แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
แต่จะเลือกเรียนอะไรก็ได้แต่ต้องเรียนให้ครบทุกวิชาที่มีในตารางสอนเพราะฉะนั้นเด็กก็มีโอกาสได้พัฒนา พัฒนาสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขามีอยู่แล้วในตัวเขาให้มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่างไทยจังที่ไปมีชื่อเสียงอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเด็กที่ชอบในเรื่องของวิทยาศาสตร์ฉะนั้นพอมาถึงโรงเรียนวิชาแรกที่เขาเลือกเรียนของตัวเขาเองก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเพื่อนผู้ชายที่โต๊ะโตะชอบมาก โต๊ะโตะรักว่าเขาเก่ง เพราะว่าเขาเก่งวิทยาศาสตร์ โต๊ะโตะก็บูชาคนเก่งอุตส่าห์เหลาดินสอให้เขาทุกวันๆๆ ดินสอมีมาก็เหลาอย่างสวย ส่วนของตัวเองน่ะเอาปากกัดเอา แต่ของเพื่อนนี่เหลาให้เขา แล้วก็พวกเด็กๆ เขาก็คิดกันตามประสาเด็กนะคะว่าพอโตขึ้นใครจะชอบกับใคร ใครจะแต่งงานกับใคร แล้ววันหนึ่งไทยจังเขาก็เดินมาบอกโต๊ะโตะว่า โต๊ะโตะจัง โตขึ้นนะ ฉันไม่แต่งงานกับเธอคือเธออย่ามาหวังเลยว่าเธอจะได้แต่งงานกับฉัน
โต๊ะโตะเขาก็งงมากเลย เพราะเขาทำดีกับไทยจังตลอดเวลาแล้วทำไมวันนี้ไทยจังมาบอกว่าเขาจะไม่แต่งงานด้วย แล้วก็โต๊ะโตะเขาก็ไปปรึกษากับเพื่อน เพื่อนนิโยที่เป็นลูกของครูใหญ่ก็เล่าให้ฟัง เพื่อนเขาฉลาดก็บอกว่าใครเขาจะแต่งงานกับเธอ เธอจำได้ไหมวันนี้เล่นมวยปล้ำกันน่ะแล้วเธอเหวี่ยงเขาออกไปข้างนอก แล้วเขาเป็นคนหัวหนักแล้วมีสัญญามากหัวเขาก็กระแทกลงไปกับพื้น ใครเขาจะมาแต่งงานกับผู้หญิงที่เหวี่ยงเขาลง โต๊ะโตะก็บอก นึกไม่ออกเลย เรานี่ชอบไทยจังมากจนกระทั่งเหลาดินสอให้เขาทุกวัน แล้วเราเหวี่ยงเขาไปได้ยังไง นี่เป็นข้อคิดอันหนึ่งใช่ไหมคะว่า ทําไมผู้ชายบางคนไม่ชอบแต่งงานกับผู้หญิงเก่ง หรือผู้หญิงเก่งบางคนไม่สามารถจะแต่งงานได้ นี่เป็นข้อสังวรสำหรับผู้หญิงเก่ง
แล้วก็ท่านก็บอกต่อไปว่า เมื่อเป็นครูถูกต้องตามอุดมคติของตนจริงๆ แล้วนี่ ถ้าเป็นครูที่ถูกต้องตามอุดมคติของตนจริงๆท่านยกย่องว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน หรือมีสถานะเดียวกันกับพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง ยิ่งมีความเข้าถึงอุดมคติของครูมากขึ้นเพียงใด ก็จะรักอาชีพครูมากขึ้นเพียงนั้น ตอนนี้ต้องย้อนถามท่านที่เป็นครูมาแล้วหลายๆ ปี ยิ่งเป็นครูยิ่งรักหรือเปล่าคะ ยิ่งเป็นครูยิ่งรักยิ่งจับใจในความเป็นครู ไม่อยากหนีความเป็นครูไปไหนเลย ถามตัวเองตอบตัวเองไม่ต้องตอบดิฉัน อันนี้แหละคือคำบอกเล่าให้แก่ตัวเองว่า เราจะสามารถพัฒนาความเป็นครูของเรา ให้ยิ่งๆ ขึ้นได้หรือไม่ ถ้าคำตอบเป็นไปในทางลบ ก็เห็นจำเป็นจะต้องจัดแจงจับมันมาปัดฝุ่น อาบน้ำอาบท่าให้สะอาดกลายเป็นดวงใจดวงใหม่ ที่พร้อมจะฟันฝ่าต่อไป ถ้าหากว่าเข้าถึงอุดมคติของความเป็นครูเท่าใด จะรู้สึกว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ชวนทำสนุกสนาน เพลิดเพลิน ร่าเริง ชุ่มชื่นจิตใจตลอดเวลา ไม่มีความเบื่อ นี่ก็เป็นคำพูดเพื่อให้ทดสอบใจตนเอง แล้วดิฉันมีความรู้สึกว่าถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นมันคงเหมือนกับเรายืนอยู่บนยอดเขาสูง แล้วก็มองดูสังคมที่ไหลเวียนผ่านไป ด้วยความรู้สึกว่า เราจะมีอะไรที่จะได้ยื่นมือช่วยเหลือให้แก่สังคมบ้าง
คำว่า “ครู” แปลว่าหนัก คือหนักอยู่บนศีรษะของคนทุกโลก นี่เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านแปลอย่างนี้ คือหนักอยู่บนศีรษะของคนทุกๆ คน เพราะโลกรอดได้ด้วยการกระทำของครู จริงงานครูเป็นงานหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความหนักที่อยู่บนศีรษะของคนทุกคน คนทุกคนจะต้องรู้ถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่เป็นครู เพราะว่าโลกรอดได้ก็ด้วยการกระทำของครูคือความเสียสละ ฉะนั้นครูจึงเป็นปูชนียบุคคลของโลกอย่างแน่นอน ไม่ใช่คำพูดเพราะๆ แต่เป็นคำพูดที่มีความจริง ทำไม เพระครูมีอาการของความรับผิดชอบต่อสังคมใช่ไหมคะ
