แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีนะคะ สวัสดีจริงๆหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : สวัสดีจริงๆ สิครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมายถึงสวัสดีในใจ มีความรู้สึกสวัสดีจริงๆหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : จนบัดนี้แล้วใช่ไหมครับ
ผู้ร่วมสนทนา : ออกมาจากใจค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่ ครูไม่ได้หมายความถึงว่า ยกมือไหว้ครูด้วยความจริงใจหรือเปล่า อันนี้เชื่อว่าจริงใจ ทีนี้คำว่าสวัสดีหมายความว่า เราได้ลองฝึกสมาธิกันมา ได้พูดคุยกันในเรื่องของธรรมะ แล้วก็มีความรู้สึกสวัสดี เกิดขึ้นในจิตบ้างหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : หมายถึงใจชุ่มชื่น ใจชุ่มชื้นอย่างนี้หรือเปล่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สวัสดีก็สวัสดี แปลว่าอะไร ใช่ไหม เกิดความสวัสดี เป็นสุข ปลอดภัย มั่นคง เกิดขึ้นในใจบ้างหรือเปล่า นั้นแหละ หมายความว่า เป็นพักๆก็ยังดี เราก็พยายามเชื่อมโยงให้ความรู้สึกสวัสดีนี้เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็จะมีความเป็นสวัสดีที่แท้จริง เราได้พูดกันถึงเรื่องการปฏิบัติติจิตตภาวนา คือการพัฒนาจิตให้เจริญ ด้วยวิธีการของอานาปนาสติ ซึ่งมีทั้งหมด 4 หมวดด้วยกัน หมวดกายานุปัสสนา เราได้พูดค่อนข้างละเอียดพอสมควรตามเวลาที่อำนวยให้นะคะ มีใครสงสัยบ้างไหมคะ เรื่องของหมวดกายานุปัสสนา ที่แม้จะพูดว่ากายาคือกาย แต่เน้นที่อะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เน้นที่การศึกษาลมหายใจ ศึกษามันทำไม เพื่ออะไร ศึกษาลมหายใจทำไม เพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : เพื่อจิตสงบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ศึกษามันทำไม เพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : เป็นเครื่องมือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพื่อให้รู้จักธรรมชาติของลมหายใจ ก็เหมือนอยากจะศึกษาอะไร เราอยากจะศึกษาเพื่อให้รู้จักสิ่งนั้นใช่ไหมคะ รู้จักมันให้ดีที่สุด เพื่ออะไร เพื่อเราจะได้สามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ตามจุดมุ่งหมายหรือตามความต้องการ นี่เราศึกษาลมหายใจ เพราะเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ เราจะใช้ลมหายใจนี้เป็นอาวุธ เป็นอุปกรณ์ในการที่เราจะพัฒนาจิต เพื่อให้จิตนี้มีสติ เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักธรรมชาติของลมหายใจ ทุกอย่าง ทุกชนิด ว่ามีลักษณะอะไรบ้าง เช่น
ผู้ร่วมสนทนา : สั้น ยาว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สั้นบ้าง ยาวบ้าง และในความสั้นหรือในความยาว มันยังมี
