แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ ยังสนใจเรื่องความเห็นแก่ตัวต่อไปอีกหรือเปล่าคะ ยังสนใจอยู่นะคะ
เมื่อคราวที่แล้วเราพูดถึงว่า ความเห็นแก่ตัว ในภาษาไทยนี้ ถ้าหากว่าเราหมายถึงคำในธรรมะ ก็คือคำที่ว่า“อัสมิมานะ”
คือความรู้สึกสำคัญมั่นหมาย ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น เรามี เราเป็น ทีนี้จากเรามี เราเป็นนี่ เราก็เลยเกิดความยึดมั่นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นจริงเป็นจัง และก็เกิดเป็นตัวตน ตัวฉัน จนกระทั่งถึงตัวกูอย่างที่ว่าแล้ว และก็ความเห็นแก่ตัวนี้ก็เป็นเหตุที่ทำให้เราเกิดปัญหาในชีวิต คือจิตที่มันไม่ผ่องใส มันไม่สงบ มันไม่เยือกเย็นเลย ก็เพราะความรู้สึกของความที่เห็นแก่ตัว ด้วยความที่นึกถึงตัวของตัวเราเองเป็นใหญ่ในทุกเรื่องในทุกกรณี ไม่ว่าจะทำอะไรก็อดจะนึกถึงว่าตัวเราเป็นยังไง ตัวเราจะได้อะไร ตัวเราจะต้องเสียอะไรในเหตุนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อความเห็นแก่ตัวนี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตใจไม่สงบ ไม่เยือกเย็นผ่องใสได้เลย ในทางธรรมท่านจึงกล่าวไว้ว่า “อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง”
ก็หมายความว่า ถ้าหากว่าเรานำออกเสียได้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนี้ จะเป็นความสุขอย่างยิ่ง รู้จักไหมคะว่า ที่เราพูดว่า ความสุขอย่างยิ่ง นี่เป็นยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: สงบเย็นในจิตใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สงบเย็นในจิตใจ ทีนี้ความสุขที่สงบเย็นในจิตใจนี้ ถ้าพูดกับคนธรรมดาทั่วไป ผู้ฟังธรรมดาทั่วไปก็คงจะถามว่า สิ่งที่เรียกว่าความสุขนี่ มันควรจะมีลักษณะอย่างไร เราก็อาจจะแบ่งเรื่องของความสุขได้เป็น ๒ เรื่อง อย่างหนึ่งก็คือ ความสุขตามประสาคน อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสุขตามประสาธรรม
ความสุขตามประสาคน เชื่อว่า เราทุกคนนี่รู้จักแล้ว หรือว่าสัมผัสแล้วกับสิ่งที่เรียกว่า ความสุข ใช่ไหมคะ ถึงแม้ว่าในชีวิตเราจะเคยมีความทุกข์ แต่เราก็จะพบความสุขที่เราสมมติ
ความสุขตามประสาคน ก็คือ ความสุขที่เกิดจากการได้สมใจ คือใจตั้งใจไว้อย่างไร อยากได้อะไรก็ได้สิ่งนั้น ใจต้องการอะไร ก็ได้ตามที่ต้องการ แล้วคนเราก็มักจะบอกว่า นี่เป็นความสุข อยากกินได้กิน อยากนอนได้นอน อยากเล่นได้เล่น อยากรักก็ได้รัก อยากได้ลูก ก็ได้ อยากจะได้ครอบครัว ก็ได้ อยากจะมีตำแหน่งการงานก็ได้ อยากจะมีทรัพย์สินเงินทองก็ได้ นี่แหละ คือความสุขแล้ว
