แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่เราจะพูดกันถึง “อานาปานสติภาวนา” ก็อยากจะขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำที่เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรม เพื่อความเข้าใจให้ตรงกันนะคะ
คำที่เรามักจะใช้เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรม ก็มีอยู่ 3 คำด้วยกัน คือเรียกต่าง ๆ กันนะคะ 3 คำด้วยกัน มีคำว่า สมาธิภาวนา กรรมฐาน แล้วก็จิตตภาวนา เหมือนอย่างเมื่อเวลาออกจากบ้านจะมาที่นี่ก็อาจจะมีผู้ถามว่าไปไหน ไปทำอะไร ถ้าเป็นคำกลางที่สุดก็คือมาปฏิบัติธรรม ทีนี้มาปฏิบัติธรรม มาทำอะไร บางท่านก็จะบอกว่า ไปทำสมาธิภาวนา บางท่านก็บอกว่า ไปทำกรรมฐาน บางท่านก็บอกว่าไปทำจิตตภาวนา ก็อยากจะชี้แจงคำทั้ง 3 นี้ว่า มันมีความเหมือนกัน หรือว่ามันต่างกันนะคะ
สมาธิภาวนา ก่อนอื่นขอพูดคำว่าสมาธิก่อน อย่างมาปฏิบัติธรรม ก็คือมาทำสมาธิ มาทำอะไรในการมาทำสมาธิ ก็คือมากำหนดใจ มาฝึกอบรมใจ ที่มันวิ่ง ที่มันสับสน วุ่นวายอยู่ด้วยความคิดต่าง ๆ ความรู้สึกต่าง ๆ ความจำได้หมายมั่นต่าง ๆ ทั้งอดีตที่ผ่านมาแล้ว ความกังวลถึงอนาคต เป็นต้นนะคะ จิต เมื่อจิตมันวุ่นวาย มันก็ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความหนักแน่น บางท่านที่สำนึกในความสำคัญของเรื่องนี้ ก็จะมาหาวิธีที่จะทำอย่างไร ถึงจะทำให้ใจที่มันวุ่นวายระส่ำระสายนั้น มันนิ่ง มันหยุด แล้วก็มีความมั่นคงหนักแน่น ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ถ้าหากว่าจิตวุ่นวายระส่ำระสายอยู่เรื่อย มันก็ไม่มีกำลัง มันเป็นจิตที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหนื่อย ทำอะไรไม่ได้นาน ไม่ใช่เหนื่อยกาย แต่มันเหนื่อยใจ และมันเหนื่อยซะยิ่งกว่าเหนื่อยกาย ฉะนั้น ก็มองเห็นว่า การทำสมาธิคงจะช่วยที่จะดึงจิตที่วุ่นวายอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วให้มันหยุดนิ่งลง นี่ก็คือ ความหมายของการทำสมาธิ ก็เพื่อมาให้จิตตั้งมั่น มีความหนักแน่นมั่นคง ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ของความคิดความรู้สึกต่าง ๆ นะคะ ทีนี้สมาธิภาวนา คืออะไร ภาวนา ก็คือการทำให้เจริญ ทำให้ความตั้งมั่น แน่วแน่ในใจนั้นมีความก้าวหน้า ไม่หยุดยั้งอยู่แต่เพียงเบื้องต้น
สมาธิภาวนา ก็หมายถึงการฝึกอบรมใจ ให้สงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยความคิด ด้วยความรู้สึก ด้วยอารมณ์ต่าง ๆ จนจิตนั้นมีความนิ่ง คือนิ่ง ไม่หวั่นไหวด้วยสิ่งที่มากระทบง่าย ๆ แล้วก็มีความตั้งมั่น มีความหนักแน่น มีความสงบ มีความเยือกเย็นผ่องใส มันเยือกเย็นผ่องใสอยู่ในใจ เพราะใจนั้นไม่มีอะไรมารบกวน ไม่มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ ไม่มีความรู้สึกชิงชัง ไม่มีความรู้สึกนิยมยินดีตื่นเต้น แล้วก็ไม่มีความรู้สึกอยากได้นู้นได้นี่ หรือคิดโกรธคิดเกลียด คิดวนเวียนอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่หมายความถึงว่า มันสงบ แล้วมันก็เยือกเย็น แล้วมันก็ผ่องใส เหมือนกับในวันที่ท้องฟ้าอากาศดี ฝนก็ไม่ตก พระอาทิตย์ก็ไม่ฉายแสงแรง มันมีแสงสว่างแต่ในแสงสว่างนั้นมีความเย็น มีความสบาย นี่เปรียบกับภายนอกนะคะ ภายในก็มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่มันดียิ่งกว่า แม้ข้างนอกจะร้อนเพียงใด ฝนจะตกเปียกแฉะ หรืออากาศจะหนาวจนกระทั่งกายสั่นสะท้าน แต่ใจไม่สั่นเลย ใจมันนิ่ง มันสงบ มันเยือกเย็น มันผ่องใส เพราะมันได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนา จนกระทั่งมันชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงของสิ่งข้างนอกที่เกิดขึ้น เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ทีนี้การปฏิบัติสมาธิภาวนาก็ต้องเริ่มต้นด้วยการทำ สมถภาวนา สอ-เสือ-มอ-ม้า-ถอ-ถุง สมถภาวนา สมถภาวนาก็หมายความว่า การฝึกอบรมจิตจิตให้สงบ อยู่กับความสงบเฉย ๆ สงบเฉย ๆ ก่อน ยังไม่ต้องไปใคร่ครวญในธรรม ยังไม่ต้องศึกษาอนิจจังทุกขัง อนัตตาอะไรทั้งนั้น เอาแต่จิต คือกำหนดจิตที่ซัดส่ายวุ่นวายให้สงบ ให้นิ่งซะก่อน เอาให้มันนิ่ง ให้มันเฉย ให้มันมั่นคง ให้มันหนักแน่น วิธีที่จะฝึกอบรมจิตให้สงบ ก็ด้วยการกำหนดจิต คือกำหนดสติ กำหนดความรู้สึก ให้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือเอาจิตผูกไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่พูดตามสมมุติ หรือว่าอุปมานะคะ ผูกมันไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนจิตตั้งมั่น สงบ แน่วแน่ เหมือนอย่างที่บางทีบางท่านก็ใช้วิธีที่เรียกว่าเพ่งกสิณ มีแผ่นสี่เหลี่ยมมาแผ่นหนึ่ง แล้วก็เขียนเป็นวงกลม แล้วก็ทำสีแดง แล้วใจก็จ้อง จิตก็จดจ่อเพ่งดูอยู่ที่แผ่นกสิณนั้น นี่เขาเรียกว่าเอาจิตจดจ่ออยู่ที่นั่น หรือง่าย ๆ อาจจะจุดเทียนขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง แล้วจิตก็เพ่งจดจ่ออยู่ที่เปลวเทียน ที่แสงเทียน พอจิตมันจะว่อกแว่กออกไปก็ดึงมัน ให้มาจดจ่ออยู่ที่นั่น หรือมองดูดอกบัว นั่งอยู่ที่ตรงริมขอบสระบัว กำหนดเอาดอกบัวสักดอกหนึ่ง จะเป็นดอกบัวตูม บาน หรือกำลังจะเน่าร่วงก็ตาม กำหนดจิตเพ่งอยู่ที่ดอกบัวดอกนั้นแต่ดอกเดียว นี่คือ คำอธิบายที่บอกว่า กำหนดจิต จดจ่อ แน่วแน่ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะนานเท่าไหร่ ก็สุดแล้วแต่ว่าจะสามารถทำให้จิตสงบได้หรือยัง เพราะฉะนั้นก็กำหนดจดจ่ออยู่อย่างนั้น จนจิตสงบ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดเข้ามารบกวนได้ และความสงบนั้นก็มากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น จนรู้สึกตั้งมั่น ตั้งมั่นเหมือนกับเสาคอนกรีตได้ก็ยิ่งดีนะคะ นี่ก็เป็นการทำสมาธิภาวนาที่บอกว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความสงบเสียก่อน คือทำให้ใจสงบเสียก่อน แหละใจที่สงบนี้เราเรียกว่า เป็นการปฏิบัติที่ชื่อว่า “สมถภาวนา” ทีนี้พอจิตสงบแล้ว สงบนิ่ง มีอารมณ์สงบนิ่งแล้ว ก็ต้องต่อด้วยการใช้จิตที่สงบนิ่งนั้นฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจตามสัจธรรม หรือตามที่เป็นจริง ด้วยวิปัสสนาภาวนา
