แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของธรรมมาตา ที่พูดเรื่องธรรมมาตา ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่ใช่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับธรรมมาตาโดยตรง แต่ก็เป็นเสมือนโครงการนำร่องที่จะนำไปสู่ธรรมมาตา ฉะนั้นก็อยากจะขอย้อนพูด เพื่อที่จะเป็นการทบทวนว่าธรรมมาตาที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านได้กรุณาให้สถานที่และก็ให้มีเรื่องของโครงการธรรมมาตาขึ้นมานี่ เพื่อประโยชน์อะไร และก็มีจุดมุ่งหมายอย่างไร เพราะฉะนั้น แม้ว่าเราจะอยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม แต่ทว่าก็คงจะสังเกตว่า การดำเนินงานของเราในลักษณะของโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามนี้ เรามีความเข้มข้นทั้งในสาระเนื้อเรื่อง คือเนื้อเรื่องของธรรมะและก็ทั้งในการฝึกปฏิบัติ เพื่ออะไร ก็เพื่อว่าเป็นการเตรียมตัวไว้เสมือนว่า เราจะก้าวต่อไปสู่โครงการของธรรมมาตาในอนาคต และก็ทุกคนที่ได้มาเข้าในโครงการนี้ คือโครงการฝึกอบรมตน ก็จะได้พยายามมองดูตัวเอง สำรวจตัวเราเองด้วยว่า ตัวเรานั้นมีความพร้อมในการที่จะก้าวต่อไปหลังจากจบโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามแล้ว ก้าวต่อไปสู่ความเป็นธรรมมาตา จะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะทบทวนกันถึงเรื่องของโครงการธรรมมาตาที่เป็นโครงการหลัก และก็เป็นโครงการที่เป็นจุดประสงค์ของธรรมาศรมธรรมมาตาเสียก่อน เพื่อที่จะได้เป็นข้อคิดนะคะว่า เราสนใจที่จะเข้าสู่โครงการธรรมมาตาในอนาคตได้มากเพียงใด
ก็จะต้องขออ่านว่าที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านได้พูดถึงโครงการธรรมมาตา ท่านบอกว่า สำหรับโครงการธรรมมาตาที่ท่านได้อุตส่าห์สละเนื้อที่และสละความคิด เพื่อที่จะพิจารณามองหาลู่ทางตลอดจนนึกว่าควรจะต้องมีจุดประสงค์อย่างไรนั้น ให้เป็นที่ชัดเจน ท่านก็พูดว่าเพื่อว่าในหลักปฏิบัติของอาศรมธรรมมาตานั้น จะต้องให้มีปริยัติสูงสุด มีปฏิบัติสูงสุด และก็มีปฏิเวธสูงสุด ปริยัติสูงสุดก็คงทราบแล้วว่าเราจะต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงนำมาสอนแก่มวลมนุษย์นั้น มีอะไรบ้าง ตั้งแต่เบื้องต้นไปสู่ธรรมะเบื้องกลาง จนสู่ธรรมะเบื้องสูง เบื้องสูงที่เรียกว่าปรมัตถธรรม คือธรรมะอันเป็นสัจจะ อันเป็นความจริงขั้นสูงสุด หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธรรมะอันนี้เมื่อพระองค์ตรัสอย่างใดแล้วจะคงเป็นอยู่เช่นนั้น เช่นเรื่องอะไร ก็เช่นเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ถือว่าเป็นสัจธรรมของธรรมชาติ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นทุกขณะ ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจของชีวิต เพียงแต่ว่าจะรู้จักคิด รู้จักมอง รู้จักดูหรือไม่ ถ้าหากว่าสามารถที่จะเห็นเรื่องของความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนเมื่อใด ก็จะค่อยๆ มองเห็น “ทุกขัง"”คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้ ความดำรงอยู่ไม่ได้ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และก็ค่อยๆ เสื่อมไป สลายไป จนผลที่สุดมันก็กลับไปสู่ธรรมชาติ และนี่ก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นเนื้อเป็นตัว หรือเป็นตัวตนให้จับต้องได้ ไม่มี หมดแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ก็จะมองเห็นกันตรงนี้แหละว่า จริงๆ แล้วเป็นความเขลา ไปยึดมั่น แต่จริงๆ แล้วมันหามีอะไรไม่ มันไม่มีอะไรให้ยึดมั่นจริงๆ เลยสักอย่าง นี่เราก็เรียกว่าเรื่องของไตรลักษณ์นั้นเป็นปรมัตถธรรม คือเป็นธรรมะขั้นสูงสุด ทำไมถึงว่าขั้นสูงสุด ก็เพราะเหตุว่า เป็นธรรมะที่อ่านแล้วอาจจะเข้าใจง่าย แต่เมื่อจะพิจารณาเพื่อให้เข้าถึงให้ลึกซึ้งยากมาก ยากมากจริงๆ เหมือนอย่างที่เชื่อว่าหลายคนคงจะได้ทดลองแล้ว ใช่ไหมคะ แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจจะบอกว่าฉันประจักษ์ใจแล้วในเรื่องของไตรลักษณ์ คือเรื่องของความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เรื่องของความตั้งอยู่ไม่ได้ แล้วก็เรื่องของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ประจักษ์ชัดเจนใจ ไม่มีใครตอบหรือไม่มีใครกล้าตอบได้เพราะมันยากอย่างนี้ หรือเรื่องของอริยสัจสี่ ซึ่งพูดถึงความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
เรื่องแรกก็คือเรื่องของความทุกข์ ลักษณะอาการของความทุกข์เป็นอย่างไร ก็พูดกันแต่ทุกข์ๆ กันอยู่ตลอด แต่ไม่รู้ว่ามีสักกี่คนที่ได้ใส่ใจ สอดส่องเข้าไปดูเพื่อให้รู้ถึงเรื่องลักษณะอาการของความทุกข์ และก็ต้นเหตุที่มันทำให้เกิดความทุกข์ มันคืออะไร เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ มนุษย์มีความทุกข์มันคืออะไร นั่นท่านก็บอกว่าสมุทัยของความทุกข์ ก็คือความอยากหรือตัณหา อยากเมื่อไหร่ทุกข์เมื่อนั้น นี่พูดอย่างสั้นที่สุดนะคะ หยุดอยากเมื่อไหร่ ทุกข์ก็หมดเมื่อนั้น ทุกข์ก็ดับเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามพิจารณาใคร่ครวญฝึกปฏิบัติไปจนกระทั่งถึงนิโรธ นิโรธคือความดับซึ่งความทุกข์ จะต้องทำให้แจ้งในเรื่องนี้ และในตอนสุดท้าย นั่นก็คือทางที่จะดำเนินให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ หรือถึงนิโรธ นั่นก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาว ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ และท่านก็บอกว่า นี่แหละเป็นหนทางอันประเสริฐ เป็นทางสายเดี่ยวสายเดียว
