แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ปฏิบัติจะมีความสำเร็จก็ต่อเมื่อจิตนี้เป็นจิตที่อยู่ในสมาธิอันแน่วแน่ มั่นคง หนักแน่น จิตสงบเยือกเย็นผ่องใส พร้อมที่จะใช้จิตที่มีพื้นของความสงบนี้ พิจารณาเวทนาในหมวดที่ 2 ที่มีชื่อว่า “เวทนานุปัสสนาภาวนา”
ในการพิจารณาเวทนา อ่านว่า เว-ทะ-นา ก็คือการพิจารณาความรู้สึก ลักษณะอาการของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน ทำไมถึงนำหมวดของเวทนามาเป็นหมวดที่ 2 ก็โปรดรำลึกว่า การมาปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือกรรมฐาน หรือจิตตภาวนา เพื่อพัฒนาจิตให้เจริญ แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น รู้จักไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะพรวดพราดเข้าไปดูจิตมันก็ยากเพราะมันไม่มีตัวตน ไม่เหมือนกายที่เรามองเห็น แต่จากที่ได้พูดถึงเรื่องของขันธ์ 5, ก็ทราบแล้วว่า เวทนาขันธ์หรือเรื่องของเวทนานั้น เป็นลักษณะอาการอย่างหนึ่งของจิต และในบรรดาอาการของจิต 4 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพราะฉะนั้นท่านจึงหยิบเอาเวทนามาเป็นหมวดที่ 2 เพื่อรู้จักเวทนาลักษณะอาการของเวทนาให้ชัดเจน เพื่อเป็นบันไดที่จะนำเข้าไปสู่การรู้จักจิต ศึกษาจิต ธรรมชาติของจิตในหมวดที่ 3 ได้ง่ายเข้า ท่านจึงเอาเวทนามาเป็นหมวดที่ 2 แต่ในการที่จะศึกษาปฏิบัติเวทนาในรูปแบบของอาณาปานสติภาวนานั้น เราจะเน้นไปที่ทำความรู้จักกับเรื่องของเวทนาให้ชัดเจนทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก ให้รู้ว่าเวทนา คืออะไร มีลักษณะอย่างไร มันมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร
เคยนึกไหมคะว่า ชีวิตของเราทุกวันนี้ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวทนา นึกไหมคะ ที่มันซัดส่ายไปมามันขึ้นลง มันระส่ำระสายอยู่ตลอดเวลา เพราะเวทนา ใช่ไหมคะ ลองนึกดูสักนิดว่าจริงไหมคะ ที่จิตมันไม่เคยสงบมันไม่เคยตั้งมั่น เพราะเวทนา เวทนาของความชอบ ไม่ชอบ เวทนาของความเอา ไม่เอา เวทนาของความโกรธ เวทนาของความเกลียด คือความรู้สึกเกลียด รู้สึกโกรธ รู้สึกไม่ถูกใจ หรือว่ารู้สึกตื่นเต้นลิงโลด อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา จิตนี้มันจึงขึ้นลง ๆ รู้สึกบ้างไหมคะ ขึ้นลง ๆ แล้วก็ซัดส่ายซ้ายขวา มันก็ขยุ้ม ๆ คือพออาการหนักเข้า แหม มันขยุ้ม ๆ จนบอกไม่ถูก ว่านี่กำลังขึ้นลง หรือกำลังซัดส่าย แหม มันขยุ้มจนกระทั่งมองไม่เห็นหนทาง นี่เพราะถูกเวทนากลุ้มรุม แต่มนุษย์ไม่เคยรู้ มักจะไปโทษ เพราะคนโน้น เพราะคนนี้ เพราะอะไรต่ออะไรสารพัด แต่ไม่เคยหันมาดูว่า เพราะปล่อยให้จิตตกเป็นทาสของเวทนา เวทนามันมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ร้ายกาจมากเลย เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติหมวดที่ 2 ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามศึกษาให้รู้จักลักษณะอาการของเวทนา ว่ามันมีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง มันมีเวทนาสักกี่อย่าง
