แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ท่านจะมาบอกต่อนะครับว่าสิ่งที่เราถูกกระทบ ส่วนใหญ่เรามักกระเทือนนะครับเป็นเพราะว่า เรามักจะมีความคิดที่เกินจำเป็น ทำให้เราไม่สามารถตัดเรื่องราวนั้นๆ ออกไปจากตัวเราได้ ทำอย่างไรเราจึงจะตัดความคิดที่เกินจำเป็นออกไปได้ ไปฟังจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหง กันต่อนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เพราะเหตุว่าเราคุ้นเคยกับความคิดที่ปรุงแต่ง ตั้งแต่เรายังอยู่ในโลก ตั้งแต่เรายังไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรม ลองนึกดูสิคะว่าในขณะที่เราคิดว่า เราคิดเพื่อประโยชน์ คิดเพื่องาน คิดเพื่ออะไร ลองสอดส่องความคิดนั้นดูให้ดีๆ แล้วจะพบกับตัวเองว่า จริงๆ แล้วมันมีความคิดที่เกินความจำเป็น ที่ไม่ได้เกี่ยวกับงาน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังทำเดี๋ยวนี้สอดแทรกเข้ามาเยอะเลย เราคุ้นเคยอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่เราทำสมาธินี่นะคะ มันก็จึงต้องเข้ามาอีก มันก็ต้องมาถามว่า ลืมฉันเสียแล้วเหรอ ฉันยังอยู่นะ มันมาเตือน ฉันยังอยู่นะ อย่าเพิ่งลืมฉันง่ายๆ ฉันเป็นเพื่อนมาตั้งนาน เราก็ต้องบอกว่า แกมันเพื่อนเทียม มันเพื่อนคดโกง มันเพื่อนทรยศ มันคอยจะฆ่าเราอยู่เรื่อย ฆ่าเราจากอะไร ฆ่าเราจากความสงบ ว่ามันออกไป เอาสติว่ามันออกไป บ่อยๆ มันจะได้ไม่กล้าโผล่หน้ามาบ่อยๆ แล้วเราก็ใช้สมาธินี่ให้หนักเข้า หนักเข้า ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่กว่าครูจะเรียนรู้นี่ นาน นานเพราะว่าจิตที่มันอ่อนแอ เพราะมันไม่ได้ฝึกให้มั่นคงเข้มแข็ง นานทีเดียวกว่าเราจะสามารถทำได้
ผู้ดำเนินรายการ: ตอนนี้ก็เลยชักจะท้อแล้วครับ ว่าที่อาจารย์สอนมา ไม่รู้ตัวเองจะทำได้แค่ไหน มันเข้ามาตลอดเวลาหากแม้ว่าดึงกลับเข้ามานี่ เดี๋ยวมันก็ไป เดี๋ยวมันก็ไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ขอตอบว่า ถ้าทำให้ต่อเนื่องแล้วจะทำได้ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ทำ พอวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง นอนเสีย 5 ชั่วโมงเหลือเวลา 19 ชั่วโมง 19 ชั่วโมงนี่จะเลือกอยู่กับลมหายใจ คือรู้ลมหายใจสักกี่ชั่วโมง
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ ขณะนี้พยายามทำอย่างที่อาจารย์ว่าไม่ว่าจะหยุดทำอย่างอื่น ถ้าว่างอยู่ก็มักจะคิดถึงลมหายใจเข้าออก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ดี
ผู้ดำเนินรายการ: พยายามทำทุกเวลาเท่าที่ทำได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าทำทุกเวลาก็อย่าหวัง เติมมาอีกหน่อย ทำแล้วอย่าหวังนะ ว่านี่แหม ครูบอกไว้แล้วว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อไหร่จะได้ตามที่บอกสักที
ผู้ดำเนินรายการ: คือไม่ได้หวัง แต่ว่าพยามทำเพื่อให้มันสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็นั่นแหละคือความหวัง มันคือความหวังใช่ไหม ถ้าเราจะทำเพื่อให้สงบ เรารู้ว่าวิธีนี้ถูกต้องเราก็ทำไปสิ คือทำนี่เห็นมั้ยกฎอิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัยอย่างใด ผลอย่างนั้น ถ้าเราประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง ไม่ต้องไปกังวล ผลต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเราประกอบเหตุปัจจัยมันไม่ถูก ต้องมันได้เพียงแค่ 50%
