แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ รายการธรรมะสนทนาในวันนี้ เราน่าจะพูดกันต่อนะคะ ถึงเรื่องพุทธธรรมกับสังคมที่เราได้พูดค้างไว้เมื่อคราวที่แล้ว เรื่องของพุทธธรรมกับสังคมในตอนท้าย เราก็ว่าพุทธธรรมกับสังคมหรือพุทธธรรมกับชีวิตนี่ น่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือหมายความว่าเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เมื่อมีชีวิต ชีวิตนั้นก็ควรที่จะได้มีธรรมะหรือพุทธธรรม เมื่อสังคมเกิดขึ้นก็ควรจะเป็นสังคมที่อยู่ด้วยพุทธธรรม ไม่ใช่อยู่ด้วยอย่างอื่น
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะเหตุว่าคนเราขาดธรรมะ ในสังคมทุกวันนี้เรารู้สึกว่าเราขาดธรรมะอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ที่จริงแล้ว เราขาดอย่างยิ่งเลย แต่เราก็มักจะนึกว่าก็มีข้าวกิน มีอะไรต่ออะไรอย่างอื่นเพียงพอแล้ว เรารู้สึกว่าเราไม่ขาด แต่อันที่จริงแล้วเราขาด ทำไมถึงรู้สึกว่าเราขาด เพราะ
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะเรายังมีความอยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะเราไม่เย็น เราร้อนใช่ไหมคะ เพราะเราร้อนนั่นเอง เราก็บอกได้ว่าเราขาดธรรมะ ถึงแม้จะอยู่ในห้องแอร์ แอร์คอนดิชั่นให้เย็นเฉียบเท่าไหร่ก็ตามเถอะ แต่ใจข้างในมันร้อนๆ นั่นแหละ มันเป็นเครื่องแสดงว่าเราขาดธรรมะ ฉะนั้นอันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทีนี้ไม่คิดบ้างหรือคะว่า ทำยังไงล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: สิ่งที่เราควรทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราจะทำอย่างไรดี ถึงจะให้พุทธธรรมกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือให้สังคมดำรงอยู่ด้วยธรรม ธรรมะหรือพุทธธรรม ก็อยากจะขอเสนอว่าก่อนอื่นทีเดียว ถ้าเราอยากจะให้มีสิ่งใดเกิดขึ้น เราจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้นเสียก่อน มีฉันทะต่อสิ่งนั้นเสียก่อน ฉะนั้นข้อเสนอประการแรกก็คือว่าเราเห็นจะต้องรู้จักที่จะปรับทัศนคติ แล้วก็ปรับทิฏฐิของเราที่เคยมีต่อธรรมะ ต่อศาสนา ต่อพุทธศาสนาเสียใหม่ให้ถูกต้อง คำว่าให้มีเสียใหม่ให้ถูกต้องนี่นะคะ ท่านผู้ชมอาจจะนึกสงสัย เพราะบางท่านอาจจะมีอย่างถูกต้องแล้ว แต่ถึงกระนั้นเชื่อว่าท่านคงจะเคยได้ยินที่เขา คนบางคนเขาบอกว่าศาสนา หรือธรรมะ เป็นสิ่งมอมเมา เคยได้ยินไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: เคยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เป็นสิ่งมอมเมา เป็นยาเสพติด จริงหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา: ครับ ไม่จริงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ไม่จริงใช่ไหมคะ เราไม่ยอมรับ เราไม่ยอมรับว่าเป็น แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีทัศนคติแล้วก็มีทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นต่อธรรมะในลักษณะเช่นนี้ ถ้าพอเห็นอย่างนี้แล้วล่ะก็ พอบอกเป็นสิ่ง
มอมเมานี่ โอ้โฮ มันน่ากลัวนะคะ ถูกมอมเมาด้วยอะไรก็ช่าง จะบอกถูกมอมเมาด้วยธรรมะหรือว่าด้วยศาสนา แล้วก็กลายเป็นยาเสพติด ลองช่วยอธิบายได้ไหม ทำไมเขาถึงว่าอย่างนี้ พอนึกออกไหม
ผู้ร่วมสนทนา: คนว่านั้นไม่มีธรรมะในหัวใจน่ะสิคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วเขาคิดว่ามันเป็นอาการยังไง อาการของมอมเมา