ถ้าเราพูดกันอย่างคร่าว ๆ เราก็จะพูดแต่เพียงว่ามันมี 2 อย่าง มันมีสุขเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเพราะพอใจ ถูกใจ กับทุกขเวทนา เพราะไม่พอใจ ไม่ถูกใจ มันมี 2 อย่าง คือทุกขเวทนากับสุขเวทนา แต่ถ้าเรามาศึกษาให้ละเอียดเราจะมองเห็นว่ามันยังจำแนกได้อีก เพราะแม้ในสุขเวทนามันก็มีเหตุปัจจัยของสุขเวทนาหลายๆอย่าง และอาการลักษณะของมันก็ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับทุกขเวทนามันก็ไม่เหมือนกัน ทุกข์เพราะเสียเงินกับทุกข์เพระเสียลูกก็ไม่เหมือนกัน ทุกข์เพราะเสียลูกกับทุกข์เพราะเสียชื่อเสียงมันก็เจ็บปวดเหมือนกัน แต่ถ้าดูให้ละเอียดมันมีอาการแตกต่างกันเพราะฉะนั้นเราก็จะดูเรื่องของเวทนาให้ละเอียดทุกขณะที่หายใจเข้า และหายใจออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนา
แล้วก็ศึกษารู้จักเรื่องของเวทนาจนละเอียดชัดเจนเป็นอันว่า ไม่ว่าเวทนาอย่างไหนจะโผล่ขึ้นมาในใจ คือจะปุ๊บขึ้นมาในใจ เมื่อไหร่รู้ทัน...อ้อ นี่ทุกขเวทนา ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะเกลียด ทุกข์เพราะหลง ทุกข์เพราะรู้สึกสูญเสีย มันรู้จักขึ้นมาทันที เพราะว่าได้พิจาณาอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก สติมันพร้อมพอจะมาก็รู้จักที่จะใช้ลมหายใจที่เรารู้ดีมาแล้วในหมวดที่ 1 ควบคุมขับไล่มันออกไปจนกระทั่งสามารถเป็นนายของเวทนาได้
เพราะฉะนั้นในหมวดที่ 2 ถ้าผู้ปฏิบัติจะถามว่า ใช้ได้หรือยัง ปฏิบัติใช้ได้หรือยัง บรรลุผลหรือยังของการปฏิบัติหมวดนี้ก็คือ เมื่อรู้สึกว่าสามารถที่จะ 1. รู้จักลักษณะอาการธรรมชาติของเวทนาทุกอย่างทุกชนิดชัดเจน จนเห็นชัดว่าเวทนานี้เป็นเพียงมายาเท่านั้น เป็นเพียงมายาไม่ใช่สิ่งจริงเลย มันเป็นเพียงมายา มันเกิดแล้วก็ดับ มันไม่เคยอยู่คงที่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรัก มันก็ไม่เคยอยู่ตลอดไป ความรู้สึกเกลียดก็ไม่อยู่ตลอดไป ความรู้สึกชอบก็ไม่อยู่ตลอดไป ความรู้สึกไม่ชอบก็ไม่อยู่ตลอดไป มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่เมื่อเวลามันเกิดขึ้น จิตที่กำลังขาดสติเพราะสติมาไม่ทันก็ไปยึดมันถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งเป็นเนื้อเป็นตัวเอาเป็นเอาตายกับมัน ทั้งได้และทั้งเสีย นี่ถ้าหนึ่ง สามารถมองเห็นความเป็นมายาของเวทนาจนกระทั่งไม่เป็นทาสของมันอีกต่อไปแล้ว และสอง ควบคุมเวทนาได้ ไม่ว่าเวทนาอะไรเกิดขึ้นควบคุมได้ ไม่ให้มันมาปรุงแต่งจิตได้
ในขณะที่หมวดที่ 1 ลมหายใจเป็นกายสังขารคือมันปรุงแต่งกาย หมวดที่ 2 ก็ต้องศึกษาจนเห็นว่า เวทนานี้เป็นจิตตสังขาร คือมันปรุงแต่งจิต มันปรุงแต่งจิตปรุงแต่งใจให้ขึ้นให้ลงให้ซัดส่ายไปมา ให้วุ่นวายระส่ำระสายไม่เป็นอันสงบได้เพราะเวทนานี้เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นก็ควบคุมเวทนาได้ ถ้าผู้ใดสามารถควบคุมเวทนาได้ ก็จะมองเห็นว่า นี่แหละเวทนาก็เป็นเพียงสิ่งสักว่าเป็นเช่นนั้นเอง ไม่เป็นทาสของเวทนาอีกต่อไป จิตก็จะค่อยสงบขึ้นตามลำดับ ก็นี่ก็เรียกว่าในหมวดที่ 2 คือ เวทนานุปัสสนาภาวนานั้น จิตเพิ่มปัญญาขึ้นมาแล้ว มีปัญญาเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย เพราะมองเห็นแล้วว่า เวทนาเป็นเพียงสักว่าเวทนา เพราะเห็นความเป็นอนิจจังของเวทนาที่มันเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่เพราะจิตเขลาจึงไปยึดว่ามันเป็นจริงจัง จิตก็เริ่มสงบยิ่งขึ้นนะคะ ท่านจึงบอกว่าเป็นสมาธิที่เจือปัญญาแล้ว แล้วเราก็ใช้จิตที่สงบเจือปัญญา ใสๆ อยู่ในระดับหนึ่งนี้