แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ นี่รู้สึกทุกข์อยู่หรือเปล่า
ผู้ฟัง: รู้สึก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้สึกทุกข์เพราะพูดเรื่องความทุกข์มากไปหรือเพราะอะไร
ผู้ฟัง: เพราะมันก็ไม่พ้นเรื่องความทุกช์ อย่างที่อาจารย์เคยพูด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันไม่พ้นเรื่องความทุกข์ แล้วอยากทุกข์ต่อไปไหม
ผู้ฟัง: ใจจริงไม่อยากหรอกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าไม่อยากเราก็ต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ ไม่มีอะไรอื่น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งใด เราอยากจะพ้นสิ่งนั้นไปไกล ๆ เราต้องศึกษามัน ถ้าไม่ศึกษามัน หันหลังวิ่งหนีอย่างเดียว เราไม่รู้ เช่นเราเห็นอะไรกองอยู่มืด ๆ เป็นกองใหญ่เชียว อยู่ข้างหลังนั่น นั่นอะไรก็ไม่รู้ วิ่งพรวด มันอาจจะเป็นงูจงอางตัวใหญ่ วิ่งคือมันก็เลื้อยไล่ตาม รู้ไหมว่ามันเลื้อยเร็วเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เหมือนกันอาจจะเลื้อยเร็วอย่างนั้น สำหรับคนที่ไม่รู้ ยิ่งรู้น้อยเท่าไหร่เกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ ก็จะถูกมันทุกข์ ถูกมันฉกกัด ได้เร็วได้มาก แล้วก็ตรงที่สำคัญแล้วก็ล้มมาย ๆ เกิดตาย ๆ อยู่นั่น บางทีอาจจะเกิดตาย ๆ กันหลายครั้งแล้วก็ได้นะนี่ เพราะเราถูกมันฉกกัดโดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้นจำไว้ว่า ถ้าเราไม่ชอบสิ่งใดเราเกลียดสิ่งใด และเราไม่อยากเข้าใกล้สิ่งใด เราต้องศึกษาสิ่งนั้น ศึกษาเพื่อให้รู้จัก เราจะได้เตรียมทางหนีทีไล่
เหมือนกับว่าเรากำลังจะรู้กับศัตรูอย่างชนิดที่เรารู้เท่าทันว่าศัตรูคือใครแล้วก็มีความสามารถอย่างไร แล้วเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรจึงจะสามารถกว่า จึงจะเก่งกว่า จะได้สามารถเอาชนะมันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรื่องของความทุกข์นี่เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในจิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เราก็นึกแต่เพียงว่า มันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ แต่เราไม่เคยศึกษามัน เพราะเราพยายามจะไขว่คว้าหาสิ่งที่เรียกว่าความสุข พอจะทุกข์เราก็พยายามจะหันหลังให้ แล้วก็หาอะไรมากลบ เช่น ไม่สบายเลยวันนี้ เราไปดูหนังกันเถอะ ก็พากันเข้าโรงหนัง เข้าโรงหนังก็หัวเราะ พอออกจากโรงหนัง เหี่ยวอีกแล้ว ที่หัวเราะเมื่อกี้ น้ำตาก็ปริ่มปริ่มออกมาเป็นพิรี้พิไรต่อไปอีกล่ะ นี้เขาเรียกว่ากลบทุกข์ พอกลบเข้าประเดี๋ยวลมพัดมา สิ่งที่กลบมันก็เปิดไป หายไปแล้วก็กลับมาทุกข์อีก เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษา ให้รู้จักเรื่องของความทุกข์อย่างเผชิญหน้า เผชิญหน้าอย่างผู้กล้าหาญ ไม่ใช่เพียงแต่เอากลบไปเป็นครั้ง ๆ ไป
อันที่จริงถ้าเราจะดู เราก็จะเห็นว่า สิ่งที่ว่าเป็นความทุกข์หรือจิตที่เกิดความทุกข์ขึ้นก็คือ เมื่อเรารู้สึกมีอะไรมันข้องขัดอยู่ในใจ ไม่ราบรื่น มันข้องขัด สิ่งที่ข้องขัดนั้น ถ้าจะว่าอย่างภาษาของคนธรรมดาเดี๋ยวนี้ คนโลกเดี๋ยวนี้เขาก็เรียกว่ามีปัญหา มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราจะได้ยินคำพูดที่บอกว่า ทุกวันนี้โลกยิ่งเจริญขึ้น ปัญหายิ่งแหลมคมขึ้นทุกที ถ้าจะแปลมาเป็นคำแบบทางธรรมก็หมายความว่าเดี๋ยวนี้คนเราก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นทุกที จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นปัญหาแหลมคม อะไรแหลมคม ที่เขาบอกปัญหาแหลมคม