เพราะฉะนั้นความสุขของชาวโลก หรือว่าความสุขตามประสาคน ภาษาโลกๆ นี้ มันจึงมักจะออกมาในลักษณะของสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นสัญลักษณ์ เหมือนอย่างเป็นวัตถุก็ได้ เช่นมีทรัพย์สินเงินทอง มีสมบัติข้าวของ มีบุตรภรรยา มีบ้านช่อง หรืออย่างที่เป็นนามธรรม เช่นมีตำแหน่งการงาน มีชื่อเสียงเกียรติยศ มีอำนาจวาสนา อะไรเหล่านี้ คนโลกเขามองว่า ถ้าใครมีอย่างนี้ล่ะก็ นั่นแหละ คนนั้นมีความสุขแล้ว เคยพบกันแล้วหรือยังความสุขนี้ เคยพบมาแล้ว เชื่อว่าพบกันทุกคนแล้วความสุขอันนั้นยังอยู่หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: บางอย่างก็ยังอยู่ บางอย่างก็หายไปแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมมันจึงหายไป ทำไมถึงไปๆ มาๆ เพราะอะไร มันหายไปไหน รู้สึกว่ามันไม่พอเมื่อรู้สึกว่าอยากได้มากขึ้น มันก็เหมือนกับความสุขที่มีอยู่หายไป เหมือนอย่างกับว่า อยากได้ความรักก็ได้ ได้ความรักแล้ว แต่เสร็จแล้วทำไมถึงบอกว่า ทำไมตอนนี้ไม่เห็นสุขเลยเพราะความรัก เพราะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: มันเบื่อแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เบื่อๆ มันมากไปก็เกิดเบื่อๆ หรือบางทีอยากจะได้อะไรที่มีความแปลกและก็แตกต่างไปจากความรักธรรมดา เพราะฉะนั้นความสุขของคนโลก หรือความสุขตามประสาคน นั่นก็คือหมายถึงความสุขที่มันเป็นไปตามใจอยากสมความปรารถนา แล้วความสุขอย่างนี้เราก็จะเห็นว่า ไม่ยั่งยืน มันไม่แน่นอน แล้วในขณะที่เราได้ความสุขอย่างนั้นน่ะ ที่เราบอกว่าเราสุขแล้วนี่ บางทีมีความร้อน มีความกระวนกระวาย ความระส่ำระสาย ซ่อนอยู่ในนั้นด้วย เพราะอะไร เพราะในขณะที่เราได้มาอย่างสมใจที่ต้องการ ใจนั้นมันก็เกิดความกระวนกระวายขึ้นมาทันทีที่บอกว่าสุข เพราะกลัวจะสูญหาย กลัวมันจะเปลี่ยน กลัวมันจะหมดไป กลัวใครเขาจะมาแย่งเอาไป ได้เงินกลัวประเดี๋ยวมันจะหมดมันจะหาย ดอกเบี้ยมันจะน้อย ได้ความรัก กลัวว่าเดี๋ยวความรักจะไม่ยั่งยืนมันเกิดจะแปรเปลี่ยนไป ได้ตำแหน่งการงาน ประเดี๋ยวถูกเลื่อยขาเก้าอี้มันก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว ได้ชื่อเสียงเกียรติยศ ประเดี๋ยวก็มีคนอื่นมีมากกว่าเรา นี่อะไรที่ทำให้คิดไปอย่างนี้ ความเห็นแก่ตัว ความที่นึกถึงแต่ตัว ได้แล้วยังไม่พอ ยิ่งได้ยิ่งโลภ ยิ่งได้ยิ่งอยากมาก อยากได้มากขึ้น ก็คือความเห็นแก่ตัวนี่แหละมันซ่อนอยู่ในใจของคน จึงทำให้จิตนี้ทั้งๆ ที่ได้แล้วนี่มันจึงไม่สงบ มันจึงไม่มีความเยือกเย็นผ่องใส เพราะมันมีความเห็นแก่ตัวที่ต้องการจะอยากได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น แล้วนอกจากนั้นก็ยังไม่มีความที่จะมองเห็นได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เราได้มา ที่เรามีเราเป็น ไม่มีอะไรอยู่คงที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไป ได้มาแล้วมันก็ไป เปลี่ยนไป หายไปแล้วมันก็ได้มาอีก แล้วมันก็หายไปอีก นี่เป็นความเป็นธรรมดาของโลกแต่มองไม่เห็น