ครูจะทำเฉยเมยต่อสังคมไม่ได้ สังคมมีความเป็นอยู่ ที่เรียกว่าเต็มไปด้วยปัญหา ครูก็จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องของฉันเป็นเรื่องของสังคม พูดไม่ได้ ทำไมถึงพูดไม่ได้ก็อย่างที่ดิฉันได้ยกว่ากระทรวงศึกษาธิการสำคัญที่สุดนั่นแหละ เพราะไม่ว่าจะออกไปเป็นพ่อค้าประชาชน คนขอทาน นักธุรกิจ นักการเมืองหรือแม้แต่เป็นพระสงฆ์ก็ต้องผ่านสถานการศึกษา ถ้าได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องก็จะไปช่วยทำสังคมให้มีความถูกต้อง เพราะฉะนั้นครูจะปฏิเสธความเจริญหรือความเสื่อมของสังคมไม่ได้โดยเฉพาะความเสื่อม ถ้าเป็นความเจริญครูก็มีสิทธิ์ที่จะยึดด้วยความภาคภูมิใจว่านี่เราได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม พัฒนาสังคมให้สู่ความสุข เมื่อครูได้ทำหน้าที่ช่วยให้ทุกคนมีความสูงในทางจิตทางวิญญาณ ก็ได้ชื่อว่าได้หล่อเลี้ยงชีวิตของโลกไว้ ครูคือผู้หล่อเลี้ยงชีวิตของโลก แต่ถ้าครูเจ้าชู้หรือเห็นแก่ความสวยงามเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางเนื้อหนังหรือทางวัตถุแล้วย่อมไม่มีทางที่จะยกสถานะของวิญญาณ ทางวิญญาณของสัตว์ในโลกให้สูงขึ้นได้เลย
เพราะฉะนั้นกล่าวโดยสรุป คุณสมบัติของครูคืออะไร คำตอบโดยสรุปความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ทุกคนที่ควรสร้างสรรค์ แต่โดยเฉพาะสำหรับครูจะต้องไม่เห็นแก่ตัว อย่างครูโคบายาชิเป็นครูทุกเวลานาที ไม่มีเวลาเป็นอื่น และผู้บริหารก็มีหน้าที่ที่จะส่งเสริมความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันระหว่างเพื่อนครู นี่เป็นหน้าที่สำคัญ ถ้าหากว่าผู้บริหารส่งเสริมความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันระหว่างเพื่อนครูให้เกิดขึ้นได้ ครูก็จะไม่แก่งแย่งกัน เมื่อไหร่ถึงจะถึงเวรฉันสองขั้น ทำไมไม่หมุนมาสักทีไปถึงคนอื่น จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะมีแต่การตั้งหน้าตั้งตาทำงาน แล้วพอสองขั้นมาถึงจะรู้สึกภูมิใจว่ามันคุ้มค่าแก่การที่ได้สองขั้น เมื่อได้ทำงานอย่างเสียสละอุทิศชีวิตจิตใจจริงๆ การที่มีนโยบายเป็นวิธีการTake Turn สองขั้นในระหว่างครูต่างๆ ดิฉันว่านี่ คือการทำลายอุดมคติของครู แล้วก็ทำให้ครูยิ่งกลายเป็นคนทำงานเช้าชามเย็นชาม ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ยังไงวันหนึ่งสองขั้นต้องมาถึงเรา เมื่อดิฉันเป็นเลขานุการกรมวิสามัญศึกษา ในสมัยที่ท่านอาจารย์สนั่น สุมิตร เป็นอธิบดีกรมท่านก็ไม่รู้จักดิฉันมาก่อน ดิฉันก็ไม่ได้รู้จักท่านมาก่อน คำว่ารู้จักนี่คือหมายความว่าไม่ได้คุ้นเคยสนิทสนมเป็นส่วนตัว แล้วท่านก็มาเรียกดิฉันไปเป็นผู้บริหาร คือไปเป็นเลขานุการกรม ดิฉันก็เคยทำแต่งานวิชาการมาเรื่อย แล้วก็ดิฉันรับไปเป็นเพราะตอนนั้นดิฉันกำลังเอือม ถึงจุดที่ว่าเรากำลังจะออกล่ะ แล้วท่านอาจจะได้ยินว่าดิฉันจะลาออกก็ได้ ท่านก็เลยเรียกไป ให้ลองไปเป็นเลขานุการกรมแล้วก็ท่านก็เป็นอธิบดีที่หาได้ยาก คือเลขาไม่ต้องไปคอยประจบประแจงอะไรท่าน ถึงวันเกิดวันปีใหม่ไม่ต้องไปถึงบ้านท่าน ขอให้ทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นเราจึงอยู่ด้วยกันได้ และเวลาถึงเวลาประชุมกรมในการพิจารณาความดีความชอบ เราก็มีความเห็นร่วมกันว่า แม้งบประมาณเราจะมีมาก คืองบประมาณจะมีเหลือ แต่ถ้าพิจารณาจากจรรยาบรรณที่เขียนมา รวมทั้งรายงานที่ได้ทราบเกี่ยวกับครู และครูของเราไม่มีความดีพิเศษพอที่จะได้รับสองขั้นจนกระทั่งหมดเงินที่เรามี ขอเสนอว่าคืนสำนักงบประมาณ แม้เราจะถูกกล่าวหาว่า กรมวิสามัญโง่ ใช้เงินไม่หมด ก็ช่างหัวมัน แล้วก็เราได้ทำอย่างนั้นจริงๆ ด้วย ในสมัยนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นเงินที่ได้รับนี่มันจึงมีค่ามาก มันมีค่าเพราะเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดี การเสียสละ การอุทิศชีวิต เพื่องานครูจริงๆ ไม่ใช่การ Take Turn การ Take Turn นี่มันเป็นการเอาใจลูกน้องมากกว่า ตั้งแต่ระดับสูงขึ้นไป เอาใจลูกน้อง เพราะกลัวลูกน้องจะไม่ชอบ ลูกน้องจะเกลียด ซึ่งอันนี้ไม่ใช่วิธีการ ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนะคะ
เพราะฉะนั้นดิฉันจึงคิดว่า ถ้าผู้บริหารเปลี่ยนวิธีการทำให้ครูในโรงเรียนเกิดการรักใคร่กลมเกลียวกันโดยยึดถือความถูกต้องเป็นนโยบายหรือเป็นบรรทัดฐาน จะเป็นการยกสถานะของการศึกษาให้เจริญขึ้นได้อย่างนึกไม่ถึงเลย แล้วเราจะหนักมากเหนื่อยมากในตอนต้นของการที่เราจะเปลี่ยนแปลง แต่ให้เวลาตัวเองสักหกเดือนอย่างน้อยแล้วทุกๆ อย่างก็จะค่อยๆ ลงตัวแล้วจะอยู่ด้วยกันร่วมกันได้สบาย ได้ยินบางโรงเรียนที่ผู้บริหารจะตามใจครูในโรงเรียนด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องหลายๆ อย่างซึ่งไม่อยากพูด ฟังแล้วมันน่าอนาถใจ แล้วก็ผู้บริหารอย่างนั้นควรจะได้รับการโยกย้ายแล้วก็ไม่ใช่โยกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการที่อื่น แต่ควรจะโยกย้ายไปเป็นครูน้อยในที่กันดารที่สุด
