แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องสิ่งที่ปิดกั้นความเจริญ หนทางของความเจริญ คือสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ วันนี้ก็ควรจะได้มาดูกันบ้างว่า สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์นี้มันมีอะไรบ้าง แล้วก็มีสักกี่อย่าง สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ที่มันไหลมาจากอนุสัยเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็น่ากลัวมากนี่นะคะ ในทางธรรมท่านก็จัดว่ามีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน
อย่างแรก ประการแรกก็คือ กามฉันทะ กามฉันทะก็หมายความว่า ความพอใจในกาม แต่คำว่ากามในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพอใจแต่ในเรื่องของทางเพศหรือกามารมณ์เท่านั้นนะคะ แต่มันรวมความไปถึงความพอใจในสิ่งที่สวยงาม เอร็ดอร่อย ที่มันมีเสน่ห์ ยั่วยวนใจให้ติด หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ใน กามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รูปสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ กลิ่นหอม ๆ รสอร่อย ๆ สัมผัสอ่อนโยนนุ่มนวล ติดอกติดใจ แล้วใจนี่ก็พร้อมที่จะผวายึดมั่นถือมั่น ชอบพอกับมัน ทีนี้นิวรณ์ตัวนี้ กามฉันทะนี่ พอนึกขึ้นมาทีไร ความรู้สึกเป็นอย่างไร อยากจะดึงเข้ามา หรือผลักออกไป
ผู้ดำเนินรายการ : อยากดึงเข้ามา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยากจะดึงเข้ามาเพราะมันถูกใจ อยากจะดึงเข้ามา เพราะฉะนั้นเมื่อมันอยากจะดึงเข้ามา นี่ก็เรียกว่าเป็นลูกน้องของอะไร ลูกน้องของโลภะ คือลูกน้องของกิเลส ถ้าหากว่าเป็นกิเลสล่ะก็ อาการของความโลภ หรืออาการของกิเลสนี่ มันค่อนข้างรุนแรง ท่านเปรียบว่า อาการของกิเลสนี่ถ้าเหมือนเสือ นิวรณ์นี่ก็เหมือนแมลงหวี่หรือตัวริ้น ที่มันมาตอมพอให้รำคาญ ทีนี้ในความพอใจในกามฉันทะนี่ มันก็ดึงจิตให้ออกไปหา แล้วเมื่อจิตออกไปหา ตัวนี้ก็ผวาไปหาด้วย ก็พยายามที่จะอยากได้ ถ้าได้อย่างใจมันก็สมปรารถนา มันดับความอยากไปได้ชั่วคราว แต่ถ้าสมมติว่ามันเกิดความรู้สึกกามฉันทะ พอใจอยากจะได้สิ่งที่สวย ๆ งาม ๆ แล้วเกิดไม่ได้ มันก็นึกครุ่นอยู่ในใจ นึกครุ่นทำไมจะได้ เมื่อไหร่จะได้ ทำไมไม่ได้ ก็ครุ่นไป แล้วก็วาดภาพ วาดนึกเอาไว้ว่าเมื่อนั่น เมื่อนี่ จะต้องได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำว่ากามฉันทะ มันจึงกินความกว้าง ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องของกามารมณ์ ก็ลองนึกดูเถอะ ขณะใดที่เรานั่งนึก แหมอยากกินเป็ดย่างอร่อย ๆ แล้วก็เอานุ่ม ๆ ด้วยนะ น้ำจิ้มก็ต้องทำอย่างดี แหมพอใส่ปากเข้าไปนี่มันเยิ้ม เคี้ยวแล้วมันนุ่มปากไปหมด แล้วขณะที่นั่งนึกไป ๆ น้ำลายก็ค่อย ๆ จะย้อยออกมา นี่มันกามฉันทะ
