แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ขอเริ่มด้วยคำถามแรกนะครับ ของท่านที่ต้องเข้ามานั่งในตำแหน่งที่เรียกว่าเป็นหัวหน้า เป็นผู้บังคับบัญชาคน ว่าฝ่ายผู้บังคับบัญชานี้ก็มีปัญหาเหมือนกันนะครับ การที่ตัวเองทำอะไรต่างๆ ไปนั้น บางครั้งก็ใช่ว่าอยากจะทำเช่นนั้น แต่ก็ถูกเจ้านายที่มีการบังคับบัญชาสูงกว่านั้นบีบลงมา จำเป็นต้องทำเรื่องนั้นลงไป ถามว่าแล้วจะให้ทำอย่างไรกันบ้าง ต้องไปฟังท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง แห่งสวนโมกขพลาราม ตอบให้ฟังกันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เจ้านายก็คงมีเพื่อน คือมีเพื่อนที่อยู่ในระดับเดียวกัน ที่ว่าที่ร้องทุกข์ว่าโดนบีบมาตามลำดับนี่ ก็เจ้านายที่มีเพื่อนก็รวบรวมพวกเพื่อนๆ ที่เป็นเจ้านายในฐานะในระดับเดียวกันมาประชุมมาปรึกษากันสิ ว่าเราจะแก้ไขอย่างไร มันถึงจะแก้ระบบของการทำงานในแบบนี้ได้ ที่เป็นระบบที่ไม่ค่อยจะเห็นคนเป็นคน เพราะว่าต้องการแต่จะงานให้เสร็จ เสร็จเพื่ออะไร ถ้าเสร็จท่ามกลางความทุกข์ของคนอื่น เสร็จเพื่ออะไร นอกจากสนองความสมใจของคนที่เป็นหัวหน้าใหญ่จะได้เป็นรีพอร์ต (Report) เป็นเรคคอร์ด (Record) ในประวัติชีวิตของตัวเอง หรืออยากจะมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ท่ามกลางความทุกข์ของลูกน้อง มันไม่สมควร
ผู้ดำเนินรายการ: ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจนี้นะครับ คดีที่มัน คดีสะเทือนขวัญประชาชนนี่ นายก็ต้องสั่งตามลำดับขั้น ต้องสืบมาให้ได้ ต้องหาพยานให้ได้ หาคนร้ายให้ได้ ทีนี้ถ้าระดับล่างยังหากันไม่ได้นี่ สุดท้ายก็ต้องหาแพะอย่างที่เจอกันบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์นี่นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นายควรต้องมาหาด้วย ไม่ใช่ให้ระดับล่างหาเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ก็ถ้าจะอ่านตามหนังสือพิมพ์ก็รู้สึกว่าทางฝ่ายตำรวจนี่บรรดาที่เป็นนายเป็นผู้บังคับบัญชาใหญ่ๆ เขาก็ลงมาวิ่งเล่นกันนะ หรือเขามาเล่นกันกับการที่จะจับให้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เรียกว่าในคดีต่างๆ นี่ ก็มีความพยายามกันมากพอสมควร มากกว่าเมื่อก่อนนี่ ที่เราไม่ค่อยเห็นกระดิกมากนัก แต่เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกว่ามีการกระดิกกระเดี้ยที่จะให้มองเห็นผล
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ถ้าอย่างนั้นหมายความว่ามีวิธีการอย่างไรก็ตามที่ผู้บังคับบัญชาระดับกลาง แม้โดนบีบมาอย่างไรก็หาวิธีการแก้ในทำนองเดียวกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ค่ะ ควรจะต้องแก้โดยทำนองเดียวกัน แต่นี่มันก็ต้องย้อนมาอีกละว่า ถ้าหากว่าคนเราไม่ได้รับการศึกษาอย่างชนิดมีธรรมะเป็นรากฐาน พอถึงเวลาเข้ามาทำงานเข้า มันก็มุ่งแต่จะเอา แม้แต่จะเอาผลงานให้เสร็จตามใจของตัว นี่ก็คือการเอา จะเอาให้ได้โดยไม่คำนึงถึงว่ามันเป็นความเหมาะสม เป็นความถูกต้องแก่กำลัง แก่สติปัญญา หรือว่าแรงงานความสามารถของลูกน้องไหม เพราะฉะนั้น วิธีการแบบนี้มันถึงได้ทำให้ความเครียดเกิดขึ้นทั่วไปใช่ไหมคะ แล้วก็โรคประสาทก็เพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลก็ไม่พอ การฆ่าตัวตายนี่เขาว่าเกือบทุกชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายคนหนึ่ง ในขณะที่เรากำลังนั่งพูดกันอยู่อย่างนี้ นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการบีบบังคับกัน การที่จะเอาแต่ใจตัว เบียดเบียนกัน มันถึงเกิดความเครียด พ้นจากความเครียดก็เป็นความเซ็ง เรียกว่าสุดโต่งกันทั้งสองทาง ไม่มีความเย็น ความสุขและพอใจเลย สังคมอย่างนี้ ชีวิตอย่างนี้นี่ คนที่เป็นเจ้านายหรืออยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ ควรจะได้คิดให้มาก ว่าการกระทำ คำพูดของเรามีผลสะท้อนไปถึงคนในกี่ระดับ และมีคนมากน้อยเพียงใดที่ได้รับผลสะท้อนในทางลบจากเรา ควรจะน่าภูมิใจหรือควรจะน่าอับอาย อยากจะขอให้บรรดาผู้ที่เป็นเจ้านายใหญ่ ถ้าดำเนินการอย่างนี้ในวิธีการทำงานควรจะได้คิด เพราะว่าตัวเขาเอง เขาก็ต้องการพักเหมือนกัน แล้วทำไมเขาไม่คิดว่าคนอื่นเขาต้องการพัก
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าอ้างว่านโยบายไม่ได้เลยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นโยบายมันก็ดีหรอก แต่ว่าเราอย่าลืมนโยบายของมนุษยชาติ นโยบายของความเป็นมนุษย์หรือของมนุษยชาติ ก็คือความรักความเห็นอกเห็นใจต่อกัน แต่มีหลักการว่าจะต้องอยู่บนความถูกต้องไม่ใช่บนความเห็นแก่ตัวของใครคนใดคนหนึ่ง
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับ คำถามที่ท่านอาจารย์คุณรัญจวนได้ตอบเรา เกี่ยวกับเรื่องของผู้ที่เป็นหัวหน้าคนนะครับ ว่าจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ก็คงเป็นเรื่องที่น่าจะนำไปไตร่ตรองกันนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าคำตอบนี้ก็อาจจะไม่ได้ถูกใจท่านผู้ชมไปเสียทุกท่านนะครับ โดยเฉพาะท่านที่เป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นเจ้านายผู้อื่นนะครับ ผมอยากให้ท่านได้ไตร่ตรองดูอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน
มาถึงคำถามอีกคำถามหนึ่งนะครับ ผู้ถาม ถามมาบอกว่า มีปัญหากับผู้ร่วมงานนะครับ ผู้ร่วมงานชอบเกี่ยงงานอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือที่ต้องทำให้สำเร็จร่วมกัน แต่ว่าผู้ถามบอกว่า เพื่อนร่วมงานชอบเอารัดเอาเปรียบนะครับ ทำให้ตัวเองอยู่ในฐานะลำบากแต่ว่าเมื่อมีประชาชนมาติดต่อ ก็จำเป็นต้องช่วยงานทำงานนั้นให้สำเร็จ แล้วก็เจ้านายก็ไม่เคยว่าคนนั้นเลย ทั้งๆ ที่คนๆ นั้นนะครับ เขาเป็นคนเข้าวัดฟังธรรม ทำสังฆทานทุกสัปดาห์ ถามว่าตัวเองควรจะทำอย่างไรดี จะไปพูดจาว่ากล่าวเขาก็ไม่ได้ เพราะว่าผู้ถามนี้นะครับ อายุน้อยกว่าคนนั้นอีก คงต้องให้ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหงตอบเราอีกครั้งแล้วล่ะครับว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วควรจะทำอย่างไรกันดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็รู้สึกมีความเห็นใจจริงๆ เห็นใจเจ้าของคำถาม ที่ผลที่สุดแล้วอยากจะทิ้งเหมือนกัน ไม่อยากทำ แต่ก็ความสำนึกในความรับผิดชอบในฐานะของผู้ทำงาน แล้วก็ต้องบอกว่าในฐานะของผู้มีธรรมะ ก็อดไม่ได้ ต้องทำต่อไป ก็รู้สึกเห็นใจแล้วก็อยากจะให้กำลังใจว่า จงทำต่อไปเถิด เพราะว่าเหตุปัจจัยของใครก็เป็นของผู้นั้น เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตาเพราะฉะนั้นก็ ส่วนเพื่อนร่วมงานที่เขามีลักษณะอย่างนั้น แล้วก็แก้ไขไม่ได้นี่นะคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ทั้งที่ไปวัด ฟังธรรม ใส่บาตร ทำสังฆทานทุกอาทิตย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง มันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวเราจะพูดแต่ว่า