แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอนนี้ก็จะใช้จิตนี้เพื่อที่จะพิจารณาจิตคือดูจิตในหมวดที่ 3 ศึกษาเรื่องของจิตในหมวดที่ 3 ที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนาภาวนาต่อไป การที่จะศึกษาเรื่องของจิตก็เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ที่มาปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิต พัฒนาจิตที่วุ่นวาย จิตที่ยังไม่เชื่อง ที่ยังเป็นจิตป่าเถื่อนให้เป็นจิตที่มีความเจริญคือสงบ เยือกเย็น ผ่องใส พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นตามวิธีการวิชาครูก็ต้องรู้ว่า เราต้องรู้จักเสียก่อน เหมือนเราจะสอนเด็กคนไหน ต้องรู้จักพื้นความรู้เดิม รู้จักจุดอ่อน จุดแข็ง ข้อบกพร่องของเขา มีอะไรจะต้องแก้ไข เราก็ต้องแก้ไข แล้วจึงจะใส่สิ่งที่เขาต้องการ ที่เกิดประโยชน์ต่อไป
ฉะนั้นสิ่งแรกที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำในหมวดจิตตานุปัสสนาภาวนาก็คือศึกษาเรื่องของจิต เรื่องของจิตก็คือเรื่องธรรมชาติของจิต ลักษณะธรรมชาติ พื้นนิสัยของจิต หรือพื้นธรรมชาติของจิตนี้ว่าเป็นจิตที่เป็นอย่างไร เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่สะอาด เป็นจิตที่สงบ เป็นจิตที่เยือกเย็น หรือยังเป็นจิตที่ดุร้าย ป่าเถื่อน พยศ เกะกะ เกเร เพราะมันจะเอาแต่ใจ เอาแต่ใจตามตัณหา เอาแต่ใจตามความโลภ ความโกรธ ความหลง เอาแต่ใจตามความยึดมั่น ตามทิฐิของตน ดูมันจริงๆ จังๆ เชียว ตอนนี้จิตมันใสสะอาด มันมีปัญญาพอสมควร มันก็มีความเป็นกลางคืออคติมันลดลง ก็จะจดจ่อดูเข้าไป ดูอะไร จิตนั้นมันไม่มีตัวมีตน ก็ดูความรู้สึกนั่นแหละค่ะ ก็ต่อเนื่อง เมื่อมีความชำนาญในหมวดเวทนาเราก็จะรู้วิธีดูจิตนี่ ก็คือดูอาการของความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจ อาการของความรู้สึกนี้เป็นดัชนีชี้ให้เห็นถึงพื้นธรรมชาติของจิต ว่าเป็นพื้นธรรมชาติของจิตที่ยังหยาบ ยังขรุขระ ยังใช้ไม่ได้ เพราะยังมีแต่ความเอาแต่ใจตัว ยังเห็นแก่ตัว หรือเป็นจิตที่เบาบางแล้วจากความเห็นแก่ตัว เป็นจิตที่มีความเผื่อแผ่ แบ่งปันเห็นแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสแสร้งทำในวงการสมาคม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่มันออกมาจากใจจริง
ฉะนั้น ขั้นแรกทีเดียวก็คือศึกษาเรื่องธรรมชาติลักษณะธรรมชาติของจิตจนเห็นชัดเจน รู้จักแล้ว จุดดีก็เห็น จุดไม่ดีก็เห็น จุดอ่อนก็เห็น จุดแข็งก็เห็น จุดบกพร่องก็เห็น เห็นหมดชัดเจนด้วยความเป็นกลาง ด้วยสายตาที่ซื่อสัตย์ คือด้วยจิตที่ซื่อสัตย์ต่อจิตเอง ทีนี้พอรู้จักดีแล้ว การปฏิบัติในหมวดนี้ต่อไปก็คือจะทดสอบว่า จากที่เราปฏิบัติมาแล้วในหมวดที่ 1 (4 ขั้น) หมวดที่ 2 (4 ขั้น) หมวดที่ 3 คือหมวดจิตก็ขั้นที่ 1 ผ่านพ้นไปแล้ว ก็เรียกว่า 9 ขั้น เราก็ได้ปฏิบัติมาแล้ว 9 ขั้น ก็มีความชำนาญพอสมควร ฉะนั้นจะลองทดลองดูสิว่า จิตที่ได้ฝึกอบรมพัฒนามาแล้ว 9 ขั้นนี่นะคะ มันมีกำลังสักแค่ไหน คือกำลังพลังในจิตที่จะควบคุมจิตให้อยู่ในความถูกต้อง ให้อยู่ในความสงบนี่ มันมีกำลังในการควบคุมแค่ไหนก็จะเป็นการทดสอบ ทดสอบกำลังของจิต
อันแรกก็ทดสอบว่า เอ้า! เป็นจิตที่บันเทิงปราโมทย์ คืออยู่ดีๆ นี่จะบังคับจิตด้วยจิตนะคะ ไม่ใช่บอกด้วยปาก ปฏิบัติไปแล้วจะรู้เอง จิตในจิตนี่มันจะบอกเองให้มันบันเทิงปราโมทย์ ให้มันลิงโลด เหมือนอย่างกับเราฝึกเด็ก ฝึกระเบียบวินัยเด็กพร้อมทั้งสอนอะไรไปด้วย แล้วเราจะทดสอบสิว่าเด็กคนนี้อยู่ในความควบคุมของเราได้มากเพียงใด เอ้า! ลุกขึ้น! เต้นระบำ ร้องเพลง เด็กคนนั้นก็ลุกขึ้นเต้นระบำ ร้องเพลงตามที่บอก หยุด ! เด็กนั้นก็หยุด นิ่ง! เด็กนั้นก็นิ่ง เงียบ! ไม่ให้มีปฏิกิริยาอะไรเลย ก็เงียบนิ่ง เช่นเดียวกัน ก็ให้จิตนี้บันเทิง ให้มีความรู้สึกลิงโลด บันเทิง ปราโมทย์ภายใน เสร็จแล้วในขณะที่จิตกำลังบันเทิงขึ้น-ลงอย่างนี้ นิ่ง ! นิ่งเป็นสมาธิ เสร็จแล้วก็ ปล่อย! ลองทดลองเราจะบอกให้จิตปล่อย ปล่อยก็คือปลดเปลื้องจิต ปลดเปลื้องจิตที่ยังติดผูกพันอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น ความยึดมั่นถือมั่นในทิฐิของตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นฉัน ฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่หรือว่ายึดมั่นอยู่ในความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ปลดเปลื้องมันออกมาให้หมด กวาดเอาไปให้เกลี้ยงเลย ไม่พูดเลยนะคะนี่ ทำท่าให้ดู แต่จริงๆ เราไม่ได้พูด แต่จากการปฏิบัติข้างในมันจะสั่ง จิตจะสั่งจิตเองให้ปลดเปลื้อง ให้เป็นจิตที่เป็นอิสระเหมือนกับว่าเป็นจิตเกลี้ยงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติใดสามารถปฏิบัติในหมวดที่ 3 นี้ รู้ลักษณะธรรมชาติของจิตอย่างถี่ถ้วนดังที่พูดแล้วพร้อมกับสามารถควบคุมจิตได้ คือสั่งจิตได้ จะให้เป็นจิตอย่างไหนก็เป็นอย่างนั้นได้ทันที ให้หยุดก็หยุดได้ทันที ให้เป็นก็เป็นได้ทันที มีอาการเป็นอย่างนั้นได้ทันที นี่ก็เป็นการทดสอบว่า