แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีค่ะ
เราก็จะพูดต่อจากที่ได้พูดแล้วเมื่อวานนี้ หวังว่าคงจะยังจำได้ว่าเมื่อวานนี้เราได้กล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง จุดประสงค์ก็เพื่อจะชวนให้รำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้วก็จะได้น้อมนำใจของเราแต่ละคนให้บังเกิดความศรัทธา เทิดทูนยกย่อง เคารพรักในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอันที่จริงก็หมายถึงการเคารพรักในพระธรรมนั่นเอง แล้วเมื่อวานก็ได้ยกตัวอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งมีความเคารพรักพระพุทธเจ้าอย่างหาที่เปรียบมิได้ ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างที่ยากที่คนทั้งหลายจะมีโอกาสเช่นนั้น แต่เสร็จแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลทำได้อย่างมากก็เพียงว่าเป็นความรักติดใจในตัวบุคคล คือตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มิได้รักแล้วก็เข้าถึงพระธรรมอันเป็นความปรารถนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสงค์จะให้มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้ที่สามารถเห็นธรรมแล้วก็เห็นพระองค์ไปพร้อมๆ กันด้วย
ทีนี้นอกจากพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วก็ยังมีตัวอย่างที่จะกล่าวถึงได้อีก หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อพระวักกลิ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาบวชเพราะหลงในพระรูปโฉมของของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลงในความงามของรูปโฉมของพระองค์ เพราะฉะนั้นการที่เข้ามาบวชไม่ใช่ว่าอยากจะบวชเพื่อความบรรลุธรรมอย่างใด แต่หวังว่าการการบวชนี่จะเป็นโอกาสให้ได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเมื่อบวชเข้ามาแล้วสิ่งที่พระวักกลิทำก็คือคอยแอบมองดูพระพุทธเจ้าในทุกอิริยาบถ พระองค์จะกระทำอะไรอย่างใด จ้องมองอยู่อย่างเดียว ธรรมะที่พระองค์ตรัสนั้นเกือบจะว่าไม่เข้าสู่ใจของพระวักกลิเลยเพราะไม่ได้สนใจในสิ่งนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบว่าความประสงค์ของพระวักกลิที่เข้ามาบวชนี่เพื่อประสงค์ที่จะอยู่ใกล้พระองค์ แต่ว่าพระองค์ก็คอยเวลาว่าเมื่อไหร่ถึงจะเหมาะในการที่จะให้คำสั่งสอน
จนกระทั่งวันหนึ่งนี่ก็รู้สึกว่าจะมากเกินไปเสียแล้วในการที่คอยเฝ้าแอบดูพระองค์อยู่อย่างเดียว พระพุทธเจ้าก็เลยเรียกมาแล้วก็สอนแล้วก็ให้เข้าใจว่าการกระทำอย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์ ไม่คุ้มแก่การที่ได้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ แล้วก็ตรัสเตือนครั้งหนึ่งก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นอย่างเดิม ก็ตรัสเตือนอีกก็ยังคงเป็นอย่างนั้น คือไม่สนใจในพระธรรมแต่สนใจในการที่จะคอยจ้องมองดูพระพุทธเจ้าทุกอิริยาบถ ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสเรียกมาแล้วก็บอกว่าถ้าเข้ามาในพระศาสนาแล้วก็มีความประพฤติอย่างนี้ละก็อย่าอยู่ดีกว่า เรียกว่าได้ทรงขนาบอย่างชนิดไม่ไว้หน้า ก็นึกถึงหัวใจของพระวักกลิจะเป็นยังไง เพราะว่ามีความรักท่วมท้นหัวใจในพระพุทธเจ้าแล้วก็คำตรัสของพระองค์นี่เหมือนกับไม่มีอะไรใยดี ก็เสียใจอย่างยิ่งเลย ตั้งใจว่าตายเสียดีกว่า คล้ายๆ จะไปหาที่ฆ่าตัวตาย ก็เดินไปจนกระทั่งถึงหน้าผาแล้วก็ไปนั่งอยู่ริมหน้าผา เพื่อจะได้ตกตายไปเสีย แต่ในขณะนั้น จะด้วยพระอภินิหารหรือจะด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตามพระวักกลิก็มีผู้นำดอกบัวมาให้ แล้วคล้ายๆ กับจะบอกว่า ดอกบัวดอกนี้นะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานให้ เป็นดอกบัวที่กำลังงาม สวย แย้ม ยังไม่ถึงกะบาน จริตนิสัยของพระวักกลิก็เป็นผู้ที่รักสวยรักงาม รักสิ่งที่สวยๆ งามๆ พอได้ดอกบัวดอกนี้มาก็มองดู เป็นดอกบัวที่มีความงามมาก ก็จ้องด้วยความเพลิดเพลิน มิหนำซ้ำยังได้รับคำบอกว่าพระพุทธเจ้าประทานให้ ความปิติก็เพิ่มขึ้น ก็จ้องอยู่ที่ดอกบัวนั่นอย่างเดียวไม่คลาดสายตา ก็มองดูดอกบัวทีแรกก็สดสวยงดงาม เรียกว่าสดชื่น แต่เมื่อมองๆ ไป มองๆ ไปความสดชื่นงดงามของดอกบัวที่มีอยู่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยๆๆ เริ่มเหี่ยว เริ่มเฉา และในที่สุดก็ค่อยๆ เริ่มร่วงโรยไปทีละน้อยๆๆ
ในขณะนั้นจิตของพระวักกลิมิได้ออกไปจากที่ไหน จดจ่ออยู่ที่การจ้องดอกบัวอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจิตนั้นน่ะก็ติดตามตั้งแต่ความสวยงามและความแปรเปลี่ยน คือปรวนแปรเปลี่ยนไปตลอดจนกระทั่งถึงค่อยๆ ร่วงโรยไป ในระหว่างนั้นจิตก็เกิดความสลดสังเวชไปตามลำดับ ตามลำดับของอาการที่เปลี่ยนแปลงของดอกบัว เมื่อดอกบัวเปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งร่วงโรยไม่มีอะไรเหลือให้เป็นความสวยงามให้เหลืออยู่ พระวักกลิก็มีความเข้าถึงความรู้สึกของสภาวะของไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลงแปรปรวน ทุกขังความตั้งอยู่ไม่ได้ แล้วผลที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว