แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: สามีประชดว่ากล่าวตลอด ควรจะทำอย่างไร
ตอบ: ก็ตอนนี้ล่ะค่ะเป็นโอกาสที่จะใช้ธรรมะให้สามีเห็นว่าที่ไม่พอใจ แล้วก็ที่ฉันมาปฏิบัติธรรม นี่แหละสามารถนำความสงบเย็นมาให้ได้ ไม่มีปฏิกิริยาร้อนโต้ตอบเขา เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะเห็นใจแล้วก็อาจจะค่อยๆ เข้าใจว่า อ๋อ นี่คือผลของธรรมะ ถ้าหากว่าไปโต้ตอบด้วยอารมณ์ร้อน ก็เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ใช่ไหมคะ เสียเวลาไปปฏิบัติธรรม เสียงานเสียการดูแลบ้าน อ้าว ปฏิบัติธรรมมาแล้วเธอยังมาชอบทะเลาะ หาเรื่อง วิวาทบาดทะรงอีก ตกลงเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะฉะนั้นก็ลองแสดงให้เห็นว่านี่แหละผลของการปฏิบัติธรรม คือสามารถที่จะฟังสิ่งที่ได้ยินอย่างชนิดที่เราเห็นว่าไม่มีสาระ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเขาอยู่ในภาวะที่จะรับฟังบ้าง คืออารมณ์ดี แจ่มใส อยู่ในภาวะที่อยากจะฟังคำชี้แจง เราก็ชี้แจงเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเรามีเทปธรรมะที่พูดสนุกๆ อย่างเช่นของท่านอาจารย์พยอมอย่างนี้เป็นต้น ก็ลองเปิดทิ้งไว้อย่างชนิดที่ไม่หนวกหูเกินไป ที่เขาพอจะฟังได้ หรือมีหนังสือธรรมะง่ายๆ ก็ลองเอาไปเปิดให้เขาฟัง หรือเพลงธรรมะ อย่างนี้เป็นต้น ไม่ได้ให้เขาฟังหรอก เราฟังเองแต่เขาพลอยได้ยินไปด้วย จะเป็นไปได้ไหม ก็ค่อยๆ ทำทีละน้อย แล้วถ้าสามารถที่จะชักจูงลูกๆ ซึ่งพอจะเชื่อฟังได้ง่ายเพราะเห็นใจคุณแม่ เราก็ค่อยๆ หาวิธีไปเรื่อยๆ แต่สิ่งนี้เป็นธรรมดา การที่จะดึงจูงคนเข้ามาธรรมะยากเย็นมากเลย แต่ว่าก็ค่อยทำค่อยไปเมื่อโอกาสเปิดให้
คำถาม: นั่งสมาธิ 7 วันแรก รู้สึกกายเบาเหมือนไม่มีตัวตน ครั้นมาเมื่อคืนนี้ รู้สึกร่างกายหนักอึ้งเหมือนถูกกดทับ บางครั้งร่างกายจะโยก โงนเงน เป็นลักษณะหมุนนิดๆ ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่
ตอบ: นี่ก็ต้องดูที่ภาวะของร่างกาย ถ้าเผอิญนอนไม่หลับสนิท หรือว่าอาจจะนึกอะไรมากไป เคร่งเครียดกับการปฏิบัติมากไปก็อาจจะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรเป็น ฉะนั้นถ้าอย่างนี้ก็ต้องผ่อนคลาย แล้วก็พยายามที่จะหาโอกาสพัก พักให้มากขึ้นซึ่งจะสามารถทำได้เมื่ออยู่บ้านนะคะ
แต่ถ้าร่างกายสมบูรณ์ดีทุกอย่างและก็มีอาการหนักอึ้งเหมือนถูกกดทับอาจจะเกิดจากความเครียด เพราะการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่มีความชำนาญพอ มันก็ขึ้นลงได้ง่าย วันนี้ได้เบาสบาย พรุ่งนี้ไม่ได้ หรือว่าเช้าได้ เย็นไม่ได้ นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างที่เคยพูดแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นอาการของการปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นตามธรรมดาอย่างนี้ เราก็กำหนดจิตให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่นนั้นเอง ตามเรื่องของการปฏิบัติ เหมือนอย่างเช่นเดียวกับการเห็นนิมิต ร่างกายจะโยกโงนเงน เป็นลักษณะหมุนนิดๆ ก็ต้องดูว่าเวียนศีรษะหรือเปล่า