ผู้ร่วมสนทนา: ก็คือเหมือนกับว่า หลอกให้เชื่อ ก็คือว่าเรางมงาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ งมงาย หลงเชื่อโดยไม่มีเหตุผล พูดง่ายๆ ก็คือหลับหูหลับตาเชื่อไป เพราะฉะนั้นจุดนี้มันก็เป็นจุดที่สำคัญ สำคัญอย่างยิ่งทั้งผู้ที่ให้ธรรมะ แล้วก็ทั้งผู้ที่รับธรรมะ ถ้าสมมติว่าการสื่อสารในระหว่างการให้และ
การรับ มันเกิดไม่ตรงกันขึ้น มันก็เกิดจะเกิดลักษณะเข้าใจผิดต่อกัน แล้วก็เลยเข้าใจว่าเรื่องของธรรมะ เรื่องของพุทธศาสนาเป็นเรื่องมอมเมา เพราะเหตุว่าบอกไปว่าให้เชื่อ บอกไปว่าให้เชื่อ ทำอย่างนี้แหละเชื่อ สะเดาะเคราะห์แล้วดี รดน้ำมนต์แล้วจะพ้นเคราะห์ หรือมิฉะนั้นก็ทำการบนบานศาลกล่าวอะไรต่ออะไรต่างๆ ซึ่งอันที่จริงสิ่งเหล่านี้ มันไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของธรรมะ หรือกับเรื่องของพุทธศาสนา
แต่ถ้าหากว่าผู้ใดมีความเข้าใจในลักษณะเช่นนั้น ก็เห็นจะบอกได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราก็ได้พูดแล้วว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้น คือสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างปกติ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติอยู่เช่นนั้นเอง สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าสภาวะของความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นจนเป็นธรรมดา จนเป็นความปกติ ถ้าใครมองเห็นอย่างนี้อย่างชัดแจ้งภายใน ความมีเหตุมีผลในการกระทำจะเกิดขึ้น ความถูกมอมเมาจะไม่มี แต่ถ้าหากว่าผู้ใดคิดว่าจะยึดเอาศาสนาเป็นที่พึ่ง โดยหวังว่าศาสนานั้นจะเสกเป่าให้ได้ เสกเป่าดลบันดาลว่าจะสำเร็จในสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่ค่อนข้างจะเป็นความงมงาย เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ใช่ไหมคะ ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเองตอนนี้หมายถึงความเป็นที่พึ่งที่เกิดจากการกระทำของตน และการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าเราปรับทัศนคติหรือทิฏฐิที่เคยมีต่อศาสนาว่าเป็นสิ่งมอมเมาหรือเป็นยาเสพติด มาเข้าใจธรรมะตามความถูกต้องตามความเป็นจริง ความมอมเมาหรือความเป็นยาเสพติดจะไม่เกิดขึ้นได้เลย เพราะอะไร เพราะเรามองดูด้วยตาใน ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น มิใช่ความยึดมั่นถือมั่นอย่างชนิดที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำประการแรกก็เห็นจะบอกว่าจะต้องพยายามที่จะปรับให้ได้ คือฝึกการปรับเข้าใจในเรื่องของพุทธศาสนา ในเรื่องของธรรมะเสียใหม่ ว่าคือสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ อันเราต้องพยายามรู้จักด้วยการกระทำที่ถูกต้อง คือรู้จักความเป็นปกติธรรมดาของธรรมชาติ เช่นนั้นเอง
ผู้ร่วมสนทนา: จำเป็นไหมครับ จะต้องเข้าวัดฟังเทศน์ หรือซื้อหนังสือธรรมะมาอ่าน ซื้อเทปธรรมะมาฟัง เป็นการปรับทัศนคติได้ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ค่ะ คือว่าถ้าหากว่าเรายังไม่รู้เลยใช่ไหมคะ ยังไม่มีความเข้าใจเลย ก็น่าจะต้องแสวงหาความเข้าใจที่ถูกต้อง จากการฟังคำสอนที่ตรงตามแนวการสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ด้วยการอ่านหนังสือที่ให้ความหมายของคำว่าธรรมะ การปฏิบัติตามธรรมะ หรือว่าการเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง แล้วจากนั้นก็ลองทดลองนำคำสอนที่ได้รับฟังหรือว่าได้อ่านมานั้น มาทดลองปฏิบัติที่ใจของตน จนมองเห็นผลชัดว่า อ๋อ นี่แหละคือเป็นความจริงอย่างนี้ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติที่ใจ มิใช่อย่างอื่น
