แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีแด่ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของชีวิตทุกท่านนะคะ ก่อนอื่นก็จะขออนุญาตใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่ออธิบายหรือชี้แจงว่า ทำไมเราจึงจัดการอบรมด้วยวิธีนี้ เพราะเมื่อได้ยินว่าจะมาปฏิบัติธรรม หรือมาปฏิบัติสมาธิภาวนา บุคคลส่วนใหญ่ก็จะมีความรู้สึกแต่เพียงว่า เราไม่เห็นจะต้องเตรียมตัวอะไรมากเลย เราเตรียมเสื้อผ้าพอสบายๆ แล้วก็มา เพื่อจะมานั่งสมาธิ โดยความหมายที่มองเห็นกันในใจ คือมานั่งสมาธิ แล้วก็หลับตา แล้วก็ภาวนา แล้วภาวนาคืออะไรก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่า หลับตาแล้วก็ภาวนา ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเข้าใจอย่างนั้น
แต่คำว่า “ภาวนา” นี้แปลว่า ทำให้เจริญ เพราะฉะนั้นการจะมาปฏิบัติสมาธิ เพราะฉะนั้นการจะมาปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือจะมาปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่แต่เพียงว่าจะมานั่งหลับตาเฉยๆ เท่านั้น แต่จะต้องมีการกระทำที่จะทำให้เจริญ และเจริญในที่นี้ก็ต้องเจริญที่จิต ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน ฉะนั้นกลวิธีหรือวิธีการ มันจึงควรจะต้องมีมากกว่าเพียงนั่งภาวนาคือหลับตา แล้วทำความสงบใจเฉยๆ เท่านั้น ไม่เพียงพอ ฉะนั้นการอบรมศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยวิธีอานาปานสติภาวนา หรือถ้าเรียกเป็นโครงการที่ท่านครูอาจารย์จากโครงการฝึกหัดครู หรือจาก กทม.ได้ทราบ เราก็เรียกว่า เป็นโครงการชีวิตใหม่ในมือเรา เพราะการจะปฏิบัติจิต ปฏิบัติตนให้เจริญด้วยวิธีนี้นั้น อาศัยคนอื่นไม่ได้ ไม่มีใครทำให้ได้ ซื้อขายก็ไม่มี ไม่มีขายที่ไหน ไม่มีวางตลาดที่ไหน เราจะต้องทำด้วยตัวของเราเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดกระทำ ผู้นั้นได้ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ไม่ทำเลย ก็ไม่ได้เหมือนกัน แม้จะมีหยิบยื่นเหมือนอาหารใส่จานมาวางให้ แต่ถ้าไม่หยิบใส่ปาก ไม่เคี้ยว ไม่กลืน ก็ไม่สามารถจะได้รับประโยชน์จากอาหารนั้น นี่ก็เช่นเดียวกันนะคะ ฉะนั้นในวิธีการจัดการอบรมในคราวนี้ เราจึงแบ่งออกเป็นหลายส่วน หรือหลายตอน
วิธีการการจัดอบรมด้วยวิธีอานาปานสติภาวนานี้ ก็ขอเรียนให้ทราบว่า ข้อแรกที่สุด เราจะต้องอยู่กันอย่างมีวินัย ถ้าเราจะดูอย่างพระไตรปิฏกที่ท่านทรงแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาคแรก คือภาคของพระวินัยที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และท่านที่เป็นครูอาจารย์โดยเฉพาะก็ย่อมทราบแล้วว่า ถ้าเราไม่สามารถควบคุมลูกศิษย์ให้มีวินัยของส่วนรวม และโดยเฉพาะวินัยในตัวของเขาเองได้ เราจะไม่สามารถสอนเขาได้เลย แม้เราจะเตรียมการสอนอย่างดีเยี่ยมเพียงไรก็ไม่สามารถถ่ายทอดวิชานั้นเข้าสู่จิตใจของลูกศิษย์ได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน แต่เพียงแต่ว่า พระวินัยที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นนั้นจะกำหนดตามเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้วจึงจะทรงกำหนดวินัยตามนั้น นี่ก็เพื่อให้บรรดาพระสาวกทั้งหลายได้มองเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นนั้น มิได้ทรงกำหนดขึ้นตามพระทัยของพระองค์ หรือตามความเห็นของพระองค์ว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก ต้องทำอย่างนี้ พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นพระองค์จึงต้องการให้พระสาวกทั้งหลายได้มองเห็นเองว่า วินัยที่ต้องกำหนดขึ้นมาแต่ละข้อ แต่ละข้อนั้น มันเป็นเพราะมีเหตุเกิดขึ้น เนื่องจากว่าพระสาวกที่อยู่ร่วมกันนั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติตนให้อยู่ในความเรียบร้อยได้ ก่อปัญหา ก่อความเดือดร้อนให้แก่เพื่อน จึงกำหนดวินัยขึ้น
ทีนี้เมื่อพระองค์ทรงได้กำหนดไว้แล้วเป็นอย่างดี เราผู้เป็นพุทธสาวก หรือพุทธศาสนิกชน เมื่อจะดำเนินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องของการปฏิบัติจิตภาวนา เราก็มามองดูว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะช่วยผู้ปฏิบัติให้ผู้ปฏิบัติในการสำรวมกาย สำรวมใจ และก็สามารถที่จะรวมจิตที่สับสนวุ่นวาย ระส่ำระสาย ระหกระเหิน ไปนู่น ไปนี่ ด้วยความคิด ด้วยความรู้สึก อย่างที่เคยเป็น ให้เข้าสู่ความสงบได้รวดเร็ว นั่นก็คือต้องมีวินัย และวินัยอย่างง่ายที่สุด เราไม่ใช่ผู้บวชอย่างเต็มอัตรา เราก็จึงไม่ต้องมีศีล 10 หรือ ศีล 227 และเราไม่มีภิษณุ ก็ไม่ต้องมีศีล 311 ข้อ อย่างนี้เป็นต้น
แต่เราขอข้อเดียว คือขอข้ออยู่เงียบ อยู่เงียบก็คือการสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็มีอยู่ 6 อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่อินทรีย์ที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นอินทรีย์ที่ควบคุมอินทรีย์อื่นๆ อีก 5 อินทรีย์ได้ นั่นก็คืออินทรีย์ที่ชื่อว่าใจ ถ้าควบคุมใจได้ ควบคุมใจให้เงียบได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็พลอยเงียบไปด้วย คำว่า เงียบ คือไม่สอดส่าย ตาก็ไม่สอดส่าย หูก็ไม่สอดส่าย ลิ้น กาย จมูกก็ไม่สอดส่าย มันรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาตามธรรมชาติแล้วก็ปล่อยสิ่งให้มันไปตามธรรมชาติ เพราะจะพยายามเรียนรู้ แล้วก็ฝึกอบรมควบคุมที่จิตใจให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเพียงสิ่งสังวาส เช่นนั้นเอง เกิดแล้วก็ดับ มาแล้วก็ไป ไม่มีอะไรมากกว่านี้
แต่การที่จะควบคุมใจให้อยู่ในความสงบได้อย่างนี้นั้น เบื้องแรกที่สุดก็คือ ต้องควบคุมความเงียบ แล้วก็ความเงียบที่มองเห็นง่ายที่สุด หรือสิ่งที่ทำลายความเงียบที่เห็นง่ายที่สุด ก็คือการพูดคุยสนทนา ซึ่งทุกท่านไม่ว่า นิสิต นักศึกษา หรือท่านครูบาอาจารย์ ย่อมประจักชัดในอิทธิพล หรืออิทธิฤทธิ์ของการพูดคุยสนทนาแล้วใช่มั้ยคะ พอคุยเข้ามันก็เพลิด มันก็สนุก แล้วแต่ว่าจะคุยเรื่องอะไร ถ้าคุยเรื่องสนุก ถูกอกถูกใจ จิตก็ฟู ฟูฟ่อง ล่องลอย ลิงโลด เพลิดเพลิน ถ้าคุยเรื่องที่ไม่ถูกใจ เรื่องที่ขัดใจ จิตก็ตก เศร้าหมอง
เพราะฉะนั้นอาการของจิต มันจะวุ่นวาย ระส่ำระสายอยู่ข้างในด้วยความชอบ ไม่ชอบ เราจึงตัดต้นเหตุเสียง่ายๆ ด้วยการขอร้องทุกท่าน โปรดหยุดคุย หยุดสนทนา เพราะการที่มาเข้าค่ายเพื่อจะฝึกศิลปะการพัฒนาชีวิตเช่นนี้ นั่นก็คือผู้ที่มายอมสละแล้ว ยอมสละความสนุก สละความเอาแต่ใจตัว สละความที่ชอบจะทำอะไรด้วยการพูดคุยสนทนา หรืออย่างอื่นๆ จึงต้องขอร้องว่า เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ขอได้โปรดรักษาอินทรีย์สังวรโดยเฉพาะใจ ให้ใจเงียบด้วยการหยุดสนทนา หยุดพูดคุย
แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องขัดเคือง หรือ เคร่งเครียดนะคะ โปรดเข้าใจว่าเราอยู่กันอย่างเพื่อน เราอยู่กันอย่างเป็นมิตร เป็นมิตรในทางธรรม เป็นเพื่อนในทางธรรม เรามีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีปัญหาสิ่งใดเกิดขึ้น พร้อมที่จะช่วยแก้ไข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งก็มีเพื่อนที่มาปฏิบัติธรรมที่มาทำหน้าที่อาสาสมัครอยู่ช่วยงานเรา ซึ่งทุกท่านก็ได้พบแล้ว เพราะฉะนั้นมีปัญหาสิ่งใดโปรดบอกได้ทุกคนรวมถึงตัวดิฉันด้วย แล้วเราจะได้รีบช่วยแก้ไข
ฉะนั้นก็โปรดวางใจว่า มาอยู่ในหมู่เพื่อนนะคะ ถ้ามีสิ่งใดที่เผอิญไม่ถูกอกถูกใจ ก็ขอให้ได้โปรดได้ทราบ ฉะนั้นการอยู่เงียบ เราถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เป็นวินัยที่จะต้องรักษาในระหว่างนี้ ทำไมจึงขอให้อยู่เงียบ ก็เพราะว่าการอยู่เงียบจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกท่าน ได้สามารถทำความรู้จักกับตัวเอง ท่านก็มีตัวของท่าน มีชื่อเสียง มีตำแหน่งการงาน เป็นที่ปรากฎอยู่ แล้วก็หลายท่านก็จะบอกว่า ฉันรู้จักแล้วตัวของฉันเองฉันรู้จัก แต่จะรู้จักแล้ว หรือยังไม่รู้จัก ก็อยากจะขอให้ใช้เวลา 11 วันที่อยู่ที่นี่ ลองสำรวจดู ทำความรู้จักกับใจของตัวเราเองดู เพื่อจะดูให้จริงสิว่า เรารู้จักตัวเราเองจริงหรือเปล่า
ที่รู้จักก็มักจะรู้จักว่า ฉันเป็นคนเก่ง เรียนอะไรไม่เคยพลาด A นี่กล้วยมาก A+ ล่ะก็ต้องใช้ความพยายามหน่อย ฉันเป็นคนสวย ฉันเป็นคนหล่อ ไปที่ไหนน่ะเหรอ เขามาเที่ยวขอให้ไปเป็นนางแบบ นายแบบ ฉันต้องยืนอยู่แถวหน้า บางทีรู้จัก ฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นคนสวย ฉันเป็นคนหล่อ ฉันเป็นคนรวย ฉันเป็นคนดี รวมความแล้วฉันวิเศษในทางบวก
แต่เคยมองบ้างมั้ยคะว่าจริงๆ แล้ว ตัวตนนี้มีอะไรๆ ที่เป็นในทางลบอยู่เยอะแยะเลย แต่มนุษย์ส่วนมากไม่กล้าสำรวจ ไม่กล้ามองเข้าไป เพราะอะไร กลัวพบ กลัวพบสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา สิ่งที่เราตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ว่าคนอื่นเขา เป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ แล้วก็ไม่พอใจ แต่ว่าเราไม่กล้า ในขณะที่ว่าคนอื่น มันก็มีอะไรสะกิดบอกเหมือนกันว่า เราก็เป็นอย่างนั้นนะ แต่กลบมันซะว่าฉันดี ไม่ยอมรับ ถ้าหากว่าเมื่อไหร่ตราบใดที่ยังไม่รู้จักใจของตนเองก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนา
เพราะฉะนั้นการอยู่เงียบก็คือการให้โอกาสทุกท่านได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง คุยกับตัวเอง ตอนนี้แหละค่ะเป็นโอกาสให้คุยกับตัวเอง เราคุยกับผู้อื่นมามากมายนักหนาแล้ว บัดนี้ลองคุยกับตัวเองบ้าง คุยโดยไม่มีเสียง คุยด้วยการจ้องดูเข้าไปข้างในด้วยความรู้สึก นี่เป็นวิธีที่เราจะศึกษากัน ฝึกปฏิบัติกันที่นี่ เปลี่ยนจากการคิด เป็นการดู ถ้าการคิดเราจะใช้สมอง ใช้ไอคิวสูงๆ นั่นแหละคิด แล้วก็คิดไปตามความรู้และประสบการณ์ที่เราเคยมี คุ้นเคยอยู่ แต่บัดนี้เราหยุดคิด เพราะการคิดนั้นบางทีมีอคติเจือปนโดยไม่รู้ตัว และถ้าจะพูดไป มีอคติเจือปนอยู่เป็นอันมากเลยค่ะในการคิดนั้น เพราะมันผสมด้วยความเคยชิน เคยชินจากสิ่งแวดล้อม จากการอบรม จากการศึกษาเล่าเรียน จากประสบการณ์ที่เคยพบมา