เพราะฉะนั้น ความสุขอย่างโลกๆ นี่ หรือความสุขตามประสาโลก ก็เกิดจากความสุขที่ได้สมใจอยาก แต่ในความสมใจอยากนั้นมันก็มีความร้อน ความกระวนกระวายเกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงจะเรียกความสุขอย่างนี้เป็นความสุขจริงได้ไหม เป็นความสุขแท้ได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ยังไม่ได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าแท้ มันน่าจะอยู่คงทน มันไม่ควรจะเปลี่ยนแปลง และมันควรจะเย็นได้ตลอด ไม่ควรที่จะร้อนๆ เย็นๆ ถ้ามันร้อนๆ เย็นๆ มันก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นในภาษาธรรมนั้นมันจึงแตกต่างจากความสุขในภาษาคน ในภาษาธรรมท่านบอกว่า ความสุขอย่างแท้จริงในภาษาธรรมนั้น เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีเหยื่อ ไม่ต้องติดเบ็ด ไม่ต้องกินเหยื่อที่ติดเบ็ด หมายความว่ายังไง
ความสุขทางโลกต้องมีเหยื่อ เหยื่อของความสุขทางโลกก็เช่นอะไร อย่างที่เราพูดกันเมื่อกี้นี้ ที่เป็นวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง บุตรภรรยา ครอบครัว บ้านช่อง รถยนต์คันสวยๆ หรืออะไรอื่นๆ เหล่านั้นที่เป็นทางวัตถุ นี่ก็เป็นเหยื่อ เรียกว่า พอได้เหยื่อสมใจ เออ เราสุขละ แล้วก็วิ่งตะครุบ หาเหยื่ออื่นต่อไปอีก หรือว่าได้ตำแหน่งการงานเป็นหัวหน้าแผนก พอใจเป็นสุข ประเดี๋ยวก็มอง หัวหน้ากองว่างหรือเปล่า ก็อยากจะก้าวขึ้นต่อไปอีก ได้ตำแหน่งหัวหน้ากอง ก็อยากเป็นอธิบดี นี่แหละ เพราะฉะนั้น เหยื่อเหล่านี้จึงเป็นเหยื่อที่ส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดความร้อนที่ไม่มีความเพียงพอได้เลยสักอย่างเดียว
ฉะนั้นความสุขในภาษาธรรม ท่านจึงบอกว่า เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีเหยื่อ เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีอามิสสินจ้างมาคอยล่อ เป็นความสุขที่ท่านบอกว่า อยู่เหนืออามิส อยู่เหนือเหยื่อทั้งปวง และก็สุขอย่างชนิดที่เรียกว่ามีเหยื่อ ท่านเรียกว่า “สามิสสุข” ส-เสือ สระอา ม-ม้า สระอิ ส-เสือ สามิสสุข
ถ้าเป็นความสุขอย่างชนิดที่ไม่ต้องมีเหยื่อ ท่านเรียกว่า “นิรามิสสุข” นิรา นิระ เป็นสุขอย่างชนิดที่ไม่มีเหยื่อ แล้วท่านก็บอกว่าความสุขอย่างไม่มีเหยื่อ อย่างไม่ต้องมีเหยื่อนี่แหละ คือความสุขที่เกิดจากการนำความรู้สึกว่าตัวกูของกูออกไปเสีย แล้วนั่นจะเป็นความสุขที่แท้จริง มีคำถามหรือยังคะ
ผู้ดำเนินรายการ: เอาตัวกูของกูออกไป เอาตัวเราออกไป วิธีเอาออก เอาออกไปยังไง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ต้องดูก่อนว่าจะเอาตัวไหนออกไป ตัวเป็นตัวกูของกูที่เป็นตัวฉัน เอาตัวไหนออกไป เอาตัวรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ออกไป หรือเอาตัวอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ความอยาก ความอยากได้อยากมี อยากเป็น ออกไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าไม่มีตัวคนอยาก ความอยากจะเกิดขึ้นได้ไหม ลองนึกสิคะ มันก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวคนอยาก ความอยากเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญก็คือว่า ตัวผู้อยาก ตัวคนอยาก ตัวตนนี้ มันตัวไหน เอาออกไปเสีย เอาตัวตนตัวไหนออกไปเสีย