ผู้ร่วมสนทนา : ความหนัก ความเบา ความละเอียด ความหยาบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เขาเรียกว่ายังมีความแตกต่างกันใช่ไหมคะ ความแตกต่างกันนั้น บางทีก็สั้นหยาบ สั้นละเอียด ยาวหยาบ ยาวละเอียด หรือว่ายาวหนัก ยาวเบา สั้นเป็นห้วงๆ สั้นต่อเนื่องกัน อย่างนี้เป็นต้น นี่เราจะต้องศึกษาให้รู้จักลักษณะลมหายใจหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อประโยชน์จะได้หยิบลมหายใจที่ช่วยพัฒนาจิตให้สงบ เพื่อจิตนั้นจะได้มีสติมาใช้ให้เหมาะสมแก่โอกาสที่ต้องการ ฉะนั้นขณะที่เราศึกษาลมหายใจ เราก็ใคร่ครวญดูด้วยตลอดเวลา ด้วยความรู้สึกอย่างไหนดี อย่างไหนทำให้จิตสบาย อย่างไหนทำให้จิตสงบ อย่างไหนลมหายใจอย่างไหน พอหายใจเข้า จิตมันเหนื่อย อึดอัด ไม่เอา ลมหายใจอย่างนั้นไม่เอา พอรู้สึกมันจะเข้ามา ลมหายใจอย่างนั้นจะเกิดขึ้น เราจะค่อยๆ เรียกว่าทำให้มันหายไปเสีย หรือกำจัดมันออกไปเสีย ด้วยอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ด้วยลมหายใจยาว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ด้วยลมหายใจยาว เพราะเราจะรู้แล้วว่าลมหายใจยาวจะทำให้เกิดการผ่อนคลาย ผ่อนคลายความอึดอัด ผ่อนคลายความหนัก ผ่อนคลายความไม่สบาย จิตจะสบายขึ้น เราก็หายใจยาว แล้วกำหนดจิตให้หายใจยาวยิ่งขึ้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่จะแสดงถึงว่า สำเร็จ มีความสำเร็จในการปฏิบัติหมวดกายานุปัสสนา คือสามารถทำอะไรได้ ในตอนสุดท้าย
ผู้ร่วมสนทนา : สามารถบังคับลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สามารถบังคับลมหายใจได้ ถ้าหากว่าปฏิบัติไป แต่มันยังบังคับลมหายใจไม่ได้ คือยังเป็นนายของลมหายใจไม่ได้ พออยากจะให้สงบ ก็ยังบังคับลมหายใจให้สงบไม่ได้ นี่ก็แสดงว่ายังไม่ผ่านการปฏิบัติ เพราะการปฎิบัตินั้นยังไม่ได้ปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง หรือจริงจัง ทำเล่นๆ หัวๆ เมื่อไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ อย่างคนประมาท ประมาทต่อชีวิต แต่ถ้าทำอย่างจริงจังทุกขณะ ทุกเวลา มันจะมีแต่ความมั่นคง หนักแน่น และก็บังคับลมหายใจได้ทันท่วงทีเหมือนอย่างนักขับรถผู้ชำนาญ ที่มีรถ ที่มีอุปกรณ์เรียบร้อย คล่องแคล่ว ใหม่ ทันสมัย พอเราขับรถไปนี่ เห็นเหตุการณ์ข้างหน้า น่ากลัวจะเกิดปัญหา เหยียบเบรค แตะเท่านั้นละ หยุดทันที นี่เราต้องสามารถบังคับลมหายใจได้ ที่จะให้มันสงบได้ทันที ถึงอย่างนี้ ถึงจะเรียกว่า นี่ละคือความสำเร็จของการปฎิบัติในหมวดที่ 1 แล้วก็ได้พูดแล้วว่า การปฎิบัติอานาปนาสติภาวนา อาจจะเหมือนกับการสร้างบ้าน หมวด 1 นี่คือการลงรากฐานของบ้าน เพื่อให้บ้านนั้นจะได้อยู่ได้มั่นคง ถูกลมพายุก็ไม่สั่นสะเทือน นี่ก็เหมือนกัน เพื่อการปฎิบัติในหมวดต่อๆไป ที่มันจะละเอียด ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้น เราจะได้สามารถปฎิบัติได้ด้วยความคล่องแคล่ว และก็เบาสบาย และก็รู้สึกเป็นสุขในการปฎิบัติด้วย นี่คือหมวดที่ 1 คือหมวดกายานุปัสสนา ทีนี่ก็ต้องสมมุติแหละ ต้องใช้วิธีสมมุติ เพราะรู้ว่าเราทุกคนยังอยู่ในระหว่างของการปฎิบัติ เรายังไม่ได้บรรลุผลดังที่เราต้องการในขณะนี้ แต่เรารู้ว่าหนทางที่เราจะเดินๆไปทางไหน ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เรารู้หนทาง เพราะฉะนั้นก็สมมุติเอาล่ะ สมมุติว่าทำจิตให้สงบได้พอสมควร ที่นี้เราจะใช้จิตที่สงบนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรหมวดที่ 2 ของอานาปานสติภาวนา เมื่อเราสามารถปฎิบัติหมวดกายานุปัสสนาได้แล้ว บังคับจิตให้สงบ บังคับจิตให้เป็นสมาธิได้ ตั้งมั่นได้ นี่คือจุดประสงค์ของหมวดที่ 1 เราก็จะใช้จิตที่สงบนี้ละ เคลื่อนการปฎิบัติต่อไปสู่หมวดที่ 2 นั้นก็คือหมวดเวทนานุปัสสนา เวทนาคืออะไร เวทนา ความรู้สึก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใช่ไหมคะ สิ่งที่รบกวนจิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลานั้นคืออะไร คือเวทนาใช่ไหมคะ จิตที่มันขึ้นๆลงๆ มันซัดส่ายไปมา ประเดี๋ยวร้อน ประเดี๋ยวหนาว ประเดี๋ยวก็ โลกนี้สดใส เป็นสีชมพูน่าอยู่ ประเดี๋ยวก็โลกนี้ทำไมมันหม่นหมอง มืดมัวเป็นสีเทา สีดำตลอดเวลา นี่อะไรรู้ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ความรู้สึก เวทนา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเวทนา ที่พระคุณอาจารย์ท่านพูดบ่อยเลยบอกว่า ใครที่สามารถเอาชนะเวทนาได้ จะเอาชนะโลกได้ ใครที่สามารถควบคุมเวทนาได้ ก็สามารถควบคุมโลกได้ หรือพูดได้ว่าเอาโลกนี่เอาไว้ในอุ้งเท้าได้ เหยียบโลกได้ ก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าโลกก่อน โลก สระโอ ลอลิง กอไก่ โลกในที่นี่หมายถึงอะไร ก็แน่นอนไม่ได้หมายถึงโลกทางภูมิศาสตร์ที่เราอยู่ แต่หมายถึงโลกที่
ผู้ร่วมสนทนา : โลกของความอยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โลกที่มันเกิดขึ้นทางจิต ที่เราสร้างขึ้นเอง ที่เราบอก โลกนี่ไม่น่าอยู่ โลกนี้ก็ใบนี้ มันเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ตามภูมิศาสตร์เขาบรรยายไว้อย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง มันเป็นวัตถุ มันเป็นรูปธรรม มันคงเป็นอย่างนี้ แต่โลกที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือโลกนามธรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นเองในใจของตัวใช่ไหม ประเดี๋ยวก็โลกใบนี้สวย วันนี้โลกนี้สวยงาม อากาศก็ดี อะไรๆก็แจ่มใส แท้ที่จริงไม่ใช่ ไม่ใช่สิ่งข้างนอกที่มันสวยงาม มันแจ่มใส แต่เพราะในใจต่างหากล่ะ เมื่อคืนนี้นะ เธอคนนั้นนะ เขายิ้มให้กับฉัน แล้วเขายิ้มเหมือนกับเขาเข้าใจฉันนะ เขายอมรับฉันเป็นมิตรนะ เขายอมรับฉันเป็นเพื่อน
ผู้ร่วมสนทนา : เหมือนแฟนใช่ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั้นล่ะ โลกนี้ก็เลยแจ่มใสใช่ไหมล่ะ แต่ถ้าวันต่อมาอีกสัก 2-3 วัน เธอคนนั้นเขาเกิดหน้าบูดบึ้ง พอเห็นเขาก็หันหลังให้ ทั้งๆที่พระอาทิตย์ก็ยังส่องแสงสว่างจ้า ลมก็พัดเย็นๆ โลกนี้กลายเป็นสีเทาไปแล้ว เห็นไหม