วิปัสสนาก็แปลว่า ทำให้แจ้ง คำว่าวิปัสสนาภาวนาหมายความว่า ทำให้แจ้ง สมถภาวนา ทำให้สงบ ทีนี้พอสงบแล้วก็ใช้พื้นจิตที่สงบนั้นฝึกอบรมปัญญา ด้วยการใคร่ครวญธรรม เช่น เรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนจิตมันค่อย ๆ สัมผัสกับความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น ยิ่งชัดเท่าใด ก็หมายความว่า ปัญญาภายในกำลังเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อย ละน้อย ละน้อย แล้วก็ใคร่ครวญไปเรื่อยไม่หยุดยั้ง วันหนึ่งก็จะเห็นจนถึงที่สุดตามที่เป็นจริง ตามที่เป็นจริงของอะไร ตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่ตามที่เป็นจริงตามใจของเรานะคะ หรือตามใจของใคร ไม่ใช่ แต่ตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ ถ้าเราจะใช้คำภาษาอังกฤษเราก็จะบอกว่า As it be, as it be ไม่ใช่ As it is ถ้า As it is นั่นหมายความว่าเราคิด เราคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น หรือว่าเขาคิด หรือว่าท่านคิด ที่คิดว่าเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้นตามทิฐิของคนนั้น เราพูดกันเรื่องทิฐิเมื่อวานนี้แล้วนะคะ ตามทิฐิของคนนั้น แต่ถ้าหากว่าตามความเป็นจริงเนี่ย As it be มันจะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ มันจะไม่เปลี่ยนเป็นอื่น นั่นก็คือความไม่เที่ยง ความตั้งอยู่ไม่ได้ ความทนอยู่ไม่ได้ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่มันเป็นธรรมชาติ ที่ธรรมชาติบอกว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดกับฝรั่งเราจะบอกว่า As is be การที่เราจะดูว่าวิปัสสนาเพื่อจะใคร่ครวญทำอย่างไร ต้องดูจนเห็นว่า As is be not as it is เพราะว่าจาก Verb to be มันกระจายได้เป็น I แล้วก็ Am, You are, We are, They are, He is, She is มันออกไปได้ตั้งหลายอย่างหลายกระแส แต่ถ้า As is be นี่คือหมายถึงราก รากเหง้า หรือว่าความเป็นจริงตามธรรมชาติ มันจะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น อันนี้ก็เรียกว่า เราทำสติ เราทำสมาธิภาวนา ด้วยการที่กำหนดจิตให้สงบ เพื่อประโยชน์ที่จะทำวิปัสสนาภาวนา คือฝึกอบรมปัญญาให้เกิดขึ้นต่อไป ไม่หยุดเพียงแค่นั้นนะคะ ถ้าหากว่าผู้ใดฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วก็หยุดแค่ความสงบ ท่านก็บอกว่า เหมือนกับการปฏิบัติในลักษณะ หินทับหญ้า เคยได้ยินแล้วใช่ไหมคะ เมื่อเราเอาก้อนหิน แผ่นหิน ไปวางที่หญ้าตรงใดตรงหนึ่ง หญ้าตรงนั้นก็ไม่มีโอกาสจะงอกงาม แต่มันไม่ได้ตายนะคะ มันก็ยังอยู่ใต้แผ่นหินนั่นแหละ แต่ว่า มองดูเหมือนกับว่ามันไม่งอก นั่นก็คือถ้าหากว่ากำหนดจิตให้สงบอยู่ด้วยเพียงความสงบ เพราะว่าเพ่งจิตกำหนดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันก็สงบเพราะควบคุมบังคับมันไว้ เหมือนกับเด็กดื้อ เกเร แล้วผู้ใหญ่ก็สั่งว่า