ผู้ดำเนินรายการ: อยากกินของอร่อย ก็เอาความอยากกินของอร่อยออกไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เวลานี้ กำลังนั่งกันอยู่นี่ บอกจเลิศออกไป อะไรล่ะจะออกไป
ผู้ดำเนินรายการ: ตัวตนครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตัวตนตัวไหน และตัวนี้ยังนั่งอยู่หรือเปล่า ไม่อยู่มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันก็หมายถึงตัวตนคือรูปร่างอันนี้ ลองนึกดูถึงละคร อย่างเวลาที่เราไปดูละคร ประเดี๋ยวก็ตัวเอกเข้าฉากมา แสดงบทบาทเสร็จ ผู้กำกับก็บอกตัวเอกเข้าโรง ประเดี๋ยวตัวผู้ร้ายออกมา เดี๋ยวก็ตัวนางเอก เดี๋ยวก็ตัวสำรอง ตัวรองๆ ลงไป ตัวประกอบ นี่เข้ามา ผู้กำกับก็บอกให้ออกไป เข้ามาและออกไป เข้ามาและออกไปนั่นน่ะ ตามอะไร
การที่ตัวนั้น หรือ คนนั้น ที่ได้รับการเรียกว่าเป็นพระเอก เขาเป็นพระเอกอยู่ที่ตรงไหน ตรงบทบาท ขณะที่เขาอยู่บนเวทีนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อบอกว่า คุณสาหัส พระเอกนี่ออกไป ให้คุณนางเอกนั่งทรมานเข้ามา อันนี้ก็คือออกไปตามบทตามชื่อที่สมมติกัน ที่เราบอกว่าให้ออกไป นายพระเอกก็ออกไปตามบท แม่นางเอกก็ออกไปตามบท เพราะฉะนั้น แท้ที่จริงแล้วจะเห็นได้ว่า ตัวพระเอก หรือตัวนางเอกนั่นน่ะมีจริงๆ หรือเปล่า เป็นตัวที่เราสมมติขึ้นเฉพาะคราว ทีนี้ก็ตัวตนของเราที่มีอยู่นี่แหละ ตัวตนอันไหน ตัวตนรูปร่างหน้าตาอันนี้ ไม่ใช่ เพราะตัวตนรูปร่างหน้าตาอันนี้คือหมายถึงเนื้อหนัง เลือดเนื้อ เนื้อหนังมังสังทั้งหลาย ที่มันมีเลือด มีเนื้อมีกระดูก มันเคยบอกไหมว่ามันต้องการอะไร มันอยากอะไร เป็นอะไร ตัวนี้มันบอกหรือเปล่า ว่าอยากอะไร เป็นอะไร ไม่เห็นมันบอกอะไร แม้ว่าปากกำลังจะพูด ปากนี้บอกหรือเปล่า ปากนี้เป็นผู้บอกหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: จิตเราบอก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใจ ที่อยู่ข้างในที่เป็นสิ่งที่มันบอก ใจตัวนี้มันเกิดมายังไง มันถึงเกิดมาเป็นตัวเป็นตน ทั้งๆ ที่ใจนี้เรามองเห็นไหม ไม่เห็น ไม่มีรูปไม่มีร่าง ใครมีใจมีร่าง มีรูป ไม่มี หัวใจเราก็ถือว่ามันเป็นวัตถุเป็นส่วนหนึ่งของกายเพราะมันทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต แต่มันไม่ได้มีความรู้สึกอยาก หรือไม่อยาก ไม่รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ รู้สึกจะเอา หรือไม่เอา มันไม่ใช่เรื่องของหัวใจ มันเป็นของสิ่งที่เรียกว่า ใจ ซึ่งเป็นนามธรรม ที่มันเป็นความรู้สึก อันนี้มาจากไหน ถ้าเราจะเอาออกไป เอาตัวตนออกไป ก็คือเอาอะไรออกไป