ผู้ร่วมสนทนา: ขออนุญาตถามอีกสักนิดนะครับอาจารย์ครับ การปรับทัศนคติหมายถึงเราจำเป็นจะต้องมานั่งสมาธิ ต้องวิปัสสนา อะไรต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนั้นก็เป็นอุบาย เป็นวิธี เป็นวิธีที่ว่าถ้าท่านบอกว่า ถ้าจะพัฒนาจิตนะคะ ให้เป็นจิตของผู้ฉลาด เป็นจิตของผู้มีธรรมจนมองเห็นธรรมะได้ แล้วก็ใจเรายังวุ่นวายอยู่ เรายังสับสนกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย
เรายังไม่สามารถจะทำใจให้สงบได้ การที่เราจะมานั่งสมาธิวิปัสสนานี่ก็เป็นอุบาย เป็นวิธีที่จะทำให้ใจสงบ เพื่อที่จะได้ใช้พื้นความสงบของใจนั้นใคร่ครวญในธรรมอย่างถูกต้องต่อไป
ผู้ร่วมสนทนา: สำหรับท่านอาจารย์เองอยากจะแนะนำพวกเราให้ ให้ปรับทัศนคติที่ถูกต้อง มีวิธีการใดที่คิดว่าน่าจะตรงและดีสุดครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็อยากจะขอเสนอแนะว่า เราก็น่าจะมาดูเกี่ยวกับถ้อยคำต่างๆ นะคะ ที่จะทำให้เราเข้าใจ
เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของธรรมะ ก็อย่างเช่นเป็นต้นว่า เมื่อเราจะพอใจในสิ่งใด เห็นจะเริ่มต้นด้วยฉันทะความพอใจ แล้วก็เกิดศรัทธาในสิ่งนั้น ทีนี้คำว่าศรัทธา ความเชื่อในสิ่งนั้นนี่เป็นเห็นจะเป็นราก เป็นรากฐานหรือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ถ้าเราไม่ปรับศรัทธานี้ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วก็ เราก็จะมีความเข้าใจหรือมองพุทธศาสนาหรือธรรมะในแง่มุมที่ยังไม่ถูกต้อง คำว่าศรัทธา เราอาจจะบอกได้ว่ามีศรัทธา 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ อีกอย่างหนึ่งคือศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ นึกออกไหม ศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ ไสยะก็แปลว่าหลับ ไสยศาสตร์น่ะคือศาสตร์ของผู้หลับ ถ้าศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ก็หมายความว่าใครจะบอกอะไร ใครจะพูดอะไรก็เชื่อเขาไปหมดทุกอย่างเลย เขาจะบอกอะไรเชื่อไปหมดโดยไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ใช้สติปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่เคยทรงบอกให้ใครเชื่อท่าน เหมือนอย่างในกาลามสูตร เราเคยพูดกันในเรื่องกาลามสูตรมาบ้างใช่ไหมคะ นั่นก็เป็นสูตรที่ท่านบอกอย่างชัดเจนเลยว่าอย่าเชื่อตามที่เขาบอก อย่าเชื่อตามที่เขาเล่าลือกัน อย่าเชื่อตามที่เคยทำๆ กันมา ตลอดจนกระทั่งอย่าเชื่อแม้แต่ผู้บอกนั้นเป็นครูของท่าน เห็นไหมคะ ท่านพยายามที่จะให้ชาวพุทธทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นมั่นคง ไม่โลเลไปมา เชื่อถืออะไรง่ายๆ เพราะถ้าหากว่าไปเชื่อถืออะไรง่ายๆ แล้วล่ะก็ โดยไม่ได้ใคร่ครวญล่ะก็ เราอาจจะฟังความคิดเห็นมาต่างๆ นานา ถูกบ้าง ผิดบ้าง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเราใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้ว เราก็จะพ้นจากศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ คือจะไม่หลับหูหลับตาเชื่อเขาไป เขาเฮไปที่ไหนก็เฮตามเขาไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้เลยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่จากการที่ติดตามเขาไป เพราะฉะนั้นการเชื่อหรือศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ก็เท่ากับว่า เป็นศรัทธาที่จะเชื่อถือสิ่งข้างนอก ยึดเอาสิ่งข้างนอกเป็นที่พึ่ง นี่แหละเป็นไสยศาสตร์ จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม ต้นหมากรากไม้ ภูเขา ทะเล น่านน้ำ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนสิ่งอื่นๆ อย่างที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา นั่นแหละเป็นการเชื่อถือจากสิ่งข้างนอกในทางไสยศาสตร์ แต่ถ้าหากว่าศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์นั่น ก็ศรัทธาอย่างพุทธะ อย่างผู้มีปัญญา เหมือนอย่างที่พูดแล้วว่าเป็นศรัทธาที่ต้องเกิดจากการได้ทดลองปฏิบัติจนเห็นจริง ด้วยปัญญาชัดแน่แก่ใจ
แล้วก็ความศรัทธาอันนี้มันเกิดจากข้างใน ไม่ใช่เกิดจากข้างนอก แล้วพอยิ่งดู ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเห็นความมั่นคงภายในเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นๆ ความหนักแน่นชัดเจนก็เกิดขึ้น แล้วศรัทธาอย่างนี้จะเป็นศรัทธาที่นำไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อผล
อันเกิดแก่ความสงบเย็นในจิตของตนเอง
ผู้ร่วมสนทนา: จะเอาเวลาที่ไหนไปทำศรัทธาตามหลักพุทธศาสตร์ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า มันยากนะครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ที่พูด พูดกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะว่าสังคมทุกวันนี้มันยากนะคะ ก็ยิ่งแสดงว่าศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ หรือการปฏิบัติพัฒนาจิตให้มีความ มีสมรรถนะน่ะ มีสมรรถนะในทางพุทธศาสตร์ยิ่งจำเป็น ใช่ไหมคะ ยิ่งความสับสนมีมากเท่าใด ต้องนำกาลามสูตรมาใช้ให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพื่อว่าจะได้ก่อให้เกิดศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ได้จริงๆ ถ้ามิฉะนั้นแล้วล่ะก็ เราก็พากันหลงงมงายไปหมด ก็อ่านหนังสือพิมพ์ดูเราก็รู้เอง เราก็เห็น มีข่าวคราวอะไรต่างๆ ซึ่งไม่อยากจะนำมาเอ่ยถึงหรอกนะคะ ไม่กี่วันนี้ก็มี วันสองวันนี้ก็มี เมื่อเช้านี้ก็ดูเหมือนจะยังมี ซึ่งมันล้วนแล้วแต่จะชักนำให้เห็นว่า นี่แหละเป็นการศรัทธาอย่างไสยศาสตร์ เพราะเหตุว่าเขาเหล่านั้นจะไม่หวังพึ่งตัวเอง แต่หวังพึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาช่วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ได้แต่เพียงทรงสอน ท่านก็ได้ทรงบอกแล้ว ท่านเป็นผู้สอน ผู้แนะ ผู้บอก แต่ทำเองให้ได้ เพราะท่านต้องการที่จะให้ทุกคนลองฝึกพัฒนาศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในใจของตน ด้วยการเห็นชัดด้วยตัวเอง
ผู้ร่วมสนทนา: เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยตัวเองนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ต้องทำ ตัองอาศัยตัวเอง พอได้ยินได้ฟังมา นำมาใคร่ครวญทันที แล้วก็ดูสิว่าผลที่เกิดขึ้น มันคือความสุขสงบเย็นหรือเปล่า ถ้าสุขสงบเย็นแก่จิตจริงๆ นั่นแหละใช่ แต่ถ้าหากว่ามันเป็นความร้อน มันก็ไม่ใช่