ผู้ร่วมสนทนา : เธอทิ้งฉันแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เปลี่ยนแปลงไปได้ คาดไม่ถึงเลย เห็นไหม ไอ้โลกใบนี้เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ไอ้โลกใบนี้มันอยู่ที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา : อยู่ที่ตัวเรา ใจเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยู่ที่ใจ ใจที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และไอ้สิ่งที่ทำให้โลกต่างๆนี่ เปลี่ยนแปลงอยู่ในจิต สิ่งนั้นคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ความคิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถูกล่ะ มันเริ่มจากความคิดแล้วมันทำให้เกิดอะไร ถ้ามันคิดเฉยๆ มันไม่เป็นไร
ผู้ร่วมสนทนา : ความรู้สึก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันทำให้เกิดความรู้สึกคือเวทนา อย่าลืมสิ เรากำลังพูดกันถึงเรื่องของเวทนา ใช่ไหม ความรู้สึกใช่ไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ใช่ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไอ้เวทนาที่มันเกิดขึ้นในจิต ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต มันเปลี่ยนแปลงโลก หรือมันสร้างโลกต่างๆให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงบอกว่า ถ้าเราสามารถควบคุมเวทนาได้ คือไม่ให้เวทนามันเกิดขึ้นในจิต พอเห็นอะไรเข้า ก็เป็นเช่นนั้นเอง เหมือนอย่างพร้าวนาฬิเกต้นนั้น จิตมันก็มีแต่ความเย็น นี่ละ เราเหยียบโลกไว้ในอุ้งเท้าเราได้แล้วเป็นเจ้าโลกก็เป็นกันตรงนี้ จะยืนอยู่ตรงยอดเขา ก็ตรงนี้ ตรงอยู่ที่รักษาจิตไม่หวั่นไหว ไม่เป็นทาสของเวทนา ควบคุมเวทนาได้ คือควบคุมโลกได้ โลกที่จะมีอยู่ในจิตก็จะมีโลกใบเดียว คือโลกแห่งความเย็น ความสงบเย็น หรือจะเรียกว่าเป็นโลกแห่งนิพพานก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าเวทนานี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์มากเลย แต่น่าเสียดาย น่าสงสาร ที่มนุษย์ไม่รู้สึก เคยรู้สึกไหมคะ ว่าทำไมโลกจึงแจ่มใส โลกไม่แจ่มใส ทำจึงอยากอยู่ ทำไมไม่อยากอยู่ เพราะอะไร เคยไหม
ผู้ร่วมสนทนา : บ่อย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แต่ไม่เคยคิดใช่ไหม เพราะอะไรคือสาเหตุ ก็มักจะไปโทษว่า วันนี้นายฉันไม่ไหวเลย พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่อยากทำงานเลย แท้ที่จริง ไอ้จิตของเรา ที่เราไม่ยอมรับเขา คนเป็นนายต้องฉลาดล่ะ เขาถึงได้เลือกมาเป็นนาย แล้วพูดเรื่องแค่นี้ ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ สร้างปัญหาเปล่าๆ แท้ที่จริงนะ ก็เพราะใจเรายึด เรากำหนด ว่าคนเป็นนายต้องมีมาตราฐานอย่างนี้ คนเป็นลูกน้องต้องมีมาตราฐานอย่างนี้ เผอิญลูกน้องเขาก็มีมาตราฐานของเขา ไอ้นายเขาก็มีมาตราฐานของเขา เขาไม่ยอมรับมาตราฐานของเรา ไอ้เวทนาก็เข้ามาจู่โจมจิตของเรา จนกระทั่งทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ แต่ถ้าวันใด เผอิญมาตราฐานของเขากับมาตราฐานของเรามันกลมกลืนกัน โลกนี้แจ่มใส วันนี้โลกเป็นของเรา