ก็เป็นอันว่าพระวักกลิได้มีโอกาสตกเข้ามาอยู่ในกระแสของพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าจิตนั้นไม่พิจารณาอื่นนอกจากพิจารณาอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนจนกระทั่งค่อยๆ ดับสลายไป เพราะฉะนั้นในความรักพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลของพระวักกลิก็ยังมีโอกาสรอดพ้นจากความยึดมั่นติดมั่นอยู่อย่างเดียว ทําไมถึงมีโอกาส ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า หนึ่ง พระวักกลิได้รับพระพุทธโอวาทเพื่อเป็นกรรมฐานที่ถูกกับจริตของท่าน จริตของท่านคืออะไรก็คือราคะจริตรักในความสวยความงาม ตั้งแต่หลงในพระรูปของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็มาได้รับดอกบัวที่งดงามสดชื่นบานแย้มก็ถูกกับจริตอีก ถ้าหากว่าได้รับดอกบัวเหี่ยวทีแรก อาจจะโยนทิ้งไปก็ได้ แต่นี่ได้รับดอกบัวที่อยู่ในสภาพที่กําลังงาม ก็ติดใจในความงาม ใจก็จดจ่อเพ่งมองดูความเปลี่ยนแปลงไปตามลําดับ โดยขณะนั้นยังไม่ได้สํานึกหรอกว่ากําลังดูอะไร แต่พอดูไปแล้วเห็นและด้วยจิตที่ไม่ได้ไกลออกไปจากอย่างอื่นจดจ่ออยู่ตลอดเวลา จึงได้สัมผัสกับสภาวะของอนิจจัง แล้วก็ทุกขัง แล้วไม่ช้าก็เข้าสู่ความเป็นอนัตตา คือหมายความว่าซึมซาบถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แล้วจะมีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นล่ะ นี่แหละจิตของพระวักกลิก็เลยมีโอกาสได้เข้าสู่ความเป็นพระอริยบุคคล
นอกจากนั้นถ้าเราจะมาเปรียบกับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็อาจจะมองเห็นความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นน่ะเข้ามาหาพระพุทธเจ้าด้วยความรักยกย่องเทิดทูนบูชาและก็ในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์นี่ก็แน่นอนย่อมมีอะไรรุงรังอยู่เยอะเลย เป็นของหนักที่ต้องแบก ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งของผู้ครองบ้านครองเมืองแล้วก็ยังกิจการงานที่ต้องบริหารแผ่นดินรวมทั้งทรัพย์สมบัติผู้คนบริวาร ข้าทาสเยอะแยะหลายอย่าง เพราะฉะนั้นมีความหนัก ไม่ได้เข้ามาอย่างชนิดผู้ที่อย่างน้อยปลดปล่อยไปแล้ว พระวักกลิแม้ว่าจะได้เคยมีเพราะเป็นเจ้าชายองค์หนึ่งเหมือนกัน แต่ก็ได้เข้ามาอย่างเป็นผู้ที่เป็นอนาคาริก เป็นผู้ไม่มีเรือนยอมสลัดหมดทุกสิ่งเพื่อให้ได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นความเบาสบายของพระวักกลิ ก็มีมากกว่า ความที่จะต้องคิดห่วงกังวลก็ไม่มีอะไร นอกจากความยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธเจ้า ขอให้ได้อยู่ใกล้พระองค์ ขอเพียงเท่านั้นพอใจแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อถูกขนาบอย่างไม่ไว้หน้า เกิดความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ ก็สามารถที่จะค่อยๆ ตัดสิ่งนั้น ด้วยการเพ่งพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ แล้วเมื่อเสร็จแค่นั้นก็เสร็จ ไม่มีเรื่องของ เรียกว่าของตัวเรา จะต้องเอามาพิจารณาอีกต่อไป
ฉะนั้นนี่ก็อาจจะเห็นว่า ประโยชน์ของการสลัดทิ้ง หรือหันหลังให้บ้านเรือน ให้สิ่งที่เคยมีเคยเป็น ช่วยได้ส่วนหนึ่งไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้นพอจะมองเห็นแล้วหรือยังว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงที่ควรจะรักเคารพเทิดทูนบูชาคืออะไร คือพระธรรม นี่แหละคือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ก็ไม่ทราบว่าเมื่อฟังแล้วเมื่อวานนี้ จะมีสักกี่คนที่นำไปใคร่ครวญต่อ ถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แล้วก็น้อมใจของเราเองนี่เข้าสู่ความศรัทธาเลื่อมใสมีบ้างไหม ถ้าหากว่ามีก็แน่นอนล่ะจะเกิดประโยชน์กับตนเอง จะมีความรู้สึกมีกำลังใจ มีความเข้มแข็งอยากจะประพฤติธรรมในพระศาสนาของพระองค์ พระพุทธองค์เป็นผู้ประเสริฐอันควรแก่ความรักความเคารพความเทิดทูนเป็นอย่างยิ่ง
ทีนี้เมื่อศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็แน่นอนความศรัทธาในพระธรรมจะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ทีนี้ก็เพื่อให้เกิดกำลังใจต่อไป ก็ลองนึกถึงพระรัตนตรัยที่มีสามนั่นก็คือพระสงฆ์ ก็ลองนึกถึงพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่เคยศรัทธา เคารพยกย่องกระทำตามท่านซึ่งแต่ละคนอาจจะเคยมีมา แล้วก็ศรัทธามากเทิดทูนมากมีอะไรในท่าน ในท่านองค์ที่ทำให้เกิดศรัทธารักใคร่แล้วก็เทิดทูนมากก็ลองนึกดูน้อมมาเป็นกำลังใจที่เราอยากจะประพฤติเช่นนั้นบ้าง ในส่วนตัวเองนั้นเมื่อนึกถึงพระสงฆ์ ก็จะไปนึกถึงพระอริยสงฆ์ในสมัยพุทธกาล แล้วก็มีความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในท่านพระสารีบุตรเป็นอย่างยิ่งไม่ใช่เพราะว่าท่านเป็นพระอัครสาวก แต่เป็นเพราะพระจริยาของท่าน จริยาคือการประพฤติปฏิบัติขององค์ท่านเอง อย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายก็คือความเป็นผู้ไม่โกรธ เคยได้ยินใช่ไหมคะ
