แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นที่เรายังไม่ได้นำเสนอให้ท่านได้รับทราบกันนะครับ ซึ่งท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้เสนอแนวคิดไว้น่าสนใจมากมายทีเดียว กระบวนการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ท่านอาจารย์คุณรัญจวนเสนอแนวคิดไว้น่าสนใจมากทีเดียวนะครับ เราจะไปฟังเรื่องนี้ด้วยกัน แล้วเราจะมาหาคำตอบนะครับว่า เราจะใช้พุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตเราได้อย่างไรครับ
ฉะนั้น การที่เราจะพยายามพัฒนาเพื่อความเป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์ตามพระพุทธประสงค์นั้น จึงควรที่จะสร้างกระบวนการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกต้องอย่างพุทธศาสตร์ให้เกิดขึ้น กระบวนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องนั้น สิ่งแรกทีเดียวที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือ สิ่งที่ต้องการศึกษา สิ่งที่กำลังต้องการศึกษาเพื่อปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนานั้นคืออะไร ก็ขอเสนอว่า
ข้อแรก คือความจริง ความจริงเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ นี่เป็นสิ่งแรก ถ้าต้องการจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา ต้องมุ่งค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์เป็นอันดับแรก เพราะสิ่งนี้คือหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอันที่จริงก็คือเป็นยอดปรารถนาของเราทุกคน เราอยากล่วงพ้นจากความทุกข์ อยากจะมีความสุขเย็น ฉะนั้นต้องศึกษาเรื่องความจริงเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์
ข้อที่สอง ก็คือความจริงเกี่ยวกับเรื่องตัวเรา หรือตัวตนหรืออัตตา นี่เป็นความจริงที่ต้องแสวงหาให้พบ ฝึกค้นให้พบให้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น มันไม่ใช่อะไรอื่น ก็คือที่อัตตาและตัวตนนี่เอง เพราะใครเล่า ที่รู้สึกทุกข์ ก็ตัวเรา ตัวฉัน ฉันนี่แหละทุกข์ ฉันนี่แหละไม่สบาย เพราะฉะนั้นก็ต้องค้นหาให้พบสิว่า ตัวฉันนี้น่ะ มีไหม หรือสิ่งที่เรียกว่าตัวฉัน สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้น่ะ มีจริงหรือเปล่า แท้ที่จริงแล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมันเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติเท่านั้น นี่จะต้องศึกษาเรื่องความจริง 2 อย่างให้ได้ และอย่างที่ 3 ก็คือวิธีการปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือถึงที่สุดแห่งการสิ้นความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ให้มันหมดไปตามลำดับ ดิฉันใช้คำว่าตามลำดับ เพราะจะให้หมดเกลี้ยงทีเดียวเป็นไปไม่ได้ เราสะสมมันมานานตลอดชีวิตของเรา จึงต้องค่อยๆ ขัดมันออกไปทีละน้อยๆๆ ด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความพากเพียรพยายาม แล้วความทุกข์นั้นก็จะลดลงตามลำดับ เพราะความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ค่อยๆ จางคลายไปตามลำดับ นี่มันก็ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ทีนี้เมื่อมีจุดหมายว่าจะศึกษาความจริง ค้นหาความจริงดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่จะต้องเป็นศูนย์กลางของการศึกษาก็คือ ตัวเอง ตัวเรานี่แหละค่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้น ท่านทรงเน้นทีเดียวว่า สิ่งที่จะต้องศึกษาคือตัวเรา อัตตา ตัวตนนี้ เพ่งเข้าไป การที่จะศึกษาคือเพ่งเข้าไปข้างใน ไม่ใช่ดูออกไปข้างนอก
ถ้าดูออกไปข้างนอกก็จะเห็นแต่คนอื่น ผู้อื่น แล้วก็มักจะพาลโทษไป อ้อ เพราะเขา เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ โดยไม่สำนึกว่า แท้จริงแล้วมันเกิดมาจากตัวเรา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้เพ่งเข้าไปข้างใน ดูเข้าไปข้างใน ก็จะมีคำถามว่า ดูข้างในดูที่ไหน มันมีหนังหุ้มอยู่ มันมีโครงกระดูก มันมีเนื้อ เราไม่ได้ดูที่เนื้อหนังที่เป็นวัตถุ ที่เป็นรูปธรรม แต่เราดูเข้าไปที่ความรู้สึก ความรู้สึกที่มันเป็นนามธรรม ที่เราไม่สามารถจะจับต้องได้ แต่ความรู้สึกใช่ไหมคะ ที่มันรบกวนจิตใจของเราอยู่ทุกวี่ทุกวัน ความรู้สึกที่ประเดี๋ยวก็ทำให้ร้อน ประเดี๋ยวก็ทำให้เย็น ประเดี๋ยวก็ถูกใจ ประเดี๋ยวก็หัวเราะ ประเดี๋ยวก็ร้องไห้ ฉะนั้นดูลงไปที่ความรู้สึก ความรู้สึกที่มันรบกวนอยู่ภายใน ทำให้ใจนี้ไม่ปกติสุขได้เลย นั่นแหละ คือศูนย์กลางของการศึกษา ที่ว่า ศึกษาที่ตัวเรา หรือที่เบญจขันธ์ คือขันธ์ 5 นี้ ให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษา การที่จะศึกษาจนมองเห็นว่า มันเป็นอย่างไร จำเป็นจะต้องศึกษาด้วยการวิเคราะห์ เคยวิเคราะห์คนอื่นมามาก คนนั้นดีอย่างนี้ เก่งอย่างนั้น อ่อนอย่างโน้น ใช้ไม่ได้อย่างนี้ นั่นก็เป็นการวิเคราะห์ ทีนี้หันมาวิเคราะห์ใจของเราเอง ข้างในของเราเอง ทั้งวิเคราะห์ ทั้งวิจารณ์ ทั้งวิจัย อย่างละเอียดถี่ถ้วน ทุกแง่ทุกมุมด้วยความซื่อตรง ซื่อตรงต่อตนเอง คำว่าซื่อตรงต่อตนเองก็คือไม่เข้าข้างตน
ถ้าเข้าข้างตนเองโดยเห็นว่าฉันดีอยู่แล้ว ใช้ได้แล้ว จะไม่มีวันศึกษาให้ซึ้งจนถึงฐาน ฐานของตัวเองได้เลย คือจะไม่รู้จักตัวเองจริงๆ นั่นเองว่า ความรู้สึกที่แท้จริงที่มันฝังอยู่ในใจตลอดเวลาที่ประเดี๋ยวทำให้จิตใจขึ้นลง ซัดส่าย ไม่มีความเป็นปกติสุขได้เลยนั้น มันเกิดจากอะไร ฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างซื่อตรงต่อตนเอง มองเห็นสิ่งที่อาจจะบอกตัวเองว่ามันชั่วร้ายถึงขนาดนี้เหรอ ก็ดูมันลงไป ให้มองเห็น ชั่วร้ายขนาดไหนก็ต้องเผชิญหน้าเพื่อจะขุดคุ้ยแก้ไข ความชั่วร้าย ความผิดพลาด ความไม่งดงาม ให้เป็นความถูกต้องให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงต้องซื่อตรงต่อตัวเองนะคะ และที่สำคัญก็คือซื่อตรงต่อพระธรรมด้วย อย่าเอาพระธรรมมาแปร แปรออกไป แปรเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากันกับความพอใจ หรือความต้องการของเรา อย่างนั้นเป็นการทรยศต่อพระธรรม ฉะนั้นการศึกษาที่ตัวเองอยากมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องศึกษาอย่างวิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัยด้วยความซื่อตรง ต่อพระธรรมและซื่อตรงต่อตนเองจึงจะสามารถค้นหาความจริงได้ นอกจากนั้น ก็ควรที่จะพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่แวดล้อมตนเองนั้น ให้มีพลังผลักดัน ผลักดันที่จะให้ขึ้นเบื้องสูงไม่ใช่ฉุดลงต่ำ เป็นพลังที่มีความแรงแน่นแฟ้นแล้วก็หนัก ในความรู้สึกที่อยากจะเสนอว่าสิ่งที่จะเป็นพลังแน่นแฟ้นนั้นเช่นอย่างไร ก็คือในขณะที่มุ่งปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น ให้มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ในใจ คือจะต้องเรียนรู้จนถึงที่สุด ให้รู้จริงให้จงได้ ที่สุดของในทางพระพุทธศาสนาก็คือนิพพาน ที่หลายท่านบอกว่าเอาไว้ก่อนขึ้นไม่ถึง นั่นก็เพราะไม่ศึกษาให้เข้าใจว่านิพพานจริงๆ นั้นมีความหมายว่า “เย็น” เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านบอกอยู่เสมอว่านิพพานหมายถึงความเย็น เมื่อใดที่ความเย็นเกิดขึ้นในใจ เมื่อนั้นแหละ ภาวะของนิพพาน ได้ปรากฏให้เห็น ให้เห็นเพื่อจะให้ลองชิมดู ให้ลิ้มรส ให้สัมผัส ว่าอย่างนี้แหละ แต่แน่ล่ะอย่างเราๆ เราก็เพียงแต่ลิ้มชิมรสชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็หายไป ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ยังจะพอจะบอกตัวเองได้ว่า รสชาติอย่างนี้เอง รสชาติอย่างนี้เอง แล้วมันเป็นความอร่อยที่เอมโอษฐ์ ที่เปรียบเทียบกับความอร่อยสิ่งใดไม่ได้เลย มันเลอเลิศมาก เมื่อเราได้สัมผัส เพราะฉะนั้นก็จำเอาไว้ เพื่อที่ว่าจะได้หาทางสะสมให้เพิ่มพูนมากขึ้น มากขึ้น ตามลำดับ ฉะนั้นมุ่งประโยชน์สูงสุดเอาไว้ก่อน
ทีนี้รองลงมาก็คือมุ่งถึงอนัตตา ในการปฏิบัตินี้จะต้องพยายามปฏิบัติด้วยการมุ่งถึงอนัตตา ให้มองเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะได้คลายความยึดมั่นถือมั่น ในตัวตนนี้ แล้วก็ทำให้ตัวตนนี้มีความหนักเหลือเกิน เมื่อยึดมั่นถือมั่นมากเท่าใด ให้ความรักตัวเอง ความอยากจะให้อะไรแก่ตัวเองมันเพิ่มทวีมากขึ้น มันก็เป็นภาระ ใช่ไหมคะ ภาระที่จะต้องเป็นห่วงกังวลกับตัวเองนี้ตลอดเวลา จึงมุ่งที่จะศึกษาให้รู้จักในเรื่องของอนัตตาให้ชัดเจน เพื่อเป็นการปลดปล่อยตัวเองออกไปจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนนี้ ถ้าไม่คิดใคร่ครวญลงไปในเรื่องของอนัตตา ให้พบความเป็นจริงของอนัตตาได้แล้ว จะไม่สามารถปลดปล่อยความเป็นทาสของความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนได้เลย จะเป็นทาสหัวปักหัวปำ มืดมิดอยู่กับอัตตา อะไรอะไรก็ฉัน อะไรอะไรก็ฉัน และผลที่สุดก็ล้มหายตายจาก จมหมักหมมอยู่ในเรื่องของตัวฉัน ถอนออกไม่ได้ อะไรๆ เป็นของฉันไปหมด มันจึงหนัก ฉะนั้นต้องมุ่งประโยชน์สูงสุด
ทีนี้ การที่จะมุ่งประโยชน์สูงสุดอย่างนี้ ไม่ใช่ของทำง่าย เป็นของยาก ฉะนั้นจึงต้องทับลงไป ด้วยความรู้สึกที่ว่า ในการกระทำทุกอย่าง หรือในการดำรงชีวิต ในประจำวันของเรานี้ เราจะไม่นึกถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ แต่จะมุ่งประโยชน์ ถึงผู้อื่นด้วย เผื่อแผ่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้อื่นด้วย
เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านบอกว่า ที่พูดว่าท่านบอกนี่นะคะ เราได้พบในจดหมายที่ท่านได้เคยมีติดต่อถึง ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ในสมัยที่ยังเป็นสามเณรแล้วก็ไปศึกษาอยู่ที่อินเดีย ในสมัยโน้นท่านก็มีหนังสือติดต่อถึงกัน เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านก็จะให้กำลังใจในการที่จะดำรงชีวิตอย่างผู้เข้มแข็ง แล้วก็ฝ่าฟัน แล้วก็มุ่งหมายสูง เพื่อความสำเร็จของชีวิต ท่านก็แนะนำว่า คนเราเกิดมาเพื่อตัวเองหรือ ถ้าใครคิดอย่างนั้นต่ำไป อาจทำให้เห็นแก่ตัว คนเราเกิดมาเพื่อโลกหรือ ถ้าหากว่า สูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่งนะคะ จากที่ว่าเห็นแก่ตัว ที่บอกว่าเพื่อเห็นแก่ตัวเรา ก็สูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่งว่า เกิดมาเพื่อเห็นแก่โลกหรือ เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่า ดูเหมือนยังต่ำไปอีกนั่นแหละ เพราะอะไร ก็เพราะอาจจะทำให้มั่นหมาย มุ่งหวัง ในชื่อเสียงเกียรติยศ ที่จะได้รับจากทางโลก มันก็ยังเป็นการยึดมั่นอยู่นั่นเอง ยังไม่หลุดพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น คนเราจึงควรจะเกิดมาเพียงเพื่อหน้าที่ เพื่อหน้าที่ของมนุษย์สภาวะเท่านั้น ก็คือตามหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ เห็นไหมคะ นี่เป็นการปฏิรูปตามลำดับแล้วใช่ไหมคะ ปฏิรูปจากตัวเอง ทำตัวเองให้ดี ปฏิรูปขึ้นไปสู่ประโยชน์ของโลก แต่ไม่เพียงพอ ปฏิรูปขึ้นไป สูงขึ้น เพื่อหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นชีวิตหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะทำให้โลกนี้แน่นอัด เพราะความเห็นแก่ตัว แต่มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อช่วยให้โลกนี้มีที่ว่าง มีลมหายใจที่บริสุทธิ์ด้วยอากาศ และก็ด้วยความเย็นของน้ำใจที่ดีต่อกัน เพราะฉะนั้นคนเราควรจะเกิดมาเพียงเพื่อหน้าที่ของมนุษยภาวะเท่านั้น อันนี้ก็หมายถึงความตั้งใจที่จะทำความดีจริงๆ ทุกประการโดยไม่เห็นแก่ตัว อย่างที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านมักจะแนะนำว่า ทำอะไรโดยไม่หวัง ไม่ต้องหวัง แต่ทำด้วยสติปัญญา มีสติปัญญาที่จะกระทำให้เกิดผลดีที่สุด เจริญที่สุด เป็นประโยชน์สูงสุดแก่เพื่อนมนุษย์ สามารถทำได้เท่าไหร่ ทำ ทำให้เต็มที่ โดยไม่ต้องหวัง นั่นเรียกว่า ทำด้วยสติปัญญา และถ้าหากว่าทำเช่นนั้น ประโยชน์เกิดขึ้นอะไร อย่างไร ประโยชน์ก็คือความสุข ความสุขของผู้กระทำ อิ่มใจ พอใจ โดยไม่ต้องหวัง แต่ความสุขมาเอง นี่ก็ตามกฎอิทัปปัจจยตา ใช่ไหมคะ ประกอบเหตุปัจจัยอย่างใด ผลมาอย่างนั้น เพราะประกอบเหตุปัจจัยด้วยการกระทำที่ไม่มุ่งหวัง ในขณะที่ไม่มุ่งหวัง จิตใจนั้นก็ทุ่มเทลงไป ในการกระทำทุกอย่างทุกประการ เต็มฝีมือความสามารถ แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลิน เวลาที่จะไปคิดกังวล นึกว่าคนนั้นเขาจะว่าอย่างไร จะมีคนมองเห็นความดีไหม จะมีใครที่ให้อะไรตอบแทนไหม ไม่มีเวลาจะไปเสียกับการกังวลเหล่านั้น เวลาทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ทุ่มลงไปในการทำงาน ฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลยว่า ผลของการกระทำอย่างนี้จะไม่ออกมาเป็นผลที่งดงามน่าชื่นใจ
เพราะฉะนั้นตนเองในขณะที่ทำไม่คิด แต่ผลมันตามมาโดยอัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว ตามกฎอิทัปปัจจยตาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ประกอบเหตุปัจจัยอย่างใดผลย่อมเป็นอย่างนั้น ผลอย่างใด ย่อมมาจากเหตุปัจจัยอย่างนั้น นี่แหละคือเรื่องของกรรมอย่างพุทธศาสตร์ หรือจะพูดว่านี่แหละคือเรื่องของกรรมอย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้ บรรดาท่านผู้เป็นปัญญาชนผู้ชอบในเหตุและผลไม่ชอบอะไรงมงายขอได้โปรดลองศึกษาเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตา คือเรื่องของเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างไรเนื่องจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ขอได้โปรดลองศึกษาในเรื่องนี้ แล้วก็จะประจักษ์ชัดว่ากรรมนี้หามีใครบันดาลไม่ มันอยู่ในกำมือของเราเอง ใช่ไหมคะ อยู่ในกำมือของเรานี่แหละ เราจะบันดาลให้เป็นอย่างไร เป็นกรรมที่นำสุขมาให้ หรือกรรมที่นำทุกข์มาให้ มันก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เราประกอบ ฉะนั้นจึงควรที่จะลองพยายามนึกถึงในสิ่งนี้ ก็จะมีความรู้สึกว่า การทำอะไรโดยไม่หวัง ผลมันชื่นใจขนาดนี้นะ มันเกิดขึ้นเอง และนี่ก็คือการเลื่อนฐานะ หรือปฏิรูปฐานของจริยธรรมที่มีอยู่ในใจให้สูงขึ้น เป็นรูปของพระเจดีย์ที่จะต่อยอดไปเป็นเจดีย์ที่สมบูรณ์ในข้างหน้า
ทีนี้สิ่งที่ควรจะฝึกให้เกิดขึ้นอีกนั่นก็คือความตั้งใจจริง ความอดทน ความประหยัด เด็ดเดี่ยว แกร่งกล้าฝ่าฟันอย่างไม่หยุดไม่ถอย นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา เพื่อให้มีรากฐานที่มั่นคงในจิตใจจะต้องตั้งใจเด็ดเดี่ยว แล้วก็ประกอบด้วยความอดทน ประหยัด ประหยัดเวลา ไม่ใช้อย่างอื่นให้หมดไปกับสิ่งเหลวไหล แต่จะใช้เวลาทุกเวลานาที เพื่อใคร่ครวญในธรรม แม้มือจะทำการงานอยู่ จะเป็นการงานที่บ้านหรือการงานที่ทำงานก็ตาม แต่ทุกเวลานาทีนั้นจะมองการงานที่เกี่ยวข้องเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย นั่นก็คือไม่ยึดถือว่างานที่ทำนั้นเป็นงานของฉันแต่มันเป็นหน้าที่ ที่เราจะต้องร่วมกระทำด้วยกัน เพื่อประโยชน์สุขของการอยู่ร่วมกัน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขอย่างทั่วถึง ฉะนั้นประหยัดเวลาเพื่อสงวนเอาไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิต แล้วก็มีความเด็ดเดี่ยว แกร่งกล้าที่จะฝ่าฟันต่อไปไม่ยอมท้อถอย การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ของสนุกนะคะ ถ้ามาประเดี่ยวประด๋าว แค่ 3 วัน 5 วัน ก็สบายดี เอาอะไรที่มันหนักๆ เป็นภาระอยู่ที่บ้านมาทิ้งเสีย ก็จะรู้สึกว่าเป็นสุข แต่ถ้าหากว่าพูดไป สละบ้านเรือน ชีวิตของคนบ้าน ของชาวโลกทั้งหมดเอาไว้เบื้องหลัง แล้วก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมในสถานที่ที่เรียกว่าวัด อย่างเรียกว่าอย่างจริงจัง ไม่ใช่ของง่าย ในครั้งแรกจะเต็มไปด้วยความว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยว รู้สึกว่าเรานี่โดดเดี่ยว แต่ก่อนเคยห้อมล้อมด้วยเพื่อน ญาติมิตร พี่น้อง บริวาร เยอะแยะ บัดนี้อะไรๆ เราคนเดียวหมด ถ้าไม่แข็งแกร่ง ถ้าไม่เด็ดเดี่ยว ถอยหลัง หนีกลับไป และผลที่สุดก็ไม่สามารถจะขึ้นบันได ของการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาได้ จะต้องตกอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นความแข็งแกร่งเด็ดเดี่ยว ทีนี้กำไรของความเด็ดเดี่ยวจะเกิดขึ้นได้ยังไง นั่นก็ต้องมาจากพลังของธรรมะที่เราค่อยๆ สะสมเอาไว้เรื่อยๆ ทีละน้อยๆๆ ก็จะหนุนเนื่องให้เกิดความมั่นคงที่จะก้าวต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างชนิดที่ไม่มีความหวั่นกลัว อนาคตก็คืออยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันที่กำลังกระทำด้วยการปฏิบัติสิ่งที่ถูกต้องตามหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ตามหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในทางโลก มันจะเป็นกำลังใจ ให้สามารถกระทำต่อไปในสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้นๆ อิสรภาพ ด้วยความเป็นไทนั้น เป็นสิ่งที่ดิฉันคิดว่าเราชาวพุทธบริษัทควรที่จะอบรมฝึกฝนให้เกิดขึ้น นั่นก็คือพยายามศึกษาถึงเรื่องของกาลามสูตร ที่จะแนะนำให้รู้ว่า อย่าเป็นผู้เชื่ออะไรง่าย ถ้าหากว่าเชื่อสิ่งใดง่ายก็จะไม่พ้นจากการเป็นทาสของไสยศาสตร์
แต่ถ้าหากว่าฝึกให้ใคร่ครวญตามหลักของกาลามสูตร นั่นคือการเพิ่มพูนให้ปัญญาเกิดขึ้นอย่างพุทธศาสน์ในใจทีละน้อย แล้วก็เชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ตรงตามพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวอย่างของการที่ปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา หรือแสดงถึงความเป็นอิสระในการที่จะศึกษาปฏิบัติธรรม ตรงตามหัวใจของพระพุทธศาสนานั้นก็อย่างเช่นที่เราทราบว่า เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านไม่สอบเปรียญสี่ต่อ ทั้งๆ ที่เชื่อว่าถ้าท่านประสงค์ท่านย่อมจะทำได้ ก็เพราะเหตุว่าท่านมี อิสระท่านรักความเป็นอิสระในการใช้ภาษา ไม่ใช่ว่าท่านไม่เข้าใจภาษาบาลี ท่านศึกษาภาษาบาลีแล้วก็ศึกษามาตลอดจนสามารถแปลหนังสือจากพระบาลีออกมาเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามากมายหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ธรรมโฆษณ์ชุดที่เรียกว่าจากพระโอษฐ์ เป็นต้นนะคะ
