แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้ก็ต้องต่อในเรื่องของ “มรรค” ซึ่งเป็น อริยสัจองค์ที่ ๔ นะคะ เพราะว่ามรรคนี้เป็นหนทางที่จะพาเราเดินไปให้ถึงซึ่งความดับ ที่ว่า “นิโรธ” นี่คือความดับ จะดับอย่างไร จะเดินไปอย่างไร คือ จะปฎิบัติอย่างไรจึงจะถึงซึ่งความดับที่แท้จริงแล้วก็จะต้องทำให้ความดับนั้นเป็นที่แจ้ง รู้แจ้ง ก็ต้องอาศัย“อริยมรรค” ซึ่งเป็นหนทางดำเนินไปสู่ นิโรธ หรือไปสู่ความดับ
เมื่อคราวที่แล้วเราก็ได้พูดถึง อริยมรรค องค์ที่ ๑ คือ “สัมมาทิฐิ” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นตัวปัญญาเลย เป็นตัวปัญญาที่จะนำให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องแล้วจะได้ดำเนินชีวิตไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องนั้น ท่านจึงเปรียบความสำคัญของสัมมาทิฐิเสมือนหนึ่ง รุ่งอรุณ หรือ แผนที่ชีวิต อย่างเราหลงป่า เราก็มีแผนที่ วัตถุที่เราจะเปิดดู แต่ทว่าถ้าหากว่าเรามี อริยมรรค มีความเข้าใจในเรื่องของอริยมรรคอยู่ในใจ ก็เหมือนกับเรามีแผนที่ชีวิต ถ้าหลงทางชีวิต เราก็จะเปิดแผนที่อริยมรรคในใจขึ้นมาดู หลงทางชีวิตคือยังไง หลงทางชีวิตกันบ้างหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: หลงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หลงยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: เยอะแยะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ว่ามาให้ชัดๆ หน่อย ที่ว่าเราหลงทางชีวิตคืออย่างไร
เมื่อเราเกิดความทุกข์ เมื่อเรามีปัญหา เมื่อเรารู้สึกยุ่งเหยิง นี่แหละคือเรียกว่าเราหลงทางชีวิต
ทำไมถึงว่า หลงทาง เพราะมันมืดตันในขณะนั้น มันมองไม่รู้จะเดินทางไหน นั่นก็มืด มุมนี้ก็มืด หนทางโน้นก็ไม่มีหนทางสว่าง เหมือนกับว่าเรากำลังงมมะงาหราอยู่ในที่มืด ไปไม่ได้ นี่แหละคือเรียกว่าหลงทางชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อหลงทางชีวิตละก็ ก็ต้องใคร่ครวญดูสิ่งที่เราเคยรู้เคยเห็นเคยเข้าใจ เคยได้ฟังมานั้นน่ะ เอามาไตร่ตรอง และก็หยิบเอามาสรุปลงให้ได้ว่า หนทางไหนที่มันจะทำให้เกิดการเดินทางที่ถูกต้อง แล้วเราก็สรุปมา
พอสรุปมาได้ ความเห็นถูกต้องเกิดขึ้น เราก็จะมี “สัมมาสังกัปปะ” ซึ่งเป็นองค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ก็คือ ความปรารถนาถูกต้อง หรือ ความตั้งใจถูกต้อง ถ้ามีความเห็นถูกต้องแล้ว พอเราเห็นถูกต้องเราก็ปรารถนาไว้ในใจ ว่าจะต้องกระทำอย่างนี้ หรือว่ามีความตั้งใจอย่างถูกต้อง ก็ตั้งใจว่าจะต้องทำอย่างนี้ ต้องทำตามที่เห็นถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ องค์นี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจ คือมีความเห็นถูกต้องแล้ว เช่น ความอยาก เป็นต้นเหตุของปัญหา ของความทุกข์ ที่ทำให้ดิ้นรน การที่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่างเต็มที่โดยไม่หวัง อันนี้แหละคือหนทางที่จะทำให้จิตมีความสงบเย็น และก็จะเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น คือพอมีความเห็นที่ถูกต้องอย่างนี้ สัมมาสังกัปปะเกิดขึ้น ก็มีความตั้งใจ ตั้งใจไว้ในใจว่าจะต้องกระทำอย่างนี้ จะต้องเดินไปตามหนทางนี้ จะไม่ทำอะไรด้วยความอยาก คือ อยาก เพระกิเลส อยากเพราะตัณหา ที่เต็มไปด้วยอวิชชาครอบงำ จะไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่จะทำเพราะใคร่ครวญเห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องพึงกระทำ
