แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาหนึ่งของพวกเราทุกวันนี้คือปัญหาการตกเป็นทาสของวัตถุ เราจะใช้วัตถุอย่างไรที่จะไม่เป็นทาสของมัน ไปฟังคำตอบจากท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่ว่าตกเป็นทาสของวัตถุนิยมนี่ อะไรเป็นเหตุปัจจัย ก็คือ ความโลภ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความโลภ แล้วก็มาจากตัณหาความอยาก ที่อยากจะแสดงว่าฉันเท่าคนอื่นเขา หรือดีกว่าคนอื่นเขา ใครมีอะไรฉันต้องมีด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง นี่มันแสดงถึงที่เราดูอิทัปปัจจยตาของว่า ทำไมจึงต้องเป็นทาสของวัตถุนิยม ก็เพราะโลภ ซึ่งมันเป็นสัญชาตญาณที่ยังไม่ได้พัฒนา ทีนี้ทำไมจึงโลภล่ะ ก็เพราะมันมีความอยาก อยากที่จะเป็นเหมือนคนอื่นเขา อยากจะมีเหมือนคนอื่นเขา อยากจะไปเดินตามห้างสรรพสินค้าเหมือนคนอื่นเขา มันโก้อ่ะ อย่างน้อยก็จะได้อวดได้ว่า โอ๊ย แหม เขามีโน่นมีนี่ จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ยังไม่เป็นไร ให้ได้ไปดู นี่ถ้าย้อนไปถึงว่า แล้วทำไมล่ะ มันถึงต้องอยากไปทำบ้า ๆ อย่างนั้นให้มันเสียเวลาด้วย แทนที่จะเอาเวลามาทำงานทำการ มาเล่าเรียนหนังสือ หรือมาคิดอ่านอะไรที่เป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็พักกายบ้าง แล้วใจก็จะได้พักบ้าง แล้วไปเสียเวลาท่อม ๆ ๆ เหนื่อยอยู่ทำไม แล้วก็บางคนอาจจะไปสองวันสามวันไปที หรือบางทีก็ทุกอาทิตย์ หรือบางคนไม่รู้จะทำอะไรก็ไปเดินโต๋เต๋ เป็นอย่างนั้น
ผู้ดำเนินรายการ : เดินได้ทั้งวัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นเพื่ออะไร นี่ถ้าเราศึกษาอิทัปปัจจยตาต่อไป อ๋อ มันก็มาจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองคืออีโก้ นี่พูดถึงในด้านบวกนะ บวกของกิเลสนะคะ ก็เป็นอีโก้ว่า ฉันจะต้องมีเหมือนเขา ใครมีอะไรฉันต้องมีด้วย เพราะฉะนั้นตามที่เขาประกาศในหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องเอามาพูดหรอกนะ ขี้เกียจพูดแล้ว ท่านผู้ชมทั้งหลายก็ต้องรู้อยู่แล้ว ว่ามันมีอะไรบ้างที่เขาโฆษณานั่นนะ เพราะฉะนั้น ฉันต้องมี ต้องมีเท่าเหมือนเขา
ผู้ดำเนินรายการ : ทำไมอาจารย์พูดอย่างนี้ เดี๋ยวเขามีความรู้สึกว่าก็เรื่องของฉันน่ะ ไม่ใช่เรื่องของท่านอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เรื่องของฉันก็ถูกแล้ว แต่ฉันก็นึกดูก็แล้วกันว่า ฉันหาเงินหาทองมาด้วยความเหนื่อยยากนี่ ฉันหาเงินหาทองมาเพื่อทำไม เพื่อตัวฉันเท่านั้นเองหรือ เพื่อตัวฉันก็ได้มีสิทธิ์จะพูด มีสิทธิ์ว่าเพื่อตัวฉัน แต่ว่าเราเกิดมาเป็นคนนี่ เราต้องการจะพัฒนาความเป็นคนไปสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้มีใจอันประเสริฐใช่ไหม ทีนี้ถ้าเราเป็นมนุษย์ผู้มีใจอันประเสริฐนี่ เราจะคิดถึงแต่ตัวฉันเท่านั้นน่ะพอแล้วหรือยัง เราเคยคิดหรือยังอ่ะ เราคิดถึงประโยคนี้ไหมว่าพอแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเราคิดว่าพอแล้ว