แต่ว่าท่านไม่ยอมที่จะสอบเปรียญต่อจากเปรียญสี่ เพราะท่านรู้สึกว่าอิสระภาพในการแปลในการใช้ภาษา มันควรจะเป็นอิสรภาพของส่วนเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ว่าการเขียนนั้นจะต้องเขียนตามใจของผู้สอบนี่มันเป็นการจำกัด ท่านก็เลยตกลงใจว่าท่านจะไม่ทำการสอบต่อไป แต่ท่านก็สามารถนำข้อความจากพระบาลีออกมาสู่เพื่อนพุทธบริษัทด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง หรือมีผู้ที่ชอบถามท่านว่า ทำไมเจ้าประคุณท่านอาจารย์ชอบพูดว่าพระอรหันต์ยังมี พระอรหันต์ยังมี ท่านก็บอกว่าเพราะเราเป็นคนมีความคิดอิสระ เราไม่เชื่อว่าพระอรหันต์นั้นจะสิ้นแล้ว ในปัจจุบันจะไม่มีพระอรหันต์เกิดขึ้น เมื่อได้ศึกษาในพระไตรปิฎกฉบับบาลีท่านก็ยิ่งมีความมั่นใจว่า ในปัจจุบันนี้สามารถที่จะยังมีบุคคลที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าการปฏิบัติตามพระอริยมรรคอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ยังคงดำเนินอยู่ ฉะนั้นท่านจึงได้เขียนหนังสือชื่อตามรอยพระอรหันต์ หรือการแสดงธรรมเรื่องวิถีแห่งการเข้าถึงพระธรรม ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ที่ท่านได้ไปแสดงธรรมที่พุทธสมาคมฯ เป็นครั้งแรก สมัยเมื่อท่านยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ ก็เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างเกรียวกราวมากว่า การแสดงธรรมอย่างนั้นแหวกแนว แหวกแนวมากทีเดียว จากคำสอน หรือว่าเทศนาธรรมดาที่พูดๆ กันอยู่
แต่ท่านก็ต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมของเพื่อนชาวพุทธนั้นคืออะไร และพุทธบริษัทควรจะพยายามคิด เปลี่ยน ปรับปรุงวิธีการ ศึกษาและอบรม และการปฏิบัติในทางธรรมอย่างไร จึงจะสามารถเข้าถึงพระธรรม เข้าถึงพระพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าได้ นี่เป็นตัวอย่างของการใช้อิสรภาพ หรือความเป็นไทในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ก็ควรที่จะฝึกตนเองให้มีการทำงานอย่างอนัตตา คือทำงานอย่างไม่มีตัวตน อย่างที่เราพูดไปแล้ว คือการฝึกทำงานอย่างหน้าที่ ทำงานเพื่อหน้าที่ ไม่ได้ทำงานเพื่อหวังนะคะ ในโรงมหรสพทางวิญญาณ ก็มีรูปของเจ้าประคุณท่านอาจารย์ที่ท่านยืนหันหน้าเข้าหาองค์ท่านเอง เป็นรูปของท่านเองสองภาพ แล้วก็ยืนหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็มีประโยคเขียนว่า ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร
นี่เป็นเครื่องแสดงเหมือนกับหนึ่ง อาจจะเป็นการเตือนองค์ เตือนใจท่านเองให้สำนึกอยู่เสมอว่า การทำงานนี้คือเพื่อหน้าที่ มิใช่งานของใคร หรืออีกอย่างหนึ่งก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเพื่อนพุทธบริษัททั้งหลายให้สังวรไว้เสมอว่า ถ้าเราต้องการที่จะฝึกการปฏิบัติธรรมของเราให้เข้าถึงอนัตตาได้เร็วขึ้น ก็จงพยายามลืมตัวเสีย คือลืมอัตตาตัวตนในขณะที่ทำงาน คำว่าลืมตัวในภาษาไทยนี่นะคะ ถ้าเราพูดอย่างภาษาชาวโลก คำว่าลืมตัวเป็นคนน่าเกลียดมาก เพราะจะเป็นคนยโสโอหัง จนกระทั่งมองไม่เห็นใคร ลืมตัวคิดว่าตัววิเศษกว่าเขา นั่นเป็นความหมายของลืมตัวทางภาษาโลก แต่ถ้าลืมตัวทางภาษาธรรม นี่เรียกว่าเป็นธรรมะสูงสุดทีเดียว คือการไม่มีอัตตาตัวตน ในการอยู่ การกิน การทำงาน การอะไรทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่ทำไปเพื่อหน้าที่ เพราะฉะนั้นถ้าฝึกการทำงานอย่างอนัตตา มีคติว่าทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร แต่ทว่าทำเต็มตัว ถ้าหากว่าท่านอาจารย์ท่านไม่ได้ทำอะไร เราคงไม่มีสวนโมกข์ที่จะมานั่งกันอยู่ที่นี่ ทั้งสวนโมกข์นานาชาติ ทั้งสวนโมกข์ฝั่งนี้ ทั้งงานที่ปรากฏแก่เพื่อนชาวโลกทั่วไป
แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ยังบอกว่าทั้งวันเราไม่ทำอะไร ก็ลองนึกดูนะคะ ท่านผู้ใดที่มักจะบอกว่า ฉันทำคนเดียว งานนี้ฉันคนเดียว ถ้าไม่มีฉันไม่มีวันสำเร็จ ขาดฉันเสียคนเดียวต้องล่ม เหมือนกับว่าถ้าไม่มีฉันแล้วล่ะก็ บ้านเมืองล้มละลาย แล้วเราก็พบว่าประเทศไทยยังอยู่ สังคมของเรายังอยู่ ชุมชนยังอยู่ ก็อยู่กันมาได้ตลอดเวลา แต่เพราะความหลงผิดยึดมั่นในอัตตา แล้วก็บอกว่าฉันคนเดียว แล้วผลที่เกิดขึ้นคืออะไร เหตุปัจจัยที่นึกถึงแต่ว่าฉันคนเดียว ผลที่เกิดขึ้นก็คือแล้วฉันก็ทุกข์คนเดียว ในขณะที่ไม่มีใครเขาทุกข์ด้วย เห็นไหมคะ นี่ตามกฎอิทัปปัจจยตา ฉะนั้นจงศึกษาอิทัปปัจจยตาแล้ว ก็จะสามารถปล่อยตนเอง ปลดปล่อยตนเอง ให้มีความเป็นอิสระ ยิ่งขึ้นๆ นอกจากนี้ ก็ฝึกบังคับตนเองให้มีวินัยที่สม่ำเสมอ จนฝังอยู่ในเนื้อในตัว วินัยนี่สำคัญมาก ใครๆ เขาก็มักจะบอกกันว่า คนไทยนี่อะไรๆ ก็ดี แต่ช่างเป็นคนที่ขาดวินัยเสียจริง จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ ก็ลองช่วยนึกกันดู เขาว่าเรานี่เป็นคนชอบทำอะไรอิสระ แล้วเราก็มักจะไปพอใจในคำว่าอิสระ แต่อิสระในที่นี้ไม่ใช่อิสระทางธรรมเป็นอิสระทางโลก ที่เป็นอิสระที่เห็นแก่ตัว ตามใจกิเลส อยากจะพูดพูด อยากจะคุยคุย อยากจะเล่น อยากจะกิน อยากจะนอน อยากจะทำอะไรอะไรที่มันนอกกฎนอกระเบียบ แล้วก็เห็นว่าเป็นของโก้ เป็นเกียรติ นี่เป็นเรื่องของกิเลส เป็นอิสระที่ไม่ใช่ทางธรรม แต่อิสรภาพที่เราจะต้องสร้างขึ้นในทางธรรมนั่น ตามหลักของกาลามสูตร นั่นสิ เป็นสิ่งที่เราจะต้องฟื้นฟู และก็ปฏิรูป ให้เกิดขึ้นให้ได้ ฉะนั้น เรื่องของวินัยนี้สำคัญมากนะคะ ทำไมผู้ที่บางครั้งก็มีเวลาว่างพอ ที่จะมาฝึกปฏิบัติธรรม แล้วบางท่านก็มา แต่ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าได้ เพราะพอมาถึงเข้า เพลินในการกินบ้าง การนอนบ้าง การสนุกสนานบ้าง หรือเพลิดเพลินกับธรรมชาติรอบตัว นี่เพราะอะไร ก็เพราะขาดวินัย ไม่สามารถจะบังคับตัวเอง ให้ฝึกอบรมใจ ให้มีการปฏิบัติ ในทุกขณะ ในเรื่องของธรรมะประจำใจ ไม่สามารถทำได้
เพราะฉะนั้น วินัยที่น่าจะลองฝึกนะคะ ฝึกให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง และท่านผู้ใดสามารถฝึกได้ จะถือว่าท่านผู้นั้นมีมงกุฎของวินัยประดับอยู่ที่หัวใจ ไม่ใช่ประดับอยู่ที่ศีรษะ แต่ประดับอยู่ที่หัวใจ นั่นก็คือ ฝึกวินัยให้หยุดคิดเหลวไหล ฝึกได้ไหมคะ ให้หยุดคิดเหลวไหล ข้อนี้สำคัญมาก วินัยนี้สำคัญมาก เพราะชีวิตของเราที่หมดไป ทุกเวลานาทีนี่นะคะ วันหนึ่งยี่สิบสี่ชั่วโมง สมมติว่านอนเสียแปดชั่วโมง เหลือเท่าไหร่ เหลือสิบหกชั่วโมง สิบหกชั่วโมงที่ลืมตาอยู่นี่นะคะ คิดดูให้ดีๆ บางท่านก็บอก ฉันทำงานตลอดเลย ไม่ได้ว่างเลย ใช้เวลาทำงานหมด จริงหรือเปล่า คิดสิบหกชั่วโมงยากไป เอามาหนึ่งชั่วโมงนี่ ที่นั่งที่โต๊ะทำงาน ทำงานหนึ่งชั่วโมงหรือเปล่า เปล่าเลย คิด เพื่อนเขาจะว่ายังไง ที่เราไปดาวน์ไว้นี่ เมื่อไหร่เราจะผ่อนเขาหมด ความกังวลอันนี้ เรื่องทุกข์โรคทุกข์ภัยไข้เจ็บ ก็ไปหาหมอแล้ว หมอเขาก็บอกว่าไม่เป็นไร แต่มันจะไม่เป็นไรจริงๆ หรือเปล่า แล้วก็อีกสารพัด คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น ผลที่สุด เหลือเวลาทำงานจริงๆ เท่าไหร่ สิบนาที อาจจะแค่สักสิบนาที แล้วก็บอกแหมทำงานตั้งชั่วโมง งานไม่เห็นก้าวหน้า เห็นไหมคะ เวลาที่หมดไปห้าสิบนาที หรือสี่สิบนาที มันหมดไปกับความคิดที่เหลวไหล เหลวไหลคือฟุ้งซ่านปรุงแต่ง วิตกกังวลเพ้อเจ้อ คาดคะเน เศร้าหมองเสียใจอะไรต่างๆ นานา นี่แหละที่ทางธรรมท่านบอกว่าเป็นสังขาร คือความคิดปรุงแต่ง เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านถึงได้แสดงธรรมว่า หยุดสังขารเสียเมื่อใด ความทุกข์ก็หยุด ก็หมด แต่ถ้าหากว่าไม่หยุดสังขาร คือคิดปรุงแต่งอยู่นั่นแหละ จิตใจมันก็ท่วมทับถมด้วยความทุกข์ ไม่มีวันหมดสิ้น เพราะฉะนั้นฝึกวินัย เราจะหยุดคิดเรื่องเหลวไหล
ทีนี้จะฝึกได้อย่างไร ก็นำอานาปานสติภาวนา หรือวิธีของสมาธิภาวนาที่ท่านได้ฝึกฝนมาเข้ามากำกับใจ หรือถ้ามันกำกับไม่อยู่ อยู่กับลมหายใจไม่ได้ ก็ลองฝึกว่า ตายทุกวัน ตายทุกวัน ตายทุกวัน อ้าว ไม่พอ กำลังตายนะ กำลังตายนะ ขณะที่หายใจนี่ เรากำลังเข้าสู่ความตายทุกขณะ จริงไหมคะ เรารู้เมื่อไหร่ ว่าเราจะอยู่นาน เรารู้เมื่อไหร่ว่าเราจะหยุดหายใจ เพราะฉะนั้น นี่ตายทุกขณะ ตายทุกขณะ หรืออยากเอาให้สั้น ตายนะ ตายนะ ตายนะ ดิฉันว่าฝึกอย่างนี้ก็ยังดี เพราะบอกตายนะ ตายนะ นี่มันดียังไง มันทำให้หยุดคิด มันทำให้หยุดคิด เพราะถ้ามัวแต่ไปคิดเรื่องอื่น อ้าว เดี๋ยวเกิดตายขึ้นมาไม่รู้ตัว ขาดสติ เพราะฉะนั้น ฝึกหาอะไรมาฝึกตัวเอง คือฝึกใจของตัวเอง กำกับเพื่อให้หยุดคิดให้จงได้ หรือ ตถาตาของเจ้าประคุณท่านอาจารย์ อันนั้นก่อให้เกิดปัญญามาก มันอะไร อะไรมันก็ตถาตา อะไรๆ มันก็เช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง เพราะมันอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง เดี๋ยวก็เกิดเดี๋ยวก็ดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีสิ่งใดคงที่ ไม่มีสิ่งใดเอาแต่ใจได้เลยสักอย่างเดียว เตือนตัวเองอยู่อย่างนี้ค่ะ หาอะไร อะไรมาเตือนตัวเอง หรืออย่างน้อยที่สุด หยิบบทสวดมนต์ที่ชอบที่สุดสักบทหนึ่ง เอาเข้ามาสวดเพื่อให้มันหยุดความคิดเหลวไหลนี่ให้ได้ แล้วก็เมื่อมันค่อยจางไป ก็อยู่กับลมหายใจ
ฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดฝึกวินัย หยุดคิดเรื่องเหลวไหล แต่เปลี่ยนเป็นฝึกคิดในเรื่องที่สร้างสรรค์ประโยชน์ ก็โปรดจำไว้เถิดว่า นี่แหละกำลังสร้างมงกุฎของชีวิตให้เกิดขึ้นแล้วนะคะ เป็นมงกุฎของวินัยที่ประจักษ์หัวใจของเรา และทุกเวลานาทีก็จะเป็นชีวิตที่มีแต่ประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้สิ่งที่ควรฝึกอีก อยู่ที่ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อการศึกษาที่ถูกต้องนั้น ก็คือ ฝึกการมองทุกอย่างในแง่ดี ฝึกการมองทุกอย่างในแง่ดี แม้แต่ว่าบางคนอาจจะมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ฉันเกิดมาไม่มีทุนเหมือนคนอื่นเขา เป็นคนยากจน จะทำอะไรก็หมดหนทาง สวนโมกข์นี้ โปรดทราบเริ่มต้นมาด้วยความยากจนมาก ไม่มีทุนทรัพย์ แต่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ ท่านก็ได้รับความกรุณา ความรัก ความเข้าใจ จากคุณโยมแม่ของท่านที่ยอมให้เงินเพื่อนผี หลายท่านคงรู้จักเงินเพื่อนผีนะคะ คือเงินที่ท่านผู้ใหญ่ท่านจะเก็บไว้จำนวนหนึ่ง สำหรับใช้ในยามแก่ยามชรา เป็นเงินสำหรับเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะได้อาศัยเงินจำนวนนี้ ไม่มีลูกหลานจะมาดูแลก็จะได้อาศัยเงินจำนวนนี้ จ้างผู้คนมาช่วยดูแล แต่เมื่อเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านไปอธิบายให้ฟังว่า การที่จะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง เช่นสวนโมกข์อย่างนี้ มันมีคุณค่า มีคุณประโยชน์อย่างไร ท่านอธิบายให้คุณโยมแม่ฟัง ถึงกับว่ามันมีประโยชน์มากกว่าสร้างโบสถ์สักสิบหลัง ซึ่งบรรดาเราชาวพุทธนี่นะคะ ก็มักจะนึกว่า การที่ได้ทอดกฐินสักครั้งหนึ่ง หรือการที่ได้สร้างโบสถ์สักหลังหนึ่งนี่เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง แต่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านอธิบายว่า การจะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ด้วยการเริ่มต้นเล็กๆ นี่ มีกุฏิเล็กๆ มีสถานที่พออยู่ได้กินได้ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยเลยนี่ แต่ก็ต้องอาศัยทุนทรัพย์ อันนี้นี่ ถ้าทำได้แล้วมันจะมีบุญกุศลใหญ่ยิ่ง กว่าสร้างโบสถ์สักสิบหลัง และท่านก็อธิบายด้วยเหตุผลประกอบ ก็เชื่อว่าคุณโยมแม่ของท่าน เป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็ท่านคงจะมีความเข้าใจในพุทธศาสนาแบบพุทธศาสตร์ แม้ในตอนโน้นจะยังไม่ได้พูดกันถึงคำว่าพุทธศาสตร์มากนัก ท่านก็ยอมสละเงินทั้งหมดที่ท่านมีอยู่นี่ ให้เจ้าประคุณท่านอาจารย์ แล้วก็ทำเป็นทุน ในเรื่องการบำเพ็ญกุศลของตระกูลพานิช แล้วก็ใช้ในกิจการของสวนโมกข์ นี่ก็เรียกว่า เริ่มต้นด้วยความยากจนมาก ทีนี้ เจ้าประคุณท่านอาจารย์ ท่านไม่ใช่เพียงว่าได้เงินมาตั้งต้น เพราะเงินจำนวนนั้นแม้จะมากในสมัยโน้น แต่ทว่าก็ไม่มากพอที่จะก่อสร้างให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ เรียกว่า โอ่โถง สง่า สงบ แล้วก็เป็นที่พึ่งของผู้คนทั้งหลายเหมือนอย่างสวนโมกข์ในขณะนี้ แต่ท่านมีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่า มนุษย์เราทุกคนนั้น ธรรมชาติได้ให้ต้นทุนมาแล้วอย่างเพียงพอ นั่นก็คือนิ้วสิบนิ้ว แล้วก็มันสมองหนักหนึ่งปอนด์ เมื่อมีนิ้วสิบนิ้ว มีมันสมองหนักหนึ่งปอนด์ เป็นต้นทุนที่มากเพียงพอแล้ว ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เพื่อให้ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองต่อไป และนี่แหละ ท่านก็ใช้ นิ้วสิบนิ้ว มันสมองหนักหนึ่งปอนด์ พร้อมๆ กับคุณสมบัติที่กล่าวแล้วข้างต้น ที่เราได้พูดมานั่นน่ะ แล้วก็ก่อสร้างสวนโมกข์ จากสวนโมกข์เก่าที่พุมเรียง จนกระทั่งมาเป็นสวนโมกข์ปัจจุบัน มีกิจกรรม แล้วก็เอื้ออำนวยประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มหาศาล อย่างที่เราได้ทราบกันอยู่แล้วนี่ ก็ไม่ต้องบรรยายอีกนะคะ ฉะนั้นเกิดจากอะไร ก็เพราะท่านมองทุกอย่างในแง่ดี ไม่เอามาเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจว่าความยากจนนั้นเป็นอุปสรรค หรือว่าเป็นความอาภัพ แต่ท่านใช้สิ่งที่มี นิ้วสิบนิ้ว มันสมองหนักหนึ่งปอนด์ นอกจากนั้นท่านก็พยายามที่จะสร้างคิดถ้อยคำที่จะให้กำลังใจแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย รักกัน ชอบกัน มองอะไรในแง่ดี เช่น มองแต่แง่ดีเถิด
เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
ใช่ไหมคะ กลอนบทนี้เป็นที่กว้างขวางมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เรียกว่าทุกวงการ ทั้งในระดับสูงหรือระดับทั่วไป เมื่อเวลาที่ใครขัดใจกัน ไม่ชอบใจกัน ก็จะเอาอันนี้มาพูด ที่จริงดีมากนะคะ แต่ถ้าหากผู้พูดนี่ พูดแล้วทำด้วยจะดียิ่งขึ้น นี่มักจะไปบอกคนอื่น นี่เธออย่าไปคิดมากเลย มองแต่แง่ดีเถอะ ท่านพุทธทาสท่านว่าอย่างนี้ บอกคนอื่นให้ดู แต่ตัวเองไม่ดู ถ้าต่างคนต่างช่วยกันดู เราจะมีความสามัคคีกลมเกลียว แล้วก็สละ แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลา เสียเวลาที่จะไปใช้ในการที่จะคิดแก้แค้น คิดเอาคืนให้สาสมใจ หรือว่าคิดเสียใจวิตกกังวล แล้วเราก็จะได้ใช้เวลาเหล่านั้น มาทำงานให้เกิดประโยชน์ เห็นไหมคะ คุณค่าของการฝึกมองทุกอย่างในแง่ดี นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ต้องการจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตให้เป็นชีวิตที่มีความสุขสงบเย็น สมความปรารถนา เพราะฉะนั้น นี่คือชีวิตที่เราสามารถจะพัฒนาได้ตามกฎอิทัปปัจจยตา
ทีนี้คุณสมบัติสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องของวิธีการศึกษาตามกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องนั้น ก็คือจะต้องฝึกอบรมตนเองให้มีการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานั้นไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงในโรงเรียน หรือใน มหาวิทยาลัย นั่นเป็นแต่เพียงการศึกษาที่อยู่ในระบบ แต่การศึกษานอกระบบ ที่ทุกคนจะต้องเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นสิ่งที่จะนำความเจริญมาสู่ชีวิตอย่างแท้จริง ฉะนั้นเจ้าประคุณท่านอาจารย์เป็นตัวอย่างของบุคคลที่เห็นทุกอย่างเป็นการศึกษาไปหมด ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติล้อมรอบตัว ทรายสักเม็ด ต้นไม้สักต้น ก้อนหินสักก้อน แมวสักตัว หรือว่าเป็นสุนัขหรือว่าไก่ หรือเหตุการณ์บุคคลสิ่งแวดล้อมอะไรที่เข้ามาผ่าน ที่ท่านได้กระทบได้ประสบ ท่านถือเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งนั้น การอ่านหนังสือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของท่านตั้งแต่ท่านยังหนุ่มอยู่เพราะท่านสังวรอยู่ในใจเสมอว่า การศึกษาทางโลกของท่านนั้นน้อยเพียงแค่มัธยม 3 เพราะฉะนั้นท่านก็จะบอกว่าความรู้ทางสามัญของเราก็ยังไม่พอ เราจะต้องฝึกอบรม ภาษาไทยของเราก็ยังไม่ดี นี่พอได้ยินท่านบอกว่าภาษาไทยของเราก็ยังไม่ดี เรารู้สึกอายนะอย่างดิฉันนี่รู้สึกอายจริงๆ เพราะว่าเราจะเขียนภาษาไทยให้ได้อย่างท่าน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง หมดหนทางไม่มีความสามารถอย่างนั้น ท่านสามารถใช้ภาษาที่คมเฉียบ ตรงจุด สละสลวย นุ่มนวลละมุนละไม เรียกว่าท่านจะปั้นออกมาเป็นคำอย่างไร ท่านสามารถจะใช้ได้ แต่ท่านยังบอกว่าภาษาไทยของเรายังไม่พอ แล้วท่านก็ฝึกฝนอบรมทั้งภาษาไทยทั้งภาษาบาลีทั้งภาษาอังกฤษ เห็นไหมคะ ท่านเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต สนใจในการเรียนรู้ทุกเรื่อง สิ่งที่จะช่วยให้การศึกษาตลอดชีวิตนั้น มั่นคงกว้างขวางแล้วก็ไม่หยุดดำเนินอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการฝึกตนให้เป็นนักอ่านประกอบไปด้วย เจ้าประคุณท่านอาจารย์เป็นนักอ่านที่บอกว่าน่าสนใจมาก หรือนักอ่านที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นนักอ่านที่มีประสิทธิภาพ
พอหันมาพูดถึงเรื่องของการอ่านก็อดจะนึกเสียดายไม่ได้ ที่การศึกษาในสถาบันของเราในขณะนี้เน้นเรื่องการฝึกอบรม นักเรียนหรือนิสิตนักศึกษาให้เป็นนักอ่านน้อยไป ถ้าหากว่าผู้ที่เป็นนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ไม่สนใจในเรื่องของการอ่าน แน่นอนที่สุด ความรู้ความสามารถจะคับแคบ มีอยู่แต่เฉพาะให้ตนสอบได้เท่านั้น ที่น่าเศร้าใจมากนะคะ ถ้าเราจะไปถามนักเรียนนักศึกษาบางท่าน ไม่สนใจวิชาอะไรอื่น นอกจากวิชาที่ต้องทำการสอบ นี่ก็เรียกว่าเรียนเพื่อสอบให้ได้ ส่วนจะได้แล้วรู้จริงหรือไม่ ไม่สนใจ นี่คือความล้มเหลวของการศึกษา ก็ขออนุญาตแทรกเอาไว้เพียงนิดเดียวนะคะ แต่ถ้าท่านผู้ใดมีการศึกษาตลอดชีวิตด้วยตนเอง ก็จะมีผลเร็ว แน่นแฟ้น เพราะมันเป็นสันทิฏฐิโก คือเห็นได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้กระบวนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ยังต้องการการฝึกอบรมในเรื่องความละเอียดถี่ถ้วน ดิฉันขอย้ำทีเดียวว่า การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น จะกระทำอย่างหยาบๆ ไม่ได้ หยาบไม่ได้เลย ต้องละเอียดถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือละเอียดถี่ถ้วน สังเกตในอาการของความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตของเรา นิดเดียวก็ต้องรู้ ว่าความรู้สึกอันนี้เกิดจากอะไร เพราะอะไร ยิ่งไวเท่าไหร่ในการจับความรู้สึก สังเกตสังกา ก็จะเท่าทัน ความพลิกพลิ้วของจิตได้เร็วเท่านั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิต จะรู้สาเหตุของมัน