แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ เราก็จะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพานต่อไปนะคะ ที่กล่าวมาแล้วก็พูดถึงลักษณะของนิพพานที่เราแปลได้ว่าความเย็น ที่เกิดขึ้นในจิตนั้นจะต้องประกอบไปด้วย ความสะอาดเป็นเรื่องแรก สะอาดจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง สะอาดจากความรบกวนของกิเลส และก็สะอาดจากการปรุงแต่ง คือไม่มีการปรุงแต่งต่างๆ เกิดขึ้น และก็ความสว่างด้วยปัญญาที่แหลมคมจนประจักษ์ชัดว่าไม่มีสิ่งใดมีคุณค่าหรือมีค่าควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ให้มี ให้เป็น ให้ได้ ไม่เอาเลยสักอย่างเดียว มันเหลือแต่เพียงว่าการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ให้เหมาะสม ให้เต็มฝีมือความสามารถ แล้วจิตนี้ก็จะถึงซึ่งความสงบ เราพูดถึงความสงบค้างอยู่เมื่อคราวที่แล้วนะคะ เราก็จะพูดกันต่อไปว่าความสงบอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร มันเป็นความสงบเย็นที่เราพรรณนาไม่ได้ เราบอกไม่ถูก มันไม่เหมือนกับความสงบที่เราไปนั่งอยู่ในที่ที่ไม่มีเสียงอะไรรบกวน มันเป็นความสงบที่เยือกเย็น ที่ผ่องใส ที่อิ่มเอิบ ที่มันเบิกบาน เพราะความสะอาด สว่าง สงบที่เกิดขึ้นและในลักษณะที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นความสงบอันนี้ เพราะว่าสังสารวัฏมันสิ้นสุด คือการเวียนว่ายตายเกิดด้วยความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกเป็นตัวฉัน มันไม่มี มันก็ไม่ต้องแบกสิ่งที่เป็นของฉันให้หนัก ไม่ต้องแบกของหนัก มันก็มีแต่ความสงบ เยือกเย็น ความทุกข์มันก็สิ้นไป แล้วก็ความที่เคยดิ้นรนต่อสู้ กระวนกระวาย กระเสือกกระสน กับความมี ความเอา ความได้ ตามใจตัวก็ไม่มีอีก การดิ้นรนมันหยุด มันหยุด มันนิ่ง มันเฉย มันก็มีแต่ความสงบ นอกจากนั้นความสงบอันนี้เมื่อมันมีอยู่ข้างใน มันปรากฏออกมาข้างนอก มันจะมีทั้งความสงบทั้งภายนอกและภายใน มันมีแต่ความนิ่งเฉย แต่ไม่ใช่นิ่งเฉยอย่างชนิดไม่รู้เรื่อง หรือปัญญาอ่อน หรือหุ่นยนต์ ไม่ใช่ มันนิ่งเฉยเพราะมันไม่รู้ว่าจะเอาอะไร จะเอาอะไรมาทำไม มันรู้แต่ว่าอะไรควรทำทำ อะไรควรช่วยช่วย อะไรที่เป็นหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้อง ทำทุกอย่างเต็มฝีมือความสามารถ โดยไม่ต้องหวังเพราะรู้แล้วว่าเมื่อทำเต็มที่แล้ว ผลมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นอีก ก็ต้องเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นความสงบนี้มันก็จะดำรงอยู่อย่างเยือกเย็น อย่างผ่องใส อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นความสุขเกษมอันแท้จริง แล้วก็ลองนึกดูเถิดว่า ความสงบเช่นนี้ต้องซื้อหาด้วยเงินทองไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถึงจะมีเงินทองมหาศาลมีขายไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่มีขายอีกเหมือนกัน ไม่มีวางขายตามตลาด หรือดีพาทเมนท์สโตร์ หรือว่าเดอะมอลล์หรืออะไรทั้งนั้นนะ ไม่มีขายเลยสักอย่าง แม้จะไปซื้อในสถานที่ที่เรียกกันว่าสวรรค์ ก็ไม่มีขาย ความสงบอย่างนี้ไม่มีให้
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องทำด้วยตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ถูกแล้วมันจะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง นี่ก็ความพิเศษอย่างนี้ของพุทธศาสนาที่ว่าทุกคนสามารถที่จะมีความสงบเช่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนยากคนจนเพียงใดก็ตาม ถ้าเขารู้จักที่จะพัฒนาจิตของเขาโดยวิธีดังที่กล่าวแล้วนี้ละก็ เขาจะถึงซึ่งความสะอาด ความสว่าง และความสงบเป็นแน่นอนเลย ฉะนั้นผู้ใดที่อยากเป็นเศรษฐีนัก เพราะคิดว่าเป็นเศรษฐีแล้วจะมีเงิน ซื้ออะไรต่ออะไรได้จะได้สะดวกสบาย ผ่องใส แท้ที่จริงเงินที่จะซื้ออะไรตามข้างนอกนั้นไม่ได้ช่วยให้ข้างในผ่องใสหรือสุขสงบ แต่ถ้าหากผู้ใดสามารถถึงซึ่งความสุขสงบอย่างนี้ได้ จะเรียกเขาว่าเป็นเศรษฐีได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นได้และเป็นเศรษฐีที่หากยากด้วย เป็นเศรษฐีที่ไม่มีใครจะมาแย่งชิง หรือว่าจะมาฉกปล้น จี้ ลักขโมยไม่ได้เลย เพราะสิ่งนี้มันอยู่ข้างใน
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์พูดอย่างนี้เศรษฐีทั้งหลายก็อิจฉาแย่เลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ต้องอิจฉา ทำเอา ยิ่งเป็นเศรษฐีทั้งภายนอกคือมีวัตถุสิ่งของก็ยิ่งดี แล้วก็พัฒนาความเป็นเศรษฐีภายในให้เกิดขึ้น แล้วทีนี้ก็จะเป็นเศรษฐีที่สมดุล จะเป็นเศรษฐีที่ได้รับการแซ่ซ้อง สรรเสริญ ยกย่อง เพราะอะไร ก็เพราะว่า เขาเป็นเศรษฐีภายนอก เขามีเงินทองมากมาย เขาจะได้ใช้เงินทองอันเป็นส่วนเกินนี้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เพราะจิตใจข้างในเขาเป็นเศรษฐีแล้ว จิตที่เป็นเศรษฐีคือจิตที่พอ จิตที่อิ่ม จิตที่ไม่หิวกระหายอีกต่อไป แต่เป็นจิตที่รู้ว่าจะพึงกระทำสิ่งใดจึงจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพื่อประโยชน์แก่เพี่อนมนุษย์ นี่คือเศรษฐีที่แท้จริง เพราะฉะนั้นไม่ต้องอิจฉาเลย จงกระทำแล้วจะได้ ส่วนผู้ใดที่ยากไร้ ขัดสน จนทรัพย์ ก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจอีกเหมือนกัน สามารถจะเป็นเศรษฐีได้เท่าๆ กันด้วยการทำเอาเอง ทำเมื่อไหร่ได้เท่านั้น ทำน้อยได้น้อย ทำมากได้มาก คำว่าน้อยมากในที่นี้ก็หมายถึงความสงบที่จะเกิดขึ้น ทำน้อยก็สงบน้อย ทำมากก็สงบมาก ทำถึงที่สุดก็สงบถึงที่สุด คือเย็นถึงที่สุด เพราะฉะนั้นนี่ก็คือลักษณะของจิตที่เป็นนิพพาน คือความเย็น ความเย็นที่แท้จริงจะต้องประกอบด้วยสามลักษณะ คือ สะอาด สว่าง สงบ แล้วคิดว่าเราจะถึงนิพพานได้ไหมชีวิตนี้ คือหมายความว่าจะมีนิพพานได้ไหม อย่าพูดว่าถึงเลย เดี๋ยวจะคิดว่าต้องเดินทางไกล ไม่ต้องเดินทางไกลพระนิพพานนี้มันอยู่ตรงนี้เอง ทำเดี๋ยวนี้ก็ได้เดี๋ยวนี้ มีเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นมีได้