ผู้ฟัง: ความทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความทุกข์แหลมคมหรืออะไรแหลมคม อะไร
ผู้ฟัง: จิตใจคนแหลมคม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กิเลสมันแหลมคม คือกิเลสในใจคนมันทวีความรุนแรงอัตรารุนแรงมากขึ้นทุกที โลภมาก โกรธมาก หลงมากขึ้น เพราะมันมีสิ่งกระตุ้นที่จะมายั่วยุ ให้เกิดกิเลสในจิตนี่มันมากขึ้น ๆ ทุกที เพราะฉะนั้นที่ว่าปัญหาแหลมคม เปล่าหรอก มันก็อยู่ในกฎธรรมชาตินั่นเอง คือตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้ แต่จิตของมนุษย์มันมีความดิ้นรนมากขึ้น เพราะมีสิ่งยั่วยุมากขึ้น สิ่งที่ยั่วยุให้มนุษย์มีปัญหามากขึ้น คือปัญหาของการที่ไม่ได้อย่างใจ ก็คือว่าความเจริญทางวัตถุนี่ที่มันมีความยั่วยุ ยั่วยวน อยากให้ได้ อยากให้ได้โน่น อยากให้ได้นี่ อย่างที่เห็น ๆ ไม่ต้องจารนัยก็ได้นะคะ เชื่อว่าเราทราบกันอยู่แล้ว ในขณะนี้ใจอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ นั่นแหล่ะปัญหาก่อเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าพบกับอะไรแล้วก็ไม่อยากพบ ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำว่าความทุกข์นี่ ถ้าพูดอย่างธรรมดาก็คือปัญหา ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใจไม่สบายนั่นแหล่ะเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นคนโลก ฉันไม่รู้เรื่องความทุกข์ แต่เชื่อว่าคงรู้เรื่องปัญหา ใช่ไหมคะ
พอพูดถึงคำว่า ปัญหา เพราะว่าชีวิตนี้ก็เผชิญกับปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเด็กก็เผชิญปัญหาอย่างเด็ก ๆ ไม่ได้เล่นอย่างใจ ไม่ได้กินอย่างใจ ไม่ได้เที่ยวอย่างใจ พ่อแม่ไม่ตามใจ ครูบาอาจารย์ไม่ตามใจ จะเอาระเบียบวินัยมาก ฉันอยากจะมีอิสระเสรี อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็มีปัญหาอย่างผู้ใหญ่ ไม่ได้ทำการงานในตำแหน่งที่ต้องการ หรือไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีอำนาจตามที่ใจปรารถนา อย่างนี้เป็นต้น มันมีกันอยู่ทุกคน เพราะฉะนั้นจงทราบเถอะค่ะว่า สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั้นคือสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วเราถ้าต้องการจะแก้ปัญหาก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ให้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุแห่งปัญหานั้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะมาเรียกว่าอาการของความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นนี่ ท่านก็บอกว่ามันจะเป็นไปได้สองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นอาการความทุกข์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างเช่น การเกิด แก่ เจ็บตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น