ก็ได้ แต่อย่าลืมนะ ถ้าเราคิดว่าพอแล้ว ถ้าฉันพอแล้ว ฉันจะเอาของฉันคนเดียวอย่างนี้ ฉันพอของฉันล่ะ ก็อย่าลืมว่าโลกนี้เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถึงแม้ว่าเขาจะยกโลกให้ทั้งโลกก็อยู่คนเดียวไม่ได้ จะไม่มีข้าวกิน จะไม่มีเสื้อผ้านุ่งห่ม จะไม่มีอะไรต่ออะไรใช้ เพราะฉะนั้นเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าหากว่าเรานึกถึงแต่ฉันคนเดียว วันหนึ่งเราก็ต้องถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว แล้วเราก็อยู่ไม่ได้ และตอนนั้นล่ะจะเป็นตอนที่วังเวง ว้าเหว่ แล้วก็รู้สึกเปล่าเปลี่ยว มองไปทางไหนมันจะไม่มีความหวังเหลืออยู่ในชีวิตเลยใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ทั้ง ๆ ที่ผู้คนรอบข้างก็เยอะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เพราะฉะนั้นอันนี้ขอให้นึกดู ถูกล่ะ ถ้าจะบอกว่าเป็นของฉัน แต่ทีนี้ก็ต้องนึกว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เราไม่ได้อยู่เพื่อคน ๆ เดียว คือเพื่อตัวเราคนเดียว แต่เราอยู่เพื่อการอยู่ร่วมกัน เราพูดถึงคำว่าสังคมเสมอ แล้วเราทำอะไรก็สังคม แล้วก็เพื่อสังคม เพราะฉะนั้นสังคมมันคือการอยู่ร่วมกัน และสังคมจะเป็นสุขร่มเย็นได้ ก็เพราะเหตุว่าเราเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่เห็นแต่แก่ตัวฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นถ้านึกถึงในด้านของอีโก้ฝ่ายบวก นั่นก็คือความที่จะเอาตัวโดดเด่นอยู่เพียงคนเดียว มันถึงต้องแข่งกันมีอำนาจ แข่งกันมีเงิน แข่งกันมีวัตถุอำนวยความสะดวกทุกอย่างทุกประการสารพัด เราไม่มีเวลาจะจาระไน นั่นแหละนี่คือการแข่งกันเพื่ออีโก้ เพราะฉะนั้นถ้าเราหันมาศึกษาว่า ทำไมถึงจะสามารถใช้วัตถุทั้งหลายที่มีอยู่ ถ้าเรามีเงินพอจะซื้อหาได้ เราก็ซื้อหามา เราก็จะใช้มัน ทำอย่างไรถึงจะใช้ได้อย่างไม่เป็นทาสของมัน นั่นก็คือใช้เพื่อประโยชน์ที่เราต้องการใช้ ตามความจำเป็น พูดง่าย ๆ ว่า ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าเรามีรถยนต์ทำไม
ผู้ดำเนินรายการ : ใช้เดินทางไปที่ทำงาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพื่อเป็นพาหนะ เพื่อเป็นพาหนะที่จะนำตัวเราไปสู่ที่หมายตามที่เราต้องการ จะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือว่าที่กำหนดนัดหมายอะไรกันก็แล้วแต่ แล้วถ้าหากว่ารถยนต์ที่จะพาเราไป เราต้องการรถยนต์ที่จะต้องโอ่อ่า มีทุกอย่าง แม้แต่กดปุ๊บติดปั๊บก็อยู่ในรถนั่นด้วยทั้งนั้นหรือ หรือว่าเราต้องการรถยนต์เพียงแต่ว่า จะเป็นรถกระป๋องก็ยังไม่เป็นไร ถ้ามันสามารถจะพาเราไปได้โดยปราศจากอุปสรรค ไม่ไปเสีย ๆ หยุด ๆ เท่านี้พอไหม แต่ถ้าหากว่าอีโก้จัด ไม่พอ พอไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หันไปมอง โอ้โห เพื่อนเรารุ่นเดียวกัน
ผู้ดำเนินรายการ : เบนซ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นน่ะสิ คัน โอ้โห ยาวใหญ่ เบ้อเร่อ แล้วรถกระป๋องของเราเล็ก ๆ แค่นี้ อีโก้ทั้งนั้น นี่คือเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์นั้นตกเป็นทาสของวัตถุนิยม เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของตัวเอง ศักดิ์ศรีของตัวเอง จนไม่ลืมหูลืมตา แล้วก็เกิดการแก่งแย่งเบียดเบียนกัน เพราะมีวัตถุนิยมยั่วยวน ไม่รู้ว่าวัตถุนิยมนั้นเป็นเพียงเหยื่อ แล้วตัวก็เลยเป็นปลาฮุบเหยื่อ มันก็ต้องเจ็บ เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา นี่ก็คือกฎอิทัปปัจจยตาอีกเหมือนกัน
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ทำไมเราจึงไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ อยากให้ท่านอาจารย์ได้พูดชี้ชัดลงไปอีกนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ว่าทำไมคนจึงตกเป็นทาสของวัตถุนิยม
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาจนเกิดเป็นอีโก้ตัวโตว่า ฉันจะต้องมี ต้องเป็น ต้องได้ เหมือนคนอื่น และยิ่งกว่าคนอื่น อีโก้มันจะผลักดัน มันจะผลักดันความรู้สึกข้างใน เราจะเห็นคนบางคนนี่ทำอะไรอย่างชนิดที่เรามองดูแล้ว อายแทน เราไม่อยากทำ ยื้อแย่งทุกอย่างนะ ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุ ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ตำแหน่งการงาน หรือว่าความเด่นความดัง พยายามยื้อแย่ง พยายามจะเอา นั่นคืออะไร คืออีโก้ที่มันซ่อนอยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนมีการศึกษาดี แล้วก็โดยปกติก็อาจจะเป็นคนมองดูหน้าตาสะสวย เรียบร้อย มารยาทน่ารัก คำพูดจาน่าฟัง แต่ว่าพออีโก้ที่มันซ่อนอยู่ข้างในใจ พอมันมีจังหวะโอกาสที่มันจะต้องโผล่เพื่อแข่งขันชิงดี เพื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น มันจะกระโจนออกมาทันทีโดยไม่รู้ตัว แล้วการกระทำอันนั้นนั่นแหละ เจ้าตัวเองยังไม่รู้ มันจึงน่าอายมาก ถ้าเราไม่หันมาศึกษามัน
เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้มนุษย์ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ก็เริ่มต้นจากอีโก้ คือความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน ว่าฉันจะต้องมีต้องเป็น ซึ่งอันนี้มันก็ตามด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ความอยาก แล้วเสร็จแล้วก็ด้วยความโลภ โกรธ หลง ตามสัญชาตญาณ โดยลืมนึกไปว่าการศึกษาที่เราจะต้องศึกษาหาความรู้ในชีวิต ไม่ใช่เพียงแต่มีวิชาความรู้ที่เราเล่าเรียนในโรงเรียน จนกระทั่งเอามาใช้เป็นประกอบอาชีพทำการทำงานได้ มันยังไม่ได้ช่วยรักษาแผลร้ายของการที่ถูกกัดด้วยอีโก้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องอาศัยธรรมะ ต้องเอาธรรมะมาเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ศึกษาจนกระทั่งรู้ จนกระทั่งซึมซาบ จนกระทั่งประจักษ์ผลในคุณค่าของมัน อย่างที่เราได้พูดกันมาแล้วในเรื่องคุณค่าของธรรมะ