ผู้ร่วมสนทนา : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หลอกตัวเองแท้ๆเลย เห็นไหม อยู่กับความเป็นมายา
ผู้ร่วมสนทนา : นายเขาก็เหมือนเดิม เราก็เหมือนเดิม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ แต่ไอ้จิตของเราที่มันเปลี่ยน เปลี่ยนเพราะอะไร เปลี่ยนเพราะความไม่รู้ เห็นไหม องค์ประกอบของชีวิต ข้อความรู้ที่ถูกต้องสำคัญเหลือเกิน ไม่รู้สิ่งที่ถูกต้อง ก็เลยคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แท้จริงมัน เป็นอย่างนี้ คือเป็นเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาอย่างนี้เอง แต่เรารับไม่ได้ เราก็เลยถูกพิษงูกัดตลอดเวลา ฝนตกเมื่อไร เราก็เปียก ฟ้าร้องเมื่อไร แก้วหูก็จะแตก คืออยู่ที่ข้างใน จิตนี้มันสั่นระรัว มันกระเทือน มันเจ็บปวด มันขมขื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่เรียกว่าเวทนา น่ากลัวไหม
ผู้ร่วมสนทนา : น่ากลัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : น่ากลัวนะคะ เวทนา น่ากลัวจริงๆ เราตกเป็นทาสของเวทนามานานนับกี่ปี ก็ตลอดชีวิตล่ะ
ผู้ร่วมสนทนา : เหมือนที่อาจารย์เปรียบว่าตบซ้าย ตบขวาใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั้นล่ะ เราถูกเวทนาตบ ไม่ใช่อะไรตบ เวทนามันตบ ตบซ้าย ตบขวามั้ง บางทีกระทืบซ้ำ จนกระทั่งจมธรณี ก็เพราะเวทนา ไม่ใช่เพราะอะไรอื่นเลย แต่ถ้าเราควบคุมเวทนาได้ เราควบคุมโลกได้ มันมาเมื่อไร เราหัวเราะเยาะใส่หน้ามัน มันก็ถอยหลังกรูดๆๆ มันกลัว มันกลัวเสียงหัวเราะเยาะของคนที่รู้เท่าทัน มันจะทำร้ายเราไม่ได้เลย แต่นี่เพราะเรายอมตกเป็นทาสของเวทนา พออะไรน่ารักเข้ามา รัก ผวาเข้าไปรัก พออะไรน่าเกลียดเข้ามา ผงะ ถอย ผงะถอยด้วยอะไร ด้วยความชิงชัง ด้วยความโกรธ ด้วยความขัดเคือง พร้อมที่จะผลักมันออกไปด้วยกำลังแรงของโทสะ ของความไม่ชอบ เห็นไหม มีแต่ผวาเข้ากับผงะออก ผวาเข้า ผงะออก แล้วยืนตรงไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่ตรง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โซเซไปมา ถอยหน้า ถอยหลังไปมา ไม่มีรากฐาน
ผู้ร่วมสนทนา : ปล่อยเวทนามันจับเราปั่นเล่นใช่ไหม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ถูกแล้ว แล้วเราก็เป็นอย่างนั้นจริงๆด้วย แต่เราไม่รู้ น่าสงสาร เป็นสิ่งที่เรามองข้ามตลอดเวลา นี่คือความจริง ความจริงที่เรากำลังพบอยู่ แต่เราไม่รู้นี่คือต้นเหตุของปัญหา เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมาเข้าสู่จุดที่สามารถมองดูเวทนาได้ ศึกษาเวทนาได้ เราจึงต้องศึกษาในเรื่องหรือปฎิบัติในเรื่องหมวดที่ 1 คือหมวดกายานุปัสสนา รู้เรื่องของลมหายใจอย่างดี จนบังคับลมหายใจได้ เพื่อพัฒนาสติ ความสงบมั่นคงให้เกิดขึ้นในจิต แล้วเราจึงจะจิตที่สงบมั่นคง ซึ่งกำลังพอสมควร มาใคร่ครวญพิจารณาในเรื่องของเวทนา มิฉะนั้นเรายอมรับไม่ได้