นั่งอยู่ตรงนี้นะ ลุกไม่ได้ ถ้าลุกเมื่อไหร่จะตี มีไม้เรียวกำกับอยู่ เด็กก็กลัว กลัวไม้เรียวอันนั้น แต่ในใจดิ้นรน ไม่ได้นึกว่าจะยอมเชื่อฟัง พอผู้ใหญ่ไป ไม้เรียวหักหายไปก็ลุกขึ้นกระโดดโลดเต้นใหม่ นี่คือก็หมายถึงลักษณะของการทำสมาธิภาวนา ด้วยการกำหนดจิตให้อยู่เพียงความสงบ มันก็แค่นั้นเอง แต่เมื่อยกแผ่นหินนั้นออกเมื่อใด หญ้ามันก็งอกขึ้นมาอีก คือความดิ้นรนกระวนกระวายของจิตที่ซัดส่ายด้วยความคิดความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ มันก็เป็นไปอย่างเดิม เคยโกรธ เคยโลภ เคยหลง อย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เคยชอบ เคยเกลียด เคยไม่ถูกใจอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น พอมีอะไรมากระทบเข้า ก็วิ่งวุ่นไปกับมันอีก เพราะฉะนั้น เพียงแค่สมถภาวนา หรือเพียงแค่การทำความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิต ยังไม่ใช่การปฏิบัติที่ถึงที่สุด โปรดจำด้วยนะคะ โปรดเข้าใจด้วย ยังไม่ใช่การปฏิบัติถึงที่สุด แล้วก็ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสมาธิภาวนา เราจะต้องต่อด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา คือฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตามที่เป็นจริง คือตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ นี่ก็คือความหมายของสมาธิภาวนา
ทีนี้ กรรมฐาน คำที่ 2 กรรมฐาน ก็หมายความว่า กรรม ก็คือการกระทำ ฐาน ก็คือ ที่ตั้ง ฉะนั้นกรรมฐานก็คือการฝึกอบรมใจ ให้เป็นที่ตั้งแห่งการงาน การฝึกอบรบใจให้เป็นที่ตั้งแห่งการงาน แห่งการงานอะไร ก็คือการงานทางจิต ให้จิตมันรู้จักสงบ เพราะรู้แล้วว่าความดิ้นรนระส่ำระสายวุ่นวาย ไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเลย มันทำให้ชีวิตนี้เหน็ดเหนื่อย อ่อนเปลี้ย เสียพลัง แล้วยังสูญเสียพลังในการทำงาน งานทางโลกก็เสีย ทำไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นจึงมาฝึกอบรมใจ ให้เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ซึ่งใจที่จะเป็นที่ตั้งแห่งการงานได้ ก็คือใจที่สงบ ที่ตั้งมั่น ที่นิ่ง แล้วก็มีความเยือกเย็นผ่องใส เพราะเป็นใจที่มีกำลัง ก็มาทำให้มันสงบก่อน ด้วยวิธีไหน ก็ด้วยวิธีสมถกรรมฐาน ซึ่งแปลว่าอุบายสงบใจ ก็คือการทำความสงบใจ เพียงแต่เปลี่ยนคำพูดซะหน่อย สมถกรรมฐาน ก็มีความหมายเช่นเดียวกับสมถภาวนาที่พูดไปแล้วเมื่อกี้นี้ เพียงแต่เขาเปลี่ยนชื่อเรียก แต่ความหมายนั้นเหมือนกัน คืออุบายของการทำใจให้สงบ ด้วยการเอาจิตเพ่งจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนจิตที่สับสนซัดส่าย นิ่ง แล้วก็อยู่ด้วยความสงบ เยือกเย็น ผ่องใส ก็เรียกว่า ต้องเริ่มต้นด้วยสมถกรรมฐาน คือการทำใจให้สงบเหมือนกัน พอใจสงบแล้วก็ต่อด้วยวิปัสสนากรรมฐาน นั่นก็คืออุบายเรืองปัญญา คือใช้จิตที่สงบนั้นพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น และปัญญาในที่นี้ก็หมายถึงปัญญาข้างใน ปัญญาภายใน อย่างปัญญาภายนอก