แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องของอริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ในเรื่องของข้อที่ 1 คือ ทุกขสัจ คือเรื่องของความทุกข์ ความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ เสร็จไปแล้วนะคะ เพราะฉะนั้น วันนี้ก็อยากจะต่อถึงเรื่องของ สมุทยสัจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่ 2 ในอริยสัจ 4
สมุทยสัจ หรือทุกขสมุทัย จะเรียกอย่างใดก็ได้นะคะ ที่หมายถึงสมุทัยของความทุกข์นั้น ก็อาจจะดูคำที่เกี่ยวกับเหตุแห่งทุกข์ได้สองคำ คำหนึ่งก็คือ สมุทัย ที่หมายถึงเหตุ แล้วก็สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งเหตุ คือเราจะแยกแยะออกมาว่า เหตุแห่งทุกข์คือตัณหา แต่ว่าปัจจัยของตัณหานั้นจะมีอะไรๆ ได้อีกบ้าง เป็นรายละเอียดแยกออกไป ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราจะใช้คำภาษาอังกฤษ สมุทัย ในที่นี้ก็ใช้คำว่า origin เหตุก็คือ cause C-A-U-S-E นะคะ ปัจจัยก็คือ condition ถ้าหากว่าเกี่ยวกับ “เหตุ” นั้นเราจะหมายถึงว่าเนื่องด้วยสิ่งเดียว ถ้าสิ่งเดียวละก็ สิ่งนั้นเราจะใช้คำว่าเหตุ เช่น ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่ถ้าเนื่องด้วยหลายอย่างคือหลายสิ่งเราจะเรียกว่า “ปัจจัย” เพราะเหตุว่า ตัณหานั้นอาจจะตัณหาในทรัพย์สินเงินทอง ทรัพย์สินเงินทอง ความอยากได้ทรัพย์สินเงินทองก็เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ หรือความอยากได้ในชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ แต่มันก็เนื่องมาจากความอยากที่เป็นเหตุนั่นเอง ในที่นี้ก็เพื่อจะอธิบายคำว่า “เหตุ” “ปัจจัย” ที่เรามักจะพูดรวมกัน ถ้าเหตุหมายถึงสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งใหญ่ แต่ถ้าเป็นปัจจัยก็คือขยายความแจกรายละเอียด ของเหตุนั้นว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นส่วนทำให้เกิดเหตุนั้นขึ้นนะคะ ทีนี้ สมุทัยของความทุกข์ ถ้าเราจะพูดแจกแจงรายละเอียดออกไป เราก็อาจจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่ “อวิชชา” อวิชชา สะกดด้วย “ช” สองตัว วิชชา แปลว่าความรู้ หรือแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญานั่นเอง แต่เมื่อเติม “อะ” คือตัว “อ” เข้าไปข้างหน้า อวิชชาก็หมายถึงปราศจากความรู้ ปราศจากแสงสว่างหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขาดปัญญา ไม่มีปัญญา ฉะนั้นความที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้สิ่งที่เป็นสัจธรรม เช่น เรื่องของไตรลักษณ์ ดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น ก็จะทำให้จิตนั้น ค่อนข้างจะเป็นจิตที่เขลา บางทีก็ถ้าเขลามากๆ ก็ถึงขนาดที่โง่ ทึบ มองไม่เห็น แล้วก็อาจจะทำอะไรๆ ไปตามความเขลาที่เกิดขึ้นในใจนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า อวิชชานี่แหละเป็นรากเหง้าของความทุกข์ หรือเป็นเบื้องต้นแห่งความทุกข์ และเพราะอวิชชานั่นเองจึงทำให้เกิดตัณหา ตัณหาก็คือความอยาก ความอยากและความเร่าร้อนทุรนทุรายในสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้างสารพัดอย่าง นะคะ ก็เพราะความเขลาที่ไม่รู้ว่า อยากเมื่อใดมันร้อนเมื่อนั้น มันทำความกระสับกระส่ายทุรนทุราย วุ่นวายให้เกิดขึ้นภายในจิต แต่เพราะอวิชชาครอบงำ จิตก็เลยไม่ทราบ ก็เลยคิดว่า ตัณหา ความอยากนี่แหละดี มันทำให้เกิดความทะเยอทะยาน คิดอยากจะทำนู่นทำนี่ แสดงถึงความเป็นคนฉลาด หรือความเป็นผู้ที่จะทำประโยชน์ และตัณหานี่แหละ เป็นเหตุให้เกิด “อุปาทาน” คือพอมีความอยากขึ้นมา อยากได้ชื่อเสียงเกียรติยศ ก็จะยึดมั่นว่า ถ้าในชีวิตนี้ ไม่มีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่ปรากฎแล้วละก็ มันทุกข์ มันอยู่ไม่ได้ นี่ก็คือความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ดิ้นรนทุรนทุรายอีกแหละที่จะเอาให้ได้ จะต้องทำให้ได้ ผลที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือเรื่องของความทุกข์ ฉะนั้น ถ้าจะพูดว่า สมุทัยของความทุกข์มีอะไรบ้าง เรียงตามลำดับก็คือเริ่มตั้งแต่ อวิชชานำไปสู่ตัณหา ตัณหานำไปสู่อุปาทาน แล้วก็เกิดทุกข์สารพัดทุกข์นะคะ ยังไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดในที่นี้ เพราะได้แจกแจงรายละเอียดในเรื่องทุกขสัจที่ได้พูดมาแล้ว
ทีนี้ สมุทัยของความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ที่อยากจะนำมากล่าวเอาไว้ก็คือ เรื่องของสังขาร คำว่าสังขารนั้น เราอาจจะแปลความหมายได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ หมายถึงร่างกายที่เป็นรูป ที่มองเห็นตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า อีกอย่างหนึ่งก็หมายถึงคำว่า ปรุงแต่ง ซึ่งถ้าเป็นคำนามก็จะเรียกว่าเป็นการปรุงแต่ง สังขารนี้หมายถึงการปรุงแต่งก็ได้ หรือถูกปรุงแต่งก็ได้ ของสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยนั้นนะคะ เมื่อเกิดการปรุงแต่ง แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว อวิชชานี้เป็นเงื่อนต้นของตัณหา เมื่อมีตัณหาขึ้น แล้วก็มีอุปาทานตามมา มันก็มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นในใจ ปรุงแต่งไปสารพัด ทำไมจะได้ ได้มาแล้วจะรักษาไว้ได้อย่างไร ถ้าไม่ได้แล้วละก็ มันจะเกิดเป็นความเสียหายอะไรยังไง ซึ่งก็ไม่ได้เกิดความเสียหาย แต่ปรุงแต่งไป คิดไปสารพัดนะคะ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสรุปสมุทัยของความทุกข์ หรือว่าทุกขสมุทัยลงในคำว่าตัณหา เพราะเหตุว่าสัมผัสได้ง่าย แล้วก็ชัดเจน แล้วมันก็อยู่ในใจของคนทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ท่านจึงสรุปลงในคำว่าตัณหา ตัณหานี้เป็นยางเหนียว ท่านเรียกว่าตัณหานี้เป็นยางเหนียวมาก ความอยากเกิดขึ้นในใจเมื่อใดแล้วละก็ มันเหมือนยางเหนียว มันจะเกาะติดตามอยู่ในใจ อย่างชนิดที่แกะเท่าไหร่ก็ไม่ยอมปล่อย หรือปล่อยไม่ได้ ตัณหาเป็นเครื่องผูกสัตว์ สัตว์ในที่นี้ก็หมายถึงสัตว์โลกและโดยเฉพาะก็คือมนุษย์หรือคน ที่จะแสดงความดิ้นรนอันเกิดจากตัณหามากกว่าสัตว์โลกชนิดอื่นที่จะเป็นไปเพียงสัญชาตญาณ เมื่อเป็นเครื่องผูกสัตว์ ผูกไว้กับอะไร หรือผูกแล้วให้เกิดอะไรขึ้น นั่นก็คือผูกให้อยู่กับความว่ายเวียน ว่ายเวียนวนเวียนไปมากับตัณหา อุปาทานแล้วทุกข์ กิเลสตัณหาอุปาทานแล้วก็ทุกข์ที่เรียกว่าเป็นวัฏสงสาร พอมีตัณหามันก็มีกิเลสละค่ะ คือกิเลสโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง อย่างที่ได้พูดมาแล้วนั้น แล้วก็ไม่สามารถจะออกไปจากวงของความวนเวียนนี้ได้ แล้วก็ทำตามที่อยาก ตามที่กิเลสบอก แล้วก็ตามที่อยาก พอทำเข้า มันก็เกิดการกระทำที่เรียกว่ากรรม เมื่อมีการกระทำที่เรียกว่ากรรม ตามเหตุปัจจัยที่เนื่องมาจากความอยาก เห็นไหมคะ เหตุปัจจัยที่เป็นตัณหา เป็นความอยาก ทำให้อยากกระทำก็เกิดการกระทำ พอเกิดการกระทำมันก็มีวิบาก คือผลของการกระทำเกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าการกระทำนั้น เนื่องมาจากเหตุปัจจัยของความอยากแล้ว ผลจะไม่เป็นอื่นเลยนอกจากความทุกข์ แม้จะได้มา สมตามความอยาก แต่กระนั้น มันก็เป็นแต่เพียงมายา คือเป็นแต่เพียงความสุขที่ซ่อนเร้นมาในรูปของความทุกข์ที่ซ่อนเร้น อย่างที่เราได้พูดแล้ว เพราะฉะนั้น ตัณหานี้ มันเป็นตัณหาที่เป็นความต้องการด้วยอำนาจของอวิชชา เป็นมูลเหตุให้เกิดอุปาทานและทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรรู้จักในอาการของตัณหาให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้พยายามละเลิกตัณหานั้น อย่าให้ย่างกรายเข้ามาสู่ใจได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะได้พูดกันถึงเรื่องอาการของตัณหาสักเล็กน้อยนะคะ