แล้วก็จะปรับแก้ไขได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น การฝึกความละเอียดถี่ถ้วนในทุกเรื่องสำคัญมาก สำคัญจริงๆ จึงควรที่จะฝึกโดยชนิดที่ไม่ยอมให้อะไรผ่านไป ความมักง่าย ความอะไรก็ได้ เหมือนกับเป็นคนเรียบๆ น่ากลัว เดี๋ยวนี้มักจะบอก ฉันไม่เอาอะไรหรอก นั่นก็ได้ นี่ก็ได้ มองดูเหมือนกับว่า น่าอนุโมทนา แต่อันที่จริงแล้ว มันมีความอยาก มีความมักง่าย มีความเลินเล่อ เพื่อจะเอาแต่ใจแทรกอยู่หรือเปล่า ถ้ามันแทรกอยู่แล้วล่ะก็ มันกลายเป็นอุปสรรคนะคะ อันนี้ควรจะต้องสังเกตทีเดียว เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านได้กล่าวเอาไว้ใน เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา ท่านพูดถึงเรื่องเอกลักษณ์ของไทย น่าสนใจมากเลย ท่านบอกว่า เท่าที่ดูๆ แล้วนี่ ท่านก็สังเกตตั้งแต่เรื่องของอาหาร ทั้งคาวหวาน เรื่องของการแต่งกาย เรื่องของดนตรี เรื่องของกาพย์กลอน การรำละคร อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ในตอนแรกมันไม่ใช่ของเราโดยตรง แต่ได้รับมาจากต่างประเทศ เช่น อินเดียบ้าง จีนบ้าง โปรตุเกสบ้าง และท่านก็มาพัฒนาให้ฟังว่า ทุกอย่างที่รับมานี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนม ของหวาน หรืออาหารคาว หรือการนุ่งผ้าโจงกระเบน หรือดนตรีร้อยกรอง คนไทยรับมาแล้ว ล้วนแล้วแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ประณีตขึ้น ไพเราะขึ้น ถ้าเป็นอาหารก็อร่อยขึ้น ยิ่งกว่าเจ้าของเดิมทำทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงสรุปว่า ทุกอย่างเราไม่เคยทำอะไรไม่ดีเกินครู คือล้วนแล้วแต่ดีเกินครูทุกอย่างเลย นี่เป็นอัจฉริยภาพของบรรพชนไทยของเรา นี่เป็นมุมมองที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์มองอย่างละเอียด แล้วท่านสรุป แล้วท่านก็บอกว่าพวกที่นิยมเอกลักษณ์ไทยควรจะนึกถึงข้อนี้ เอกลักษณ์ของไทยนั้นก็คือความสามารถทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นเป็นเอกลักษณ์ของบรรพชนไทย
แต่ท่านบอกว่าถ้าจะพูดถึงเอกลักษณ์ของไทยให้ชัดเจนแล้วละก็ ลืมไม่ได้ ต้องใส่ลงไปว่าเอกลักษณ์ไทยคือเราทำอะไรดีกว่าครูเสมอ คำพูดประโยคนี้ชี้อะไรหรือเตือนใจอะไรเราบ้าง ในสังคมไทยทุกวันนี้สำหรับดิฉันก็มองในแง่ว่าในขณะนี้ เราเพิ่มในด้านปริมาณค่อนข้างมาก แต่ในด้านคุณภาพนั้นลดลงตามลำดับ ในขณะนี้เรามีการพูดกันถึงเรื่องคุณภาพชีวิตบ่อยเหลือเกิน การอภิปราย การประชุมสัมมนา หรือการบรรยาย พูดกันถึงเรื่องคุณภาพชีวิตด้วยเหตุอะไร
หนึ่ง เพราะคิดว่า คุณภาพชีวิตจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์
สอง เพราะเห็นว่าทุกวันนี้ชีวิตขาดคุณภาพมากขึ้นทุกทีๆ จึงควรจะปรับปรุง
ทีนี้ สาม และผลของการพูด การสัมมนา ได้ผลไหม เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ยังไม่มี ยังไม่เห็น ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญที่เราจะต้องนึกว่า เอกลักษณ์ของไทยนั้น คือความมีคุณภาพ ไม่ใช่ความอะไรก็ได้ อย่างไม่มีความหมาย จึงเป็นสิ่งที่ควรที่จะนำมาสะกิดใจ แล้วก็ปรับปรุง การปรับปรุงอันนี้จะได้ผล ถ้าหากว่าการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น กระทำกันอย่างจริงจัง ทีนี้วิธีของการที่จะจดจ่อมุ่งลงไปสู่การศึกษา เราจะควรจะคิดด้วยเรื่องอะไรวิธีไหนก็อยากจะเรียนว่า
ข้อแรกทีเดียวนะคะ ในการที่จะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องนั้นควรจะเริ่มการคิดตามหลักของอริยสัจสี่ หลักของอริยสัจสี่นั้นก็คือเมื่อจะทำสิ่งใดก็ตามควรจะคิดว่า หนึ่งคืออะไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงเริ่มต้นว่า ทุกข์คืออะไรในข้อแรก ข้อที่สองเพราะเหตุใด หรือเรื่องเพราะอะไรจึงจะต้องมาศึกษาเรื่องทุกข์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำอะไรสิ่งนี้มันคืออะไรคิดลงไปให้ลึกซึ้งเราจะได้แจ่มแจ้งในใจว่ากำลังจะทำเรื่องอะไร ทีนี้เอาให้ชัดลงไปอีกเพราะอะไรจึงจะต้องมาทำเรื่องนี้ต้องมาคิดเรื่องนี้เอาให้ชัดลงไป และต่อไปก็เอาให้ชัดอีก ถ้าทำแล้วจะได้ผลอะไร ผลที่เกิดขึ้นนี่คืออะไร ในอริยสัจสี่ ท่านก็บอกว่า ถ้าศึกษาเรื่องทุกข์ จนกระทั่งกำหนดรู้ได้ ศึกษาเรื่องของเหตุแห่งทุกข์ จนกระทั่งละได้ ก็แน่นอน จะมีความดับทุกข์ คือนิโรธเกิดขึ้น คือทำให้แจ้งในเรื่องของความดับทุกข์ และข้อที่สี่ โดยวิธีใด เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่ทำคืออะไร ทำไมจึงทำ และผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอะไร จะคืออะไร ต่อไปก็คือ และจะทำโดยวิธีใด นั่นก็คือ เรื่องของมรรค ก็คือนี่แหละวิธีที่จะเดินไปสู่ความดับทุกข์ นี่ฝึกคิดตามหลักอริยสัจสี่ เพราะเป็นหลักการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราฝึกคิดตามหลักของอริยสัจสี่ เชื่อแน่ว่า การคิดทำการงานสิ่งใด ความพลาดพลั้งจะมีน้อยเพราะได้คิดอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วก็จะมีหนทาง มองเห็นหนทางที่จะดำเนินไปในการกระทำนั้น อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นอีกด้วย จึงส่งเสริมให้เกิดความรอบคอบ
ข้อต่อไปก็คือ ควรจะศึกษาอย่างเป็นครูเขา ในการที่จะศึกษาเรื่องของธรรมะนั้น อย่าศึกษาว่ารู้เฉพาะตัวเรา เพราะการรู้เฉพาะตัวเราบางทีมันแคบไป หรือบางทีก็เอาอย่างตื้นๆ ง่ายๆ ดิฉันจำได้ เจ้าประคุณท่านอาจารย์ ท่านเคยสอนดิฉัน เมื่อมาอยู่ใหม่ๆ ว่าศึกษาธรรมะนี่ มันต้องศึกษาอย่างเป็นครูเขา ทำไมท่านบอกว่า ต้องศึกษาอย่างเป็นครูเขา เพราะเมื่อผู้ใดสำนึกตัวว่าเป็นครู ใช่ไหมคะ อาจจะมีท่านที่เป็นครูนั่งอยู่ในที่นี้หลายท่าน สำนึกตัวว่าเป็นครู เราจะต้องให้ความแจ่มแจ้งแก่ลูกศิษย์ในวิชาที่เราสอน ทีนี้ถ้าเราศึกษาธรรมะ เราจะต้องศึกษาอย่างเป็นครู เราก็จะต้องคิดค้นขุดคุ้ยในเรื่องของธรรมะนั้นอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งในเรื่องของหลักการ ในเรื่องของวิธีการปฏิบัติ ในเรื่องของอุปสรรคหรือ ข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้น จะแก้ไขอะไรอย่างไร จะต้องรู้อย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการศึกษาอย่างเป็นครูเขาเป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้ในการที่จะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา นอกจากนั้นควรจะศึกษาเหมือนอย่างเราเป็นคนเขียนตำราเอง ถ้าจะอ่านหนังสือนะคะ จะเป็นหนังสือในทางวิชาการหรือทางโลกก็ตาม โดยเฉพาะหนังสือในทางธรรม ต้องศึกษาเหมือนอย่างเราเป็นคนเขียนตำราเอง ท่านบอกว่าที่จะศึกษาเหมือนอย่างเราเป็นคนเขียนตำราเอง ก็ศึกษาอย่างที่ว่า กลั่นเป็นความรู้ให้ทุกประโยค ทุกประโยคที่กล่าวในหนังสือนั้น อย่าอ่านข้าม อย่าอ่านเพียงเผินๆ อย่างที่ในภาษานักอ่านก็บอกว่า ต้องเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในระหว่างบรรทัด ใช่ไหมคะ ระหว่างบรรทัดมันเป็นเนื้อที่ว่างๆ แต่ต้องเข้าใจว่าความหมายที่ซ่อนเอาไว้ในระหว่างบรรทัดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร จึงต้องกลั่นความรู้ เป็นความรู้ให้ทุกประโยค นอกจากนั้น ท่านยังเน้นอีกว่าต้องปล้ำปลุกกับหนังสือเล่มนั้นจนแหลกละเอียด นึกดูสิคะ ปล้ำปลุกกับหนังสือเล่มนั้นจนแหลกละเอียด ไม่ใช่ว่าอ่านไป ฉีกทิ้งไปจนแหลกไม่ใช่อย่างงั้น แต่ปล้ำกับมัน คือปล้ำกับตำราความคิดที่สอดแทรกอยู่ในหนังสือนั้นจนแหลกละเอียด คือตีแตกหมดเลย ผู้เขียนจะบอกว่ายังไงสามารถตีแตกความคิดออกมาได้หมดเลย นี่คือศึกษาอย่างเป็นครูเขา แล้วก็อย่างเป็นคนเขียนตำราเอง ถ้าท่านผู้ใดศึกษาธรรมะในระบบนี้ รับรองว่าการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาจะเจริญรวดเร็วอย่างทันตาเห็นเลยนะคะ
นอกจากนี้ก็ควรจะศึกษาอย่างองค์รวม ไม่ใช่แยกส่วน ไม่ใช่แยกส่วนว่าศึกษาประวัติชั้นนี้ชั้นเรียนนี้ศึกษาเรื่องประวัติ ประวัติในตอนต้น ชั้นเรียนต่อไปก็ไปศึกษาประวัติในตอนปลาย หรือว่าศึกษาเรื่องมงคล 38 ข้อนี้บ้าง เรื่องนั้นบ้างแยกกันไปเป็นเรื่องๆ แต่ว่าต้องศึกษาอย่างองค์รวม ก็เช่นศึกษาเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์เป็นองค์รวมเรื่องนี้ ทีนี้หลักธรรมที่จะเป็นส่วนประกอบส่งเสริมให้เข้าใจเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ขึ้นให้ละเอียดลึกซึ้งมีอะไรบ้าง ก็อย่างหลักธรรมที่เราได้กล่าวแล้วก็นำเข้ามาที่กล่าวแล้วในตอนต้น ก็นำเข้ามาเช่นอริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ไตรลักษณ์ มัชฌิมาปฏิปทา กาลามสูตร และอื่นๆ เป็นต้น นำมาเป็นส่วนประกอบเพื่อส่งเสริมให้ความเข้าใจในเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ชัดยิ่งขึ้นหรือศึกษาเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด ไม่ใช่แยกว่าตอนนี้ศึกษาเรื่องสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เดือนหน้าสัมมาสังกัปปะ เดือนโน้นสัมมาวาจา เดือนโน้นสัมมาสมาธิ ไม่ได้ ต้องศึกษาพร้อมกัน เรื่องของอริยมรรคมีองค์แปดนั้นก็คือการทำงานร่วมกันเหมือนกับฝั้นเป็นเชือกเกลียวเดียวกันหนึ่งเกลียว ฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนาต้องศึกษาอย่างองค์รวม ไม่ใช่แยกส่วน