แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พลังภายในก็คือมีความสงบ อยู่ด้วยสติ สมาธิ มั่นคง หนักแน่น มีกำลังที่จะควบคุมจิตได้ สั่งจิตได้ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ พอผัสสะมากระทบอารมณ์จะเป็นคำสรรเสริญเยินยอก็เพียงแต่ยิ้ม ไม่ตื่นเต้นลิงโลดแล้วก็ไม่ถาม คุณจะเอาอะไรจะให้เพราะว่าพูดจาถูกใจ หรือว่าจะถูกพูดติฉินนินทาก็มองเห็นเป็นธรรมดาไม่ตื่นเต้นไม่ลิงโลดนี่คือ มีพลังที่จะควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบด้วยสติสมาธิแล้วก็ปัญญาในระดับหนึ่ง ทีนี้ก็แสดงว่าพื้นจิตที่เคยเป็นจิตเถื่อน เกะกะเกเร วุ่นวาย สับสน ค่อยเป็นจิตที่ฉลาดขึ้น สงบขึ้น แล้วก็เป็นจิตที่มีสติ สมาธิ ปัญญาเพียงพอเราก็จะใช้พื้นจิตที่มีลักษณะอย่างนี้นะคะ ใคร่ครวญธรรมะต่อไปซึ่งเรื่องของธรรมะเป็นเรื่องละเอียดประณีตอย่างยิ่ง ประณีตยิ่งกว่าจิตที่มองไม่เห็นด้วยตาอีกนะ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยพื้นจิตที่ละเอียดที่ประณีตเพื่อจะใคร่ครวญธรรม คือปฏิบัติในหมวดที่ 4 ที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาภาวนา ฉะนั้นการปฏิบัติในหมวดที่ 4 นี้ก็ยังคงใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดอยู่นั่นเองนะคะ ไม่ทิ้งลมหายใจเลย ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออกผู้ปฏิบัติก็จะเอาจิตจดจ่อดูลงไปในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ
ธรรมะที่ควรนำมาใคร่ครวญนั่นก็คือ ไตรลักษณ์ ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนได้ยาก อนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ซึ่งเราจะพูดละเอียดต่อไป ก็จะทุกลมหายใจเข้าออกจะใคร่ครวญจ้องดูอยู่แต่ความไม่เที่ยง เรารู้ว่าความไม่เที่ยงนะคะเพราะก็เราเป็นมนุษย์ที่ฉลาด มีปัญญาเราก็พูดได้ไม่มีอะไรเที่ยงได้ยินใครตาย มันไม่เที่ยง แต่มันก็ไม่เที่ยงแต่ปาก ถ้าหากว่าญาติพี่น้องตายคนที่รักของเราตาย ความไม่เที่ยงอนิจจังมันไม่กระทบใจจะเอาแต่ร้องไห้ ฟูมฟาย พร่ำรำพัน ทำไมต้องเป็นพี่น้องฉัน ทำไมต้องเป็นลูกฉัน ทำไมต้องเป็นสามีฉัน มันจะมีแต่ฉัน ฉัน ฉัน เพราะมันลืม นี่เพราะมันไม่เที่ยงแต่ปาก บัดนี้เราจะฝึกใจนี่ให้ดูลงไปให้ชัด ให้เห็นที่เราพูดว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง จริงๆแล้วสภาวะของความไม่เที่ยงมันเป็นยังไง นี่ก็อาศัยการดู ดูด้วยการสัมผัส สัมผัสมันทีละน้อยๆๆ สัมผัสมันทีละน้อยๆ เพราะฉะนั้นจึงพูดว่า การปฏิบัติธรรมหรือการศึกษาข้างในต้องอาศัยการดูในขณะที่การศึกษาข้างนอกอาศัยการคิดเป็นสำคัญแต่การปฏิบัติข้างในต้องอาศัยการดู ดูด้วยความรู้สึกเอาความรู้สึกนี่สัมผัส สัมผัส สัมผัสกับความไม่เที่ยง ความเกิดดับ มาแล้วก็ไปไม่เห็นอยู่เลยนี่ ดูไปดูอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกไม่ให้จิตไปจดจ่ออยู่กับอันอื่นเลย จดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ตลอดเวลา