นี่ท่านบอกว่าเป็นอาการตามธรรมชาติ รับได้ไหมคะ หรือเชื่อไหมว่านี่คืออาการตามธรรมชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อาจจะยอมรับว่าเป็นอาการตามธรรมชาติ แต่พอบอกว่าประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ชักจะรับไม่ค่อยได้ รู้สึกจะรับไม่ค่อยได้ หรือเปล่า แต่ท่านบอกว่านี่แหล่ะเป็นอาการที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่มนุษย์เราไปยึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ก็ทำไมล่ะ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ เพราะอะไรได้อย่างใจ อะไรคงที่ มีไหม ไม่มี ใช่ไหม ตามกฎอะไร อิทัปปัจจยตา มันเปลี่ยนตามกฎของธรรมชาติที่ว่ามีความเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร เปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎอิทัปปัจจยตา ต้องมองให้เห็นว่ามันต่อเนื่องกันอย่างไร เพราะฉะนั้นความที่เราหวังว่าจะต้องประสบกับสิ่งที่รักที่พอใจอยู่เป็นนิจ มันก็ไม่แน่ ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอยู่เป็นนิจ ตลอดเวลา ไม่แน่ เป็นไปไม่ได้ แต่เราไม่ยอมรู้ คือกฎของธรรมชาติ ก็ไปเอาว่าเป็นทุกข์ หรือว่าความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เหมือนกัน มันก็อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ กฎธรรมชาติที่ว่ามันจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นนี้ตลอดไป หรือปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นี่ก็อีกเหมือนกัน ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย
ก็เพราะอย่างนี้แหล่ะที่มนุษย์เราไม่รู้ว่า นี่คืออาการของความทุกข์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ แล้วก็มาตบอกผาง ๆ ฉันไม่ได้ ฉันหวังแล้วว่าฉันจะต้องได้ นี่ตอนนี้ดื่มยาพิษถ้วยใหญ่เข้าไปในจิตใจของตัวเอง แล้วก็ไม่รู้ ฆ่าตัวเองไม่ได้มีใครฆ่า ตายเอง สำลักความทุกข์ตาย แต่ว่ายังหายใจอยู่ นี่สิ มันร้ายตอนนี้ สำลักความทุกข์ตาย แต่ยังหายใจอยู่ เขาก็เรียกว่าตายยังไง ตายทั้งเป็น ตายทั้งเป็น มีแต่ซากเดินได้ แล้วบางคนก็บอกให้ฉันตายเสียดีกว่า คือหยุดหายใจล้มตายเป็นท่อนไม้ไปเลยดีกว่า เพราะคิดว่าหยุดหายใจแล้วจะหมดทุกข์ ความจริง ถ้าไปศึกษาให้ดี ก็ไม่ใช่ ลองไปดูให้ดี เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นอาการ เป็นอาการของความทุกข์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เพราะไม่ศึกษา ไม่ศึกษากฎของธรรมชาติ เห็นไหมคะ ธรรมะคือธรรมชาติ เราต้องย้อนกลับไป เราไม่ศึกษาธรรมชาติ ไม่ศึกษาตัวธรรมชาติจนให้เห็นชัด ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ยอมเห็นกฎธรรมชาติจากตาข้างใน ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ใช่ไหมคะ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ดำรงชีวิตอย่างไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นชีวิตมันก็เลยไม่รอดจากความทุกข์ หนีไม่พันจากข้าศึก ก็ต้องถูกข้าศึกทิ่มแทง ไม่ใช่ชนะข้าศึก หรือว่าทิ่มแทงข้าศึก แต่ถูกข้าศึกทิ่มแทง ทิ่มแทงเอาจนล้มจุกคลุกคลานไปอยู่ตลอดเวลา นี่เห็นไหม ไม่ศึกษาธรรมชาติ ธรรมชาตินี้จึงเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่จริง ๆ ถ้าเราศึกษาเราก็จะเห็นว่า
