แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีทุกท่านนะคะ เช้าวันนี้จะขอต่อเรื่อง อาณาปานสติ ที่พูดค้างไว้เมื่อวานนี้นะคะ เมื่อวานก็ได้กล่าวถึงเค้าโครงของอาณาปนสติทั้งหมด 4 หมวด แล้วก็เมื่อไปดูที่แผนผัง ที่เขียนเอาไว้ ก็จะเห็นคำคำหนึ่งที่ดิฉันไม่ได้เอ่ยถึงคือคำว่า จตุกะ จตุกะ ก็หมายความว่า หมวดที่มี 4 แล้วก็พยายามจะใช้คำธรรมดา ก็คือหมายถึงหมวดจตุกะ1 ก็คือ 1 หมวด แต่คำว่า จตุกะนี้บ่งชัดไปในตัวว่า ใน 1 หมวดนั้น แบ่งออกเป็น 4
จตุกะที่ 1 ก็คือกายานุปัสนาภาวนามีสี่ขั้น
จตุกะที่ 2 เวทนานุปัสนาภาวนาสี่ขั้น
จตุกะที่ 3 จิตตานุปัสนาภาวนาสี่ขั้น
จตุกะที่ 4 ธรรมานุปัสสนาภาวนาสี่ขั้น รวมก็เป็น 16 ขั้นด้วยกันนะคะ
ทีนี้การที่เราจะฝึกอบรมจิต ให้เป็นจิตที่มีสติอยู่เสมอ ท่านก็มีคำสอนที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐานณสูตร โดยรวมหรือจำแนกวิธีการฝึกอบรมออกเป็น 4 หมวด เจาะจงว่า ควรเริ่มพิจารณาที่เรื่องของกาย เพราะหยาบ เห็นง่าย เห็นชัดเจน และก็ต่อไปด้วยเวทนา ซึ่งมองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ ก็ยังไม่ถึงกับยากเกินไป มองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ และเวทนานี้เป็นอาการลักษณะหนึ่งของจิต การศึกษาเวทนา ก็เพื่อให้เป็นหนทางที่จะนำเข้าสู่ความสามารถที่จะสัมผัสกับจิตหรือกับเรื่องของจิตได้ เมื่อสามารถเข้าใจเรื่องของเวทนาอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็จะต่อไปถึง หมวดที่ 3 หรือจตุกะที่ 3 คือเรื่องของจิตที่พูดกันแล้วว่า ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่เราจะศึกษามัน ด้วยการสัมผัสกับความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นภายใน ที่มันแสดงถึงลักษณะธรรมชาติของจิต เพราะจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ได้ อารมณ์ที่จิตรู้ ก็คือ รู้สึกได้ รู้จำได้ รู้นึก รู้คิดได้ รู้จักได้ นี่คือความสามารถของจิต ทั้งๆ ที่มันมองไม่เห็นว่ามันมีรูปร่างอย่างไร และในหมวดจิตนี้ก็จะพยายามฝึกฝนอบรมจิตจนกระทั่งมันมีความสงบ มีความหนักแน่นมั่นคง เยือกเย็นผ่องใส บริสุทธิ์ตั้งมั่นแล้วก็ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน สำหรับที่เราพูดกันในที่นี้ก็หมายถึงการทำงานทางจิต หรือการทำงานข้างใน เราจะใช้พื้นจิตที่สะอาดเกลี้ยงเกลาอยู่ด้วยความสงบ สติ และก็สมาธิ และก็ปัญญาในระดับหนึ่งนี้ใคร่ครวญทำต่อไปในหมวดที่4 ซึ่งธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดประณีตลึกซึ้งที่สุด
ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถที่จะฝึกอบรมด้วยการพิจารณาเริ่มต้น กาย เวทนา จิต ธรรม จนกระทั่งมองเห็น สัมผัส เข้าใจ ในสิ่งทั้ง 4 นี้ได้ชัดเจน จิตนั้นก็มีฐานที่ตั้งมีความมั่นคงประกอบอยู่ด้วยสติ แต่ว่า การที่จะพิจารณาปฏิบัติอย่างนี้ได้ จำจะต้องทำทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก การที่จะพิจารณาเรื่องของกาย เวทนา จิต ธรรม ต้องพิจารณาทุกขณะที่หายใจเช้าหายใจออก เพราะฉะนั้นในการที่เราปฏิบัติอาณาปาณสติภาวนาด้วยการกำหนดจิตจดจ่ออยู่กะลมหายใจทุกขณะ ไม่ว่าในอิริยาบทใด นั้นก็เป็นเครื่องที่จะเพื่อรักษาจิตให้มีความสงบในเบื้องต้นและก็สามารถพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นในลำดับต่อไปจนถึงที่สุด นั่นก็คือการส่งเสริมสนับสนุนให้สติปัฏฐานสี่สมบูรณ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นคำถามที่ถามเกี่ยวกับว่า อานาปานสติกับสติปัจฐาน มันเป็นยังไง มันต่างกันมั้ย มันส่งเสริมกันมั้ย หรือมันแยกกัน นี่คือคำอธิบาย ไม่ว่าจะพิจารณาในลักษณะที่ชื่อว่าสติปัฏฐาน ก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม จะไม่พิจารณาในลักษณะของอานาปานสติภาวนาก็คงพิจารณาในเรื่องของกายเวทนาจิตธรรม แต่กำหนดชัดเน้นลงไปว่าต้องทำทุกลมหายใจเข้าออก และวิธีของการพิจารณาในอานาปานสติภาวนานั้น ก็มีวิธีการพิจารณาที่ เน้นลงไปที่การศึกษาเรื่องของลมหายใจ เหมือนดั่งที่อธิบายแล้วเมื่อวานนี้ไม่ได้เน้นในการพิจารณากายในแง่ของปฏิกูล แต่ว่าเน้นลงไปในแง่ของการพิจารณาให้รู้จักว่า กายลมคือลมหายใจ ที่เราจะใช้เป็นเครื่องกำหนด เครื่องกำหนดที่มีคำถามมาเกี่ยวกับว่า เครื่องกำหนดคืออะไร เครื่องกำหนดก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่สำหรับให้จิตจดจ่อ เป็นสิ่งสำหรับที่ให้จิตจดจ่อลงไป เช่น บางวิธีอาจจะใช้คำบริกรรม เช่น พุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ ก็ให้เอาคำบริกรรมนั้นเป็นเครื่องกำหนด ให้จิตจดจ่ออยู่กับคำบริกรรม หรือจะไปใช้เครื่องมือ เช่น ใช้อสุภพิจารณาซากศพ นั่นก็คือใช้อสุภเป็นเครื่องกำหนด หรือใช้กสิณ ใช้เปลวเทียน นั่นก็คือ ใช้เทียนเป็นเครื่องกำหนด ใช้แผ่นกสิณเป็นเครื่องกำหนด เครื่องกำหนดก็คือ เป็นสิ่งที่สำหรับให้จิตจดจ่อ เป็นเครื่องผูกจิตไม่ให้จิตดิ้นไปไหน เมื่อมันดิ้นก็ดึงกลับมาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นอีก