ผู้ดำเนินรายการ: ความหวังที่เข้ามาโดยไม่รู้ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นั่นแหละค่ะมันก็มาตัด 50% มันจึงได้บ้างไม่ได้บ้าง ผลมันจึงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมเหตุปัจจัยเสมอ และก็อย่าไปคิดว่า มันเกินความสามารถ ไม่มีอะไรเกินความสามารถ ไม่มีอะไรเกินความตั้งใจ งานที่ยากยิ่งกว่านี้ คืองานที่ทำที่ใช้สติปัญญาความสามารถ เราก็ยังทำมาได้ แล้วก็งานอันนี้เป็นงานที่อิสระด้วย เราไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเลยทำไมเราถึงจะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เชื่อว่าไม่เกินความสามารถแน่นอน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่เป็นความลำบาก หรือเป็นปัญหาของการปฏิบัติที่เราจะต้องแก้ไขให้ได้ และครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องบอกว่า ฝึกสมาธิ ฝึกสมาธิ
ทีนี้ถ้าสมมติว่าบางทีทำไม่ได้นี่นะคะ ครูก็จะใช้ วิธีเปลี่ยนอารมณ์ คือเราก็ต้องมีงานการทำในขณะที่เราอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัด เราก็มีงานการทำ เราก็จะไม่รังเกียจ จะไม่รู้สึกว่า พอเราเข้ามาฝึกปฏิบัติที่วัดละก็ พอกินเสร็จจะไม่ทำอะไรเลย จะมาบังคับตัวเองให้นั่งหลับตาทำสมาธิอย่างเดียว ตอนแรกๆ ครูคิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่พอฝึกปฏิบัติไปก็มองเห็นว่านี่มันค่อนข้างจะผิดธรรมชาติไปสักหน่อย ที่เราจะมาบังคับตัวเองให้นั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างเดียว เพราะในชีวิตของเราประจำวันนี้เราก็รู้ว่า เรามีอิริยาบถสี่ ใช่ไหมคะ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วในยืน เดิน นั่งนี่ เราก็มีกิจกรรมที่เราจะทำในระหว่าง อีกหลายๆ อย่าง แม้เราจะไปอยู่ที่วัด ไปฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว มันก็มีงานที่เราจะต้องทำอยู่ด้วยเหมือนกัน เป็นงานที่เป็นกิจส่วนตัวบ้าง เป็นงานที่จะต้องเป็นกิจของส่วนรวมในสถานที่ที่เราไปอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นก็ปรับใจของเราไม่ให้รังเกียจ ไม่ให้รังเกียจในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานกิจส่วนตัวหรือกิจส่วนรวม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ค่อยๆ เริ่มรู้จักที่จะฝึกใจของเราให้อยู่กับสมาธิ ให้มีสมาธิในการทำงาน อย่างที่ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านจะบอกว่า พยายามฝึกอบรมตัวเองให้ได้จนรู้สึกว่า การทำงานคือ การปฏิบัติธรรม ถ้ารู้สึกได้อย่างนี้เมื่อไร ปัญหาความทุกข์มันก็จะหมดไป เพราะฉะนั้น
ผู้ดำเนินรายการ: ชาววัดก็คล้ายชาวโลกสิครับ ถ้าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เพราะชาวโลกก็ทำงานกันตลอดเวลา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ เหมือนกัน โลกกับวัดก็คืออันเดียวกัน บ้านกับวัดก็คืออันเดียวกัน ธรรมะกับชีวิตก็ไม่ได้แยกจากกัน แต่เราไม่รู้ตอนนั้น ครูก็ไม่รู้ เราก็แยก เรามักจะแยกเสมอ อ้อถ้าเป็นชาวโลกก็ต้องทำอย่างนี้ ถ้าเป็นชาววัดก็ต้องทำอย่างนี้ นี่คือมาตรฐาน นี่ก็เป็นปัญหาของการที่เราไปอยู่วัดปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าพอก่อนออกจากบ้าน เราก็มีมาตรฐานอย่างนี้ ถ้าเราไปอยู่ที่วัดแล้วละก็ วัดต้องสงบ พระสงฆ์องค์เจ้า แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็เรียบร้อย พูดจาอะไรเป็นศีลเป็นธรรม แต่บางทีเราก็ไม่ได้พบอย่างนั้น เราพบอะไรที่มันนอกกรอบออกไป จากมาตรฐานที่เราว่า ที่เราวางเอาไว้ในใจ เราก็แหมเกิดหงุดหงิดขัดใจขึ้นมาทันที เพราะเราลืมไปว่า ท่านเหล่านั้น ท่านยังไม่ได้บรรลุ ท่านก็เหมือนอย่างเราที่กำลังฝึกปฏิบัติ