แล้วก็จะทำให้ความเข้าใจในสิ่งที่ศึกษากระจ่างชัด นอกจากนี้ก็ศึกษาเครื่องมือการศึกษาที่ธรรมชาติให้มาที่เราได้พูดมาแล้วบ้างคือ เรื่องของอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 อย่างนี้ให้รู้จักให้ละเอียดว่ามันคือสิ่งที่ธรรมชาติให้มา เพื่อทำหน้าที่เท่านั้น มันไม่ใช่ตาของเรา ไม่ใช่หูของเรา จมูกของเรา ปากของเราหรือกายของเราใจของเรา ธรรมชาติให้มาเพื่อทำหน้าที่ ตาก็เพื่อทำหน้าที่เห็น พอเห็นเสร็จเวลาเรานอนหลับเราไม่เคยนึกว่าเรามีลูกนัยน์ตาหรือเปล่า หรือนัยน์ตานี้เป็นของฉันหรือเปล่า หรือในขณะที่เรานั่งอยู่สบายสบายเราก็ไม่สนใจว่าเรามีขาหรือเปล่า เพราะในขณะนั้นขาไม่ได้ทำหน้าที่จนกว่าจะรู้สึกปวดขา ก็จะอ้อนี่เรามีขาใช่ไหมคะ ทุกอย่างที่ธรรมชาติให้มานั้นเพื่อทำหน้าที่สนองประโยชน์ตามที่ต้องการ แต่มิใช่ให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นศึกษาเครื่องมือที่ธรรมชาติให้มาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นบ่อเกิดของนรกหรือสวรรค์ขึ้นในใจ อย่างที่เราพูดมาแล้วในตอนต้น แต่เป็นเพียงเครื่องมือและเมื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้แล้วจิตของเราก็คงปกติอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ เตรียมการศึกษาเป็นอย่างดีให้ทุกเรื่อง อย่าประมาท ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรแม้จะเรื่องศีล ๕ ก็เตรียมทำความเข้าใจเรื่องศีลห้าอย่างละเอียดไม่ใช่เพียงท่องได้ หรือจะเป็นเรื่องไตรลักษณ์ ก็ไม่ใช่เพียงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจะอิทัปปัจจยตา ก็ไม่ใช่แต่เพียงว่าเหตุปัจจัยอย่างใดผลอย่างนั้น ต้องเข้าใจให้ละเอียดทุกขั้นตอนของความต่อเนื่องกัน เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็จะเตรียมการอย่างนี้อย่างดีเหมือนอย่างเช่น ท่านจะบวชอย่างนี้นะคะ ตามที่ได้ยินเล่ามา พอท่านรู้แน่ว่าอย่างไรเสียท่านต้องบวชเพราะว่าคุณโยมท่านต้องการให้บวชในตอนนั้น ท่านก็เตรียมในเรื่องของการบวชเป็นอย่างดี เตรียมศึกษาทำความรู้ทำความเข้าใจในเรื่องของชีวิตนักบวช สิ่งที่ต้องควรรู้มีอะไรบ้าง แล้วท่านก็เล่าว่าพอบวชได้สักสองสามวันเท่านั้น ทุกอย่างเข้ารูปไม่ต้องมานั่งคลำเป็นพรรษาจนออกพรรษาก็ยังไม่รู้ว่าการบวชนี้คืออะไร จะต้องถามอะไร นี่เพราะท่านเตรียมตัวอย่างรอบคอบหรือการไปประเทศอินเดีย ท่านก็คิดจะไปประเทศอินเดีย แต่เมื่อท่านจะไปนี้ท่านก็จะต้องมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อจะรู้เรื่องอินเดียคือท่านรู้จักอินเดียอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะไป เหลือแต่สิ่งที่จะต้องไปศึกษาจากสถานที่อินเดียจริงๆ เท่านั้น นอกนั้นพอไปแล้วเห็นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านจะเป็นมัคคุเทศก์ขององค์ท่านเองในการไปอินเดียได้ แล้วก็พอไปแล้วแทนที่จะอยู่นิดเดียวท่านอยู่ดูเหมือนจะตั้งหกเดือน คือศึกษาอย่างถี่ถ้วน แล้วท่านก็ได้นำสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมาสู่เพื่อนพุทธบริษัทในประเทศไทยมากมาย ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมนั่นก็คือ ภาพที่โรงปั้นที่อยู่รอบโรงหนังที่เป็นภาพพิมพ์สลักที่ท่านได้นำมาเป็นรูปปั้นให้ดูที่นี่ แล้วก็ยังมีข้อธรรมในรายละเอียดอีกมาก ถ้าท่านผู้ใดสนใจก็ลองอ่านธรรมเทศนาที่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องของอินเดียมีพระคุณต่อเราอย่างไรบ้าง อย่างนี้เป็นต้น
ฉะนั้นการเตรียมการศึกษาอย่างดีในทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก จะเป็นการส่งเสริมให้การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น เครื่องมือของการศึกษานั้นก็แน่ล่ะจะขาดไม่ได้ซึ่งจิตตภาวนาหรือสมาธิภาวนา นี่ดิฉันถือว่าเป็นเครื่องมือของการศึกษา เพราะการศึกษาศาสนา พุทธศาสนาต้องการใจที่เงียบ สงบ นิ่ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว แล้วก็เป็นจิตที่ว่างพอสมควร ซึ่งก็ต้องอาศัยการปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นพื้นฐานเสียก่อน ใช่ไหมคะ ถ้าไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนาจิตนั้นยังระส่ำระสาย ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ ความคิดวิตกกังวลต่างๆ ก็ย่อมจะเข้าถึงความสงบไม่ได้ เมื่อความสงบไม่มีก็จะไปวิปัสสนาเพื่อใคร่ครวญธรรม ศึกษาลงไปหาความจริงนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิภาวนาหรือจิตตภาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญ ดิฉันถือว่าเป็นเครื่องมือการศึกษา นอกจากนี้อิทธิบาทสี่ อิทธิบาทสี่เป็นข้อธรรมที่ท่านบอกว่าเป็นบาทฐานของความสำเร็จ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะทำการงานทางโลกหรือทางธรรม ถ้าขาดเสียซึ่งฉันทะ ความรักความพอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะ ความพากเพียรที่จะทำอย่างต่อเนื่องให้มากให้ดี จิตตะ ความมีใจจดจ่ออยู่แต่ในสิ่งที่จะทำ แล้วก็วิมังสา คิดใคร่ครวญไตร่ตรอง เพื่อจะดูว่ามีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคบั่นทอนมีสิ่งใดที่จะส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้า นี่พูดอย่างคร่าวๆ นี่คืออิทธิบาทสี่ ซึ่งอิทธิบาทสี่นี้เป็นข้อธรรมที่สำคัญมากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรับสั่งว่า ผู้ใดที่ได้บำเพ็ญอิทธิบาทสี่อย่างเต็มที่แล้วนี่สามารถจะอยู่ได้เป็นกัป ฉะนั้นก็แสดงว่าอิทธิบาทสี่เป็นคุณธรรมที่สำคัญที่ส่งเสริมความสำเร็จในการปฏิบัติงานทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นเครื่องมือสำคัญคืออิทธิบาทสี่ โปรดศึกษาอิทธิบาทสี่เพื่อนำมาส่งเสริมในการปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นก็ศึกษาข้อธรรมะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วให้ละเอียดชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วก็หาถ้อยคำประโยควลีที่กินใจเพื่อที่จะมาส่งเสริมใจของเราไม่ให้หมดกำลังใจเมื่อเกิดท้อใจ เช่น “มองอะไรมองให้เห็นเป็นครูสอน” อย่าไปท้อใจว่าแหมนี่มันไม่ดี ดู ดูเอาไว้เป็นครู แล้วเราก็จะได้กำลังใจจากสิ่งนั้น หรือ “เป็นอยู่อย่างต่ำมุ่งกระทำอย่างสูง” ถ้านึกน้อยใจว่าทำไมไม่เจริญก้าวหน้าก็อุตส่าห์ อุตส่าห์ตั้งใจ “อันการงานคือค่าของมนุษย์ ของมีเกียรติสูงสุดอย่าสงสัย” เบื่อหน่ายการงาน ปลอบใจตัวเองนี่มันคือค่าของมนุษย์นะ ถ้ามนุษย์เราไม่ทำการงานเสียอย่างเดียว ชีวิตจะมีค่าอยู่ที่ตรงไหน เพราะฉะนั้นก็หาสิ่งเหล่านี้นะคะ ถ้อยคำวลีประโยคที่กินใจที่สนใจนำเอามาอยู่ในใจของเรา โดยเฉพาะ “ธรรมะคือหน้าที่” ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านบอกอยู่ตลอดเวลา “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ถ้าสามารถทำได้จะมีสวรรค์อยู่ในทุกอิริยาบถ ส่วนสถานศึกษาการศึกษาธรรมะนั้นสถานที่ที่จะช่วยได้มากที่สุดก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติแวดล้อมภายนอกและก็ธรรมชาติแวดล้อมภายใน ฉะนั้นนี่ก็คือเรื่องของกระบวนการศึกษาเพื่อเรียนรู้ที่ถูกต้องเพื่อที่จะประกอบกัน ให้การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตของเรา สามารถดำเนินไปด้วยความถูกต้องรวดเร็ว และก็เกิดผลดังประสงค์ให้ยิ่งขึ้น ผลของกระบวนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องนะคะ หลังจากที่ท่านผู้ใดได้มีกระบวนการศึกษาด้วยการเรียนรู้ที่ถูกต้องแล้วผลที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้เป็นรูปธรรมก็ขออนุญาตนะคะ แล้วก็โปรดอภัยด้วยที่จะต้องขอยกตัวอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม เพราะว่าเป็นตัวอย่างที่เราเห็นชัดเหลือเกินและดิฉันก็เชื่อว่า สังคมในวงกว้างทั้งในบ้านเมืองเราและในต่างประเทศยอมรับในเรื่องของความเป็นอัจฉริยะแห่งท่านองค์นี้
ได้อ่านที่คุณหมอประเวศเขียนเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อปัจฉิมอาพาธ ของพุทธทาสมหาเถระนะคะ แล้วก็คุณหมอประเวศได้ปรารภว่า ทำไมคนคนเดียวจึงมีศักยภาพและทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้ เมื่อเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเวลาที่ท่านอาพาธและเมื่อท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ทำไมชีวิตของท่านนั้นตลอดกาลไม่ว่าจะในระยะไหน ในระยะใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะเหตุใด คุณหมอประเวศก็บอกว่า สำหรับคุณหมอนั้น คุณหมอก็รู้สึกว่าที่ชีวิตของท่านมีประโยชน์มหาศาลต่อเพื่อนมนุษย์ ก็เนื่องจากว่าตลอดชีวิตนั้นท่านมีกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง จึงได้พัฒนาชีวิตของท่านมาตามลำดับ จากในฐานะที่เป็นชาวโลกมีประโยชน์ต่อตนเองต่อครอบครัว แล้วก็ขยายความเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ทีละน้อยละน้อยขึ้นไป จนถึงเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างถึงที่สุดกว้างขวางมหาศาล โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ขององค์ท่านเองเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างถ้าเราจะมาดูที่สวนโมกข์กว้างขวางไพศาล ผู้คนมานับพันนับหมื่นนับแสน แล้วไปดูที่ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านพักเป็นห้องเล็กๆ นิดเดียว ที่สร้างเป็นห้องน้ำเอาไว้แต่เดิม ท่านก็ใช้ที่นั่นเป็นทั้งที่นอน เป็นทั้งที่ทำงาน เป็นทั้งที่พักผ่อน ส่วนบริเวณกว้างอีกตั้งหลายร้อยไร่นั้นเป็นของเพื่อนมนุษย์ที่เข้ามาใช้สถานที่นี้ มีอิสระที่จะไปที่ไหนอย่างไรได้ นี่คือแสดงถึงความที่ท่านมิได้เห็นแก่องค์ท่านเองเลยแม้แต่น้อย แต่นึกถึงว่าชีวิตของคนเราเกิดมานั้นเพื่อทำหน้าที่ในฐานะเป็นมนุษย์