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ มันก็เป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรอยู่คงที่ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก มันก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่ใช่ มันเป็นตามเหตุตามปัจจัย มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างนี้เอง หรือปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎธรรมชาติ ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วเราก็ปรับเสีย หันไปดูว่า แล้วเราจะแก้เหตุปัจจัย แก้ไขเหตุปัจจัยนั้นให้เป็นเหตุปัจจัยที่ถูกต้องได้อย่างไรล่ะ เราควรจะทำอย่างไรล่ะ เราก็ไปนึกดู พอนึกดูเห็นได้ก็รีบทำ เปลี่ยนเหตุปัจจัยเสียใหม่ให้ถูกต้อง เราจะมองเห็นว่านี่คือกฎธรรมชาติ พอปรับถูกแล้ว ทีนี้มันก็เริ่มที่จะรู้จักทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ก็ยอมรับ ก็ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ เป็นแต่เพียงว่าแก้เสียให้ถูกต้อง พอแก้เหตุถูกต้อง ผลมันก็ถูกต้องเอง นี่เรียกว่าอาการของความทุกข์นี้ ถ้าจะดูอย่างสรุปเป็นข้อใหญ่ ๆ ข้อแรกก็ดูได้ว่ามันเป็นไปตามอาการของธรรมชาติ ส่วนอีกด้านหนึ่ง อีกนัยหนึ่งนั่นก็คือว่า เป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่มนุษย์เรายอมให้มันเข้ามาครอบงำจิตใจ แล้วจิตใจนี้ก็อ่อนเป็นไปตามมันมาเป็นเวลานานแล้ว อำนาจของกิเลส กิเลสคืออะไร
ผู้ฟัง: ความอยาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราพูดเรื่องกิเลส อยากได้อยากมี กิเลสแปลว่าอะไร ที่ท่านพูดเอาไว้ กิเลสคือสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง อะไรเศร้าหมอง จิตเศร้าหมอง การติดกิเลสนี่คือสิ่งสกปรก สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง คือหมายความว่า ถ้าหากว่าผู้ใดยอมให้สิ่งนี้เข้ามารบกวนจิต จิตที่เคยสะอาดเกลี้ยงเกลาสบายหมดจด ราบรื่นมันจะเริ่มมีฝ้ามีฝุ่นมีละออง แล้วก็เป็นสิ่งโสโครกหนาเข้า ๆ ทำให้จิตเกิดความเศร้าหมอง เกิดความสกปรก แล้วก็เรียกว่าเป็นความทุกข์ นี่คือความหมายของกิเลส นี่ก็เรียกว่าเป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่เข้ามาครอบงำ ทีนี้เราก็จะดูว่า กิเลสนั้นมีกี่อย่าง ก็ควรจะรู้จักกิเลสไปพร้อม ๆ กับรู้จักกฎธรรมชาติ กิเลสมีกี่อย่าง 3 อย่างคือ ราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ
ราคะหรือโลภะก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันนั้นเพราะมันมีอาการอย่างไร อาการอยากจะดึงเข้ามา อาการอยากจะดึงนี่แหล่ะ เราจะดูที่ไหน อาการอยากจะดึง อาการอยากจะดึงนี่มันไม่ได้แสดงออกมาข้างนอก มันไม่ใช่ว่าเอามือไปสาวอะไรเข้ามา อันนั้นก็เป็นเหมือนกัน แต่ว่าที่เราจะดูหรือจะรู้สึกนั้นก็คือที่ใจ ที่ภายใน ที่เกิดขึ้นภายใน นี่นั่งอยู่เฉย ๆ ลองดูภายในจิตมันมีอาการอย่างไร ขณะนี้เราอาจจะไม่มี เพราะว่าเราอยู่ในที่สงบสบายแล้วก็ห่างไกลจากสิ่งที่เป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ในจุดประจำวัน เราอาจจะไม่มี แต่เมื่อใดที่เราว่างอยู่คือหมายความว่าเราอยู่ตามลำพัง หรือเรารู้สึกว่ามันมีอะไรกระตึกกระตักอยู่ในจิต จิตนี่มันกระตุก มันไม่อยู่นิ่ง มันไม่เฉยมองดูลงไปทันที มองดูด้วยความรู้สึก ดูลงไปเฉย ๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องนึก จะเห็นมันมีอาการที่รู้สึกว่าอยาก อยากได้อะไรสักอย่าง พยายามจะดึงเข้ามา ในอาการที่จะดึงเข้ามา ไม่ว่าจะสาวเอาเข้ามา ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมเป็นวัตถุก็เช่นทรัพย์สินเงินทอง