แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ขอบคุณนะคะ ฝนตกก็ยังอุตสาห์มา แสดงว่าเป็นผู้ใจถึงธรรม ถึงได้อุตสาห์ฝ่าฝนมา เมื่อคราวที่แล้ว เราพูดกันถึงว่า ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมนี่เพื่ออะไร ก็ได้ความเห็นหลายอย่างนะคะ ถ้าจะกล่าวโดยรวมก็คือที่เข้ามาปฏิบัติธรรมก็เพื่อความสงบ อยากมีความสงบ ทีนี้ความสงบนี่ ถ้าหากว่าสงบพื้น ๆ เป็นเบื้องต้นก็คือ สงบกาย สงบวาจา พอหรือยังคะ คิดว่าสงบกาย สงบวาจา พอหรือยังคะ ยังไม่พอ เพราะอะไรละคะถึงไม่พอ ไม่พอที่ตรงไหน ที่ใจ เพราะกายสงบ มองดูกายสงบ วาจาสงบ แต่ใจสงบไหมคะ บางคนขณะนี้อาจจะวุ่นวายมาก บางคนอาจจะเฉยๆ บางคนอาจจะเย็นๆ ว่างๆ เพราะฉะนั้น การที่เราจะเข้ามาปฏิบัติธรรมนี้ก็จึงคิดว่า จุดลึกที่เราจะต้องนึกก็คือ สิ่งที่เราต้องมาขัดมาเกลา สิ่งที่เป็นตะกอนอยู่นั้นก็คือ ที่ใจ ที่เราบอกว่าการปฏิบัติธรรม คือการที่ต้องขูด ขัด ดึง ทึ้ง สิ่งที่มันเป็นตะกอน เป็นสนิม เป็นสิ่งสกปรก ครอบงำเกาะกินใจอยู่ ออกให้ได้ แล้วก็วันก่อนเราก็ได้ถามถึงว่า อุปสรรคที่ทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปโดยยาก หรือไม่เป็นไปตามที่ต้องการเพราะอะไร ก็ตอบกันหลายอย่าง แต่ถ้าจะสรุปก็เพราะว่า ใจไม่ถึงธรรม อย่างที่ว่าน่ะแหละ เพราะฉะนั้น อะไรๆ ก็มาก่อน แล้วก็ธรรมะนี้มักจะเป็นสิ่งสุดท้าย คือถ้าหากว่าให้เลือกละก็ สุดท้าย ไม่มีอะไรแล้วจึงจะเลือกธรรมะ นี่เองคืออุปสรรคใหญ่ เพราะฉะนั้น ก็ขอถามใจเถอะค่ะ ว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าผู้ใดรู้สึกว่า ธรรมะนี่ จะเลือกเป็นสิ่งสุดท้าย ก็คือว่า มองเห็นแล้วว่าธรรมะนี้ สำคัญหรือไม่สำคัญ ก็ตอบได้เอง ไม่สำคัญ ที่จริงแล้ว ธรรมะนี้สำคัญเหมือนกับอากาศที่เราหายใจ ถ้าขาดอากาศ คุณหมอก็ทราบนะ ก็ตายเลย คุณหมอก็สบายเหมือนกัน ไม่ต้องรักษาให้ลำบาก แต่ทีนี้ถ้าหากว่าขาดธรรมะ ใครๆ ก็บอกว่าไม่ตาย ยังอยู่ได้ แล้วก็อยู่ได้อีกนาน แต่อยู่อย่างไร ส่วนมากเลยจะอยู่อย่างไร นึกออกไหมจะอยู่อย่างไร หนูน้อยเนี่ย
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ยังไง ในทางธรรมท่านก็อาจจะบอกว่า อยู่เหมือนตายทั้งเป็น จริงไหมคะ ข้างนอกก็ดูสงบดีหรอก แต่ข้างในวุ่นวาย มันร้อน มันเผาไหม้ ก็เหมือนกับว่า อยู่อย่างตายทั้งเป็น แล้วมีประโยชน์อะไรล่ะ อยู่ไปด้วย ตายไปด้วย ไม่มีประโยชน์อะไร
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าผู้ใดเห็นว่าอากาศมีความสำคัญต่อชีวิต คือว่า ชีวิต ร่างกาย แล้วก็มีความเห็นว่า ธรรมะนั้นก็มีความสำคัญต่อชีวิต คือชีวิตข้างใน ซึ่งถ้าหากว่าชีวิตข้างนอกก็มีวิชาความรู้ อาชีพ การงาน สิ่งที่เป็นอุปกรณ์ของชีวิตก็มีพร้อม แล้วชีวิตข้างในก็มีธรรมะที่จะเป็นแสงสว่างนำอยู่ แน่นอน ชีวิตนั้นน่าพึงปรารถนาไหม คุ้มแก่การที่เกิดมาไหม ก็ลองนึกดูก็แล้วกันนะคะ เชื่อว่าตอบได้ทุกคน ฉะนั้นเมื่อคราวที่แล้วเราจึงพิจารณากันว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขการที่ใจยังไม่เข้าถึงธรรม แล้วยังไม่เห็นถึงความสำคัญของธรรมะอย่างจริงๆ ได้สักทีหนึ่ง ด้วยการที่จะลองตั้งสัจจะ แล้วอธิษฐานจิตเพื่อให้สามารถทำได้อย่างก้าวหน้ายิ่งขึ้นมากกว่าเดิม จนกระทั่งสามารถใกล้ชิดธรรมะได้มากขึ้น และใจถึงธรรมมากขึ้น แล้วก็ได้ยกตัวอย่างการตั้งสัจจะเมื่อคราวที่แล้วว่า ลองนึกดูสิว่า พรรษานี้จะมีสัมมาวาจา ยังจำได้ไหมคะ สัมมาวาจาคืออะไร ว่าไงคะ จำได้ว่าไงคะ
ผู้ร่วมสนทนา: มีวาจาที่ชอบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หากพูดสั้นๆ ก็คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นวาจาที่ไม่เบียดเบียน เพราะสัมมาแปลว่า ถูกต้อง ฉะนั้นวาจาที่ถูกต้องก็เป็นวาจาที่เกิดประโยชน์ เป็นวาจาที่ผู้ฟังๆ แล้วมีความสบายใจ แต่ไม่ใช่สบายใจแล้วได้รับการเยินยอ ยกย่อง แต่สบายใจเพราะเห็นประโยชน์ในคำพูดเหล่านั้น ให้คติ ให้ข้อคิด หรือทำให้เป็นคนฉลาดขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นสัมมาวาจา เพราะฉะนั้น สัมมาวาจานี้ก็ลองพิจารณาศีลข้อที่ 4 ซึ่งจะรวมอยู่ในนั้น ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถรักษาศีลข้อที่ 4 ได้สะอาด ไม่ด่างพร้อย แน่นอน ผู้นั้นมีสัมมาวาจา เพราะจะพูดแต่สิ่งที่จริง สิ่งที่เกิดประโยชน์ แล้วก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยถ้อยคำหยาบ ให้เขากระทบกระเทือน เจ็บใจ เสียใจ ไม่พูดจาส่อเสียดให้ใครเขาโกรธกัน เกลียดกัน ใครเขารักชอบกันก็ยิ่งยินดี อยากจะสมานสามัคคี ให้เขารักชอบกันยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ ก็คือ แม้ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด แต่ก็ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล สนุกสนาน เฮฮา หัวเราะกันไปเถอะได้ทั้งวัน นั่นแหละ กลุ่มไหน คนไหน หัวเราะได้ทั้งวันละก็ สำรวจศีลข้อ 4 ให้มากๆ นะคะ จะเห็นเอง วันนี้บริสุทธิ์ไหม แล้วก็มีอะไรด่างพร้อยหรือเปล่า น่ากลัวมากเลย เพราะนี่แหละคือการสะสมคำไม่จริง คำไม่จริงทีละนิดๆ ที่ทำให้เขาตลก ให้เขาขบขัน ให้เขาสนุก เพิ่มเข้าไป เอารส เอาชาติ นั่นแหละค่ะ สะสมเอาไว้ทีละนิด ละนิด แล้วผลที่สุดก็บอกตัวเองว่า ฉันเป็นคนพูดจริงนะ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้วก็จะพบว่า จริงแท้หรือเปล่า ไม่แท้ มันจริงหลอก ๆ จริงเทียมๆ นี่อย่าประมาทเลยค่ะ
เพราะฉะนั้น สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แล้วทุกท่านก็คงทราบว่า ที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เกลียดชังกัน ไม่ถูกกัน จนกระทั่งฆ่าฟันกัน นี่ก็เพราะอะไรละคะ วาจาที่เป็น ตรงข้ามกับสัมมา คืออะไรคะ มิจฉา มันคู่กัน คือวาจาที่เป็นมิจฉา มิจฉาก็คือ ไม่ถูกต้องนั่นแหละ ไม่เกิดประโยชน์ เอาจากใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น อันนี่ค่ะ ได้ลองเสนอว่า เอาละ พรรษานี้จะขออธิษฐานจิต จะมีสัมมาวาจา ไม่ทราบว่าผู้ใดมีการอธิษฐานจิตอันนี้หรือยังคะ ตั้งแต่วันอังคารมา
