แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ ธรรมสวัสดีทุกคนนะคะ มองเห็นรูปนี้แล้วเป็นไงคะ เบื่อหน่ายหรือยัง กลัว
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ค่อยน่ากลัวเหมือนคราวแรกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อันนี้ไม่ดีนะ ถ้าหากพอมองแล้วรู้สึกว่าไม่น่ากลัวนี่ ไม่ดี ทำไมถึงว่าไม่ดี ถ้าหากรู้สึกไม่น่ากลัว ประเดี๋ยวจะอยากเป็นเหมือนอย่างเจ้าตัวนี้ ต้องระมัดระวัง ให้มองเห็นว่ามันน่ากลัว น่ากลัวที่มันจะไปเป็นอย่างนี้ อย่าให้มันเกิดขึ้น อย่าให้มันเป็นขึ้นให้ได้เลยทีเดียวที่จะเป็นเจ้าตัวอย่างนี้ ความหล่อเหลา น่ารักน่าชม มันจะหายไปหมดในขณะใดที่สิ่งนี้เกิดขึ้นในจิต
เรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท อย่างที่เราได้เคยพูดกันแล้วนะคะ ว่าเป็นธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นธรรมะขั้นลึก เพราะเป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงมีความละเอียดลึกซึ้งมากทีเดียว เราไม่สามารถจะพูดเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ให้เป็นที่เข้าใจได้ภายในเวลาจำกัดที่เรามีอยู่อย่างนี้ แต่เชื่อว่าภายในข้างหน้า เมื่อเรามีเวลามากกว่านี้ เราคงจะได้พูดกันถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม
สำหรับในวันนี้ก็อยากจะขอทบทวนสักเล็กน้อยนะคะว่าปฏิจจสมุปบาทคืออะไร ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ แสดงถึงสิ่งซึ่งอาศัยกันและเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นเหตุสิ่งที่เป็นผล เมื่อมันปรุงแต่งกันแล้วมันก็มีสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นที่จะแสดงให้เห็นชัดในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็ทุกข์นี้ดับลงได้อย่างไร ทั้งหมดมี ๑๒ อาการ
อาการแรกที่เป็นต้นเหตุคือเป็นรากเหง้าก็คือ อวิชชา ที่แสดงถึงอวิชชาคืออะไร คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เราพูดกันละเอียดแล้วในคราวก่อนนี้ว่า สภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้นั้น มันเหมือนสภาวะของความมืดที่ครอบงำจิต ทำให้จิตนั้นไม่รู้ว่าจะทำอะไรถึงจะถูกต้อง จะไปทางไหนถึงจะไม่ชนนั่นชนนี่ แล้วก็อวิชชาที่มันครอบงำจิตนี้ มันก็มีอิทธิพลทำให้เกิด “สังขาร” สังขาร ในที่นี้ก็คือ การปรุงแต่ง คิดไปเรื่อยไม่หยุดเลย อย่างที่พรเคยถามว่า ทำไมนะจึงจะหยุดคิดถึงอดีตได้ ประเดี๋ยวมันก็คิดไปถึงอนาคต นี่มันสังขาร มันปรุงแต่งไปเรื่อยๆ มันไม่รู้จักหยุด แล้วก็พอปรุงแต่งไปนี่จิตทำงานหรือเปล่า ทำงานมาก เพราะฉะนั้นที่เราเสียพลังไปวันหนึ่งๆ นะคะ บางครั้งไม่ใช่เพราะทำงานทำการ นี่มันเสียไปเพราะว่านั่งคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานา นั่งอยู่นี่แต่ตัวไปรอบโลกเลย มันเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน เดินทางทางกายยังได้พัก แต่เดินทางของจิตนี่ไม่ได้พักเลย นี่คือสังขาร เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก แล้วสังขารนี้ก็มีอิทธิพล ทำให้เกิด “วิญญาณ”