เพราะท่านพระสารีบุตรนี่เป็นผู้ไม่โกรธ ไม่มีใครจะสามารถทำให้ท่านโกรธได้ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเลื่อมใสในท่านพระสารีบุตร เพราะในส่วนตัวนี่รู้สึกว่าตัวเรานี่เป็นคนขี้โกรธ โกรธง่าย ใจร้อนใจเร็ว เพราะฉะนั้นเมื่อได้อ่านพระประวัติเกี่ยวกับท่านพระสารีบุตรก็เกิดความพอใจเลื่อมใสศรัทธาก็เลยศึกษาติดตามในเรื่องชีวิตของท่าน ก็รู้ว่าท่านนี่เป็นผู้ไม่โกรธ แล้วก็มีผู้ทดสอบในความไม่โกรธของท่านก็มีพราหมณ์นอกศาสนาพุทธคนหนึ่ง ได้ยินใครๆ ชมนักว่าท่านพระสารีบุตรนี่ไม่โกรธ แต่พราหมณ์คนนี้ก็เที่ยวถามคนนั้นคนนี้ว่าจริงเหรอจริงเหรอ ที่ว่าพระสารีบุตรไม่โกรธน่ะจริงเหรอ ใครๆ ก็รับรองว่าเป็นความจริง แต่พราหมณ์ก็บอกว่าฉันนี่แหละจะพิสูจน์ว่าท่านพระสารีบุตรนี่เป็นผู้ไม่โกรธจริงไหม แล้ววันหนึ่งตอนที่ท่านพระสารีบุตรกำลังเดินเพื่อจะไปบิณฑบาตแต่พราหมณ์คนนี้ก็เดินตามหลังไป พอจังหวะเหมาะก็ทุบหลังท่านพระสารีบุตรอย่างแรง แต่ไม่ปรากฏว่าท่านหันมาดูด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่าน ท่านคงเดินบิณฑบาตอย่างปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่หันมามอง ไม่สะดุ้ง ไม่นึกอยากรู้ว่าใครทำอาการอย่างนี้เหมือนกับไม่มีใครมาทำอะไรกับท่านเลย
แต่พราหมณ์นั่นก็รู้สึกร้อนใจเป็นอันมาก ว่าท่านเป็นผู้ไม่โกรธจริงๆ นะ ท่านเป็นพระอรหันต์อันควรแก่การเคารพยกย่องบูชาอย่างสูงแล้วดูสิเราได้ทำการล่วงเกินอย่างน่าเกลียดอย่างน่าละอายอย่างใช้ไม่ได้ ก็มีความรู้สึกร้อนขึ้นมา ก็เดินไปดักหน้าท่านพระสารีบุตรก้มลงกราบแล้วก็ขอลุแก่โทษ ท่านก็ถามว่าขอโทษเรื่องอะไร ก็ขอโทษที่เมื่อกี้ได้ทุบหลังท่านน่ะ แต่ท่านทำอาการเหมือนกับท่านไม่รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วก็บอกเอาเถอะ เมื่อขอโทษ เราก็ยกโทษให้ แต่พราหมณ์คนนั้นก็บอกว่า ถ้าหากว่าท่านยกโทษให้กระผม ก็ขอความกรุณาส่งบาตรให้กระผมถือตามด้วยเถิด ท่านก็ส่งบาตรให้ พราหมณ์ก็ถือบาตรมาเดินตามหลังท่านไป แต่ชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นที่ได้มองเห็นอาการที่พราหมณ์ทำกับท่านพระสารีบุตรโดยตลอดโกรธแค้นมาก เพราะเป็นชาวบ้านที่เคารพนับถือท่านพระสารีบุตร เป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นต่างก็อยากจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับพราหมณ์คนนี้ พูดง่ายๆ ก็อยากจะลงประชาทัณฑ์ ก็กราบเรียนท่านพระสารีบุตรว่าโปรดรับบาตรคืนไปเสียเถิด อย่าให้พราหมณ์ถือบาตรเลย เพราะในขณะที่พราหมณ์ถือบาตรของท่านพระสารีบุตร พวกชาวบ้านเหล่านั้นก็เคารพแม้แต่บาตรของท่าน ใครถือบาตรของท่านก็ไม่กล้าจะไปทำร้ายคนนั้น บาตรนั่นแหละคุ้มครองพราหมณ์ไว้ให้พ้นจากการถูกทุบตี ท่านพระสารีบุตรก็บอกว่าทำไมล่ะ ทำไมถึงจะให้รับบาตรคืนเพราะอะไร ชาวบ้านก็บอกว่าก็เราก็จะได้ลงโทษพราหมณ์นี่ให้สาสม สาสมกับการที่เขาทำการล่วงเกินท่าน ท่านก็ถามว่าเขาล่วงเกินใคร เขาล่วงเกินเราเหรอ เขาขอโทษเราแล้วนี่ มันก็หมดเรื่องกันไปแล้ว แล้วเขาก็ไม่ได้ล่วงเกินพวกท่าน ท่านจะเกี่ยวข้องอะไรละ ก็เป็นอันว่าท่านไม่ยอมรับบาตรคืนจากพราหมณ์ ก็เดินไปบิณฑบาตจนเสร็จเรียบร้อย แล้วก็ยังเข้าไปนั่งฉันในบ้านของพราหมณ์ ตามที่พราหมณ์กราบทูล พราหมณ์นั้นก็คงกราบทูลขอด้วยความเคารพศรัทธาด้วย แล้วก็ด้วยความกลัวภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ตน เดี๋ยวชาวบ้านจะตามกันมาตีถึงบ้าน เพราะฉะนั้นก็กราบเรียนนิมนต์ท่าน ให้ไปนั่งฉันอาหารในบ้าน
นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่โกรธ ก็ลองนึก ย้อนมานึกถึงตัวเรา เรานี่จะทำได้แค่ไหน อยู่ดีๆ มีคนมาทุบเอาอย่างไม่มีเหตุผล เราจะเฉยได้ไหม เราจะให้อภัยโดยไม่มีอะไรสะกิดอยู่ในใจ เหลืออยู่ในใจเลยได้ไหม แต่เมื่อเรานึกถึงการประพฤติปฏิบัติของท่าน ผู้เป็นพระอัครสาวกแล้วก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระธรรมเสนาบดี คือเป็นพระธรรมเสนาบดีของกองทัพธรรมของพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าน่ะเป็นแม่ทัพธรรม แต่ว่าท่านพระสารีบุตรนี่เป็นพระธรรมเสนาบดี คือก็พูดง่ายๆ ก็เป็นแม่ทัพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะออกไปแสดงธรรมแล้วก็รวมทั้งไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย แต่ท่านกลับเป็นผู้ที่ไม่มีอะไรในการที่จะคิดถือโทษโกรธเคืองผู้ที่จะคิดประทุษร้ายแม้แต่น้อย นอกจากนี้ก็ยังมีอีกคราวหนึ่งที่มีพระภิกษุสงฆ์ซึ่งก็เป็นปุถุชนรู้สึกน้อยใจท่าน ขัดเคืองท่านที่ท่านไม่ได้ทักทาย ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์มากๆ หลายคนที่เรียกว่าไปห้อมล้อมท่านพระสารีบุตร เพราะว่าท่านเป็นพระอัครสาวก ปุถุชนก็อยากจะเข้าใกล้ อยากจะให้ได้รับการทักทาย เพื่อแสดงว่าฉันรู้จักเป็นผู้ใกล้ชิดอะไรทำนองนั้น ทีนี้ก็มากมายก่ายกองด้วยกันน่ะ ท่านก็ทักไม่ทั่ว ก็มีพระปุถุชนองค์หนึ่งก็กล่าวโทษว่า ท่านพระสารีบุตรนี่เอาสังฆาฏิไปถูกท่าน ถูกอย่างแรง แล้วก็ไม่ขอโทษ ที่จริงก็อาจจะเดินไปเดินมา แล้วก็อาจจะถูกกันโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็อาจจะสะกิดนิดหน่อยอะไรเช่นนั้นก็เป็นได้ แต่ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็อยากจะหาเรื่อง กล่าวโทษ ก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าท่านพระอัครเสนาบดีนี่ถือเนื้อถือตัว แล้วก็ยังทำอาการอย่างนี้เอาสังฆาฏิ รู้จักสังฆาฏิใช่ไหมคะ (ที่พาดไหล่) มาถูก แล้วก็ไม่ขอโทษ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าท่านพระสารีบุตรจะไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน
แต่ทว่าพระองค์ก็รับสั่งให้พระให้บรรดาพระสาวกทั้งหลายมาพร้อมกัน เพื่อจะมาฟังเรื่องนี้ว่าจะออกมาเป็นยังไง แล้วก็พระองค์ก็ตรัสถามท่านพระสารีบุตรในที่ประชุมว่า สารีบุตรเธอทำอย่างนั้นหรือ เอาสังฆาฏินี่ไปถูกเขาแล้วก็ไม่ขอโทษอย่างนั้นหรือ แทนที่ท่านพระสารีบุตรจะกราบทูลว่าเช่นนั้นหรือไม่เช่นนั้น คือได้ทำเช่นนั้นหรือไม่ได้ทำเช่นนั้น ท่านก็กลับพรรณนาถึงวิธีการที่ท่านได้อบรมฝึกฝนองค์ท่านเองอย่างไร ตลอดเวลาแม้จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นพระอัครสาวกเป็นพระธรรมเสนาบดีแล้วก็ตาม แต่จนบัดนี้ท่านก็ยังฝึกฝนอบรมตนของท่านอย่างนั้นท่านอบรมอย่างไร ท่านบอกว่าตลอดเวลานี่ท่านจะมีความสำนึกอยู่ในใจเสมอว่า ตัวท่านนี่เหมือนกับแผ่นดิน แผ่นดินที่ใครๆ เดินเหยียบย่ำไปทั่วไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนเป็นเศรษฐี หรือจะเป็นขอทานคนขี้เรื้อนเดินเหยียบย่ำไปเรื่อย และแผ่นดินนี้ก็ยังเป็นที่ที่เขาทิ้งของทุกอย่าง ของสกปรกโสโครกก็มี ของสะอาดก็มี ดอกกุหลาบก็มี ของเน่าเหม็นก็มี แต่ว่าท่านนี่อบรมตัวท่านเองให้รู้สึกว่าเหมือนแผ่นดินนะเข้าใจไหมว่าหมายความว่ายังไง ก็พูดเมื่อกี้นี้ว่าแผ่นดินนี่คนทิ้งทุกอย่างคนเหยียบย่ำทุกอย่าง แต่ท่านก็ยังฝึกองค์ท่านเองเป็นแผ่นดิน นั่นก็คือพร้อมที่จะรับ รับผัสสะทุกอย่างหรือว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นผัสสะที่ร้ายแรงรุนแรงกระทบอารมณ์อย่างหนักหรือจะเป็นเบาๆ แผ่วๆ ไม่มีความหมาย ไม่กระทบถึงจิตของท่านพระสารีบุตรเลยเพราะท่านรู้สึกว่าท่านเป็นเสมือนแผ่นดิน แผ่นดินที่พร้อมจะรองรับการเหยียบย่ำ การเททิ้งของ ทุกอย่างทุกประการ
นอกจากนั้นก็ยังได้เปรียบองค์ท่านเองนี่เหมือนกับน้ำลมไฟ นอกจากเป็นแผ่นดินแล้ว ก็ยังเป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟหมายความว่าอย่างไรลองนึกดูสิคะ น้ำลมไฟมีอะไร มีความเหมือนกันอย่างไร ถ้าเป็นลม เวลาลมพัด เลือกไหม ฉันชอบคนนี้พัดให้เย็นๆ ฉันเกลียดคนนั้นไปให้ห่าง ไม่ให้ได้รับลมเย็นจากฉัน มีไหม ไม่มี เมื่อลมพัดมาก็ ใครอยู่ในทิศทางลม ก็ได้รับความเย็นเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะมีอะไรอยู่ในทิศทางนั้น ลมก็พัดผ่านไปเหมือนกัน หรือเป็นไฟ เมื่อถึงเวลาไฟจะเผา โยนอะไรลงไปในกองไฟ จะเป็นท่อนฟืนท่อนไม้ หรือจะเป็นของสกปรกโสโครก หรือจะเป็นของสวยงาม ไฟก็ไหม้หมดเกลี้ยงเหมือนกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง น้ำก็เช่นเดียวกัน ใครเทอะไรลงไปในน้ำน้ำก็พัดพาไปหมดทุกอย่าง ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงถึงการฝึกอบรมจิตให้อยู่ในสภาพของ ของอะไรคะ ของความเป็นผู้มีอุเบกขา สม่ำเสมอไม่มีขึ้นลง นี่ท่านเล่าว่า ท่านฝึกองค์ท่านเองอย่างนี้ เป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ เป็นแผ่นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ ที่จะมีความสม่ำเสมอต่อทุกชีวิตทุกสิ่ง ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ที่ฟังแล้วรู้สึกจับใจมากก็คือว่า ทุกวันเวลาท่านจะรู้สึกเหมือนกับท่านนี่เป็นผ้าขี้ริ้ว ในขณะที่คนทั้งหลาย อยากเป็นแต่ผ้าคลุมผม ผ้าพันคอใช่ไหม ใครจะยอมลดไปเป็นผ้าขี้ริ้ว ที่ประเดี๋ยวใครมาก็เช็ดๆ ของสกปรกต่างๆ ลงไปบนผ้าขี้ริ้วมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าใครเขาจะไปหยิบผ้าขี้ริ้วเขาก็กรีดนิ้วหยิบ รังเกียจเหลือเกินหยิบทั้งมือไม่ได้ ถ้าหยิบผ้าห่มผ้าหอมเขาก็หยิบอย่างชนิดทะนุถนอม แต่นี่ผ้าขี้ริ้วไม่มีใครเขาอยากเข้าใกล้ เป็นสิ่งที่เขาดูถูก เขาจะเปรียบใครเขาก็จะเปรียบเป็นผ้าขี้ริ้ว แต่ความเป็นจริงผ้าขี้ริ้วมีประโยชน์ไหม ลองนึกดู มีประโยชน์อย่างยิ่งเลย ในครัวเรือนในบ้านเรือนต้องการผ้าขี้ริ้วทั้งนั้น เพราะผ้าขี้ริ้วจะช่วยทำความสะอาด และท่านก็เปรียบตัวท่านเองนี่เหมือนผ้าขี้ริ้วคือเป็นของที่ต่ำที่สุด ใครที่เขาดูถูกเหยียดหยาม ท่านก็เป็นอย่างนั้นแหละ นี่ก็คือแสดงถึงว่าความเป็นอัตตาตัวตนของท่านเป็นอย่างไร ความเป็นอัตตาตัวตนของท่านเป็นอย่างไร ไม่มี พยายามจะลดละอัตตาตัวตนถ้าหากว่ามี ให้ลดละลงไปจนไม่เหลือเลย ท่านจึงฝึกเป็นผ้าขี้ริ้ว ถ้าเราจะเอาตัวอย่างท่านก็ไม่เสียหายใช่ไหมคะ นี่แหละจะเป็นการลดละอหังการมมังการของตัวเองลงไปได้ ลองฝึกเป็นผ้าขี้ริ้วบ้าง
นอกจากนี้ท่านก็ยังกราบทูลต่อไปว่าท่านยังฝึกตัวท่านเองนี่ให้รู้สึกเสมอว่าเหมือนโคเขาขาด วัวเขาขาด ควายเขาขาดเป็นยังไง อาวุธของวัวของควายก็คืออะไรที่จะไปต่อสู้กับใครๆ ทั้งหลายก็คืออะไร ก็คือเขาของมันใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าตัวไหนมีเขาแข็งแรงแหลมคม การที่จะไปต่อสู้กับพวกเพื่อนฝูงวัวควายด้วยกันก็มีทางจะเอาชนะได้ หรือจะไปขวิดใครไปทำร้ายใครก็จะทำร้ายได้อย่างใจ แต่ท่านนี่ท่านเปรียบตัวท่านเหมือนโคเขาขาด มีเขาก็จริงแต่เขานั่นมันถูกทำลายเสียแล้ว อาจจะถูกใครเขาตัดหรือถูกใครเขาฝนจนทู่ทำร้ายใครก็ไม่ได้ ไม่มีพิษสงแล้ว เป็นโคเขาขาด แต่ถ้าหากว่าคิดว่าเราเป็นโคเขาคมอยู่เสมอแล้วก็อยากจะทิ่มแทงคนนั้นทิ่มแทงคนนี้ไม่รู้ได้หยุด แล้วก็คิดว่าทิ่มแทงใครๆ ได้ ชนะ เก่ง