ถ้าเวียนศีรษะก็เกี่ยวกับเรื่องของร่างกาย ก็ต้องหายาหอมยาดม ยืน หายใจ ยาวเข้า ยาวออก อย่างสบายๆ ยาวลึกเบาๆ ไม่ใช่หนักนะคะ ถ้าไปหายใจหนักหรือแรง จะทำให้ความวิงเวียนนั้นเกิดมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้จักใช้ลมหายใจ ลมหายใจยาว ช้าๆ ธรรมดา หรือหายใจ ยาว ลึก เบาจะช่วย นี่ค่ะประโยชน์จากลมหายใจที่เรารู้จักดี เราจะหยิบมาใช้ได้ แต่ถ้าหากว่าการหมุนนั้นไม่รู้สึกเวียนศีรษะ จิตใจคงปกติ อย่างนี้ก็อาจจะเป็นด้วยขณะจิตนั้นเป็นจิตที่อาจจะมีความง่วงงุนผสมเข้ามา หรือบางทีท่านเรียกว่าเป็นลักษณะของจิตที่กำลังจะตกภวังค์ก็เป็นได้ การตกภวังค์ก็คือการที่จิตจะดิ่งเข้าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่ว่าเป็นจิตที่สตินั้นไม่ชัดเจน แต่ซึ่งอันนี้คงจะยังไม่ถึงอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องดูเอาเอง ดูเอาเองว่าเกิดจากอะไร แล้วก็พยายามแก้ไข การแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือใช้ลมหายใจ แล้วก็กลับมาปฏิบัติในขั้นที่ 1 ใจสบายๆ
คำถาม: มีคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติขั้นต่อไป เช่นขั้นที่ 4 ปฏิบัติไม่ได้ หรือว่ามันเกิดติดขัด อึดอัด
ตอบ: ก็ขอวิธีแนะนำก็คือว่า กลับมาปฏิบัติขั้นที่ 1 เสมอ ขั้นที่ 1 2 3 ไปตามลำดับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติขั้นที่ 4 ก็เพราะเหตุว่า การปฏิบัติขั้นที่ 1 2 3 ยังไม่มีความชำนาญเพียงพอ จึงควบคุมลมหายใจไม่ได้ ฉะนั้นที่เน้นบ่อยๆ ก็เพราะเหตุนี้ค่ะ
คำถาม: ในตอนฝึกขั้นที่ 4 ของหมวดที่ 1 ต้องฝึกนานเท่าไรจึงจะเข้าหมวดที่ 2
ตอบ: ถ้าหากว่าจะเข้าอย่างตามลำดับขั้นอย่างสมบูรณ์นะคะ ไม่ข้ามขั้นเลย ก็หมายความว่าเมื่อสามารถทำจิตควบคุมจิตในการปฏิบัติของหมวดที่ 1 จนกระทั่งหนักแน่นมั่นคงอยู่ด้วยสติ สมาธิ อย่างที่เรารู้สึกว่าพอใจ พอใจเพราะมันสงบจริง นิ่งจริง มั่นคงจริง มีความเยือกเย็นผ่องใสพร้อมอยู่ในนั้น เป็นจิตที่เป็นสมาธิอย่างยิ่งแล้วจึงค่อยๆ เคลื่อนไปสู่หมวดที่2 คือพิจารณาเวทนาโดยเฉพาะ ถ้าหากว่าต้องการจะปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ จะไม่ข้ามขั้นเลย แล้วก็จะไม่เอาหมวดอื่นเข้ามาปนในขณะที่กำลังปฏิบัติ แต่ทีนี้ในการปฏิบัติจริง ทุกท่านก็คงจะเห็นแล้วว่า ในขณะที่เราพยายามปฏิบัติหมวดที่ 1 นี้ บางทีเวทนาก็เข้ามารบกวน ใช่ไหมคะ รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกอึดอัด รู้สึกชอบ รู้สึกไม่ชอบ นั่นคืออาการของเวทนา แล้วมันก็เป็นนิวรณ์ไปด้วยในตัว ฉะนั้นถ้าผู้ปฏิบัติที่ต้องการจะปฏิบัติอย่างชนิดสมบูรณ์แบบ หมวดที่ 1 ก็หมวดที่ 1 เจาะจง จะไม่เอาใจใส่ พอรู้สึกว่ามันหงุดหงิด หรือว่าเกิดอารมณ์จะชอบจะชังอะไรขึ้นมา ก็ใช้ลมหายใจขับไล่ไปอย่างเดียว แล้วก็กลับมาตั้งหน้าปฏิบัติในขั้นที่กำลังปฏิบัติต่อไป นี่คือไม่ยอมที่จะผสมผเสกับอะไรเลย ไม่ยอมกระโดดข้ามขั้น แล้วก็มุ่งหน้าไปจนกระทั่งสามารถปฏิบัติจิตเป็นสมาธิอย่างเต็มที่จนถึงเอกัคคตาได้ ถ้าต้องการสมบูรณ์แบบนะคะ