วิญญาณ นี่ก็คือ การรู้ การตามรู้ รับรู้ วิญญาณนี่ก็มีอิทธิพลทำให้เกิด “นามรูป”
นามรูป ก็มีอิทธิพลให้เกิด “อายตนะ”
อายตนะ นี่มันก็เป็นสิ่งที่ เชื่อมต่อ ติดต่อ เป็นสื่อ มีอายตนะ ๒ อย่าง คือ อายะตนะภายในมี ๖ อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ในบรรดาอายตนะทั้ง ๖ ภายในทั้ง ๖ นี่คิดว่าอะไรสำคัญที่สุด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
“ใจ” สำคัญที่สุด ทำไมจึงสำคัญที่สุด เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นที่ใจ จะรู้สึกสุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ มันอยู่ที่ใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะพัฒนาจิต ก็คือ “การฝึกใจ”
ฝึกใจของเราให้รู้จักหยุด ให้รู้จักเงียบ หยุดอยู่กับอะไร หยุดอยู่กับสติ เงียบอยู่กับปัญญา คือหมายความว่า มีสติและปัญญาที่จะรู้จักคิดค้นหาความจริง เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจ คือ ใจนี้ได้รับการพัฒนาจนรู้ว่าสภาวะของความเป็นจริงของธรรมชาติคืออย่างไร มันก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็น “สิ่งสักว่า”
ฉะนั้นเราจึงเรียนรู้ หรือจึงควรเรียนรู้ที่จะ “ปิดประตูใจ” ถ้าเราปิดประตูใจเสียได้เท่านั้นแหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมันไปพบกับคู่ของมัน
คู่ของตา ก็คือ รูป
คู่ของหู เสียง
คู่ของจมูก กลิ่น
คู่ของลิ้น รส
คู่ของกาย สัมผัส หรือ โผฎฐัพพะ
คู่ของใจ ก็คือ ธรรมารมณ์
จะไม่แปลกเลยใช่ไหมคะ ตาจะเห็นรูปอะไร มันก็สักว่า หูจะได้ยินเสียงอะไร มันก็สักว่า จมูกจะได้กลิ่นอะไร จะเหม็นมันก็เท่านั้นเอง จะหอมมันก็เท่านั้นเอง ทำไมถึงเท่านั้นเอง มันก็หายไป มันก็เปลี่ยนแปลงไป พอลมพัดโชยมา เหม็น ลมหยุดกลิ่นเหม็นนั้นก็สลายไปทำไม่ต้องไปดิ้นรนทุรนทุรายโกรธขึ้งกับกลิ่นเหม็น กลิ่นไม่น่าที่จะได้ดมเข้าไปด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามันฉลาดพอ ถ้าประตูใจ ใจนี้ฉลาดพอ รู้จักปิดประตูใจด้วยสติและปัญญา รูปก็เท่านั้นเอง เสียงก็เท่านั้นเอง กลิ่นก็เท่านั้นเอง รสก็เท่านั้นเอง อร่อยหรือไม่อร่อยมันก็เท่านั้นเอง แล้วก็อะไรที่จะมาสัมผัส จะถูกแรง ถูกค่อย จะอ่อนโยน จะกระด้าง มันก็เท่านั้นเองอีกเหมือนกัน นี่เพราะประตูใจปิด
ฉะนั้น อายตนะนี่ก็หมายถึง อายตนะภายใน ๖ อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็มีคู่ของมัน ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ หรือ สัมผัส และก็ธรรมารมณ์ ที่เป็นคู่กัน