ถ้าจะพูดถึงผู้ร่วมงานที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นถึงจะเอาสบายอย่างเดียว แล้วก็บางทีถ้าถึงเวลาที่จะแสดงว่าจะรับชอบรับหน้าก็จะออกมาพร้อมเพรียง แต่ถึงเวลาที่ทำงานก็ขออยู่ข้างหลัง นี่หาไม่ยาก พบบ่อยๆ ได้ยินบ่อยๆ แล้วก็มีอยู่หลายแห่ง เพราะฉะนั้นก็จงทราบเถิดว่าผู้ที่อยู่ในปัญหาเดียวกันนี่ยังมีอีกมาก แล้วก็มีคนเห็นใจ ก็ขอให้ทำต่อไปอย่างน้อยที่สุด ประชาชนที่เขามารับบริการจากเรา ที่เขามาติดต่อในการทำงานผู้เกี่ยวข้อง เขาก็ต้องเห็นคุณค่า เห็นคุณความดี และเขาก็จะมีความขอบอกขอบใจ แล้วถ้าหากว่าคำพังเพยของโบราณที่บอกว่า คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มันก็คือกฎอิทัปปัจจยตานี่แหละ มันเข้ากันได้เลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น จงเชื่อแน่เถิดว่า ความดีที่เราได้ทำไปแล้วนี่อย่างน้อยที่สุดเป็นความชุ่มชื่นใจตลอดเวลา
ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์ครับ แล้วกรณีที่เขาไปวัดทำบุญ ใส่บาตร ทำสังฆทาน ไม่ได้ช่วยให้เขามีจิตเมตตาเพื่อนร่วมงานบ้างเลยหรือไงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็คำตอบมันบอกอยู่ในตัวแล้วใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเพียงการทำบุญทำทาน แล้วก็ไปวัดทำสังฆทาน หรือว่าฟังเทศน์ฟังธรรมอะไรอย่างนี้ ถ้ามันช่วยใจเขาได้จริงๆ ป่านนี้เขาคงจะไม่เป็นคนที่เห็นแก่ตัวถึงอย่างนั้น ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการไปวัดทำบุญ ฟังเทศน์ หรือทำสังฆทาน ไม่ใช่ของดี เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าหากว่าเรามีกำลังที่จะทำทานทำบุญอย่างนั้นได้ เพราะเท่ากับว่าเป็นการช่วยเหลือที่จะให้ผู้ที่สืบพระศาสนามีความเป็นอยู่ได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร แล้วก็จะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม รักษาพระศาสนาต่อไป แต่ก็น่าเสียดายที่การไปทำบุญในลักษณะนั้น มันเป็นแต่เพียงการทำบุญทำทานข้างนอกด้วยวัตถุใช่ไหมคะ คือเราพอมีพอใช้ เราก็แบ่งปันทางวัตถุไปเรื่อยๆ แต่แล้วเสร็จแล้วใจของเราก็ยังนึกถึงแต่เรื่องของตัวเอง นึกถึงความที่จะได้ของตัวเอง จะมี จะเป็นของตัวเอง ไม่มีความเห็นใจคนอื่น นี่ก็เพราะว่าทำบุญแต่ข้างนอก แต่ทว่าไม่ได้ทำการปฏิบัติธรรมที่ข้างใน นั่นก็คือไม่ได้ทำการขัดเกลาจิตใจ จึงไม่รู้ว่าในขณะที่ให้เขาไปนั้นน่ะ ให้เขาไปทำไม บางคนอาจจะไปทำบุญทำทานเพราะเหตุว่า มันเพื่อศักดิ์ศรีของฉัน เพื่อเป็นเครื่องประดับประดาที่ฉันได้ชื่อว่าไปวัดทำบุญทำทาน เรียกว่าเอาเป็นตราประทับว่า ฉันเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วหาดีจริงไม่ เพราะว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ เพราะฉะนั้น การทำบุญทำทานที่สุดที่ถูกต้อง ท่านก็บอกแล้วว่า ทานที่สูงสุดนั้นน่ะ ก็คือการที่ทำธรรมทาน หรือว่าการให้ทานกิเลส จาคะกิเลสออกไป เพื่อขัดเกลาจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ลด ละ ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน จนสามารถมีความเห็นแก่ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น รักผู้อื่นเหมือนกับที่เรารักตัวเราเอง อย่างนี้ถึงจะเป็นการเข้าวัดที่ถูกต้อง แล้วก็ได้บุญครบอย่างสมบูรณ์
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะฉะนั้นคนที่เข้าวัดทำบุญนี่จะต้อง...
