แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ในตอนต้นนี้ก็จะพูดให้ทราบในลักษณะของทฤษฎีว่า อานาปานสติภาวนา คืออะไร แล้วก็มีวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อประโยชน์อะไรนะคะ เพื่อที่จะให้ท่านทั้งหลายได้มีความเข้าใจทั้งหมด หรือว่ามองเห็นรูปโครงของอานาปานสติภาวนาว่ามีการปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างนี้นะคะ เพื่อความเข้าใจซะก่อนอย่างคร่าวๆ แล้วเราจึงจะพูดกันอย่างละเอียดทีละหมวดในขั้นตอนปฏิบัติต่อไป
ทำไมเราจึงเสนอแนะวิธีปฏิบัติจิตภาวนา คือการพัฒนาจิตให้เจริญด้วยวิธีของอานาปานสติ เพื่ออะไรนะคะ ก็อยากจะขออธิบายให้ทราบว่า เรื่องของอานาปานสติภาวนานี้เป็นวิธีการปฏิบัติภาวนาที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงใช้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระเยาว์อยู่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ในวันที่มีการพระราชพิธีแรกนาขวัญ คงจะได้เคยอ่านพุทธประวัติแล้วนะคะ แล้วท่านก็ประทับนั่งอยู่ที่ใต้ต้นไม้ ณ ขณะนั้นบรรยากาศล้อมรอบตัวสงบก็ทรงกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ คือกำหนดจิตโดยพระปรีชาสามารถโดยธรรมชาติของพระองค์เอง จิตนั้นก็สงบนิ่งจนกระทั่งถึงเรียกว่าอยู่ในขั้นของอัปปนาสมาธิ คือเป็นลักษณะของจิตที่สงบ นิ่ง ลึก อยู่ในความสงบขั้นละเอียดประณีต แล้วก็เมื่อเสด็จออกป่าเพื่อที่จะค้นหาสัจธรรมว่า ทำอย่างไรมนุษย์เราจึงจะพ้นจากความทุกข์ได้ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ก็ทรงใช้วิธีปฏิบัติด้วยระบบของอานาปานสติภาวนา คือการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดมาโดยตลอด
แต่ว่าส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินคำว่าสติปัฏฐาน หรือมหาสติปัฏฐานสูตร นั่นก็หมายถึงการที่จะพัฒนาจิต คือความหมายก็คือการจะพัฒนาจิตเพื่อให้จิตนั้นมีความมั่นคง หนักแน่น ฐาน ก็คือมีฐานที่ตั้ง เหมือนดังที่เราอธิบายมาแล้วนะคะ ที่พูดมาเมื่อเช้านี้ว่าเรามาฝึกปฏิบัติจิตภาวนา หรือสมาธิภาวนา หรือกรรมฐานเพื่ออะไร ก็เพื่อให้จิตมีความสงบ หนักแน่น มั่นคง เยือกเย็น ผ่องใส แล้วก็มีจิตที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ว่องไวเฉียบคมด้วยปัญญา ที่ประจักษ์แจ้งด้วยการวิปัสสนา ภาวนา คือประจักษ์แจ้งในสัจธรรมของธรรมชาติจนจิตว่างถึงที่สุด คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง ว่างจากการตกเป็นทาสของกิเลส หรือของปัญหา เรียกว่าเป็นจิตที่เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจของปัญหา อำนาจของความโลภโกรธหลง จากอำนาจของความยึดมั่นถือมั่น คืออุปาทาน โดยเฉพาะอุปาทานในความเป็นตัวเป็นตน นั่นจึงเป็นจิตว่างอย่างแท้จริง ซึ่งการที่จะพัฒนาจิตนี้ ก็จะต้องพัฒนาใน 4 ลักษณะ 4 ลักษณะนี้ ก็คือลักษณะที่เกี่ยวข้องอยู่กับชีวิต นั่นก็คือจะเริ่มด้วยเรื่องของกาย แล้วก็ต่อด้วยเรื่องของเวทนา ต่อไปด้วยเรื่องของจิต แล้วก็ต่อไปด้วยเรื่องของธรรมะ