เพราะฉะนั้นจะบอกว่ากามฉันทะ เรื่องของกามารมณ์ ไม่ใช่ ไม่ใช่เพียงเท่านั้นนะ กามารมณ์ด้วย แต่ว่าอย่างอื่นนี่มันก็รวมอยู่ในกามฉันทะ คือกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้นที่เขาต้องไปกินข้าวในที่ที่ราคาแพง ๆ อย่างที่เขาเรียกว่ากินข้าวเคล้าเสียงเพลง ไม่เฉพาะแต่เสียงเพลง ต้องมีอะไรมาเต้นยึกยัก ๆ ให้ดูด้วยใช่ไหม แล้วก็สวย ๆ แล้วก็ชวนดู นี่เรียกว่า กินรูปด้วยนะ กินเสียงด้วย กินกลิ่นด้วย พอเข้าไปก็ หูย กลิ่นที่คิดว่าหอมน่ะ แต่เราอาจจะไม่หอมก็ได้ เพราะมันนานาจิตตัง แล้วรสก็ต้องอร่อย บางทีรสไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ ก็ไปกินในทางอื่นชดเชยกัน เขาก็เลยหย่อนเรื่องรสอาหารเพื่อจะหากำไรให้มาก ๆ ก็เป็นได้เหมือนกันนะ รูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็กินเองก็ไม่ค่อยได้ ต้องมีใครมานั่งป้อนใช่ไหม ป้อนไป จับไปอะไรอย่างนี้ ที่เรียกว่าสัมผัสทางกายไปนิด ๆ หน่อย ๆ นี่เดี๋ยวนี้เห็นไหมคนเรา โอ้โห อยาก อยากกันมากเลย ตัณหานี่มันทวีคูณ ทวีคูณตามอัตราของสิ่งยั่วยุ จึงเรียกว่ากินหมดทุกอย่าง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กินหมดทางทวาร 5 อายตนะ 5 มีอะไรบ้าง กินหมดตามนั้น มันจึงน่ากลัว ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเลย นี่ก็เป็นนิวรณ์ตัวที่หนึ่ง ที่ชื่อว่ากามฉันทะ หรือความพอใจในสิ่งที่สวยงาม น่ารัก น่าชม เป็นไปในทางบวกทุกอย่างทุกประการ แล้วมันก็เป็นลูกน้องของกิเลสตัวที่ชื่อว่าโลภะ ราคะ โลภะ
ตัวที่สองก็คือ พยาบาท พยาบาทในที่นี้มีความหมายว่า ความรู้สึกที่เป็นความอึดอัด หงุดหงิด ขัดใจ คือไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ไม่ถึงกับไปอาฆาตแค้น ถึงกับจะตีรันฟันแทง หรือว่าทำลายชีวิตกัน แต่มันเป็นความหงุดหงิด อึดอัด พอเห็นหน้าเข้ามันอยากจะหันหลังให้ ได้ยินเสียงก็อยากจะปิดหูซะ ไม่อยากฟังเลย ทำอะไรมาให้กินก็อยากจะเสือกจานทิ้งไปไกล ๆ อะไรทำนองอย่างนั้น นี่แหละเป็นพยาบาท เพราะมันมีอะไรเป็นตะกอนอยู่ในใจที่ไม่ถูกใจ มันอาจจะมาจากกามฉันทะที่ไม่ได้อย่างใจ แล้วมันก็เลยเกิดพยาบาท คือ หงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ รำคาญไปเรื่อย ๆ บางทีก็อาจจะเกิดจากการกินไม่ถูกปาก