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่าทำแต่วัตถุ ให้ทำที่ใจด้วย ซึ่งสำคัญเสียยิ่งกว่าการทำด้วยวัตถุอีก
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ขอบคุณมากครับ ท่านผู้ชมครับ การเข้าวัดทำบุญแต่เพียงวัตถุก็คงไม่ได้ช่วยให้จิตใจดีขึ้นนะครับ ต้องทำที่ใจด้วย
มาถึงปัญหาอีกปัญหาหนึ่งนะครับ ที่มีผู้ถามมา ผู้ถามถามว่าเจ้านายเป็นคนชอบรับอามิส คือชอบรับของฝากจากลูกน้อง จิตใจไม่เป็นธรรม ชอบพูดขาวให้เป็นดำ ถามว่าถ้ามีโอกาสย้ายงานนี่ ควรจะย้ายดีหรือไม่ หรือว่าจะให้อดทนต่อไป ท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง จะได้ตอบให้เราได้ทราบกันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ดูเหตุปัจจัยให้เหมาะสม ถ้าคิดว่าย้าย เพราะว่าเราอยู่ที่นั่น เราก็ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ จะไปเปลี่ยนอะไรแก่เจ้านายคนนั้นให้เขาเปลี่ยนลักษณะนิสัยใจคอก็ไม่สามารถจะทำได้ แล้วก็การทำงานของเราก็มีอุปสรรคติดขัด ก็ถ้าย้ายได้ ก็ย้าย แต่ถ้าหากว่าการทำงานของเรามันไม่มีอุปสรรคติดขัดในส่วนตัวการทำงาน เราก็อย่าไปใส่ใจกับในเรื่องของเจ้านาย ตราบใดที่เรารู้สึกว่าตัวเรายังสามารถทำประโยชน์ได้ตามหน้าที่ของเราในที่นั้น ก็รู้สึกว่ายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะบังคับว่าจะต้องย้าย ก็อาจจะยังไม่จำเป็น นี่ก็ขอให้พิจารณาเอง แต่ก็นั่นแหละเจ้านายที่รักชอบรับแต่อามิสสินจ้างอย่างนี้นะคะ เราก็ได้ยินบ่อยหนาหูเหลือเกินในยุคปัจจุบันนี้ นั่นก็เป็นเครื่องแสดงว่าคนเราละเลยในเรื่องของธรรมะนั่นเอง หันไปหาแต่เพียงวัตถุ ตกเป็นทาสของเงิน แล้วก็ตกเป็นทาสของความเป็นมายาทั้งปวง มันก็เลยลืม ลืมความอาย ไม่มีหิริโอตตัปปะ คนที่เป็นนายถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้ ขาดหิริโอตตัปปะเสียแล้ว อย่าว่าแต่จะเป็นนายเลย แม้แต่จะเป็นตัวคนลูกน้องก็ไม่สามารถจะทำประโยชน์ให้แก่ที่ทำงานนั้นได้
ผู้ดำเนินรายการ: มิน่า ปัญหาช่อราษฎร์บังหลวงอะไรต่างๆ ก็เริ่มมีมากขึ้นในยุคนี้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ยุคก่อนเขาก็จะไม่ทำ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็มีมากขึ้น ก็อาจจะเป็นอย่างหนึ่งเป็นเพราะว่าการสื่อข่าวมันรวดเร็วขึ้นก็ได้ แต่ก็พูดได้ว่าเราได้ยินในเรื่องนี้มาหนาหูขึ้นมากเหลือเกิน แล้วก็จนกระทั่งทำให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา นี่สิที่น่าเป็นห่วงและน่ากลัวมาก เรื่องอย่างนี้มันไม่ธรรมดาใช่ไหมคะ มันไม่ธรรมดา แต่กลับมาเห็นว่าเป็นธรรมดา เพราะเขาก็ทำกัน ทำไมเราจะทำไม่ได้ นี่มันน่าเสียดายมากเลยที่ความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อก่อนนี้ มันเปลี่ยนเป็นมิจฉาทิฏฐิเสียหมด แล้วก็ยังไม่รู้สึกตัว นี่มันเพราะอะไรล่ะ เพราะการศึกษาที่ไม่เพ่งเล็งหรือว่าจดจ่อลงไปที่รากฐานของการศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรม ถ้าหากว่าไม่เอาคุณธรรมหรือจริยธรรมมาเป็นรากฐาน มันจะต้องเพิ่มทวีปัญหาในลักษณะอย่างนี้ยิ่งขึ้น เราจะพบคนที่ลดจากความเป็นคนลงไป ต่ำยิ่งกว่าคนอีกมากขึ้นอีก นี่คือการทำลายชาติพันธุ์ของมนุษย์โดยไม่รู้ตัว ถ้าเราปล่อยให้ความห่างศีลธรรม ความไกลจากธรรมะเพิ่มมากขึ้น มันจะเกิดอย่างนี้ แล้วก็จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว
แล้วก็แทนที่จะเห็น หันมาศึกษาสิ่งที่เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นความจริงที่เราควรจะยอมรับกัน กลับหันหลังให้ นั่นก็คือเรื่องของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติใช่ไหมคะ ซึ่งมันแสดงตัวให้เห็นอยู่ทุกเวลานาที ไม่ยอมรับ บอกว่านี่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่ของจริง แต่ว่าสิ่งที่มันเป็นความชั่วซึ่งก่อเกิดความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจ มันไม่ใช่เป็นสิ่งธรรมดา เพราะคนเกิดมานั้นเพื่อที่จะไม่เป็นทุกข์ นี่คือสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลแก่ทุกคนเลย ที่เกิดมาเพื่อที่จะไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เกิดมาแล้วยังเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะว่ากระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างน้อยมันก็รู้สึกอยู่ในใจ มันก็ไม่คุ้มค่าแก่การได้เกิดมา เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งธรรมดา เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะสังวร และก็ควรจะแก้ไข ทั้งที่บ้านที่โรงเรียนแล้วก็ในสังคมโดยเฉพาะก็คือผู้ที่มีอำนาจในการบริหารที่จะจัดเรื่องนี้ให้เกิดเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นได้
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ดูเป็นเรื่องที่ยากสังคมยุคนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากกันหมดนะ มันจะแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ทำได้ มันจะมีโอกาสแก้ได้ เพราะเมื่อเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่แก้ได้ทำได้ จะเกิดความร่วมมือ เราจะมีความร่วมมือ จะมีความสามัคคี อยากจะช่วยกันทำ เพราะว่าสังคมหรือว่าชีวิตนี้เราไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้ ไม่เฉพาะแค่ชีวิตตัวเรา เรายังมีลูกหลานเหลนที่จะอยู่ต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น อย่าลืม คนที่ชอบอามิสสินจ้างหรือชอบเบียดเบียนคนอื่นนี่นะเพื่อจะเอาให้ได้เฉพาะตัวเอง อย่าลืมว่าตายไปแล้ว ลูกยังอยู่ หลานยังอยู่ เหลนยังอยู่ แล้วอยากจะให้ลูกหลานเหลนอยู่ในสังคมอย่างไหน สังคมนรก หรือ สังคมสวรรค์ อยากจะให้เขามีความสุขเย็นหรืออยากจะให้เขามีความเดือดร้อนดิ้นรน ขอให้คิดดู ทำอะไรไว้เดี๋ยวนี้ มันเป็นเหตุปัจจัยที่จะเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานเหลนต่อไปเสมอ หนีไม่พ้น
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ขอบคุณมากครับ ท่านผู้ชมครับ คำตอบของท่านอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ต่อคำถามสุดท้ายที่ท่านถามมาคิดว่าคงจะแรงทีเดียวในความรู้สึกของหลายท่านทีเดียวนะครับ เพราะว่าท่านได้พูดถึงว่า ถ้าหากว่าเราเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นแล้วลูกหลานของเรานี่นะครับ เขาจะอยู่อย่างไรนะครับ อยากให้ลูกหลานที่อยู่ต่อจากเราไป เขามีความสุขหรือไม่ เพราะฉะนั้น คงเป็นข้อคิดที่ดีทีเดียวสำหรับท่านที่ต้องรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ นะครับ