แต่ว่าท่านไปไกลกว่าเรา ท่านไปก่อน เรานี่มาทีหลัง นี่เราก็ไม่รู้ นี่ก็มาเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็เกิดการเพ่งโทษ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่พูดอย่างนี้ นี่ไม่งดงาม ไม่เหมาะ ในขณะนั้นก็เลยเอากิเลสเข้ามาใส่ตัว แล้วก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเรานี่เป็นผู้มีวิจารณญาณ เรานี่เป็นผู้มีมาตรฐาน รู้จักจำแนกแจกแจง วิเคราะห์ วิจารณ์อะไรต่างๆ แต่ความจริงเปล่า ไม่ใช่ธรรมะเลย เพราะธรรมะนั้น มันจะไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจารณ์ข้างนอก พอเราวิเคราะห์วิจารณ์เราก็ต้องเกิดการแบ่งแยก เกิดการตัดสินว่าผิดว่าถูก ก็ตกอยู่ในสิ่งคู่ เราไม่รู้ แล้วเราก็ พอลงสิ่งคู่ คนไหนถูกล่ะ เราถูก เราถูกคนเดียว ส่งเสริมอัตตาตัวตนให้มันใหญ่ยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับหัวใจของธรรมะ ที่ว่าเรื่องของอนัตตา
เห็นไหมคะ นี่ก็เป็นความไม่รู้ที่มันกลายเป็นความลำบาก เป็นปัญหาที่เราต้องค่อยๆ คลำออกไปเอง ถึงครูบาอาจารย์จะมาบอกมาสอนไม่เท่ากับที่เราได้ประจักษ์ด้วยตัวของเราเอง ว่าการที่จะไปคิดไปทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าโลกกับวัดก็อันเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามทุกท่านที่เข้ามาอยู่ในสถานที่นี้แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า ท่านกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกอบรม ท่านพยายาม พยายามขัดเกลาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคอยเวลา คอยจังหวะ คอยโอกาส แล้วแต่ความขยันหมั่นเพียรของท่านผู้ใดมากน้อยแค่ไหน เราลืมนึกถึงสิ่งเหล่านี้ มันก็เลยมาเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม เราจะต้องค่อยๆ ขัดสิ่งเหล่านี้ออกไป คือดึงใจของเราที่ชอบออกข้างนอกนี่ให้เข้าข้างใน นานมากพอสมควรทีเดียวกว่าที่เราจะสามารถเอาใจของเรานี่อยู่ในใจ ให้เป็นจิตดูจิต เหมือนอย่างที่คุณแม่เขาสวนหลวงท่านว่า ต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรามีจุดหมายที่แน่นอนอยู่แล้ว พอเราจะหลงทาง จุดหมายอันนี้จะกลับมาเตือนสติ เอ๊ะนี่เรามาฝึกปฏิบัติธรรมนี่เพื่อให้ดับความทุกข์ใช่ไหม ทำไมมาสะสมความทุกข์อีกล่ะ เราก็จะได้สติ รู้ตัว ก็กลับมาในหนทางที่ถูกต้องต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: ครับ เรียกว่าวันนี้ก็ได้ฟังปัญหาจากท่านอาจารย์ส่วนหนึ่ง คงจะทำให้เป็นแนวทางไปนะครับ แต่ว่าคงจะมีปัญหาที่จะเรียนถามท่านอาจารย์อีก ไว้คราวหน้าอีกนะครับ วันนี้ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมมะสวัสดีค่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านผู้ชมครับอย่างที่ท่านอาจารย์รัญจวนได้พูดไปเมื่อสักครู่นะครับว่า การที่เราจะสามารถที่จะเอาใจของเราอยู่ในใจได้นั้นเป็นเรื่องที่คงต้องใช้เวลากันพอสมควร ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนสมาธิของตัวเรากันนะครับ จึงจะสามารถที่จะควบคุมจิตของเราให้มีสมาธิได้นะครับ