ฉะนั้นผลของกระบวนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องแล้ว เกิดอะไรขึ้น ดิฉันจะขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมอย่างสรุปว่า ข้อแรกก็คือเกิดพุทธทาส พุทธทาสผู้มีความเป็นทาสของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไขต้องใช้คำว่าอย่างไม่มีเงื่อนไข และก็ด้วยความเป็นไทแก่ตนด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ท่านเห็นว่าสิ่งนี้คือการรักษาพระพุทธศาสนา คือการเป็นทาสที่จะนำพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่เพื่อนมนุษย์และดำรงไว้ให้สถาพรในโลกนี้ท่านจะทำทุกประการ เพราะฉะนั้นท่านจึงสามารถทวนกระแสของโลกอย่างองอาจกล้าหาญไม่ว่าในเรื่องการศึกษาธรรม การสอนธรรมและการกระทำที่ท่านแสดงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีจุดประสงค์ว่าเพื่อนำเพื่อนมนุษย์ให้มั่นคงอยู่ในพระธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ฉะนั้นก็เกิดพุทธทาสผู้มีความเป็นทาสพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นผู้นำคนยุคปัจจุบันให้เข้าสู่ทางลัดตัดตรง เข้าถึงแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็วทันแก่กาลเวลา ทั้งนี้ก็ไม่ใช่พูดเองแต่ได้ยินจากเพื่อนที่เรียกว่าคนยุคใหม่หรือคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นปัจจุบัน จนกระทั่งมีข้อเขียนในหนังสือเอกสารหลายฉบับที่บอกว่า คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสของสวนโมกขพลารามนั้นได้ทำความเข้าใจแจ่มกระจ่างในธรรมะของพระพุทธองค์ได้ลึกซึ้งแล้วก็รวดเร็วขึ้นมากนำเข้าสู่ทางลัดตัดตรงไม่ต้องไปอ้อมอยู่ที่เปลือกหรือที่กระพี้ แต่ว่านำเข้าสู่หัวใจของการศึกษา เพราะฉะนั้นจึงทำให้สามารถนำเอาพุทธธรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอันนี้เป็นพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่ามนุษย์เรานั้น ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะสามารถสละชีวิตทางโลก แล้วก็มาอยู่ในทางธรรม ทุกคนยังมีพันธะเกี่ยวข้องกับชีวิตทางโลก ทั้งในทางครอบครัวและการงานและภารกิจอื่นๆ
ทีนี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาประสงค์ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้คนที่อยู่ที่บ้านนี่ มีความสุขอบอุ่นที่บ้าน แล้วก็มีความสนุกเพลิดเพลินในการทำงาน จะได้มีชีวิตที่ไม่เป็นทุกข์ จะได้มีชีวิตที่สงบเย็น เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็นำคำสอนออกมาอธิบายเป็นคำง่ายๆ ที่คนชาวโลกจะเข้าใจได้เป็นภาษาธรรมดา เช่น “ธรรมะคือหน้าที่” ไม่ต้องไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องมาที่วัด แต่ถ้าเราทำหน้าที่ของเราถูกต้องเป็นประโยชน์ นั่นแหละคือปฏิบัติธรรมแล้ว “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” นี่ก็ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้ที่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เหลือเกินเบื่อหน่ายเหลือเกินในการทำงาน เพราะมันไม่ถูกใจทุกอย่างไปหมด คิดสิ คิดว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำหน้าที่ของเราถูกต้อง เกิดประโยชน์แล้ว มีสิทธิ์ที่จะมีสวรรค์ทุกอิริยาบถ เห็นไหมคะ ท่านนำคำง่ายๆ เหล่านี้มาบอกให้ฟัง แล้วก็ทำให้เกิดความโล่งใจว่า อ๋อ การปฏิบัติธรรมนี้ เราปฏิบัติอยู่ที่บ้านก็ได้ ถ้าเราไม่มีโอกาสที่จะสละชีวิตทางโลกมาอยู่ในทางธรรมได้อย่างเต็มตัว ก็ไม่ต้องเสียใจ เรายังปฏิบัติธรรมได้ เรียกว่าเราบวชได้ที่บ้าน เรานำวัดไปอยู่ในใจของเรา และเมื่อนำวัดอยู่ในใจ เราจะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกับเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น คำสอนของท่านก็จะลัดตัดตรงเข้ามาสู่เรื่องของ ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน ให้เข้าสู่อนัตตา ด้วยวิธีของการปฏิบัติที่ให้รู้จักเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งหลายๆ คนจะบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสูง นำมาพูดมาสอนไม่ได้หรอก ไม่เข้าใจกันหรอก มันสูงเกินไป แต่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านก็นำมาพูด ให้เป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราก็รู้ว่า เรื่องของปฏิจจสมุปบาทนั้น มันก็เกิดจากกระแสของการต่อเนื่องของการกระทำนั่นเอง ถ้าหากว่ากระทำด้วยวิชชา คือปัญญา สติปัญญาที่ถูกต้อง ผลก็คือไม่ทุกข์ ถ้าหากว่ากระทำด้วยอวิชชา คือความมืดเขลา ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลที่เกิดขึ้นก็ทุกข์ นั่นเอง ท่านพูดอย่างง่ายๆ แต่ว่ามีรายละเอียดมากกว่านี้นะคะ ในเวลาจำกัดก็อธิบายเพียงสั้นๆ ท่านนำเรื่องของปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาพูด ปฏิจจสมุปบาทถือว่าเป็น ข้อธรรมที่ลึกซึ้ง เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ทรงเห็นว่า มันเป็นแต่เพียงกระแสที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง แล้วก็ในเรื่องของธรรมะเรื่องอื่นๆ แต่ท่านจะเน้นเรื่องของอัตตา ให้เลิกเห็นแก่ตัวเอง เห็นแก่ผู้อื่นเมื่อใด เข้าถึงอนัตตาเมื่อนั้น นี่เราก็จะได้ยินการพูดกันในประชุมชน ในที่สาธารณะ ถึงเรื่องของจิตว่าง เมื่อถึงอนัตตา ก็คือความว่าง พูดถึงเรื่องธรรมะคือหน้าที่ พูดถึงเรื่องของความรับผิดชอบ พูดถึงการทำงานอย่างไม่หวังแต่ทำด้วยสติปัญญา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คนรุ่นใหม่นี่จะให้คำจำกัดความกันได้หลายอย่าง แต่ดิฉันขอให้คำจำกัดความว่า คนรุ่นใหม่คือคนที่ชอบเหตุชอบผล ชอบใช้สติปัญญามากกว่าที่จะเชื่ออะไรอย่างงมงาย คนรุ่นใหม่จะมีกาลามสูตรเป็นหลักของชีวิตนะคะ
ทีนี้ในความเป็นพุทธทาสนี้ ท่านบอกว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่ที่การศึกษาตนเอง แล้วก็มีความสุขในการปลุกเขย่าเพื่อนสัตว์ให้ตื่นตัว พอฟังคำนี้แล้วเราก็จะเห็นว่าทำไมท่านอาจารย์ถึงใช้คำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง กระตุกคนให้โกรธให้ตื่น เช่นคำว่าโง่ เป็นต้น มีหลายท่านขัดเคืองใจยอมรับไม่ได้ แต่ท่านบอกว่าจำเป็นจะต้องปลุกเขย่ากันด้วยวิธีนี้ จะได้หันกลับมาเพื่อตื่นตัว แล้วก็ดูสิว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ในการที่จะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตของเรา นอกจากนี้ก็พูดได้ว่าในความเป็นพุทธทาสนี้ ได้เป็นผู้นำเพื่อนมนุษย์กลับคืนสู่ความมีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติเยี่ยงสมัยพุทธกาล สวนโมกข์นี่คือตัวอย่าง หรือประจักษ์พยานที่บอกว่าการนำเพื่อนมนุษย์เข้ามาสู่ความมีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติเยี่ยงสมัยพุทธกาลนั้นคืออย่างไร เพราะฉะนั้นท่านที่ยังไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ก็โปรดมาชมให้เห็นด้วยตนเองที่สวนโมกขพลาราม
ในความเป็นพุทธทาสนี้ ก็คือเป็นผู้ตายเสียก่อนตาย อย่างอมตะ ตายเสียก่อนตายอย่างอมตะก็คือไม่ตาย ใช่ไหมคะ ไม่ตายเพราะเดี๋ยวนี้เรายังกล่าวขวัญถึงท่าน รำลึกถึงสิ่งดีงามที่ท่านได้ทำไว้ให้แก่โลกและแก่เพื่อนมนุษย์ นี่คือคุณค่าและศักดิ์ศรีของความมีชีวิตของมนุษย์ท่านนั้น เป็นผู้อุทิศชีวิตทั้งชีวิต เพื่อนำศานติสุขสู่โลกและเพื่อนมนุษย์ ด้วยจิตใจที่เบิกบาน เด็ดเดี่ยว อาจหาญ มั่นคงและสงบเย็น นี่คือความเป็นพุทธทาส จากผลของกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ก็มีพุทธทาสเกิดขึ้น มีลักษณะของความเป็นพุทธทาส ดังที่ดิฉันได้ประมวลย่นย่อมากล่าว