ผู้ร่วมสนทนา : ก็เหมือนกับความอดกลั้น ที่หลังจากเราใช้ลมหายใจบังคับมันได้ ควบคุมมันได้ พอขั้นที่ 2 พอเวทนาเกิดขึ้น เราก็ใช้ลมหายใจ ใช้ตัวจิต บังคับจิตขึ้นมาอีกครั้งใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ใช้จิต
ผู้ร่วมสนทนา : ที่มันอดกลั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ใช้ลมหายใจที่เราใช้เป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือ เป็นอารมณ์ขับไล่เวทนานั้นออกไป พอเวทนาความรู้สึกที่มันทำให้แน่น อึดอัดในจิต เพราะรัก เพราะโกรธ เพราะหลงก็ตามที อย่างนี้ใช่ไหมคะ มันก็ค่อยๆจางหายไป พอจางหายไป เราก็จะนำปัญญา ความรู้ที่ถูกต้องเช่น พร้าวนาฬิเก หรืออยู่เหมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงู อย่างนี้เป็นต้น หรืองานซากผีที่เราเคยรู้แล้ว เอาเข้ามาสอนใจทันที เรียกว่าเอามากำหนดเป็นอารมณ์ในจิตทันที ก็จะค่อยๆช่วยให้มองเห็นเวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา เท่านั้นเอง มันจะไม่ทำร้ายอะไรเราได้ สักเท่าไร นี่คือการดู ดูอย่างนี้ แล้วเราก็จะสามารถควบคุมเวทนา ซึ่งเป็นอาการของจิต เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ ให้มันสงบลง สงบลง สงบลง แล้วจิตนี้ก็จะเป็นจิตที่ราบเรียบยิ่งขึ้น ที่นี่ในบรรดาเวทนานี่ สิ่งที่เราต้องศึกษา คืออะไร เวทนาอย่างไหน ที่รบกวน ทำร้ายมนุษย์มากที่สุด คือสุขเวทนา
ผู้ร่วมสนทนา : ความสุขนี่หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เชื่อ
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่เชื่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่เชื่อ ก็นึกดูสิว่า ที่เรา
ผู้ร่วมสนทนา : เรามีความสุขจะตายเวลาได้อะไร
ผู้ร่วมสนทนา : เราละอยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะเราละอยาก เราละอยากเพราะอะไร เพราะว่าเราอยากได้ เราสุขและเราก็รู้สึกว่าพอได้สมปรารถนาเราก็เป็นสุข นั้นมันได้ตามความอยาก เหมือนอย่างหิวเหล้า ดื่มเข้าไปอึกหนึ่ง ซาบซ่าเข้าไปอึก มันโล่ง แต่เสร็จแล้ว มันก็มัวเมายิ่งขึ้นๆ ใช่ไหมคะ ต้องหันกลับไปหามันอีกเรื่อยๆ บ่อยๆ อันความสุขอย่างนี้ มันเป็นความสุขจอมปลอม มันเป็นความสุขชดเชย นี่เห็นไหม เป็นชีวิตอยู่ด้วยความชดเชย ที่เราเคยพูดกันแล้ว เราชดเชยมันเรื่อย มันก็ไม่ใช่ความสุขจริง ถ้ามันสุขจริง มันไม่ต้องให้เราวิ่งดิ้นรน ติดตามมันอีกสิ ใช่ไหมคะ มันควรจะหยุดสักที หยุดสักที ต้องวิ่ง