สติปัฏฐานสูตรก็เริ่มด้วยการพิจารณากาย และก็เวทนา และก็จิต และก็ธรรม อานาปานสติก็เริ่มวิธีการพิจารณาด้วยเรื่องของหมวดกาย หมวดเวทนา หมวดจิต และหมวดธรรมเช่นเดียวกัน ทำไมท่านจึงกำหนดให้นำเรื่องของกายมาพิจารณาก่อน นั่นก็เพราะว่า กายเป็นสิ่งเห็นได้ จับต้องได้ รูปร่าง มองดูเห็นกับว่าเป็นตัวเป็นตน พูดง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องหยาบ เรื่องของกายนี่มันหยาบ เรื่องของเวทนา ของจิต ของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากไปเป็นตามลำดับ แต่เรื่องของกาย พอพูดถึงกาย มันมองเห็นได้ มันมีสิ่งที่เป็นวัตถุที่จะนำมาพิจารณามาดูได้ ฉะนั้นในสติปัฏฐานสูตร ท่านก็เริ่มต้นด้วยเรื่องของกาย ในอานาปานสติก็เริ่มด้วยเรื่องของกาย แล้วก็ต่อไปจึงพิจารณาเวทนาจิตธรรมไปตามลำดับ แต่ทว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็รับสั่งว่า ในการพิจารณานั้นต้องพิจารณาทุกขณะ ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก ไม่ว่าจะพิจารณาในเรื่องอะไร
ในสติปัฏฐานสูตร เมื่อพูดในเรื่องของกายก็พิจารณาอย่างละเอียด เน้นหนักไปในเรื่องความเป็นปฏิกูลของกาย ความแตกสลายของกาย ด้วยการให้ดูถึงแยกแยะการเป็นปฏิกูลของกายในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่เป็นศพ เป็นอสุภะ เป็นศพทั้งรูปร่าง และก็แตกออกไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย ละน้อย จนกระทั่งผลที่สุดมันแตกสลายมัน ไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งท่านที่สนใจจะไปหาอ่านได้ มหาสติปัฏฐานสูตร ก็ไปเปิดดูที่พระไตรปิฎกเล่มที่สิบ เล่มที่สิบนี่นะ ก็จะมีมหาสติปัฎฐานสูตรอยู่ในนั้น ก็ลองไปอ่านดู ท่านก็อธิบาย ที่จะให้พิจารณากายนี่ ทีละอย่าง ละอย่าง ละอย่างตามลำดับขั้นตอน ตั้งแต่เป็นรูปเป็นร่างจนกระทั่งผลที่สุดแตกสลายไม่เหลืออะไรเลย
แต่ในเรื่องของการพิจารณาเช่นนี้ ในสติปัฏฐานสูตรพูดถึงเรื่องของลมหายใจที่จะต้องใช้พิจารณาทุกขณะอยู่เพียงตอนต้น และก็พูดน้อยมาก เพียงแต่ว่าให้พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก ลมหายใจยาวลมหายใจสั้น ให้เห็นว่าลมหายใจปรุงแต่งกายเพียงเท่านั้น และจากนั้นท่านก็เน้นในเรื่องของการที่จะพิจารณากายในลักษณะที่เป็นปฏิกูลแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละอย่างไปจนแตกสลาย ไม่ได้หันมาพูดถึงเรื่องของพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออกอีก ทั้ง ๆ ที่ได้เน้นว่าการพิจารณาเช่นนี้จะสัมฤทธิ์ผล ต้องพิจารณาทุกขณะที่หายใจเข้าและออก
เพราะฉะนั้นท่านก็ได้ตรัสเอาไว้ในเรื่องของอานาปานสตินี้นะคะว่า การที่จะปฏิบัติในเรื่องของสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์นั้น ท่านกล่าวเอาไว้แก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายนะคะ เมื่อในที่ประชุมสงฆ์ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์ ก็คือหมายความว่าจะสามารถพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมได้อย่างบริบูรณ์สมบูรณ์ครบถ้วนจนประจักษ์แจ้งอย่างชัดเจน ก็ต้องทำด้วยวิธีอานาปานสติภาวนาอยู่ทุกขณะ แล้วก็จะประจักษ์ชัด แล้วท่านก็ได้ยังรับสั่งถึงพระองค์ท่านเองว่า ทรงได้รับประโยชน์จากอานาปนสติ ท่านบอกว่า ภิกษุทั้งหลายอานาปนสติอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ ย่อมมีอานิสงส์ใหญ่ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองเมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนการตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก วิหารธรรมก็คือหมายความว่าเป็นเครื่องอยู่ ธรรมะที่เป็นเครื่องอยู่ วิหารหมายความว่าเครื่องอยู่ ธรรมะที่เป็นเครื่องอยู่นี้ นี้ในที่นี้ท่านก็หมายถึงอานาปานสติ คือท่านทรงอยู่กับการพิจารณาธรรมทุกลมหายใจเข้าออก ภิกษุทั้งหลายเมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ภิกษุทั้งหลายเพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปราถนาว่า กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานดังนี้แล้วไซร้ อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เห็นเป็นอย่างดี