ทีนี้ “อายตนะภายใน” กับ “อายตนะภายนอก” เมื่อมันพบกันเมื่อไหร่นะคะ แล้วก็ “วิญญาณ” ของอายตนะภายใน คือ วิญญาณทางตา พอตาเห็นรูป วิญญาณทางตาทำหน้าที่ มันจะมีอิทธิพลทำให้เกิด “ผัสสะ”
หรือพูดอย่างสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ อายตนะ ทำให้เกิด ผัสสะ
แต่ว่า ผัสสะ จริงๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น อยากจะขอให้เข้าใจว่า มันต้องประกอบด้วย ๓ อย่าง คือ อายตนะภายใน พบกับ อายตนะภายนอก ที่เป็นคู่ของมัน แล้ววิญญาณก็ทำหน้าที่ ทำหน้าที่รู้ รับรู้ ทีนี้ถ้าใจที่ได้รับการฝึกอย่างดีแล้ว มันก็หยุดแค่นี้ แต่ส่วนมากถึงฝึกมาเราก็ลืม พอเวลาผัสสะเกิดขึ้นเราก็ลืม ผัสสะนี้ จึงมีอิทธิพลทำให้เกิด” เวทนา”
เวทนา คือ อะไร ความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ พอชอบฟู ไม่ชอบ แฟบ ฟู แฟบ ไม่เช่นนั้นก็ซัดส่ายๆ ไปมา อย่างที่ว่าเหมือนกับถูกตบซ้ายตบขวาล้มกลิ้งล้มหงาย ถูกตบซ้ายตบขวาด้วยความรู้สึก เพราะฉะนั้นที่เราเคยพูดใน หมวดที่ ๒ ของ อานาปานสติ จำได้ไหมคะ หมวดเวทนานุปัสสนาว่า ถ้าผู้ใด สามารถควบคุมเวทนาได้ ก็ควบคุมโลกได้ เหยียบโลกไว้ในอุ้งเท้าเลย ยืนอย่างสง่าผ่าเผย เรียกว่า เป็นผู้ที่พิชิตโลกอย่างแท้จริง และโลกในที่นี้ก็คือ โลกที่ไหน “โลกในใจ” ที่เราสร้างขึ้นทุกวันๆ ประเดี๋ยวก็โลกแจ่มใส ประเดี๋ยวก็โลกสมัวลัว ประเดี๋ยวก็โลกน่าอยู่ ประเดี๋ยวก็โลกไม่น่าอยู่ มันจะไม่เกิดโลกเหล่านี้ มันจะมีแต่โลกของความสงบเยือกเย็นผ่องใสอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น จุดเวทนานี่ เราจะต้องนึก นี่เป็นจุดของการเริ่มเป็นความทุกข์แล้วนะคะ ฉะนั้น ผัสสะนี่ ถ้าไม่ระมัดระวัง ก็จะมีอิทธิพลทำให้เกิดเวทนา แล้วเวทนานี้ ก็จะมีอิทธิพลทำให้เกิดตัณหา ถ้ามีความรู้สึกชอบ หรือ ไม่ชอบก็ตาม มันจะทำให้เกิด ตัณหา คืออะไร ความอยาก
ความอยาก ความอยากนี้จะเป็นอยากชนิดไหน หรือ อยากอย่างไร ก็แล้วแต่ เวทนา
ถ้าเป็น เวทนาชอบ อยากก็ อยากได้ ดึงเข้ามาๆ นี่มันก็หมายไปถึงอะไร กิเลสตัวไหน โลภะ เกิดโลภะ อยากได้ๆ
ถ้าหากว่า เวทนาไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ตัณหาก็ ผลักออกไป คือแสดงอาการของ โทสะ ไม่เอา ไม่เอา อย่างนี้ก็ได้ ไม่เอา ออกไปให้พ้น ไม่ชอบ โทสะเกิดขึ้น ขัดเคือง
ทีนี้ตัณหา นี่นะคะ มันก็มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิด “อุปาทาน” อุปาทาน คืออะไร ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นจะเป็นไปในทำนองไหน ก็เกี่ยวกับตัณหานี้อีกแหละ ถ้าตัณหานั้นไม่เอา กว่าอุปาทานก็จะต้องเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกไม่เอานั้นว่า ฉันไม่เอา ฉันไม่เอา และฉันจะต้องหาวิธีกำจัดสิ่งที่ฉันไม่ชอบนี่ออกไปให้จงได้จะด้วยวิธีไหนก็ตาม เรียกว่า เบียดเบียนกัน ถ้าหากจะไม่เอา อุปาทานที่บอกว่าจะไม่เอา
