แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หมวดแรก หรือหมวดที่ 1 ก็แบ่งเป็น 4 ขั้น คือแต่ละหมวดแบ่งออกเป็น 4 ขั้น 4 หมวด หมวดละ 4 ขั้น ก็รวมเป็น 16 ขั้นด้วยกัน
หมวดที่ 1 ก็ว่าด้วยเรื่องของกาย คือต้องพิจารณาในเรื่องของกาย แต่ในการพิจารณาในเรื่องของกายตามแบบของอานาปานสติภาวนานั้น ข้อแรก ท่านให้ทำความเข้าใจว่า กายนี้มี 2 อย่าง ที่เรียกว่า กายนี้มี 2 อย่าง อย่างหนึ่ง ก็คือกายเนื้อ กายเนื้อก็คือรูปร่างที่เรามองเห็นจับต้องได้ เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นกระดูกอะไรนี่นะคะ เป็นกายเนื้อ อย่างที่สอง ก็คือกายลม กายลมก็คือลมหายใจ ลมหายใจนี้ท่านจัดว่าเป็นรูปธรรม คือว่าเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของกาย แม้จะมองไม่เห็นแต่รู้สึกได้ สัมผัสได้ ใช่ไหมคะ ท่านที่เป็นแพทย์ เป็นพยาบาล ทราบดี เราจะดูคนที่สิ้นลมหรือยัง เราก็เอามือ ไปรอ หรือเอาสำลีไปรอ ถ้ายังมีไหวอยู่ ก็แสดงว่ายังหายใจยังอยู่ ยังไม่ตาย นี่เป็นเครื่องแสดงว่าลมหายใจนั่นเป็นส่วนหนึ่งของกาย และเราก็จะใช้กายลมนี้ คือลมหายใจนี้เป็นเครื่องมือในการกำหนดจิตในขณะที่เราปฏิบัติจิตภาวนา
ทีนี้เมื่ออานาปานสติจะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดตลอดสาย คือตลอดสายของการปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนจบ หน้าที่ของผู้ปฎิบัติในหมวดที่ 1 จึงต้องศึกษาเรื่องของลมหายใจ ศึกษาเรื่องของลมหายใจอย่างละเอียดลออถี่ถ้วน นี่จำเป็นมาก เป็นการวางรากฐานของการฝึกปฏิบัติให้มีความมั่นคง ถ้าหากไม่ศึกษาเรื่องของลมหายใจให้ละเอียดถี่ถ้วน เราก็จะไม่มีเครื่องมือที่เรียกว่าใช้ได้ทันท่วงที หรือเรียกว่า practical มันจะไม่สามารถหยิบมาใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อต้องการ
เหมือนอย่างกับผู้ที่เป็นนายแพทย์ ผู้ที่เป็นเกษตรกร เป็นวิศวกร หรือจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ ที่จะต้องใช้เครื่องมือ ก็ต้องศึกษาเครื่องมือของตนให้ดี แม้แต่แม่ครัวพ่อครัวประกอบอาหารต้องรู้จักอุปกรณ์เครื่องมือในการประกอบอาหารทุกอย่าง อย่างดี รู้จักการใช้มีด รู้จักการใช้เขียง ใช้กระทะ ใช้ตะหลิว ใช้เตา ตลอดจนกระทั่งศิลปะของวิธีการที่จะผัด จะต้ม จะแกง จะหั่น ทุกอย่าง รู้จักว่าเมื่อไหร่ใส่อะไร ตอนไหนนี่จะต้องรู้ทั้งหมด ถึงจะเป็นแม่ครัวที่สามารถประกอบอาหารที่มีทั้งรส มีทั้งสี มีทั้งกลิ่น น่ารับประทานชวนเชิญ เมื่อลิ้มรสเข้าไปแล้วก็อร่อย เห็นไหมคะ การที่จะต้องรู้จักเครื่องมือของตนนี่จำเป็นมาก ถ้าแม่ครัวคนไหนเข้าไป จะทำผัดสักจานหนึ่ง พูดง่าย ๆ ทำข้าวผัดง่าย ๆ ชุลมุนหัวหมุนจนหัวจะทิ่มกระทะลงไป นั่นก็รู้ อ๋อ แม่ครัวหน้าใหม่ ถึงไม่รู้ว่าเครื่องมือที่ต้องใช้มันมีอะไรบ้าง ถ้าแม่ครัวที่ชำนาญ จะจับทุกอย่างวางอย่างเรียบร้อย หยิบถูกต้อง ช้า ๆ อย่างสบาย มองดูแล้วมันสบายตา มองดูมันละมุมละไมไปหมด นั่นเพราะความชำนาญ