ผู้ร่วมสนทนา: มีสัมมาวาจาในวันพระ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ยังดีนะคะ อย่างน้อยวันพระ เราจะมีสัมมาวาจาทั้งวัน ให้ครบ 24 ชั่วโมง ถ้าได้ก็ยังอนุโมทนา ให้ได้วันพระ ทุกวันพระก็ยังดี แล้วค่อยๆ เขยิบทีหลังเอง เพราะอะไร เพราะมันจะมีกำลังใจ ใช่ไหมคะ พอลองสำรวจวันพระที่ผ่านมา มันชื่นใจนะ วันนี้มีแต่ความสบายใจ เพราะอะไรล่ะ เรามีสัมมาวาจา คนอื่นเขาก็เลยมีสัมมาวาจากับเราด้วย แล้วมีความสุขไหม สุขไหมคะ สุขสิ มันสุข มันชื่นบาน นี่แหละค่ะ อันนี้มันเพิ่มความปีติ ปราโมทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ ผู้ใดจะปฏิบัติธรรมต้องมีปีติ ปราโมทย์ ประกอบอยู่ด้วย แล้วก็จะมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ทีนี้ถ้าไม่ตั้งอธิษฐานว่าจะสัมมาวาจาละ มีผู้ใดตั้งอธิษฐานจิตเรื่องอื่นบ้างไหมคะ มีไหมคะ คุณสุตั้งว่าไง
ผู้ร่วมสนทนา : สัมมาสติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สัมมาสติ อันนี้สำคัญทีเดียว คือว่าตั้งเรื่องใหญ่เลยนะนี่ ถ้าหากว่ามีสัมมาสติ ก็แน่นอน สัมมาวาจาก็ย่อมจะตามมาใช่ไหมคะ เพราะถ้ามีสัมมาสติ ก่อนจะพูดก็คิดก่อน ถูกต้องไหม สมควรไหม ตามกาลเทศะ และบุคคล เพราะฉะนั้น การมีสัมมาสตินี่แหละเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง และในส่วนตัวมักจะบอกใครๆ ว่า ห้อยคล้องพระสติ ดีกว่าห้อยหลวงพ่อที่ใครๆ ว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะพระสตินี่แหละจะช่วยให้จิตใจของผู้นั้นมีความยั้งคิด ทำอะไรจะถูกต้อง และจะทำอะไรก็จะเป็นที่เกิดประโยชน์ ความผิดพลาดก็จะมีได้น้อย ทีนี้ของคุณสุมีสัมมาสติ แล้วผู้อื่นล่ะ มีไหมคะ เต้ามีไหม ตั้งหรือยัง ตั้งว่าไง
ผู้ร่วมสนทนา: จะเดินจงกรมทุกวัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ดี จะเดินจงกรมทุกวัน แล้วก็ตั้งมา ตั้งแต่วันไหนล่ะคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เมื่อวาน
อุบาสิกา คุณรัญจวนซ ดี ตั้งก่อนที่เราจะคุยกันซะอีก ดีมากเลย แล้วทำได้ทุกวันหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ทุกวัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อนุโมทนานะจ๊ะ แล้วก็ลองคิดดู
ผู้ร่วมสนทนา: วันละครึ่งชั่วโมง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เอาให้ได้ครึ่งชั่วโมงทุกครั้ง แล้วระหว่างที่เดินจงกรมล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: มีคิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วเป้าก็อยู่กับลมหายใจตลอดเวลา
ผู้ร่วมสนทนา: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไหน ๆ ก็ตั้งจิตอธิษฐานแล้วนะ ว่าเราจะเดินจงกรมทุกวัน ให้ได้สักครึ่งชั่วโมงอะไรอย่างนี้นะสมมุติ เพราะฉะนั้น ในครึ่งชั่วโมงนี้จะรักษาจิตให้อยู่ในจิต หมายความว่าไง เข้าใจไหมคะ จะรักษาจิตให้อยู่ในจิต จิตไม่วอกแวก ไม่ออกข้างนอก ไม่วอกแวกก็คือ ไม่คิดโน่นคิดนี่ ความวอกแวกจะเกิดขึ้นก็เพราะความคิดมันปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่ พออะไรจะสอดแทรกเข้ามา เป้าจะทำไง
ผู้ร่วมสนทนา: หยุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็หยุดยืนก็ได้ แล้วหยุดยืน หายใจ ยาว ลึก เรียกสติกลับมา จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตมั่นคง ไม่วอกแวก แล้วจึงค่อยเดินต่อ ถ้าอย่างนี้การเดินจงกรมก็จะมีประโยชน์ยิ่งขึ้น เพราะได้ประโยชน์ในการที่จะรักษาจิตที่ชอบวุ่นวาย ให้ว่าง ให้สงบได้ด้วย มีอีกไหมคะ ตั้งอธิษฐานจิตหรือยัง หัวเราะน่ะ ตั้งหรือยัง ตั้งว่ายังไงคะ
ผู้ร่วมสนทนา: ทำกับข้าวด้วยความสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่ฉลาดมาก อธิษฐานจิตอันนี้ฉลาดมาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วนี่ มันน่าจะอธิษฐานจิตอะไร ถ้าอย่างนั้นจะขยายความการทำกับข้าวยังไง ให้เป็นอธิษฐานจิต ขึ้นมาอีกสักหน่อย เพราะทำกับข้าวนี่ทำอยู่แล้ว คะ จะอธิษฐานจิตว่ายังไง ในขณะที่ทำกับข้าวนั้น ฉันจะภาวนาพุทโธตลอดเวลา ก็ดี ถ้าภาวนาพุทโธตลอดเวลา ก็จะสงบเย็น แล้วใครไปมองหน้า เราช่วยกันมองหน้าไป เวลาทำกับข้าว ก็จะเห็นว่าหน้าผิดสังเกตเลย เป็นไง ถ้าผู้ใดมีพุทโธตลอดเวลาจะเป็นไงคะ ใบหน้าจะเป็นไง อิ่มเอิบ แจ่มใส คนแก่ก็เป็นคนสาว คนขี้เหร่ก็เป็นคนสวย เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้น ก็อธิษฐานจิตว่า ฉันจะภาวนาพุทโธตลอดเวลาที่ทำกับข้าว แล้วเชื่อเลยว่าเวลาทำกับข้าวจะอร่อยหรือไม่อร่อย คงจะอร่อยขึ้นอีกด้วยนะคะ นี่ก็เป็นอธิษฐานจิตที่น่าอนุโมทนาเหมือนกัน มีเพิ่มไหมคะ ยังไม่มีก็กลับมาว่า เราจะอธิษฐานจิตว่าเราจะมีสัมมาวาจา ทีนี้ที่เห็นว่ายากนักน่ะ คงเป็นเพราะความเคยชิน ที่เราเคยพูดสนุกสนานเฮฮามาเป็นนิสัยจนแก้ไม่ตก
ก็อันแรก อยากจะเสนอว่า ให้นึกถึงโทษของมัน มีไหม การที่พูดสนุกสนานเฮฮาตลอดเวลา ต้องเป็นตัวชูโรงให้ใครๆ หัวเราะนี่ มีโทษอะไรบ้างไหม ลองนึกดูสิคะ อย่างที่พูดไปเมื่อตะกี๊นี้ก็คือ สะสมความไม่จริง การพูดไม่จริงเอาไว้ทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว แล้วมันก็เคยชินไปโดยไม่รู้ตัวอีกเหมือนกัน แล้วก็เหนื่อยไหม ก็ลองนึกดูนะคะ แล้วก็เสียเวลาไหม ที่เราควรจะสงวนไว้เพื่อดูข้างในของเรา ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติ นี่ก็ลองนึกถึงโทษของมัน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้าหากว่าจะปรารถนาจะเลิกละสิ่งใดที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่งดงาม ไม่เกิดประโยชน์ แล้วเลิกละได้ยาก ต้องพยายามพิจารณาโทษของมัน ให้เห็นว่ามันมีโทษอะไรบ้าง เพราะว่าถ้าไม่เห็นโทษ เราก็ยังสนุกอยู่นั่นแหละ ใช่ไหมคะ ในการที่จะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็พิจารณาว่ามันมีโทษอะไร จะได้ค่อยเลิกละไปทีละน้อย นอกจากนี้ก็อาจจะฝึกตนเองว่า เราจะพูดแต่เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ไม่พูดเลย พูด แต่พูดเท่าที่จำเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเท่าที่จำเป็น ก็แน่นอนละ พูดน้อย เมื่อพูดน้อย มิจฉาวาจาก็คงเกิดน้อยเหมือนกัน แล้วก็จะค่อยๆ เป็นสัมมาวาจามากยิ่งขึ้นนะคะ แล้วก็มีสติก่อนพูด อย่างที่คุณสุตั้งเป็นอธิษฐานจิตว่าจะมีสัมมาสติ ฉะนั้น พอจะพูดอะไรแล้วยิ่งรู้สึกว่า ตอนนี้มีอะไรกรุ่นๆ อยู่ข้างใน อย่าเพิ่งพูด หายใจยาว ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราหายใจยาวทำไม แต่เรารู้ หายใจยาวเพื่อจะไล่ไอ้กรุ่นๆ อยู่ข้างใน พร้อมกับยิ้มน้อยๆ หายใจยาวแล้วก็ยิ้ม พอยิ้มเท่านั้นแหละ กล้ามเนื้อมันก็ผ่อนคลาย ที่กรุ่นๆ ที่ทำให้เครียดก็ค่อยๆ หายเครียด แล้วจึงค่อยๆ พูดที่อยากจะพูด ถ้ารู้สึกว่ามันยังไม่พอ มันยังเป็นก้อนอยู่ข้างใน หายใจยาวอีก หันหลังให้เขาซะหน่อยก็ได้ ถ้ากลัวเขาจะเห็น จนกระทั่งมันค่อยๆ ออกไป แล้วก็ยิ้ม ถ้ายิ้มได้เรื่อย ๆ กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เราก็จะพูดอะไรได้อย่างสบายๆ ด้วยความเมตตา แล้วก็คงจะพูดในสิ่งที่เกิดประโยชน์ ที่น่าฟังและชวนฟัง