ผู้คน สิ่งของ หรืออื่น ๆ ก็อยากจะได้มาเป็นของเรา จะเป็นรถ จะเป็นโทรทัศน์ จะเป็นเครื่องบิน จะเป็นม้าแข่ง จะเป็นพญาช้าง อะไรก็แล้วแต่ เป็นวัตถุ ก็อยากจะดึง หรือบางทีก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความรัก ความดี ความเด่น ความดัง ความมีชื่อเสียง มีหน้ามีตาหรือที่เรียกว่าศักดิ์ศรี ก็อยากจะดึงเอามาเป็นของฉัน ฉันจะได้ไปมีศักดิ์ศรีมาก ๆ นี่ถ้ามีอาการที่อยากจะดึงเข้ามาเมื่อไหร่เกิดขึ้นนี่คืออาการของราคะหรือโลภะ ความโลภ
ถ้าหากว่ามีอาการดึงที่ไม่รุนแรงนัก หรือบางทีรุนแรงมาก เราก็เรียกว่าโลภะ แต่มันไม่ถึงกับมีความเหนียวแน่นย้อมอยู่ในใจว่าต้องเอาให้ได้ ๆ ซึ่งมันมีอาการเหมือนกับว่าเกิดความกำหนัดย้อมใจ คือย้อมใจมันอึกเหิมที่จะให้ได้ แล้วมันก็จะนำไปสู่ให้เกิดความรู้สึกเป็นอุปาทานต่อไป ตอนนี้เรียกว่าราคะเป็นความย้อมใจเหนียวแน่นในอาการของความโลภที่เกิดขึ้น แต่บางครั้งอาการนั้นมันก็ตรงกันข้าม แทนที่จะถึงเข้ามา มันกลายเป็น ผลักออกไป ผลักออกไป ทีแรกก็อาจจะผลักอ่อน ๆ หงุดหงิดอึดอัดไม่ชอบ อยากจะเปลี่ยนบรรยากาศ ถ้ามากเข้า ๆ ก็ถึงความโกรธ ความเกลียด ก็อยากจะทำลาย อย่างเช่นสมมติว่าเป็นบุคคลที่มาเป็นตัวอุปสรรคทำให้เราไม่ได้ตำแหน่งนี้ ทำให้เราขาดความเจริญในการงานด้านนี้หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็อยากจะทำลายเสียให้พ้นออกไป นี่เป็นอาการของโทสะ หรือบางทีไม่ดึงเข้า ไม่ผลักออก แต่มันวนเวียนครุ่นคิดอยู่เรื่องเดียว นั่งคิดนอนคิด ไม่ว่าจะทำอะไรมันสลัดสิ่งนี้ไม่ออก อาจจะเป็นความหลัง อาจจะเป็นอนาคต อาจจะเป็นสิ่งที่ครุ่นกรุ่นอยู่ในใจเรื่องตำแหน่งการงาน เรื่องความรัก เรื่องลูก เรื่องครอบครัวอะไรก็แล้วแต่ ครุ่นคิดอยู่เรื่อย นี่คืออาการของโมหะ อาการของโมหะ นี่คือตัวกิเลส 3 ตัว นี่ก็เป็นไปตามอำนาจกิเลส
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า กิเลสคือสิ่งที่เศร้าหมองหรือสิ่งสกปรก เพราะถ้าเมื่อใดจิตเกิดอาการ จะดึงเข้า จะผลักออก หรือวนเวียนครุ่นคิด จิตนั้นใสกระจ่างไหม ไม่ใส มันมึนงง มัวซัว หรือมันฮึกเหิม หรือมันมีอาการร้อนรนรุ่นวาย อย่างใด อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่ามันสกปรก กิเลสนี่ ถ้าใครปล่อยให้มันมารบกวน หรือเข้ามาครอบงำ มันจะทำให้จิตที่สะอาด ๆ เกลี้ยง ๆ นี่เกิดความเศร้าหมอง เกิดความเศร้าหมองขึ้นมาแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความสุขความสบาย เพราะฉะนั้นอาการของความทุกข์นี่มันก็เป็นไปได้ 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ แต่เพราะความที่จิตไม่ฉลาดพอ ก็ไปหยิบมันมาว่าเป็นของฉัน ก็เลยเป็นทุกข์เพราะมัน เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้ ใคร ๆ ก็แก่ ใคร ๆ ก็เจ็บ ใคร ๆ ก็ตาย แต่พอถึงพ่อแม่พี่น้องของเราเจ็บหรือตัวเราเจ็บ ทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ กับอีกอย่างหนึ่งก็คืออาการของความทุกข์นี่เกิดขึ้นเพราะเหตุว่า ยอมให้จิตนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ที่มีอาการ 3 อย่าง ก็จงสังเกตอาการของกิเลสนะคะว่า เรามีกิเลสไหม เพราะมนุษย์มักจะเข้าข้างตัวเอง มักจะรู้สึกว่าเรานี้ผู้เบาบาง เบาบางกิเลส ไม่ค่อยโลภ ไม่ค่อยโกรธ ไม่ค่อยหลง มองเห็นแต่ยายนั่นขี้โกรธ ยายคนนี้ แกงก งก งกชะมัด แกโลภเหลือเกิน ยายนี่แกก็ดีแต่ว่าขี้หลง หลงตะพึดตะพือ นั่นก็หลง นี่ก็หลง