ที่จริงตัวเองนั่นแหละเป็นทุกข์ก่อนแล้ว แต่นี่ท่านจะรู้สึกว่าท่านนี่เหมือนโคเขาขาด หรือไม่เช่นนั้นก็เหมือนงูที่เขาถอนเขี้ยวไปหมดแล้ว เขี้ยวพิษไม่เหลือแล้ว หรือเหมือนคนที่กำลังถือชามที่เต็มไปด้วยน้ำมันเดือด น้ำมันร้อนนี่กำลังเดือดแล้วน้ำมันนั่นน่ะปริ่มขอบชาม เพราะฉะนั้นในการถือสิ่งของอย่างนี้จะต้องถือด้วยอะไรจะต้องถือด้วยลักษณะอาการอย่างไร ประคองด้วยความระมัดระวังใช่ไหม ประคองด้วยความระมัดระวังเพราะอะไร เพราะถ้าไม่ระมัดระวังน้ำมันที่เดือดร้อน แล้วก็ปริ่มอยู่ขอบชามมันก็ต้องไหลลงมาไหม้มือ ไหม้มือพอง เจ็บปวดแสบร้อน นี่ท่านฝึกอะไร นึกดูสิฝึกอะไร ใครที่จะเดินอย่างนั้นได้ ฝึกอะไร ฝึกสติ เห็นไหมท่านฝึกทีละอย่างละอย่างละอย่างทุกอย่าง เริ่มต้นตั้งแต่เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นผ้าขี้ริ้ว เรียกว่าพยายามที่จะลบล้างอัตตาตัวตน ให้มันย่นย่อลงไป ย่นย่อลงไปจนไม่เหลือเลย แล้วก็ยังมาฝึกเป็นผู้มีสติอย่างยิ่งด้วยการบอกตัวเองว่า นี่แหละเหมือนกับกำลังถือน้ำมันเดือดปริ่มชาม หรือเหมือนกับกำลังเดินไปข้างหน้านี่ แต่มีเพชฌฆาตถือดาบแล้วก็เงื้ออยู่ที่ต้นคอพร้อมที่จะลงดาบทันที คือพร้อมที่จะฟันคอนี่ทันที
เพราะฉะนั้นก็เท่ากับบอกว่าถ้าขาดสติเมื่อใดตายเมื่อนั้น นี่เป็นการฝึกสติอย่างอุกฤษฏ์ ท่านพยายามหาตัวอย่าง หาความคิดในรูปแบบต่างๆ ที่จะฝึกองค์ท่านเองพูดง่ายๆ ก็พร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิและมีปัญญาที่จะคิดแก้ไข เช่นนี้อยู่เป็นนิจตลอดเวลา อีกนัยหนึ่งก็คือว่าไตรสิกขาพร้อมบริบูรณ์อยู่ในองค์ท่าน ทุกเวลานาทีไม่เคยปล่อยให้ขาดเลย นี่ท่านกราบทูลอย่างนี้ ไม่ได้แก้ตัว และก็ไม่อธิบายว่าทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่กราบทูลถึงวิธีที่ท่านฝึกอบรมองค์ของท่านเอง ให้เป็นผู้พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา พระปุถุชนที่กล่าวหาองค์นั้นในขณะที่ฟังไป ฟังไป ฟังไป คำบรรยายถึงวิธีฝึกอบรมของท่านพระสารีบุตร ตัวเองก็รู้สึกร้อนขึ้นมา ร้อนขึ้นมา สำนึกขึ้นมา ถึงความเป็นคนเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานของตัวเอง ไปกล่าวหาท่านร้ายแรงถึงขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นความจริงเลย ผลที่สุดก็ก้มลงกราบ ขอโทษท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรก็แน่นอนล่ะ ไม่มีโทษ ท่านก็ยกโทษให้ทันที
เพราะฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกพระพุทธสาวกหรือพระสงฆ์ทั้งหลายนี่มาพร้อมกัน เพื่อฟัง ฟังอะไร อย่างนี้เขาเรียกว่าเพื่อฟัง จะเรียกว่าฟังอะไร อย่างนี้แหละ เขาเรียกว่า ฟังการบันลือสีหนาท บันลือสีหนาทของท่านพระสารีบุตร เพราะสิ่งที่ท่านเล่ามาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เล็กน้อยไหม เป็นผ้าขี้ริ้ว เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นโคเขาขาด ฟังดูเหมือนกับไม่ได้.. แต่ความเป็นจริง ถ้าผู้ใดปฏิบัติจริงกระทำจริง นี่ไม่ใช่สิ่งเล็กน้อย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นจิตที่บรรดาผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทุกคนควรจะประพฤติปฏิบัติ อบรมตนให้เป็นอย่างนี้ แล้วบุคคลนั้นก็จะพร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิและปัญญาได้โดยตลอด เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงทราบว่าพระอัครสาวกของท่านนี่เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง แล้วก็นั่นเป็นการกล่าวหาของพระปุถุชน
แต่นี่ก็เป็นพระจริยาของพระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นพระพุทธจริยาของพระองค์ พระองค์จะไม่มากล่าวแก้แทนบุคคลนั้นบุคคลนี้ถึงแม้จะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ให้ความจริงอธิบายความจริง ชี้แจงความจริง แล้วจะประจักษ์แล้วก็จะประทับใจยิ่งกว่า ยิ่งกว่าที่จะมีผู้อื่นมาพูดแก้ให้หรือมาอธิบายให้ นี่ก็กล่าวถึงการฝึกอบรมของท่านพระสารีบุตร รู้สึกเกิดศรัทธาบ้างไหม ฟังแล้วเกิดศรัทธาบ้างไหม นั่นน่ะสิ ถ้าเกิดศรัทธาก็จำเอาไปใช้ ไม่เสียหาย ที่ท่านบันลือสีหนาท หรือท่านเล่าให้ฟังนี่ก็เพื่อเป็นแบบอย่าง พระพุทธเจ้าก็ปรารถนาที่จะให้พระสงฆ์ทั้งหลายฟัง แล้วก็ประพฤติตามแบบอย่างอันนี้ ถ้าประพฤติตามแบบอย่างเช่นนี้ได้เพียงใดก็ยิ่งเจริญในการประพฤติพรหมจรรย์ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นเพียงนั้น นี่ก็เรียกว่า นึกถึงพระคุณของพระสงฆ์ ก็มีพระสงฆ์ที่จะมีพระคุณอันน่าควรประพฤติตาม อันชวนให้เกิดศรัทธา เลื่อมใส ยกย่อง เทิดทูน อีกไม่น้อย มีอีก แต่ท่านพระสารีบุตรนี่จะเห็นได้ชัดที่สุด