เมื่อตัณหาเกิดขึ้น มันมีอาการอย่างไร ท่านก็บอกว่า ให้สังเกตดูให้ดีนะ ที่ภายในนั้นจะเกิดความรู้สึกหิวเหมือนกับหิวข้าว แต่ว่ามันหิวคนละอย่าง หิวข้าวพอได้กินข้าวมันก็อิ่ม แล้วมันก็สบาย แต่ความหิวที่เกิดจากอาการของตัณหาที่มีอยู่ภายในนั้น มันดิ้นรนทุรนทุราย กระสับกระส่ายอย่างเปรียบกันไม่ได้ กินอะไรก็ไม่อิ่ม จนกว่าจะได้สิ่งที่อยากนั้นให้สมใจ เพราะมันเป็นความหิวด้วยอวิชชา คือด้วยความเขลา ด้วยความที่ไม่ฉลาด จึงไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไข ผ่อนคลายหรือว่าละเลิกตัณหานั้น ก็ดิ้นรนกระเสือกกระสนไปด้วยอำนาจของอวิชชา มีอาการตะกละตะกรามผสมเข้ามาด้วย ด้วยอำนาจของอวิชชาอีกเหมือนกัน คือด้วยอำนาจของความเขลา ของความไม่รู้ พอเผอิญได้มาสมความอยากก็จะมีการบริโภคสิ่งที่ได้มานั้น จะเป็นวัตถุสิ่งของหรือจะเป็นนามธรรม เช่น ความรัก ความเก่ง ความเด่นความดัง เป็นต้น ก็จะบริโภคสิ่งนั้นในลักษณะของอวิชชา คือบริโภคอย่างโง่เขลา อย่างที่ไม่ทำให้มันเกิดประโยชน์เป็นความสง่างามหรือเป็นความสุขสงบเย็น แต่จะดิ้นรนบริโภคมันอย่างตะกรุมตะกรามเพราะมีอวิชชากำกับอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็ก่อให้เกิดอุปาทานตามมา คือยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นยิ่งขึ้นๆ จนเป็นความทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น อวิชชาเมื่อเกิดขึ้นในจิตของผู้ใด ก็พูดได้ว่าจะทำให้สติปัญญาของผู้นั้นเกิดการหลงทาง สติปัญญาหลงทางนี่น่ากลัวมากนะคะ ถ้าหากว่าหลงทางตามถนนหนทางในบ้านในเมืองไปไม่ถูกหรือแม้แต่หลงทางในป่าก็ยังดีกว่าสติปัญญาหลงทาง เพราะสติปัญญาหลงทางนั้นหมายความว่า ในขณะนั้นจิตนั้นมิได้มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ แต่มันเป็นความคิดเห็นที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ อันจะนำใจหรือนำชีวิตให้พูดให้กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องในทางธรรมสรุปลงในคำว่า มานำความทุกข์มาสู่ มาสู่คนผู้นั้นนะคะ เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก และเราก็คงจะได้ทำความรู้จักในเรื่องของอวิชชาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อเราพูดถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนะคะ เมื่อสติปัญญาหลงทางก็พูดได้ว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ ที่ควรจะมีอยู่ก็หลงทางตามไปด้วย นั่นก็คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดีทำนองนั้น ก็ลงเอยด้วยการเกิดปัญหา และปัญหานี้ก็นำมาซึ่งความทุกข์ ท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านได้ให้ตัวอย่างเรื่องของสติปัญญาหลงทางหรือเรื่องของอุปมาให้เห็นว่าอวิชชาเป็นอย่างไร โดยท่านเล่านิทาน ๑ นาที หรือจะว่าเป็นครึ่งนาทีก็ว่าได้ เรื่องคนที่อยู่บนหลังม้า ซึ่งก็ได้นำมาเล่าหลายครั้งแล้ว แต่ว่าเพื่อประกอบคำอธิบายที่ว่า สติปัญญาหลงทางเพราะอวิชชากำกับนั้นเป็นอย่างไร ก็ขออนุญาตเล่าอีกสักครั้งนะคะ ท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์ก็เล่าว่า คนๆ หนึ่งก็ควบม้า ม้านั่นก็ดูท่าทางลักษณะแข็งแรง เป็นม้าที่มีพลังแล้วก็พยศ คนที่นั่งอยู่บนหลังม้านั้นก็รู้สึกว่า แหมตัวเนี่ยนั่งอย่างสง่าเพราะสามารถควบม้าไปได้อย่างรวดเร็ว แต่คนที่ยืนดูอยู่สองข้างทางมาเห็นชายหนุ่มคนนี้ควบม้าตะบึงมาอย่างรวดเร็วก็ถามว่า จะไปไหน เจ้าคนที่อยู่บนหลังม้าก็ตอบว่า ไม่รู้โว้ย แล้วแต่ม้าโว้ย แล้วนิทานเรื่องนี้ก็จบ เมื่อฟังดูแล้วรู้สึกเป็นยังไงคะ ถ้าหากว่ามองดูด้วยตาเนื้อก็จะรู้สึกว่าผู้ที่ควบคุมการควบตะบึงเหล่านี้ก็คือคนที่อยู่บนหลังม้าใช่ไหมคะ ก็เหมือนกับเป็น กำลังถือบังเหียนอยู่ แต่จากคำตอบของคนที่อยู่บนหลังม้า กลับแสดงว่าตัวเขาหาได้บังคับบัญชาเจ้าม้าตัวนี้ไม่ หาได้เป็นผู้มีอำนาจควบคุมเจ้ามาตัวนี้ให้วิ่งไปสู่ทิศทางที่ตนต้องการไม่ เพราะคำตอบของเขาตอบว่า ไม่รู้โว้ย แล้วแต่ม้าโว้ย นั่นก็คือว่า แล้วแต่เจ้าม้าตัวนี้ที่มันจะตะบึงไปด้วยกำลัง ด้วยพยศ ด้วยจิตที่เป็นป่าเถื่อน ก็คือจิตที่ประกอบด้วยอวิชชามีความเขลาเป็นเจ้าเรือน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะวิ่งตะบึงไปเรื่อยโดยไม่รู้ทิศทางที่ถูกต้องที่ควรจะไป เพื่อจะพาให้ชีวิตนี้รอดตลอดปลอดภัยไปได้ จะวิ่งตะบึงไป มันจะไปเข้ากอไผ่ก็ตะบึงเข้ากอไผ่ มันจะเผอิญลงเหวก็ลงเหว เผอิญมันจะต้องปีนขึ้นภูเขาขรุขระก็ปีนไป โดยไม่รู้วิธีที่จะใช้สติปัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งอันเป็นภัยอันตรายแก่ชีวิตที่เกิดขึ้น นี่แหละค่ะที่ท่านเรียกว่า อวิชชาเป็นเหตุให้สติปัญญาหลงทาง เรียกว่าดำเนินชีวิตไปอย่างเขลา อย่างมืดมัว อย่างงมงายโดยไม่ได้ใช้ความคิดหรือสติปัญญานั้นใคร่ครวญถึงทิศทางหรือวิถีของชีวิตที่พึงดำเนินให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความสุขสงบเย็นและมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่ก็เป็นตัวอย่างนิทานที่อุปมาถึงเรื่องของอวิชชา และก็จิตที่มีอวิชชาควบคุมจะเป็นจิตที่ไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่าจะไปหนใดทีเดียว ทีนี้ถ้าหากว่าเราอยากจะแบ่งประเภทของตัณหานะคะ ก็คงจะทราบแล้ว เราแบ่งได้ 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 ก็คือกามตัณหา ก็หมายความว่า ตัณหาในกาม กามก็อาจจะแยกออกได้เป็นกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็มีความต้องการ มีความอยากในสิ่งอันเอร็ดอร่อย น่ารักน่าชม ถูกอกถูกใจ เมื่อพูดถึงรูปก็อยากได้รูปสวยๆ งามๆ เป็นที่ชื่นชมใจ เมื่อพูดถึงเสียงก็ไพเราะเสนาะโสตถูกอกถูกใจ เมื่อพูดถึงกลิ่นก็หอมหวลชวนใจอีกเหมือนกัน เมื่อพูดถึงรส ก็อยากจะได้ลิ้มรสแต่ที่อร่อยตรงกับที่ใจชอบ ลิ้นน่ะไม่ได้บอกว่าชอบ แต่ใจชอบรสอย่างนี้ แล้วก็สัมผัส ก็จะชอบสัมผัสที่อ่อนโยน นุ่มนวล ทำให้เกิดความอบอุ่น เป็นสุข อะไรทำนองนั้น ถ้ากระด้าง แข็ง ก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ และใจนี้ก็จะเปิดประตูรับสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนำให้เกิดเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่คู่กันกับตา หู จมูก ลิ้น กายนะคะ แล้วก็จะมุ่งแต่สิ่งที่สนองความต้องการอย่างถูกใจแต่อย่างเดียว ท่านจึงเรียกว่าเป็นกามตัณหา เพราะฉะนั้น กามตัณหาอันนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก น่ากลัวมากเพราะอะไร เพราะมนุษย์ทั้งหลายทั่วไปมักจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา ทำไมการที่อยากจะกินของอร่อยเนี่ยผิดด้วยฤา การที่จะอยากฟังเพลงเพราะๆ หรือว่าได้ฟังคำพูดที่ไพเราะเสนาะหูเนี่ยมันผิดด้วยฤา หรือการที่จะต้องการสิ่งที่สวยๆ งามๆ มาประดับกาย หรือต้องการภาพกิริยาที่น่าดูผิดด้วยฤา มันก็ไม่ผิด ถ้าจะว่าผิดมันก็ไม่ผิด แต่มันจะมีสิ่งที่ผิดเนี่ยซ่อนเร้นอยู่ มันซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน มันซ่อนเร้นอยู่ที่ว่า มันอยากจะได้อย่างนั้นไม่รู้จบ แล้วมันก็เกิดการติดจนเป็นอุปาทานเหนียวแน่น อย่างที่บอกว่าตัณหาเปรียบเสมือนยางเหนียว มันแกะไม่ออก อะไรที่เขาว่าเหนียว ยางมะตอยหรือว่าจะเป็นกาวตราอะไรก็ตามที่เขาโฆษณาว่าเหนียวมากเลยนะ มันก็ยังเหนียวไม่เท่า ยังเหนียวไม่เท่ากับตัณหาที่เกิดขึ้นในใจ เพราะฉะนั้นเมื่อมีตัณหาในกาม คือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเข้ามันก็ติดแน่น พอติดแน่นแล้ว ถ้าได้อย่างใจมันก็ผ่อนคลายไปชั่วคราว แต่ถ้าไม่ได้อย่างใจหละ แล้วส่วนมากมันก็ไม่ค่อยจะได้ ใช่ไหมคะ สิ่งที่ตามมาก็คือความทุกข์ นี่แหละค่ะ ถ้าจะถามว่าผิดไหม มันก็ไม่ผิด แต่มันผิดตรงที่ปล่อยให้ใจของตนนั้นตกจมไปเป็นทาสของกามตัณหาแล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้น แต่ถ้ารู้จักกามตัณหาอย่างชนิดผู้มีสติปัญญา เพราะอวิชชาไม่สามารถเข้าครอบงำจิตได้ มีวิชชาคือความรู้ว่าอะไรคือสิ่งถูกอะไรคือสิ่งผิด เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งที่เป็น น่ารัก เป็นความน่ารักเป็นความสวยงาม เป็นความน่าชื่นชม ก็รู้จักว่าเออมันก็ดี แต่มันก็เป็นเพียงสิ่งแสร้งว่าเท่านั้นนะ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มีสติเตือนตัวเองอยู่อย่างนี้ มันก็รู้เท่าทันใช่ไหมคะ รู้เท่าทันสิ่งที่มาล่อตาล่อใจ ล่อทางหูทางปากอะไรทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ตกเป็นทาสของมัน อย่างนี้แหละก็เรียกว่า รู้จักมัน สัมผัสมันได้ด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีอำนาจที่จะทำให้จิตนี้เกิดความทุกข์ นี้เป็นตัณหาประเภทแรกที่น่ากลัวมาก เพราะอาจจะพูดได้ว่าชีวิตของมนุษย์นั้นถูกกามตัณหาเข้าครอบงำ แล้วก็ไม่ครอบงำเฉพาะที่ตัวมนุษย์ แต่กามตัณหาเข้ามาครอบงำที่ครอบครัว ครอบงำที่บ้าน ครอบงำที่โรงเรียน ครอบงำในสังคม แล้วก็ครอบงำในโลก ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ก็ลองสังเกตดูสิคะ ที่เบียดเบียนกัน ทะเลาะวิวาทกัน แย่งชิงกัน ยอมกันไม่ได้เพราะอะไร ก็เพราะกามตัณหาใช่ไหม ต่างก็อยากจะเอารูป เสียง กลิ่น รส ที่ถูกใจตน คนอื่นก็อยากจะได้รูป เสียง กลิ่น รส ที่ถูกใจตน เป็นบุคคลบ้าง เป็นกลุ่มบ้าง เป็นสังคมบ้าง เป็นชาติเป็นประเทศบ้าง เกิดการขัดแย้งจนกระทั่งรบราฆ่าฟันกัน กามตัณหามีส่วน มีส่วนที่ก่อให้เกิดสิ่งนี้ และเป็นส่วนที่ค่อนข้างจะหนักแน่นแล้วก็รุนแรงด้วย