นี่เป็นความจริงนะคะเพราะว่าวิธีการที่กระทรวงใช้เวลานี้ ผู้ที่ไม่ดีตรงนี้เอาไปไว้ตรงอื่น มันก็เหมือนกับเอาขยะจากตรงนี้ไปอยู่ตรงอื่นมันก็เป็นเหมือนไปเน่าที่อื่นอีก นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นควรจะมีวิธีการทำอย่างนั้น เราถึงจะเป็นการปรับปรุงจิตวิญญาณของครูให้ดีขึ้นให้สูงขึ้น เพราะมิฉะนั้นก็บอกไม่เป็นไร ย้ายจากนี่ไปอีก แล้วก็ไปทำให้คนอื่นเขาเสียต่อไป
ฉะนั้นหน้าที่ของสังคมต่อครู ครูมีหน้าที่ต่อสังคมก็คือช่วยแก้ไขอย่างที่ว่าแล้ว ช่วยสร้างเด็กออกไปให้สามารถทำหน้าที่ได้ถูกต้องโดยเฉพาะหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามีเป็นภรรยาแล้วก็เป็นพ่อเป็นแม่เพื่อสร้างครอบครัวให้อบอุ่นแล้วเด็กก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีที่จะมาเรียนหนังสือด้วยสุขภาพจิตที่ดี พร้อมที่จะเป็นนักเรียนที่ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาต่อไป ฉะนั้น เมื่อครูเป็นผู้ช่วยยกวิญญาณทั้งของศิษย์และของสังคม สังคมก็ต้องมีหน้าที่ตอบแทนครูด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่จะมาเรียกร้องจากครูอย่างเดียว ควรจะต้องมีหน้าที่ตอบแทนครูด้วยการให้ความสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการสอนการอบรมศิษย์ เหมือนอย่างเช่นกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าอยากได้ครูดีก็ต้องสนับสนุนครูให้ความสะดวกแก่ครู ให้ความสะดวกแก่ครูด้วยการให้เวลาให้ครูได้สามารถทำหน้าที่ของครูให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าดึงครูไปใช้งานอื่นโดยเฉพาะครูในต่างจังหวัด ทราบว่าต้องเสียเวลาไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ของครูนี่อีกมากเลย แล้วก็ครูที่อยู่ในต่างจังหวัดก็ยากที่จะปฏิเสธเพราะว่าในจังหวัดมันเป็นที่แคบๆ มันก็ต้องเห็นหน้ากัน เรียกว่าเขาพึ่งเราเราพึ่งเขา แต่ทำอย่างไรถึงจะให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำความเข้าใจกับกรมการจังหวัดที่อยู่ในสังกัดกระทรวงอื่นในแต่ละจังหวัด ได้มีความเข้าใจในหน้าที่ของครู ให้โอกาสครูแล้วก็ให้ถือว่า ความสำเร็จของจังหวัดนั้นเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาก็คือพิสูจน์ที่นักเรียนที่มีพฤติกรรมอันน่ายกย่อง สามารถจะทำตนเป็นประโยชน์แก่สังคมของจังหวัดแล้วก็เป็นที่น่านับถือเป็นตัวอย่างได้ แก่โรงเรียนอื่นด้วย ทำไมถึงจะทำให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำความเข้าใจอันนี้ได้ เคยเสนอไปเมื่อปีก่อนนี้ได้มีการพูดกันถึงว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดของกระทรวงศึกษาเวลานี้ก็คือกระทรวงศึกษาธิการไม่มีบุคลากรในการที่จะมาสอนธรรมะ หรือจะมาพัฒนาในเรื่องการสอนจริยธรรมให้ได้ผล ก็ได้เสนอให้ฟังว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องทำคือการสร้างคน สร้างครูที่สามารถจะเข้าใจในเรื่องของธรรมะอย่างถูกต้องแล้วก็อุทิศตัวเพื่อไปเป็นครูสอนจริยธรรม
แต่ครูคณะนี้นะคะที่ได้รับการอบรมแล้ว มีความรู้แล้วนี้จะต้องอยู่ทำงานเพื่อธรรมะและจริยธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าพออบรมเสร็จก็กลับไปโรงเรียนของตน ถ้ากลับไปอยู่โรงเรียนของตนก็จะถูกกลืนไป ถูกกลืนหายไปไม่ช้าก็เร็วเพราะเรื่องของธรรมะเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งแล้วก็เป็นศาสตร์ที่จะต้องได้รับการฝึกฝนอบรม เรียกว่าจะต้องฝึกวิทยายุทธเหมือนกันของการเป็นครูจริยธรรม เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้อยู่รวมกันจะได้ปรึกษาฝึกฝนอบรมซึ่งกันและกันแล้วก็ทำงานด้วยกันหน้าที่เดียว แล้วก็จะได้รู้ว่าควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการรับไม่ได้ ที่รับไม่ได้ก็เพราะว่าดิฉันเสนอว่าจะต้องมีสำนักงานรับรองคณะครูคณะนี้ เพราะการทำงานเราต้องการสวัสดิการ เราต้องการความมั่นคงปลอดภัย เราต้องแน่ใจว่าเราทำงานแล้วเรามีความเจริญก้าวหน้า เพราะนี่มันเป็นธรรมชาติของการทำงานทุกคนของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจะมาทำงานอยู่ในหน่วยงานนี้ แล้วจะไปสังกัดโรงเรียนโน้นโรงเรียนนี้ พอถึงเวลาขึ้นเงินเดือน ครูใหญ่หรือผู้อำนวยการก็มักจะรังเกียจว่าไม่ได้ทำงานให้กับเขา เพราะฉะนั้นกระทรวงจะต้องจัดหน่วยงานนี่เพื่อรับรองหน่วยงานนี้ และหน่วยงานนี้จะเป็นเหมือนกับกองทัพธรรมของกระทรวงที่จะต้องเดินหน้าเรื่องของจริยธรรม ที่จะให้มีธรรมศาสตร์เป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวงอย่างเดียว แต่ผู้ใหญ่ในกระทรวงบอกว่าเป็นเรื่องยากที่สุดที่จะทำได้ เราก็รู้ว่ายาก แต่ดิฉันก็บอกว่าถ้าเงื่อนไขอันนี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้อง เพราะว่าถ้าทำแล้ว แล้วครูล้มละลาย ไม่คุ้มเหนื่อยในการที่เราจะทำ แล้วยิ่งจะไปขอให้กระทรวงพูดกับคณะกรมการจังหวัด เพื่อขอเวลาและโอกาสให้ครูได้ทำหน้าที่ของครูได้เต็มที่ ท่านผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่า ผมจนปัญญาจริงๆ เลย ถ้าจะไปพูดเรื่องนี้ เห็นด้วยครับ เห็นด้วย แต่ว่ายากที่สุดเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าเวลานี้ท่านผู้บริหารทั้งหลายจะต้องช่วยตัวเองว่ายไปก่อน ว่ายทวนกระแสไปก่อน ช่วยตัวเองไปก่อน จนวันหนึ่งนี่ ถึงเวลาที่จะมีผู้กล้าหาญออกมาจากกระทรวง มาเดินหน้าเพื่อที่จะให้ครูมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของครูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วลูกศิษย์ก็จะได้เล่าเรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องถึงวันสอบไล่ก็มาเขียนคำตอบไว้ให้ในกระดานดำ เพื่อว่าลูกศิษย์จะได้สอบได้ และก็มีสถิติส่งรายงานกระทรวงว่าลูกศิษย์สอบได้ครบตามนี้ ซึ่งมันเป็นการหลอกอย่างชนิดที่น่าละอาย อย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ
เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องตอบแทนครู และผู้ที่ต้องตอบแทนครูก่อนอื่นคือกระทรวงศึกษาธิการ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการขาดครูกระทรวงศึกษาธิการจะตั้งเป็นกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงควรจะตอบแทนครู ด้วยการช่วยเหลือทุกประการที่ให้ครูได้มีโอกาสทำงานในหน้าที่ครูให้เต็มที่ แล้วก็รวมทั้งสังคมด้วย โดยเฉพาะสังคมพ่อแม่ สังคมครอบครัว จะต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครู ให้ครูได้ทำงานในหน้าที่ของครูอย่างเต็มที่ และสิ่งใดที่เป็นปัญหาของโรงเรียน ถ้าหากว่าทางบ้าน เช่น สมาคมผู้ปกครอง สมาคมนักเรียนเก่า สามารถที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทางโรงเรียนได้ ซึ่งโรงเรียนในฐานะเป็นราชการ ไม่สามารถจะทำอะไรได้เพราะมันมีระเบียบควบคุมอยู่หลายอย่าง ถ้าได้สมาคมเหล่านี้ซึ่งเป็นสมาคมเอกชนช่วยเหลือ ก็จะสามารถทำให้การทำงานของครูเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น แล้วก็การดูแลนั้น ก็ควรจะดูแลไปจนกระทั่งถึงสวัสดิการของครู และครูไม่ควรที่จะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าหน่วยงานอื่น แต่ว่าไปที่จริงนี่ ถ้าได้รับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ แล้วก็ใช้อย่างผู้มีธรรมะ อย่างไม่เป็นทาสของวัตถุ พอใช้ไหม มันก็พอ พอเป็นพอไปใช่ไหมคะ แต่นี่เพราะเหตุว่าได้ตกเป็นทาสไปเป็นเหยื่อของวัตถุนิยม อย่างที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็น แต่ว่ามันไหลตามกระแสค่านิยมของเขา จึงทำให้ครูไม่พอใช้ ไม่พอจ่าย แล้วก็เกิดการเป็นหนี้เป็นสิน พอเกิดการเป็นหนี้เป็นสินเข้า มันก็ทำให้วิญญาณของครูคลอนแคลน แล้วก็รู้สึกมีปมด้อย ไม่สามารถจะรักษาศักดิ์ศรีทั้งปวงไว้ได้ มันต่อกันไปเป็นทอดๆ
ดิฉันเคยพูดเล่นๆ กับผู้ใหญ่ทั้งหลายนี่บอกว่า ถ้าเป็นไปได้นะ เรามีการชำระหนี้สินให้กับกระทรวงสักครั้งหนึ่งดีไหม เรียกว่าโละหมด แต่ไม่ใช่โละอย่างชนิดไม่มีการตอบแทนนะคะ หมายความว่า ก็จะต้องมีการตอบแทน คือคำว่าตอบแทนก็คือว่า ครูก็จะต้องชำระเงินหนี้สินนั่นแหละ คืนให้กับกระทรวง แต่ถ้าว่าคืนอย่างชนิดไม่ต้องเสียดอกเบี้ย มันก็ยังค่อยยังชั่วหน่อย ถ้าเสียดอกเบี้ยเข้ามันก็มาก ถ้าสามารถทำได้บางทีอาจจะช่วยให้อิสระแก่ครู แต่ในขณะเดียวกันจะต้องมีการควบคุมวินัยของครูอย่างเข้มงวด และครูก็ต้องยอมตามเงื่อนไขอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่สังคมควรจะต้องตอบแทนครู ในเรื่องของสวัสดิการ และก็ในเรื่องของความสะดวกในการทำงาน ส่วนเรื่องของหลักสูตรนั้น ก็ดังที่พูดแล้วเมื่อเช้านี้ ยาก เรื่องของหลักสูตรนี่ยาก เพราะว่านโยบายของการทำหลักสูตร เขาถือว่าทำครั้งหนึ่งนี่ ต้องลงทุนมาก ลงทุนมากก็ใช้มันไปจนกว่าจะคุ้มที่ลงทุน สิบปี ยี่สิบปีใช้ไปจนกว่าจะมีใครร้องเรียนขึ้นมา ถึงจะเอามาแก้สักที แต่ก็แก้ไขอย่างชนิดขอไปทีก็มี เช่น การแก้เรื่องของหลักสูตรจริยธรรมเป็นต้น เพราะฉะนั้นนี่ เรายังไม่ได้มาถึงจุดของการทำงานอย่างมีความรับผิดชอบเพราะเรายังไม่ได้แก้อย่างถูกจุด เพราะฉะนั้นก็จงเห็นเถิดว่า สิ่งทั้งหลายที่เราพูดกันนี่ มันตกภาระอยู่บนอกของคุณครูอาจารย์ผู้บริหารทั้งนั้นเลย ยังมีแรงอยู่หรือเปล่าคะ ถ้ามีแรงก็เดินต่อไป ถ้าไม่มีแรงก็หยุดพักเอาแรงด้วยอานาปานสติ แล้วก็ให้มันมีแรงขึ้นมาทีละน้อยละน้อยแล้วก็ค่อยเดินต่อไป แต่เราจะทิ้งไม่ได้ตราบใดที่เราเป็นครู แล้วก็เป็นที่น่ายินดีที่ท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูปัจจุบันนี้มีความสนใจมากในการที่จะพัฒนาเรื่องของการฝึกหัดครูให้ได้ครูที่มีคุณภาพขึ้น แต่ก็อ่านข่าวเมื่อสองวันนี้ก็ปรากฏว่าอาจจะมีการโยกย้ายอธิบดีกรมการฝึกหัดครู สลับกันกับกรมอื่น จริงหรือไม่จริงไม่ทราบนะคะ แต่ว่าได้ข่าวว่าอย่างนั้นซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายอีกเหมือนกัน นี่คือการที่ไม่ได้ดูการทำงานเพื่อจะให้เกิดความต่อเนื่อง ว่าอะไรจะเกิดประโยชน์ มันก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าตราบใดที่เราไม่ได้ใช้ธรรมะในการพิจารณาและใคร่ครวญในการทำงาน
ฉะนั้นหน้าที่ของครู ถ้าจะเอาโดยสรุปก็คือ ต้องเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้เอา เมื่อสมัยดิฉันเป็นนักเรียน ไม่เคยรู้หรอกว่าการกวดวิชาเขาทำกันยังไง ถ้าเราจะกวดวิชาลูกศิษย์ ก็คือมาหาครูที่บ้าน และครูก็ให้ทั้งเวลา ทั้งขนม ข้าวต้มข้าวปลา เลี้ยงดูปูเสื่อเสร็จแล้วลูกศิษย์ก็กลับบ้าน เพราะฉะนั้นไม่รู้ว่าการกวดวิชาเป็นยังไง แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินหนาหูเหลือเกินว่า ถ้าจะเรียนให้รู้กันจริงๆ ต้องไปที่โรงเรียนกวดวิชา เพราะในห้องเรียนนี่ครูจะสอนอย่างออมมาก ออมความรู้ ออมแรง ออมสมอง เอาเก็บไว้ไปสอนตอนกวดวิชาจะได้เก็บเงินแพงๆ นี่คือ ไม่ใช่ครู สมกับที่ท่านอาจารย์ท่านเรียกว่าลูกจ้าง เพื่อที่จะเอาเงินกับลูกศิษย์แล้วก็กระตุ้นเหลือเกินเพื่อจะให้ลูกศิษย์กวดวิชา เคยถามไหมคะ ท่านผู้บริหารทั้งหลายเคยถามตัวเองไหม ทำไมมันถึงต้องมีการกวดวิชากัน ประถมก็กวดวิชาเพื่อจะไปขึ้นมัธยม อนุบาลก็กวดวิชาจะไปเข้าอนุบาล กวดวิชากันทำไม ทำไมถึงจะต้องกวดวิชา นี่เป็นสิ่งที่น่าจะนำมาเป็นข้อมูล เพื่อที่จะวิจัยว่า การให้การศึกษาในโรงเรียน หรือวิทยาลัยก็ดี สมบูรณ์แล้วหรือยัง ถ้าสมบูรณ์แล้ว การกวดวิชามันไม่จำเป็นอะไรเลยสักอย่างเดียว การกวดวิชานี่มันน่าที่จะต้องล้มเลิก หายไป ให้ครูสอนให้เต็มที่ แล้วก็นักเรียนก็ต้องการการพักผ่อน ใช่ไหมคะ ต้องการการพักผ่อนสมอง พักผ่อนร่างกายบ้าง พอเรียนจากห้องเรียนเสร็จแล้ว ก็ต้องไปกวดวิชาต่ออีก แล้วก็จะเอามันสมองที่แจ่มใสที่ไหนมา เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งบั่นทอนความเจริญ ทั้งของการศึกษา ทั้งของจริยธรรมของครู และก็พัฒนาการของเด็กด้วย
ฉะนั้น ครูต้องเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้เอา นอกจากเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้เอาแล้ว ยังต้องเป็นผู้กล้าสอน กล้าอบรม กล้าพูด ในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะเป็นการทวนกระแส นี่เป็นหน้าที่ของครู ครูจะต้องเป็นผู้กล้า ถ้าครูไม่กล้าสอนไม่กล้าอบรมไม่กล้าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วใครจะพูดใครจะสอน นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นผู้ป้องกันศิษย์ในทุกทาง ครูจะต้องมองอย่างรอบด้าน อันตรายอะไรที่จะเกิดขึ้นแก่ศิษย์ เดินไปทางไหนจะพบอะไรเป็นอุปสรรคขวากหนามป้องกันหมด ดิฉันอยากเรียนขอร้องทุกท่านโปรดไปอ่านเชิงผาหิมพานต์ และนึกถึงความเป็นครูของท่านครูวิศวามิตร นอกจากจะให้วิชาความรู้อย่างชั้นเลิศแก่ลูกศิษย์แล้ว ต้องกล่าวว่าท่านเป็นผู้ป้องกันศิษย์ในทุกทาง ให้เห็นว่าความบาดหมางกัน ความขัดเคืองกัน แก่งแย่งแข่งดีกันไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย แล้วท่านก็มีกลเม็ดวิธีการที่จะฝึกอบรมเด็กซึ่งอาจจะได้ตัวอย่างวิธีการที่เราจะมาใช้ฝึกอบรมแก้นิสัยที่ไม่ดีไม่งามของลูกศิษย์ของเราด้วย น่าจับใจมากในเรื่องนี้ กล่าวถึงประวัติของท่านพระอานนท์อนุชาแต่ว่าที่น่าจับใจที่สุดก็คือความเป็นครูของท่านครูวิศวามิตร ที่เป็นผู้ป้องกันศิษย์ในทุกทาง กล้าสอนกล้าอบรมในสิ่งที่ถูกต้องและที่สำคัญที่สุดก็คือว่าท่านได้ใช้ธรรมศาสตร์เป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวง
ท่านใช้อันนี้ใช้ธรรมศาสตร์เป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวง วิชาที่ท่านสอนนี่เยี่ยมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการยิงธนู การขี่ม้าการฟันดาบหรือว่าใช้อาวุธสั้นอาวุธยาวอะไรทุกอย่าง ตลอดจนกระทั่งศาสตร์อื่นๆ ที่เป็นวิชาความรู้อย่างเยี่ยมทั้งนั้น แต่ทุกศาสตร์จะต้องมีธรรมศาสตร์เป็นรากฐาน แล้วก็ลูกศิษย์ที่ได้รับความสำเร็จก็เพราะมีธรรมศาสตร์เป็นรากฐานจึงคอยควบคุมใจไม่ใช้ความรู้ความฉลาดของตัวไปเอาเปรียบผู้อื่น
นอกจากนี้ ในการสอนหน้าที่ของครูก็สอนเพื่ออนาคตของศิษย์ด้วย จริงอยู่การสอนที่ศิษย์อยู่กับปัจจุบันขณะแต่ก็สอนเพื่ออนาคตของศิษย์ และสุดท้าย หน้าที่ของครูคือเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรก็คือมิตรที่ดี มิตรที่หวังดีปรารถนาดีตักเตือนบอกกล่าวแนะนำ เพื่อให้เดินไปสู่หนทางที่ถูกต้องจนตลอดชีวิต แล้วรางวัลของครูอยู่ตรงไหน เมื่อตอนที่วันหนึ่งเราเป็นครูแก่ๆ ใครๆ เขาก็จำไม่ได้ นั่งอยู่ก็มีลูกศิษย์แต่งตัวโก้หร่านเป็นนายพล พลตำรวจ พลทหารเป็นนักธุรกิจดีเด่นแนวหน้ามาถึงก็มากราบที่ตักของครู ครูปอนๆ ซอมซ่อคนหนึ่งนั่งอย่างไม่มีใครรู้จัก นั่นแหละคือรางวัลของครูใช่ไหม นี่แหละที่บอกว่าครูอยู่เป็นสิ่งที่หนักอยู่บนหัวของคนทั้งโลก หนักตรงนี้ เวลาดิฉันอ่านหนังสือประวัติของผู้ที่เสียชีวิตหรือที่เขาแจกงานศพ ดิฉันชอบอ่านประวัติมากแล้วก็โดยมากมีหลายเล่มที่จะอ่านแล้วก็ผ่านๆๆๆ ไป ถ้ารู้ว่าผู้เขียนเขียนเพราะถูกลูกเขาขอให้เขียน ถูกหลานถูกคนรู้จักเขาขอร้องให้เขียน ไม่รู้จะเขียนทำไมเขียนอย่างนั้นไม่มีความหมายอะไร แต่ก็ได้อ่านของบางท่านเคยเล่าแล้วอย่างของคุณหลวงสำเร็จวรรณกิจ
บัดนี้ก็คงจะน้อยท่านจริงๆ ที่จะได้ยินชื่อท่านใช่ไหมคะ คุณหลวงสำเร็จวรรณกิจท่านเป็นอาจารย์ภาษาไทย ที่วิเศษมากหาตัวจับได้ยาก แล้วก็สามารถในการสอนเรียงความได้อย่างเฉียบขาดเหลือเกิน ใครที่เกลียดเรียงความไปเรียนกับท่านก็ต้องรักเรียงความแล้วก็สามารถเขียนเรียงความได้ดี และก็ตำแหน่งสุดท้ายของท่านก็เคยเป็นอธิบดีกรมอาชีวะในกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดเวลาที่เคยเห็นท่าน ท่านแต่งตัวยังไงท่านก็แต่งตัวอยู่ตามเดิม ไม่ว่าใครเขาจะเปลี่ยนไปเป็นสากล เป็นสูทโก้หร่านยังไง ท่านก็นุ่งผ้าใส่เสื้อกระดุมผ้าเม็ดสมัยโน้นนะคะ แล้วบ้านของท่าน ตั้งแต่ท่านเป็นครูจนกระทั่งท่านเป็นอธิบดี ก็คือบ้านเรือนไทยเก่าๆ หลังหนึ่ง ท่านสิ้นชีวิตไปก็อยู่แต่ในเรือนไทยเก่าๆ คือดิฉันเคยไปที่บ้านท่าน
แต่ว่าพอดิฉันอ่านหนังสือที่แจกในงานศพท่าน รู้สึกจับใจ จับใจมากเลย เพราะว่าบรรดาผู้ที่เขียนคำไว้อาลัย ซึ่งก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของท่าน และก็เป็นผู้ใหญ่ผู้โตในบ้านในเมือง ในสมัยนั้นนะคะ และก็ผู้ใหญ่ผู้โตหลายคนที่เขียนก็ไม่ใช่คนที่เราอยากจะไหว้ แต่อย่างไรก็ตาม คำพูดที่ออกมาจากใจของเขาที่เขาเขียนถึงคุณครูหลวงสำเร็จวรรณกิจของเขานี่ มันล้วนแล้วแต่มาจากความเคารพนับถือ ยกย่อง เทิดทูนในความเป็นครูจริงๆ ท่านผู้บริหารไม่รู้หรอก รู้มาหมดแล้ว แต่ก็มาถูกฟังซ้ำอีก บางทีก็อาจจะเป็นการทบทวนหรือบางทีมันผ่านไปนานๆ เข้า เกิดความเคยชิน ก็อาจจะลืมไปบ้าง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดก็เป็นสิ่งที่พูดด้วยความจริงใจและก็ด้วยความรู้สึกในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ประจำการแต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นครูและก็ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการเป็นครู พอออกมาแบบนี้ก็ไปเรียนบรรดาท่านอาจารย์ตั้งแต่ไปอยู่กับท่านอาจารย์หลวงพ่อชาที่อีสาน แล้วท่านอาพาธก็ต้องมาอยู่กับท่านอาจารย์ที่สวนโมกข์ก็เรียนท่านทั้งสองท่านบอกว่าไม่อยากพูด ที่มาอยู่นี่อยากมาอยู่เงียบๆ เพราะพูดมามากแล้ว ต้องการมาอยู่เงียบๆ ฝึกอบรมใจตัวเองแต่ก็อิทัปปัจจยตาคือเหตุปัจจัยที่สวนโมกข์ ที่จะให้ใครๆ ก็ได้มาศึกษาธรรมะมาปฏิบัติธรรม มันก็เลยเป็นเหตุปัจจัยให้ต้องกลายมาพูดธรรมะต่อไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วก็ไม่ได้อยากที่จะเป็นแต่ก็จำเป็นจะต้องทำตามหน้าที่ มีคำถามไหมคะเชิญได้ค่ะ เป็นคำอภิปรายก็ได้ค่ะ ไม่เห็นด้วยก็ได้ค่ะ เชิญค่ะ
(เสียงคำถามไม่ชัด)
สำหรับเด็กที่พูดหยาบนะคะ ก็คงต้องอาศัยครูทุกคน ไม่เฉพาะแต่ผู้อำนวยการที่จะต้องพูดกับเด็กด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง แม้แต่การดุนี่ จะดุให้เจ็บเท่าไหร่ก็ได้ แต่จำเป็นต้องด่าไหมคะ ไม่จำเป็นเลย บางทีพูดให้เจ็บ จนแสบไส้นี่ แต่ไม่ต้องด่าเลยสักคำ เพราะฉะนั้นก็หากว่าบรรดาครูอาจารย์ทุกคน ใช้ถ้อยคำที่ไม่อยากจะดุ แล้วก็อย่าขาดความอดทน พูดไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเด็กก็จะต้องค่อยๆ ดีขึ้น เหมือนอย่างที่อาจารย์พูดว่าเขาคงรู้สึกตัวเขาก็ตกต่ำตัวเขาเอง ใช่ไหมคะ ที่แสดงแล้วว่าเขามีจิตสำนึกที่อยากจะแก้ไขปรับปรุง ก็ไม่สาย ไม่สายในการที่จะแก้ ขอให้ครูอย่าเสียกำลังใจ ทำต่อไป