ทีนี้ ผลของกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เกิดอะไรขึ้นอีก ก็การเกิดขึ้นแห่งสวนโมกขพลาราม นี่แหละ คือผลของกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่ถูกต้องของบุรุษท่านหนึ่ง ก็มีการเกิดขึ้นแห่งสวนโมกขพลาราม ซึ่งเป็นอารามแห่งความหลุดพ้น ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความรู้สึก ที่ปรารถนาจะแจกจ่ายความสุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ ถ้าจะดูว่าในสวนโมกข์มีอะไรบ้าง ที่เป็นสิ่งเร้าใจให้เพื่อนมนุษย์เข้ามาสู่ ก็หวังว่าทุกท่านจะ ซาบซึ้งด้วยตนเอง เช่น ธรรมชาติที่สงบ แล้วก็เครื่องมือที่ท่านจัดไว้ให้ โรงมหรสพทางวิญญาณ โรงปั้น สระนาฬิเกร์ เป็นต้น นอกจากนั้นก็ธรรมบรรยายที่ท่านแสดง เพื่อนำพุทธบริษัทเข้าสู่ความสว่างด้วยปัญญา และศรัทธาที่เป็นพุทธศาสตร์ ให้เกิดความดูดดื่ม ลึกซึ้งมั่นคงและเที่ยงตรงต่อกัณฑ์ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้น ในประการนี้ดิฉันมีความรู้สึกว่า เป็นการช่วยย่นย่อระยะเวลาของการศึกษา และการปฏิบัติให้ทันต่อปัจจุบันกาลแห่งชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ใช่ไหมคะ เท่ากับว่าที่ว่านิพพานเป็นสิ่งสุดเอื้อมนั้น ถ้าปฏิบัติอย่างลัดตัดตรงตามที่ท่านพยายามจะนำเราเข้าสู่ นิพพานไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะฉะนั้นขอเพื่อนพุทธบริษัททุกท่านโปรดอย่าเสียกำลังใจอย่าคิดว่าเป็นสิ่งเกินเอื้อม เราสามารถจะเข้าสู่ได้ถ้าหากว่าเรามุ่งเข้าสู่แก่นของพุทธธรรมในการปฏิบัตินั้น ฉะนั้นนี่ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาของกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องของท่านอัจฉริยบุรุษผู้หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันอยากจะนำมากล่าวก็คือ ปณิธานสามประการ ซึ่งเป็นที่รู้กันไปทั่วทุกหนทุกแห่งจะกล่าวถึงปณิธานสามประการ ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ได้กำหนดไว้ในใจของท่าน และท่านก็ประกาศให้เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้ทราบด้วยนั่นก็คือ
การที่จะนำให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าใจถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดของศาสนาของตน ซึ่งแน่นอนถ้าศาสนิกใดเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนแล้วบุคคลผู้นั้นย่อมจะบังเกิดความไม่เห็นแก่ตัว จะมีความรักผู้อื่นมีน้ำใจกรุณาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นตามลำดับ นี่เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเมื่อทำได้ก็เกิดสันติสุขขึ้นแก่ส่วนตนและส่วนรวมนั่นเอง
ปณิธานข้อที่สองก็คือ ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ทำไมท่านจึงตั้งปณิธานข้อนี้ขึ้นมาอีกด้วย ทำไมถึงต้องไปเกี่ยวข้องกับศาสนาอื่น ก็เพราะด้วยจิตใจที่ท่านรักความสามัคคีกลมเกลียว เพราะท่านรู้ว่าความร่มเย็นเป็นสุขของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ ต้องเนื่องด้วยความรัก ความรักความกลมเกลียวที่มีต่อกันนี่แหละจะช่วยให้มีความสุขเกิดขึ้นได้ และศาสนานั้นเป็นสิ่งสูงอันเป็นที่เคารพบูชาของแต่ละศาสนิกถ้าหากว่าเกิดมีความยึดมั่นถือมั่นในศาสนาของตนแล้วก็จะเป็นกำแพงมันก็จะเป็นกำแพงกั้นทำให้สมานสามัคคีกันไม่ได้ รักใคร่กันไม่ได้ ท่านจึงถือว่าการทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาเป็นปณิธานข้อหนึ่งที่ท่านจะต้องพยายามกระทำให้สมบูรณ์ให้เกิดขึ้น เพื่อผสานความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในโลกแล้วโลกเราก็จะอุดมไปด้วยสันติสุขทั่วหน้ากัน สิ่งที่ท่านทำคืออะไร นั่นก็คือที่สวนโมกขพลารามพร้อมที่จะต้อนรับศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ทุกศาสนาจะเข้ามาคุยกันสนทนากันอย่างมิตร แม้แต่จะต้องการขอใช้สถานที่นี้เพื่อปรารภธรรมะท่านก็เต็มใจอนุญาตให้มาทำ มีมาหลายรายมากมาย นอกจากนั้นท่านก็ยังเปิดโอกาสให้มีการอบรมแก่ชาวต่างประเทศที่สนใจอานาปานสติภาวนา รวมทั้งการแสดงธรรมให้ทราบเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านก็อุตสาหะถึงแม้ร่างกายท่านจะย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่พอตีห้าเจ้าประคุณท่านอาจารย์จะมานั่งที่ม้าหินเพื่อแสดงธรรมให้แก่เพื่อนชาวต่างประเทศ ที่เดินทางจากสวนโมกข์นานาชาติในลักษณะของการเดินจงกรม แล้วก็มานั่งฟังธรรมอย่างสนุก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่ท่านเชื่อว่าจะส่งเสริมปณิธานข้อนี้ให้ได้ผลสมบูรณ์ นอกจากนั้นท่านยังเปิดโอกาสที่จะให้ใช้สถานที่สวนโมกนานาชาติเป็นที่ประชุมเพื่อทำความเข้าใจกันในระหว่างศาสนาอีกด้วย
ปณิธานข้อที่สามก็คือ ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าจะไปฟังธรรมะหรือนำหนังสือของท่านมาอ่าน ที่ท่านได้เขียนเอาไว้แล้ว ท่านบรรยายไว้แล้ว ล้วนแล้วแต่ตีลงไปที่เรื่องของวัตถุนิยมทั้งนั้น เพราะท่านรู้ว่าวัตถุนิยมนี้คือสิ่งสนองกิเลส นอกจากสนองกิเลสแล้ว ยั่วยุ ชักชวนให้ตกจมเป็นทาสของมันยิ่งขึ้น และวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ที่เราได้ยินได้ฟังได้เห็นได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ จากสื่อมวลชน ล้วนแล้วแต่ปัญหาเหล่านั้นเกิดจากเรื่องของการเป็นทาสของวัตถุนิยมทั้งสิ้น ในทุกวงการที่มีการเบียดเบียนกัน การประหัตประหารทำร้ายซึ่งกันและกัน ก็เนื่องจากวัตถุนิยมทั้งสิ้น พอใจเงิน พอใจทรัพย์สินเงินทอง ตำแหน่ง อะไรต่ออะไรต่างๆ มากมาย มันรวมอยู่ในนี้ทั้งสิ้น ท่านจึงเห็นว่าสิ่งนี้นำความวิบัติมาสู่ชีวิตคน แล้วก็นำความวิบัติมาสู่สังคมและสู่โลก ถ้าหากว่าจะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้ จะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้องได้ ต้องดึงใจของตนเองออกมาจากการเป็นทาสของวัตถุนิยมเสียก่อน ให้เป็นอิสระให้มองเห็นว่าวัตถุนิยมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ เหมือนอย่างคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่สนองกิเลส หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ใช่ท่านไม่รับว่าไม่มีประโยชน์ ท่านยอมรับว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์ แต่มีประโยชน์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดประโยชน์ที่จะนำความสุขความเจริญมาสู่เพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่สนองกิเลสที่จะคิดหากลอุบายเพื่อทำลายล้างกัน เบียดเบียนกันเหมือนอย่างทุกวันนี้
ฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตให้ถูกต้อง ก็เป็นการที่จะดึงใจตนเองให้เห็นด้วยตนเองถึงโทษทุกข์ของการตกเป็นทาสของวัตถุนิยม พัฒนาความอิสระและความเป็นไท สู่ใจของตนเองให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น นี่ดิฉันก็อยากจะกล่าวว่า ปณิธานข้อนี้ คือการนำอิสรภาพที่เป็นไทอย่างแท้จริงมาสู่เพื่อนมนุษย์ ให้ได้ประสบสันติสุขในชีวิตอย่างทั่วหน้ากัน แล้วก็มีข้อความที่ท่านเขียนไว้ใน ฟ้าสางทางความลับสุดยอด ที่แสดงถึงความเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น ท่านบอกว่า ชีวิตของเรามีค่ามากสำหรับเราเพียงใด แต่ก็ยังไม่เกินกว่าที่เราจะเสียสละมันไป เพื่อความรอดสำหรับเพื่อนมนุษย์ อันที่จริงท่านคงไม่ได้เขียนสำหรับตัวท่านเองหรอก เพราะท่านทราบดีอยู่แล้ว และท่านก็ได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิตของท่าน แต่ดิฉันคิดว่าท่านเขียนเพื่อเราทั้งหลายที่อยู่ข้างหลัง ที่จะไม่หลงทำอะไรเพื่อตัวเองให้มากจนเกินไป แม้ชีวิตเราจะมีค่าเพียงใด แต่ก็ไม่มีค่ามากไปกว่าความสุขร่วมกัน ความรอดของเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่าที่ได้พูดมาถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น เชื่อว่าท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบดีแล้วว่าไม่ใช่สิ่งใหม่ ถ้าหากว่าท่านมาเป็นผู้พูดเองท่านอาจจะพูดได้ดีละเอียดชัดเจนมากกว่าดิฉันเยอะแยะเลยนะคะ
แต่ทว่าเมื่อเป็นโอกาสที่ได้มาพูด ก็ขอนำสิ่งนี้มาพูดเพื่อเป็นการทบทวนซึ่งกันและกันและก็เป็นการตักเตือนซึ่งกันและกันให้หันมาสำรวจดูความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต ที่เป็นเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์หรือว่าเป็นปัญหาของชีวิตของเราว่าเราจะช่วยแก้ไขกันได้โดยไม่ยาก ด้วยการหันมาศึกษาธรรม นำธรรมะมาเป็นรากฐานของการศึกษาในสถาบันการศึกษา ก็ขอเรียกร้องบอกกล่าวไปยังท่านผู้บริหารการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารประเทศชาติด้วยว่า ประเทศชาติของเราจะเจริญรุ่งเรืองได้นั้นอยู่ที่การศึกษา ที่มีจริยธรรมเป็นรากฐานของการศึกษาต่อให้ท่านปฏิรูปการศึกษาไปในมุมใด คิดไปที่ท่านคิดว่าจะช่วยให้เร็วขึ้นเพียงใดก็ตาม ความเร็วนั้นจะเป็นความช้า ที่ท่านคิดว่าเป็นความสำเร็จจะเป็นความล้มเหลวเพราะมันขาดจริยธรรมที่เป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์ มันไม่มีสิ่งนี้เป็นรากแก้วของชีวิต มันย่อมพังทลายและล้มละลายได้ในไม่ช้า ฉะนั้นจึงขอเรียกร้องต่อท่านผู้รับผิดชอบในบ้านเมืองว่าเราต้องการการศึกษาที่มีจริยธรรมเป็นรากฐาน โดยเฉพาะท่านผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นแล้วว่าปัญหาชีวิตที่ผ่านมานั้นเกิดเพราะความแล้งน้ำใจที่เราไม่มีต่อกัน เมื่อใดที่เราสร้างน้ำใจให้เกิดขึ้นได้มีความรักใคร่กลมเกลียวเห็นใจซึ่งกันและกัน นั่นแหละคือความสำเร็จของความเป็นมนุษย์และความสำเร็จของการศึกษา ฉะนั้นจึงขอฝากทุกท่านที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้การศึกษามีจริยธรรมเป็นรากฐาน เกิดขึ้นได้ในทันใด มิฉะนั้นแล้วการศึกษานั้นคือความล้มเหลวหาใช่ความสำเร็จ
ท่านผู้ชมครับท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้จบปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตของเราไปแล้วนะครับ ปาฐกถาชุดนี้คงจะมีประโยชน์ ในแง่คิดเรื่องของการปฏิรูปตัวเราเองที่จะหันไปศึกษาพุทธศาสนาและนำมาพัฒนาชีวิตของเรากันต่อไปนะครับ