ผู้ร่วมสนทนา : แก้วที่ 1 ยังไม่หวาน แก้วที่ 2 หวานคอ แก้วที่ 3 ตามมา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็ตามมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังมากที่สุดในบรรดาเวทนาทั้งหลาย คือสุขเวทนา คือสิ่งที่น่ารัก น่าชม น่าปรารถนา น่าใคร่ ที่ยกย่องกันเป็นความดี เป็นความงาม เป็นความเด่น เป็นความดัง ซึ่งทุกคนไขว่คว้า อยากจะได้มาเป็นของตน ระวังให้มาก มันจะเป็นยาเสพติดๆ ได้แล้วอยากได้อีก ได้แล้วอยากได้อีก เท่าไรๆก็ไม่พอ แล้วมันติดได้ง่ายที่สุด แต่ถ้าเป็นทุกขเวทนา อยากได้ไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่อยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่อยาก เรากลัวอยู่แล้ว เราไม่อยากเข้าใกล้ เพราะฉะนั้น อะไรที่น่าเกลียด น่าชัง อะไรที่เขาบอกว่ามันไม่ดี เลวนี่ ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไร เพราะว่ามนุษย์เราส่วนมากพร้อมที่จะถอยออกมา มนุษย์ที่มีคุณธรรม มนุษย์ที่มีศีลธรรม พร้อมที่จะถอยออกมา ไม่ค่อยผวา แต่ว่าพออะไรที่เป็นสุขเวทนา น่ารัก น่าชม มันพร้อมที่จะผวา คือเราหลงมันได้ง่าย แล้วเราก็เวทนาเกิดขึ้น ก็เพราะความหลงนี่ เยอะเลย เราจึงต้องระมัดระวัง ฉะนั้น ในการปฎิบัติอานาปนาสติภาวนา หมวดที่ 2 นี่นะคะ คือเกี่ยวกับเวทนานุปัสสนา ขณะที่ใคร่ครวญดูเวทนา ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกขณะที่หายใจเข้า ทุกขณะที่หายใจออก ต้องเพ่งดูทีเดียวว่า พอสุขเวทนาเกิดขึ้นเมื่อไร พัฒนาสติให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้สร้างเป็นกำแพงไม่ให้ผวาเข้าไปหลงรัก หรือว่าไปยึดมั่น ถือมั่น
ผู้ร่วมสนทนา : อย่านะๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ให้มากๆยิ่งขึ้น ไม่ต้องบอกตัวเอง แต่ว่าพัฒนาสติให้มันเกิดขึ้น แล้วก็ยิ้มอยู่ในใจ ยิ้มเยาะ รู้เท่า เรารู้เท่า นี่เป็นอย่างนี้แล้ว ยิ้มเยาะมันให้ได้ แล้วก็ให้มันหายไป คือทำให้มันหมดไป หมดไปด้วยอะไร ด้วยลมหายใจ เห็นไหม ใช้ลมหายใจเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมือ หายใจยาว ลึก พร้อมจะยิ้มเยาะที่เรารู้เท่าทันมัน มันทำไง วิ่งหนี มันก็อายเหมือนกัน รู้จักอาย ก็หนีหายไป นี่เราชนะแล้วครั้งนี้ แต่อย่าเพิ่งมั่นใจ เพราะเรายังเป็นนักเรียนใหม่อยู่ ยังเป็นทหารฝึกหัด เราอาจจะแพ้มันอีกก็ได้ ใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : เดี๋ยวมันมาอีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ เราจึงต้องพัฒนาสติเอาไว้เรื่อยๆ เพื่อให้จิตนี้สงบ พอมันมาเมื่อไร ทีนี้เราก็สู้มันได้ทุกที ทีนี้เราก็มีความมั่นคง แข็งแรง เรียกว่าฝีมือฉกาจฉกรรจ์ยิ่งขึ้น ต่อไปก็อาจจะเข้าอันดับ
ผู้ร่วมสนทนา : มาเมื่อไร ปราบ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มาเมื่อไรก็เมื่อนั้น มันจะต้องไปทันที ฉะนั้น ในหมวดเวทนานุปัสสนานี้ ผู้ปฎิบัติก็ต้องศึกษาใคร่ครวญเวทนาทุกชนิด ทุกลมหายใจเข้าออก มีสติรู้ทันเวทนาทุกชนิด ทุกขณะที่หายใจเข้าออก แล้วก็ใคร่ครวญให้ยิ่ง โดยเฉพาะสุขเวทนา จนผลที่สุดก็บังคับเวทนาทุกชนิดที่เข้ามาในจิต ให้สงบราบเรียบได้ ด้วยลมหายใจ นี่คือความสำเร็จในการปฎิบัติในหมวดที่ 2 คือเวทนานุปัสสนา ธรรมสวัสดีนะคะ