อีกอันหนึ่งก็อยากจะเสนอว่า หยุดการคลุกคลี เข้าใจไหมคะ หยุดการคลุกคลีคือยังไง การเล่นหัว การอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่กับเพื่อนกับฝูง ต้องอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ต้องพูดต้องคุย ต้องสนุกสนาน นี่คือการคลุกคลี ที่จะชวนให้เกิดวาจาที่ไม่ค่อยจะถูกต้องโดยที่ไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น ลองหยุดการคลุกคลี แต่ว่าอยู่กับตัวเอง ดูข้างในของตัวเองให้มากขึ้น ก็เชื่อว่าคงจะอธิษฐาน สัมมาวาจาได้ทีละน้อยนะคะ อย่างที่ว่าจะเริ่มวันพระนะคะ ก็ยังดี ต่อไปก็เอาวันโกนอีกสักวัน ก่อนถึงวันพระ เตรียมใจเอาไว้ ทีนี้ก็ มีผู้ใดจะเสนออธิษฐานจิตเรื่องอื่นอีกไหมคะ ถ้ายังไม่เสนอ ก็อยากจะเสนออีกสักอัน พรรษานี้ฉันจะฆ่าความโกรธ ไหวไหม เพราะมีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้านะ ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องฆ่า หรือควรฆ่า คำตอบของพระองค์คือ ฆ่าความโกรธ ไปเปิดดูเถอะนะคะ ถ้าใครไปอ่านหนังสือพระไตรปิฎก จะพบหลายครั้งเลย พอมีผู้ทูลถามเรื่องอันนี้ พระองค์จะตรัสว่า ฆ่าความโกรธ ทำไมท่านถึงทรงแนะให้ฆ่าความโกรธ เพราะอะไร อย่างน้อยก็ใกล้ๆ กับอธิษฐานจิตที่เราพูดไปแล้ว สัมมาวาจา ถ้าโกรธ แล้วสัมมาวาจาได้ไหมคะ ค่ะ นี่ชัดๆ เลยแหละ ถ้าหากว่าความโกรธมันอยู่ในใจ ยังไง ก็สัมมาวาจาไม่ได้ เพราะอะไรล่ะ มันไม่สะใจ ถ้ามัวพูดสัมมาวาจามันไม่สะใจ มันต้องมิจฉาสิ มันถึงจะสะใจ เพราะฉะนั้น การฆ่าความโกรธจะมีประโยชน์หลายอย่างเลย แล้วท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านใช้คำ ซึ่งรู้สึกชอบนะ ท่านบอกว่า มันเป็นการประทุษร้ายความเป็นมนุษย์ของคน ท่านรวมไปถึงกิเลสทั้ง 3 ตัวด้วย ไม่เฉพาะแต่โกรธน่ะ โลภ หลง ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่ามนุษย์คนใดมีมาก ท่านบอกว่ามันประทุษร้ายความเป็นมนุษย์ เข้าใจไหมคะ มองเห็นยากนะคะ เพราะประโยคนี้เป็นนามธรรม อันแรกที่สุดก็ควรนึกว่ามนุษย์คืออะไร แปลกนะ นี่คิดกันทุกคนเลย มนุษย์คืออะไร ทั้งๆ ที่เราเป็นมนุษย์นี่ แต่พอเราจะนึกว่ามนุษย์คืออะไร ทำไมเราต้องคิดด้วย ทำไมเราถึงตอบตัวเองไม่ได้ทันทีว่ามนุษย์คืออะไร ก็นึกดูว่าผู้ที่เราจะเรียกว่า เขาเป็นมนุษย์นะ มนุษย์แท้ มนุษย์จริง เราจะเรียกใครอย่างนี้ เรามีกำหนดกฎเกณฑ์ในใจอย่างไรคะ
ผู้ร่วมสนทนา: มีจิตใจที่ดีงาม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ มีจิตใจที่ดีงาม ท่านก็บอกว่า มนุษย์ มาจากคำว่า มน (อ่าน มะ นะ) คือ ใจ บวกกับ อุษย คือ ประเสริฐ เพราะฉะนั้น มนุษย์ ก็คือ ผู้ที่มีใจประเสริฐ แต่คำว่า ประเสริฐนี้ก็ยังไม่ชี้ชัดว่าหมายความว่าอะไร ฉะนั้น คำว่า ผู้ที่ประเสริฐกว่ามนุษย์อื่น เป็นยังไงคะ หรืออันแรกก็ต้องบอก มีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่มีมนุษยธรรม คือคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ ง่ายๆ ที่สุดคืออะไรคะ ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิแน่นอนเลย แล้วต้องเป็นสัมมาทิฏฐิมากๆ ด้วยนะ คือสัมมาทิฏฐิสูงสุดทีเดียว ทีนี้จะเป็นยังไงอีก เป็นผู้มีใจประเสริฐนี่จะเป็นอย่างไรอีก จะมีอะไรอีก คุณธรรมอย่างง่ายๆ ที่สุดที่จะมองเห็นก็คือ ผู้ที่เป็นมนุษย์ต้องมีหิริโอตัปปะไหมคะ ควรอย่างยิ่งใช่ไหม ถ้าหากว่าผู้ใดไม่มีหิริโอตัปปะ ไม่มีความละอาย ต่อหน้าคนอื่นก็ทำตัวน่าเคารพบูชา แต่พอคิดว่าไม่มีใครเห็นก็ทำสารพัดอย่าง ตรงกันข้าม อย่างนี้เราก็เรียกว่า ไม่มีหิริ คือความละอายต่อบาป เพราะหิริก็คือ ความละอาย ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ใดเห็น ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีใครเห็น ค่ะ ตัวผู้กระทำนั่นแหละ เพราะก็มีความละอาย ละอายตัวเอง ทำให้เกิดความเคารพนับถือตัวเองไม่ได้ บางทีถึงกับต้องเหยียดหยาม ดูหมิ่นตัวเอง รังเกียจตัวเอง จนถึงขยะแขยงตัวเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมนุษย์ คุณธรรมธรรมดานี่ ก็คือ ต้องมีหิริ ละอายต่อบาป โอตัปปะ เกรงกลัว กลัวที่เดียว กลัวต่อบาป ไม่กล้าทำเลย มีผู้เปรียบว่า การกลัวต่อบาป เหมือนกับผู้หญิงไม่กล้าแก้ผ้าในที่ชุมชน นี่ท่านเปรียบไว้อย่างนั้น เพราะว่าผู้หญิงสมัยก่อนน่ะ ก็ถือว่าเรื่องร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องรักนวลสงวนตัวเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงเปรียบว่าเหมือนกับผู้หญิงที่ไม่กล้าแก้ผ้าในที่ชุมชน ฉะนั้นก็ให้มองเห็นเถิดว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่ถ้าผู้ใดทำได้ มีความละอาย มีความกลัวต่อบาป มีหิริโอตัปปะ บางทีท่านก็เปรียบว่า ยิ่งกว่ามนุษย์อีก ท่านถือว่าเป็นเทวดาเลย เป็นเทวธรรม หิริโอตัปปะเป็นเทวธรรม แต่ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เทวดาจะประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหมดนะคะ เพราะเทวดาที่ท่านเปลี่ยนทิฏฐิของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นอันธพาลก็มีเหมือนกัน ตามที่เราได้อ่านในหนังสือ ได้ฟังในนิทาน อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็มีบางท่าน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเทวดาถึงเปลี่ยนทิฏฐิของท่าน ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิกันทุกองค์ เพราะอะไร เพราะเทวดาคือผู้บรรลุแล้วหรือยังคะ ยัง ยังกำลังอยู่ในภพ ในชาติ ที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเวลาที่เทวดาจะหมดบุญ ดูเหมือนจะได้พูดแล้ว พอจะหมดบุญ ลงจากสวรรค์ คือบุญทำเอาไว้ สมมุติว่า ทำเอาไว้ 100 ปี บัดนี้ถึงเวลาแล้วต้องลงจากสวรรค์ซะที ถามว่าจะไปไหน จะขอมาอยู่โลกมนุษย์ เพราะโลกมนุษย์นี่แหละ เป็นสถานที่ที่มีโอกาสจะได้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม จนขัดเกลาไปเถอะ จนกระทั่งสามารถบรรลุได้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ อย่างน้อยที่สุด มีจิตใจประเสริฐกว่าผู้อื่น ก็คือ จะต้องมีหิริโอตัปปะ แล้วก็มีพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา อย่างแท้จริง และมุทิตา อย่างแท้จริง ในพรหมวิหาร 4 นี่ เราเมตตา กรุณา กันได้เรื่อย ๆ แต่พอมุทิตา นี่ทำไม่ค่อยได้ มันมักจะมีการชะงักนิดหน่อย ด้วยความที่รู้สึก ไม่น่าจะเป็นเขา ไม่น่าจะเป็นเรา ที่เขาได้ดิบได้ดีอะไรอย่างนี้ ก็เลยทำให้ไม่สามารถจะมุทิตาได้เต็มที่