อันนี้ท่านก็หมายถึงว่า การปฏิบัติอานาปานสตินี้จะไม่ได้ทำให้กายลำบาก เหมือนกรรมฐานอย่างอื่น เช่นไม่มีความรบกวนทางตา ก็ไม่ต้องใช้สายตาเพ่งเหมือนอย่างการเพ่งกสิณเป็นต้น และยังสามารถทำจิตให้หลุดพ้นอีกด้วย และท่านก็ยังได้อธิบายถึงเรื่องของประโยชน์ที่ท่านทรงได้รับจากอานาปานสติอีกหลายข้อ ซึ่งท่านผู้ใดสนใจก็ไปเปิดดูได้ที่พระไตรปิฏกเล่มที่ 14 เล่มที่ 14 นะคะ จะมีเรื่องของอานาปานสติอยู่ในนั้น ซึ่งเราไม่มีเวลาที่จะพูดรายละเอียดในเรื่องนั้น นอกจากว่าจะต้องพูดในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติโดยตรง
ฉะนั้นก็อยากจะเริ่มต้นว่าทำไมจึงต้องเจริญอานาปานสติภาวนา อานาปานสติก็คือหมายถึงการพัฒนาสติให้เกิดขึ้นทุกขณะด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด หรือใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ก็คือเป็นเครื่องกำหนด แทนที่จะไปใช้อย่างอื่นเป็นเครื่องมือ เช่น ใช้แผ่นกสิณนำมาเพ่ง ใช้เปลวเทียน ใช้ซากศพที่เรียกว่าพิจารณาอสุภะ หรือว่าใช้คำบริกรรมต่าง ๆ มาเป็นเครื่องกำกับจิต ในที่นี้ในวิธีของอานาปานสติ ก็ใช้แต่ลมหายใจอย่างเดียวเป็นเครื่องกำหนด
ท่านบอกว่าที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนี้ เพราะมันสะดวก มันง่าย คือที่เรามาพิจารณาดู มันสะดวก มันง่าย และมันก็สามารถปฏิบัติได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นั่งรถ ลงเรือ อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในที่บ้าน จะเดิน ยืน นั่ง นอน หรือเป็นการปฏิบัติจิตภาวนาประเภทที่สงบและประณีต ถ้าลมหายใจมันไม่ตูมตามใช่ไหมคะ และมันก็มีอะไรที่จะทำให้ตกอกตกใจ อย่างถ้าใช้อสุกรรมฐานก็จะต้องไปที่ป่าช้า หรือไม่เช่นนั้นต้องพยายามสอดส่ายดูว่ามีอุบัติเหตุร้ายแรงกันที่ไหนบ้าง และจะไปยืนเพ่งพิจารณากรรมฐานที่อสุภะนั้นมันก็ไม่สะดวก มันก็ต้องใช้เวลา ต้องหาสถานที่ ต้องจัดอุปกรณ์ และก็คนที่จิตไม่แข็งจริง คนที่กลัวผีว่าง่าย ๆ ก็ไม่สามารถที่จะใช้ได้
แต่อานาปานสตินี้จะใช้ได้แก่ทุกคน เป็นกรรมฐานประเภทที่สงบและประณีต ทั้งโดยอารมณ์ คืออารมณ์นี่จะไม่มีการกระตุ้น เคลื่อนไหว สั่นสะเทือนง่าย ตกใจง่าย หรือเกิดความกลัว ไม่มี ทั้งโดยการกำจัดกิเลส จนกระทั่งถึงการกำจัดกิเลส อาสวะทั้งปวงที่มีอยู่ในจิต ก็สามารถทำได้ ตั้งแต่การสร้างความสงบให้เกิดขึ้น ไปจนกระทั่งถึงการพัฒนาปัญญาด้วยวิปัสนาภาวนา เรียกว่าเป็นอารมณ์ของกรรมฐานที่เยือกเย็นสบาย ทำได้สบาย นั่งหายใจ หลับตา หรือ ลืมตา ถ้ารู้จักกำหนดลมหายใจ ควบคุมลมหายใจ จะทำให้มันสบายสักแค่ไหน ก็สามารถทำได้ ไม่น่าหวาดเสียว ไม่น่าขยะแขยง ไม่ลำบากแก่การกระทำ และยังสามารถกำจัดกิเลสได้จนถึงที่สุดอีกด้วย พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าต้องการความสุขสงบธรรมดา ก็ได้รับตามต้องการ ถ้าต้องการประโยชน์สูงสุดจนบรรลุถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ก็สามารถใช้อานาปานสติภาวนานี้เป็นวิธีการปฏิบัติได้จนถึงที่สุด
