แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม ถามว่า “การฝึกจิตให้นิ่ง...ในเบื้องต้นสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่ มีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะควบคุมจิตให้นิ่ง...ผู้ถามมักประสบปัญหาที่ในใจจะพลอยนึกคิดเรื่องอื่น ๆ อยู่เสมอ”
คำตอบ ในค่ำวันนี้ตอนบอกบทกรรมฐานนะคะ ก็จะพูดอธิบายในเรื่องนี้
คำถาม “อยากทราบวิธีการดูจิต และการระงับความรู้สึกต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดีใจ ความเสียใจ ควรปล่อยให้เกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีวิธีการอย่างไรที่จะระงับ”
คำตอบ เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติอานาปานสติ จะอธิบายคำตอบนี้นะคะ แต่ในขณะนี้ก็ขอตอบสั้นๆ ว่า ลองนึกดูว่า ความดีใจ ความเสียใจที่เกิดขึ้นมันอยู่นานไหม? มันก็เกิดแล้วมันก็หาย มันมาแล้วมันก็ไป สักประเดี๋ยวมันก็มาอีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกที่จะดูความไม่เที่ยง ความเป็นเช่นนั้นเอง ที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้เรื่อย ๆ แล้วก็เลิกเอาจริงเอาจังยึดมั่นกับมัน...แล้วก็จะค่อยๆ ลดลงเอง ซึ่งการที่เราจะฝึกปฏิบัติในระหว่างที่เราอยู่ด้วยกันคงจะช่วยนะคะ
คำถาม “ในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา จิตเวชศาสตร์ทางยุโรปและอเมริกา มีแขนงหนึ่งที่เรียกว่า ฮิปโนเทอราพี (Hypnotherapy) นิยมสะกดจิตให้คนระลึกชาติเพื่อช่วยรักษาพฤติกรรมในปัจจุบัน ขอถามความเห็นในเรื่องนี้”
คำตอบ ต้องขออนุญาตตอบว่าดิฉันไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้นะคะ แล้วก็ไม่อยากจะเดาตอบคะ
คำถาม “ได้ทราบและได้เห็นความเลวร้ายของตัวเองอย่างถึงที่สุด จึงอยากค้นพบแสวงหาในด้านดีบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะตัดวางสิ่งต่าง ๆ ภายนอกอย่างสมบูรณ์... ควรจะเริ่มในช่วงที่ 4 ของชีวิต หรือควรจะก่อนหน้านี้”
คำตอบ พูดง่ายๆ ก็คือว่า...อยากจะมีชีวิตที่ออกมาจากทางโลกใช่ไหมคะ คำถามนี้... อยากจะประสบความสุข สงบเย็น เป็นประโยชน์ของชีวิตในช่วงที่ 4...แล้วคำถามก็คือจะเริ่มเมื่อไร...ว่าง่ายๆ จะเริ่มเมื่อไร จะเริ่มเดี๋ยวนี้ดีรึยัง...
ความสงบเย็นมันสร้างเอาไม่ได้ ปั้นเอาไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำ ทีละน้อย ๆ เริ่มจากการศึกษาอย่างที่ว่านะคะ แต่ก็ไม่สายไป เรายังเริ่มได้... คำแนะนำก็คือ ถ้ารู้วิธีการอย่างถูกต้องแล้ว ก็ฝึกปฏิบัติไป...จนกระทั่งเราเกิดประจักษ์ชัดขึ้นมาในใจว่าหนทางธรรม หรือหนทางของการปฏิบัติธรรมอย่างนี้เราอยู่ได้อย่างไม่ดิ้นรน อย่างไม่รู้สึกไยดีที่จะไปแข่งขันกับใคร ที่เขาจะเอาอะไรมาให้ ตำแหน่งโน้น ตำแหน่งนี้ หน้าตาต่าง ๆ มันเห็น “เป็นอย่างนั้นเอง” มันไม่มีความหมายแก่ชีวิต...มันมาแล้วก็ไป เมื่อได้มามันก็ต้องมีเสียไป มันเป็นของคู่กัน ไม่นิยมยินดีในโลกธรรม 8 คือ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข หรือว่า เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา,ทุกข์… สามารถเห็นเป็นธรรมดา เห็นว่าสามารถดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ มีความสันโดษในสิ่งที่ตนมี ตนได้ หลังจากที่ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วนะคะ ไม่ใช่งอมืองอเท้า ทำดีที่สุดแล้ว...แล้วก็สันโดษพอใจ