ฉะนั้น พรหมวิหาร 4 ถึงแม้ท่านจะบอกว่าเป็นคุณลักษณะของพรหม แต่ถ้าหากว่าผู้ใดเมตตาได้อย่างเป็นอัปปมัญญา คือไม่มีขอบเขต เหมือนอย่างท่านกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงมีพระเมตตาต่อพระราหุลซึ่งเป็นพระราชโอรส กับพระเทวทัตที่เป็นลูกพี่ลูกน้องแต่ว่าคิดร้ายกับพระองค์ตลอดเวลา ไม่ต่างกันเลย คือว่าทรงพระเมตตาเท่าๆ กัน ไม่ได้นึกว่านี่เป็นลูก นั่นเป็นคนที่ทำตัวเป็นศัตรู ทรงมีพระเมตตาเท่าๆ กัน นี่แสดงถึงความเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา คือไม่มีขอบเขต ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นมนุษย์นั้นน่ะ นอกจากคำว่าประเสริฐ น่าจะหมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างทั่วถึง ให้โอกาสแก่บุคคลอื่นอย่างทั่วถึง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และเมื่อจะกระทำสิ่งใดก็กระทำตามหน้าที่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ทีนี้ถ้าหากว่ากิเลสเกิดขึ้นในใจ โลภ อยากได้ จะเอาไปเป็นของเรา อย่างนี้มันประทุษร้ายความเป็นมนุษย์ไหมคะ เพราะในขณะนั้นน่ะที่โลภจะเอา คิดถึงใครไหม คิดถึงคนอื่นไหม ไม่คิดน่ะ คิดถึงแต่ตัวเองคนเดียว ท่านจึงเปรียบว่า ขณะใดที่จิตใจเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนสภาพจากคนไปเป็นอะไรแล้ว อยู่ในภพไหนภูมิไหนคะ อะไรล่ะที่มันโลภมากจนกระทั่งท้องมันโต ทั้งที่ปากมันเท่ารูเข็มน่ะค่ะ เปรต นั่นละ ขณะนั้น มันประทุษร้ายความเป็นมนุษย์ให้กลายเป็นเปรตซะแล้ว แล้วก็น่าเกลียดแค่ไหน แต่เจ้าตัวเองไม่รู้เพราะว่าไอ้ความโลภมันบังตา มัวเมา มองไม่รู้ หรือถ้าโกรธ เป็นไงในขณะที่โกรธ เป็นคนไหม ส่องกระจกดูไหม เวลาที่โกรธกำลังออกฤทธิ์ออกเดชนั่นน่ะ เคยส่องกระจกดูไหมคะ ลองหน่อยนะ เป็นไง สวยไหม คนที่เคยสวยน่ะสวยไหม เปลี่ยนจากคนไปเป็นอะไร โลภไปเป็นเปรต โกรธไปเป็นอะไร ไปเป็นยักษ์เป็นมารนั่นแหละ หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านก็ว่าไปเป็นสัตว์นรก ที่บอกว่าภูมิมี 4 ภูมิ 1.ภูมิเปรต ก็หมายถึง ความโลภ หิวกระหาย จะเอา จะเอา เท่าไหร่ไม่พอ อย่างที่เราได้ยิน เขากินอะไรต่ออะไรกันน่ะ ทั้งที่ไม่ใช่ข้าวปลาอาหารที่ควรเคี้ยวควรกินน่ะ ก็กินกัน นั่นแหละ ลักษณะของเปรต แล้วภูมิที่ 2.ภูมิของสัตว์นรก ซึ่งเขาบอกว่าในภูมิสัตว์นรก มีต้นงิ้ว มีกระทะทองแดง มีหม้อเดือด มีหลาว มีอะไรที่จะคอยทิ่มแทงให้เจ็บปวด ทรมาน ต่างๆ นานา สารพัด
เพราะฉะนั้นที่เขาทำเป็นรูปอะไรต่างๆ ที่น่ากลัวเหล่านั้นน่ะ ก็คือแสดงถึงสภาวะของจิตใจในขณะที่ยังโกรธ มันเดือดพล่าน เหมือนกำลังตกอยู่ในกระทะทองแดง มันร้อนเร่า เผาไหม้ เหมือนกับถูกเขาทิ่มแทงด้วยแหลน ด้วยหลาว ด้วยอะไรต่ออะไรต่างๆ นั่นน่ะ ในขณะที่โกรธน่ะ มันเป็นสัตว์นรก เพราะฉะนั้นไปดูหน้าเถอะ ดูหน้าตาในกระจกตอนนั้น นี่ไม่ใช่เรา แต่มันก็เป็นเรานะ จะบอกว่าไม่ใช่เรา แต่มันก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นอันนี้จึงประทุษร้ายความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่สวยงาม มนุษย์ที่น่ารัก มนุษย์ที่ชื่นบาน มองดูแล้วน่าเข้าใกล้ มันกลายเป็นสัตว์ร้ายอะไรก็ไม่รู้ที่น่าวิ่งหนี ไม่น่าเข้าใกล้เลย ฉะนั้น เมื่อโกรธเมื่อไหร่ละวิ่งหากระจก อย่าไปวิ่งหาอย่างอื่น วิ่งหากระจก แล้วอยากแสดงอาการโกรธออกมาทางกาย ทางวาจา แค่ไหนก็แสดงไปเหอะ ให้กระจกมันดู เพราะในขณะที่กระจกดูน่ะ ใครก็ได้ดูด้วย เราก็ได้ดูด้วย แล้วถ้าใครยังพอมีหิริโอตัปปะอยู่ในใจ แน่นอน ต้องมีความละอาย เป็นไปได้ถึงแค่นี้นะ ไม่นึกเลยนะ เป็นไปได้ถึงแค่นี้นะ ถ้าบอกตัวเองว่า เป็นไปได้ถึงแค่นี้นะ ไม่นึกเลย ก็จะค่อยๆ หดเข้ามาเอง หดหายจากความโกรธ จะมองเห็นว่าความโกรธน่าเกลียด น่าชัง ทำลายความเป็นมนุษย์ของเราไปถึงขนาดนี้นะ ไม่น่าเชื่อเลย แล้วแน่นอนขณะนั้น อย่าถามหาสติอยู่ไหน ไม่มี หมดไปหมดเลย เพราะฉะนั้น ก็มองดูนะคะว่า เราจะฆ่าความโกรธได้อย่างไร
ทีนี้กิเลสอีกตัวหนึ่งคือ หลง หรือโมหะ ถ้าโลภเป็นเปรต ถ้าโกรธ เป็นสัตว์นรก ถ้าหลง อยู่ในโมหะ คนที่อยู่ในโมหะเนี่ย โง่หรือฉลาด โง่ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนฉลาด มีปริญญา ต่อให้ปริญญาเอกด้วยนะคะ แล้วก็สักสองสามปริญญาด้วย แต่ขณะใดที่ในจิตของเขาวนเวียนมัวเมาอยู่กับสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น อย่างชนิดไม่มีเหตุผล แล้วก็จะเอาให้ได้อยู่ในสิ่งนั้น โดยนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างเหนียวแน่น นี่แสดงถึงความโง่อย่างยิ่ง ทำไมถึงว่าโง่ เพราะคนอย่างนั้น ถ้ามีอาการทำอย่างนั้น คนจะรักหรือจะเกลียด เขาเกลียดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต้องการความรัก ต้องการให้เขาเคารพ ยกย่องบูชา แต่เมื่อมาหลงงมงายกระทำสิ่งที่น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็สิ่งที่เป็นอันตราย เอาเปรียบแก่เพื่อนมนุษย์ถึงขนาดนั้น เป็นความโง่ คนฉลาดก็เป็นคนโง่ เพราะว่าอย่าว่าผงเข้าตาเลย มันถูกฝ้าหนาๆ ปิดบังมิดหมดเลยทั้งสองดวงตา ตาก็ยังมองเห็นหรอก แต่ที่ท่านเปรียบเทียบนี่ก็หมายถึง ปิดบังใจ ใจที่ควรจะใสสว่างกระจ่างแจ้ง มองไม่เห็นอะไรเลย สักอย่างเดียว ฉะนั้น ความหลงจึงอยู่ในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็อยู่ในภูมิของอสุรกาย รวมกัน สัตว์เดรัจฉานหมายถึงความโง่เขลา เพราะถ้าพูดว่าสัตว์ ก็ต้องโง่กว่าคน คนฉลาดกว่า สัตว์อาจจะมีสติปัญญาเพียงแค่ กิน แล้วก็สืบพันธุ์ นอนเล่น คือ กิน นอน เล่น สืบพันธุ์ ตามประสาของสัตว์ แต่ที่จะคิดอะไรหลายชั้น ซับซ้อน อย่างมนุษย์มนุษย์นี่คิดหลายชั้น