การเจริญอานาปานสติภาวนาท่านบอกว่า เป็นการเจริญสติที่สามารถทำได้ติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง ไม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ ตั้งแต่ต้นจนปลาย ไม่ต้องเปลี่ยนเลย ใช้เครื่องมืออันนี้อย่างเดียว คือสามารถเจริญเพื่อให้สติ เพื่อให้เกิดสมาธิในระยะแรก คือสมถภาวนาในระยะแรก และเสร็จแล้วก็จะเป็นสมาธิความสงบที่เจือด้วยปัญญา คือจะมีปัญญาค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย เมื่อพิจารณาไปถึงในหมวดที่สอง คือหมวดเวทนา และจะค่อยๆ เพิ่มปัญญาขึ้น จนกระทั่งมีปัญญาข้างในสูงสุด ที่สามารถทำให้สิ้นอาสวะได้ในระยะสุดท้าย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าเป็นวิธีการภาวนาที่อบรมจิตให้เกิดความเป็นอิสระในการภาวนา ที่ว่าความเป็นอิสระก็คือว่า ไม่ต้องติดกับอะไร ไม่ต้องไปติดยึดกับอะไร ไม่ต้องติดยึดกับคำบริกรรม ไม่ต้องติดยึดกับวัตถุที่จะมาใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะพัฒนาจิต หรือปฏิบัติธรรม เพราะลมหายใจ คือสิ่งที่มนุษย์หายใจอยู่แล้ว แต่เพียงแต่รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ให้มากขึ้นอีกหน่อยนึง มันจึงเป็นอิสระอย่างยิ่งไม่ติดยึดกับอะไรทั้งนั้น
นอกจากนี้ เป็นวิธีการภาวนาที่อำนวยโอกาสให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ทุกขณะดังกล่าวแล้ว ตลอดเวลา ไม่มีการที่จะมาแก้ตัวว่า ไม่สามารถมาปฏิบัติธรรมได้ กลับไปบ้านนี่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องทำงานมีภารกิจรับผิดชอบหลายอย่าง แก้ตัวไม่ได้ ตราบใดที่ยังหายใจอยู่ สามารถปฏิบัติธรรมได้อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นความสะดวกของอานาปานสตินะคะ
อานาปานสติก็แปลว่า สติกำหนดอยู่ที่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งทุกลมหายใจเข้าออก คือกำหนดจิตอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทุกลมหายใจเข้าออก แต่ในการปฏิบัติของอานาปานสติภาวนา เราก็จะกำหนดจิตให้อยู่กับสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ในการภาวนา ซึ่งเราจะพูดต่อไป อันที่จริงนะคะ มนุษย์เรานี้ก็มีจิตกำหนดอยู่กับอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วในชีวิตของเรานี้ แต่เพียงแต่กำหนดไม่ถูก คือไปกำหนดอยู่กับสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง หดหู่ เหี่ยวแห้ง หรือว่าจิตใจเป็นทุกข์ เช่นไปกำหนดอยู่ที่ความไม่ถูกใจ ความเกลียด ความโกรธ ความไม่ชอบ หรือไปกำหนดอยู่กับหน้าคนไหนที่ไม่ชอบ พอลืมตาตื่นขึ้นหน้านี้ก็มาลอยอยู่แล้ว พอทำงานทำการ หน้านี้ก็มาลอยอยู่แล้ว ที่แรกก็นึกไม่ชอบก็นิด ๆ หน่อย ๆ แต่มันลอยซ้ำเข้า ๆ ความรู้สึกไม่ชอบมันก็ทวีมากขึ้น ๆ จนเป็นความเกลียด เกลียดอย่างธรรมดา เกลียดอย่างรุนแรง จนถึงขั้นต้องทำลายกันเสีย เพราะฉะนั้นมนุษย์ธรรมดานี่ก็มีการกำหนดอยู่แล้ว แต่เผอิญกำหนดผิดที่ ผิดทิศ ผิดทาง คือไปกำหนดเป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อเรามาศึกษาอานาปานสติภาวนาเพื่อที่จะกำหนดให้ถูกต้องโดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนะคะ ซึ่งก็แบ่งออกได้เป็น 4 หมวด