อย่างเวลาไปเปลี่ยนสถานที่ นอนก็ไม่ค่อยสบาย เพราะที่นอนมันไม่นุ่ม หรือว่าต้องตื่นไม่เป็นเวลาอย่างที่เคยตื่น ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ก็อาจจะทำให้เกิดอึดอัด หงุดหงิด รำคาญ เมื่อเวลาเราที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ หรือต้องไปทำอะไรในเวลาจำกัด ในสถานที่จำกัด เป็นต้น นี่ท่านเรียกว่าเป็นนิวรณ์ตัวที่สอง ทีนี้ถ้าหากว่าอาการที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ก็อยากจะดึงเข้า หรือผลักออก ถ้าเป็นพยาบาทนี่
ผู้ดำเนินรายการ : ผลักออก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ผลักออกไป นี่คือลูกน้องของอะไร โทสะ นี่แหละ นิวรณ์ตัวที่สองก็คือลูกน้องของโทสะ แต่มันไม่รุนแรงเหมือนโทสะ เพราะโทสะมันก็ระเบิดเปรี้ยงปร้างออกไป แต่นิวรณ์นี่มันกรุ่น ครุ่นอยู่ในใจ มองดูข้างนอกอาจจะไม่รู้สึกเลย รู้สึกเหมือนกับเรียบร้อย สงบดี แต่ที่จริงข้างในนี่มันวนเวียนอยู่กับอะไร ครุ่นกรุ่นอยู่กับอะไรเยอะแยะหลายอย่าง ถ้าเป็นไปในทางที่จะดึงเอามา อยากได้สิ่งสวยงาม มันก็พอใจในกามฉันทะ ก็รบกวนมากกามฉันทะนี่ เพราะคนเราติดดี ติดอร่อย ติดสนุกสนาน ติดเพลิดเพลิน มันรบกวนมากที่สุดเลย แล้วถ้าจะนึกดู มนุษย์เราเสียเวลา เสียเงิน เสียอะไรไปทุกอย่าง เพราะกามฉันทะนี่ก็เยอะในชีวิตประจำวัน หรือถ้าอุตส่าห์จะไปหาอะไรต่ออะไรมา ก็เพื่อมาสนองตัณหาในด้านนี้ ให้ได้ในด้านนี้ แล้วพอไม่ได้ มันก็พยาบาท คือว่าหงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ อะไรที่ไม่ถูกใจ ความไม่เพราะหู มันก็หงุดหงิด อึดอัด นี่คืออาการที่มันกรุ่น ๆ รบกวนอยู่
ทีนี้ตัวที่สาม ท่านบอกว่าคือ ถีนมิทธะ ชื่ออาจจะยาวหน่อยนะคะ ถี-นะ-มิท-ธะ ถีนมิทธะก็คือ หดหู่ เหี่ยวแห้ง วังเวง มันมีความรู้สึกบางทีก็มึนซึม ง่วงเหงาหาวนอน นี่คืออาการของถีนมิทธะ เรียกว่าจิตที่ปรกติ คือจิตที่อยู่ในระดับราบเรียบ อย่างนี้ผิดปรกติ จิตที่กรุ่นอยู่ด้วยถีนมิทธะ มันจะลง ลงต่ำ ๆ ๆ ถ้าหากว่ามึนสลัว มัวซัวมากเหลือเกิน หดหู่ มันจะท้อแท้หมด ทิ้งเนื้อ ทิ้งตัว ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรง อย่างที่พอลืมตาตื่นขึ้นตอนเช้าลุกไม่ขึ้น ลุกไม่ขึ้นทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วย ร่างกายก็แข็งแรงแต่ลุกไม่ขึ้น ไม่อยากขยับเนื้อขยับตัว อยากจะนอนทอดหุ่ยอยู่เฉย ๆ อย่างนี้ นั่นเพราะถีนมิทธะเข้าครอบงำจิต ที่มันครอบงำจิตอย่างนี้ก็เพราะปล่อยจิต ปล่อยจิตจนกระทั่งอนุสัยในเรื่องนี้ มันซัดอยู่ในสันดาน มันนอนอยู่ในสันดาน มันถึงเป็นอาสวะนี่ไหลออกมา ทำให้กลายเป็นคนไม่อยากจะทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ก็ยังแข็งแรงอยู่ทุกอย่างทุกประการ แต่ที่ไม่มีแรง ก็คือไม่มีแรงที่ไหน ที่ใจ ใจมันเปลี้ย ร่างกายมันแข็งแรงแต่ใจมันเปลี้ย ชีวิตประกอบด้วยกายกับใจใช่ไหมคะ กายยังดีแต่ใจมันเปลี้ย เห็นไหมว่าความสำคัญของใจมีมากเพียงใดต่อชีวิตของมนุษย์ พอใจเปลี้ยเพลียแรงเท่านั้นเอง กายไม่ขยับเขยื้อน เพราะใจมันไม่สั่งให้ทำอะไร มันสั่งแต่ว่าให้นอน นอนนิ่งอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำอะไร นี่คือถีนมิทธะ เรียกว่าจิตตก ถ้าจะพูดง่าย ๆ คือจิตมันตก จิตมันห่อเหี่ยว มันลงวูบไปเลย มันไม่สามารถจะดึงจิตให้มีพลังขึ้นมาได้ นี่คืออาการของถีนมิทธะ เพราะฉะนั้นสังเกตเถอะ เป็นบ้างไหม
ผู้ดำเนินรายการ : เป็น บางวัน โดยเฉพาะวันอาทิตย์ ถึงกรุงเทพฯ นี่อยากจะนอนอย่างเดียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันนั้นก็ต้องดูเหมือนกัน ถ้าสมมติว่าตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เราทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถึงวันอาทิตย์เราก็ควรจะได้หยุดพัก อย่างนี้มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ก็ไม่ใช่นิวรณ์ แต่ถ้าสมมติว่าเราก็ทำงานตามธรรมดาทุกวัน กินอิ่ม นอนหลับ งานการก็พอสมควร ไม่ต้องทำหามรุ่งหามค่ำ แต่พอถึงเวลาไม่ยอมลุก ตอนเช้ามันไม่อยากจะลุกเอาทุกเช้า ต้องมีคนมาปลุก ถ้ายังเป็นลูก ก็พ่อแม่มาปลุก ถ้าหากว่ามีครอบครัว ก็ฝ่ายตรงกันข้ามก็ต้องมาปลุก มาดึง ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะไม่ทัน ถ้าอย่างนี้ล่ะก็ ถีนมิทธะ แล้วก็ปล่อยจนกระทั่งมันเป็นอนุสัย เคยตื่นสายวัน เอ้อ สบายดี ไม่ต้องลุกขึ้นทำอะไร ก็นอนอีก วันที่สอง วันที่สาม จนกระทั่งมันกลายเป็นอนุสัย ทีนี้ก็อาสวะไหล พอลืมตาก็ไม่ต้องลุก ไม่ยอมลุก นี่เป็นอาสวะ มันไหลออกมาจากอนุสัยที่นอนเอาไว้ในสันดาน ถ้าอย่างนี้ถึงจะเป็นนิวรณ์ แต่ถ้าสมมติว่ามันไม่ใช่ เพราะเราทำงานการเหน็ดเหนื่อยมากเหลือเกิน สมควรแก่การหยุดพัก ตามเหตุตามปัจจัยที่สังขารร่างกายมันทนไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราทำให้มันเหมาะสม เพื่อชดเชยสิ่งที่มันขาด แล้วทีนี้พอเรารู้สึกอิ่มแล้ว พอนอนแล้วอิ่มเพียงพอ ก็ลุกขึ้นกระวีกระวาด กระฉับกระเฉง อย่างนี้ที่นอนนั่นไม่ใช่นิวรณ์ ไม่ใช่ถีนมิทธะ