นอกจากนั้น ที่ได้รับการยกย่องอีกอย่างหนึ่งก็คือ กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้ที่สละชีวิต เพื่อรักษาพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาเอาไว้ ก็มีเรื่องเล่าถึงเวลาที่คือธรรมดาพระเถระในทางพระพุทธศาสนาคือ เป็นพระอาวุโสพระสงฆ์อาวุโสพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นพระอัครสาวกนี่ไม่ได้อยู่กับที่บ่อยๆ หรอก คือไม่ได้อยู่กับที่ที่ไหนนานๆ จะต้องจาริกไปตลอดเรื่อย ไปเพื่อที่จะไปสั่งสอนอบรมบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่เดินทางไปตามเมืองต่างๆ นี่ ที่ไม่มีสำนักสงฆ์ที่จะไปพักอาศัยก็ต้องไปพักในที่พักแรมที่บรรดาผู้มีใจศรัทธาเขาสร้างเอาไว้ให้พักได้ แล้วก็พระสงฆ์ก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปพักท่านพระสารีบุตรก็ไปพักในสถานที่พักแรมที่ที่เขาสร้างเอาไว้นี่ แล้วในครั้งหนึ่งขณะที่ท่านจาริกไป ก็ปรากฏว่าท่านเกิดอาพาธเพราะท่านเป็นผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงก็เกิดอาพาธ แล้วก็มีข้อบังคับว่าคือข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าท่านรับสั่งกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายว่า จะไปพักที่พักแรมที่ไหนนี่ก็พักได้ แต่ถ้าพักเกินหนึ่งคืนล่ะก็จะฉันอาหารของเขาไม่ได้นะ คือให้ฉันอาหารได้วันเดียว ถ้าจำเป็นจะต้องไปพักสองคืน วันที่สองก็ไม่มีอาหารฉัน ต้องอด ยิ่งพักนานวันก็ยิ่งต้องอดเพื่ออะไร ก็เพราะว่าท่านไม่ต้องการให้พระสงฆ์นี่เกิดเป็นความขี้เกียจ ละโมบโลภมากแล้วก็อ้างเหตุว่าไม่สบายอยากจะพักอยู่ ท่านพระสารีบุตรก็ไม่สบายในวันแรกท่านก็รับฉันอาหาร ตามที่ได้รับอนุญาตแต่พอวันที่สองท่านก็ยังไม่หาย ใครๆ ก็ขอร้องขอให้ท่านรับเถอะ รับอาหารเพื่อที่จะได้ฉันแล้วท่านจะได้แข็งแรงเพราะท่านไม่แข็งแรงเลย ท่านก็ไม่ยอม ยอมอดเสียดีกว่า อดวันที่สองจนถึงวันที่สามหรืออย่างไรนี่ พอมีแรงท่านก็เดินทางต่อไป นี่ก็เป็นที่รู้ไปถึงพระพุทธเจ้าว่า มีผู้ที่พระสงฆ์ที่เจ็บจริงป่วยจริงแล้วก็ยอมรักษาพระธรรมวินัย ไม่ยอมที่จะฉันอาหารเป็นวันที่สองเพราะจะทำให้พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นี่ต้องขาดความศักดิ์สิทธิ์ไป เรียกว่ายอมตายเสียดีกว่า แล้วก็อีกครั้งหนึ่งท่านก็ออกไปธุดงค์ไปพักวิเวก อยู่ในที่สงัดก็มีพระโมคคัลลาน์ไปด้วยแต่ไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน คือหมายความว่าอยู่ห่างจากกันพระโมคคัลลาน์ก็เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย ในขณะที่ไปพักที่นั่นนี่ ท่านก็เกิดอาพาธหนัก ท่านพระสารีบุตรอาพาธหนักซึ่งเป็นโรคประจำตัวทั้งปวดท้องทั้งอาเจียน มีโลหิตมีเลือดปนออกมาด้วย และอาเจียนอย่างมาก ลงท้องด้วยอย่างมาก
ท่านพระโมคคัลลาน์ก็ถามว่านี่จะใช้ยาอะไรนี่ถึงจะรักษาให้ท่านหายจากอาพาธนี้ได้ ท่านพระสารีบุตรก็เล่าให้ฟังว่าท่านเคยเป็นตั้งแต่เล็กๆ เวลาอยู่บ้าน แม่ของท่านนี่ก็จะทำน้ำยาคูอย่างประณีตมากให้ท่านรับประทาน แล้วท่านก็จะหายจากโรคนี้ คือเป็นเมื่อไหร่ คุณแม่ของท่านก็จะทำน้ำยาคูอย่างประณีตให้รับประทาน พอรุ่งขึ้นท่านพระโมคคัลลาน์ก็ไปบิณฑบาต ก็ปรากฏว่ามีบ้านบ้านหนึ่งนี่เตรียมน้ำยาคูถวาย ท่านพระโมคคัลลาน์ก็พอได้รับถวายเต็มบาตรก็ทำท่าจะกลับ ชาวบ้านผู้นั้นก็อาราธนาไว้ว่า ขอนิมนต์ฉันเสียก่อน แล้วก็ยังจะมีฝากไปเพื่อถวายท่านพระสารีบุตรอีกต่างหาก ท่านพระโมคคัลลาน์ก็นั่งฉันในที่พักที่บ้านของชาวบ้านผู้นั้น พอฉันเสร็จเขาก็รับบาตรไปล้างสะอาดแล้วก็ถวายมาอีกบาตรหนึ่งถวายข้าวยาคูที่มีรสหอมน่ารับประทาน ท่านพระโมคคัลลาน์ก็รีบกลับมาแล้วก็นำข้าวยาคูนี่มาถวายท่านพระสารีบุตร นี่แหละเป็นสิ่งที่ท่านเคยรับประทานเมื่อท่านยังเป็นฆราวาสอยู่บ้านอยู่กับคุณแม่ของท่าน ท่านก็ถามว่านี่ท่านได้มายังไงนี่ข้าวยาคูอันนี้เราก็อยู่ในป่านะ ท่านได้มายังไง ก็บอกนี่พอเข้าไปบิณฑบาตก็มีชาวบ้านเขาทำถวาย ท่านก็เกิดสำนึกขึ้นมาว่าอยู่ดีๆ ใครเขาจะมาทำข้าวยาคูที่ประณีตอย่างนี้มาถวาย ธรรมดาเขาก็ใส่บาตรด้วยอาหารธรรมดาๆ นี่ถ้าพูดอย่างในเรื่องของธรรมะไม่ใช่เรื่องบุคลาธิษฐาน ก็เท่ากับท่านก็คาดคะเนว่าในขณะที่ท่านคุยกับท่านพระโมคคัลลาน์คือที่ท่านพระโมคคัลลาน์ถามว่าท่านเคยหายด้วยอะไร อาจจะมีใครเดินผ่านมาแล้วก็ได้ยินว่าท่านหายเพราะยาคูอย่างนี้ แล้วพอกลับไปก็เลยรีบทำเพื่อจะได้ใส่บาตรในวันรุ่งขึ้นก็เป็นได้ พอท่านนึกได้อย่างนี้ว่าในธรรมวินัยนั้น พระสงฆ์ไม่ควรขอสิ่งใด ออกปากขอสิ่งใดจากฆราวาสเลยเป็นขาด นี่ท่านไม่ได้ขอสักคำ แต่ท่านก็สันนิษฐานว่าข้าวยาคูอันนี้อาจจะเกิดเพราะเหตุนี้ก็ได้ ถึงแม้ท่านจะไม่ได้เอ่ยปากขอแต่มันก็เกิดขึ้นเนื่องด้วยท่าน ที่ท่านได้ปรารภได้พูดคุยกับท่านพระโมคคัลลาน์ก็ซึ่งเป็นปกติมาก แต่ท่านก็ถือว่าคล้ายคล้ายกับในจิตของท่านคงจะเกิดหิริโอตัปปะอย่างแรงที่ท่านมีอยู่เสมอ อันนี้ก็อย่างแรงก็เตือนให้รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรรับแม้เราจะไม่ได้ออกปากขอโดยตรง แต่มันก็เนื่องด้วยเรา ถ้าหากว่าใครเขาได้ยินได้ฟังเขาได้รู้เรื่องก็เหมือนกับว่าท่านพระธรรมเสนาบดีนี่ได้ทำมลทินด่างพร้อยให้เกิดขึ้นแก่พระธรรมวินัยท่านก็เลยจับบาตรที่เต็มไปด้วยยาคูคว่ำเททิ้งกับดิน ไม่ยอมฉันเลยสักคำเดียว แล้วก็จะด้วยอานุภาพแห่งความงดงามของศีลของธรรมวินัยของท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ก็ปรากฏว่าแล้วท่านก็เลยหาย หายจากการอาเจียนอย่างมาก หายจากการท้องเสียท้องเดินอย่างมาก ท่านก็เลยเป็นปกติ นี่ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่เล่ากันต่อมาในสมัยพุทธกาล แล้วก็ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเมื่อพูดถึงประวัติของท่านพระสารีบุตรว่าท่านเป็นผู้เสียสละถึงอย่างนี้ เสียสละชีวิตเพื่อรักษาพระธรรมวินัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านคงได้สำนึกว่า เราเป็นพระธรรมเสนาบดีเราเป็นพระอัครสาวกยิ่งจะต้องเป็นผู้เป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง ถ้าหากว่าท่านทำอะไรที่ล่วงล้ำในธรรมวินัยเสียอย่างเดียว พระองค์อื่นๆ ย่อมจะต้องถือโอกาสทำตามอย่างง่ายดายเพราะว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนก็ค่อนข้างจะอยากเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว นี่ก็เป็นท่านพระสารีบุตรจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพยกย่องนับถืออย่างยิ่งจากบรรดาพระภิกษุสงฆ์หรือพระพุทธสาวกทั้งหลาย
