่สบายอีกนั่นแหละ แต่มันมีประโยชน์ในการกวาดอะไรต่ออะไร อารมณ์ต่างๆที่ไม่พึงปรารถนาให้ออกไปจากจิตได้ พอออกไปแล้ว ทำยังไง ก็รีบดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจธรรมดาปกติ เรียกว่าตั้งสติ เรากวาดอะไรต่ออะไรออกไป ก็ทำให้จิตนี้ว่างขึ้น ตั้งสติได้ พูดง่ายๆคือตั้งตัวได้ ก็จัดแจงดึงมันกลับมารู้ลมหายใจธรรมดา
ทีนี้ถ้าจะถามว่า ลมหายใจแรง ลมหายใจลึก จัดว่าเป็นลมหายใจหยาบหรือละเอียด พอจะตอบเองได้ไหมคะว่า เป็นลมหายใจหยาบหรือละเอียด มันปรุงแต่งกายเป็นยังไงล่ะคะ สบายหรือไม่สบาย ๆ เหนื่อยมั้ย เหนื่อยมากเหนื่อยน้อย ตามที่ว่าเราจะเอาแรงแค่ไหน ลึกแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็อยู่ในพวกลมหายใจหยาบ ซึ่งในขณะที่ลมหายใจหยาบ กายก็ไม่สบาย จิตเป็นยังไง เขาสงบมั้ย จิตก็สงบไม่ได้ เพราะมันเหนื่อยและมีความตั้งใจที่ต้องใช้ลมหายใจนี้ขับไล่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ยาวแรง ในความแรงนี้มันมีความหนักผสมมั้ย ยิ่งยาวลึก มีความหนักผสมมั้ย นี่คือการตามรู้จักลมหายใจ ยาว แล้วก็ลองอีก กลับมายาวธรรมดา สบายขึ้น ลองยาวธรรมดา แต่ให้ช้าลงไปอีก ยาวช้าๆเป็นยังไง มันยิ่งมีความเบามากขึ้นมั้ย ตามรู้จักมัน ก็จะสังเกตได้เองว่า มันยิ่งมีความเบาขึ้นอีก แล้วเมื่อลมหายใจเบา ยาว ช้าๆ ปรุงแต่งกายอย่างไร เพราะเขาบอกแล้วว่าลมหายใจเป็นกายสังขาร กายสังขารก็คือปรุงแต่งกาย กายยิ่งสบายใช่ไหมคะ นี่ก็คือการรู้จักลมหายใจยาว เป็นการปฏิบัติในขั้นที่หนึ่ง
ผู้ปฏิบัติไม่ต้องทำอะไร กำหนดจิตตามลมหายใจ คือคอยรับมัน รับเมื่อมันผ่านเข้า แล้วก็ตามมันไปเรื่อย พร้อมกับทำความรู้จักว่า หนึ่ง) เป็นลมหายใจยาวชนิดไหน สอง) ลมหายใจยาวชนิดนั้นมีลักษณะธรรมชาติเป็นอย่างไร สาม) ลมหายใจชนิดนั้น ๆ ปรุงแต่งกายอย่างไร ฉะนั้นในขณะที่ตามรู้จักมัน ผู้ใดมีความชำนาญในการตามได้โดยไม่มีความติดขัด ความอึดอัด คือตามลมหายใจยาวได้สบายๆแล้ว ก็ค่อยๆเพิ่มความรู้สึกที่จะสัมผัส คือสังเกตมันด้วยการสัมผัส สัมผัสอาการที่มันปรุงแต่งกายต่อไป เป็นขั้นที่สอง สัมผัสมันด้วยอาการที่ปรุงแต่งกายว่า ปรุงแต่งกายอย่างไร แล้วก็จะรู้ธรรมชาติของมัน จะรู้ลักษณะอาการของมันไปพร้อมๆกันด้วย นี่เป็นงานในขั้นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าต้องตามไปเฉยๆเท่านั้น ต้องตามแล้วรู้ด้วย นี่คือการฝึก คือฝึกทำความรู้จัก