ยิ่งฉลาดมาก ฉลาดทางโลก ทางวิชา ยิ่งคิดหลายชั้น ซับซ้อน ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ การคิดซับซ้อนของเขาก็จะเกิดประโยชน์แก่สังคม แก่เพื่อนมนุษย์ แก่โลก แต่ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การคิดซับซ้อนของเขานั้น ก็คือการทำลายสังคม การทำลายโลก ทำลายความผาสุกของเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ระวังนะ โมหะ มันลำบาก มันลึก เพราะมันไม่แสดงอาการชัดเจนเหมือนโลภ อย่างที่เราพูดคราวที่แล้ว ถ้าโลภเรามองเห็น เพราะมันมีอาการยังไงคะ ดึงเข้ามา เป้าอย่าลืมนะ เวลาเดินจงกรม อย่าให้โลภเข้ามา นี่มันดึงเข้ามา ถ้าโกรธมันเป็นไง ตรงกันข้ามกับโลภ ถ้าโกรธมีอาการยังไง ผลักออกไป ตรงกันข้าม ไม่ชอบ ผลักออกไป ผลักไสออกไป จนถึงกำจัดมัน ทำลายมัน เพราะไม่ชอบ ไม่อยากให้อยู่ขวางหูขวางตา แต่หลงหรือโมหะ มันมีอาการยังไงคะที่เราเคยพูดกันแล้ว วนเวียน วนเวียนไปมา วนเวียนไปมา เหมือนอย่างนอนไม่หลับน่ะ คิดซ้ำคิดซาก คิดแล้วคิดอีก คิดไปคิดมา มันก็มาเรื่องเก่า ต่อไปเรื่องใหม่ แล้วก็กลับมาเรื่องเก่า มันก็อยู่กับเรื่องเก่านั่นแหละ นี่ละโมหะ น่ากลัวมาก ท่านจึงเรียกว่าอยู่ในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีความเขลา อยู่ในภูมิของอสุรกายคือ ขลาด กลัว เห็นอะไรกลัวไปหมด เห็นอะไรขลาดไปหมด อย่างไม่มีเหตุผล โดยไม่ยอมศึกษา ไม่หาเหตุผล ฉะนั้น ขณะที่พูดอย่างนี้ก็หวังว่าเราจะลองสำรวจเราเอง ว่าเรามีอาการของหลง คือโมหะอยู่ในใจบ้างไหม ถ้ามีละก็ต้องรีบทำความรู้จักกับมัน รู้จักมันทำไม เพื่อจะได้แกะมัน กำจัดมัน ขจัดมันออกไปจากใจ อย่าให้เหลือเลย เพราะโมหะนี่แหละเป็นตัวที่เป็นอันตรายที่สุดในบรรดากิเลสทั้ง 3 ตัว เป็นตัวที่น่ากลัวที่สุดเพราะว่ามันทำคนฉลาดให้เป็นคนโง่ มันเปลี่ยนคนสัมมาทิฏฐิที่ยังไม่มั่นคง กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิได้โดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราจะตั้งจิตอธิษฐานว่า จะฆ่าความโกรธ แน่นอนละเราฆ่าไม่ได้หมดหรอกในพรรษานี้ แต่อย่างน้อยลองสักหน่อย ถ้าเราเห็นโทษทุกข์ของความโกรธ เห็นไหมคะ ว่ามันทำลายเราอย่างไร จิตใจที่ใสสะอาดเปลี่ยนเป็นขุ่นมัว จิตใจที่เมตตากรุณา เปลี่ยนเป็นพยาบาทอาฆาตแค้น จิตใจที่เคยให้ อยากจะให้ เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม ไม่ให้ ไม่ยอมแบ่ง เพราะความโกรธ ฉะนั้น ความโกรธนี้จึงเป็นสิ่งที่ประทุษร้ายชีวิตของมนุษย์จริงๆ
ทีนี้เคยสังเกตอาการของความโกรธที่เกิดขึ้นไหมคะ ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เคยสังเกตตามลำดับของมันบ้างไหมคะ พอมันเริ่มโกรธครั้งแรกมีอาการยังไง อย่างที่เขาว่า ผู้ใหญ่โบราณเขาจะบอก โกรธเป็นริ้วๆ ขึ้นมาแล้วนะ เป็นยังไงเป็นริ้วๆ น่ะ มันเริ่มกรุ่นๆ ขึ้นมา กรุ่นขึ้นมาอยู่ในใจ คือร้อนเพียงผิวๆ ยังไม่ได้ร้อนถึงไหม้ มันเป็นริ้วๆ คือเป็นสัญญาณ กำลังมาแล้วนะ ทีนี้อาการริ้วๆ กรุ่นๆ อยู่ในใจเกิดจากอะไร เคยสังเกตไหมคะ ซึ่งหลายท่านจะเห็นว่าไม่เห็นสำคัญเลย ไม่พอใจ แต่ทีนี้ถ้าจะแยกแยะออกมา ไม่พอใจ เช่น ไม่ได้ดั่งใจ เช่น นิดเดียวง่ายๆ พูดจา ทำหน้าดีๆ ไม่ได้เหรอ ต้องทำปากอย่างนั้น ทำตาอย่างนี้ เพราะเขาไม่ได้มาทำอะไรกับเรานะ มันเรื่องของเขา แต่พอเห็นเข้าเป็นไง หมั่นไส้ พอหมั่นไส้ มันริ้วๆ เข้ามาในใจ ริ้วๆ แล้วอาการ ริ้วๆ กรุ่นๆ อยู่ในใจ ทำให้ใจที่กำลังสบายๆ มีฝ้าบางๆ มาบดบัง คอยสังเกตอาการนะคะ ที่พูดอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าการปฏิบัติธรรมต้องหมั่นดูข้างใน อย่าขี้เกียจ หมั่นดูข้างใน ไม่ต้องขยันดูข้างนอก หยุดซะบ้าง ดูข้างนอก แต่หมั่นดูข้างใน ย้อนใจ ย้อนความรู้สึกของเรา เข้ามาดูข้างในแล้วจะจับได้ คือเราจะรู้ทันเลยเพราะว่าทุกข์ก็อยู่ข้างใน สุขก็อยู่ข้างใน ร้อนก็อยู่ข้างใน เย็นก็อยู่ข้างใน แต่เราชี้ไม่ได้หรอกตรงไหน แต่มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้น หมั่นดู มันจะเป็นสัญญาณบอก เอาละนะ กรุ่นๆ หมั่นไส้ หรือบางที่ก็ขัดใจ บอกให้ทำนี่ให้ก่อนสิ เดี๋ยวก่อนค่ะ ขัดใจ ทำไมล่ะ บอกให้ทำซะก่อน ทำไมต้องมาเดี๋ยวก่อนค่ะ ถึงจะพูดให้เพราะแค่ไหนก็ขัดใจ ไอ้กรุ่นๆ นั่นละ ก็อาจจะเริ่มกรุ่นมากขึ้น ริ้วรอยก็จะเพิ่มมากขึ้น หรือบางทีก็ คนนี้มันอวดร่ำอวดรวย เป็นเศรษฐีมาจากตรงไหนนะ พ่อแม่ทำมาหากินอะไร เขม่น ก็เขาอวดของเขา ก็เรื่องของเขา เขาเป็นที่เกลียดของคนอื่นเอง ทำไมเราต้องไปเขม่นเขาด้วย เรื่องอะไร เพราะอะไรละคะ ชอบมองข้างนอก เห็นไหม ชอบมองข้างนอก เพราะฉะนั้นเปลี่ยนการมองข้างนอก เป็นมองข้างใน จะมีประโยชน์ไหมคะ มีประโยชน์อย่างยิ่งเลยเพราะจะทำให้เรารู้จักข้างในของเรา หรือรู้จักจิตของเราเอง ใจของเราเอง ที่ว่าเป็นใจของเราเองแต่เราก็ไม่รู้มันสกปรกแค่ไหน สะอาดแค่ไหน มีอะไรที่เข้ามาครอบงำบ้าง แต่ถ้าเราหมั่นมองดูเราจะรู้ พอรู้แล้วก็มีโอกาสที่จะแก้ไขทัน ทีนี้พอจากกรุ่นๆ ต่อมาก็มากเข้า ก็เป็นอาการโกรธ ไม่พอใจ ไม่ถูกใจ แล้วก็จะแสดงออกมาทางวาจา ทางกาย เท่านั้นก็ไม่พอ ก็คิดพยาบาท อาฆาต ประทุษร้ายด้วยประการต่างๆ จนถึงฆ่ากันด้วยชีวิตนั่นแหละ ใช่ไหมคะ ก็มาจากความโกรธ
หรือสงครามที่เกิดขึ้น ที่ทำลายล้างกัน สงครามระหว่างประเทศ หรือสงครามโลกก็ตามที เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะความโกรธแค้นกันใช่ไหมคะ เพราะไม่ถูกใจ เพราะทิฏฐิต่างกัน เพราะฉะนั้นก็ยอมกันไม่ได้จนกระทั่งถึงกับการเกิดฆ่าฟันกันด้วยประการต่างๆ หรืออย่างเวิร์ลเทรดของอเมริกาเมื่อ 11 กันยานั่นน่ะ เกิดขึ้นเพราะอะไร ค่ะ ก็ความโกรธนั่นแหละ ความโกรธที่สะสมเอาไว้ สะสมเอาไว้ตั้งเนิ่นนาน ก็ต้องคิดชำระกันเสียที ถ้าไม่สะสมความโกรธเอาไว้จะคิดทำอย่างนั้นได้ยังไง เพราะคนที่มารับผลจากการกระทำอันนั้นก็เป็นคนที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย แต่นี่ความโกรธ ไม่คิดถึงเหตุถึงผล ไม่คิดถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ทรมานของมนุษย์อื่น ฉันจะทำตามที่ฉันทำ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า สิ่งที่ควรจะต้องฆ่าก็คือ ความโกรธ ไม่ใช่ฆ่าอย่างอื่น ถ้าฆ่าความโกรธได้แล้ว มีสติที่จะคิดว่า แทนที่จะโกรธเพื่อทำลายล้างกัน เราควรจะมีความรัก เมตตากรุณาต่อกัน