เมื่อตอนที่ท่านพระสารีบุตรมากราบทูลลาปรินิพพาน คือท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็มากราบทูลลาแล้วท่านก็ไปปรินิพพานที่บ้านของท่าน ซึ่งคุณโยมแม่ของท่านที่ชื่อนางสารี เป็นผู้ที่ไม่ยอมเชื่อถือคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่าท่านสามารถจะโปรดผู้คนทั้งหลายนับไม่ถ้วนแต่ไม่สามารถจะโปรดแม่ของท่านได้ ท่านก็คิดว่านี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายท่านก็ขอลาไป ไปนิพพานที่บ้านของท่าน แล้วก็เป็นโอกาสสุดท้ายจริงๆ ที่ท่านก็ไปเจ็บหนักอีกเหมือนกันแบบที่ท่านเจ็บนี่ซึ่งเป็นโรคประจำตัวอาพาธประจำตัวของท่าน คุณโยมแม่ก็เกิดสงสารเพราะว่าเจ็บหนักอย่างชนิดที่ทั้งถ่ายทั้งอาเจียนเรียกว่า โถใบหนึ่งเข้ามาโถใบอีกใบหนึ่งก็ต้องออกติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา แล้วท่านก็พยายามที่จะพูดธรรมะให้คุณโยมแม่ฟัง คุณโยมแม่ก็ด้วยความรักของผู้เป็นแม่ก็มีจิตใจอ่อนโยนลง ที่เห็นลูกได้รับทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยถึงขนาดนี้แล้วก็ยังมีความพยายามที่จะพูดธรรมะให้ฟัง พอมีจิตใจอ่อนโยนก็ยอมรับฟัง แล้วโยมมารดาของท่านก็บรรลุโสดาบัน จากการที่ท่านอุตส่าห์แสดงธรรมให้แม่ฟังในคราวนั้นและท่านก็นิพพาน พอท่านปรินิพพานแล้วก็มีการเผาศพเสร็จเรียบร้อยก็นำอัฐิของท่านมาถวายพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทราบ กราบทูลเหตุเป็นไปทุกอย่าง ท่านพระอานนท์พอรับ ห่ออัฐิของท่านพระสารีบุตรก็ร้องไห้เสียใจเพราะท่านยังเป็นเพียงแค่พระโสดาบัน ท่านพระอานนท์ทั้งๆ ที่ท่านก็เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก เรียกว่าบรรดาพระสูตรคือคำสั่งสอนทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนแก่ใครๆ พระอานนท์รู้หมด เพราะท่านได้ขอพรพระพุทธเจ้าไว้ก่อนที่ท่านจะมารับหน้าที่เป็นพระพุทธอุปัฏฐากว่า ถ้าหากว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ผู้ใด แล้วก็ในขณะนั้นข้าพระองค์ไม่อยู่ เมื่อกลับมาแล้วขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเล่าธรรมอันนั้นให้ฟังด้วย จะได้จดจำเอาไว้เมื่อมีใครมาถามก็จะได้ตอบเขาได้ มิฉะนั้นเขาจะรู้สึกว่าพระอานนท์นี่เป็นพุทธปัฏฐากเสียเปล่าไม่เห็นรู้อะไรเลย และท่านเป็นผู้ที่มีความทรงจำแม่นยำที่สุด ตอนทำสังคายนาครั้งแรกก็คงจะทราบแล้ว ท่านเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะผู้ทำสังคายนาและท่านก็เป็นผู้ที่เป็นหลักในการบอกเรื่องพระสูตร พระสูตรคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ที่เราไปดูในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า พระสูตรนี่แหละเป็นตอนที่มีจำนวนเล่มมากกว่าพระอภิธรรมมากพระธรรมวินัย ความทรงจำของท่านแม่นยำมากแต่ท่านก็ยังได้เป็นแค่พระโสดาบันยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะท่านไม่มีเวลาที่จะประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นเพราะมีหน้าที่หลายอย่าง ท่านก็ร้องไห้ พอเห็นห่ออัฐิของท่านพระสารีบุตรมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เมื่อสารีบุตรนิพพานแล้วนี่ ได้เอาพระธรรมเอาพระวินัยไปด้วยหมดเลยเหรอ ไม่เหลือเลยเหรอ พระอานนท์ก็กราบทูลว่า มิได้เอาไปหรอกพระเจ้าค่ะ ยังมีอยู่ แต่ข้าพระองค์ก็รำลึกถึงท่านพระสารีบุตร ท่านพระอัครสาวกว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงภูมิปัญญา เฉลียวฉลาด แล้วก็มีเมตตากรุณาต่อบรรดาเพื่อนภิกษุสงฆ์ แสดงธรรมต่างๆ ให้ฟัง ให้มีความรู้ ให้เกิดปัญญา พร้อมทั้งมีการเตือนสติ แนะนำอบรมว่ากล่าวเมื่อจะมีการพลัดพราก เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรนี้เป็นที่พึ่งของพวกเราทั้งหลาย ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณงามความดีอย่างนี้ก็จึงอดที่จะร้องไห้ไม่ได้ นี่ก็แสดงถึงว่า ท่านเป็นผู้ที่ควรแก่การรำลึกถึง เป็นผู้ที่ควรแก่การศรัทธายกย่องเพียงใด
นี่ก็ที่เล่าอย่างนี้ก็เพื่อว่า การที่จะน้อมใจของเราให้เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย นอกจากรำลึกถึง คุณธรรมความงามอันประเสริฐต่างๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ลองนึกถึง คุณธรรมความดีของบรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่เราสามารถจะนึกได้ เพื่อจะเป็นกำลังใจเป็นแบบอย่างให้เรามีความเข้มแข็งในการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้น ทีนี้นอกจากนั้นนี่ยกเป็นตัวอย่างนะคะอาจจะมีท่านอื่นมีองค์อื่นอีกเยอะแยะมากมาย แล้วก็ควรจะหันมาพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของตัวเราเองทุกคน ว่าตัวเรานี้ได้ประพฤติตรงต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากน้อยเพียงใด เคยคิดไหมคะ ทุกทำวัตรเย็นเราสวดว่าอะไร เราสวดว่าอะไร