ประเภทที่ 2 ของตัณหาก็คือ ภวตัณหา ภวตัณหาก็คือความอยากในความมีความเป็น อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อยากมีนั่น อยากมีนี่ อยากมีบ้านใหญ่เหมือนอย่างที่เขามี อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศเหมือนอย่างที่เขามี อยากเป็นผู้มีเกียรติในสังคมจะโดยตำแหน่งใดก็แล้วแต่ ไม่ต้องอธิบายก็ได้นะคะ แล้วก็ พอไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ไม่มีอย่างที่ต้องการ อยากมมีเงิน1๐๐ ล้าน มันมีได้แค่เพียง 1 แสนบาท เป็นทุกข์ ทุรนทุรายดิ้นรน เมื่อไหร่จะมี อยากจะเป็นผู้มีเกียรติมีหน้าในสังคมที่ปรากฏรูป ปรากฏภาพ ถ้อยคำที่สรรเสริญเยินยอในสื่อสารมวลชนอยู่เสมอ ก็ไม่เป็นอย่างนั้น ก็เกิดความทุกข์ นี่แหละ ตัณหานี้มันมีแต่จะทำให้เกิดความทุกข์ ไม่มีเกิดอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่เกิด ใจเกิดมีความรู้สึกว่าอยากมีอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนั้นให้ได้แล้วไม่ได้ มันก็ทุกข์อีกเหมือนกัน เพราะมันเกิดภพขึ้นในใจ ภวะ คือภพ ภพของความรู้สึกว่าฉันจะต้องมีอย่างนั้น ฉันจะต้องเป็นอย่างนั้น พอฉันไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันต้องการ ผลก็คือฉันนั่นแหละทุกข์ เห็นไหมคะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงสอนเรื่องอนัตตา เพื่อที่จะได้เห็นคุณค่าของอนัตตา แล้วก็เห็นโทษทุกข์ของความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา คือความเป็นตัวตนที่มีตัวฉันให้มากยิ่งขึ้น แล้วจะได้สำนึกว่าเมื่อใดที่สามารถกำจัด ทำลาย เจ้าตัว “ฉัน” หรือความรู้สึกยึดมั่นในความเป็นตัวตนให้ละลายหายไปได้ เมื่อนั้นแหละ จะได้พบและประสบกับความสุขที่แท้จริงอันเป็นความสุขสูงสุด
ตัณหาประเภทที่ 3 ก็คือ วิภวตัณหา ภวตัณหานั้นอยากมีอยากเป็นสารพัดเลย เห็นใครเขาเป็นอะไรก็อยากเป็นนั่น เห็นใครเขามีอะไรก็อยากมีนั่นเหมือนอย่างเขา พอมีเข้าพอเป็นเข้า คือเผอิญได้มีได้เป็นอย่างที่อยาก พอมีเป็นเข้า สักชั่วครู่ชั่วยามหรือสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็ได้สัมผัสกับสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นว่า จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นความสุขอย่างที่คิด ไม่ใช่เป็นความสมปรารถนาอย่างที่หวัง แต่มันมีสิ่งที่ไม่ถูกอกไม่ถูกใจ มันมีความรู้สึกที่ต้องทนต้องอดกลั้นกับสิ่งที่มีที่เป็นเหล่านั้น เหมือนอย่างผู้ที่อยากจะมีครอบครัว เมื่อยังไม่มีก็รู้สึกว้าเหว่ไม่อบอุ่น พอได้มีครอบครัว มีสามี มีภรรยา มีลูก มีหลาน พี่น้อง มีความรู้สึกอบอุ่นขึ้น แต่ในความรู้สึกอบอุ่นนั้น มันก็มีความต้องเหนื่อยยากลำบาก ความต้องอดทนกับความที่ไม่สามารถจะกินสบาย นอนสบายหรือทำอะไรๆ ตามใจของตนอย่างที่เคยเป็นคนๆ เดียว คือเคยเป็นคนโสด ไม่ต้องมีสมาชิกเข้ามาล้อมรอบ พอต้องจำเจกับสิ่งนั้น แล้วก็เป็นคนที่ค่อนข้างจะไม่มีความอดทนอดกลั้นอย่างเพียงพอ ก็เกิดความรู้สึกเป็นความทุกข์เกิดขึ้น ก็ดิ้นรนอยากให้พ้นภาวะของความมีอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้น คือความมีครอบครัว หรือความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ หรือความเป็นปู่ย่าตายาย เพราะยิ่งมีมากเท่าไหร่ ภาระมันก็ยิ่งตามมาต้องแบกหนักเท่านั้น ก็อยากจะดิ้นรนออกให้พ้น นี่แหละก็เลยเกิดเป็นตัณหาประเภทที่ 3 ที่ท่านเรียกว่า วิภวตัณหา คือตัณหาหรือความอยากในความไม่มี ในความไม่เป็น มีแล้วเป็นแล้ว ไม่อยากมีไม่อยากเป็น อยากจะให้พ้นไปจากสภาพอย่างนั้นเสีย
มองเห็นไหมคะว่า จิตของมนุษย์นี้เอาใจยากเหลือเกิน เพราะเป็นจิตของอวิชชาส่วนใหญ่นะคะ เป็นจิตของอวิชชา ถ้าหากว่าไม่ใช่จิตของอวิชชา ก็จะไม่ต้องเอาใจยากหรือลำบากอย่างนี้ เพราะจะรู้ว่า เมื่อได้มาแล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว ควรจะจัดการอย่างไร จึงจะทำให้มันเป็นความมีความเป็นที่ไม่ประทุษร้ายแก่ตนเอง นั่นก็คือ ไม่กระทำความมี แห่งความเป็นนั้นด้วยตัณหา คือความอยาก นี่ก็เป็นประเภทของตัณหา ซึ่งแยกออกได้เป็น 3 อย่างนะคะ คือ 1 กามตัณหา ความอยากในกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ถูกใจ 2 ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น ดิ้นรนในสิ่งที่อยากมีอยากเป็นเหมือนเขาทั้งหลาย หรือให้มีมาก ให้เป็นอะไรที่ดีเด่นกว่าที่เขาทั้งหลายเป็นกัน และที่ 3 ก็คือวิภวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เมื่อมันเหน็ดเหนื่อย ต้องทนต้องอดกลั้นกล้ำกลืนเหลือเกิน ก็ขอให้พ้นเสียทีๆ เป็นอันว่า ไม่รู้จะเอาใจอย่างไรถูก เพราะตัวของตัวเองก็ยังเอาใจตัวเองไม่ได้เลย ประเดี๋ยวอยากได้ ประเดี๋ยวไม่อยากได้ นี่แหละ ท่านจึงบอกว่าต้องศึกษาให้รู้จักกฎของธรรมชาติอันเป็นสัจธรรม นั่นก็คือเรื่องของไตรลักษณ์ ดังที่พูดแล้ว แต่มีกฎอย่างอื่นอีกนะคะ แต่นี่เราได้พูดกฎไตรลักษณ์มาแล้ว ก็เลยอยากจะย้ำกฎของไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎอันสูงสุดที่ควรจะรู้จักกฎหนึ่ง เพื่อนำมาใคร่ครวญในใจจนกระทั่งสามารถจะอยู่เหนือตัณหาหรือไม่ตกเป็นทาสของตัณหาอย่างน่ากลัวและน่าเกลียด ก็อยากจะพูดถึงความจริงเกี่ยวกับตัณหาซักเล็กน้อยเพื่อที่จะได้รู้จักคำว่า ตัณหา ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ท่านบอกว่า ความจริงเกี่ยวกับตัณหา หรือความอยากเนี่ย คือความอยากที่จะเรียกว่าตัณหานั้นก็ต่อเมื่อเป็นความอยากด้วยอวิชชา คืออวิชชาเข้ามาครอบงำจิต ถ้าหากว่าเป็นความอยากที่ไม่มีอวิชชาเข้ามาครอบงำจิตแต่ว่าเป็นวิชชา ช สองตัว คือวิชชาที่เป็นความรู้ ที่เป็นแสงสว่าง หรือที่เป็นปัญญาเข้ามาครอบงำจิต ความอยากอย่างนั้นท่านก็ไม่เรียกว่าตัณหา แต่ท่านเรียกว่า “สัมมาสังกัปปะ” สังกัปปะก็คือความอยากที่ประกอบด้วยวิชชาคือความรู้ หรือปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่อประกอบด้วยวิชชาหรือปัญญาก็ย่อมจะนำชีวิตไปสู่หนทางที่ถูกต้อง ไม่นำชีวิตให้ไปตกเหว ให้ไปเข้ากอไผ่ ไม่ให้ไปปีนภูเขาแล้วก็คอหักตาย อย่างนั้นเป็นต้น ฉะนั้น เมื่อใดที่เราเรียกความอยากที่เกิดขึ้นว่าตัณหาเพราะอวิชชาครอบงำจิต แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาหรือวิชชาเป็นเงื่อนต้นแล้วละก็ เราจะเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะจะเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมให้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง อันเกิดประโยชน์แก่ชีวิตต่อไป เมื่อใดที่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือหมายความว่าผู้ใดก็ตาม เมื่อสามารถจะทำความรู้จักกับตัณหาจนกระทั่งรู้ได้ว่า อ๋อ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนะ เพราะตัณหานี่เอง เพราะเราอยาก อยากด้วยความร้อน ด้วยความดิ้นรนทุรนทุราย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พอรู้สึกว่าสัมผัสกับความทุกข์มากเข้าๆ ๆ วันหนึ่ง ก็รู้จักจุดที่จะตัดต้นเหตุแห่งทุกข์ คือไม่อยากแล้ว ไม่อยากร้อน ไม่อยากดิ้นรนทุรนทุรายเพราะความอยากที่เกิดเพราะอวิชชาเป็นต้นเหตุ อยากจะพอเสียที อยากจะหลุดพ้นเสียที ก็จะพยายามที่จะหาวิธีตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งวิธีที่จะตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้น ก็มีอยู่หลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่ขอพูดซ้ำก็คือ ศึกษาเรื่องของกฎของไตรลักษณ์ให้ยิ่งขึ้นๆ เถอะค่ะ จนกระทั่ง เรื่องของความไม่เที่ยง อนิจจัง ความทนอยู่ไม่ได้ ทุกขัง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อนัตตา มันชัดเจนปรากฏอยู่ในใจ ประจักษ์ขึ้นในใจทีละน้อยๆๆ เมื่อนั้นแหละ เกิดความอิ่ม ความพอกับตัณหา ไม่อยากแล้ว มันพอกันสักที อยากทีไรทุกข์ทุกที สู้ทำอะไรอย่างไม่อยากบ้างไม่ได้หรือ นะคะ จะเกิดคำถามขึ้นกับใจ ทำไมนะ มนุษย์เราจะทำอะไรโดยไม่อยากบ้างไม่ได้ฤา ทำเพราะปัญญามันบอกว่าสิ่งนี้มีประโยชน์นะ มีประโยชน์กับผู้อื่นด้วย แล้วก็มีประโยชน์กับตัวเองด้วย คือตัวเองไม่ทุกข์ เนี่ยค่ะ พอมองเห็นเข้าๆ เห็นมากเข้าๆ ก็จะค่อยๆ เกิดความอิ่ม ความพอ แล้วก็จะบอกตัวเองว่า เอาหละเราจะไม่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยตัณหา แต่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมตตาและปัญญา จึงจะไม่เป็นทุกข์ เมตตาต่อตัวเองนี่แหละค่ะก่อน สงสารตัวเองที่ต้องเกลือกกลิ้งคร่ำครวญอยู่กับความทุกข์มาตลอดตั้งแต่รู้ความ น่าสงสารไหมคะ เราเห็นใครร้องไห้ ใครมีความทุกข์ก็สงสาร ชาวพุทธเป็นคนใจดีขี้สงสาร คนไทยใจดีขี้สงสาร แล้วทำไมไม่สงสารตัวเองบ้าง ทั้งๆ ที่อยากจะให้ตัวเองได้อะไรดีๆ มากๆ เป็นอะไรที่เด่นๆ ดังๆ แล้วทำไมไม่สงสารตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีเมตตาต่อตัวเอง มีปัญญารู้จักคิดก็จะค่อยๆ หยุด ลดละสิ่งที่เป็นตัณหา