ความรักนี่ก็คือ เมตตากรุณาต่อกัน ไม่ได้หมายถึงความรักระหว่างเพศ ความรักระหว่างเพศนั่นน่ะ ไม่ใช่เมตตากรุณาต่อกัน แต่อาจจะเป็นความเห็นแก่ตัวต่อกันก็ได้ เพราะว่าที่ฆ่ากันอะไรกัน เช่นอย่างคู่รักหญิงชาย ก็มาจากความโกรธ อันเนื่องจากความรักระหว่างเพศ เพราะฉะนั้น ความรักที่จะตั้งใจจะทะนุถนอมประคับประคองกันมันหมดไปเลย ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่ก็คือ ความเมตตากรุณา ถ้าเพิ่มความเมตตากรุณา นึกถึงเขา นึกถึงเรา เราทำเขาอย่างนั้น เขาเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเราเป็นอย่างนั้นบ้าง เราจะเป็นอย่างไร พอนึกขึ้นมาอย่างนี้ก็อาจเกิดความสงสาร เกิดความเมตตา เกิดความกรุณา เพราะฉะนั้น ความเมตตากรุณาเข้ามาแทนที่ได้เมื่อใด ความโกรธจะลดน้อยลง ฉะนั้น ถ้าหากว่า อยากจะตั้งจิตอธิษฐานว่า จะฆ่าความโกรธในพรรษานี้ ก็คือต้องพยายามเพิ่มอะไรล่ะคะ เพิ่มความเมตตากรุณา เพิ่มความรักในเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น ถ้าหากว่ามีเมตตากรุณา มีความรักในเพื่อนมนุษย์ เมื่อเห็นใครทำอะไรไม่ถูกอกไม่ถูกใจ ก็จะบำเพ็ญทานที่ท่านว่าเป็นทานอันสูงสุดได้ คืออะไร อภัยทาน นี่แหละ จะสามารถบำเพ็ญอภัยทานได้ เพราะฉะนั้น ใครที่พูดว่า ฉันยากจน ฉันทำทานไม่ได้
ศาสนาพุทธ มีความวิเศษตรงนี้ ให้โอกาสทุกคนที่จะบำเพ็ญทานได้ ยาจกก็บำเพ็ญทานได้ แม้ไม่มีเงินสักสตางค์ก็บำเพ็ญทานได้ คือทำทานอะไร อภัยทาน นี่แหละค่ะ ถ้าใครทำอภัยทานได้ ตั้งแต่อภัยทานเล็กๆ น้อยๆ อย่าง มีเด็กรับใช้ที่บ้านทำถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง หรือว่าเอาความขี้เกียจ เอาความมักง่ายเข้ามา ก็สั่งสอนอบรม นี่แน่ละ แต่ในขณะเดียวกันก็สั่งสอนอบรมด้วยความเมตตา ให้อภัยเขาไป ว่าเขาแค่นั้น คือหมายความว่า จะช่วยอภัยได้ก็คือช่วยหาเหตุผลที่จะสามารถมองเขาในแง่ดีได้ คือมองบุคคลนั้นในแง่ดีได้ ก็จะเกิดเมตตา กรุณา สงสาร แล้วก็ให้อภัยไป ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ใครเขามาแย่งชิงเอาของรักไป ชาตินี้ก็อภัยกันไม่ได้ ก็จะอภัยได้ เพราะว่าเรายังมีอีกเยอะ อีกหลายเรื่องที่ต้องพูดกันว่าทำไมต้องไปแบกสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แต่ว่าตอนนี้พูดสั้นๆ แต่เพียงว่า ถ้าเพียงแต่อภัยได้เท่านั้นน่ะ นึกไหมคะว่าเป็นไง นึกถึงข้างในน่ะเป็นยังไง พออภัยได้เท่านั้นน่ะ ข้างในเป็นยังไง โล่ง สบาย ว่าง ก้อนอะไรใหญ่ๆ ภูเขาใหญ่ๆ นะที่มันทับอยู่ข้างใน มันถูกขุดออกไปเลย โล่ง ว่าง สบาย ไม่เคยสบายอย่างนี้เลย แล้วต้องไปซื้อหาไหม ความสบายอย่างนี้ ต้องไปเสียเงินซื้อหาไหม ไม่ต้องเลย ทำได้เอง นี่ถ้าหากว่าไปพบพวกเพื่อนฝรั่งนะ เขาถามหนูว่า บำเพ็ญทานอะไรถึงจะดี ทำทานอะไรถึงจะดี หนูจะตอบเขาว่ายังไงคะ ทำอภัยทานนี่แหละดี ทำไมถึงดีล่ะ ต้องควักกระเป๋าไหม ไม่ต้องควักกระเป๋าเลยสักแดงสตางค์เดียว แล้วก็เมื่ออภัยทานได้ เราจะเป็นคนที่น่ารักมากเลย เพราะคนนั้นน่ะเป็นคนที่มีความรัก ความเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นจะเป็นที่รักที่ชมของคนทุกคนเลย พุทธศาสนาพิเศษตรงนี้ ที่บอกว่าทุกคนไม่ว่าเศรษฐี ยาจก สามารถจะทำบุญได้ทำทานได้โดยเท่าเทียมกัน ก็เห็นได้ว่าในเรื่องของอภัยทานนี่เอง
ทีนี้ก็อยากจะเสนอเพื่อคิดนะคะ สำหรับการอธิษฐานจิตอีกสักเรื่องหนึ่งว่า ฉันจะปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว ฟังแล้วกลัวหรือเปล่า หมดตัวก็ สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรเหลือ ใช่ไหม หมายความว่าอย่างนั้นใช่ไหมคะ ฉันจะปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว ตัวในที่นี้คือ หมายถึงอะไร ตัวตน หมายถึงตัวตน เพื่อความหมดตัวตน ตัวตนนี่มันไม่ดียังไง ถึงจะปฏิบัติธรรมเพื่อหมดมันเสีย มันไม่ดียังไงคะ มีไหม มีความไม่ดีไหม เพราะทุกคนทะนุถนอมมันออกจะตาย ตัวตนนี่ กินก็ต้องกินให้อิ่ม อร่อยๆ แต่งตัวก็ต้องแต่งให้สวยงาม ประดิดประดอยสารพัด จะอยู่ จะนอน จะอะไร ก็เอาแต่สิ่งสวยงามสะดวกสบายทั้งนั้นเพื่อตัวตน ทีนี้จะมาปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว น่ากลัวไหม น่ากลัวข้อนี้ ยิ่งอธิษฐานไม่ได้ใหญ่เลย ข้ออื่นไม่ถึงขนาดนี้ อธิษฐานกันได้ ข้อนี้นี่คงแย่เลย ทำไมถึงจะปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว แล้วความหมดตัวหมายความว่าอย่างไร เข้าใจกันไหม หมายความว่า ขัดเกลาความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนให้ออกไปทีละน้อยๆ ใช่ ทีนี้จริงๆ จะขัดยังไง เช่นยังไง อยากจะลองยกตัวอย่าง ท่านหลวงปู่ดุลย์ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมคงจะเคยได้ยินชื่อท่าน ที่ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นอาวุโสมากของท่านพระอาจารย์มั่น แล้วท่านก็เป็นท่านเจ้าอาวาสของวัดบูรพารามที่จังหวัดสุรินทร์เป็นเวลานาน ในส่วนตัวก็ไม่เคยได้กราบท่านตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เคยได้เห็นท่านแต่ไกลครั้งเดียว แต่เมื่อมาอ่านหนังสือซึ่งก็ไม่มีมากนะ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่พูดสั้นๆ แล้วก็มีผู้บันทึกเอาไว้ก็คือพระลูกศิษย์ท่านน่ะ ก็บันทึกเอาไว้ ก็ได้อ่านที่หลวงปู่ฝากไว้ หลายคนก็คงได้เคยอ่าน หนังสือประวัติท่าน ก็รู้สึกเคารพ เคารพท่านมากเชียว แล้วก็พอเรียกท่านว่าหลวงปู่เนี่ย มีความรู้สึกในใจว่า เรียกได้เต็มปากเต็มคำด้วยความเคารพนับถือมาก แล้วก็ประวัติที่กล่าวถึงท่านอยู่ตอนหนึ่งว่า มีผู้ที่จะเอาลูกมาบวช คือมาบวชนาคกับท่านน่ะ ก็นัดวันกันเสร็จแล้วนะว่าให้ท่านเป็นพระอุปัชญาย์ แล้วก็ทีนี้พ่อแม่ก็ไปพบท่านเจ้าคุณเทพ เทพ สิทธาจารย์ หรืออย่างไรเนี่ย ท่านชื่อจริงว่าท่านเจ้าคุณโชติ เรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณโชติ ซึ่งความเป็นจริง ท่านเจ้าคุณโชติเป็นลูกศิษย์ของท่านหลวงปู่ดุลย์ แต่ท่านได้มีสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณเทพ แล้วท่านก็มาที่วัด คงจะเป็นวัดบูรพารามนี่แหละ แล้วพ่อแม่ของนาคคนนั้นจะได้ไปคุยกับท่านยังไงไม่ทราบค่ะ เกิดถูกใจท่านเจ้าคุณโชติ ท่านเจ้าคุณเทพ ก็มาเรียนกับท่านหลวงปู่ดุลย์ว่า จะขอเอาลูกชายที่ฝากฝังจะให้หลวงปู่ดุลย์เป็นพระอุปัชญาย์ ไปบวชกับท่านเจ้าคุณเทพ ขอให้เจ้าคุณเทพเป็นพระอุปัชญาย์ ท่านหลวงปู่ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่เสร็จแล้วนาคคนนี้ก็ไปซ้อมให้ท่านเจ้าคุณเทพฟัง ก็ซ้อมได้ขาดๆ เกินๆ ท่านก็ไม่บวชให้ หรืออีกทีหนึ่งท่านอาจจะไม่ค่อยถูกใจก็ได้นะ ในการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ท่านไม่บวชให้ พอท่านเจ้าคุณหรือท่านเจ้าคุณเทพ สิทธาจารย์ไม่บวชให้ พ่อแม่ก็กลับมาขอท่านหลวงปู่ดุลให้เป็นพระอุปัชญาย์ช่วยบวชให้ ท่านก็รับ แล้วพระลูกศิษย์ พระเลขาก็บอก หลวงปู่จำได้ไหม คนนี้เขามาขอให้หลวงปู่เป็นพระอุปัชญาย์เมื่อวันก่อน แล้วจู่ๆ เขาก็บอกเลิกหลวงปู่เสียเฉยๆ อย่างนั้นน่ะ จะเอาลูกเขาไปบวชกับเจ้าคุณเทพน่ะ แล้วนี่เขากลับมาอีก ภายใน 2-3 วันนะคะ แล้วหลวงปู่ยังจะบวชให้เขาอีกเหรอ พระเลขาเขาถาม ท่านตอบว่าไงรู้ไหม ท่านบอกว่า ก็วันก่อนเขาไม่สะดวก วันนี้เขาสะดวก เราว่างเราก็บวชให้เขา เป็นไง คำตอบแบบนี้เป็นอย่างไร ถ้าเป็นเราจะเป็นไง เราคงคิดเหมือนกันนะว่าจะรับหรือไม่รับน่ะ ที่จะบวชให้อีกครั้งหนึ่ง ท่านตอบอย่างนี้หมายความว่าไง มีความรู้สึกยังไงเมื่อฟังแล้วคะ ท่านอภัยให้ หรือถ้าจะว่าอีกอย่างหนึ่ง ท่านก็ไม่มีอภัยหรือไม่อภัย ก็เหมือนอย่างท่านพูดนั่นแหละ วันก่อนเขาไม่สะดวก วันนี้เขาสะดวก เพราะเราว่าง เราก็บวชให้
นี่แหละเราพูดเมื่อสักครู่นี้ ถึงว่าจะปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว ถ้าพิจารณาอย่างนี้แสดงถึงความหมดตัว หรือความมีตัว มองเห็นไหมคะ แสดงถึงว่า ท่านมีความหมดตัว หรือมีความมีตัว ตัวอะไร ตัวตน อัตตา ท่านไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นเรื่องของหน้าที่ ท่านเป็นท่านเจ้าอาวาส เป็นพระเถระผู้ใหญ่ เมื่อเขามาขอให้ทำอะไร พอทำให้ได้ก็ทำ ไม่เห็นต้องมาถือว่า ขอฉันแล้ว แล้วก็มาบอกเลิกฉัน มันทำให้ฉันเสียศักดิ์ศรี เสียชื่อ เสียหน้า เสียอะไรต่ออะไร ตามแต่จะรำพันกันไปเถอะ ไม่เห็นท่านพูดเลย ไม่เอ่ยถึงสักนิดเดียว นี่เป็นตัวอย่าง ถ้าหากว่าท่านผู้ใดยังมองไม่เห็นว่า ความหมดตัวหมายความว่าอย่างไร ก็คือลักษณะอาการอย่างนี้
หรือจะเล่านิทานเซนซึ่งเคยเล่ามานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว บางคนอาจจะเคยฟังแล้ว ที่จริงเรื่องของเซนนี่ ไม่ค่อยเป็นนิทานนะ เป็นเรื่องจริง มีชื่อมีเสียงจริง แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานเป็นร้อยเป็นพันปี ก็เลยเรียกว่านิทาน ก็พูดถึงอาจารย์เซนท่านหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของชาวหมู่บ้านนั้น เพราะท่านสอนดีประพฤติดี ปฏิบัติดี เป็นตัวอย่างทุกอย่าง วันหนึ่งลูกสาววัยรุ่นของชาวบ้านในนั้นเกิดท้องขึ้นมา พอท้องขึ้นมาโดยไม่ปรากฏตัวพ่อตัวผู้ชาย พ่อแม่ก็เดือดร้อนมาก เพราะสมัยโน้นเขาต้องถือว่ามันต้องมีการแต่งงานกันตามประเพณี ไม่ใช่ว่าจะมาได้เสียกันเอง มันไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง พ่อแม่ก็คาดคั้นกับลูกสาว ใคร ผู้ชายคนนั้นน่ะ ใคร บอกมานะ ใครเป็นพ่อของลูกในท้องของแก ลูกสาวก็ไม่ยอมบอกเพราะรู้ว่าผู้ชายคนนี้ พ่อแม่คงจะไม่พอใจแน่เลย ถ้าบอกเข้าเดี๋ยวพ่อแม่โกรธจะไปทำร้ายผู้ชายของตัว ไม่ยอมบอก พ่อแม่ก็ทั้งดุทั้งด่าทั้งตีสารพัด ลูกสาวก็คงทนไม่ไหว พอขู่ถามหนักๆ เข้าหลายวันเข้าก็เลยบอกว่า ก็อาจารย์เซนคนนั้นไงล่ะ พ่อแม่ก็เรียกว่าคงแทบสิ้นสติน่ะ ไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นอาจารย์เซนที่มาเป็นพ่อของลูกในท้องของลูกสาวเรา แต่ก็โง่พอนะ ต้องบอกว่าพ่อแม่ก็โง่พอที่จะเชื่อลูกสาว ก็โกรธแค้นอาจารย์เซนอย่างยิ่งเลย ทำไมถึงมาทำอย่างนี้ เสียแรงเคารพนับถือกันทั้งหมู่บ้านเลย ทำไมถึงมาทำอย่างนี้ แล้วก็ตะโกนเสียงดังละ ว่างั้นเถอะ พวกชาวบ้านเพื่อนบ้านได้ยินก็พากันมาไต่ถาม พอรู้เรื่องก็พากันโกรธตามไปด้วย พวกนี้เป็นไง ทิฏฐิอย่างไหนคะ พวกที่เขาว่าอย่างนี้ก็ว่าตามเขา เขาว่างามก็ตามเขา เขาว่าผิดก็ตามเขา พวกอย่างนี้ทิฏฐิอย่างไหนคะ มีเหตุมีผลไหม ไม่มีเลย เพียงแต่เขาว่า ก็โกรธแทน ก็พากันเดินขบวนไปหาอาจารย์เซนที่สำนัก แล้วก็ไปว่าๆ ด่าๆ แล้วก็ถามคาดคั้นจะให้รับ ประโยคที่อาจารย์เซนท่านพูดก็คือว่า อ้อ งั้นเรอะ แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกเลย พวกนั้นก็ด่าไปเถอะจนสะใจ ไม่รู้จะด่าอย่างไร สรรหาคำสารพัด จะทำอะไรมากยิ่งกว่านั้น จะทุบตีก็คงเกินไป ไม่กล้า สะใจก็พากันกลับ ก็ไม่มีผลอะไร นอกจากอาจารย์เซนถามว่า อ้อ งั้นเรอะ ต่อมาก็ครบกำหนดคลอด เป็นลูกชาย ตายายพอเห็นลูก โกรธอีก มันแค้นไม่หายสักที ก็พาเด็กนั้นไปที่อาจารย์เซน ไปถึงก็เอาเด็กกระแทกวางให้ เอ้า ลูกของแก เลี้ยงซะ เดาได้ไหม อาจารย์เซนจะว่ายังไง อ้อ งั้นเรอะ ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงไป ประโยคเดียว ก็เลี้ยงไป แล้วก็คงมีคนเขาสงสาร เขาก็หานมหาอะไรมาให้ ก็เลี้ยงไป วันหนึ่งลูกสาวก็เกิดความละอายต่อบาป หิริโอตัปปะเพิ่งจะเกิด ก็เลยสารภาพกับพ่อแม่ว่า ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่อาจารย์เซนองค์นั้นหรอก เป็นไอ้หนุ่มที่ทำงานอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรา ร้านแถวๆนี้ พ่อแม่ได้ยินเข้า ก็ตกใจก็ตบอกกัน ตายจริง เรานี่ทำบาปทำกรรมอย่างใหญ่ ไปต่อว่าอาจารย์เซนเสียไม่มีชิ้นดี เราจะทำยังไง อาจารย์เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็พรรณนาไปเถอะ พวกกระต่ายตื่นตูมน่ะ เหมือนกันหมด ไม่ต้องนึกถึงเหตุผล พรรณนาสารพัด พวกชาวบ้านก็ได้ยินเข้าก็พลอย เราก็บาปไปด้วยนะ ไปด่าท่าน ช่วยกันด่าซะเต็มเปา ก็เดินขบวนไปอีก ไปถึงสำนักอาจารย์เซน ไปถึงก็กราบขอขมาสารพัด อ้อนวอนโปรดยกโทษอะไรต่ออะไรต่างๆ เถิด ได้ผิดไปแล้ว ท่านจะพูดว่าไง อ้อ งั้นเรอะ ประโยคเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็รับเอาเด็กกลับไป ก็รับหลานไปเลี้ยงเอง อาจารย์เซนท่านนี้มีตัวหรือไม่มีตัว หมดตัว ทำไมถึงว่าหมดตัว นึกดูสิ ถ้าอย่างเป็นเรา อยู่ดีๆ ต้องเรียกว่านอนไม่คู้ รู้ไม่เห็น พอมาถึงก็ด่าเอาๆ เป็นไง ฟังไหวไหม คงลุกขึ้นมาต่อกรกันเป็นการใหญ่ไปเลยน่ะนะ อย่างน้อยก็ฟ้องหมิ่นประมาทไปเลย นี้ อ้อ งั้นเรอะ แล้วก็ทำงานตามปกติ คือท่านเคยอยู่อย่างไร เคยทำงานทำการอย่างไร ปกติ ไม่มีอะไรผิดปกติเลยในตัวท่าน พอเขาเอาลูกไปให้ ก็ อ้อ งั้นเรอะ อ้าว