แต่ถ้าอิ่มแล้วก็อ้อยอิ่งอีกหน่อย บิดไปบิดมา เอาน่าอีกสักประเดี๋ยว แล้วก็จากประเดี๋ยวห้านาที กลายเป็นสิบนาที เป็นครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมง เผลอหลับไปอีกตื่น พอลืมตาตื่นขึ้น น่าอีกประเดี๋ยว อย่างนี้น่ะมันนิวรณ์แล้ว มันปิดกั้นความเจริญแล้ว ที่นัดเขาไว้มันก็ไม่ไปตามนัด เขาก็คอยหาย คอยหายอยู่นั่นน่ะ ที่รักแล้วเลิกกันเพราะนิวรณ์ตัวนี้ที่เข้ามาขวางกั้นก็มี เพราะฉะนั้นเห็นไหม แม้แต่หนทางแห่งความเจริญแห่งความรักก็ไม่เกิดขึ้น มันปิดกั้นหนทางความเจริญหมดเลย นี่คืออาการของถีนมิทธะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครปล่อยจิตให้ตกอยู่ในถีนมิทธะจนจิตตก จนกลายเป็นจิตเปลี้ย เปลี้ยคือไม่มีแรง ไม่มีแรงที่จะพยุงตัวให้เกิดขึ้น ซึ่งมันอาจจะเกิดจากอะไรหลายอย่าง เช่นเป็นต้นว่า เกิดความผิดหวังในชีวิต ก็เพราะหวังนั่นแหละ ก็ดื่มยาพิษนั่นแหละ จิบยาพิษของความหวัง แล้วมันก็ผิดหวัง แล้วก็สะสมเอาไว้ ฉันเสียใจ ฉันชอกช้ำ ฉันไม่ชอบ ฉันจะคิดแก้ไขเหตุปัจจัยให้ถูกต้องใช่ไหม ทีนี้พอผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง ก็ทับถมลงไป เป็นอัตราแรงทวีคูณ ความช้ำมันก็มีมากขึ้น ความเปลี้ยทีแรกมันก็น้อยนิดเดียว ความเพลีย พอครั้งที่สอง ก็เพลียก็มากขึ้น เปลี้ยมากขึ้น ครั้งที่สามผิดหวังอีก ครั้งที่สี่ผิดหวังอีก โดยไม่หันไปดูว่าเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร ไม่ไปแก้ใขเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ตัวเองนี่มันก็เลยยิ่งรู้สึกเปลี้ยลง ช้ำลง ชอกลง ห่อเหี่ยวมากยิ่งขี้น ตกลง ตกลงจนลุกไม่ขึ้น นี่แหละนะไม่ใช่ใครทำให้เลย เราทำให้เอง น่ากลัว ๆ นี่คนที่มีอาการของย้ำคิดย้ำทำ อย่างนี้เขาเรียก ย้ำอยู่ในความห่อเหี่ยว ความอ่อนเปลี้ย จนกระทั่งไม่สามารถบังคับตัวได้ ผลที่สุดก็อย่างที่เขาบอกว่า เบรคดาวน์ มันก็เกิดมาจากสิ่งอย่างนี้
แล้วก็ยังมีอีกตัวหนึ่ง ตัวต่อไปก็คือ อุทธัจจกุกกุจจะ อุทธัจจกุกกุจจะ อุท-ธัจ-จะ-กุก-กุจ-จะ อันนี้ก็ตรงกันข้าม ในขณะที่ถีนมิทธะ มันลง ๆ ๆ อุทธัจจกุกกุจจะนี่ มันขึ้น ๆ ฟูฟ่อง ล่องลอย ฟุ้งซ่าน คิดไม่หยุด คิดเรื่อยเจื้อย เรื่อยเปื่อย เพ้อเจ้อ ไปต่าง ๆ นานา ไปกับอดีต วิตกกังวลอันโน้นอันนี้ หรือว่ารื้อฟื้นเอาอดีตที่มันชุ่มชื่นเบิกบานใจ มันเคยดีอย่างไร เอามายิ้มย่องผ่องใส ทั้งที่มันไม่กลับมาแล้ว ไม่กลับมาแล้ว มายิ้มย่องผ่องใสอยู่คนเดียว เมื่อไหร่มันจะกลับมา พอนึกไปถึงอนาคตวาดภาพมันคงจะเป็นอย่างนั้น มันคงจะเป็นสุขยิ่งกว่าที่ผ่านมาแล้ว มันคงจะดียิ่งกว่า