แต่ถ้าสมมติว่า ตัณหานี่มันเกิดจากเวทนาที่ว่าชอบ ตัณหามันก็จะเอา มันดี มันน่ารักน่าชม อุปาทานนี้ก็จะเกิดความยึดมั่นขึ้นในใจว่า ต้องเอาให้ได้ ต้องเอาให้ได้ โดยวิธีไหนก็ตามต้องเอาให้ได้ และอุปาทานนี้ก็มีอิทธิพล ทำให้เกิด ภพ หรือ ภะวะ ซึ่งหมายถึง ความมี ความเป็น มีอะไร เป็นอะไร ความมีตัวฉัน ความเป็นตัวฉัน นี่เรียกว่า มันกรุ่น มันคุกรุ่นอยู่ในใจและกำลังรุ่มร้อนพร้อมที่จะระเบิด แน่นอน ระเบิดไม่ต้องสงสัย มันก็ระเบิด ออกมาเป็น ชาติ หรือ ชา-ติ ซึ่งหมายถึง การเกิด และก็โปรดสังวรให้ดีๆ นะคะว่า การเกิดของ ปฏิจจสมุปบาทนั้น มิได้หมายถึงการเกิดออกมาจากท้องมารดา คือ คลอดออกมาจากท้องมารดาซึ่งก็มีเพียงครั้งหนึ่งในชีวิตใช่ไหมคะ จะเจ็บปวดแค่ไหนอย่างที่เขาพูดกัน เราก็จำไม่ได้แล้ว หรือใครยังจำได้ว่าตอนนั้นถูกบีบหัวออกมาหรืออะไรนี้ เราจำไม่ได้แล้ว มันจะเจ็บปวดแค่ไหนและมันครั้งเดียวในชีวิต แต่การเกิดที่น่ากลัวที่ควรจะระมัดระวัง ก็คือ การเกิดของความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกู นี่แหละที่เราควรจะระมัดระวังอย่างยิ่ง ทำไมถึงควรจะกลัว ความเกิดอย่างนี้เพราะอะไร มันเกิดบ่อยๆ มันเกิดอยู่เรื่อย แล้ววันหนึ่งๆ เคยนึกไหมคะว่ามันเกิดกี่ครั้ง นับไม่ถ้วน แล้วพอเกิดทีไรเป็นอย่างไร เป็นทุกข์ ทุกที
เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที เพราะฉะนั้นการเกิดอย่างนี้ จึงเป็นการเกิดที่น่ากลัว ถ้าไม่มีการเกิดอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร การเกิดอย่างนี้เป็นการเกิดที่น่ากลัวเพราะมันจะนำตัวทุกข์อันนี้เข้ามาสู่ทุกที บางทีก็ทุกข์ทนหม่นหมองเศร้าสลดสังเวชใจในความเป็นอยู่ของตัวเองในความ สิ่งที่เกิดขึ้นของตัวเองสารพัด เกิดความทุกข์ กลิ้งเกลือกไป จนกระทั่งความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาโลกใครๆ เขาก็เป็นกันทุกคนก็ไปคว้ากวาดเอามาหมดเป็นของฉันคนเดียว พอฉันแก่เข้าก็เริ่มคร่ำครวญ ตายจะทำยังไง เริ่มจะเหี่ยวย่นมีริ้วรอยเริ่มจะมีตีนกา เริ่มจะคางหลายชั้น โอ ไม่งามเสียแล้ว เริ่มจะผมหงอกไม่มีคนรักไม่มีคนชม ขาดความสง่าผ่าเผย คร่ำครวญหมด คนแก่มีเยอะแยะจนเขามีบ้านคนชราไม่รู้จะกี่แห่งแล้ว เพราะว่านี่เป็นธรรมดาโลก ความเจ็บก็เหมือนกัน พอเจ็บเข้า คนอื่นเจ็บเราก็ไปเยี่ยม มีน้ำใจไปเยี่ยม แล้วก็พอเยี่ยมเสร็จมันก็เสร็จกันใช่ไหมคะ แต่พอเราเจ็บเข้า คร่ำครวญอยู่นั่น ทำไมจึงต้องเป็นฉัน ทำไมจึงต้องเป็นฉัน
นี่แหละ “อวิชชาครอบงำจิต” มันทำให้คร่ำครวญไปได้ถึงแค่นี้ เพราะใจไม่ได้ฝึกปรือ เพราะฉะนั้น ความตายก็เหมือนกัน ก็ถ้าหากว่าคนที่รักใกล้ชิดตายไป ก็เป็นทุกข์คร่ำครวญอยู่นั่น แต่ถ้าผู้อื่นตาย ก็ธรรมดา ปลอบเขาได้ ธรรมดาอย่างนั้นเองจะไปร้องไห้ทำไม แต่พอผู้ที่เป็นที่รักของเราตาย ใครจะปลอบเท่าไหร่ไม่ยอมหยุด ใช่ไหมคะ คร่ำครวญอยู่นั่น รับความเป็นธรรมดาไม่ได้ นี่เพราะอะไร ก็เพราะ ชาติ อันนี้ใช่ไหม ชาติอะไร ก็ ชาติของความรู้สึกที่เป็น อัตตา ตัวฉัน ตัวฉัน พ่อของฉัน แม่ของฉัน ภรรยาที่รักของฉัน สามีที่รักของฉัน ลูกที่รักของฉัน เห็นไหม ของฉัน ของฉันๆ ตามมาทั้งนั้น มันหนักแค่ไหน