ฉะนั้นที่ดิฉันขอเน้น ก็คือเน้นการปฏิบัติในหมวดที่ 1 ที่ผู้ปฎิบัติจะต้องทำความรู้จักกับเรื่องของลมหายใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนกระทั่งสามารถจะบอกได้ว่า ลมหายใจมีกี่อย่าง มีกี่ชนิด แต่ละอย่างมีลักษณะธรรมชาติอย่างไร และเมื่อลมหายใจแต่ละอย่างเกิดขึ้น คือมันหายใจอย่างนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ มันหมายถึงว่า มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยและจะมีผลกระทบต่อกายต่อจิตอย่างไร คือจะต้องรู้ไปจนกระทั่งถึงสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วลมหายใจนี้ท่านเรียกว่าเป็นกายสังขาร กายสังขารก็คือเครื่องปรุงแต่งกาย กายนี้จะสงบก็เพราะลมหายใจที่สงบ กายนี้จะวุ่นวายก็เพราะลมหายใจ กายนี้จะเหนื่อย หนัก ก็เพราะลมหายใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้จักลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดจนกระทั่งสามารถควบคุมลมหายใจนี้ให้สงบระงับได้ อยู่ในอำนาจของการฝีกปฏิบัติของเราได้ จะให้สงบเมื่อไหร่ สงบได้ ต้องการจะให้ใจอย่างไหน เมื่อใด เพื่อจะใช้มันให้เกิดประโยชน์ สามารถเรียกมาใช้ได้ทันที รวมความว่าในการปฏิบัติหมวดที่ 1 คือ หมวดของกายนี้ ผู้ปฎิบัติจะต้องฝึกปฏิบัติจนกระทั่งสามารถเป็นนายของลมหายใจได้ เรียกว่า ควบคุมไม่ให้ลมหายใจชนิดนี้เกิด ก็ควบคุมได้ ต้องการควบคุมลมหายใจอย่างนี้ให้เกิดตลอดเวลา เพราะมันปรุงแต่งกายให้สบาย และสะท้อนไปถึงจิต ทำให้จิตคอยสงบสบายไปด้วย ก็สามารถทำให้มันเกิดได้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นนายของลมหายใจ
ที่ดิฉันพูดย้ำมากก็เพราะปรากฏว่าผู้ฝึกปฏิบัติส่วนมากมีความเบื่อหน่าย ขี้เกียจ รำคาญ ไม่ค่อยจะอดทน ในการปฏิบัติหมวดที่ 1 เพราะว่าลมหายใจมันมองไม่เห็นอยู่แล้ว และเราก็หายใจอยู่ตลอดเวลา และยังจะต้องมาปฏิบัติรู้ลมหายใจ มันเบื่อหน่าย เดี๋ยวก็ตามเข้า เดี๋ยวก็ตามออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น แต่หมวดนี้ เป็นหมวดสำคัญ ถ้าหากผู้ใดผ่านการปฏิบัติหมวดนี้ไปได้ คือหมายความว่ามีความชำนาญ ช่ำชอง จนสามารถควบคุมลมหายใจได้ จะมีความสะดวกสบายในการปฏิบัติหมวดที่ 2 คือเวทนา หมวดที่ 3 จิต หมวดที่ 4 ธรรม ได้ง่าย ได้สะดวกมากเลย เพราะจะสามารถใช้ลมหายใจควบคุมจิตให้สงบระงับ และใช้พื้นจิตที่สงบพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ไปได้ลึกซึ้งตามลำดับ