แล้วจิตนี้ก็จะค่อยๆ ผ่อนคลายความทุกข์ จนกระทั่งความทุกข์นั้น เรียกว่าละลายหายไปก็ได้ ท่านอุปมาตัณหาว่า เปรียบเสมือนผืนข่ายและแหอวน ถ้านึกแล้วนะคะ ข่ายนี่มันไม่ใช่เล็กๆ ท่านจึงเรียกว่าผืนข่าย จะเป็นข่ายที่กว้างใหญ่ขนาดไหนได้ทั้งนั้น ใหญ่เท่าบ้านก็ได้ ใหญ่เท่าทะเลก็ได้ ใหญ่เท่ามหาสมุทรก็ได้ มันครอบคลุมโลกทั้งโลกก็ได้ ตัณหานี่มันร้ายขนาดนั้น มันเป็นยางเหนียวขนาดนั้น หรือแหอวนที่เขาใช้ตกเบ็ด ใช้ครอบปลาเวลาที่มีน้ำท่วมมากๆ เขาก็เอาแหเอาอวนไปครอบ ไปตลบจับปลาในน้ำ หรือว่าในแม่น้ำ หรือว่าในทะเล เพราะฉะนั้น ตัณหาจึงเป็นที่ติดของปวงสัตว์ ยิ่งกว่าข่ายใดๆ นี่เป็นอุปมาที่มองเห็นชัดนะคะ เพราะฉะนั้นปลามันติดข่าย มันติดแหอวน มนุษย์ไม่น่าที่จะยอมไปติดแหอวนใช่ไหมคะ เพราะมนุษย์มักจะรู้สึกว่าตนนั้นประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย คือสัตว์โลกทั้งหลาย เพราะมีมันสมองที่ธรรมชาติสร้างให้มา เพราะฉะนั้น ก็น่าที่จะพัฒนามันสมองนี้ ให้เป็นมันสมองที่ประกอบด้วยวิชชาและปัญญาเพื่อที่จะไม่ตกไปเป็นเหยื่ออยู่ในผืนข่ายหรือแหอวน นอกจากนี้ท่านก็อุปมาได้ว่า เหมือนกับกลุ่มด้ายยุ่ง ไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ นะคะ ด้ายยุ่งเนี่ยไม่ใช่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มใหญ่ และความยุ่งของด้ายกลุ่มนี้ มันยุ่ง ยุ่งเป็นตะปุ่มตะปมทั่วไปหมดเลย มองไม่เห็นเลยว่าต้นเงื่อนที่จะแก้ไขอยู่ตรงไหน ปลายของด้ายกลุ่มนี้มันอยู่ตรงไหน มันยุ่งสางกันไม่ออกเลยทีเดียว หรือมันยุ่งเหมือนกับพงหนามก็ได้ ที่พอแหย่นิ้วเข้าไปที่ตรงไหนมันก็เจ็บปวดเพราะถูกเสียดแทง กลุ่มด้ายยุ่งนี่ จะแก้ที่ตรงไหนหาปมไม่พบเลย ยากที่จะสางออก นี่ก็เท่ากับว่าเป็นคำเตือนว่าระวังนะ อย่าให้จิตนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหาเลย มันยากเหลือเกินที่จะถอนใจออกมาได้
นอกจากนี้ ท่านก็เปรียบว่าตัณหานั้นเหมือนกับนายช่างปลูกเรือน นึกออกไหมคะ ในบทสวดมนต์ที่เป็นปฐมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงทราบอย่างแน่พระทัยว่าเจ้าตัณหานี่แหละที่มันสร้างภพสร้างชาติให้แก่มนุษย์ มันสร้างมาตลอดเวลา ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเสมือนกับนายช่างปลูกเรือน ประเดี๋ยวมันก็ปลูกเรือนหลังเล็กหลังใหญ่ เป็นบ้านธรรมดา เป็นปราสาทราชวังให้คนหลงใหล อยากจะได้ไม่รู้จบ เหมือนอย่างที่ว่า ประเดี๋ยวก็อยากได้ พอใจในกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ประเดี๋ยวก็พอใจอยากจะมีอยากจะเป็น ประเดี๋ยวก็ไม่พอใจ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น มันสร้างให้วนเวียนเปลี่ยนไปจนวุ่นวาย จนปวดหัวสมองอย่างบอกไม่ถูกเลยนะคะ อย่างที่เราใช้คำไทยๆ ที่เราใช้กันในสมัยนี้ก็คือคำว่าเครียด เครียดจนกระทั่งหาทางออกไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ได้มีปฐมโอวาทที่บอกว่าพระองค์ทรงรู้จักแล้วเจ้าตัณหาเนี่ย มันเป็นนายช่างปลูกเรือน แต่บัดนี้พระองค์ทรงรู้จักแล้ว พระองค์ก็เด็ดยอดเรือนนั้นออกแล้ว คือเด็ดตัณหาออกจากพระทัยได้อย่างเด็ดขาด จะไม่มีวันที่จะมาสร้างเรือนให้แก่พระองค์อีกต่อไป คือสร้างภพสร้างชาติ สำหรับที่จะให้เกิดเป็นทุกข์อยู่ใต้อำนาจของความอยากอีกนั้น ไม่มีอีกแล้ว นี่คือคำอุปมา เพราะฉะนั้นก็ลองนึกดูนะคะ ตั้งแต่เช้าวันนี้จนเดี๋ยวนี้ ถูกตัณหานั้นสร้างเรือนให้ในใจนั้นกี่หลังแล้ว แล้วก็ได้เคยเผาเรือนที่ตัณหาสร้างขึ้นมานั้นได้บ้างหรือเปล่า หรือแท้ที่จริงแล้ว ก็กลับตกอยู่ในเรือนของตัณหาอย่างหาทางออกมิได้ ทีนี้เมื่อรู้ว่าตัณหามีความร้ายกาจอย่างนี้ แล้วจะมีการปฏิบัติ คือแล้วจะฝึกปฏิบัติอย่างไร เพื่อที่จะให้จิตนี้ ออกจากการตกเป็นทาสของตัณหา ก็เห็นจะไม่มีอะไรที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกอบรมสติให้มากขึ้น ให้มีมากขึ้นในใจจนสามารถยับยั้งเมื่อเกิดตัณหาขึ้น ยับยั้งเอาไว้ได้ก่อน ไม่ผลีผลามเข้าไปคว้าตัณหานั้นเข้ามาเป็นทางดำเนิน เอากิเลสเข้าไปใส่เพื่อให้ได้อย่างใจอย่างตะกละตะกราม การที่จะมีสติ คือฝึกสติ อบรมสติแล้วก็ให้เป็นสติที่มั่นคงประกอบด้วยปัญญา ท่านก็บอกว่าต้องดำเนินชีวิตตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ 8 ก็คงจะทราบแล้วนะคะ เรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 หนทางเดินอันประเสริฐ เพื่อจะนำไปสู่ความดับแห่งทุกข์ หรือความแจ้งถึงซึ่งความดับแห่งทุกข์ ซึ่งเราก็คงจะได้มีเวลาพูดรายละเอียดของอริยมรรคมีองค์ 8 ต่อไป ฉะนั้นข้อแรก ต้องพยายามฝึกใจ อย่างง่ายที่สุดก็คือ พอตัณหาเกิดขึ้นในใจ ยืดตัวตรงหายใจยาว ยาวลึกๆ ตามลมหายใจเข้าไปตลอดสาย ทั้งเข้าและออก เพื่อที่จะค่อยๆ ขับไล่ตัณหา หรือว่าละลายอำนาจอิทธิพลของตัณหา ความรุนแรงที่มีอยู่ให้ลดลง แล้วจิตใจก็ผ่อนคลาย ก็จะค่อยๆ มีเวลา มีความรู้สึกโล่งโปร่ง สติปัญญาจะมีหนทางแทรกเข้ามาเพื่อให้แสงสว่าง ฉะนั้นก็ลองหายใจยาวๆ และเสร็จแล้วก็ลองดูซิว่า สิ่งที่กำลังอยากอยู่นี้เป็นความอยากด้วยสัมมาทิฐิหรือเปล่า คือเป็นความอยากที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้ามันไม่ใช่ ก็จัดแจงใคร่ครวญซ้ำอีก แล้วก็ปรับเปลี่ยนมันทีเดียวนะคะ นอกจากนี้ก็ฝึกอบรมสติสัมปชัญญะให้เพิ่มพูนมั่นคงมากยิ่งขึ้น ให้ทันท่วงทีในขณะแห่งผัสสะ
ก็ได้เคยพูดถึงผัสสะมาบ้างแล้วเมื่อพูดถึงไตรลักษณ์นะคะ เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีผัสสะกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาก็คือเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส และใจนี่ก็ไม่มีสติ ก็เปิดกว้างรับธรรมารมณ์ที่จะผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รับเต็มที่ เพราะฉะนั้นจิตใจก็ระส่ำระสายเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ ฝึกสติสัมปชัญญะเหมือนดังวิธีที่กล่าวแล้ว พร้อมๆ กับฝึกสติ สมาธิ ภาวนา ให้มากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งจิตหนักแน่นด้วยสมาธิ ปัญญาค่อยๆ เกิด สัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็จะค่อยๆบังเกิดขึ้นในใจ เพราะฉะนั้น พอมีผัสสะคือสิ่งกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ผ่านเข้ามาสู่ใจ ใจจะมีสติมั่นคงสว่างไสว รีบปิดประตูเอาไว้ก่อน พร้อมกับมองเห็นว่าผัสสะที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สักว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ปลอบใจตัวเอง แล้วก็บอกตัวเองให้เกิดปัญญาขึ้น นี่ก็เรียกว่าเป็นการฝึกให้สติสัมปชัญญะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นนะคะ นี่ก็จะเป็นวิธีที่ควรจะระลึกไว้เสมอว่า ถ้าต้องการที่จะแก้ไขเพื่อจะดันปัญหา ตัณหา ให้ออกไปละก็ ต้องฝึกจิตในลักษณะนี้ให้พร้อมด้วยสติ สมาธิ และปัญญา
เพื่อที่จะมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะ ก็อยากจะขอฝากข้อเตือนใจซักเล็กน้อยนะคะว่า จงอย่าอยู่ด้วยตัณหาที่มีอวิชชาครอบงำจิต แต่จงฝึกชีวิตหรือจิตใจให้มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา คือมีวิชชา ช สองตัวที่เป็นความรู้ เป็นแสงสว่าง กำกับใจอยู่เสมอ นอกจากนี้ อย่าอยู่ด้วยความหวัง ความหวังมันเกิดตามความอยาก พออยากแล้วก็หวังว่าจะได้ ไม่หวังว่าจะผิดหวัง หวังว่าจะได้ พอหวังว่าจะได้ มันก็มีที่จะไม่ได้ คือผิดหวังบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ด้วยความหวังก็เหมือนกับอยู่กับการที่ดื่มยาพิษ จิบยาพิษเข้าไปในใจๆ ตลอดเวลา มันก็จะต้องมีความทุกข์เกิดขึ้น ฉะนั้นอย่าอยู่ด้วยความหวังเลย แต่อยู่ด้วยสติปัญญาเถิด มีคุณค่ากว่ากันมากนัก อยู่ด้วยสติปัญญาคืออย่างไร ก็คือรู้วิธีที่จะกระทำสิ่งที่เกี่ยวข้อง ที่รับภาระ มีหน้าที่อย่างถูกต้อง ถูกต้องก็คือทำโดยไม่ต้องมีความอยาก แต่ลงมือกระทำเต็มสติปัญญาความสามารถทุกอย่างทุกประการ เพื่อให้สิ่งนั้นเกิดเป็นประโยชน์ทั้งแก่เพื่อนมนุษย์ และตนเองก็มีแต่ความสุข เพราะฉะนั้นโปรดระลึกไว้นะคะว่า ความหวังเนี่ยมันก็ดูเป็นคำที่เพราะๆ ดีหรอก เหมือนกับว่าให้กำลังใจแต่แท้จริงแล้วลึกๆ เข้าไป มันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เมื่อหวังแล้วจะต้องทุกข์ เพราะฉะนั้นทำให้ดีที่สุดเถิด สุดกำลังความสามารถโดยไม่ต้องหวัง แล้วความทุกข์ก็จะไม่เกิดนะคะ นี่เป็นอริยสัจข้อที่ 2 ที่เรียกว่าสมุทยสัจ คือต้นเหตุของความทุกข์นี้ก็คือตัณหา เพราะฉะนั้น ตัณหาจึงเป็นสิ่งที่ต้องละ ถ้าไม่ต้องการทุกข์นะคะ ทุกขสัจนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพื่อกำหนดรู้อาการของมันทันต่อท่วงที ก็จะได้ไม่ให้มันบังเกิด แล้วก็รู้ลงไปให้ถึงเหตุแห่งทุกข์ คือ สมุทัย ตัณหาคือเหตุแห่งทุกข์ต้องพยายามละให้จงได้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับอริยสัจ 2 ข้อที่กล่าวมาแล้วนะคะ
ทีนี้ข้อที่ 3 คือนิโรธสัจ ก็คือหมายความว่า ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ วันนี้ก็จะพูดต่อถึงนิโรธสัจหรือเรียกสั้นๆ ว่า นิโรธ ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐข้อที่ 3 ของอริยสัจ 4 ความหมายของคำว่านิโรธก็คือ ดับไม่เหลือ ความดับไม่เหลือ ดับไม่เหลืออะไร ก็คือไม่เหลือไฟของความทุกข์ ไม่เหลือเชื้อของความทุกข์ อันเนื่องมาจากกิเลส ตัณหา อุปาทานนั่นเอง กิเลส ตัณหา อุปาทานมีอวิชชาเป็นต้นเงื่อน นี่คือต้นเหตุของความทุกข์ที่ต้องพยายามละ กำจัด ขุดรากถอนโคนมันให้จงได้ ถ้าทำได้ ก็จะมีความเป็นอิสระ มีความเย็นที่สนิท เป็นความเย็นที่สุขเกษมเป็นอย่างยิ่งนะคะ ถ้าจะถามว่านิโรธคืออะไร ท่านก็บอกว่า นิโรธนี้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ในพระพุทธศาสนานั้น อะไรๆ ก็เป็นธาตุทั้งนั้นนะคะ แต่เรายังไม่อยากจะพูดถึงเรื่องของธาตุไปให้มากนัก เอาแต่เพียงว่านิโรธก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ก็ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าตั้งอยู่ที่ไหน ชี้ไม่ได้หรอกค่ะ อยู่ทั่วไปนี่แหละ ในชีวิตของเรา แต่ละวันๆ หรือแต่ละขณะๆ เราได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นนิโรธ คือเป็นความดับทุกขณะ แต่เราไม่รู้ เรามองเห็นแต่ความเป็น ความอยู่ ความอยาก ความได้ หรือมองเห็นความทุกข์ แต่ที่จริงแล้วละก็ เราได้สัมผัสกับนิโรธทุกขณะ เหมือนอย่างในไตรลักษณ์ที่บอกว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านั้นเอง มันตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไปเท่านั้นเอง มันดับไปนี่แหละ มันคืออาการของนิโรธเกิดขึ้น แต่มนุษย์เรามักจะวุ่นวายอยู่กับความมี ความเป็น ความได้ ก็เลยมองไม่เห็น ปล่อยใจให้เป็นทุกข์อยู่ แต่โปรดรู้เถอะค่ะว่า นิโรธเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วก็ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ ล้อมรอบตัวมนุษย์อยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เผอิญมาถูกเข้ากับสิ่งนี้คือกับนิโรธที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งนั้น หรือนิโรธธาตุ สิ่งนั้นก็จะดับไป เช่น ความทุกข์ที่กำลังร้อนๆ กำลังเผาไหม้เกรียมเนี่ยนะคะ มากระทบเข้ากับนิโรธธาตุ กระทบอย่างไร ก็เพราะว่าเกิดมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญามองเห็นว่า โอ้แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่ใช่อยู่ตลอดเวลา พอเห็นอย่างนี้เข้าจิตมันเย็นลง เนี่ยแหละ เรียกว่าได้กระทบแล้วกับนิโรธธาตุ ความทุกข์ความร้อน ความเผาไหม้เกรียมมันก็ค่อยๆ เย็นลงจนกระทั่งดับไป นี่คือความหมายว่า สิ่งใดมาถูกเข้ากับนิโรธธาตุ สิ่งนั้นก็จะดับไปด้วยนะคะ เช่น ความทุกข์มาถึง ความทุกข์ก็ดับ เหตุนั้นมาถึง เหตุนั้นก็ดับ เหตุอะไรก็ตามที่มันเป็นเหตุที่ไม่ถูกไม่ต้อง เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความทุกข์ มันก็จะดับ เช่น อวิชชามากระทบกับนิโรธธาตุ อวิชชาดับ อวิชชาดับไป แต่จะเกิดเป็นวิชชา คือแสงว่างความรู้ขึ้น อุปาทานกระทบกับนิโรธธาตุ ความยึดมั่นถือมั่นหายไป ผ่อนคลายละเลิกได้ เกิดความเป็นอิสระ ตัณหากระทบกับนิโรธธาตุ ตัณหาดับไป เกิดความเย็นหรือเกิดเป็นสัมมาสังกัปปะ คือเป็นความอยากที่ประกอบด้วยสติปัญญา ที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ โดยไม่ทำใจของตนให้เป็นความทุกข์ หรือสังขารที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์อย่างหนึ่ง คือการปรุงแต่ง ปรุงแต่งคิดไป เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน สารพัด หาสาระประโยชน์ หาแก่นสาร หาต้นเหตุก็ไม่พบ แต่ด้วยความเคยชิน ด้วยความเขลาที่ถูกอวิชชาครอบงำ คิดปรุงแต่งไปสารพัดไม่รู้จบ พอสังขารความปรุงแต่งนี้ มากระทบเข้ากับนิโรธธาตุ คือได้สติขึ้นมา ปัญญาเป็นแสงสว่างว่า เอ๊ะ นี่กำลังปรุงแต่งนะ เพื่ออะไร ไม่เห็นมีประโยชน์ ไม่เห็นมีสาระแก่นสาร เสียทั้งเวลา เสียทั้งสมอง เสียทั้งพลังใจ มีแต่จะนำความเหี่ยวแห้งใจให้มันเกิดขึ้น พอระลึกได้ด้วยสติปัญญา เท่านี้สังขารก็ดับ เกิดเป็นปัญญาที่จะรู้ว่า ถ้าจะคิดก็คิดแต่ในสิ่งที่จำเป็นที่เกิดประโยชน์ ถ้าสิ่งที่มันไม่จำเป็นไม่เกิดประโยชน์อย่าคิดเลย เป็นทุกข์เปล่าๆ เห็นไหมคะ พอมากระทบกับนิโรธธาตุเข้า สังขารดับ พอสังขารดับเท่านั้น สิ่งที่เหลือก็คือความเย็น ความเย็นถ้าเย็นยิ่งขึ้นๆ จนดับสนิท มันก็เป็นความเย็นที่เรียกได้ว่าเป็นนิพพานนั่นเอง เพราะฉะนั้นในเรื่องของนิโรธนี้ ถ้าสามารถเข้าถึงได้ จนกระทั่งทำให้แจ้งได้ซึ่งนิโรธ จิตนั้นก็จะไม่มีความทุกข์ แล้วก็ไม่มีปัญหา ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะรวมความหมายของนิโรธนะคะ ก็หมายได้ถึง ความดับ ความเย็น ความเป็นอิสระ ดับจากอะไร ดับจากอวิชชา เย็นจากอะไร เป็นอิสระจากอะไร ก็จากตัณหาความอยาก จากอุปาทานความยึดมั่น นี่คือคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของคำว่านิโรธว่าหมายความว่าอย่างไร แล้วก็จะทำให้เกิดลักษณะแห่งความดับสนิท ให้แจ้งในความดับสนิทนั้นอย่างไร
ทีนี้ก็เพื่อจะอธิบายให้ชัดอีกสักนิดนึง ถึงลักษณะของนิโรธนะคะ ก็จะพูดได้ว่า ถ้าหากว่านิโรธเกิดขึ้น มันจะมีภาวะของความรู้สึกภายใน ภายในที่เราเรียกว่าภายในใจเนี่ยนะคะ แต่ใจอยู่ตรงไหนก็ชี้ไม่ได้ เพราะมันไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่เรารู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ข้างใน มันจะมีภาวะของความรู้สึกดับไม่เหลือ คือมันดับไม่เหลือนี่ มันว่าง มันเย็นสนิท มันโปร่ง มันเบาสบาย ไม่มีอะไรที่จะตะขิดตะขวงหรือเป็นเสี้ยนหนามอยู่ภายในเลย ไม่มีความวิตก ไม่มีความกังวล กิเลส ตัณหา อุปาทานแทรกเข้ามาไม่ได้ มันมีแต่ความว่างอย่างทีเรียกว่า แห่งสุญญตา ทีนี้ความดับไม่เหลืออันนี้คือความดับไม่เหลือแห่งอะไร ก็คือความดับไม่เหลือแห่งราคะ ราคะก็คือความโลภ ราคะกับโลภะอยู่ในกลุ่มของกิเลสตัวแรกคือความโลภ แต่ถ้าหากว่าเรียกว่าราคะละก็ มันเหนียวแน่นมากกว่าโลภะเฉยๆ ถ้าหากว่าเป็นความโลภอยากได้อย่างชนิดที่ท่านบอกว่าราคะมันเหนียวแน่นมาก มันสละยาก เพราะฉะนั้น ดับไม่เหลือแห่งราคะก็คือ ดับราคะอย่างไม่เหลือเศษภายในใจเลย มีคำเป็นภาษาบาลีว่า อะเสสะ วิราคะ นิโรโธ ซึ่งก็คงจะได้เคยพบในบทสวดมนต์แล้วนะคะ อะเสสะ วิราคะ นิโรโธ นี่ก็คือความหมายที่ว่า ดับไม่เหลือแห่งราคะ ทีนี้ลักษณะที่ 2 ของนิโรธก็คือ จะมีอาการของความสลัดคืน คือมันดับแล้ว มันก็ยังอยากจะกวาดออกไปให้เกลี้ยง ไม่ให้เหลือเศษติดเลย ก็สลัดคืน เช่น สลัดความรักที่เคยรักอย่างหัวปักหัวปำกับใครคนหนึ่งก็ตาม ทีนี้พอเกิดความรู้สึกได้เห็นจริง อย่างที่เขาว่ารู้จักจริงเห็นจริงแล้วว่าคนๆ นั้นมีลักษณะของความรักที่เป็นมารยา ที่เป็นความรักที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงตรง ทรยศอย่างไรชัดเจน ก็เกิดความดับไม่เหลือแห่งราคะนั้น แล้วก็ยังอยากที่จะถึงกับความสลัดคืน ความรักที่เคยมีเคยเป็นเคยเกี่ยวข้อง ไม่เหลือเศษ สลัดคืนไปจนเกลี้ยง นี่เป็นอุปมานะคะ แต่ในทีนี้ก็หมายถึงความว่า สลัดคืนราคะที่เกิดขึ้นในจิตตามสัญชาตญาณนั้น สลัดคืนไปให้แก่เจ้าของเดิม โดยเราสมมุติว่าเป็นเจ้าของเดิม นั่นก็คือแก่ธรรมชาติ