เลี้ยงไปด้วยความเมตตา ถ้าไม่เลี้ยงเด็กนั้นก็คงลำบากน่ะ เพราะตายายมิจฉาทิฏฐิขนาดนี้แล้ว เอามาโยนให้ ก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงเอาบุญไปเท่าที่เป็นหน้าที่ของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง แล้วท่านก็ทำอะไรต่ออะไรของท่านปกติตามเดิม พอถึงเวลาเขามากราบกราน ขอโทษ ยินดีปรีดาไหม ตื่นเต้นไหม เขามาขอโทษเรานะ แสดงว่าเรานี่เป็นคนดีนะ เราไม่ได้เป็นคนชั่วอย่างเขาด่าเขาว่าเลย เฉย เมื่อบุคคลท่านใดที่ท่านประเสริฐแท้ ท่านได้ทำความดีอย่างครบถ้วนแท้ ต้องทวงความดีไหม ต้องแสดงความดีไหม ต้องอวดความดีไหม ไม่หรอก เพราะความดี ความงาม ความถูกต้อง เป็นของจริง เหมือนกับทองแท้ เพชรแท้ ไม่มีปลอม เพราะฉะนั้น ท่านไม่ต้องแสดงอะไรเลย เป็นปกติ นี่ก็เรียกว่า ท่านน่าจะมีอัตตา ถูกเขาด่า หรือว่าถูกเขากราบไหว้ สรรเสริญ ขอโทษขอโพย ไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นเลย ไม่มีอาการกรุ่นโกรธแค้น ไม่มีอาการตื่นเต้นยินดีเมื่อเขามา
นี่แหละเป็นตัวอย่าง มาปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว หมดตัวตน เป็นสุขไหมคะ อาจารย์เซนกับพวกพ่อแม่ชาวบ้านนั่นน่ะ ใครจะเป็นสุขกว่ากัน สุขเกษม เยือกเย็น ผ่องใส หลวงปู่ก็เหมือนกัน ท่านอาจารย์หลวงปู่ดุลย์ก็เหมือนกัน ผ่องใส สุขเกษม เราอยากสุขเกษมอย่างนั้นบ้างไหม ก็ลองนึกดู แต่อยากเฉยๆ นี่ไม่เป็นผลนะคะ บอกไว้ก่อน อยากเฉยๆ ไม่เป็นผล อยากแหละดี แต่อยากแล้วต้องทำ แล้วถ้าทำแล้วมีโอกาสที่จะสำเร็จไหม มี ทำไมถึงว่ามี ก็มีตัวอย่างอยู่แล้วนี่ ใช่ไหมคะ ไม่ใช่ของพูดกันเล่นๆ หรือว่าเล่ากันมาเฉยๆ แต่มีตัวอย่างอยู่แล้ว ไม่ต้องเอ่ยถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก ยังมีท่านอื่นอีกเยอะ แล้วอย่างหลวงพ่อ ท่านอาจารย์ชา ที่ประทับใจตัวเองนะ ก็คือตั้งแต่ยังไม่ได้ไปอยู่กับหลวงพ่อ เพียงแต่ไปกราบท่าน ยังทำงานอยู่ วันหนึ่งท่านก็พาไปธุระกับท่านด้วย ท่านจะพาไปวัดถ้ำแสงเพชร แต่ว่าท่านต้องไปสวดมนต์ที่บ้านของลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านก่อน โดยมีพระจากวัดสาขาของหลวงพ่อมาสวดมนต์ในเช้าวันนั้น สวดมนต์ทำบุญ ก็มากัน 9 องค์ หลวงพ่อเป็นองค์หัวแถว ก็เป็นองค์ที่ 10 เราก็ชอบฟังสวดมนต์ ก็นั่งฟังสวดมนต์ ฟังไปๆ แปลกใจ เพราะผู้ที่สวดมนต์มีพระเจ้าอาวาสหัวแถว กับเณรองค์สุดท้าย ส่วนที่นั่งกลางองค์ที่ 2 ถึงองค์ที่ 8 กะพร่องกะแพร่ง สวดบ้าง ไม่สวดบ้าง เฉยซะบ้าง ส่วนหลวงพ่อถ้าท่านมีแรงท่านก็สวดช่วย เพราะว่าท่านไม่ค่อยสบายในตอนนั้น ถ้าหากว่าท่านเหนื่อย ท่านก็พัก พอท่านมีแรงอีกท่านก็สวดช่วยไปตลอด ที่ประทับใจเพราะอะไร ลองเดาซิคะ ที่เห็นอย่างนี้แล้วประทับใจเพราะอะไร ถ้าผู้คนทั่วไปส่วนมาก ถ้าเห็น พูดง่ายๆ ว่า นี่วัดสาขาของหลวงพ่อ แล้วก็มาในงานซึ่งมีแขกเหรื่อมากมายเลยที่เขามาร่วมในงานนั้นน่ะ ทำบุญน่ะ แล้วก็จะมาสวดมนต์ทำบุญบ้านเขา ก็ต้องเตรียมมาก่อนใช่ไหมคะ แล้วสวดให้มันพร้อมเพรียง ให้มันงดงาม ให้มันน่าฟัง นี่มีแต่หัวแถวกับหางแถว คือเณรองค์เล็ก แต่เผอิญเณรนั่นสวดมนต์เก่งจริงๆ กับหลวงพ่อที่ท่านช่วยด้วย ใจเรา ตอนนั้นก็เป็นคนโลภเต็มที่ พอเห็นเข้า ที่จะถูกใจ ไม่ถูกใจ เห็นภาพอย่างนี้ แล้วก็นึก ทำไมเป็นอย่างนี้ แล้วก็มองดูหน้าหลวงพ่อ ท่านยิ้มตลอดเวลา หลวงพ่อนั่งยิ้มไปสวดไป แล้วท่านก็มองดูลูกศิษย์ท่านที่สวดมนต์นะ เราก็นึกในใจทำไมหลวงพ่อถึงยิ้มนะ ถ้าเป็นเรานี่คงอดไม่ได้แล้วละ ทำไมถึงไม่ซ้อมกันมาก่อนให้เรียบร้อย แต่หลวงพ่อเฉยตลอดเวลา ซึ่งเราคงเคยเห็นหัวหน้างานต่างๆ นะคะ หากไปพบลักษณะอย่างนั้นเข้า ยากที่จะทนได้ เพราะจะรู้สึกว่า นี่มันเสียชื่อเราน่ะ ใช่ไหม มันเสียชื่อมาถึงเราซึ่งเป็นหัวหน้า หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง มีสาขาเยอะแยะ นี่ก็เป็นสาขาหนึ่ง แล้วทำไมเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเชื่อว่าเสร็จงานกลับไปวัดแล้ว ท่านไม่ได้ปล่อยหรอก ท่านก็ต้องจัดการดุว่าอะไรกัน ให้อบรมสั่งสอนกันต่อไป แต่ว่า ณ ที่นั้น หลวงพ่อสงบ เย็น ยิ้ม ก็นึกในใจ หลวงพ่อไม่มีตัว หลวงพ่อถึงไม่แสดงอาการอะไรออกมาอย่างที่ไม่น่าดู แต่ว่าท่านก็ช่วยเท่าที่ท่านสามารถจะช่วยได้ แต่ถ้าเกินที่จะช่วยได้ ท่านก็ไม่ช่วย นี่แหละ ถ้าหากว่าเราจะอธิษฐานจิตว่า จะปฏิบัติธรรมเพื่อความหมดตัว ควรไหมคะ ควรอธิษฐานจิตอันนี้ไหม แล้วก็ไม่ต้องหวังหรอก ว่า พรรษานี้ฉันจะหมดตัว ยังไง ก็ไม่หมดนะ แต่ถ้าเราค่อยๆ ขัดไปมันก็มีโอกาสใช่ไหมคะ
ฉะนั้นก็ฝากไว้ให้คิดว่าเราควรไหม ฉะนั้น ที่เสนอว่า สัมมาวาจา ฆ่าความโกรธ แล้วก็เพื่อความหมดตัว จะว่าไปก็เป็นเรื่องยาก แต่ว่าทำอะไรเรื่องง่ายๆ เรื่องกล้วยๆ น่ะ ใครๆ ก็ทำได้ ทำไมเราไม่ทำเรื่องอะไรที่มันเป็นเรื่องยากแล้วเราจะได้ยืดตัว ยืดอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า เป็นสิ่งที่ทำได้นะ ไม่ต้องบอกว่าฉันทำได้ เป็นสิ่งที่ทำได้นะ ถ้าหากว่าทำจริง แล้วก็ไม่ต้องตั้งความหวังด้วยว่าเมื่อไหร่ ถ้าตั้งความหวังเข้าแล้วจะเป็นไงคะ ในระหว่างที่พยายามจะทำจะเป็นไงถ้าตั้งความหวัง ท้อแท้ ทุรนทุราย เมื่อไหร่จะหมด ในขณะที่รำพันว่าเมื่อไหร่จะหมด มันเป็นยังไง มันยิ่งเพิ่มใหญ่เลย ยิ่งเพิ่มตัวตนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรมท่านจึงแนะนำว่า ทำไปเถอะ ถ้าเราทราบวิธีที่ถูกต้องนะคะ วิธีที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไร ทำไปเถอะ ไม่ต้องไปคิดหรอกว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ถ้าเราทำถูกต้อง มันก็ต้องถึงความสำเร็จวันหนึ่ง เหมือนกับเราจะเดินทาง จะเดินทางไปตรงนี้ เราเห็นหนทางแล้ว แล้วเราก็มาสู่ถนนนั้นแล้ว เดินไปเหอะ ประเดี๋ยวก็ถึง แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้ทางสิ เราก็ต้องศึกษา ต้องแสวงหา ให้รู้ว่าผลที่สุดแล้วมันจะเป็นยังไง ก็เห็นว่า 6 โมงกว่าแล้วนะคะ เดี๋ยวจะค่ำ มีอะไรจะคุย จะออกความเห็น จะซักถาม เท่าที่คุยมาแล้ว หรืออยากจะเพิ่มเติมอะไร มีไหมคะ พูดได้ หักโหมเกินไป ต้องให้พอเหมาะกับสังขารของเรา เรียกว่าทำดีที่สุดของสังขารของเรา ดีแล้วละค่ะ ไม่ฝืนแหละดี จะได้ทำไปได้ด้วยความสบาย แล้วก็ระลึกถึงทางสายกลางของพระพุทธเจ้าเอาไว้เสมอ มีไหมคะ คุณฉายศรีมีไหม ก็อนุโมทนามาก อุตสาห์รีบมา