ทีนี้ส่วนเด็กลูกข้าราชการนั่นน่ะ ที่อาจารย์ว่าลูกเป็นคนแทง พ่อเป็นคนให้เงิน นี่แหละ มันแสดงถึงเหตุปัจจัยหรืออิทัปปัจจยตาของสังคม พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ อิทัปปัจจยตาของสังคม ที่สังคมขาดธรรมะ แม้แต่คนเป็นพ่อก็ทำหน้าที่พ่อไม่ถูกต้อง ส่งเสริมลูกให้เสื่อมทราม เพราะฉะนั้นก็จึงเรียกว่าเพราะสังคมขาดธรรมะ เขาไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้องจึงไม่สามารถทำหน้าที่ของพ่อที่ถูกต้องได้ เขาจึงได้มาทำให้ลูกของเขานี่กลายเป็นคนติดการพนันตกเป็นทาสของการพนันเพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไขเดี๋ยวนี้ตัวต่อตัว เรามีอำนาจที่จะทำอะไรเช่นนั้นไหม เช่นเป็นต้นว่าบอกตำรวจให้ตำรวจจับไปเลย จับพ่อนะไม่ได้จับลูก หากว่าเรายังทำไม่ได้เราก็ต้องรีบมาขวนขวาย รวมกลุ่มกันในบรรดาพวกครูอาจารย์หรือผู้บริหารหรือสมาคมครู มาช่วยพิจารณากันว่าเราจะแก้ปัญหาในเรื่องการพนันที่มันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยอันนี้ได้อย่างไร และก็บางทีพ่อที่เป็นข้าราชการนั่นก็คงจะต้องเป็นผู้ปกครองคนหนึ่ง ก็เชิญเข้ามาด้วย ใช้หลายๆ วิธีตะล่อมกันก็อาจจะค่อยๆ ช่วยแก้หนักเป็นเบา แต่ถ้าจะให้หายจริงๆ ก็ต้องเริ่มธรรมะ จริยธรรมที่ถูกต้องในโรงเรียนแล้วก็รอเวลาอีกสักนิดก็อาจจะใสขึ้น มีคำถามอื่นอีกไหมคะ
(เสียงคำถามไม่ชัด)
ค่ะ ประทานโทษ เป็นเด็กกำพร้าหรือคะ
อำเภออะไรคะ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ฟังมานี่ ปัญหาของอาจารย์อยู่ที่คน ทุกคนคือครู อย่างอื่นพร้อมหมด
ค่ะ เรียกว่าก็นับว่าโชคดีมาก แต่ปัญหาคนคือปัญหาหนักที่สุด ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะรับคน อย่างน้อยถ้าหากว่าเขาขอตัวอาจารย์มา แล้วอาจารย์เคยเป็นผู้อำนวยการ แล้วอุตส่าห์ลดลงมารับเป็นครูใหญ่ ก็นับว่าเป็นความเสียสละ เพราะฉะนั้นจึงควรจะสามารถมีเงื่อนไขได้ เงื่อนไขก็คือเงื่อนไขการขอรับครูเข้าในโรงเรียน ว่าให้ที่นี่มีสิทธิ์ในการที่จะเลือกครูบ้าง เพราะความหลากหลายของนักเรียนที่มาจากที่ต่างๆ นั้นต้องการครูที่มีคุณภาพและวิญญาณของครู ดิฉันว่า ถ้าดิฉันเป็นอาจารย์อันแรกดิฉันต้องยื่นเงื่อนไขอันนี้ ว่าขอเลือกคน คนที่มีคุณภาพ
ถ้ามิฉะนั้นก็ต้องให้มีการแยกย้ายออกไปจากที่ใดที่หนึ่ง คือพอไปถึงนี่นะคะ พอไปถึงขั้นแรกนี่ ก็น่าจะได้มีการประชุม ประชุมครูซึ่งอาจารย์อาจจะตั้งใจทำอยู่แล้ว แล้วเสร็จแล้วเราก็ปรับความเข้าใจทำความเข้าใจกัน ในเรื่องที่ว่าทำยังไงถึงจะพัฒนาโรงเรียนของเรา ให้เป็นโรงเรียนที่มีพร้อมทั้งวิชาและวิชชา แล้วอาจารย์ก็คงจะดูว่า ครูคนไหนพร้อมที่จะร่วมมือ แล้วก็ครูคนไหนยังไม่พร้อมแต่ก็ยังพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเขาเอง ก็ให้โอกาส ถ้าครูคนไหนที่ไม่พร้อมจริงๆ ก็น่าจะเป็นเงื่อนไขที่จะต้องขอ ขอคนที่มีคุณภาพ ดิฉันเองถือเรื่องของคนนี่สำคัญมากกว่าอย่างอื่นในการทำงาน จะเป็นงบประมาณหรือจะเป็นอะไรยังมาทีหลัง หากว่าคนมีคุณภาพร่วมใจเข้าใจในการทำงานความสำเร็จมันมากว่าครึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุนในเรื่องคน ว่าอาจารย์ขอยื่นเงื่อนไขเพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพ แล้วก็กิจกรรมธรรมะต่างๆ อย่างบริหารกายบริหารจิตนี่นะคะก็เชื่อว่าหลายโรงเรียนคงจะนำไปใช้ได้กับเด็กๆ แล้วก็กับครูด้วย ซึ่งก็ที่มีบริหารกายบริหารจิตนั้นก็เพื่อเป็นเหมือนกับแบบฝึกหัดนะคะ เป็นแบบฝึกหัดของการที่จะทำงานในการที่จะไปอบรมในเรื่องจริยธรรมได้อย่างจริงๆ อย่างเป็นรูปธรรม อยู่อำเภอนี่ไกลสักแค่ไหนคะ... และหนทางไปก็สะดวก... อาจจะต้องลองดูเวลาโรงเรียนปิด อาจารย์อยากจะพาคณะครูชาวกาญจนบุรีมา แต่ว่าสมัครใจนะคะ แล้วถ้าใครที่ไม่สมัครใจก็ต้องอย่าให้เป็นอุปสรรคในการที่จะพัฒนาของเด็ก แล้วก็ต้องติดต่อมาล่วงหน้า มีอะไรอย่างอื่นอีกไหมคะ เชิญค่ะ
(เสียงคำถามไม่ชัด)
เป็นปัญหาที่น่าสนใจ แล้วก็เชื่อว่าคงจะเกิดขึ้นในหลายโรงเรียนไม่เฉพาะแต่ของที่โรงเรียนนี้นะคะ อยากจะขอฟังความเห็นของท่านผู้บริหารที่นั่งอยู่ในที่นี้ค่ะ ซึ่งเชื่อว่าคงจะได้มีประสบการณ์ในโรงเรียนคล้ายๆ กับที่อาจารย์พูดมา ท่านผู้บริหารท่านใดจะช่วยให้ความเห็นในเรื่องนี้บ้างคะ จะช่วยให้คำแนะนำในเรื่องนี้บ้าง มีไหมคะ