ถ้าหากว่ามันศึกษาจนกระทั่งมองเห็นว่า โอ๊ย อันที่จริงแล้วละก็ ถ้าเรามีธรรมะเป็นเหตุปัจจัยที่สถิตอยู่ในใจเสมอแล้ว มันจะช่วยควบคุมใจ ไม่ให้ตกไปอยู่ในความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร้เหตุผล อย่างปราศจากเหตุผล ที่ว่าไร้เหตุผล ปราศจากเหตุผล รู้ได้อย่างไร ก็รู้ได้ที่ว่าถ้าเมื่อใดไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว จิตใจมันเป็นทุกข์ มันดิ้นรน มันจะต้องยื้อแย่ง มันจะต้องเอา แล้วมันก็จะต้องตะเกียกตะกาย กระเสือกกระสน จนเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าเต็มที นั่นแหละมันไม่มีเหตุผลแล้ว มันไม่ถูกต้องแล้ว เพราะมันเป็นความยึดมั่นถือมั่นด้วยความเห็นแก่ตัว มันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ศึกษาดู แล้วก็เอาธรรมะนี่มาขัดเกลาความยึดมั่นถือมั่น ถ้าความยึดมั่นถือมั่นลดลงได้ ความอยากมันก็ลดลงไปตาม ก็มันไม่มีตัวคนที่จะอยาก หรือบางทีบางท่านอาจจะบอกว่า ความอยากมันเกิด แล้วก็มีตัวคนอยากตามมา มันสูสีกัน คำว่าสูสีกันนี่ มันพูดยากเหมือนกันว่า อยากกับตัวอยาก อะไรเกิดก่อนกัน บางทีอยากมันปุ๊บออกมา มันก็มีตัวอยากซ่อนอยู่ในนั้น หรือบางทีพอมองเห็นตัวก็อยาก มันก็สูสี ๆ กัน ระหว่างความอยากกับระหว่างตัวอยาก
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีธรรมะที่เราได้ศึกษาตามการปฏิบัติแบบอานาปานสติ ตั้งแต่หมวดที่หนึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม เรียกว่าตั้งแต่พัฒนาจิตให้เกิดความสงบ จนกระทั่งมีสติพอจะใคร่ครวญ มองเห็นหน้าเห็นหลัง รู้เหตุรู้ผล เสร็จแล้วก็ปฏิบัติวิปัสสนาใคร่ครวญดูความเป็นจริงแล้ว ต่อให้วัตถุนิยมอย่างชนิดวิเศษเลิศเลอที่สุด ค้นหาใหม่ ประดิษฐ์ใหม่ในโลกเดี๋ยวนี้ เราได้เป็นเจ้าของ มันก็แค่นั้นเอง รักษาไว้ก็ไม่ได้ แล้วก็ผลที่สุด ไม่ช้าก็คนอื่นก็มีอีก แล้วเราก็จะต้องวิ่งหนี เพื่อไปหาสิ่งใหม่กว่านี้อีก เพื่อประโยชน์อะไร ถ้าเราศึกษากฎของธรรมชาติ เช่น กฎไตรลักษณ์ และกฎอิทัปปัจจยตา เราก็จะไม่หลง เราก็จะมีวัตถุนิยมเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือในการที่เราจะใช้หาความสะดวกสบายตามความจำเป็นของมันเท่านั้นเอง เราจะใช้อย่างชนิดเราเป็นนายมัน ไม่เป็นทาสของมัน
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะฉะนั้นคนที่ดิ้นรนไขว่คว้า วิ่งคว้าจับมันมาเป็นของตัวเองก็คงเหนื่อยเหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ๋อ ไม่ใช่คงเหนื่อยหรอก เหนื่อยอย่างยิ่ง แต่เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าเขาเหนื่อย นี่น่าสงสาร เพราะฉะนั้นบางทีคนจน ๆ คนอยู่กระท่อมนี่ อาจจะสงสารเวทนาคนที่อยู่คฤหาสน์ร้อยห้องก็ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ท่านผู้ชมครับ ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้วัตถุอย่างเป็นนายมัน เราก็จะไม่ตกเป็นทาสของวัตถุอย่างที่ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง สรุปให้ฟังไว้นะครับ