ผู้ดำเนินรายการ: เอาใจออกไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาใจออกไป ตัวนี้ก็กลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่สามารถจะทำอะไรได้ เราต้องการจะเป็นหุ่นยนต์หรือเปล่า เราไม่ต้องการกลายเป็นหุ่นยนต์ ถ้าสมมติมันกลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน เป็นหุ่นยนต์จะต้องทำไปตามหน้าที่ที่ถูกพักไป มันก็ไม่ใช่ ทีนี้เราจะเอาอะไรออกไปที่ว่า เป็นตัวตน อย่าลืมสิคะ“อัสนิมานะ”แปลว่าอะไร อัสนิมานะก็คือ ความมีตัวตน มีอยู่เป็นอยู่ แล้วส่วนมานะก็คือ ความสำคัญมั่นหมายว่าเรามี ว่าเราเป็น เพราะฉะนั้นความสำคัญมั่นหมาย ว่าเรามี เราเป็น มันเป็นจริงหรือเปล่า มันมีจริงไหม และอยู่ไหน หยิบมาให้ดูสิ หยิบตัวกูมาให้ดูสิ
ผู้ดำเนินรายการ: เราไปปรุงแต่งว่ามันมีน่ะครับ มีตัวมีตนครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นั่นน่ะสิ ความสำคัญมั่นหมาย ทีนี้หยิบมาให้ดูได้ไหม หยิบออกมาไม่ได้ แล้วมันมีไหมล่ะ ถ้าหยิบออกมาไม่ได้มันก็ไม่มี แต่มันเป็นความสำคัญมั่นหมาย ก็คือกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาในใจ ว่านี่คือ ตัวฉัน เพราะฉะนั้นตัวฉันนี่ มันอาจจะออกมาในลักษณะอะไรได้บ้าง ลองว่ามาสิ ออกมาในลักษณะของ รสนิยมของฉัน เป็นต้น ฉันชอบอย่างนี้เพราะมันตรงกับรสนิยมของฉัน ฉันชอบอย่างนี้ถึงจะสวย ฉันชอบอย่างนี้ถึงจะงาม นี่คือรสนิยมของฉัน รสนิยมมีไหมตัวตน
ไม่มี เป็นแต่สิ่งที่เรากำหนดกันว่าสิ่งลักษณะอย่างนี้ๆ เราเรียกว่า รสนิยม
เพราะฉะนั้น ที่เป็นตัวเป็นตนเป็นฉัน เป็นเรา ก็เป็นความสำคัญมั่นหมายเช่น รสนิยมว่าอย่างนี้ ก็เอารสนิยมนี้เป็นของฉัน หรือเช่นอะไรอีก เช่น ความรู้ของฉัน ฉันว่าอันนี้ถูกต้อง เพราะว่าฉันเรียนมาอย่างนี้ ฉันศึกษามาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันจะผิดไปจากอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉันรู้มาอย่างนี้ นี่ก็ความรู้นี่ก็มาเป็นสำคัญมั่นหมายว่าเป็นฉันขึ้น ทั้งๆ ที่ความรู้นี้ก็หามีตัวตนไม่ และอันที่จริงแล้ว ความรู้ไม่คงที่ ความรู้ของคนที่บอกว่าความรู้ของฉัน ความรู้ไม่คงที่ ไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงได้ มันเพิ่มพูนได้หรือบางทีมันก็เปลี่ยนไปเลย ว่าความรู้อันนี้ที่เราว่าถูกในวันหนึ่ง มันกลายเป็นไม่ถูกในวันข้างหน้า นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด นอกจากรสนิยม นอกจากความรู้ เช่นอะไรอีกที่คนจะทึกทักเอาว่า นี่แหละเป็นฉัน ฉันว่าอย่างนี้
ประสบการณ์ เป็นต้น ประสบการณ์ในชีวิต เราเคยทำมาอย่างนี้ เราเคยทำเรื่องนี้มาอย่างนี้มาตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราจะทำ เช่น จะห่อขนมเทียนให้ขนมเทียนนี้มันสวยงาม ได้รูปร่างสวยงาม ต้องห่อแบบนี้ ต้องเริ่มต้นจากเลือกใช้ใบตองอย่างนี้และวิธีห่อต้องทำอย่างนี้ และก็ถ้าตัวขนมเทียนจะอร่อย ต้องใช้แป้งอย่างนี้ ต้องใช้น้ำตาลอย่างนี้