เป็นเรื่องของเราร่วมกันนะคะ ไม่ใช่เรื่องของที่ใดที่หนึ่งแห่งเดียว ลองให้ความเห็นสิคะ มีไหมคะ เด็กที่ถูกทอดทิ้งจากการสอน เพราะครูสอนเช้าชามเย็นชาม เด็กจึงไม่มีความรู้ แล้วก็พอมาถึง ป.6 เด็กก็อยากจะสอบได้ อยากจะผ่านออกไป ผู้ปกครองก็อยากให้สอบได้ ถ้าสอบไม่ได้ก็เสียหน้า แล้วเราในฐานะเป็นครู ซึ่งเรารู้อยู่แก่ใจว่า เรามีหน้าที่ยกวิญญาณ คือทำสติปัญญาที่ไม่ฉลาดให้ฉลาด แล้วเราจะส่งเด็กไม่ฉลาดออกไป โดยเรารู้ว่าส่งไปแล้วเขาก็ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ตามระดับชั้น เราจะทำยังไง มีไหมคะ จะช่วยแนะนำแก้ไขได้ไหมคะ มีไหมคะ เชิญค่ะ อยากฟังค่ะ
(ผู้ร่วมสนทนา เสียงไม่ชัด)
ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ คือพอได้ฟังอาจารย์ขจรศรี ใจดิฉันก็อยากจะถามว่า แล้วผู้บริหารล่ะ คือครูใหญ่อาจารย์ใหญ่เป็นยังไง ถ้าหากว่าผู้บริหารโรงเรียนให้ความเอาใจใส่ แล้วก็มองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา วิธีที่จะตะล่อมชักชวนพวกครูในโรงเรียนให้มาร่วมมือกัน ให้มาช่วยกันแก้ไขปัญหา มันเป็นไปได้ แต่ถ้าผู้บริหารไม่เอาสักคนเดียวเท่านั้น ครูอื่นทั้งหลายก็เรียกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรให้ดีกว่านี้ ฉันก็ยังอยู่ได้ ไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะฉะนั้นผู้บริหารจึงสำคัญมากนะคะ แล้วก็ ถ้าผู้บริหารไม่เล่นด้วย การที่จะไปหาครูอาสาสมัครอย่างที่แนะนำ มันก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าครูคนไหนที่มีความตั้งใจมาก ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก เสียสละมาก แล้วก็เศร้าเสียใจมาก
แต่ทีนี้มันเป็นปัญหาที่ตัดสินใจยาก อย่างที่ว่า เราจะปล่อยให้เขาออกไป หรือว่าอย่างที่ไม่รู้เท่าที่ควรรู้ หรือว่าเอาเขาไว้ก่อน ถ้าเอาเขาไว้ก่อน พ่อแม่เขาก็เสียใจ แล้วเขาก็เสียเงินเสียทอง ทีนี้อย่างที่ท่านผู้บริหารโรงเรียนเอกชนที่บอกมาเมื่อกี้นี้ นั่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน ที่เรียกว่าช่วยกันสอน ในตอนเย็นตอนอะไร แต่นี่เท่าที่ได้ทราบ อาจารย์ขจรศรีก็เป็นผู้ที่ทำอยู่แล้ว พร้อมที่จะสอนนอกเวลาเรียนให้เด็กมีความรู้มากขึ้น แต่ไม่มีครูอื่นช่วย มันก็ไม่ไหว
ทีนี้ การที่เราจะปล่อยให้เขาออกไป แล้วก็ไปเรียนต่อ หรือไปทำงานก็ดี มันก็เป็นสิ่งที่น่าคิดนะคะว่า เขาจะไปทำอะไรที่มันจะเกิดประโยชน์อย่างของเขา เหมือนอย่างผู้ที่มารายงานของกลุ่มที่ 6 นี่ ที่บอกว่าเวลานี้เราเป็นนิกส์ เรามีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาก แต่ว่าคนงานคนไทยเป็นได้เพียงแค่ลิ่วล้อเขาเท่านั้นเอง ไม่สามารถที่จะเป็นในชั้นหัวหน้าได้ นี่ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาที่ไม่สามารถจะให้เด็กได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เท่าที่เด็กควรจะได้
ถ้ากล่าวโดยสรุป ก็ต้องมาย้ำอีกแหละ เห็นไหมคะว่า สิ่งที่ขาด ที่ทำให้คนขาดความรับผิดชอบ ทั้งที่เป็นครู เพราะอะไร ก็คือ เพระจิตใจไม่มีหัวใจของความเป็นครู เพราะขาดธรรมะนั่นเอง ถ้าอย่างนี้นี่นะคะ ทำไมครูจะรวมกัน หลายหลายกลุ่มในโรงเรียน คือหมายความว่าครูที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันในโรงเรียนอื่นนี่จะมารวมกลุ่มกันได้ไหม แล้วก็จะมาประชุมปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะช่วยแก้ไขปัญหาในโรงเรียนของเรา และของเขา ของคนนู้นด้วย คล้ายคล้ายกันอย่างนี้ ถ้าเราพึ่งครูในโรงเรียนไม่ได้ เพราะผู้บริหารไม่เอาไหน แล้วเราก็มีสิทธิจะย้ายผู้บริหาร เพราะฉะนั้นเราลองตั้งกลุ่มของโรงเรียนในหมู่นั้น แม้จะห่างไกลกันสักหน่อย พบปะกันเป็นครั้งคราว แล้วช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยการแบ่งกำลังกันมาช่วยสอน อาจจะเป็น เอาเด็กนักเรียนของหลายโรงเรียนมารวมกัน แล้วครูก็มาช่วยกันแบ่งสอนตามระดับชั้น นี่เรียกว่าช่วยกันตามมีตามเกิด เท่าที่เราจะสามารถจะช่วยแก้ไขในปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ที่จะได้ผลนี้ก็คือ ต้องรายงานให้กระทรวงศึกษาธิการ อย่าทำเป็นหูไปนา เอาตาไปไร่ กระทรวงรู้อยู่เต็มหัวอก แต่ว่ากระทรวงไม่ยื่นมือเข้ามาแก้ เราก็จะต้องพยายามช่วยกัน เพื่อผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ขึ้นไปถึงกระทรวงให้จงได้ ท่านผู้ใดมีคำแนะนำอะไรอย่างอื่นอีกไหมคะ ถ้าไม่มีก็เชิญพักก่อนนะคะ เพราะถึงเวลาแล้ว ขอบคุณมากค่ะ