แต่จริงๆ นี่ข้อสำคัญอย่าหลงด้วยนะคะ ต้องแน่ใจ
ผู้ร่วมสนทนา: อาจารย์คะ ในเรื่องของศรัทธานี้ อีกเรื่องหนึ่งค่ะที่ อย่างได้ยินคนเขาพูดว่าความนึกคิดทุกอย่างเป็นกรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความนึกคิดทุกอย่างเป็นกรรม กรรมน่ะคืออะไร ที่เขาว่ากรรมนี่นึก นึกได้ไหมว่าหมายความว่าอะไร
ผู่ร่วมสนทนา: ถ้าเราคิด คิดโลภ คิดอยากได้โน่นได้นี่ สิ่งที่เราคิดก็คือกรรม กรรมที่เราได้รับคืออาจจะว่าเราเกิดความทุกข์อะไรอย่างนี้ ไม่ทราบว่าทำนองนี้ได้ไหมคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากว่าพูดว่ารู้สึกนึกคิดเป็นกรรม แล้วก็พอรู้สึกนึกคิดไป ใจมันก็ไม่มีความสบาย ใจมันก็ร้อนมันก็อึดอัด มันเกิดสงสัย ลังเลไม่แน่ใจ เป็นความทุกข์ อย่างนี้เป็นบาปแล้ว รู้สึกนึกคิดนี้เป็นบาป เพราะมันทำให้
เกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นกรรม ส่วนมากมักจะนึกว่ากรรมนี่ก็คือกรรมที่ถูกกำหนดแล้ว ส่วนมากคนมักจะคิดเช่นนั้น ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเป็นชาวพุทธที่แท้ล่ะก็ ถูกกำหนดแล้วก็ได้ แต่กำหนดโดยใคร
ผู้ร่วมสนทนา: โดยตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โดยตัวเอง ตัวเองก็คือการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่ว่าตัวเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จะมากำหนดสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าเราศักดิ์สิทธิ์คงไม่มีคนเป็นทุกข์ล่ะ ใช่ไหมคะ เพราะจะกำหนดให้เราได้อย่างนั้นได้อย่างนี้อย่างที่เราต้องการ
แต่กรรมในที่นี้ ถ้าจะถูกกำหนดโดยตัวเอง ก็คือหมายความว่าโดยการกระทำของตัวเอง ฉะนั้นกรรมอันนี้เราจึงได้ยินว่ากรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี หรือกรรมดำก็มี กรรมขาวก็มี นี่มันก็เกิดจากการกระทำ ถ้าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง มันก็เป็นกรรมดีหรือกรรมขาว ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นกรรมชั่วหรือเป็นกรรมดำ แล้วใครๆ ก็ไม่อยากได้กรรมดำ ก็อยากได้กรรมขาวกันทั้งนั้น ใช่ไหมคะ แต่พอได้กรรมขาวแล้ว ใจก็ยังไม่ขาว จริงไหม ทำไมถึงยังไม่ขาว เพราะไปยึดว่ากรรมขาวนี่คือของฉัน คือความดีนี้เป็นของฉัน แล้วก็หวังว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างที่ฉันทำไปแล้ว ฉันทำดีฉันควรได้รับผลตอบแทนดี ฉันซื้อลอตเตอรี่ใบละเท่าไหร่นะ ฉันก็ควรจะถูกรางวัลที่ 1 อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ผู้ร่วมสนทนา: แล้วทำไมไม่ได้ครับ อาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็การกระทำอันนั้นมันถูกต้องหรือไม่ล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา: จริงๆ แล้วอาจจะไม่ถูกต้อง ก็ทำดีนะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: พูดถึงการทำดีหรือคะ พูดถึงการทำดีใช่ไหมคะ การทำความดีแล้ทำไมเราถึงไม่ได้รับผลดีตอบแทน อันนี้มันเกี่ยวกับเหตุปัจจัยหลายอย่าง เพราะเหตุว่าถ้าการทำความดีอันนั้นมันเป็นเพียงเฉพาะตัว เฉพาะตัวบุคคลนะคะ เช่น อย่างสมมติว่าเราหิว แล้วเราก็ได้อาหารมารับประทาน แล้วก็รับประทานแต่เพียงพอเหมาะพอเจาะกับกระเพาะของเรา เราก็อิ่ม สบาย ไม่มีความอึดอัด ไม่มีความแน่น ไม่ต้องปวดท้อง ไม่ต้องท้องแตกอย่างตาชูชก ใช่ไหมคะ นี่ก็เป็นการกระทำที่ถูกต้องที่พอเหมาะ ความดีในการกินที่เราสามารถกินได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ มันก็เห็นผลอย่างทันตา นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ นะคะ