ข้าพเจ้า เป็นทาสของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิต
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรม ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตต่อพระธรรม
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ มอบกายถวายชีวิตต่อพระสงฆ์
ใครรักษาสัตย์ปฏิญาณอันนี้ไว้ได้อย่างเคร่งครัดครบถ้วนบ้าง นี่แหละควรทบทวนตัวเราเอง มิฉะนั้นเราก็ทำวัตรเย็นไปปาวๆ ไปอย่างนั้นเองไม่มีความหมาย นี่อยากจะพูดนะว่าถ้าเราจะคิดก็ได้ เหมือนคนขี้ปดตัวเองใช่ไหม ศีลข้อสี่มันก็ด่างพร้อยแล้ว เพราะว่าปฏิญาณทุกวันทุกเย็นค่ำ แต่ไม่ได้เคยนึก ฉันเป็นทาสของพระพุทธ ฉันเป็นทาสของพระธรรม ฉันเป็นทาสของพระสงฆ์ มอบกายถวายชีวิต ฉันทำอะไรบ้าง ฉันทำอะไรบ้าง ทำอย่างนั้นรึเปล่า หรือจริงๆ แล้วฉันนี่มีการกระทำที่เป็นเท็จต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์บ้างน้อยเพียงใด นี่ไม่ได้พูดรุนแรง แต่พูดความจริงเพื่อเป็นการเตือนสติให้หันมาคิดพิจารณาของตัวเราเอง เราพูด เราสวด สรณาคมน์
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ สามครั้ง
ถือเอาพระพุทธเป็นที่พึ่ง พระธรรมเป็นที่พึ่ง พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง จริงๆ แล้วระหว่างกิเลสกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเอาอะไรเป็นที่พึ่งมากกว่ากัน นี่คือสิ่งที่ควรพิจารณา ไม่ใช่พูดเล่นๆ ถ้าผู้ใดตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ พิจารณาให้จริงๆ เราเป็นทาสของกิเลส หรือเป็นทาสของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นทาสของตัณหามากกว่าหรือเปล่า ควรจะคิดดู
หรือการสวดกาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา ขออภัยต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขออภัยที่ได้ประพฤติผิดพลาด จะได้แก้ตัวใหม่ จะได้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง สำรวมระวังต่อไป ในขณะที่พูด กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา จิตใจนี่ตั้งมั่นหรือเปล่า ว่าจะแก้ตัว แก้ตัวจริงๆ หรือเอาแต่เพียงว่าพูดให้เสร็จไปแล้วก็แล้วกัน แต่ไม่ได้เคยคิดจะแก้ตัว เคยขี้เกียจอย่างไรก็ยังขี้เกียจอย่างนั้น เคยอยากจะสบายอย่างไร ก็ยังอยากจะสบายอย่างนั้น เคยเป็นทาสของตัณหาแค่ไหนก็ยังจะเป็นเท่าเดิม นี่แหละถึงได้ถามว่า ลองดูตัวเองสิ ได้มีการกระทำที่เป็นเท็จ ต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แค่ไหนเพียงใด และการขออภัยอย่างนั้นมันก็เลยไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้เป็นผู้ไม่ประมาทก็อยากจะขอเสนอให้สวดบทปัจฉิมโอวาททุกขณะจิตของเรา ว่างเมื่อไหร่ไม่ต้องไปสวดอย่างอื่น สวดปัจฉิมโอวาททุกเวลานาที เพื่ออะไร เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ประมาท ความประมาทนี่แหละเป็นทางแห่งความตาย ตายจากอะไร ก็ตายจากการประพฤติพรหมจรรย์ หมดโอกาส จะประพฤติสักกี่ปีก็ไม่มีความหมาย หมดโอกาส เพราะฉะนั้นหมั่นสวดปัจฉิมโอวาท พระองค์ทรงเตือนเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าพูดอย่างคำธรรมดาก็ต้องบอกว่ากำลังจะสิ้นใจอยู่แล้ว อ่อนแรงเพียงใดขอให้ลองคาดคะเนเอาว่าผู้ที่กำลังจะสิ้นใจ เพราะตลอดพระชนม์ชีพทรงเหน็ดเหนื่อย ไม่ได้เคยมีเวลาพัก เสด็จจากเมืองนี้ไปเมืองโน้นด้วยพระบาทเปล่า ไปถึงเมืองไหนก็ไม่ได้เคยอยู่เฉยๆ ตรัสสอนตรัสพูดตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พูดได้ว่าไม่มีเวลาพัก ถ้าไปอ่านพระพุทธประวัติไม่ได้มีเวลาพักเลย กำลังจะสิ้นใจอยู่แล้วยังทรงอุตส่าห์ตรัสประทานปัจฉิมโอวาท ให้คนทั้งหลายได้สำนึก อย่ามัวประมาทอยู่เลย ถ้าประมาทแล้วหมดหนทาง ไม่มีสิ่งใดจะช่วยได้ รู้เท่ารู้ เข้าวัดมากี่สิบปีก็แค่นั้น นึกถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลไว้เป็นอุทาหรณ์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหมั่นสวดปัจฉิมโอวาทอยู่เสมอ ย่อมจะเป็นการส่งเสริมความพากเพียรปฏิบัติความขี้เกียจขี้คร้าน ให้กระฉับกระเฉงว่องไวขึ้น จะเกิดความรู้สึกว่าคุณค่าของชีวิตมันอยู่ตรงนี้ เวลาไม่มากเลย ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ววันเวลานาทีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว อยู่มาจนถึงอายุขนาดนี้ แค่นี้ได้ยังไงก็ไม่รู้ อยู่มายังไง อยู่มาอย่างดีหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้คิด ควรจะได้นึก แล้วก็ระมัดระวัง เพื่อความเจริญก้าวหน้าในการประพฤติพรหมจรรย์ ในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้น แล้วก็หวังว่าจะได้ใช้วันเวลาที่ผ่านไปรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า รำลึกถึงพระคุณของ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ธรรมสวัสดีค่ะ