ผู้ดำเนินรายการ : แต่ขั้นตอนเยอะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : มีได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มีได้ ไม่ต้องเป็นห่วง มีแต่ความกลัวนะจเลิศนี่ อยู่ในวิจิกิจฉาตลอดเวลา ระวังนะวิจิกิจฉานี้จะเป็นเครื่องกั้นหนทางความเจริญ ไม่ต้องสงสัยและก็ไม่ต้องกลัว กี่ขั้นตอนก็ขอให้มีศรัทธาที่จะทำ ถ้าเราแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และก็ทำได้ทุกคนด้วยเราก็ทำ เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่เรามีได้ในชีวิตนี้ ไม่ต้องไปหวังว่าชาติโน้น ชาติหน้า เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถึง แต่ขณะที่เรายังหายใจอยู่นี้ เรารู้ใช้ไหมคะ เราสุขก็รู้ เราทุกข์ก็รู้ เรามีก็รู้ เราไม่มีก็รู้ ปัญหาอะไรเกิดขึ้นเราก็รู้ ปัญหาสิ้นสุดเราก็รู้ เพราะฉะนั้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และก็จิตใจก็พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะพร้อมอยู่ จึงควรรีบขวนขวาย รีบขวยขวายทำเสีย ที่จะมีเดี๋ยวนี้ เป็นเดี๋ยวนี้ และก็สุขเดี๋ยวนี้ สงบเดี๋ยวนี้ มันไม่ดีกว่าหรือ ไม่ดีกว่าที่จะมานั่งหวัง แล้วก็คอยรอ เมื่อไหร่ใครมาช่วยทำให้ ไม่มีใครทำให้ได้
ผู้ดำเนินรายการ : ดีกว่าซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อย่าเปรียบกันเลย เปรียบกันไม่ได้เลย มันคนละเรื่อง คนละอย่าง มันเปรียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจงทำเสียเถิด จงทำเสียเดี๋ยวนี้ แล้วก็จะได้เดี๋ยวนี้ แล้วก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้อง ทีนี้ถ้าจะว่าไปแล้วละก็ มันก็ไม่ยากนะ พูดๆ มาดูไม่ยาก แต่ทำไมถึงทำยาก ทำไมถึงทำไม่ได้ อะไรคืออุปสรรค นึกดูสิคะ อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้จิตนี้ถึงซึ่งความเย็นไม่ได้ หรือว่าถึงซึ่งสิ่งที่เรียกว่านิพพานไม่ได้ เพราะอะไรเป็นอุปสรรค
ผู้ดำเนินรายการ : วิจิกิจฉาสูงไปหรือเปล่าครับนี่ อย่างที่ผมกำลังเป็นอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใครมีวิจิกิจฉา ตัวฉันตัวผมนั่นแหละ เพราะฉะนั้นอะไรคืออุปสรรค อุปสรรคอันแรกนี่แหละคือความมีตัวฉันนี่แหละ ความมีตัวฉันนี่แหละคือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นี่แหละที่ทำ ถ้ามีตัวก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเป็นที่สุด นี่แหละเป็นอุปสรรค ถ้าจะคิดว่ามีนิพพานไม่ได้ มีความสะอาด สว่าง สงบขึ้นในจิตไม่ได้ อย่าไปโทษใคร ไม่ใช่เพราะสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพราะพ่อแม่ พี่น้อง หรือไม่ใช่เพราะเพื่อนฝูง หรือไม่ใช่เพราะสังคม ไม่ใช่เพราะไม่ยุติธรรม ไม่ใช่เพราะอะไร อันนี้แหละคือต้นเหตุสำคัญ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นได้เพราะความรู้สึกมีตัวคือมีฉัน มันจึงมีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น นี่เป็นอุปสรรค ความเห็นแก่ตัว ทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะมันฟังดูก็ไม่ยาก เพราะขี้เกียจ ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : กลัวลำบาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ความเห็นแก่ตัวทำให้ขี้เกียจ แล้วแทนที่จะรับว่าฉันขี้เกียจ ฉันทำไม่ได้ กลับไปโทษอย่างอื่น กลับไปโทษอุปสรรคเพราะงานมาก ไม่มีเวลาดูข้างใน ไม่มีเวลาจะปฏิบัติ งานมาก แต่ถามว่างานมากยังหายใจอยู่หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : หายใจครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หายใจอยู่ก็รู้อยู่กับลมหายใจ ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจ ที่เรียกว่าอานาปานสติ ถ้าหมั่นฝึกอานาปานสติอยู่เสมอ จิตรู้ทุกขณะที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จิตนี้พร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญาค่อยเกิดขึ้นทีละน้อย ในระหว่างที่จิตอยู่กับลมหายใจ ไม่วิ่งวุ่น แส่ส่าย ร่อนเร่พเนจรไปกับความคิดในขณะนั้น จิตก็ไม่มีปัญหา ที่จะต้องถูกรบกวนเพราะกิเลส เพราะนิวรณ์ หรือเพราะความคิดปรุงแต่ง ความยึดมั่นถือมั่น เห็นไหมมันไป นี่คือวิธีทำง่ายๆ ที่สุด แต่ก็บอกทำไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะตัวลมหายใจจะช่วยดึงให้จิตอยู่กับที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ พอจิตอยู่กับที่มันก็ไม่คิด พอไม่คิดมันไม่มีอะไรมารบกวน กิเลสก็รบกวนไม่ได้ ความเศร้าหมองก็ไม่มี และก็ความรู้สึกที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาโน่นเอานี่ มันก็ไม่เกิดในขณะนั้น จิตมันก็มีความสุข สงบ เย็น อย่างน้อยที่สุดในชั่วขณะนั้น แต่ก็ยังทำไม่ได้เพราะขี้เกียจ และก็อ้างว่าเพราะงานมาก เพราะเหนื่อย เพราะเพลีย เพราะว่าไม่แข็งแรง นั่นแหละพอไม่แข็งแรงก็ยิ่งคิดวุ่นวายไป เพราะเหนื่อยเพราะเพลียก็ยิ่งคิดวุ่นวายก็เลยยิ่งไม่สบายใหญ่ ไม่ทำงาน ไม่สนุก อ้างเหตุต่างๆ นานา ความเห็นแก่ตัวนี่มันทำให้มนุษย์เราทำอะไรมากมายหลายอย่างเลยที่ไม่สมควรทำแล้วก็ไม่รู้ว่าในขณะที่ทำนั่นเราเห็นแก่ตัว กลับไปว่าคนอื่นว่าเขาไม่เห็นใจ แทนที่จะรู้สึกว่าเรานี่เห็นแก่ตัว พี่น้องก็ไม่เห็นใจฉัน ฉันนี่นะเป็นคนขี้โรค ตั้งแต่เล็กมาก็เจ็บป่วยอยู่เรื่อย ยังเคี่ยวเข็ญให้ฉันทำงาน ไม่นึกเห็นใจกันบ้างเลย นี่ถ้าหากว่าเรากระวีกระวาด เราลองสลัดความรู้สึกที่ว่าไม่สบาย รู้สึกทำอะไรไม่ได้ เข้มแข็งยืนขึ้นมาก็จะแข็งแรงขึ้น แต่กลับไม่คิด ไม่คิดที่จะแก้ไข นี่ก็เพราะความเห็นแก่ตัวแล้วก็เลยเอาเปรียบคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เอาเปรียบพ่อแม่ เอาเปรียบพี่น้อง เอาเปรียบเพื่อนฝูง ไปอยู่ที่ไหนก็เอาเปรียบที่นั่น แล้วก็ทำไมไม่มีใครรักฉันเลย ไปที่ไหนเขาก็ไม่อยากต้อนรับ คนนั้นก็แหมทำหน้าอย่างนั้นใส่ เขาคงเห็นเรายากจน ใช่หรือเปล่าเพราะยากจน
ผู้ดำเนินรายการ : ที่จริงไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่ ไม่มีใครรังเกียจคนยากจนถ้าคนที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นยังไง มีน้ำจิตใจที่จะช่วยเหลือการงานของผู้อื่น ตามสติกำลังความสามารถ เรียกว่าสามารถทำหน้าที่ของเขาได้ อยู่ที่ไหนก็ทำหน้าที่เต็มที่ ไม่มีใครรังเกียจ ไม่มีใครเขารังเกียจเพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจผิด แต่ความเห็นแก่ตัวนี่เห็นไหมทำให้คนเราเห็นแก่ได้ทุกอย่าง เห็นแก่ได้ เวลาก็จะเอา เอาเวลาของคนอื่นมาเป็นของตัว ข้าวของทรัพย์สินเงินทองหยิบยื้อเอาได้ก็เอามาเป็นของตัว นี่เพราะความเห็นแก่ได้ที่เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านจึงพูดแล้วพูดอีกว่าความเห็นแก่ตัวนี่แหละ คือรากเหง้าของปัญหาทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ในสังคม ในชาติ ในโลก เพราะความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลยทุกระดับ ให้ไปมองดูศึกษาดูเถอะ ใช่ไหม เมื่อเราอ่านดูข่าวคราวต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เรื่องมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดไปแล้วก็จะบอกว่า ความเห็นแก่ตัวนี่แหละ ทำให้มนุษย์เราเบียดเบียนกัน ริษยา อาฆาตกัน คดโกงกัน สารพัดที่จะทำ แล้วก็ก่อความวุ่นวายต่างๆ ตัวเองวุ่นวายไม่พอก็ทำให้เพื่อนฝูง พี่น้อง พ่อแม่ทุกคนที่อยู่ใกล้เคียง พลอยวุ่นวายไปด้วย และเสร็จแล้วก็บ่นว่า ทนไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้มันมีมลภาวะมากทำให้ชีวิตนี้เป็นพิษ ที่จริงชีวิตที่เป็นพิษนี่มันเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตใจที่เป็นพิษใช่หรือเปล่า จิตที่มันเห็นแก่ตัวนี่อยากจะพูดว่ามันเป็นจิตที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ใช่ไหม เป็นมลภาวะที่น่ากลัว มลภาวะที่เกิดจากข้างในของจิตของคนที่เห็นแก่ตัวนี่ มันเป็นพิษแก่ตัวเองและมันยังคายพิษพ่นพิษไปถึงคนอื่นอีกด้วย ใครอยู่ใกล้ก็ได้พิษจากคนที่เห็นแก่ตัวและก็พ่นมลภาวะที่เป็นพิษภายในออกไปสู่คนอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ว่ามลภาวะจากรถเมล์ กระบะ ทำให้อากาศเสีย แล้วก็มลภาวะจากอื่นๆ ที่ทำให้อากาศเสีย ทำให้น้ำเสีย ทำให้สุขภาพของคนเสีย ทำให้สภาวะธรรมชาติล้อมรอบตัวเสียไปหมด และก็บอกว่าที่มันเกิดขึ้นนี่เพราะอะไร เพราะคนเห็นแก่ตัว ใช่ไหม เห็นแก่ตัวจึงกระทำอย่างนั้น อย่างขาดหิริโอตัปปะ มีแต่ความต้องการที่จะเอาแต่ได้ของฝ่ายตัวเอง จนลืมว่าหน้าที่ของเพื่อนมนุษย์ที่เราจะต้องอยู่ด้วยกันนี้ มันจะต้องเห็นแก่กัน เห็นแก่ความสุข เห็นแก่ความสะดวกสบายของเพื่อนมนุษย์ เพราะเราต่างก็เป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน คือเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน แต่ลืม พอความเห็นแก่ตัวมันรุนแรง มันทวีขึ้น มันมีแต่ความรู้สึกว่าฉันจะอยู่ ฉันจะอยู่อย่างไรให้ฉันไม่ตาย คนอื่นล่ะตาย เพราะฉะนั้นฉันเอามาก่อน นี่เห็นไหม
ผู้ดำเนินรายการ : เรื่องความเห็นแก่กันนี่นะครับ ถ้าเราเห็นแก่กันกับคนอื่นแต่เขาไม่เห็นแก่กันกับเราด้วย เห็นแก่ตัว อันนี้จะแก้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราก็ต้องไม่เห็นแก่ตัวนี่ประการหนึ่ง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัว หากเราไม่เห็นแก่ตัวจนไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัว เราก็ไม่เห็นคนอื่นเป็นตัว เราจะเห็นเป็นสิ่งๆหนึ่งตามธรรมชาติ ที่มันจะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย มันมาจากธรรมชาติแล้วก็กลับไปสู่ธรรมชาติ ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องมีกันและกัน มันจะไม่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น เห็นไหมคะ ความคิดข้างนอกที่เกิดจากการศึกษาข้างนอกนี่ มันทำให้เรามีเหตุมีผลแล้วก็เรามีความคิดอ่านต่างๆ เราเก่งในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็เราเก่งในการเปรียบเทียบ เสร็จแล้วก็มีการแบ่งแยก แล้วก็มีการแตกแยก เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น เห็นไหมนี่เกิดจากการศึกษาข้างนอกทั้งนั้น ไม่ว่าจะศึกษาในศาสตร์ใดวิชาใด นี่มันจะไปอย่างนั้น มันจึงมีการแบ่งแยกซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบและก็แบ่งแยกกันขึ้นมา ว่านั่นเขาอย่างนี้ ฉันอย่างนี้ เราอย่างนั้น พวกนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าสมมติว่าเราศึกษาแต่ข้างใน จนมองเห็นว่ามันไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่น สักแต่ว่า มันก็มีแต่หน้าที่ ใครเขาจะทำอย่างไร ถ้าเราแก้ไขได้ด้วยฝึกฝนอบรมได้จะทำทันที แต่ถ้าโอกาสยังไม่อำนวย ก็อุเบกขา คือคอยไว้ก่อนจนถึงเหมาะเจาะเมื่อไหร่เราก็จะทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะดูดายหรือทอดทิ้ง เราพร้อมที่จะทำ พร้อมที่จะแก้เมื่ออยู่ในวิสัยที่จะทำได้
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ครับ การเตือนเขาเป็นการทำหน้าที่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ เป็นการทำหน้าที่ของเพื่อน แต่ก็แน่ล่ะในการที่เราจะต้องเตือนนี่ อาจจะเตือนใครก็ตาม ก็อย่าลืมจะต้องมีศิลปะในการเตือน ต้องนึกถึงมัชฌิมาปฏิปทา ความเหมาะสมของจังหวะ ของโอกาส ถ้าว่างๆ ก็ลองไปศึกษา สัปปุริสธรรม๗ ที่เรียกว่าเป็นธรรมะของสัตบุรุษ ที่ต้องรู้ความพอเหมาะพอดีของเหตุของผล ของตน ของประมาณ ของการเวลา และของประชุมชน และของบุคคล ถ้าเรารู้ทุกอย่างนี้ว่ามันพอเหมาะพอดี เหตุปัจจัยพอเหมาะพอดีอย่างสมดุลกัน แล้วลงมือทำ ผลที่เกิดจะดีอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาหลายๆ อย่าง แต่ก็อยากจะเน้นให้รู้ว่ามลภาวะทั้งหลายที่เราบ่นกันทุกวันนี้ว่ามีในสังคมมากเหลือเกิน ก็โปรดอย่าลืมว่ามลภาวะภายนอกที่มันเกิดขึ้นนี้ ที่เป็นพิษมันเนื่องมากจากมลภาวะที่มีอยู่ภายในจิตของมนุษย์ที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว จึงพ่นพิษ คายพิษออกมาสู่เพื่อนมนุษย์ ทำให้สังคมนี้เต็มไปด้วยมลภาวะ เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้อันนี้ได้แล้วละก็ปัญหาเรื่องมลภาวะทั้งปวงมันจะสูญสลายหายไปด้วย ธรรมชาติที่จะได้รับความเสริมเติมแต่งเพิ่มพูนให้งอกงาม และก็รักษาความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงเอาไว้ได้ จึงอยากให้สังวรณ์ในเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะฉะนั้นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด ที่มันจะขัดขวางให้จิตนี้เย็นไม่ได้ รุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรอื่นนอกจากการเห็นแก่ตัว ถ้าฝึกฝนอบรมจิตด้วยการศึกษาข้างในจนสามารถทำลายความเห็นแก่ตัวเสียได้ เมื่อนั้นจิตนี้จะเย็น จะถึงซึ่งความสะอาด สว่าง สงบ เย็น ไม่ต้องสงสัยเลย นี่เป็นอุปสรรคข้อแรกที่เราอยากจะพูดกันว่ามันเป็นสิ่งที่ขัดขวางทางนิพพาน และความเห็นแก่ตัวนี้ก็แน่นอนที่สุด จิตนี้จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสและนิวรณ์ตลอดเวลา มันจึงปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญ แม้แต่จะพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นในจิตก็เย็นไม่ได้ ธรรมสวัสดีนะคะ