ทีนี้พอรู้จักลมหายใจยาวขั้นที่หนึ่งได้ดีพอสมควรก็ต่อไปขั้นที่สอง ตามลมหายใจสั้น เปลี่ยนจากลมหายใจยาวเป็นลมหายใจสั้น เมื่อจะตามลมหายใจสั้น ก็ต้องหายใจให้มันสั้นกว่าปกติ คือทำให้มันสั้นกว่าลมหายใจปกติที่เราหายใจอยู่ แล้วก็ลองหายใจสั้นดู มีสั้นอย่างไหนบ้าง นี่ก็สั้นเบาๆ ลองหายใจดูสิคะ มันสั้นเบาๆ มันปรุงแต่งกายยังไง พอสบาย ใช้ได้มั้ย พอใช้ได้ แต่ถ้าจะลองเปรียบ นึกเปรียบกับลมหายใจยาว เบาๆธรรมดา อย่างไหนจะปรุงแต่งกายอย่างไร ซึ่งอันนี้เราจะบอกได้ เมื่อเราฝึกบ่อยๆ ฝึกมากขึ้น จนมีความชำนาญ ลองหายใจยาว ลองหายใจสั้นแรงหรือจะเรียกว่าสั้นหนักก็ได้ (มีเสียงพ่นลมหายใจออกมาแรงๆสองสามครั้ง) นี่สั้นหนัก สั้นแรง มีลักษณะอย่างไร ปรุงแต่งกายอย่างไร
แล้วนึกมั้ยคะว่า ลมหายใจสั้นแรงอย่างเงี้ย มันเข้ามาเกิดขึ้นภายในเมื่อไหร่ เคยมั้ยคะ ในชีวิตที่ผ่านมาเคยหายใจสั้นแรงมั้ย เวลานี้นึกไม่ออกว่ามันมา เมื่อสั้นแรง มันเป็นอย่างไร นั่นแหละค่ะ ก็ไปนึกดู แล้วพึงปรารถนามั้ย ลมหายใจสั้นแรงอย่างงี้ อยากมั้ย ไม่อยาก นี่ทำความรู้จักเพื่อจะรู้ด้วยว่า ลมหายใจสั้นอย่างนี้ไม่ใช่ลมหายใจที่น่าปรารถนา น่าพอใจ เพราะฉะนั้น เราทำความรู้จักกับมันไว้ เพื่อจะได้รู้โทษทุกข์ของมันหรือว่ารู้พิษสงของมัน เมื่อมันสั้นแรงขึ้นมาล่ะก็ เป็นสัญญาณว่า มาริ้วๆแล้วนะๆ พญาโทสะ มันเริ่มมาริ้วๆแล้วนะ มันเป็นเครื่องเตือน เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติมีความชำนาญในการปฏิบัติเรื่องลมหายใจในหมวดที่หนึ่งมากขึ้น ด้วยความชำนาญนั้นจะรู้เอง พอสัญญาณอันนี้มาจะรู้เลยว่า เราจะควบคุมมันอย่างไรที่จะไม่ให้มันเกิด แล้วก็จะใช้ลมหายใจอย่างไหนเพื่อขับไล่หรือตัดลมหายใจสั้นแรงอย่างนี้ไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้มันมากระตุ้นส่งเสริมให้อารมณ์โกรธทวีขึ้นหรือความขัดใจทวีเพิ่มขึ้น นี่คือจุดประสงที่เรามาศึกษาเรื่องของลมหายใจ ไม่ใช่ศึกษาเล่นๆ ไม่ใช่ทำแก้เบื่อแก้ง่วง แต่ว่าเราทำอย่างมีจุดมุ่งหมายหรือบางทีมันเป็นสั้นถี่ๆ (มีเสียงพ่นลมหายใจแรงสั้นติดกันสองสามครั้ง) มีมั้ยคะ มีมั้ย ก็มี สั้นถี่ๆนี่มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อเหนื่อย เมื่อเราทำอะไรเหนื่อยเกินกำลัง บางทีโกรธจนเหนื่อยเกินกำลัง ว่าเขาจนเหนื่อยเกินกำลัง มันก็ถี่ๆเพราะมันไม่ทัน พูดก็ไม่ทัน ลมหายใจออกไม่ทัน เพราะฉะนั้นมันก็ถี่หรือบางทีเดินเร็วเพื่อจะให้ถึงที่หมายอย่างขาดสติ ลมหายใจก็ถี่เข้า ถี่เข้า ถี่เข้า หรือ วิ่งเร็วอย่างขาดสติ