ทำไมถึงพูดว่าสายเดี่ยวสายเดียว ก็เพราะว่าต้องเดินคนเดียว จะเกี่ยวก้อยชวนใครเดินไปด้วยไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะเป็นคนที่รักมากน้อยเพียงใดก็ตาม จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นสามีเป็นภรรยา ถึงเวลาแล้วต้องต่างคนต่างไป คำว่าต่างคนต่างไป ก็ถ้ามีทิศทางอันเดียวกัน คือเดินไปตามหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ผลที่สุดก็จะต้องถึงซึ่งความเป็นวิมุติ คือความบริสุทธิ์อันหมดจดสิ้นเชิงได้ อย่างนี้แหละที่เราเรียกว่าเป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้นที่ท่านอาจารย์ท่านกล่าวว่าจะต้องให้มีปริยัติสูงสุด ก็เรียนตั้งแต่ธรรมะเบื้องต้น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่เรียนในระดับเบื้องต้น แล้วก็ค่อยๆ เขยิบความเมตตากรุณาที่ธรรมดาๆ เมตตากับเพื่อนฝูง กับพี่น้อง กับคนรู้จัก ขยับไปให้ความเมตตาแก่คนที่ไม่เคยรู้จักเลย คนแปลกหน้าไม่เคยเห็น แต่ทว่ามันมีอยู่ในใจ พอเห็นเขาไม่มีความสุข อยากให้เขาได้มีความสุข เห็นเขามีความทุกข์ อยากให้เขาพ้นทุกข์ นั่นก็เข้าถึงซึ่งความกรุณา เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ขยายไปขยายไป ที่ท่านบอกว่ามันจะเป็นอัปปมัญญา อัปปมัญญาก็คือไม่มีขอบเขต ไม่ว่าใครทั้งนั้น มีความเห็นอกเห็นใจอยากจะช่วยเหลือ นั่นแหละคือไม่มีขอบเขต ไม่จำเป็นว่าเป็นคนรู้จักหรือไม่ เป็นญาติพี่น้องหรือไม่ เป็นเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกับเราหรือไม่ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเพื่อนมนุษย์แล้ว อยากจะช่วยเหลือให้ได้มีความสุข ให้ได้พ้นจากความทุกข์ และก็ให้มีความรักใคร่ สามัคคีกลมเกลียวกัน ไม่มีการเบียดเบียนกัน
ฉะนั้นการที่จะศึกษาในเรื่องของปริยัติสูงสุดนั่นก็คือว่า เราก็ต้องเรียนรู้นะคะ เรียนจากการฟัง เรียนจากการอ่าน นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ และก็ไม่ใช่เรียนเฉยๆ ต้องเรียนอย่างชนิดจดจ่อ เอาจริงเอาจัง จนมีความเข้าใจในธรรมะข้อนั้นๆ หลักธรรมนั้นๆ อย่างละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ เพียงแต่รู้ชื่อ ไม่พอ เราต้องมีความเข้าใจ จนกระทั่งมันแจ่มแจ้งอยู่ในสมอง นึกได้ รู้ได้ เหมือนกับเป็นแผนที่อยู่ในใจของเรา แล้วเราก็จึงจะนำสิ่งที่รู้แล้ว เข้าใจแล้วอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เอามาฝึกทดลองปฏิบัติที่ใจหรือที่จิตด้วยการดู ตอนแรกนั้นเราฟัง แล้วเราก็คิด แล้วเราก็พิจารณาของเราโดยใช้สมองคิดหาเหตุหาผล ตามที่มีมันสมองที่เรียกว่าเฉลียวฉลาดพอจะรู้จักเข้าใจได้ แต่ทีนี้พอรู้แล้ว เหมือนกับเรามีแผนที่อยู่ในสมองพร้อมแล้ว ก็นำเอาเรื่องนั้น เช่น เรื่องของไตรลักษณ์ อธิบายได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เราก็นำเอาเรื่องของไตรลักษณ์เข้าสู่จิต หรือเรื่องของอริยสัจสี่ รู้แล้วว่าเรื่องของความทุกข์ ไม่ใช่พูดแต่ทุกข์ๆ ต้องรู้จักว่ามันมีลักษณะอาการอย่างไร สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นคว้า แสวงหาในครั้งแรกก็คือเรื่องของอริยสัจสี่ คือเรื่องของความทุกข์นี่แหละ พระองค์ก็ทรงรู้ทุกข์ แต่ว่าไม่ทรงรู้ว่ามันคืออย่างไร มันมีลักษณะอาการอย่างไร ก็ทรงค้นคว้าไป ตอนที่ท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะคะ จนกระทั่งวันหนึ่งท่านก็แจ่มแจ้งว่า เรื่องของความทุกข์นะ เราต้องดูที่ลักษณะอาการของมัน ดูที่ตรงไหน ก็ดูที่มันเกิดขึ้นในใจ พอมันเกิดขึ้นในใจ มันมีลักษณะอาการอย่างไรในใจ มันทำให้ใจเกิดความวุ่นวาย ระส่ำระส่าย อึดอัด อาจจะถึงหงุดหงิด ขัดเคือง กังวล พูดง่ายๆ ก็เป็นจิตที่วุ่น สับสน ไม่มีความว่างเลย ไม่มีความนิ่ง ไม่มีความสงบ ไม่มีความเย็น อย่างที่เรียกว่าความสบายไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นมาในลักษณะนี้เมื่อใด นั่นแหละความทุกข์กำลังย่างกรายเข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องศึกษาลักษณะอาการของความทุกข์ให้ชัดเจน เมื่อรู้จักชัดเจนว่านี่นะความทุกข์กำลังเข้ามาเยี่ยมกรายแล้ว ก็ต้องดูต่อไป จนกระทั่งรู้ว่าลักษณะอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ มีอะไรเป็นเหตุ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คืออะไร นี่เป็นลักษณะสำคัญในพระพุทธศาสนา เมื่อเกิดอะไรขึ้นต้องหาเหตุเสมอ ถ้าไม่หาเหตุ ก็จะไม่รู้วิธีแก้ คือไม่รู้ว่ากำลังเป็นอะไร แต่ถ้าเห็นเหตุ ก็จะได้แก้ที่เหตุ จัดการเหตุที่มันทำให้เกิดความทุกข์ แก้ไขให้ถูกต้อง ความทุกข์ก็จะได้คลาย
เพราะฉะนั้นท่านก็พูดถึงข้อที่สองต่อไปว่าเป็นสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์นั่นก็คือว่าเกิดความรู้สึกในความอยาก เมื่อตัณหาความอยากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เมื่อนั่นแหละทุกข์ จริงหรือไม่จริงก็พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง พุทธศาสนาเป็นศาสนาเหตุและผล เป็นศาสนาที่ท้าทายทุกคน ที่บอกว่าไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ไม่เป็นไร ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไรแต่คนฉลาดจะพิสูจน์เสียก่อน พิสูจน์ด้วยการนำมาทดลองปฏิบัติที่ใจ จนกระทั่งมองเห็นมองเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ท่านบอกว่า ความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ จริงไหม แม้แต่อยากเล็กๆ น้อยๆ อยากกิน อยากนอน อยากเล่น อยากเที่ยว แล้วก็ไปจนกระทั่งถึงอยากเรื่องใหญ่ๆ เช่น อยากได้ตำแหน่งการงาน อยากได้เลื่อนตำแหน่ง อยากได้เป็นหัวหน้า อยากมีเก้าอี้ใหญ่ๆ ใหญ่เท่าไหร่ก็ร้อนมากเท่านั้น หรือแม้แต่อยากจะนั่งสมาธิภาวนาซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่พออยากเข้ามาเท่านั้นแหละ จิตมันร้อนรน นั่งไม่ได้แล้ว ไม่สงบแล้ว เพราะฉะนั้นความอยากโผล่หน้าเมื่อไหร่ ให้รู้เถิดว่า มันนำความทุกข์ มันนำปัญหามาพร้อมกับตัวมัน คือพร้อมกับอาการของความอยากที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจงระมัดระวังในเรื่องของความอยาก นี่พูดอย่างสั้นๆ นั่นก็คือ "ดู" นะคะ
เรากำลังพูดถึงการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติด้วยการดู ตอนปริยัติเราคงคิด เราฟังแล้วเราก็เอามาคิด แล้วเราก็ทำความเข้าใจ จนกระทั่งเราแจ่มแจ้งในความหมายในเรื่องราวนั้นๆ พอเราเข้าใจแจ่มแจ้งในความหมายเรื่องราว เหมือนกับเรามีแผนที่ หลับตานี่แผนที่อยู่ในสมองเรา รู้หมดแล้วว่ามันจะเริ่มต้นที่ไหน เดินทางไปไหน และจุดจบของมันอยู่ที่ตรงไหน เรียกว่าแจ่มแจ้ง ทีนี้เราก็ "วาง" วางแผนที่นั้น ไม่ต้องแบกนะคะ เอาแต่ความซึมซาบ ซึมซาบในความเข้าใจอันนั้น ดึงความซึมซาบนั้นเข้ามาสู่จิตของตนเองให้เข้ามาสู่ที่ใจ แล้วก็เอาจิตนี่สอดส่องดู ดูลงไป ดูลักษณะอาการของความทุกข์ ว่าเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น จิตใจเป็นอย่างไร สบายไหม เย็นไหม นิ่งไหม ว่างไหม หรือว่า มันร้อนรน มันดิ้นรน มันสบสน มันวุ่นวายไปหมด มันจับต้นชนปลายไม่ติด และบางทีมันถึงกลับมืดมน เหมือนกับมองอะไรไม่เห็นทั้งๆ ที่ตา สายตาก็ยังดี พระอาทิตย์ก็ส่องแสงแจ่มใส่ แต่ว่ามันไม่ไหวเสียแล้ว นี่แหละ ก็เพราะว่าไม่รู้ปริยัติที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่นำมาปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือ นำมาดูอย่างที่ว่าแล้ว เพราะฉะนั้นในการที่จะมีปฏิบัติสูงสุด ก็ดู ดูตั้งแต่เรื่องธรมมะขั้นพื้นฐานธรรมดาๆ ไป จนกระทั่งถึงธรรมะสูงสุด ในลักษณะของปรมัตถธรรม พอดูไปจนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้งพร้อมๆ กับซึมซาบอย่างลึกซึ้งที่ในใจโดยไม่มีใครบอก ไม่ต้องนึกไม่ต้องคิดเลย มันแจ่มแจ้งขึ้นมาในใจ อย่างที่เขาว่ามันโผล่ผลัวะออกมา มันผลัวะออกมา ไม่เคยนึกเลยว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่มันชัดขึ้นมาจริงๆ นี่นะ อยากเมื่อใดทุกข์เมื่อนั้น บอกตัวเองได้ด้วยการพูด แม้ว่า คำว่า "อยากเมื่อใด ทุกข์เมื่อนั้น" อาจจะได้ยินมาบ่อยๆ แต่เราก็พูดออกมาอย่างชนิดจะแจ้งไม่ได้ แต่พอวันหนึ่งมันโพลงแจ้งขึ้นมาในใจ มันพูดได้ชัดเลย คำที่ได้ยินมานี่ไม่มีความหมาย ความหมายหรือคุณค่าอยู่ตรงที่ใจมันได้สัมผัสจริงๆ นี่แหละ ในการปฏิบัติจึงต้องใช้วิธีดู ดูสอดส่องลงไป จิตดูลงไปในจิต จนแจ่มแจ้งมากขึ้นๆๆ ชัดเจนแจ่มใส แล้วผู้นั้นก็จะได้ลิ้มรสของปฏิเวธ คือลิ้มรสของความชุ่มชื่น เบิกบาน แจ่มใส อิ่มเอิบอย่างบอกไม่ถูก อันเนื่องจากการที่ได้สัมผัสด้วยใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่าที่อาศรมธรรมมาตานี่ ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของโครงการธรรมมาตา จะต้องตั้งใจเสียสละชีวิตอุทิศเวลาของตน เพื่อที่จะศึกษาเรียนรู้ธรรมะให้สูงสุดที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ แล้วก็นำธรรมะที่ได้เรียนรู้นั้น มาฝึกปฏิบัติที่ใจทีละน้อยๆ จนกระทั่งลึกซึ้งมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น แจ่มกระจ่างมากขึ้น จนถึงที่สุดหมดสงสัย ไม่มีความสงสัยอะไรเกิดขึ้นแล้ว อะไรมาก็มองเห็น มันเช่นนั้นเองๆ มัน “ตถตา” ตถตาตามอะไร ก็ตถตาตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือหลักของชีวิต ไม่มีอะไรที่จะพ้นจากอนิจจัง คือที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มี มีแต่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่จะไม่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงแล้วก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ค่อยๆ สลายไป เสื่อมไป สิ้นไป แล้วก็แสดงให้เห็นชัดเลยว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนคือเป็นอนัตตา ก็เลยอุทานออกมาได้ว่า มันเช่นนั้นเอง มันตถตา มองดูทั่วโลก ให้กว้าง แล้วก็มองให้แคบเข้ามาอีก ในหมู่วงสังคมที่รู้จัก ในครอบครัว แล้วก็ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา จริงนะ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง ประเดี๋ยวก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เดี๋ยวก็สลายไป ประเดี๋ยวก็มาใหม่ แล้วก็ตั้งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วก็ค่อยๆ สลายไป เพราะฉะนั้นก็อุทานออกมาได้ว่า ชีวิตมันก็เช่นนั้นเอง มันมีอยู่แค่นี้ หรือใครว่ามีมากกว่านี้ นึกดู หรือใครว่ามีมากกว่านี้ มันมีอยู่แค่นี้เอง ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย
นี่ก็คือ สำหรับที่จะต้องพยายามศึกษาเล่าเรียนให้ได้ปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด แล้วก็ปฏิเวธสูงสุด มิได้หมายความว่า ท่านจะหวังว่า ผู้ที่เข้ามาในโครงการธรรมมาตาแล้ว จะต้องสู่ความสูงสุดทั้งสามประการได้ครบถ้วนทุกคน ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่นี่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เป็นเป้าหมายสูงสุดว่าจะพยายามไปให้ถึงที่สุดอย่างนี้ ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วก็จะได้มีปฏิเวธสูงสุด แต่ส่วนจะไปได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับความพากเพียรปฏิบัติ อุตสาหะพยายามเสียสละของแต่ละคนว่าจะยอมสละชีวิตนั้นเข้ามาเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดได้เพียงใด อันนี้ก็ไม่สามารถที่จะไปจัดแจง หรือบงการหรือบอกแก่ใครว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ แต่เพียงบอกให้รู้ว่า นี่นะคือเป้าหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ ก็คือการประพฤติที่ประเสริฐที่สุด คือการดำรงชีวิตอย่างประเสริฐที่สุด ทำไมถึงประเสริฐที่สุด ก็เพราะเหตุว่า การประพฤติพรหมจรรย์อย่างประเสริฐก็เป็นการประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่สิ้นสุดความอยาก สิ้นสุดความต้องการ อยู่เหนือความสงสัย ความเป็นไปของชีวิต มองเห็นแล้วชีวิตไม่มีอะไรมากกว่านี้ มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ชีวิตมันเป็นเช่นนั้นเองอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ารู้ว่าการประพฤติพรหมจรรย์คือแบบอย่างของชีวิตอันประเสริฐ นั่นก็คือชีวิตของผู้ที่มีความสงบอย่างยิ่ง มีความนิ่ง ความเย็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่มีความพออย่างยิ่ง คือความอยากความต้องการในสิ่งใดไม่ปรากฎ มีแต่เพียงการกระทำตามหน้าที่ของมนุษย์เท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่ หน้าที่ของมนุษย์คืออะไร ก็แล้วแต่ว่ามนุษย์ผู้นั้นหรือบุคคลผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งของหน้าที่อะไร เช่น หน้าที่ของการเป็นลูก หรือหน้าที่ของการเป็นเพื่อน หรือหน้าที่ของการเป็นสามี เป็นภรรยา เป็นพ่อ เป็นแม่ หรือว่าเป็นหัวหน้าในการปกครองการทำงาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำหน้าที่อันนั้นให้ถูกต้องที่สุด ให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์ที่สุด เมื่อเกิดประโยชน์ที่สุดแล้วก็วาง คือวางงานอันนั้นได้แต่ละอย่างๆ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว โดยไม่ไปยึดมั่นถือมั่น หรือต้องการประกาศว่านี่คืองานของฉัน เพียงแต่ต้องการจะทำ จะอยู่หน้าฉาก จะอยู่หลังฉาก ไม่สนใจ ไม่มีความสำคัญเลย เพราะความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า สามารถทำงานนั้นให้สำเร็จ ลุล่วง ตามโครงการ ตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้
เพราะฉะนั้นการประพฤติหรือการมีชีวิตแบบอย่างอันประเสริฐของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือการที่สามารถกระทำเป็นตัวอย่างให้แก่บุคคลทั้งหลายได้เห็นว่าชีวิตที่จะอยู่เหนือความทุกข์ได้ จะมีความสุขสงบเย็นอยู่ตลอดไป มันจะต้องพยายามที่จะฝึกอบรมที่ใจให้เป็นผู้ที่ลดละความอยาก หรือตัณหาให้สิ้นไปได้ทีละน้อย ๆๆ จนหมดสิ้นความรู้สึกที่จะเอา แต่จะเปลี่ยนเป็นการให้ ชีวิตของผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ที่แท้จริงและอย่างถึงที่สุด จะเป็นชีวิตของผู้ให้ ไม่ใช่ชีวิตของผู้เอา เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นชีวิตของผู้ให้ บุคคลผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุขสงบเย็น นึกออกใช่ไหมคะ เมื่อใดที่เรานึกอยากจะให้อะไรใครเท่านั้น ให้ทาน ให้เงิน ให้ของ ให้โอกาสแก่เพื่อนมนุษย์ ให้เขาได้มีโอกาสศึกษา ได้มีโอกาสเล่าเรียน ได้มีโอกาสทำงาน ได้มีโอกาสรักษาตัว ได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ตามลำดับ พอให้เท่านั้นแหละ มันเป็นสุข มันเย็น มันอิ่มเอิบ มันเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก เพราะฉะนั้น ชีวิตของผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์จึงเป็นชีวิตที่สงบเย็น นิ่ง เป็นชีวิตของผู้ที่มีแต่ความแจ่มใส เบิกบาน อิ่มเอิบ เพราะเป็นชีวิตของผู้ที่พร้อมจะให้ และเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตอย่างนี้ ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่มีการเบียดเบียนตนเอง เมื่อไม่มีการเบียดเบียนตนเอง ก็ไม่รู้ว่าจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้อย่างไร เพราะผู้ที่รักที่สุดนี่ก็คือตัวเอง ใช่ไหมคะ ไม่มีใครจะรักอย่างอื่นหรือบุคคลอื่นมากกว่าตัวเอง แต่เมื่อใดประพฤติธรรมมาจนถึงจุดที่รู้แล้วว่า ไม่มีอะไรเหลือในชีวิตนี้ มันนอกจากการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ความที่อยากจะเอามันก็หมด มันก็พร้อมที่จะให้ เพราะฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็หวังว่า เมื่อได้มีการปริยัติสูงสุด ศึกษาเล่าเรียนอย่างแจ่มแจ้งจนถึงที่สุด ปฏิบัติอย่างแจ่มแจ้งจนถึงที่สุด และก็ได้รับรสของการปฏิบัตินั้น ที่เรียกว่าปฏิเวธ ชุ่มชื่น เบิกบาน อิ่มเอิบ ผ่องใส อยู่เป็นนิจแล้ว ผู้นั้นก็เหมือนกับว่า ในชีวิตนี้งานที่จะต้องทำเพื่อความเป็นผู้ประเสริฐจบแล้ว จบแล้ว เมื่อจบแล้ว หน้าที่ต่อไปนี้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็คือทำหน้าที่เป็นผู้ให้ อย่างที่บางคนคงจะเคยได้ยิน ที่ท่านบอกว่าทำหน้าที่แจกของส่องตะเกียง เคยเห็นใช่ไหมคะ บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องของเซน จะเป็นเรื่องของใครไม่แปลก แต่มันเป็นการแสดงถึงว่า นี่คือชีวิตของผู้ที่พร้อมบริบูรณ์ ไม่ใช่พร้อมบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทองหรือข้าทาสบริวารหรืออำนาจอะไรต่างๆ แต่พร้อมบริบูรณ์ด้วยความอิ่มความพอ เพราะรู้แล้วว่าจะมีอะไร จะได้อะไร จะต้องการอะไรไปแย่งชิงเบียดเบียน ได้มาก็เท่านั้นเอง ไม่สามารถจะรักษาอะไรไว้ได้ เพราะกฎธรรมชาติบอกแล้วว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความเปลี่ยนแปลง มีความดำรงอยู่ไม่ได้ มีการแสดงให้เห็นชัดว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงที่สุดนี่ก็เหลือแต่หน้าที่ที่จะทำ ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเอง แก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม แก่โลก คำว่า แก่ตนเอง ก็หมายความว่า ไม่ได้หวังอะไรหรอก ตนเองหรือตัวเองไม่ได้หวังอะไร แต่เมื่อทำประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ ทำประโยชน์แก่สังคม ทำประโยชน์แก่การงาน พอทำได้เท่านั้น จิตมันก็เป็นสุขแล้ว ใช่ไหมคะ มันพอใจ ไม่ต้องมีใครมาชม ไม่ต้องมีใครมาให้รางวัล ไม่ต้องมีใครนำเอาไปประกาศอะไรต่ออะไร พอใจ อิ่มเอิบ เป็นสุขอยู่แค่นี้แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นชีวิตแบบอย่างที่ใครๆ ก็น่าจะทำต่อไป คือน่าจะทำตาม เพราะฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็มีความรู้สึกว่า เอาละ เมื่อให้โอกาสจัดสถานที่ไว้ให้เป็นอาศรมธรรมมาตา แล้วก็ให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนธรรมปฏิบัติธรรมจนได้ลิ้มรส ลิ้มรสของพระธรรมแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นหน้าที่ใช่ไหมคะที่จะแบ่งปันแก่ผู้อื่น ท่านถึงบอกว่า สมาชิกของธรรมาศรมธรรมมาตานั้น ตั้งใจที่จะให้เป็นผู้เผยแผ่พระศาสนาต่อไปข้างหน้าในลักษณะของธรรมทูตหญิง ก็คงจะได้ยินชื่อ ได้ยินคำว่าทูตในทางโลก กระทรวงการต่างประเทศก็มีทูต ประเทศไทยเราก็มีทูตไปประจำอยู่ประเทศต่างๆ ในโลก นั่นก็เพื่อไปสื่อสัมพันธไมตรีให้ประเทศของเรา ประเทศไทยมีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศอื่นๆ เพื่อนำความเจริญ ความสัมพันธ์ ความก้าวหน้า ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจ ทั้งในทางการเมือง และทั้งในทางด้านอื่นๆ ด้วย แต่ทว่าธรรมทูตนั้น ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้ว เป็นทูตในทางธรรมคือจะนำในเรื่องของสิ่งที่เป็นธรรมก็คือคุณธรรมความดี ความดีอันดีงามที่จะไปสู่เพื่อนมนุษย์ นั่นคือจะสอนหรือจะบอกกล่าวให้รู้ทั่วกันว่า ชีวิตเราจริงๆ ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรมากกว่านี้ มันมีแต่เพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์ คือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะได้อะไรมาเท่าใด ตามหลักของโลกธรรม ๘ ได้ลาภ ได้ยศได้สรรเสริญ ได้สุข มันก็หาอยู่คงที่ไม่ ประเดี๋ยวมันก็เสื่อมลาภ ประเดี๋ยวก็เสื่อมยศ ประเดี๋ยวก็นินทา ประเดี๋ยวก็เป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ เราได้สัมผัส เราได้พบมาด้วยกันทุกคน นี่แหละเห็นอยู่กับใจแล้ว แต่เผอิญ ใจที่ยังไม่ฉลาดพอ มันเป็นใจที่เขลา ไม่ฉลาด หรือพูดตรงๆ คือมันโง่ มันพอใจที่จะสนุกสนานอิ่มเอิบอยู่กับกิเลสตัณหา กิเลสตัณหา อุปาทานต่างๆ ไปพอใจอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ก้าวหน้า ก็เป็นธรรมทูตไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อฝึกอบรมตนจนปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด ก็สมควรที่จะสามารถในการทำหน้าที่เป็นธรรมทูตได้ เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ท่านก็หวังว่า ผู้ที่มาเป็นสมาชิกของธรรมาศรมธรรมมาตาในอนาคตนะคะ เมื่อธรรมมาตาได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วละก็ บุคคลเหล่านี้นี่แหละคงจะได้สามารถทำการเผยแผ่พระศาสนา พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเราใช้คำว่าพระธรรม พระธรรมนี้เป็นคำสากลมากด้วย ทุกศาสนามีธรรมะทั้งนั้น ที่พระศาสดาของแต่ละศาสนาสั่งสอนอบรมมานั่นก็คือสิ่งที่เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้คำว่าธรรมะ คำว่าธรรมะนี่เป็นคำสากล เข้าใจกันได้ และก็จะเข้าใจตรงกันได้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำว่าธรรมะมาเป็นธรรมทูต นั่นก็คือเป็นธรรมทูตของการกระทำที่เป็นคุณงามความดี จากเบื้องต้นง่ายๆ ช่วยเหลือกัน รักใคร่กันในหมู่เพื่อนฝูง หรือญาติมิตร หรือในครอบครัวหรือในสังคมใกล้ๆ ของตัวเองก็ขยายวงกว้างไป จนกระทั่งถึงความรักใคร่ที่ไม่มีขอบเขต รักใคร่เพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกว่าเป็นผู้ใด แต่เมื่อเห็นผู้ใดอยู่ในความทุกข์ก็พร้อมที่จะรักใคร่
ดูเหมือนจะได้เคยเล่าเรื่อง เล่าเรื่องให้ฟัง ซึ่งฟังแล้วมันก็จับใจ จากการอ่านหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องจริง ท่านอาจารย์ชยสาโร ท่านเคยเล่าให้ฟัง คงจะนึกออกใช่ไหมคะ เรื่องนี้เป็นเรื่องตอนหนึ่งที่ท่านเล่าเอาไว้ในเรื่องของที่ท่านเดินทางในชีวิตของท่านในตอนต้น ท่านก็อยากจะแสวงหาว่าความจริงของชีวิตมันเป็นอย่างไร โดยท่านก็ยังไม่มีครูบาอาจารย์ แต่มีความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่กับที่ ไม่อยากซ้ำซากกับของเดิม ท่านก็ขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่ท่าน ออกเดินทางจากบ้านของท่าน แล้วก็เดินทางอย่างชนิดที่ว่า ไม่มีเงินทอง ไม่มีข้าวของ ไม่มีเพื่อนฝูง ออกเดินทางตัวเปล่า ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ แล้วก็จะใช้วิธีที่เขาเรียกว่าโบก โบกรถ โบกรถไปเรื่อยๆ ใครจะรับก็ได้นั่งขึ้นไป แล้วก็ไปพบที่ไหนที่พอจะมีอาหารรับประทาน มีเงินติดตัวบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็จะรับประทานตามมีตามได้ ท่านก็เดินทางของท่านไปอย่างนี้ เรื่อยๆ ผ่านประเทศแล้วประเทศเล่า ก็คงจะพอนึกออกนะคะว่ารูปร่างของท่านที่ออกจากบ้านก็คงจะล่ำสันแข็งแรงพอสมควรนะคะ แต่เดินทางไปอย่างอดๆ อยากๆ แล้วก็ไม่มีใครดูแล ก็ผอมลงๆ ผอมโซ เสื้อผ้าก็สกปรกมอมแมม ผมก็ยาว หนวดเคราก็ยาว เพราะอะไรจะไปตัดผมบ่อยๆ มันก็เปลืองสตางค์ แล้วก็ไม่มีสตางค์ จะไปหาอะไรกินให้อร่อยๆ ให้มากๆ มันก็ไม่มีเงิน อย่างที่ท่านเล่าบางทีก็น่าสงสาร พอผ่านร้านอาหารที่แหมกลิ่นหอมโปรยมา จะรีบเดินให้เร็วเชียว เพื่อให้ผ่านร้านอาหารนั้น ไม่ให้ท้องร้อง ถ้ามันร้องเข้า มันก็ยิ่งหิวมาก แล้วจนกระทั่งท่านมาถึงประเทศอิหร่านซึ่งก็ไม่รู้จักใครเลยสักคน พูดภาษาอิหร่านก็ไม่เป็น และก็กำลังโซเต็มที่ โซทั้งรูปร่างหน้าตา ท้องก็กิ่ว และเสื้อผ้าก็เหม็นสกปรก ท่านก็เดินไปเรื่อยๆ ผ่านร้านอาหารก็ก้มหน้าก้มตา เดินไปอย่างที่ว่านี่ ประเดี๋ยวก็มีผู้หญิงอิหร่านเป็นผู้หญิงกลางคน สันนิษฐานก็คงจะเป็นแม่คนแล้ว เดินมาถึงตรงหน้าท่าน แล้วก็ยืนจ้องมองหน้าท่านอาจารย์ชยสาโร ตอนนั้นท่านไม่ได้บวชนะคะ ท่านเป็นเด็กหนุ่มอายุดูเหมือนจะยังไม่ถึง ๒๐ ปี แล้วผู้หญิงอิหร่านนั่นก็ร้องเสียงดังเลย ร้องอย่างตกใจ อย่างคาดไม่ถึง นี่อะไรนี่ อาจจะนึกในใจนี่คนหรือเปล่า เพราะหน้าตาไม่บอกลักษณะว่าเป็นคนเลย ทำไมไม่ถึงได้ทุเรศอะไรอย่างนั้น แล้วก็น่าสงสาร ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนเราจะมีลักษณะขนาดนี้ได้ เสร็จแล้วผู้หญิงคนนั้นก็กวักมือ ชี้มือ ทำท่าว่าให้เดินตามไป ก็ไม่รู้ภาษากัน ท่านรู้ว่าเขากวักมืออย่างนี้ ก็หมายความว่าให้เดินตาม ก็เดินตามเขาไปเรื่อยๆ ผู้หญิงคนนี้ก็เดินไป เดินไป จนไปถึงที่แห่งหนึ่งซึ่งท่านก็สันนิษฐานว่า นี่คือบ้าน บ้านของผู้หญิงผู้นั้น ผู้หญิงผู้นั้นก็กวักมือให้เข้าบ้าน พอเข้าไปในบ้านก็พาไปที่ห้องอาหารของเขา ซึ่งมองดูฐานะเขาก็ไม่ใช่ว่าร่ำรวยมั่งมีอะไรหนักหนานะคะ แต่ก็มีโต๊ะอาหาร มีอาหารวางอยู่ และก็กวักมือชี้ให้ท่านไปนั่งที่โต๊ะนั่ง และก็รับประทาน แน่นอน ไม่ต้องเชิญครั้งที่สอง ครั้งเดียวท่านก็ตรงไปนั่งรับประทานเสียอิ่มหมีพีมันเต็มที่ จากที่ไม่เคยได้รับประทานอะไรมาเป็นเวลาหลายวันก็ได้ หรือรับประทานก็นิดๆ หน่อยๆ ในขณะที่นั่งรับประทานนั้น หญิงอิหร่านผู้นั้นก็ไปเรียกผู้ชาย คงจะสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นลูกชาย อายุอานามดูเหมือนจะใกล้เคียงกับท่าน รูปร่างก็ไม่ห่างไกลกันหนัก เพราะอิหร่านก็รูปร่างสูงใหญ่ใช่ไหมคะ แล้วก็ชี้พูดอะไรกัน ท่านก็ไม่ทราบ แล้วผู้ชายหนุ่มคนนั้นก็หายไป ประเดี๋ยวก็กลับมา พร้อมกับเสื้อผ้าใหม่ชุดหนึ่ง แล้วพอท่านรับประทานอาหารเสร็จ ผู้หญิงอิหร่านก็ชี้ห้องน้ำ ชี้ห้องน้ำให้ เสื้อผ้าก็เอาไปวาง เสื้อผ้าใหม่ก็ไปวางไว้ให้ในห้องน้ำ ท่านก็เข้าไปในห้องน้ำ ปิดประตูห้องน้ำ ส่องกระจกดูหน้าตัวเอง ไม่เชื่อนี่คือเรา ตอนที่ออกจากบ้านเราไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย นี่หน้าตามันดูไม่ได้ จะว่าเปรตมันก็ไม่เชิงนะ แต่ว่า มันน่าเกลียดน่ากลัว แล้วมันน่าเวทนาสงสารเหลือเกิน หนวดเคราก็ยาว มอม สกปรก แหม ท่านก็รู้สึกมีความสุขมาก จัดแจงโกนหนวดโกนเครา อาบน้ำอาบท่า คงไม่ได้อาบมาไม่ทราบว่าเป็นเวลากี่วันกี่เดือนนะ จนกระทั่งรู้สึกสดชื่นแจ่มใส ตัวเนื้อเบาไปหมด ท้องก็อิ่มหนำสำราญ อาบน้ำอาบท่า โกนหนวดโกนเครา ก็เบาสบายขั้น ก็สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ พอสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ออกมาเสร็จ หญิงอิหร่านผู้นั้นก็กวักมืออีก กวักมือแล้วก็เดินออกจากบ้าน ท่านก็เดินตามไปไม่รู้ไปไหน แต่หญิงอิหร่านก็เดินดุ่มๆๆ ไป ก็ไปถึงจุดที่ได้พบกันทีแรกที่หญิงอิหร่านพบท่านในครั้งแรก พอถึงจุดนั้นหญิงอิหร่านก็หันกลับ เดินลิบลับไปเลย ไม่หันมาดูเลย ท่านก็คงจะมองด้วยความประหลาดใจ แล้วก็มองตาม นี่ยังไง เขาพาเรามาตรงนี้แล้วเขาก็หายไปเลย แล้วไม่พูดอะไรสักคำนะ ไปเลย ท่านก็ได้แต่มองตามด้วยความซาบซึ้งในความกรุณาของเขา ความเมตตาของเขา ให้ทั้งอาหาร ให้ได้ไปนั่งพักสบายๆ ให้อาบน้ำ ให้กินข้าว เรียกว่าจากนรกเหมือนกับได้ไปอยู่สวรรค์ในขณะนั้น นี่เขาก็จากไปแล้ว ท่านก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเขานี่เป็นแม่ของเราคนหนึ่ง แล้วก็มาสันนิษฐานว่าทำไมผู้หญิงอิหร่านถึงพาไปตรงจุดนั้น เดาได้ไหมคะ ก็เพราะว่าพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นหญิงอิหร่านก็อาจจะคิดว่า ตรงจุดนั้นคงเป็นจุดที่ท่านรู้ว่าตรงนี้อยู่ตรงไหนและก็จะไปอย่างไรต่อไป คงไม่หลง ทีนี้จะพาไปไหน ท่านก็คงพาไม่ถูก ก็เอาไปปล่อยไว้ตรงที่เดิมและก็จากกันไป
ท่านก็รำลึกถึงผู้หญิงอิหร่านนี่เสมอ รำลึกถึงในความเมตตากรุณา ไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยพบกัน พูดกันก็ไม่รู้เรื่องสักคำ แต่ทำไมเขาถึงมีความเมตตากรุณาต่อเราอย่างนี้ นึกออกไหมคะ ที่เราพูดมาเมื่อกี้นี้ นี่แหละที่ท่านเรียกว่าเป็นความเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา คือไม่มีขอบเขต ไม่เคยรู้ นี่เป็นฝรั่งมังค่ามาจากไหน คนละชาติ คนละภาษา แต่ว่าช่วยเหลือเต็มที่เลย นี่ก็เพราะว่า เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์ นี่ไม่ได้คิดอย่างอื่น ใช่ไหมคะ คิดว่านี่คือเพื่อนมนุษย์ เพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังตกทุกข์ได้ยากเหลือประมาณ เราก็น่าจะช่วย เพราะฉะนั้นก็ช่วยอย่างเต็มที่เท่าที่เขาสามารถจะทำได้ บางคนก็อาจจะถาม ทำไมไม่ทำอะไรมากกว่านั้นละ ทำไมมาทำแค่นี้เอง ทำไมไม่ให้เงินให้ทอง แล้วก็พาไปส่งที่ไหนจนถึงที่และถามว่าเขาจะไปไหน นี่แหละ ในความรู้สึกส่วนตัวนะคะ เมื่ออ่านหนังสืออันนี้ ก็มาพิจารณาดู ผู้หญิงอิหร่านคนนี้ไม่ใช่ชาวพุทธ เขาไม่ได้รู้ธรรมะในพุทธศาสนา แต่เขารู้จักขอบเขตหรือขีดความสามารถของตัวเอง สิ่งใดที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เช่น อย่างที่เขาทำได้ทำมาแล้วพาไปบ้าน ให้กินข้าวกินปลา ให้อาบน้ำอาบท่า หาเสื้อผ้าใหม่ให้ใส่ นี่อยู่ในวิสัยที่เขาทำได้ แต่ถ้ามากกว่านี้เขาคงทำไม่ได้ ฐานะเขาอาจจะไม่มีมากพอ เขาไม่มีเวลาพอที่จะมาอุ้มชูดูแลยิ่งไปกว่านี้ แต่เขาทำอย่างเต็มที่ในขอบเขตที่เขาสามารถทำได้ และเขามีความทุกข์ไหม ย้อนถามดูนะคะ เขาทุกข์ไหม ผู้หญิงอิหร่านคนนี้มีความทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์เพราะว่าหนึ่งอิ่มใจที่เขาได้ช่วยเต็มที่ และอันที่สองเขาก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องมาวิตกกังวลตีโพยตีพายหรือรำพันกับคนอื่นต่อไปว่าหนุ่มคนนั้นมันจะไปไหน มันจะไปอย่างไร มันจะไปตกทุกข์ได้ยากที่ไหน ไม่ต้อง จบ เสร็จแล้ว เป็นหน้าที่ต่อไปของใครก็แล้วแต่ตามเหตุตามปัจจัย แต่ในส่วนตัวเขานี่ เหตุปัจจัยในส่วนตัวเขาทำได้แค่นี้ เขาก็ทำเพียงแค่นี้ นี่เรียกว่ามีความสุขด้วยกันทั้งผู้ให้และผู้รับ ใช่ไหมคะ การกระทำนี่ ถ้าหากว่าไม่เอาตัวเข้ามาพัวพันยึดมั่นถือมั่น มันพอจะรู้เรื่อง พอจะมีความสุขซึ่งกันและกัน
ฉะนั้นอันนี้การที่จะเป็นลักษณะอาการของธรรมทูตหญิงต่อไปข้างหน้า ก็คือการที่ต้องฝึกการทำงานอย่างชนิดไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีจุดมุ่งหมายแต่จะนำเอาสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ให้บังเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ไม่เบียดเบียนแต่ว่าจะช่วยเหลือ แต่ว่าจะให้ และก็อยู่ในวิสัยที่สามารถจะให้ได้ด้วย ถ้ามันเกินวิสัยไม่ต้องตะเกียกตะกาย ถ้าตะเกียกตะกายนั่นมันมีอะไรซ่อนอยู่ข้างหลัง นึกออกไหมคะ ความอยาก อยากแล้ว อยากจะทำให้ดีกว่านี้อีก อยากจะช่วยให้ถึงที่สุด ก็มันช่วยไม่ได้นะคะ มันได้แค่นี้ ก็ทำเต็มที่ของเรา พอใจ เหมือนกับโยนลูกให้คนอื่นเขาต่อไปสิ ใครที่มีความสามารถที่จะช่วยต่อไปก็ให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าหากว่ามนุษย์เราในโลกมีจิตใจเหมือนอย่างหญิงอิหร่านผู้นั้น หนุ่มน้อยคนนี้ คือท่านชยสาโรในขณะนั้น สมัยโน้นก็คงจะไม่ต้องตกทุกข์ได้ยากใช่ไหมคะ ถ้ามีจิตใจเหมือนอย่างหญิงอิหร่านด้วยกัน ใครเห็นก็ช่วยกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ผลที่สุดท่านก็มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความจริงของชีวิต และก็เชื่อว่าผลที่สุดท่านก็คงพบว่าความจริงของชีวิตคือไม่มีอะไรจริง นี่พูดอย่างเล่นสำนวนนะคะ ความจริงของชีวิตไม่มีอะไรจริง เหมือนอย่างเรื่องละครแห่งชีวิตของท่านอากาศนั่นแหละ ท่านก็บอกไม่มีอะไรจริง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรกับมันนักหนา ท่านมองเห็นแล้ว และท่านก็รู้ว่า คำสอนที่ได้รับจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นคำสอนที่จริง เป็นคำสอนที่นำมาสู่ความรู้เรื่องในการปฏิบัติเพื่อความเสียสละ เสียสละชีวิตตน ด้วยความพากเพียรเพื่อจะฝึกฝน อบรม ควบคุมจิต ให้อยู่ในความถูกต้อง ถูกต้องนั้นก็คือความถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ นั่นก็คือไม่มีการเบียดเบียนกัน