ที่จริงธรรมชาตินั่นไม่ได้ตั้งใจว่าจะบอกให้มนุษย์มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ แต่สัญชาตญาณของมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการฝึกปรืออบรมไปคว้าเอามา แต่บัดนี้ รู้จักชัดเจนแล้วก็สลัดคืนไป สลัดคืนไปให้แก่เจ้าของเดิม นอกจากนี้ก็จะสามารถ สิ่งที่เป็นการทดสอบนะคะว่าสลัดคืนได้จริงไหมก็จะทดสอบได้ตรงผัสสะ เมื่อเวลาที่มีผัสสะเข้ามากระทบ ก็จะสามารถสลัดผัสสะออกไปได้ทันเวลา ทันเวลาก็คือด้วยสติปัญญาที่ไม่ทันให้กระทบใจ ให้ใจนั้นเกิดความทุกข์ เกิดอาการกระเทือน กระเทือน กระเพื่อม แล้วก็เสียความเป็นปกติ มากกว่านั้นก็คือ เกิดความร้อน เกิดความเผาไหม้ คือเป็นความทุกข์ขึ้นในใจ แต่สามารถจะสลัดคืนออกไปได้ทันที สลัดคืนในที่นี้ คำบาลีท่านก็เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ ปะ-ติ-นิส-สัค-คะ คือสลัดคืน สลัดคืนออกไปไม่ให้เหลือในจิตใจอีกเลย ลักษณะที่ 3 ของนิโรธที่เกิดขึ้น ก็จะมีลักษณะของความรู้สึกตัดอาลัย ตัดอาลัยไม่มีความอาลัยอาวรณ์เหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย แม้จะพบจะเห็นถ้าอุปมานะคะกับความรักที่พูดในตอนต้น แม้จะได้พบได้เห็น ก็อย่างงั้นน่ะ ไม่มีความหมายอีกต่อไป ไม่สะดุ้ง ไม่กระเทือน เหมือนกับคนที่ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกันเลย เพราะฉะนั้นลักษณะของตัดอาลัยก็คือ ไม่มีอาลัยเหลือ ไม่คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ที่เคยได้ข้องเกี่ยวกัน ไม่มีอาลัยกับสิ่งที่เรียกว่าตัณหาที่เคยอยากนั้น เรียกว่าหยุดตัณหาได้อย่างสนิท สนิทเกลี้ยง เห็นอะไรก็จืดไปหมด อาจจะพูดว่าอย่างนี้นะคะ อะไรที่เคยอยากได้อยากดี อยากที่จะเกี่ยวข้องจนตัวสั่น บัดนี้มันจืดไปหมด ไม่ว่าให้สวยงามเพียงใด เพชรนิลจินดามีราคา เงินทองเอามากองเป็นพันเป็นหมื่นล้านมันก็จืดไปหมด ชื่อเสียงเกียรติยศจะเอามาประเดให้มันก็จืดไปหมด เพราะมันมองเห็นเสียแล้วว่า มันแค่นั้นเอง มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป ไม่เห็นจะเก็บอะไรมันไว้ได้สักอย่างเดียว ซึ่งตัดอาลัยนี้ท่านก็เรียกว่า อานารยะ อานารยะนะคะ คือไม่มีอะไรเหลือเลย การที่จะทำได้อย่างนี้ แน่นอนที่สุด ต้องอาศัยกำลังของสมาธิและปัญญาอย่างได้สัดส่วนกัน เพราะฉะนั้นในการที่จะฝึกปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งนิโรธ ก็จะมองข้ามหรือว่าละเลยการปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่ได้เลย
การปฏิบัติสมาธิภาวนาก็คือการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตให้มีความเจริญ จิตเจริญ เจริญจากอะไร เจริญจากความเป็นป่าเถื่อน ความเป็นป่าเถื่อนของจิตเนี่ยก็คือจิตที่ดิ้นรนด้วยความอยาก ด้วยตัณหา อยากจะเอา เห็นอะไรเข้ามันอยากจะเอา มีแต่ความโลภ พอไม่ได้อย่างใจก็โกรธ โกรธแล้วก็ยังไม่ได้ ก็เอาหลง ตกอยู่ในความหลง วนเวียนคิดแล้วคิดอีก นอนก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ คิดซ้ำคิดซาก นี่แหละที่เรียกว่าต้องอาศัยกำลังของสมาธิและปัญญา เพื่อจะพัฒนาจิตที่ตกอยู่ในภาวะอย่างนั้น ที่เราจะเปรียบได้ว่าเหมือนกับจิตเถื่อน สิ่งใดที่เถื่อน ป่าเถื่อน ก็คือยังไม่ได้รับการฝึกอบรม เหมือนอย่างไปจับม้ามาจากป่า หรือว่าไปจับช้าง จับวัว จับควายก็แล้วแต่นะคะ มาจากป่า ก็ต้องมาฝึกกันอย่างเหน็ดเหนื่อยล่ะ แล้วผู้ฝึกก็ต้องเก่งมากๆ ด้วย เพราะว่าสิ่งที่เป็นป่าเถื่อนเนี่ยมันมีความพยศร้ายเหลือเกิน แล้วมันไม่รู้ภาษาหรอก ไม่ยอมฟังอะไรเลย เรื่องเหตุเรื่องผลอย่าไปพูดกันเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยสมาธิภาวนา คือการฝึกปฏิบัติสมาธิ ทำจิตให้สงบเสียก่อน ให้ตั้งมั่น ให้นิ่ง แล้วก็มีความบริสุทธิ์ สะอาด มีความมั่นคง มีความพร้อมที่จะทำการงานอย่างว่องไวนี่ด้วยการฝึกสมาธิ แล้วก็ใช้จิตที่เป็นสมาธินี้แหละให้เกิดปัญญา คือพัฒนาปัญญาต่อไป ก็จะมีความแหลมคม มีความสว่างที่จะรู้ว่า เราจะอาศัยกำลังของสมาธิและปัญญานี้เข้ามาเกี่ยวข้องกันอย่างไรจึงจะมีทั้งน้ำหนัก แล้วก็มีทั้งความคม ที่จะตัดอาลัยในตัณหานี้ให้ได้อย่างสนิท อย่างสิ้นเชิง ท่านก็เปรียบกำลังของสมาธิ แล้วก็กำลังของปัญญาที่ได้สัดส่วนกัน ซึ่งก็คงเคยได้ยินแล้วนะคะ ท่านก็เปรียบเหมือนกับมีด มีดที่มีน้ำหนัก คือมีสันหนาแล้วก็แข็งแรง เหล็กดี นั่นก็จะให้น้ำหนักในการที่จะลงมือตัดหรือฟัน แล้วก็มีคม มีคมของมีดนั้น คมมาก คมอย่างชนิดที่ว่า พอฟันฉัวะเข้าไป มันขาดฉับไปเลย ขาดอย่างสนิท ที่เรียกว่าไม่ได้ยินเสียงของการตัดนั้นก็ได้ แต่ได้ขาดแล้วอย่างสนิท เพราะฉะนั้นกำลังของสมาธิท่านก็เปรียบเหมือนกับเป็นสันมีด กำลังของปัญญาท่านก็เปรียบเหมือนคมมีด เพราะฉะนั้นบุคคลที่ประสงค์จะตัดอาลัยกับตัณหาอย่างดับสนิท อย่างชนิดเป็นอานารยะละก็ ก็จะต้องฝึกอบรมจิตของตน ให้พร้อมด้วยกำลังของสมาธิและปัญญาให้ยิ่งขึ้นๆๆ จนได้สัดส่วนกันอย่างชนิดที่มีดุลยภาพ แล้วก็มีอิทธิพลที่จะสามารถใช้ประโยชน์ในการตัดได้อย่างทันท่วงที แล้วก็สนิทแน่นที่จะไม่มีวันหวนกลับมาติดกันได้อีกเลย
ก็อยากจะขอทวนลักษณะของนิโรธสักนิดนึงนะคะว่ามีคำบาลีประกอบด้วย ลักษณะแรกก็คือ อะเสสะ วิราคะ นิโรโธ คือลักษณะแห่งความดับไม่เหลือแห่งราคะ ลักษณะที่สองก็คือ ปฏินิสสัคคะ หมายถึงสลัดคืน คือสลัดคืนออกไปให้แก่เจ้าของเดิม ไม่เอาแล้ว ลักษณะที่สามก็คืออานารยะ คือตัดอาลัย ไม่มีอะไรเหลือติดอยู่ในใจเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่อะไรอีกเลย เรียกว่าหยุดตัณหาได้อย่างสนิท ซึ่งต้องอาศัยกำลังของสมาธิและปัญญาอย่างได้สัดส่วนกันจึงจะสามารถทำได้อย่างจริงๆ ทีนี้ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ จะมีผลอะไรเกิดขึ้นนะคะ จะมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง ท่านก็บอกว่า ผลแห่งนิโรธก็คือความมีชีวิตเย็น ซึ่งท่านเรียกว่า นิพพุติ นิพพุติคือความมีชีวิตเย็น ก็ยากที่จะอธิบายเป็นคำพูดซักหน่อยนะคะ สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับความเย็นที่เป็นนามธรรม คือคุ้นเคยกับความเย็นที่เป็นรูปธรรมเกิดจากวัตถุ เช่น ความเย็นจากน้ำแข็ง ความเย็นจากน้ำฝน เมื่อไปยืนอยู่ท่ามกลางฝนตก ความเย็นจากลมพัดที่พัดมากระทบกาย หรือความเย็นที่นั่งอยู่ในห้องแอร์คือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศก็จะรู้จักความเย็นชนิดนั้น แต่ก็จงลองนึกดูว่า ในขณะที่นั่งอยู่ในห้องปรับอากาศก็ดี หรือในขณะที่ดื่มน้ำแข็งเพื่อให้เกิดความเย็น ดับความร้อนทางกายในขณะนั้นเนี่ย ดูลงไปให้ชัดๆ ภายในคือใจมีความเย็นสนิทเหมือนข้างนอกรึเปล่า อย่างเราจะเห็นหรือได้ประสบบุคคลจำนวนไม่น้อยเลย นั่งเก้าอี้อาร์มแชร์อยู่ที่โต๊ะภายในห้องปรับอากาศที่หรูหรา เย็นฉ่ำ สบาย เข้าไปแล้วก็บางทีก็ต้องห่มผ้า ใส่เสื้อที่เป็นเครื่องกันหนาว แต่ในใจนั่นนะมันร้อนเหมือนกับไฟเผา มันก็มีไฟทั้งกองเข้าไปอยู่ ไฟอันนั้นคือไฟอะไร ก็คือไฟของความทุกข์ กองของความทุกข์ ไฟกองของความทุกข์เข้าไปเผาไหม้อยู่ข้างใน ไฟกองนั้นเกิดจากอะไร ก็เกิดจากความอยากนั่นแหละใช่ไหมคะ อยากได้เงินร้อยล้านพันล้านตามที่หมายมั่นเอาไว้ มันเกิดมีอุปสรรค ดิ้นรน ต่อสู้ แล้วมันก็ยังไม่เป็นผลแม้จะนั่งในห้องแอร์ อากาศที่เกิดจากเครื่องปรับอากาศไม่ช่วยให้ความเย็นข้างในเกิดขึ้นเลย ความเย็นอันนี้ เราหมายถึงความเย็นที่เกิดขึ้นจากภายใน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถที่จะดับตัณหา ไม่ต้องถึงกับสนิทหรอกนะคะ แต่ดับลงไปได้ตามลำดับ ถ้าหากว่ายังมีอยู่เต็มที่ ความเย็นจะแทรกตัวเข้ามาไม่ได้เลย มันจะมีแต่ความร้อนเหมือนกองไฟสุมอยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะเผาไหม้ เคยเห็นบางไหมคะ ผู้ที่มีเหงื่อ เม็ดเหงื่อแตกในห้องแอร์คอนดิชัน เคยพบไหมคะ ถ้าเคยพบ นั่นแหละ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ความเย็นข้างนอกไม่สามารถจะชำระความเย็นข้างในได้ ความเย็นข้างในได้จะชำระได้ หรือจะทำให้บังเกิดขึ้นได้ ขอโทษ ไม่ใช่ชำระนะคะ จะชำระความร้อนข้างในให้บังเกิดความเย็นขึ้นภายในได้นั้น ต้องอาศัยกำลังของสติ สมาธิ และปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถกระทำให้บังเกิดความเย็นภายในขึ้นได้ จากความเย็นน้อยๆ จนกระทั่งเป็นความเย็นจนถึงที่สุด ความเย็นน้อยๆ ก็คือความเย็นที่เบาสบาย เกิดความรู้สึกเบาสบาย หายใจโล่ง โปร่ง ไม่มีอะไรติดขัดข้างใน เพราะในขณะนั้น ไม่มีตัณหา ไม่มีความอยากเข้ามารบกวนที่จะทำให้จิตดิ้นรน
เพราะฉะนั้นอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่รบกวนเหมือนกัน เพราะตัณหาที่เป็นต้นเหตุของอุปาทานมันหยุด มันไม่รบกวนในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ผลแห่งนิโรธก็คือความมีชีวิตเย็น คือนิพพุติ ซึ่งถ้าผู้ใดได้ประสบ หรือได้กระทบ ได้สัมผัสกับลักษณะของความเย็นข้างในดังที่กล่าวนี้ จะรู้สึกว่า นี่เป็นชีวิตใหม่นะ ที่เขาบอกว่ามีชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่อันนี้คือชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยความเย็น มีความเย็นอยู่ภายใน แผ่ซ่านอยู่ทั่วไปในชีวิตในจิตใจ เป็นชีวิตใหม่ที่ท่านบอกว่า อยู่เหนือบวกแล้วก็อยู่เหนือลบ อยู่เหนือบวกอยู่เหนือลบคืออย่างไร ก็เท่ากับท่านบอกว่า ชีวิตที่ร้อนเนี่ยนะก็คือชีวิตที่มันอยู่ท่ามกลางความบวกและความลบ อยู่ท่ามกลางอย่างไร คือไม่ได้อยู่ท่ามกลางอย่างเป็นกลาง แต่อยู่ท่ามกลางอย่างเกี่ยวเกาะกับสิ่งที่เป็นบวกหรือเป็นลบนั้นทุกขณะ มันก็เหมือนกับท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในน้ำ แล้วก็มาถูกกระแสน้ำพัด ก็กระแทกทางซ้ายที กระแทกทางขวาที กระแทกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น แม้กระแทกในครั้งแรก ท่อนไม้นั้นจะดูแข็งแรง แต่เมื่อถูกกระแทกบ่อยๆ มันก็ย่อมจะต้องมีอาการช้ำ แล้วก็มีอาการแตก มีอาการปริ มีอาการบิ และไม่ช้าไม่นานเมื่ออยู่ในลักษณะอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง วันหนึ่งมันก็ถึงซึ่งความผุ มันไม่มีหนทางจะออก เพราะมันจะถูกกระแทกอยู่เช่นนั้น เปรียบได้กับจิตใจของคน จะเป็นใครก็ตาม ถ้าหากว่าในชีวิตทุกขณะทุกเวลา นึกถึงแต่เรื่องได้กับเสีย อยากแต่จะได้แต่ไม่อยากเสีย อยากจะมีกำไรแต่ไม่อยากจะขาดทุน อยากจะมีความสุขให้ตลอดเวลา ทั้งที่ความสุขนั้นก็ไม่เคยรู้ว่าสุขจริงๆ เป็นอย่างไร แต่ก็เรียกกันตามสมมุติว่าความสุข คือได้อะไรสมความปรารถนาก็เรียกว่าความสุข อยากแต่จะได้ความสุขแต่สิ่งที่เป็นความทุกข์ไม่เอา ไม่เรียนรู้ ไม่ยอมเข้าใกล้ ที่จะมาบอกว่าความทุกข์เนี่ยนะ เปรียบเหมือนหัวคางคก เปรียบเหมือนคางคกที่มีหัวเป็นเพชร ฟังไม่ได้ไม่รู้เรื่อง น่าเกลียดจะตายไป เพราะฉะนั้นไม่ขอเข้าใกล้ ฉะนั้น คำว่า เมื่อมีความเย็นสนิทเกิดขึ้นภายใน เพราะสามารถที่จะมีอนารยะกับตัณหา คือตัดอาลัยได้อย่างเด็ดขาดเนี่ยนะคะ มันก็จะเหมือนกับมีชีวิตใหม่ เป็นชีวิตใหม่ที่เบาสบาย ผิดกับชีวิตเก่าที่ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา อุปาทาน มันมีความหนัก หนักอย่างเหลือที่จะกล่าว ที่ต้องแบกอยู่ตลอดเวลา แบกความรัก แบกความโกรธแบกความเกลียด แบกความอยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง สารพัดทุกรูปแบบ มันแบก เพราะมันมีตัวฉัน ตัวฉันซึ่งฉันต้องการ ฉันต้องมี ฉันต้องเป็น ฉันอยากได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องแบก มันก็เป็นชีวิตที่หนัก หนักเหน็ดเหนื่อย เหมือนกับมีก้อนหินก้อนมหึมาผูกถ่วงอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มองดูด้วยตาก็ไม่มีอะไรผูก แต่เมื่อใดที่ปลดภาระแห่งก้อนหินนั้นออกไป ก็คือปลดภาระแห่งความเกี่ยวเกาะของใจที่มีอยู่เกี่ยวกับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้อย่างสนิท สลัดคืนออกไปไม่เหลือเลยก็จะเป็นชีวิตใหม่ที่เบาสบาย อย่างที่ไม่เคยพบไม่เคยประสบ อธิบายไม่ได้ จนกว่าจะได้ประสบกับตนเอง อย่างที่ท่านมีคำพูดเปรียบเทียบง่ายๆ แต่ว่าก็เห็นได้ชัดแล้วก็เปรียบเทียบกันทั่วไป อย่างที่เคยได้ยินผู้บอกว่า เกลือน่ะเค็มนะ ถ้าเป็นเกลือก็ต้องมีรสเค็ม ถ้าไม่เคยได้ลิ้มรสเกลือก็ไม่รู้ว่าความเค็มนั่นมันเค็มอย่างไร หรือน้ำตาลน่ะหวานนะ ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ว่าน้ำตาลมันหวานอย่างไร ถ้าหยิบน้ำตาลทรายกับหยิบเกลือใส่ถ้วยเข้ามาให้ ผู้ที่ไม่เคยรู้ไม่เคยสัมผัส อาจจะเกือบไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าถ้วยไหนน้ำตาลทราย ถ้วยไหนเกลือ และที่จะบอกว่าหวานอย่างไร เค็มอย่างไร ก็ได้แต่เพียงพูดตามเขาไปเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าไม่เคยได้ลิ้มรสด้วยลิ้นของตน
ก็เช่นเดียวกัน ยากที่จะอธิบายนะคะว่า ที่ว่ามีชีวิตใหม่อยู่เหนือบวกอยู่เหนือลบ คืออยู่เหนือการเกี่ยวเกาะกับสิ่งที่เป็นคู่ ที่ดึงจิตใจให้กระแทกกระทั้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวซ้ายเดี๋ยวขวา จนปวดเจ็บร้าวระทมไปหมด ช้ำชอกหาที่ดีไม่ได้เลยมันเป็นอย่างไร บอกไม่ได้ แต่ก็อยากเสนอว่า ก็ทดลองหน่อยจะดีไหมคะ อย่างน้อยก็เอาซักชั่วโมงนึง ชั่วโมงนี้จะเป็นชั่วโมงที่ปลอดจากความอยาก เป็นชั่วโมงปลอดจากความอยาก จะไม่ให้ความอยากอะไร เรียกว่าแล่บเข้ามาในใจได้เลย พอรู้สึกว่าจะอยากสิ่งใด จะพยายามที่จะกวาดมันออกไปให้เกลี้ยงในทันที แล้วก็อยู่กับลมหายใจ อยู่กับจิตที่สงบ เป็นสมาธิ แล้วก็มีปัญญาน้อยๆ ที่มองเห็นทุกอย่างว่า อ๋อ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นหนอ มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มันไม่มีอะไรจริงๆ ให้เรายึดมั่นเก็บเอาไว้ได้ แม้ว่าอยากแล้วจะได้ ยึดแล้วจะได้ มันก็ไม่ได้เป็นของเราตลอดไป มันเป็นแต่เพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าชั่วโมงนั้น อยู่กับสติปัญญาอย่างนี้ มองเห็นว่ามันเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่า รับรองว่า ชั่วโมงนั้นหละค่ะ จะได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเย็น หรือเป็นชีวิตเย็น แล้วก็ในชั่วโมงนั้น ก็จะมีชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่ที่อยู่เหนือบวกและลบ เพราะมันไม่รู้สึกอยากได้ หรือกลัวเสีย จะได้หรือจะเสีย มันสำนึกขึ้นในใจว่า มีค่าเท่ากัน มีค่าเท่ากัน เพียงแต่ว่า มนุษย์เราไปตีราคาว่า ถ้าได้ละก็ ราคาแพงกว่าเสีย มีค่ามากกว่าคำว่าเสีย แท้จริงแล้วมันราคาเท่ากัน ทำไมถึงว่าราคาเท่ากัน เพราะว่าการได้ มันก็ไม่อยู่นานอีกเหมือนกันใช่ไหมคะ มันก็อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เห็นจะเอาอะไรไว้ได้ หรือการเสีย ก็อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์เท่าๆ กันเหมือนกัน มันเกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป คือความรู้สึกเสียนั้น มันไม่ได้อยู่ตลอดเวลา มันอยู่ชั่วขณะ แล้วมันก็ดับไป เห็นไหมคะถ้าราคามันเท่ากันในสิ่งคู่ ความสวย ความขี้เหร่ ก็มีค่าราคาเท่ากันอีกเหมือนกัน สวย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขี้เหร่ มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่ได้ตลอดเวลา มันจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ตามกฎอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นราคามันเท่ากันตรงนี้ ตรงที่ว่าผลที่สุดแล้ว มันก็ดับสลายไป ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยซักอย่างเดียว แล้วทำไมไม่สงวนพลังใจ พลังชีวิตเอาไว้ เพื่อใช้ให้มันเกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แก่ตนเอง แล้วก็แก่โลก ถ้าจะฝากเอาไว้ ฝากอะไรไว้ในโลก ฝากสิ่งอันมีประโยชน์ไว้แก่โลก แล้วก็ฝากไว้อย่างชนิดที่เป็นผู้มีชีวิตเย็นโดยไม่มีความทุกข์เลย จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่าไหมคะ ขอได้ลองพิจารณาดูนะคะ แล้วชีวิตอย่างนี้ จะเป็นชีวิตใหม่อย่างแท้จริงใช่ไหม ไม่ใช่ชีวิตใหม่เพราะย้ายไปอยู่บ้านใหม่ ไม่ใช่ชีวิตใหม่เพราะเปลี่ยนคู่ครองใหม่ หรือไม่ใช่ชีวิตใหม่เพราะเปลี่ยนการงานใหม่ นั่นมันเป็นชีวิตใหม่ตามสมมุติ แล้วก็หยุดตกอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตาตามเหตุปัจจัย ตามกฎของไตรลักษณ์ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่นั่นเอง ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นที่พูดย้ำและพูดยาว เพราะมันเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยวาจายากเหลือเกินค่ะ ถ้าไม่เคยได้สัมผัสยิ่งลำบาก เพราะฉะนั้นก็เลยพยายามที่จะลองอธิบายหรือพรรณนาสักนิดนึงว่า สิ่งที่เรียกว่าความเย็นข้างในเนี่ย มันหมายความว่าอย่างไร มันเปรียบกันอย่างไร แล้วก็จะ เรียกว่า อบรมให้มันเกิดขึ้นภายในเนี่ย ได้อย่างไร ทำได้ไหม ก็ขอตอบว่าทำได้แน่นอน ขอให้มีใจที่มีความรู้สึกว่าต้องทดลอง ต้องพิสูจน์ แล้วก็จะทำได้ จะได้สัมผัสกับชีวิตใหม่ที่อยู่เหนือบวกและลบ เป็นชีวิตเย็นที่เป็นนิพพุติ แล้วถ้าหากว่าไม่เปลี่ยนแปลง ไม่กลับหลังหันไปหาของเก่าอีกเลยก็จะเป็นชีวิตเย็นที่เป็นนิรันดรนะคะ
นี่ก็เป็นผลแห่งนิโรธ คือถ้าหากฝึกปฏิบัติจนกระทั่งจิตนั้นถึงซึ่งความดับไม่เหลือ หรือทำให้แจ้งซึ่งความดับได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นิโรธ คือความดับไม่เหลือ ความมีชีวิตเย็น ความมีชีวิตใหม่ดังกล่าวแล้ว ทีนี้ถ้าจะพูดว่า ถ้าเช่นนั้น ระดับของนิโรธเนี่ย จะพูดได้ไหมว่าจะมีสักกี่ระดับ ก็อาจจะบอกได้ว่า ระดับแรกหรือระดับขั้นต้น นิโรธคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้โดยเป็นระดับแห่งความบังเอิญ มันบังเอิญเกิดขึ้น เช่น บังเอิญไปนั่งอยู่ในที่ๆ อากาศดี เย็นสบาย เช่น ชายทะเล ไม่มีใครรบกวน ในขณะนั้นสิ่งแวดล้อมก็อำนวยให้ มีความเยือกเย็นผ่องใส มันก็นำความเยือกเย็นผ่องใสจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน มันวางความวิตกกังวล ความข้องเกี่ยวยึดมั่นทั้งปวง มันวางเอาไว้ในชั่วคราว ในขณะนั้นก็เกิดความรู้สึกเย็น มีชีวิตเย็นขึ้นมาในชั่วขณะนั้น แต่มันไม่ได้เป็นการปลูกฝังอบรมให้เกิดขึ้น มันเป็นโดยบังเอิญเพราะสิ่งแวดล้อมอำนวยให้ คงจะเคยพบใช่ไหมคะ หรือ นิโรธจะเกิดขึ้นได้โดยบังคับ โดยบังคับก็เช่น ในขณะที่ปฏิบัติสมาธิภาวนา ฝึกอบรมจิต ด้วยการกำหนดจิตให้อยู่กับสมาธิภาวนา คือหมายความว่า เครื่องกำหนดจิตที่จะให้เป็นอารมณ์ เช่น ถ้าฝึกสมาธิภาวนาแบบอานาปานสติ ก็กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจที่ผ่านเข้า พร้อมกับสามารถตามลมหายใจไปจนสุดสายแล้วก็ตามลมหายใจที่กำลังหายใจออก