อันที่จริงนั้น ลมหายใจ เรารู้มาตลอดเวลา ที่นี้บัดนี้ เราจะมาเรียนรู้การใช้ลมหายใจให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น มนุษย์ส่วนมากรู้ประโยชน์ของลมหายใจเพียงแต่ว่าลมหายใจนี้ทำให้มีชีวิตอยู่ ตราบใดที่ยังหายใจอยู่ ก็ยังเคลื่อนไหวได้ ยังไม่ตาย และมนุษย์เราก็ต้องการเพียงแค่นั้น ขอให้มีลมหายใจอยู่เถอะ เพราะฉะนั้นจึงกลัวนักเมื่อหมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจ เพราะกลัวว่าหัวใจจะหยุดทำงาน เดี๋ยวจะตาย แต่ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ แล้วก็ตายทั้งเป็น ไม่นึก ว่ามันร้ายกาจกว่าการตายจริง ๆ เพราะหยุดหายใจสักเพียงใด ไม่นึก
เพราะฉะนั้น ตรงนี้พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงทรงชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรารู้จักใช้ลมหายใจให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คุ้มค่าของลมหายใจแล้ว เราจะรู้ว่าลมหายใจนี้นอกจากมีประโยชน์ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ คือเคลื่อนไหวได้ กายนี้ยังดำรงอยู่ เคลื่อนไหวได้ เดินได้ ทำอะไรได้ ประโยชน์สูงสุดของลมหายใจอยู่ที่ว่า ถ้ามนุษย์รู้จักใช้ลมหายใจ ควบคุมลมหายใจได้ ลมหายใจยังจะนำความสุขสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตได้ด้วย นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปมองข้าม และไม่ได้เห็นประโยชน์ในข้อนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาศึกษาเรื่องอานาปานสติภาวนา ก็จะใช้ลมหายใจที่มีอยู่แล้วนี้แหละ พัฒนามัน ฝึกฝน อบรมจิตจิตให้รู้จักใช้มัน จนกระทั่งควบคุมมันได้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือทำ นอกจากทำให้ชีวิตนี้ยังดำรงอยู่เคลื่อนไหวได้ ก็ช่วยทำให้จิตนี้มีความสงบเยือกเย็นด้วย มันก็จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตทั้งภายนอกและภายใน ทีนี้ พอผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมลมหายใจได้ นี่จะสังเกตนะคะว่า ในการปฏิบัติหมวดที่ 1 คือเรื่องของกาย หรือเรียกให้เต็มว่า กายานุปัสสนาภาวนานี้ เราไม่ได้พูดถึงการพิจารณาว่า กายนี้เป็นปฏิกูล กายนี้เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย กายนี้มันอยู่ไม่ได้ เราไม่ได้พิจารณาในเรื่องปฏิกูลของกาย แต่เราจะฝึกปฏิบัติในเรื่องการทำความรู้จักกับลมหายใจ จนกระทั่งควบคุมมันได้เท่านั้น โปรดเข้าอันนี้นะคะ ว่านี้คือจุดมุ่งหมายของหมวดที่ 1 ทีนี้พอผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมลมหายใจได้ ก็หมายความว่า มีความสำเร็จในขั้นของสมถภาวนาแล้ว คือสามารถพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นในจิต จิตนี้จะสงบ นิ่ง ตั้งมั่น พร้อมด้วย สติ สมาธิ สติ คือความระลึกรู้อย่างถูกต้อง สมาธิ คือความตั้งมั่น สงบ เยือกเย็น จะให้ตั้งมั่นถึงขนาดไหนก็ได้ สามารถทำได้ในหมวดที่ 1