การดู ดูยังไงนะคะ อธิบายยากเหลือเกินเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ลองนึกดูสิคะ ในประสบการณ์ของเรานี่ เราเคยพูดไหม ฉันมองดูตาเขา ฉันก็รู้ว่าเขานี่รักฉันเหลือเกิน รักอย่างชนิดตายแทนกันได้ เขาไม่ได้พูดสักคำนี่แหละสัมผัส เอาอะไรสัมผัส ถึงได้พูดเขารักฉันจนตายแทนฉันได้ เพราะใจมันไปสัมผัสกับความรู้สึกที่มันฉายแสงออกมาจากแววตาของเขา แล้วก็อาจจะมีอาการอะไรอย่างอื่นประกอบ แต่ว่ามองดูตาฉันรู้ว่าเขาเป็นคนที่ฉัน มอบชีวิตจิตใจให้ได้ เขายอมตายแทนฉันได้ถึงเขาจะไม่พูดเลยสักคำ หรือบางทีมองดูอีกคนฉันไม่กล้าเข้าใกล้ ร้อน ขอไกลๆ เพราะอะไร ฉันเห็นแสงของความเกลียดนี่ มันฉายโชนออกมามันร้อน อย่างกับจะเผาฉันให้ไหม้ทั้งที่เขาไม่ได้บอกหรอกว่าฉันเกลียดแก เขาอาจจะพูดด้วยซ้ำ ฉันชอบเธอมากเลยนะ มาทำงานกับฉันไหม แต่ก็ไม่เอาเพราะมองเห็นใจมันสัมผัส สัมผัสกับแสงของความเกลียดที่มาฉายออกมาจากนัยน์ตา นี่มันสัมผัส สัมผัสด้วยการดูคือมันอย่างนี้ มันไม่ใช่คิด ถ้าคิดแล้วไม่เห็น เหมือนอย่างกับผ้า เขาจะบอกว่าฉันไปซื้อผ้าแพรมาเป็นแพรเนื้อดีๆ ดีอย่างชนิดที่ไม่มีผ้าแพรดีๆ งามๆ อย่างนี้เปรียบได้ เนื้อนุ่ม ละมุน ประณีต พอจับเท่านี้ เหมือนอย่างกับจับไหม ผ้าไหมมันอ่อนบอกไม่ถูกเขาก็บรรยาย สาธยายไปเถอะ คนฟังก็ฟังแต่สัมผัสไหมคะ ความวิเศษของแพรชิ้นนั้นไม่สัมผัสจนกว่าเขาจะยื่นมา เธอเอามือนี่ลองสัมผัสดูสิ นี่นะที่บอกว่านุ่ม บอกว่าเนียน บอกว่ามันละเอียด มันประณีต มันอย่างนี้ๆ นี่พอสัมผัสเข้าถึงจะรู้ เพราะฉะนั้นการดูนี่ก็คือดูสัมผัสลงไปที่ใจคือสัมผัสด้วยความรู้สึก อย่าคิดนะคะ เก็บสมองฉลาดๆนี่เอาไว้ ไอคิวสูงๆ เก็บเอาไว้ไปใช้ข้างนอกอย่ามาใช้กับการปฏิบัติข้างในเพราะยิ่งคิดยิ่งเตลิดโปรดจำไว้นะคะ ถ้ามาใช้กับการปฏิบัติธรรมยิ่งคิดยิ่งเตลิด เตลิดไปเรื่องไหนๆ ก็ไม่รู้ เตลิดอย่างไร เตลิดเพราะไปเอาความรู้ไปเอาประสบการณ์ที่เราเคยได้ยินได้ฟังเคยอ่านมาผสมผเส แล้วบางคนก็เลยบอกว่า บรรลุแล้ว บรรลุแล้วเพราะมองเห็นหมดรู้หมดแต่พอเกิดอะไรขึ้นก็กระโดดโลดเต้นไปตามสิ่งที่มากระทบนั้น เพราะฉะนั้นจึงโปรดใช้ความรู้สึกดูเข้าไป ในหมวดที่ 4 นี่นะคะทุกขณะที่หายใจเข้าและออกดูอย่างเดียว ดูลักษณะของความไม่เที่ยงว่า มันเป็นยังไง สัมผัสจนกระทั่งมันชัดเจน จนกระทั่งมันอ๋ออยู่ในใจ อ๋ออย่างนี้เองโดยไม่ต้องเอ่ยปากไม่ต้องพูดแล้วความรู้สึกของความจางคลาย จางคลายต่อความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราลดลงๆๆ ทุกขณะที่หายใจเข้าและออกก็จ้องดู จ้องเข้าไปในความรู้สึกของความจางคลาย ความปล่อย ความไม่เอาที่มันเบาบางลงเหลือเกิน เมื่อก่อนเคยรักปล่อยไม่ได้ต้องยี้อแย่งไว้จนสุดฤทธิ์เชียว ไม่เอา วาง เคยเกลียดจะต้องเข่นฆ่าให้ตาย วาง มันวางทั้งรักทั้งเกลียด วางทั้งบวกทั้งลบเพราะว่ามันสัมผัสกับอนิจจัง นี่ท่านเรียกว่า วิราคะ