หรือว่าเคลื่อนออกจากภายในสู่ภายนอกจนมาถึงผ่านไปช่องจมูกได้ตลอดทั้งไปทั้งมา เรียกว่าจิตจดจ่ออยู่กับเรื่องของลมหายใจตลอด ไม่ไปจดจ่ออยู่กับอย่างอื่นเลย นี่ก็เรียกว่าเป็นการบังคับ บังคับจิตที่อาจจะกำลังวุ่นวายก่อนที่จะมาทำสมาธิ หรือเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หรือเต็มไปด้วยความร้อนรุ่มปัญหาความทุกข์ทั้งหลายก็ตาม ขจัดมันออกไป กำจัดมันออกไป โดยดึงจิตให้มาอยู่กับลมหายใจ ถ้าสามารถอยู่กับลมหายใจโดยตลอดจนกระทั่งจิตนี้เป็นสมาธินะคะ นั่นก็เรียกว่าเป็นการบังคับจิต ให้จิตนี้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ สิ่งที่เป็นปัญหาความทุกข์ ความวิตกกังวลทั้งหลายเข้ามามิได้ กิเลส ตัณหา อุปาทานเข้ามาไม่ได้ ในขณะนั้น ภาวะของจิตภายในก็จะมีความว่าง มีความว่าง มีความสงบ มีความเย็นบังเกิดขึ้น นี่ก็เรียกว่า เป็นความเย็นที่เกิดโดยบังคับ มิใช่โดยบังเอิญ และแน่นอน ความเย็นคือความดับเนี่ยนะคะ ความดับของนิโรธที่ทำให้เกิดความเย็นที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญก็ดี หรือโดยบังคับก็ดี มันย่อมไม่อยู่นาน มันก็อยู่ได้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว อย่างโดยบังคับมันก็จะอยู่ได้ในขณะที่อยู่ในลักษณะของการทำสมาธิภาวนา ถ้าทำได้จริงนะคะ ถ้าทำไม่ได้จริง ถ้านั่งข้างนอกก็ดูสงบเย็นดีหรอก แต่ข้างในนั้นมันร้อนเพราะจิตนั้นมิได้สามารถหยุดอยู่กับสิ่งที่กำหนดเพื่อเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือลมหายใจ ฉะนั้นก็อยู่ได้ชั่วคราว
แต่ถึงกระนั้นก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ มีคุณค่าที่ควรจะได้ฝึกให้มันเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือโดยบังคับ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้จิตได้ลิ้มรสของความเย็น ถ้าหากว่าได้ลิ้มรสของความเย็นบ่อยๆ ก็เชื่อว่าจะต้องติดใจใช่ไหมคะ เพราะความเย็นนี้มันเบาสบาย มันเป็นชีวิตใหม่จริงๆ เป็นชีวิตที่โล่ง โปร่ง ว่าง ปราศจากการเกาะเกี่ยวกับทุกสิ่ง ไม่ว่าสิ่งเล็กสิ่งใหญ่ มันมีแต่สุญญตาธรรมบังเกิดขึ้นภายใน ฉะนั้นพอได้ลิ้มรสเข้า แล้วก็ได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นความสงบเย็นอย่างหาที่เปรียบมิได้ ก็คงจะค่อยๆ ติดใจ อยากได้ แล้วก็อยากจะมี อยากจะเป็นอย่างนั้นบ่อยๆ เพราะจะค่อยๆ สำนึกได้เองว่า อ๋อสิ่งที่แหละที่ฉันเรียกว่าเป็นความสุข เป็นความสุขที่แท้จริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเป็นความสุขที่ปราศจากความดิ้นรนกระวนกระวายเพราะความอยาก คือตัณหา อุปาทานทั้งหลาย ก็สมควรที่จะได้ฝึกด้วยการบังคับให้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็อาจจะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจนเป็นกิจนิสัยก็ได้ ทีนี้ระดับที่ 3 ของนิโรธ คือความดับในระดับที่สาม ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นระดับสูงสุด นั่นก็คือเป็นระดับที่โดยที่กิเลสหมดแล้ว คือกิเลส ตัณหา อุปาทานเกลี้ยงไปจากจิต เพราะเหตุว่าถูกฝึก อบรม กระทำ บังคับให้สิ้น ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา ประกอบทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ที่สามารถเข้าถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรม อย่างที่เราพูดแล้วนะคะ สิ่งที่เป็นสัจธรรมก็คือ สิ่งอันเป็นปรมัตถสัจจะ เป็นความจริงที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เช่น กฎของไตรลักษณ์ กฎของอิทัปปัจจยตา หรือเรื่องของอริยสัจ 4 ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ก็เป็นปรมัตถสัจจะที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น โดยที่กิเลสหมดแล้วก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่จะต้องฝึกปฏิบัติกันอย่างจริงจัง สม่ำเสมอต่อเนื่อง พากเพียรอย่างบุกบั่น มุ่งมั่นไม่ขาดตอนเลย เรียกว่าอุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัตินี้อย่างแท้จริง ตลอดเวลา ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันหนึ่งที่เป็นจิตที่สิ้นแก่กิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ไม่อาจจะมากล้ำกรายจิตได้อีกเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นนิโรธชั่วนิรันดร์ และชีวิตเย็นนั้นก็จะเป็นชีวิตเย็นชั่วนิรันดร์ และก็เป็นชีวิตใหม่ชั่วนิรันดร์อีกเช่นเดียวกัน นี่ก็เป็นระดับของนิโรธนะคะ ซึ่งท่านก็บอกว่า การปฏิบัติอานาปานสติ จะสามารถทำให้เกิดนิโรธขึ้นได้ทั้งสามชนิด ระดับของอานาปานสติที่จะทำให้เกิดนิโรธขึ้นได้ทั้งสามชนิด ก็คือทั้งโดยบังเอิญ แล้วก็ทั้งโดยบังคับ แล้วก็ทั้งโดยที่กิเลสหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น การฝึกอานาปานสติ ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่จะส่งเสริม กระตุ้นเร้าให้มีความเจริญในการปฏิบัติเพื่อบังเกิดซึ่งนิโรธยิ่งขึ้นๆ จนถึงระดับสูงสุดได้
ทีนี้ไวพจน์ของนิโรธที่จะช่วยให้เข้าใจความหมายของนิโรธได้ดียิ่งขึ้นนะคะ ก็มีอยู่ 3-4 ข้อ ที่อยากจะขอให้ลองจดจำ นั่นก็คือ
ข้อแรก ให้รู้จักระงับสังขารในทุกๆ ความหมาย ระงับสังขารในที่นี้หมายถึง ระงับการปรุงแต่ง จิตของมนุษย์นี่ชอบปรุงแต่งเหลือเกิน ชอบปรุงแต่งมาก ชอบปรุงแต่งบ่อยๆ หยุดไม่ค่อยได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการปรุงแต่งขึ้นแล้วละก็ พอรู้สึกตัวนะคะ ว่านี่กำลังปรุงแต่งแล้วนะ จะรู้อย่างไรว่าคือการปรุงแต่ง ก็คือความคิดที่ปราศจากสาระแก่นสาร ปราศจากต้น ปราศจากปลาย ไม่มีเหตุไม่มีผล มันฟุ้งซ่าน มันเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ ล่องลอยไปเหมือนก้อนเมฆ แล้วก็เป็นความคิดปรุงแต่งที่หาความทุกข์ให้ใส่แก่ใจของตัวเอง เพราะมันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง นั่นแหละท่านเรียกว่าเป็นความคิดปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น เมื่อเราต้องการนิโรธ เราต้องการความดับจากความทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ก็ต้องพยายามที่จะรู้จักระงับสังขารในทุกๆ ความหมาย ท่านเรียกในภาษาบาลีว่า สัพพะสังขาระ สะมาโถ สัพพะสังขาระ สะมาโถ คือระงับสังขารในทุกๆ ความหมาย
ข้อที่สองก็คือ นอกจากว่าจะรู้จักระงับสังขารแล้ว ต้องรู้จักโยนของหนักทิ้งให้หมด อะไรที่เป็นของหนัก ของหนักคือสิ่งที่แบกเอาไว้ว่าเป็นของฉันด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนั่นเอง โยนมันออกไปเสีย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องโยนเป็นประการแรกก็คือ ต้องโยนสิ่งที่เป็นความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน หรือความเป็นอัตตาที่เกี่ยวเกาะ จนกระทั่งมีตัวฉันออกมาเป็นผู้มี ผู้เป็น ผู้รับ อะไรเสียทุกเรื่องเลย แล้วผลที่สุดก็คือ ฉันนี้ก็รับแต่สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ฉะนั้นเมื่อฉันอยากจะให้มีความดับ ไม่เหลือแห่งความทุกข์เกิดขึ้น ก็ต้องรู้ว่าต้นเหตุที่สำคัญเพราะอวิชชาครอบงำจิต ทำให้มองเห็นว่ามันมีฉัน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ก็ต้องระงับตรงนี้ ดับตรงนี้ ดับสิ่งที่เป็นอัตตาตัวตนเนี่ย ออกให้ได้ มันเป็นของหนักที่สุด หนักที่สุดยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น ก็โยนของหนักอันเนี่ยออกทิ้งไปเสีย ท่านเรียกว่า สัพภู ปะทิ ปะตินิสสักโค สัพภู ปะทิ ปะตินิสสักโค โยนมันทิ้งลงไป โยนทิ้งลงไปให้หมดนะคะ
ทีนี้ข้อต่อไปที่จะทำให้เกิดนิโรธก็คือ ทำตัณหาให้สิ้น ทำตัณหาให้สิ้น ก็อย่างที่พูดมาแล้ว ด้วยวิธีการที่ว่าโดยปฏิบัตินะคะ ทำตัณหาให้สิ้นท่านก็เรียกว่า ตันหักคะโย ตันหักคะโย คือทำตัณหาให้สิ้น และข้อสุดท้ายก็คือ ยังไม่ใช่ข้อสุดท้ายทีเดียวนะคะ คือไม่มีกิเลสย้อมใจ อย่าให้มีกิเลสย้อมใจ พอมีกิเลสเข้ามาต้องไล่ออกไปให้ได้ ท่านเรียกว่า วิราโค และสุดท้ายก็จะได้ประสบกับสิ่งที่เรียกว่า จิตเย็น จิตเย็น ก็คือ นิพพานัง จิตเย็นก็คือเย็นด้วยความสงบ เย็นสนิท เป็นชีวิตเย็น
ฉะนั้น คำทั้งหมดเนี่ยนะคะก็อยากจะขอให้นำไปใคร่ครวญ เรียกว่าเป็นธรรมะสมาธิก็ได้ ซึ่งก็จะมีเขียนให้ดูนะคะ ธรรมะสมาธิด้วยการพิจารณาคำทั้ง 6 นี้ คำแรกก็คือ สัพพะสังขาระ สะมะโถ พูดช้าๆ นะคะ เหมือนกับปลอบโยนจิตใจ มันไพเราะมาก สัพภู ปะทิ ปะตินิสสักโค ตันหักคะโย วิราโค นิโรโธ นิพพานัง นี่คือการพิจารณาด้วยธรรมะสมาธิ แล้วความมีชีวิตเย็น ความมีชีวิตใหม่ที่มีค่าสูงสุดแก่ชีวิตก็จะบังเกิดขึ้น วันนี้เราก็ได้พูดถึงอริยสัจ 2 ข้อ นะคะ คือข้อเหตุแห่งทุกข์ แล้วก็ข้อความดับสนิทแห่งทุกข์ที่จะต้องทำให้แจ้ง ก็ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