คือมันสมองที่เรามีไอคิวสูง ไอคิวต่ำ นั่นหมายถึง Intelligent แต่ปัญญาภายใน ในที่นี้หมายถึง Wisdom เราพัฒนา Wisdom คือปัญญาข้างในให้เกิดขึ้นทีละน้อย ละน้อย ละน้อย จนวันหนึ่งมันเป็น Intuitive wisdom คือเป็นปัญญาที่เป็นญาณ ญ หญิง สระ อา ณ คุณ เป็นญาณ ญาณทัศนะ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นวิปัสสนากรรมฐานก็คืออุบายเรืองปัญญา ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียก
ทีนี้คำที่ 3 คือคำว่าจิตตภาวนา คำนี้เป็นคำที่อาจจะเรียกว่าใช้กัน ใช้กันไม่นานเกินไปนัก คำว่าสมาธิภาวนา หรือคำว่ากรรมฐาน เป็นคำที่ผู้ปฏิบัติธรรมคุ้นเคยมานาน และพอต่อมาเดี๋ยวนี้มักจะหันมาใช้คำว่าจิตตภาวนา คือมันก็มีมาอยู่นานแต่ว่าเพิ่งมาพูดกันหรือว่าเรียกใช้กันในระยะไม่นานนักนี้บ่อยจิตตภาวนา เพราะความหมายของมันตรงตัว ก็คือการฝึกอบรมจิตให้เจริญ จิตตภาวนา ก็คือการฝึกอบรมจิตให้เจริญ ตรงตัวทีเดียว ด้วยวิธีของสมถภาวนาแล้วก็วิปัสสนาภาวนาเช่นเดียวกัน พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าจะมาอบรมจิตให้เจริญก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกจิตให้มันสงบ นิ่ง มั่นคง เยือกเย็น ผ่องใส แล้วก็พัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยการใคร่ครวญธรรม ด้วยวิปัสสนาภาวนาต่อไป ฉะนั้น ผู้ใดจะเรียกว่า สมาธิภาวนา หรือกรรมฐาน หรือจิตตภาวนา ก็ขอได้โปรดเข้าใจว่าความหมายเหมือนกัน คือมาปฏิบัติธรรมด้วยการเริ่มต้นที่ทำใจให้สงบ พอพื้นจิตสงบ ละเอียด ประณีต มั่นคง ก็ใช้พื้นจิตสงบนี้ใคร่ครวญธรรมต่อไป จนกระทั่งเกิดปัญญามองเห็นทุกอย่างตามที่เป็นจริง
ฉะนั้น กล่าวโดยสรุป การปฏิบัติธรรมที่สมบูรณ์ คือได้ผลเต็มที่ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำชี้แจงไว้นั้น จะต้องประกอบไปด้วยการปฏิบัติธรรมที่พร้อมทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ที่เราจะได้ยินบางแห่งบอกว่า ที่นี่สอนวิปัสสนาไม่สอนหรอกสมถะ เป็นไปไม่ได้ เพราะก่อนที่จะไปใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งใด ต้องให้จิตสงบเสียก่อนใช่ไหมคะ เหมือนอย่างคุณครูอาจารย์ทั้งหลายเนี่ย เวลาจะสอนลูกศิษย์ ถ้าลูกศิษย์วุ่นวาย ซุกซน เดินไปเดินมา คุยกัน ไม่ยอมนั่งฟังครู ครูสอนไม่ได้ ต่อให้ครูมีความรู้เท่าไหร่ก็สอนไม่ได้ ครูก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เด็กสงบเสียก่อน สงบนิ่ง มีวินัยพร้อมที่จะรับฟัง เช่นเดียวกันกับเรื่องของจิต ถ้าต้องการจะใช้จิตใคร่ครวญธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา ก็ต้องทำจิตที่วุ่นวายนิ่งไม่ได้ ให้มันนิ่งซะก่อน ด้วยอุบายของสมถภาวนา คือกำหนดจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกระทั่งจิตสงบ หยุดดิ้น ทีแรกมันจะดิ้นนะคะ มันดิ้นมากเลย แต่เสร็จแล้วมันก็จะหยุดดิ้น มันจะนิ่งเฉย เพราะมันดิ้นซะจนเหนื่อยมันก็ไม่หลุด เพราะฉะนั้น มันก็เกิดกำลัง กำลังที่จะอยู่กับความสงบต่อไป