ถ้าแน่ใจประจักษ์ใจเมื่อไรว่าเราเดินได้นั่นแหละ จึงค่อยตัดสินใจ…ขณะนี้ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่ต้องมาลังเลถามตัวเอง เอาล่ะออกดีหรือไม่ออกดี ออกจากบ้านดีหรือไม่ออกดี ออกจากที่ทำงานดีหรือไม่ออกดี มาเป็นคนวัดดีหรือไม่ออกดี อย่ามี “วิจิกิจฉา” อันนี้ไม่จำเป็น ขอจงฝึกปฏิบัติไปอยู่ที่บ้านนั่นแหละคะ อยู่ที่ทำงานนั่นแหละ จนวันหนึ่งแน่ใจ อ๋อนี่คือหนทาง...และเราก็ไม่มีภาระความรับผิดชอบ ที่เราจะต้องรับผิดชอบต่องาน หรือต่อคุณพ่อคุณแม่ หรือต่อบุคคลที่เราผูกพันเกี่ยวข้องมาแต่เดิม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของเรา เราไม่มีภาระความรับผิดชอบจึงค่อยตัดสินใจ... เมื่อแน่ใจ
คำถาม “ควรจะรักษาจิตอย่างไรกับการต้องทนอยู่ในที่จำกัด คือห้องทำงานทุกวันกับบุคคลที่จาบจ้วง เสียดสี และให้ร้ายเราตลอดเวลา บางครั้งก็ทำใจได้ แต่บางครั้งจิตตก ก็จะมีอารมณ์โกรธ เก็บกด เครียดวิตกกังวล แล้วพาลไม่พูด ไม่มองกับบุคคลนั้น จะเป็นการกระทำที่ผิดหรือเปล่า”
คำตอบ ถ้าตอบอย่างทางธรรมคือ”ผิด”! ผิดตรงไหน... ผิดตรงที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ อึดอัด หงุดหงิด ไม่ชอบคนนั้น แล้วก็ปล่อยให้ใจเราเป็นทุกข์เพราะเขา ก็เพราะมี “ตัวเรา” เราเห็นว่าเขาทำไม่ถูกใจ จาบจ้วงเรา เสียดสีให้ร้ายไม่ถูกต้อง แล้วเราก็เอามาเป็นทุกข์ นี่คือการปล่อยใจของเราเองให้เป็นเหยื่อ...เหยื่อของคำพูดและ เหยื่อของการกระทำของคนที่ไม่ชอบเรา ถ้าเขารู้ว่าเขาพูดอย่างนี้ ยัยคนนี้จะต้องโกรธ ต้องเป็นทุกข์ ต้องร้องไห้ ถ้าเขาทำอย่างนี้ ยัยคนนี้จะต้องเจ็บใจ เจ็บปวด ถ้าเขารู้อย่างนี้เขาฉลาด เขาก็หย่อนเหยื่อนี้มาเรื่อย ๆ เราก็เหมือนปลาโง่ ใช่ไหมคะ...ฮุบเหยื่อทุกที คือเขาหย่อนมาทีไร เขาก็ได้ทุกที คือเขาได้สมใจเขา ทำให้โกรธ ทำให้ร้องไห้ ทำให้เจ็บปวด เขาก็สนุกน่ะสิ
แล้วเราเป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด ถ้าเราเป็นคนฉลาด อ๋อ มันเช่นนั้นเอง หัวเราะซะบ้าง ถ้าวันไหนเราหัวเราะได้ เราเฉยได้ คนที่เขาทำอย่างนั้นน่ะ เขาจะหยุดเอง เพราะลูกปืนเขามันด้าน มันยิงไม่ออก ฉะนั้นก็อาศัยการฝึกปฏบัติที่เราจะพูดกันต่อไปเป็นอาวุธสำหรับการที่จะต่อสู้ หรือจะรักษาใจของเราเอาไว้
คำถาม คำถามนี้ก็คล้ายๆ กับคำถามเมื่อกี้ ก็ขอตอบไปพร้อมกันเลย “การที่เราทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบถูกต้องครบถ้วน แต่ถูกนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาเอาเปรียบ เมื่อปรับความเข้าใจกันแล้วทั้งสองฝ่าย ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นอีก คือพอปรับความเข้าใจกันก็ดูท่าจะดี แต่แล้วก็เกิดซ้ำซากอีก จะแก้ไขอย่างไร”
คำตอบ ก็มองให้เห็นเป็นเช่นนั้นเองของเขา... เขามีธรรมชาตินิสัยของเขา เดี๋ยวก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่อยากเป็นเหยื่อเขา เราก็เห็นเช่นนั้นเองของการกระทำของเขาเสีย แล้วก็นึกอย่างที่พระพุทธเจ้าเคยรับสั่งกับพระอานนท์ เมื่อพระอานนท์ทูลท่านว่า อย่าอยู่เลยเมืองนี้ เพราะว่ามันมีบางครั้งบางคราวที่มีพวกที่มีมิจฉาทิฐิมากระทำการอันไม่สมควร ไปที่อื่นดีกว่า ท่านก็รับสั่งถามว่า ถ้าเปรียบเหมือนกับคนที่เขายกสำรับอาหารมาให้เรากิน ถ้าเราไม่กิน..อาหารสำรับนั้นเป็นของใคร... เป็นของใครคะ?...เป็นของใคร ก็เป็นของคนที่ยกมา...ก็เป็นของเขาเอง นี่ถ้าเราไม่กินเขาก็เอากลับไปกินเอง... เขาจะไปเททิ้งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เขาทำอย่างนี้แล้วเราก็กินของเขาทุกที คือกินการกระทำที่ไม่ถูกใจ กินวาจาที่ไม่ถูกใจ เราก็เจ็บปวด เพราะฉะนั้นเมื่อเขาทำมาให้ ยกมาให้ เราก็อย่ากิน เราก็จะได้หมดปัญหาเสีย