เพราะฉะนั้นเมื่อลมหายใจสั้นถี่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็เป็นสัญญาณอีกเหมือนกัน สัญญาณภัย บอกแล้วว่านี่ไม่เป็นประโยชน์เลยนะ ไม่เป็นประโยชน์เลย ระวัง! กำลังจะเกิดอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา เช่น สุขภาพทางกาย ระวังนะ ถ้าใครเป็นโรคหัวใจอยู่ระวังนะ ก็จะใช้ลมหายใจที่เกิดประโยชน์ ค่อยๆผ่อนมันออก ทีละน้อย จากสั้นถี่ ให้ค่อย ๆ ยาวทีละน้อย ไม่ใช่ฮวบฮาบ ไม่ใช่เหมือนอย่างกับกำลังหิวน้ำ คอแห้ง พอได้น้ำมาก็อึกอึกอึกอึก ก็สำลักพรวดพรวดพรวด เพราะฉะนั้น เมื่อหายใจถี่มา ก็อย่ารีบเอาลมหายใจอย่างอื่นผลุนผลันเข้ามาตัดมันทันที แต่ค่อยๆผ่อนมันให้ยาวออกไปทีละน้อย ทีละน้อย ๆ มันก็จะเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะทำได้เราก็ต้องฝึกฝึกจนรู้จักมันดี เพราะฉะนั้น ขั้นที่สอง ผู้ปฏิบัติก็ตามลมหายใจสั้น สั้นเบาบ้าง สั้นแรงบ้าง สั้นถี่ๆบ้าง เพื่อรู้จักว่า หนึ่ง) สั้นอย่างไหน สอง) มีลักษณะอาการอย่างไรลมหายใจสั้นอย่างนั้น สาม) ปรุงแต่งกายอย่างไร และ อาการที่ว่าปรุงแต่งกายนี้ มันก็ละความหมายไว้ในที่เข้าใจว่า ปรุงแต่งกายให้เกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์ คือเป็นไปในทางลบหรือในทางบวก ถ้าเป็นไปในทางลบก็เตือนใจ ไว้เป็นข้อสังเกต หมายเหตุไว้ในใจว่าลมหายใจอย่างนี้ต้องพยายามควบคุมไม่ให้เกิด ควบคุมไม่ให้มันเกิดเพราะมันเกิดทีไร มันไม่สบายทั้งกายทั้งใจ แล้วก็เมื่อตามและสังเกตได้ว่ามันปรุงแต่งกายอย่างไร ปรุงแต่งกายแล้วมันสบาย คือมันมีประโยชน์ ลมหายใจอย่างนี้ควรควบคุมให้มันเกิดบ่อยๆ
ทีนี้การที่จะสามารถควบคุมให้มันเกิดบ่อยๆได้หรือไม่ และควบคุมลมหายใจบางชนิดไม่ให้เกิดเลยได้หรือไม่ ไม่มีวิธีอื่นนะคะ นอกจากฝึกปฏิบัติด้วยการตามลมหายใจยาวขั้นที่หนึ่ง ให้รู้จักมันซะก่อนในลักษณะที่ว่าแล้ว ขั้นที่สอง ตามลมหายใจสั้น ในลักษณะที่ว่าแล้ว ให้รู้จักมันให้ดี นี่เราแยกกันทำนะคะ เราไม่ปนกัน ขั้นที่หนึ่งก็มุ่งเรื่องลมหายใจยาวอย่างเดียว ขั้นที่สองก็มุ่งเรื่องลมหายใจสั้นอย่างเดียว พอมาถึงขั้นที่สามเราต้องการเพิ่มความชำนาญให้มากขึ้น ในขณะขั้นที่หนึ่งขั้นที่สองเราบอกว่าเป็นการทำความรู้จัก ทำความรู้จักว่า ลมหายใจยาวมีกี่อย่างกี่ชนิด แต่ละอย่างมีลักษณะธรรมชาติอย่างไรและปรุงแต่งกายอย่างไร ลมหายใจสั้นก็เช่นเดียวกัน แล้วเราก็แยกกันทำเพื่อให้มันชัดเจน ที่เราแยกขั้นที่หนึ่งว่ายาว ขั้นที่สองว่าสั้นเพื่อให้มันชัดเจนเราจะไม่ปนกัน เพราะเป็นการเริ่มแรกของการปฏิบัติ