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็หวังว่าเราจะสามารถมีธรรมทูตหญิงในต่อไปข้างหน้านะคะ และธรรมทูตหญิงนี้ ท่านก็ยังได้กล่าวว่าก็เหมือนให้ทำหน้าที่แทนภิกษุณีนั่นแหละ เพราะว่าภิกษุณีในตอนนี้ก็ขาดตอนไปตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานประมาณสัก 500 ปี ก็ปรากฏว่า ภิกษุณีนั้นขาดหายไปแล้ว และก็ได้เคยกราบเรียนถามท่านครูบาอาจารย์บางท่าน ก็ไม่ทราบเป็นที่แน่นอนว่าเหตุใดภิกษุณีจึงขาดสายไป ทีนี้ถ้าหากว่าจะมีการบวชภิกษุณีอีกในยุคสมัยปัจจุบัน ในฝ่ายเถรวาทนั้นก็อาจจะไม่ราบรื่นนัก เพราะว่ามันมีกฎระเบียบบางอย่างในทางพระวินัย หากว่าจะมีอีกแล้วละก็ ก็จะต้องมีทั้งพระภิกษุ มีทั้งพระภิกษุณีมาเป็นองค์อุปัชฌาย์ แต่ว่านี่จุดมุ่งหมายก็เพียงแต่ว่าเราอยากจะมีผู้หญิงที่สามารถทำหน้าที่ในทางธรรมทูตได้ แต่ถ้าหากว่าผู้ใดที่มาเป็นสมาชิกธรรมมาตาไม่ประสงค์จะเป็นธรรมทูตเพราะรู้สึกว่าไม่มีศิลปะในการที่จะเผยแผ่ศาสนา ไม่มีศิลปะในการที่จะพูดต่อไป ก็ไม่เป็นไร ท่านก็ให้โอกาสในการที่จะปฏิบัติธรรมอย่างเดียวจนถึงที่สุด ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นที่อาศรมธรรมมาตานี้จึงให้โอกาสอย่างยิ่งทีเดียว ให้โอกาสอย่างเต็มที่แก่ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะอยู่ปฏิบัติจนถึงที่สุดเฉพาะตน หรือเมื่อปฏิบัติได้อย่างเพียงพอที่จะเผื่อแผ่แบ่งปัน ก็ทำหน้าที่เป็นธรรมทูตหญิงเพื่อไปช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่นต่อไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่านั่นแหละมันไม่ใช่ของง่ายนะคะ มันไม่ใช่ของง่ายในการที่จะทำหน้าที่เป็นธรรมทูตหญิงแล้วก็เผยแผ่พระธรรมให้แก่เพื่อนมนุษย์อย่างที่พูดมา ฟังดูมันก็ไม่ยากเกินไปที่จะเข้าใจได้ แต่ทว่าในการที่จะปฏิบัติจริงๆ มันต้องอาศัยความเสียสละ และไม่ใช่เสียสละเฉยๆ ต้องเป็นการเสียสละอย่างชนิดอุทิศชีวิต อุทิศชีวิตโดยไม่คิดถึงเลยว่า เราจะต้องมีความลำบาก เราจะต้องมีความอดทน อดกลั้น เราจะต้องเสียสละทุกอย่างที่เคยสุขเคยสบาย เคยคุ้นเคยมา มาเป็นผู้ไม่มีอะไรอย่างที่เขาเรียกว่ามาเป็นอนาคาริกา อนาคาริกาคือผู้ไม่มีบ้านไม่มีเรือน ไม่มีบ้านไม่มีเรือนเป็นของตัวเอง แต่ทว่าเป็นผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไปให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้นๆ
เพราะฉะนั้นอันนี้ที่ทบทวนมาถึงว่าจุดมุ่งหมายของอาศรมธรรมมาตามีอะไร ที่จริงมีมากกว่านี้อีก ไปอ่านได้จากหนังสือ ธรรมาศรมธรรมมมาตา ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยอ่านแล้ว ถ้าใครยังไม่เห็นก็ที่ห้องสมุดมีนะคะ ไปอ่านทำความเข้าใจเพื่อให้รู้ว่า อาศรมธรรมมาตาท่านอาจารย์ท่านตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์อะไร ก็จะเห็นเจตนาหรือความเมตตากรุณาอย่างสูงสุด อย่างลึกซึ้ง อย่างหาที่เปรียบได้ยากของท่านอาจารย์ก็คือว่า ท่านตั้งขึ้นมาด้วยความประสงค์ที่จะยกย่องพระคุณของมารดา ตอบแทนพระคุณของมารดา เพราะเหตุว่ามารดาหรือผู้ที่เป็นแม่ของโลก ท่านอาจารย์ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก เพราะว่าคนในโลกนี้ ไม่ว่าหญิงหรือไม่ว่าชาย จะเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ต่อโลก ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้มากเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อตอนเล็กๆ เด็กๆ เขาได้รับการอบรมอย่างไร ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าได้รับการอบรมที่ถูกต้องดีงามจากแม่ เมื่อเติบโตขึ้น บุคคลผู้นั้นไม่ว่าหญิงหรือชาย ก็ย่อมจะเป็นบุคคลที่สามารถทำประโยชน์ต่อโลก ท่านอาจารย์ท่านได้ใช้คำที่ เรียกว่ายกย่อง คุณค่าของผู้หญิงหรือของแม่อย่างมาก ท่านบอกว่า แม่ พ่อ เป็นผู้ให้ชีวิต เป็นผู้ให้ชีวิตของเด็กของลูก แต่ทว่าแม่เป็นผู้ให้วิญญาณ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสร้างจิตวิญญาณให้แก่ลูก ลูกเติบโตขึ้น จะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยใจคออย่างไร อยู่ที่แม่ แม่จะเป็นผู้สร้างจิตวิญญาณให้ แต่ว่าพ่อเป็นเพียงผู้ให้ชีวิต แล้วพ่อก็ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้กับลูกใช่ไหมคะ ไม่เหมือนแม่ แม่นั้นอยู่กับลูกตั้งแต่ลูกเกิด ตั้งแต่ลูกได้กินนมแม่ อยู่กับอกของแม่ เมื่อลูกเติบโตขึ้นแม่ก็ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงดูแล ฉะนั้นนิสัยใจคอจะเป็นเด็กน่ารัก เด็กดี เด็กเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรืออะไรก็ตามที จะมาจากแม่ อย่างท่านยกตัวอย่างองค์ท่านเอง ท่านมีนิสัยสะอาด คือหมายความว่าท่านได้รับการสั่งสอนเรื่องความสะอาด ได้รับการสั่งสอนเรื่องการเป็นผู้ประหยัด ได้รับการสั่งสอนเรื่องให้รู้คุณผู้อื่น ดูแลเอื้อเฟื้อผู้ที่เล็กกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า เช่น น้อง ท่านบอกว่าน้องอาจจะเอาเปรียบพี่ได้ แต่พี่เอาเปรียบน้องไม่ได้ หรือน้องโกงพี่ได้ แต่ว่าพี่โกงน้องไม่ได้ นี่หมายความว่าผู้ที่โตกว่า ใหญ่กว่า ต้องเป็นผู้เสียสละ เพราะถือว่ามาก่อน เข้มแข็งกว่า เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้เสียสละ
ฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์ ท่านได้ให้เกียรติแก่ผู้ที่เป็นแม่อย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียว และท่านก็รู้สึกว่าผู้หญิงที่เป็นแม่ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้รับการเชิดชูสักเพียงใด น้อยมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงถือว่านี่แหละการจัดสร้างอาศรมธรรมมาตาขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการเชิดชูพระคุณของมารดาที่ได้ให้แก่โลกมานานนักหนาและก็มากอย่างใหญ่หลวง เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมสูงสุด และก็ได้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นแม่ของโลกต่อไปข้างหน้า ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้มีครอบครัว แต่จะเป็นแม่ของโลกทางไหน ก็คือเป็นแม่ของโลกทางอบรมบ่มเพาะทางจิตวิญญาณให้เป็นผู้ที่มีธรรมะ เข้าถึงธรรมะ มีคุณธรรม นั่นแหละก็เรียกว่าเป็นผู้ที่สร้างจิตวิญญาณให้แก่โลก ด้วยเหตุนี้เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านจึงสร้างธรรมาศรมธรรมมาตาขึ้นมา เพื่อยกย่องพระคุณของแม่ และนอกจากนั้นก็เพื่อให้โอกาสแก่ผู้หญิงที่ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมอย่างสูงสุด ก็ลำบากหน่อย สถานที่จะให้การศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมจนถึงสูงสุด ก็มีน้อยที่จะเปิดโอกาสให้แก่ผู้หญิง แต่ส่วนผู้ชายนั้นมีสถานที่มากที่จะไปฝึกปฏิบัติธรรม แต่ทว่าไม่เพียงแต่ฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อตัวเองอย่างเดียว จุดประสงค์ของท่านอาจารย์ไกลไปกว่านั้น คือเพื่อที่จะเป็นธรรมทูตหญิง ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ได้อุตส่าห์สละเวลาของตนเข้ามาอยู่ในโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามซึ่งเป็นเวลายาวนานถึงสี่เดือน ไม่ใช่น้อย บางคนก็ยังทำงานอยู่ แต่ก็ด้วยวิธีใดก็ไม่ทราบ อุตส่าห์ที่ขอร้องจนกระทั่งได้ลางานสี่เดือนเพื่อมาเข้าในโครงการนี้ ก็ไม่อยากให้เป็นการเสียเวลาเปล่า อยากจะให้การที่มาทำงาน มาเข้าการอบรมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นงาน แต่ว่าเป็นงานของชีวิต เป็นงานที่จะบ่มเพาะตนเองเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีความสุข มีความสงบ เข้าถึงความสุขความสงบที่แท้จริง ทีนี้เมื่อจะบ่มเพาะตนเองเพื่อให้เข้าถึงความสุขความสงบที่แท้จริงในวันหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ในสี่เดือนนี้นะคะ แต่เราจะค่อยๆ ฝึกอบรมตนของเราไปทีละน้อยๆๆ ตามลำดับ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเรียกว่าอบรมมาจนกระทั่งบ่มเพาะมาจนกระทั่งได้ที่แล้ว ถึงเวลาที่จะสุกงอมแล้ว ตอนนั้นแหละก็จะมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ อย่าคิดแต่เพียงว่าเราจะมาฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามแต่อย่างเดียว คำว่าแต่อย่างเดียวหมายความว่าเพื่อตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแค่นี้ แต่เราจะมาเข้าโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ไม่ใช่สักแต่ว่าฉันมาประพฤติธรรมอย่างที่ได้ยินพูดๆ กันใช่ไหมคะ ไม่ใช่แค่นั้น อยากจะพูดว่ามาประพฤติธรรม มาปฏิบัติธรรม พอย่างเข้าวัด มาปฏิบัติธรรม ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อันนั้น เมื่อเข้ามาแล้วนี่ต้องเสียสละจริงๆ และก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องพระธรรมของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง ไม่ใช่สักแต่ว่า ฟังๆ ไป แล้วก็ทิ้งไป แล้วก็เอามานึกดูสักที นานๆ ไม่ใช่ โครงการนี้มีจุดหมายที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว และก็แน่วแน่ เราจึงใช้คำว่า ฝึกฝนอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม คำสุดท้ายนี่ ที่หมดจดงดงามนี่ เป็นจุดบอกแล้วว่าไม่ใช่สักแต่ว่าทำๆ ดำๆ ด่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่จะต้องทำให้ทุกลำดับขั้นตอนของการประพฤติปฏิบัติมีความงาม งามพร้อมทั้งทางกาย ทางวาจาแล้วก็ทางใจ มันจึงจะต้องหมดจดงดงามไปหมด เพราะกาย วาจา ใจ นี่มันสืบเนื่องสัมพันธ์กัน และก็คงทราบแล้วว่าจุดที่สำคัญที่สุดที่จะต้องฝึกฝนอบรมก็คือที่จุดของใจ เพราะใจนี่เป็นผู้นึก ผู้นำ บอก กายเป็นแต่เพียงผู้ตาม วาจาที่เปล่งออกมา มันก็ตาม ตามแต่ว่าใจจะนึกจะคิดอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงจะต้องพยายามที่จะมาฝึกอบรม เริ่มต้นด้วยการที่จะตะล่อม ตะล่อมกาย วาจาของเราที่มันชอบออกนอกลู่นอกทางตามอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง หรือตามอำนาจของตัณหาอุปาทานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เรื่อยๆ มันก็มักจะเป็นกายวาจาที่แสดงออกมาด้วยท่าทางกาย หรือวาจาที่พูดออกมาก็จะมีอารมณ์เป็นพื้นฐาน อารมณ์ร้อน อารมณ์ขัดเคือง อารมณ์ไม่ถูกใจ อารมณ์เบียดเบียน อารมณ์อยากจะเอา นี่อันนี้ต้องขัดเกลาให้มันเบาบางลงไป จนกระทั่งมันไม่มีอารมณ์เข้ามาเจือปนในกิริยาท่าทาง ในวาจาที่พูด มีแต่ความนุ่มนวลอ่อนโยน มันเป็นเช่นนั้นได้เพราะอะไรคะ ก็เพราะใจใช่ไหมคะ ใจที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างมาก อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งมั่นคง และก็ควบคุมกาย ควบคุมวาจาไว้อยู่ในอำนาจได้ในความถูกต้อง ฉะนั้นถ้าทำได้อย่างนี้ การประพฤติพรหมจรรย์จึงจะมีความหมดจดงดงามขึ้นทีละน้อยๆๆ เรียกว่าขัดไปๆๆ จนสนิมที่มีอยู่มันค่อยๆ หมดจนเกลี้ยง วันนี้ก็ขอพูดเอาไว้เป็นเบื้องต้นนะคะว่าเราจะต้องขัดของเรานี่อย่างไร แล้วจะขัดด้วยวิธีไหน เราจะมีอะไรเป็นแบบอย่างในการขัดเพื่อที่จะให้ได้มีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงามที่แท้จริง ก็ขอฝากให้ไปคิดนะคะ ไปคิด ไปใคร่ครวญ ไปตรึกตรอง และเมื่อเรามาพบกันอีก เราก็คงจะรู้ว่า เราจะต้องเดินไปตามทางนี้ เราจะได้ต่อกันถูก และก็ไปในทางเดียวกัน ธรรมสวัสดีค่ะ