แล้วก็ยิ้มไป นี่มันตรงกันข้าม ในขณะที่ถีนมิทธะลง นี่ก็ ฟูฟ่อง แต่ไม่มีรากฐานเลย เรียกว่าไม่มีพื้นฐาน มันยกเมฆขึ้นมาเฉย ๆ คิดขึ้นมาเฉย ๆ นี่แหละคนที่ไม่ชอบทำงานถึงได้คิดมาก คิดไปเรื่อย ๆ คิดโน่นคิดนี่ไม่รู้จบ คิดไปอยู่เรื่อยตลอดเวลา นี่อันนี้คือ อุทธัจจกุกกุจจะ คิดฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นจิตนี้ก็มีอยู่นี่ มีแต่ความวุ่นวาย วุ่นวายด้วยความคิด แล้วคนหลาย ๆ คนก็รู้สึกว่า คิดน่ะดี ช่างคิด ชอบคิด แต่ผลที่สุดก็เป็นทุกข์เพราะความคิด เคยพบไหม เป็นทุกข์เพราะความคิด เพราะว่าตัดความคิดนั้นไม่ได้ ตัดความคิดนั้นไม่ได้ ตกเป็นทาสของความคิดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็หลายคนเลยก็บอกว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้จิตนี้สงบ วาง ว่าง เฉยได้ ทำอย่างไรถึงจะหยุดคิดได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่เคยฝึกให้หยุดคิด ปล่อยให้พอคิด เพ้อฝัน เจ้อไปอย่างนี้ เออ มันดี มันสนุก มันเพลิน ก็คิด คิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็กลายเป็นอนุสัย แล้วมันก็เป็นอาสวะไหลออกมา แล้วมันก็เป็นนิวรณ์ที่มาปิดกั้น แทนที่จะใช้เวลาที่มีอยู่นั้นคิดอะไรที่ให้มันเกิดประโยชน์ ใช่ไหมคะ เกิดประโยชน์แก่ชีวิตในเรื่องการงาน หรือความเจริญทางครอบครัว ก็กลับมาคิดเพ้อเจ้ออย่างนี้ เพราะฉะนั้นนี่ก็ฟูฟ่องอยู่ จึงน่ากลัวนะ ทั้งสองอย่าง
ตัวที่ห้าก็คือ วิจิกิจฉา วิ-จิ-กิจ-ฉา วิจิกิจฉา นี่ก็ตรงกันข้าม คือในขณะที่อุทธัจจกุกกุจจะ ฟูฟ่องล่องลอย ถีนมิทธะนี่ตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ห่อเหี่ยวจนลุกไม่ขึ้น วิจิกิจฉานี่มันอยู่ในความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ จะเอาอะไรแน่ จะเอาอะไรแน่ บางทีคิด ๆ ไปแล้วก็ยิ่งไม่แน่ใจ ถอยหน้าถอยหลัง มันอะไรถูก มันอะไรผิด มันเป็นอย่างไรแน่นอน นี่คิดแล้วก็น่ากลัว พอคิดไป ๆ ก็ยิ่งเกิดความกลัว ทำไมถึงกลัว เพราะว่าเกิดความรู้สึกว่า เอ ถ้าหากเราไม่แน่ใจว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราเดินไปแล้วจะปลอดภัยหรือเปล่า เรียกว่าเกิดความกลัวในเรี่องความปลอดภัยของชีวิต เกิดความไม่แน่ใจในชีวิต จนกระทั่งถึงกับว่า เอ แล้วเราเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร ทุกวันนี้จะอยู่ไปทำไม นี่คนที่คิดอย่างนี้ ที่มีความสงสัยอย่างนี้ ก็เพราะไม่เคยศึกษาในเรื่องของธรรมชาติ ไม่เคยศึกษาในเรื่องของสิ่งที่เป็นความจริงของชีวิต ก็เลยอยู่ในความลังเลสงสัย แล้ววิจิกิจฉานี่มันน่ากลัวมาก ฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า จิตที่กรุ่นอยู่ด้วยความห่อเหี่ยว แห้งแล้ง อ้างว้าง อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ครุ่นอยู่กับเรื่องนี้ ฉันไม่มีแรง ฉันทำอะไรไม่ได้ ฉันไม่แข็งแรง เพราะว่าฉันไม่รู้จะทำอะไร ผลที่สุดจะลงเอย ฉันไม่รู้จะทำอะไร เพราะมองอะไรไปมันก็มืด มันก็ไม่แน่ใจ หรือมิฉะนั้นก็คิดเรื่อยเจื้อย ยิ้มย่องผ่องใส ดูเหมือนมีความสุขอยู่ตลอดเวลา หยุดความคิดนั้นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นความคิดที่หาสาระมิได้เลย ครุ่นกรุ่นอยู่อย่างนั้น หมุนเวียนอยู่แต่อย่างนี้ ประเดี๋ยวก็ลังเลสงสัยจะเอาอะไรแน่ วุ่นครุ่นคิด ทั้งสามตัวนี้เป็นอาการของอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : นิวรณ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นอาการเป็นลูกน้องของโมหะ ถูกแล้วเป็นนิวรณ์ แต่สามตัวนี้เป็นลูกน้องของโมหะ ในขณะที่กามฉันทะ เป็นลูกน้องของโลภะ พยาบาทเป็นลูกน้องของโทสะ เจ้าสามตัวหลังนี่ รวมกันแล้วนี่ อาการทั้งสามเป็นลูกน้องของโมหะ เพราะฉะนั้นให้เห็นเถอะว่า โมหะนี่มันน่ากลัว น่ากลัวมากยิ่งกว่าเจ้าโลภะ โทสะ เพราะมันจะทำให้คนนี้ตกอยู่ในอาการลังเลสงสัย เหมือนกับอยู่ในที่มืดตลอดเวลา แล้วก็รู้แล้วว่าคนที่อยู่ในที่มืดเป็นอย่างไร มันก็ต้องคลำ คลำทางไป ไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้ ในขณะที่กามฉันทะ มันยังมองยังรู้ว่า เราอยากได้อะไร เราต้องการอะไร หรือพยาบาท หงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ ก็รู้เหมือนกัน ถึงจะไม่รู้ชัด แต่ก็ยังรู้ว่านี่คืออาการของความไม่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ แต่ทว่าวิจิกิจฉานี่ มันไม่รู้ มันไม่รู้จะเอาอะไรแน่ หรือถีนมิทธะ มันก็ตกต่ำจนกระทั่งดึงไม่ขึ้น ส่วนอุทธัจจกุกกุจจะ มันก็ล่องลอยจนดึงไม่ลง เห็นไหมมันครุ่นอยู่กับอันนี้ เพราะฉะนั้นอาการอันนี้จึงน่ากลัวมาก ถ้าจิตใดตกอยู่ภายใต้นิวรณ์ อย่าว่าแต่เพียงว่าทั้งหมดเลย ตัวใดตัวหนึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ปิดกั้นหนทางความเจริญทุกอย่างทุกประการ ทั้งทางโลกและทางธรรม เราจึงควรจะได้ศึกษาดูภายในเสมอว่าจิตนี้ถูกรบกวนด้วยอะไร แล้วก็จะได้แก้ไขเสีย เพื่อจะได้เปิดหนทางแห่งความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตนะคะ เรายังจะพูดถึงเรื่องนิวรณ์ต่อไปนะคะ สำหรับวันนี้ธรรมะสวัสดีค่ะ