ความรู้สึกของวิราคะคือความจางคลายมันค่อยๆ เกิดขึ้น ก็ดูอยู่อย่างนั้นนะคะ ดูความจางคลายที่เกิดขึ้นในจิตจนสัมผัสกับลักษณะอาการของความจางคลายคือมันเป็นความเบาสบายเพราะมันมีความรู้สึกจางคลายเกิดขึ้น แล้วไม่ช้าก็จะมีความรู้สึกของนิโรธ นิโรธคือความดับ ความดับของตัณหา ความดับของความโลภ โกรธ หลง ความดับของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายโดยเฉพาะความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน มันดับไปเฉยๆ เมื่อก่อนนี้ไม่เคยคิดเลยว่า ฉันจะดับความโกรธ ความเกลียดคนนี้ได้ ไม่เคยนึกเลยว่าจะดับความยึดมั่นเป็นฉันนี่ได้ ไม่เคย บัดนี้มันดับไปเฉยๆ มันดับจากการที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับ แล้วก็มีวิราคะตามลำดับ แล้วก็นิโรธแล้วผลสุดท้ายขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติก็เป็นความสลัดคืน เป็นความปล่อย สลัดคืนทุกสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นฉันเป็นของฉันคืน คืนให้แก่เจ้าของเดิม ใครคะ ธรรมชาติ คืนให้แก่ธรรมชาติ ที่เขาบอกว่าทุกสิ่งมาจากธรรมชาติ เถียงนัก ฉันมาจากพ่อแม่ฉันต่างหากล่ะ ถ้าไม่มีพ่อแม่จะมีฉันได้ยังไง มันก็ถูกในระดับหนึ่ง แต่ศึกษาให้ดีบางทีเขาบอกว่ามาจากธรรมชาติแล้วผลที่สุดก็คืนสู่ธรรมชาติ ตอนนี้มันคืนจริงๆ มันคืนเองทั้งที่ยังหายใจอยู่ ยังหายใจอยู่ ยังเดินได้ กินได้ เล่นได้ ทำงานได้ ยังมีชีวิตต่อไปแต่มีชีวิตอย่างผู้ที่ยอมคืนให้แก่ธรรมชาติ นั่นก็คือสติปัญญานั้นขึ้นถึงสูงสุดก็จะประสบกับความว่างอย่างที่พูดแล้ว คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวงเป็นจิตที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ความรัก โกรธ เกลียด ความโลภ โกรธ หลง ของคนในโลกนี้ก็ยังคงมียังคงเป็นไปอย่างนั้น ถึงแม้จะต้องไปเกลือกกลั้ว คลุกคลีอยู่กับคนที่เต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ก็อยู่ได้ อยู่ได้โดยไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะไม่เอามาเป็นของเรา ไม่เอาคำพูดของเขามากระทบเรา ไม่เอาการกระทำของเขามากระทบเรา เพราะเห็นแล้วมันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างนี้เองตามธรรมดาก็จะอยู่ได้อย่างสบาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ตลาด อยู่ที่โรงหนัง อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ในวงการอะไรก็อยู่ได้เพราะจิตมันสามารถมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง แต่ก็ยังคงพูด คงทำงาน คงทำอะไรเหมือนคนทั้งหลายเหมือนคนธรรมดา มองข้างนอกก็เหมือนคนธรรมดาแต่ข้างในนั้นผู้นั้นจะรู้เองว่า มันไม่เหมือน ไม่เหมือนเพราะมันไม่เอาเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนมันจะเอาแต่เดี๋ยวนี้มันไม่เอา มันก็มีความเบาสบาย มันมีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่เป็นทุกข์ นี่เป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นที่มองเห็นได้ชัด และถ้าปฏิบัติต่อไปเรื่อย ต่อไปเรื่อย ที่ท่านบอกว่าผลที่สุดก็จะสิ้นซึ่งอาสวะทั้งปวง อาสวะก็คือหมายความว่า ไม่มีสิ่งใดที่เป็นกิเลสเหลืออยู่จนนิดเดียว ถ้าจะค้นหาไปในซอกมุมต่างๆ ของภายในที่สมมุติเรียกกันว่า จิต ก็จะไม่พบสิ่งที่เรียกว่า ปัญหาหรือว่าความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งเลยสักนิดเดียว มีแต่ความเกลี้ยง สะอาดเบาสบาย นี่คือการปฏิบัติถึงที่สุดจึงบอกว่า อานาปานสติภาวนานั้นเป็นการปฏิบัติที่สงบ ประณีต แล้วก็ปฏิบัติได้ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบคือจนปลายโดยไม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือที่เป็นเครื่องกำหนด ไม่ต้องเปลี่ยนสถานที่ ไม่ต้องจัดหาอะไรเลย เป็นการปฏิบัติได้ตลอดเวลา ทุกเวลานาทีของชีวิตจึงเป็นการปฏิบัติที่สะดวกสบาย นี่ก็เป็นเค้าโครงนะคะ เค้าโครงของอานาปานสติภาวนาว่าเราจะต้องเป็นไปตามลำดับอย่างนี้
ทีนี้ในหมวดที่ 1 ย้อนกลับมาหมวดที่ 1 เพื่อที่จะได้ทดลองปฏิบัตินะคะนั่นก็คือ การใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด เริ่มด้วยวิธีการตามลมหายใจ แล้วก็ลมหายใจที่เราจะสามารถสัมผัสได้อย่างง่ายแล้วก็สะดวก ท่านก็แนะนำว่า ให้เริ่มต้นด้วยหายใจยาว เริ่มต้นด้วยหายใจยาวเราจะต้องทำความรู้จักกับลมหายใจทุกอย่างทุกชนิด ฉะนั้นขั้นที่ 1 ก็คือพอจะเริ่มฝึกปฏิบัติลองหายใจธรรมดาก่อนอย่างที่หายใจเป็นปกติอยู่ทุกวันนี้นะคะ เพื่อจะดูว่าลมหายใจปกติของเราจัดอยู่ในพวกยาวหรือสั้น มันยาวสักแค่ไหนแล้วก็มันสั้นสักแค่ไหน เพื่อว่าเมื่อเวลาที่เราจะปฏิบัติทำให้ลมหายใจยาวเราก็จะใช้ลมหายใจปกติของเรานี่เป็นเกณฑ์ เป็นเกณฑ์กำหนดว่า สมมุติว่าหายใจปกติมันแค่นี้พอเราตั้งใจจะทำให้ยาวมันก็ต้องพยายามตั้งใจหายใจให้ยาวกว่าลมหายใจปกติ งั้นเราควรจะลงมาสักแค่นี้เป็นต้นนะคะ แล้วพอจะทำหายใจสั้น มันก็สั้นกว่าลมหายใจปกติ
ฉะนั้นครั้งแรกของการปฏิบัติฝึกรู้ลมหายใจปกติให้คล่องแคล่วอย่างที่ได้ลองฝึกลมหายใจปกติมาแล้ว 2 วันนี่นะคะก็คงจะพอรู้ว่าแค่ไหน ทีนี้ก็เริ่มต้นด้วยการทำให้มันยาว หายใจให้ยาว การหายใจยาวที่จะทำให้ตามได้ง่ายท่านแนะนำว่าให้หายใจแรงๆ ยาวแล้วก็แรง ยาวแรง อย่างนี้ มันยาวแรงแล้วมันก็มีความเคลื่อนไหวที่แรง หยาบ เพราะฉะนั้นเมื่อมันแรงหยาบเราก็จะสามารถสัมผัสคือตามมันได้ง่าย ตามด้วยอะไรก็ตามด้วยความรู้สึก เอาความรู้สึกนี่จดจ่อรออยู่ที่ช่องจมูกพอลมหายใจเริ่มผ่านเข้ากำหนดความรู้สึกตามมันไป หยุด เราก็หยุด แล้วก็พร้อมกับตามออกจนกระทั่งมันออกไป พอออกแล้วก็หายใจใหม่ตามเข้าให้แรง พอหยุด ตามออกตลอดเวลาเอาลมหายใจยาวนะคะ ลองด้วยลมหายใจยาว แรง แล้วก็ลองสัก 2-3 ครั้ง เพราะว่ามันไม่ใช่ลมหายใจปกติ ถ้ายาวแรงบ่อยๆ มันก็เหนื่อยบางทีก็อาจถึงกับเวียนศีรษะ สำหรับผู้มีอายุ ฉะนั้นพอรู้สึกเหนื่อยก็กลับมาหายใจธรรมดา หายใจปกติธรรมดาเป็นการพักแล้วก็กลับไปตามลมหายใจยาวใหม่ พอยาวแรง แล้วก็ลองยาวลึก แล้วก็ลองยาวธรรมดาๆ แล้วในขณะนั้นก็สังเกตด้วยว่า ยาวแรงมันมีลักษณะยังไง ยาวลึกมันมีลักษณะอย่างไร ยาวธรรมดามันมีลักษณะอย่างไร มันแตกต่างกันไหมทุกขณะที่หายใจเข้าและออก แล้วท่านผู้ใดจะลองหายใจยาวชนิดต่างๆ อีกก็ได้นะคะ ไม่จำเป็นจะต้องมีเฉพาะแค่นี้
ขั้นที่ 1 คือตามลมหายใจยาวอย่างเดียวจนรู้ว่า ลมหายใจยาวนั้นมันยาวอย่างไร ยาวกี่อย่าง แล้วก็อย่าตามด้วยความคิดนะคะ ตามด้วยความรู้สึกที่สัมผัสทั้งเข้าและออกตลอดเวลา ฉะนั้นในช่วงกลางวันนี้นะคะจนถึงเวลาที่เราจะพบกันอีก ขอได้โปรดฝึกตามลมหายใจยาวทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย มันเข้าเมื่อไรรู้ มันเคลื่อนไปไหนไปกับมันให้ตลอด พอมันหยุด หยุด พร้อมกับเคลื่อนตามออกมา อย่างนี้ค่ะตลอดเวลา เหมือนกับเล่นเกมส์ลมหายใจเอาจิตผูกไว้กับลมหายใจ แล้วจิตที่ไม่คุ้นเคยประเดี๋ยวมันก็วิ่งออกไปข้างนอก วิ่งไปกับความคิด วิ่งไปกับความรู้สึก ดึงมันกลับมา แล้วก็ขออนุญาตเตือนไว้ล่วงหน้าอย่าเอาจริงเอาจังนักนะคะ อย่าเอาจริงเอาจังกับมันว่าฉันต้องทำให้ได้ ต้องตามให้ได้ พอนึกอย่างนี้ ไม่ได้ ไม่ได้แล้วเพราะอะไร เพราะจิตมันไปผูกกับความต้องการจะต้องเอาให้ได้ ต้องเอาให้ได้ ตัณหาใช่ไหมคะ เห็นไหมนี่ เส้นผมบังภูเขา ปล่อยให้ตัณหาเข้ามาในใจแล้ว พอตัณหาเข้ามาในใจเป็นนิวรณ์เป็นเครื่องกั้นตามไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นให้เป็นธรรมชาติหายใจให้เป็นธรรมชาติเหมือนอย่างที่เราหายใจธรรมดาแล้วค่อยๆ ผ่อนให้มันยาวออกไปโดยไม่ต้องเคร่งเครียด ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องเอาจริงเอาจังกับมัน จะได้ก็ทำต่อไป ไม่ได้ก็ตั้งต้นใหม่ เพียงแต่ทำให้ถูกวิธี ท่านจึงบอกว่าการปฏิบัติที่จะทำให้ได้นี่ต้องลืมตัว อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ถ้าไม่ลืมตัวแล้วมันจะเอาเห็นไหมคะ แม้แต่การปฏิบัติก็จะเอาคือจะเอาให้ได้ ทีนี้พอจะเอาขึ้นมาเมื่อไรนั่นคือไม่ได้ เป็นอุปสรรคแล้ว ฉะนั้นสู้กับมันนะคะวันนี้ลองสู้กันดู ดูสิว่า หมูๆ แค่นี้ ฉันทำงานใหญ่กว่านี้เยอะแยะ โปรเจกต์ทั้งหลาย ฉันทั้งนั้น นี่ก็หมูๆ ดูจะเคี้ยวได้ไหม จะกลืนได้ไหม ลองดู แล้วก็ดู ทำ โดยไม่เอา แล้วก็วันนี้ก็ขอเปลี่ยนเวลาคงทราบแล้วนะคะ เพราะเห็นว่าบ่าย 2 โมงค่อนข้างร้อนแล้วก็พูดเรื่องอย่างนี้แล้วก็ต้องนั่งฟังตลอดเวลามันค่อนข้างหนัก ก็เลยขอเลื่อนเอาทำวัตรสวดมนต์มาตอนบ่าย 2 โมง แล้วก็การพูดธรรมะนี้ก็จะไปอยู่เอาตอนบ่าย 4 โมงครึ่งนะคะ เพื่อให้อากาศค่อยเย็นหน่อย อันที่จริงก็ไม่น่าจะทำวัตรตอนบ่าย 2 โมงหรอก แต่ว่าได้ออกเสียงก็จะได้ไม่ง่วงนอนอย่างน้อยก็ยังสบายได้มีเอ็กเซอร์ไซส์บ้างก็เลยขอเปลี่ยน