เพราะฉะนั้นการเกิดอย่างนี้ในรอบหนึ่งรอบหนึ่งของ ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากเลย และกระแสของการปรุงแต่งของ ปฏิจจสมุปบาทนั้น สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ที่ท่านบอกว่าเหมือนสายฟ้าแลบ เห็นไหมคะ สายฟ้าแลบนี่มันมายังไง ถึงได้มาแลบแปลบๆ รู้ไหม ไม่รู้ รู้แต่ว่าเมื่อสายฟ้าแลบ เช่นเดียวกับอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต เราไม่รู้หรอกว่ามันมีอาการมาอย่างไร ตั้ง ๑๑ อาการ กว่าจะมาถึงความทุกข์ แต่มันแลบแปล๊บ รู้แล้วว่าเจ็บแปล๊บขึ้นมาในใจ มันแทงลึกเสียดแทงเข้ามาในใจ เรารู้เอาตอนนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงรวดเร็วมากเลย จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องศึกษาและก็ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านทรงสอนในเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น
ที่ว่าปฏิจจสมุปบาทนี่ เกิดขึ้นมาในแวบเดียวเหมือนสายฟ้าแลบนะคะ มันมีลักษณะอย่างไร ลองนึกตัวอย่างเหมือนอาหารคำหนึ่ง เคี้ยวอาหารคำหนึ่ง รู้ไหมคะว่าปฏิจจสมุปบาท ได้ทำงานของมันครบรอบวงแล้ว รู้ไหมคะ มันได้ทำงานของมันครบรอบวงแล้ว พอตักอาหารใส่ปากคำหนึ่งเท่านั้น เป็นยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: รู้รสทันทีเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: พอตักอาหารใส่ปาก พอเคี้ยวเป็นยังไง รสเกิด บอกทันที อร่อย ไม่อร่อย ใช่ไหม มันอร่อย ไม่อร่อย จะอร่อยหรือไม่อร่อยมันก็เพราะอะไรไม่คิด แต่มันจะบอกทันทีว่า อร่อย ไม่อร่อย พออร่อยเข้าก็ ชอบ เกิดเวทนา พอเวทนา ก็ ตัณหา เอาอีก สั่งจานนี้อีก หรือไม่ก็ จำไว้นะคราวหน้าต้องมาร้านนี้ พอตัณหาเข้า ก็เห็นไหม อุปาทานยึดละ คราวหน้าต้องมาร้านนี้ แล้วถ้ามานี่มีกุ๊กกี่คนนี่ ต้องคนนี้ทำนะ คนอื่นทำเดี๋ยวไม่อร่อย เห็นไหมคะ นี่ ภพชาติ ทุกข์ ทุกข์เพราะว่าความลิงโลด ถึงแม้ว่าจะบอกว่าอร่อยมันก็เป็นทุกข์เพราะลิงโลดกลัวว่าจะไม่ได้กินอย่างนี้อีก เดี๋ยวจะไม่ได้พบอย่างนี้อีก
ถ้าไม่อร่อย เวทนาไม่ชอบ ตัณหาก็บอก ไม่เอาแล้ว อุปาทานก็ จำไว้นะร้านนี้อย่ามาอีกและก็ถ้ากุ๊กคนนี้ทำล่ะก็อย่าได้กินอีกเลยเชียว ครั้งเดียวพอ แล้วก็นี่มันก็ออกมาแล้ว ใช่ไหมคะ ที่พูดนี่มันออกมาแล้ว อุปาทานบอกไม่เอาแล้ว มันก็ ภพ ใครล่ะไม่เอา ความมีความเป็นฉันนี่ไม่เอา ชาติ คือตัวฉันนี่แหละจะไม่กินร้านนี้อีก แล้วก็ยังจะบ่นคร่ำครวญต่อไป นี่เป็นความทุกข์ ทุกข์ คือ จิต หมายถึง อาการของจิตที่กระวนกระวายส่ายแส่ รำคาญไม่ได้มีความเยือกเย็นผ่องใสได้ วิตกกังวล อึดอัดขัดใจ นี่คือ อาการของความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจเรื่องของความทุกข์ให้ถูกต้องด้วย แล้วเราก็จะรู้ว่า อาการของความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร เห็นไหม อาการของปฏิจจสมุปบาท มันเร็วเป็นสายฟ้าอย่างนี้ เราจึงประมาทไม่ได้ ต้องศึกษาใคร่ครวญให้เข้าใจ ให้ลึกซึ้งเพื่อที่ว่า เราจะได้รู้ว่า ทุกข์เกิดที่ไหน แล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร
ทีนี้ที่พูดมาทั้งหมดนี่นะคะ ก็จะรู้สึกว่ามันค่อนข้างเป็นนามธรรม คือเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก และก็จะนำมาปฏิบัติยาก ฉะนั้นภายในเวลาจำกัดที่เรามีนี่ก็อยากจะชี้ว่า จุดที่เราจะมองเห็นพอเป็นรูปธรรมว่า ทุกข์นี่แหละเกิดตรงจุดนี้ ระวัง คือจุดไหนคะ “จุดของผัสสะ” ที่เกิดขึ้น คือ พอตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส ระวังประตูใจไว้ให้ดี ปิดประตูใจไว้ด้วย สติและปัญญา
การปฏิบัติอานาปานสติภาวนาเสมอๆ นี่แหละเป็นการช่วย ช่วยพัฒนาสติให้เกิดขึ้นพร้อมทั้งปัญญา เราก็จะปิดประตูใจได้ อ๋อ พอผัสสะเกิดขึ้น ตาเห็นรูป เช่นนั้นเอง จะสวยจะงามขี้เหร่ เช่นนั้นเอง หูได้ยินเสียง เพราะไม่เพราะหนวกหูไม่หนวกหู เช่นนั้นเอง เพราะมันไม่ได้อยู่ตลอดเวลา มันเกิดแล้วก็ดับ แต่เราควรจะจัดการอย่างไร เราก็จัดการ หรือ จมูกได้กลิ่น เหม็นหอม เช่นนั้นเอง ลิ้นลิ้มรส อร่อยไม่อร่อย เช่นนั้นเอง แต่ควรจะจัดการอย่างไร จัดการด้วยสติปัญญา แต่รักษาสภาวะของจิตให้ปกติ กายได้สัมผัสสิ่งใด ก็เช่นนั้นเอง นี่ถ้าเราปิดประตูอันนี้ได้ เวทนาไม่เกิด ไม่มีอิทธิพลที่ทำให้เกิดเวทนา ด้านที่เกิดทุกข์ดับแล้วใช่ไหมคะเวลานี้
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า จงระวังจุดของผัสสะ สำรวม ครั้งแรกที่ระวังยังไม่ได้ก็สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสร็จแล้วก็รักษาใจ เอาไว้ เสร็จแล้วก็พอสามารถรักษาใจเอาไว้ได้ หยุด เรียกว่า ทุกข์ไม่เกิด และก็ ทุกข์ดับ วงเวียนชีวิตนี้ก็ยังคงหมุนอยู่ต่อไป แต่ว่าต่อไปนี้ก็จะหมุนไปสู่ ความสงบเยือกเย็นผ่องใส ในขณะที่เมื่อก่อนนี้เรายอมตกเป็นทาสของผัสสะ วงเวียนชีวิตมันก็หมุนไปสู่ความทุกข์ ความร้อน แต่บัดนี้มันจะหมุนไปสู่ความเยือกเย็นผ่องใสอยู่ทุกขณะ นี่ก็คือปฏิจจสมุปบาท ที่อธิบายให้ทราบว่า ทุกข์ เกิดได้อย่างไร และทุกข์จะดับได้อย่างไรอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ จงระวังที่จุดของผัสสะ ถ้าสามารถควบคุมผัสสะได้ ก็จะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ นี่คือหัวใจของคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธควรจะศึกษาให้เข้าถึง และก็นำมาปฏิบัติ แล้วก็จะสามารถจะเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทุกขณะคือ อยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทนี้เอง ธรรมสวัสดีนะคะ