แล้วทีนี้พอถึงหมวดเวทนาก็เหมือนกัน จะไม่ยอมเอาเรื่องอื่นเข้ามาเลย จะเจาะจงปฏิบัติแต่ในเรื่องของเวทนาตามลำดับขั้นไป เริ่มต้นด้วยปีติ แล้วก็สุข แล้วก็สุขทุกอย่าง แล้วก็เวทนาทุกอย่าง แล้วควบคุมเวทนาให้สงบระงับ จนควบคุมเวทนาได้สงบระงับจริงๆ ทดสอบดูไม่มีอะไรเหลือ คือเวทนามารบกวนไม่ได้ ทีนี้ภาวะของจิตเมื่อปฏิบัติขั้นที่ 4 ของหมวดที่ 2 ได้แล้วจะเป็นอย่างไร ก็ขอตอบว่า เมื่อควบคุมเวทนาได้สงบระงับหมดแล้วนะคะ จิตนั้นก็ควรจะต้องเต็มไปด้วยสติ สมาธิ คือพร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ สงบ เยือกเย็น ผ่องใสเต็มที่เหมือนกัน แล้วทีนี้แหละก็ใช้จิตตอนนั้นลองศึกษาใคร่ครวญ ค้นหาธรรมชาติของจิตในหมวดที่ 3 ต่อไป
จะดูว่าตอนไหนที่จะเหมาะใคร่ครวญธรรม เนื่องจากขณะใคร่ครวญธรรมจิตยังต้องจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ นี่ก็อย่างที่ได้เคยพูดแล้วหลายครั้งว่าถ้าปฏิบัติชัดเจน ชำนาญ จนเกิดความคล่องแคล่วในการตามลมหายใจ พอไปถึงหมวดที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ความจดจ่อข้างหน้านี่ก็จะอยู่ที่อาการของเวทนา ที่อาการของจิตแล้วก็ที่เรื่องราวของธรรมในหมวดที่ 4 มันจะอยู่แต่ในเรื่องนี้ แต่เบื้องหลังนี่เรียกว่า background จะรู้ว่าลมหายใจอยู่แถวนี้ อยู่ตรงนี้จะกลับมารู้ลมหายใจเมื่อไร ก็รู้ได้ทันที รู้ได้ทันทีเลย นั่นแหละคือความสามารถที่ปฏิบัติในเรื่องการตามลมหายใจ ควบคุมลมหายใจจนกระทั่งมันเป็นกิจนิสัย จะทำอะไรที่ไหนก็รู้ลมหายใจอยู่ตรงนี้ พอดึงใจจะมารู้ลมหายใจสามารถทำได้ทันที จะหายใจอย่างไหนจะควบคุมอะไรให้เกิด ไม่ให้เกิด ก็ทำได้ทันที ฉะนั้นตอนนี้ก็น่าจะสงสัยนะคะเพราะเรายังปฏิบัติไม่ได้เต็มที่ เราก็เลยยังไม่ทราบว่ามันจะอยู่ที่ไหน ในเวลาช่วง 11 วันนี่ค่ะ อย่างที่ดิฉันได้พูดแล้วว่าเราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เป็นแต่เพียงความตั้งใจที่จะพูดให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่าอานาปานสติคืออะไร แล้วก็มีเค้าโครงอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร เดินไปอย่างไร จุดหมายปลายทางคืออย่างไร เท่ากับว่าขอมอบแผนที่ให้ แผนที่ของการปฏิบัติทางจิตอย่างเต็มรูปคืออย่างนี้ ส่วนผู้ใดต้องการจะเดินทางอย่างไหนก็ใช้เฉพาะแผนที่ตอนนั้น เช่นต้องการเพียงความสงบก็หมวดที่ 1 ทำจิตให้เป็นสมาธิ แล้วก็ต้องการจะมีปัญญาบ้างและตัดปัญหาความทุกข์ได้บ้าง ก็เอาธรรมะมาใคร่ครวญ ไตรลักษณ์ อิทัปปจยตา จนกระทั่งจิตค่อยมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต แล้วก็ถอนจากความยึดมั่นถือมั่นลงทีละน้อยๆ แต่ยังคงใช้สติปัญญาในการที่จะดำเนินชีวิต ดำเนินให้ถูกต้อง ปัญหาเกิดขึ้นน้อยลง ฉะนั้นเมื่อใดที่เกิดอยากจะดูแผนที่อย่างสมบูรณ์ทั่วถึงก็หยิบมันมาศึกษา เรียกว่ามีความรู้แล้วจะใช้เมื่อไรก็ย่อมได้ แต่ถ้าไม่รู้ พอนึกอยากจะใช้ก็ลำบาก ส่วนวิธีการปฏิบัติเป็นอย่างไร เราก็ได้ฝึกปฏิบัติกันมาพอสมควร ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ท่านผู้ปฏิบัติจะถือไปปฏิบัติต่อไปได้ที่บ้านถ้าไม่ทอดทิ้งเสีย