ต้องนวดให้ได้ที่อย่างนี้ จนกระทั่งถึงไส้ขนมเทียนจะเอาอะไรมาผัด รสยังไงถึงจะกลมกล่อม นี่ประสบการณ์ของฉัน ฉันเคยทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ขนมเทียนนั้นไม่อร่อย
ผู้ดำเนินรายการ: ทะเลาะกันตายก็เพราะอย่างนี้ 2.41
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่ประสบการณ์ เช่นเดียวกับประสบการณ์ในการที่จะถ่ายทำรายการสักรายการหนึ่ง ถ้าเอาช่างเทคนิคมากันสักห้าคนจากที่ต่างๆ กว่าจะได้ถ่ายเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ เพราะต่างก็มีประสบการณ์ของฉัน ประสบการณ์ของฉัน ฉันเคยทำมาเป็นอย่างนี้ๆ แต่เสร็จแล้วประสบการณ์นั้นมีตัวตนไหม ไม่มีตัวตน แต่ประสบการณ์นี้ก็เกิดจากการที่เคยทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำซาก ทำแล้วทำอีก จนกระทั่งเคยชิน เช่นเดียวกับความรู้เมื่อรู้แล้วก็เรียนอีก เรียนแล้วเรียนเล่าซ้ำซาก รสนิยมก็เคยชอบเคยพออย่างนี้ชอบแล้วชอบอีกจนกระทั่งจนสรุปว่า นี่แหละรสนิยมของฉัน ประสบการณ์ของฉัน ความรู้ของฉัน หรือ ความเคยชินของฉัน หรือการอบรมสิ่งแวดล้อมที่เคยทำมาแต่เล็กๆ ฉันอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ ฉันอยู่ในวัฒนธรรมอย่างนี้ ฉันคุ้นเคยมาอย่างนี้เรื่อยมาเลยตลอด เพราะฉะนั้นมีไหมสิ่งที่ยกตัวอย่างมา มีตัวตนไหม มันไม่มีตัวตนให้เห็น แต่เราสำคัญมั่นหมาย สำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นตัวเป็นตน แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้มีตัวตน เพราะฉะนั้นอันนี้จึงต้องฝากไว้ให้คิด ฝากให้คิด ฝากให้ใคร่ครวญดูว่า ว่าใครคนใดคนหนึ่งพูดออกมาว่า ฉันว่าอย่างนี้ ฉันเห็นอย่างนี้ ฉันเชื่อว่าอย่างนี้ต้องถูก นี่แหละความรู้ของฉันบอกว่าอย่างนี้ ฉัน ของฉัน มันคืออะไร นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะใคร่ครวญดู ฉัน ของฉัน มันคืออะไร มันอยู่ที่ไหน มันมีรูปร่างหน้าตาไหม มีความจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีตัวตนจริงๆ แล้วมันมาได้อย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เราจะใคร่ครวญดู ถ้าเราไม่ใคร่ครวญดูอันนี้ เราจะมองไม่เห็น เราจะไม่รู้ว่าทำไมความเห็นแก่ตัวถึงเกิดขึ้นมาได้ พูดได้อย่างไรว่ามีความเห็นแก่ตัว นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากจะขอฝากนะคะ ให้ลองคิดดู สำหรับที่เรา จะได้มาพูดกันต่อไปในคราวหน้า แล้วถ้าหากว่าผู้ใดมีคำถาม หรือมีตัวอย่างที่จะมาชี้ให้เราเห็น หรือลองใคร่ครวญกันดูว่า อย่างนี้เกี่ยวกับเรื่องของตัวตน เรื่องของความเห็นแก่ตน ความเห็นแก่ตัวอย่างไรบ้าง ก็คงจะยิ่งสนุกและก็จะยิ่งเห็นชัดยิ่งขึ้นนะคะ สำหรับวันนี้ก็ธรรมสวัสดีก่อนนะคะ