เราดีคนเดียว ใช่ มองไปในแง่ของความหลง แล้วผลที่สุดคนดีก็คือเรา แล้วเราก็ทุกข์ไป ทุกข์กับอะไร ทุกข์กับความดี ยึดถือความดีอันนั้น ก็ไม่ได้มีความสุข แล้วเราคิดว่าเราสุข แต่ว่าเราไม่มีอาการของความราบรื่น มีแต่อาการของขึ้น ๆ ลง ๆ ฉะนั้นจึงควรหมั่นดูอาการที่มันเกิดขึ้นข้างใน เราจะได้รู้ว่าจิตของเรานี้ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัวไหนมากที่สุด เป็นคนช่างโลภมาก หรือว่าเป็นคนช่างโกรธมาก หรือว่าเป็นคนช่างหลงมาก แล้วกิเลสตัวไหนที่เข้ามาพักผ่อนอยู่ในจิตนี้บ่อยแล้วก็นานเหลือเกิน สังเกตดูให้ดี สังเกตดูเพื่อจะได้แก้ไขมัน จะได้แก้ไขให้จิตนี้หลุดพ้นจากอำนาจของมัน แต่ถ้าดูให้ดี ๆ แล้วล่ะก็ ปุถุชนทั่วไปล่ะ 3 ตัวมันผลัดกันเข้าผลัดกันออก ต้องว่าอย่างนั้นล่ะ มันผลัดกันเข้าผลัดกันออก มันไม่ค่อยหนีไปไหนเลย มันก็อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวมันก็จะเอานั่น เดี๋ยวมันก็จะเอานี่ อย่างนี้ตลอดเวลา มันไม่ค่อยพ้นไปได้เลย เพราะฉะนั้นหมั่นดูแล้วเราก็จะรู้ว่าจิตนี้สกปรกเพราะกิเลสตัวไหน เศร้าหมองเพราะกิเลสตัวไหน แล้วก็จะได้แก้ไขมัน แล้วก็ถ้าแก้ไขได้ความทุกข์ก็จะค่อยคลายลง
เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงได้รับสั่งว่า ทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ กำหนดรู้ รู้อะไร ก็คือรู้ลักษณะอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ คือรู้ให้ชัดเจนเลย ว่าทุกข์คืออย่างนี้ รู้ให้ตลอดเวลาเพื่อที่ว่าจิตนี้จะได้เท่าทันกับความทุกข์ พอมันจะโผล่ขึ้นจะได้รีบจัดการกับมันเสียก่อน พอมันจะโผล่ปริ่มขึ้นมาเท่านั้นนะ รีบกดหัวมันลงเสียก่อน ไม่ให้มันโผล่มาทั้งตัวมาเผชิญหน้ากับเรา แล้วถูกมันผลักหงายหลังไป เราจะได้ชนะมัน เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ แล้วกำหนดรู้อย่างทั่วถึง อย่างละเอียดลออ อย่างทุกแง่ทุกมุมด้วย เพื่อจะได้ไม่ประมาท ไม่ประมาทว่าเราไม่มีทุกข์ และในขณะเดียวกันก็ถูกความทุกข์นั้นครอบงำ ต้องศึกษาอย่างละเอียดลออ อย่าได้เว้นสิ่งที่คิดว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ความอึดอัด หงุดหงิด รำคาญ ความไม่ชอบใจ กินข้าวไม่อร่อย นอนไม่ค่อยจะหลับเพราะว่าที่นอนมันไม่สบาย นี่มันสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องการกินการอยู่ แล้วก็จะว่ามันไม่น่าเป็นปัญหา แต่ที่จริงเป็นปัญหา แล้วบางทีเป็นปัญหาใหญ่ด้วย ใช่ไหมคะถ้าเรามามองดูในชีวิตวันหนึ่ง ๆ นี่ เราหมดไปกับปัญหาเรื่องของการกินการอยู่ อันทำให้เราเป็นทุกข์นี่เยอะทีเดียว
ฉะนั้นความทุกข์จึงเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้เพื่อที่จะได้เผชิญกับมัน แล้วก็จะสามารถแก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นในจิตนี้ แล้วก็จะมีความถูกต้องมากขึ้นเพราะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องโดยไม่กินยาพิษไปในขณะที่ทำ แล้วจิตนี้ก็จะมีความสงบเยือกเย็นผ่องใส
นี่คือการรู้เรื่องของความทุกข์ ซึ่งเราก็ยังไม่จบเลยนะคะที่จะพูดเรื่องของความทุกข์นี่ เพราะต้องกำหนดรู้มันให้ละเอียดลออ เราอาจจะพูดต่อไปในคราวหน้าก็ได้
ธรรมะสวัสดีค่ะ