ทีนี้เรื่องที่ว่า เราทำกรรม กรรมนั้นน่ะเกิดขึ้นก็คือจากการกระทำ พูดง่ายๆ ก็คืออยากจะเรียนท่านผู้ชมว่ากรรมนั้นน่ะ ขอได้โปรดนึกถึงว่ากรรมในทางพุทธศาสนานั้นหมายถึงการกระทำ การกระทำที่ทำขึ้น แต่ไม่ใช่กรรมที่กำหนดโดยผู้นั้นผู้นี้ หรือลิขิตโดยผู้นั้นผู้นี้ ถ้าหากว่าไปเชื่อว่ากรรมนั้นน่ะถูกลิขิตโดยผู้นั้นผู้นี้แล้วล่ะก็ จะทำให้เรารู้สึกไม่รับผิดชอบ จะทำให้คนทั้งหลายไม่ค่อยรับผิดชอบ ใช่ไหมคะ ทำไมถึงไม่รับผิดชอบ เพราะพอเกิดอะไรขึ้นก็จะโยนไปให้กรรม นี่มันถูกลิขิตมาแล้ว มันแก้ไขไม่ได้ อันที่จริงมันแก้ไขได้ ถ้าหากว่าเรารู้ว่านี่คือเกิดจากการกระทำ เราจะรีบคิดแก้ไข แต่ถ้าหากเราจะบอกว่า นี่มันเป็นกรรมที่มันลิขิตมาแล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไข พอไม่ต้องแก้ไขก็ลองนึกดูสิคะว่า ถ้าทุกคนพอทำอะไรขึ้น ถูก ลิขิตมาแล้ว ก็โปะเอาไว้ โปะเอาไว้ สังคมจะเป็นอย่างไร สังคมก็จะยิ่งทวีความซับซ้อนของปัญหา จะทวีความทุกข์นี่ เพิ่มพูนมากขึ้นอีกสักเท่าใด เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่ความหมายหรือทัศนคติเกี่ยวกับคำว่ากรรมอย่างถูกต้อง ถ้าเราทุกคนเมี
ความเข้าใจว่ากรรมหมายถึงการกระทำ และกรรมนั้นจะส่งผลดี หรือผลที่ไม่พอใจ หรือผลที่พอใจอย่างใดก็เกิดจากการกระทำ ตอนนี้ถ้าเห็นอย่างนี้ทุกคนจะรีบขวนขวาย ใช่ไหมคะ เพราะทุกคนก็อยากได้ผลที่ถูกต้อง ก็จะรีบขวนขวายทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นการเข้าใจกรรม ความหมายของกรรมที่ถูกต้องนี่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าจะช่วยกระตุ้นเร่งเร้าให้แต่ละคนกระทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่ชีวิต แล้วก็เพื่อประโยชน์แก่สังคม เพราะถ้าท่านสมาชิกของสังคมทุกคนล้วนแล้วแต่กระทำสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนก็จะประสบแต่กรรมอันน่าพอใจ และทุกคนก็จะมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นถ้า
หากว่าเราปรับทัศนคติ ปรับทิฏฐิเกี่ยวกับกรรม เกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือธรรมะให้ถูกต้อง ศาสนาคือพุทธศาสนาหรือธรรมะย่อมไม่ใช่สิ่งมอมเมาหรือไม่ใช่ยาเสพติด แต่ตรงกันข้ามกลับจะเป็นสิ่งที่เสริมพลังใจของแต่ละคนให้มีกำลังที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์สังคมต่อไป ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นพุทธธรรมกับสังคมนี่นะคะ ก็คืออันเดียวกันอย่างที่ว่า คำว่าคืออันเดียวกันน่ะ เราจะต้องทำให้เป็นสิ่งเดียวกันให้ได้ ถ้าเราไม่พยายามที่จะกระทำให้เป็นสิ่งเดียวกันได้แล้วล่ะก็ เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อใดเราจึงจะสามารถมีสังคมที่สงบเย็น และสิ่งที่เราควรเริ่มทำก็โปรดปรับทัศนคติหรือทิฏฐิต่อพุทธศาสนาหรือธรรมะให้เข้าใจในความหมาอันถูกต้อง ตรงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้เสียก่อน สำหรับวันนี้ก็ขอให้ธรรมะสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