ผู้ดำเนินรายการ: คล้ายๆ อุดมการณ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะว่าเป็นอุดมการณ์ก็ไม่ใช่ อุดมการณ์อาจจะตั้งขึ้นมาสมมติขึ้นมาว่ามันเป็นอย่างนี้ตามความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่ง ตามสมมติ เพราะฉะนั้นถ้าตามสมมติอย่างนั้น มันผิดก็ได้ถูกก็ได้ เพราะคนที่เป็นคนคิดคนเห็นนั้นก็ยังเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ตัวเองก็ยังไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นอุดมการณ์โลกๆ นั้นจะมาเปรียบอริยมรรคไม่ได้ มันคนละเรื่อง ต้องเข้าใจให้ชัดเจน
ในการที่เราจะพูดถึงเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เรื่องการคิดด้วยมันสมอง โปรดจำ ต้องใคร่ครวญตาม ในขณะที่พูดไปช้าๆ ต้องใคร่ครวญตาม ใคร่ครวญตาม ดูตามความรู้สึกที่มันจะเกิดขึ้นว่าจะเป็นเช่นไรข้างใน ไม่ใช่ดู ไม่ใช่คิดด้วยมันสมองแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเรียกว่า พอเรามองเห็นแล้วว่าความเห็นถูกต้องอย่างนี้ ก็ตั้งใจที่กระทำตาม เพราะฉะนั้น ทั้งสององค์นี้ยังไม่ได้เป็นการปฏิบัติ คือยังไม่ได้เป็นการกระทำ แต่เรียกว่า “เป็นปัญญาที่ถูกต้อง” ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแสงสว่างที่ส่องทางอยู่ เปรียบเหมือนกับว่าถ้าเปรียบกับวัตถุ ก็มีสปอตไลท์ดวงใหญ่หรือว่าดวงอาทิตย์เที่ยงวันแสงจ้าส่องทางอยู่ จะมองไปทางไหนมันสว่าง มันสว่างจ้าหมด จะเดินมันก็ไม่หลงทาง เพราะรู้แล้วว่าหนทางที่จะเดินคืออย่างนี้ ไปทางนี้และก็ด้วยวิธีนี้ นี่คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งจัดว่า เป็น “ปัญญา” เป็นปัญญาที่เกิดจากข้างใน
ทีนี้เมื่อมีปัญญาอย่างถูกต้องเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ต่อไป “สัมมาวาจา” ก็จะตามมา สัมมาวาจา ก็คือการพูดจาชอบ การพูดจาชอบหรือการพูดจาถูกต้อง ถ้าเราใช้คำว่า ถูกต้อง ก็เอาถูกต้องให้หมดเลยนะคะ สัมมาวาจา คือ การพูดจาถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง ก็ควรจะเป็นการพูดจาที่เป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ส่อเสียด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น นั่นก็คือ ไม่พูดด้วยวาจาส่อเสียด ยุยงส่งเสริม เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ไม่รู้จบ เลื่อนเปื้อน สนุกสนานเฮฮา อย่างไม่มีแก่นสารสาระ เพราะมันเสียเวลาเปล่าๆ ฉะนั้นการพูดจาถูกต้อง ก็คือการพูดจาและมีสาระประโยชน์ มีแก่นสาร พูดจาตรงจุดเป้าหมาย พูดสั้นแต่ได้ความกระชับกะทัดรัดตรงตามเป้าหมาย นี่คือการพูดจาที่ถูกต้อง
ทีนี้เรากำลังพูดถึง อริยมรรค ที่กำลังดำเนินมาตามลำดับดังที่ว่ามาแล้วนี้ เมื่อเราพูดถึง สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ โดยเรายกตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องของการมองเห็นว่า ความอยาก การกระทำตามความอยาก นำความทุกข์หรือปัญหาให้เกิดขึ้น ถ้าสามารถทำตามหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยไม่หวัง จิตนี้ก็จะสงบเย็น เพราะฉะนั้น การพูดจาถูกต้องที่จะดำเนินไปตามปัญญาเช่นนี้ ก็ต้องพูดจาในเรื่องอะไร ก็ควรจะพูดจาปรึกษากันในเรื่องอะไร ก็ควรพูดจาปรึกษากันในเรื่องของว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะความอยากจริงไหม ถึงแม้เราจะรู้ แต่รู้เพียงผิวๆ เผินๆ ไม่เอามาใคร่ครวญมาพูดจาสนทนากัน เพื่อความเข้าใจนั้นกระจ่างชัดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ประเดี๋ยวก็เผลอกลับไปทำๆ เพราะฉะนั้นการพูดจาถูกต้อง ก็ควรจะสนทนา ไต่ถามกันในเรื่องนี้ นี่พูดถึงว่าถ้าเรายกตัวอย่างนะคะ เรายกตัวอย่างในเรื่องนี้ว่า เราจะมีความเห็นถูกต้อง ในเรื่องของเหตุของความทุกข์ และวิธีที่จะทำงานหรือดำรงชีวิตโดยไม่ต้องทุกข์ ก็คือฝึกทำหน้าที่โดยไม่ต้องหวัง นี่แหละถือมาเป็นตัวอย่าง
ฉะนั้นสัมมาทิฐิ เห็นตามนี้แล้ว สัมมาสังกัปปะ ตั้งใจจะปฎิบัติเช่นนี้แล้ว สัมมาวาจา ก็ควรจะพูดจาสนทนากันอยู่ในเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันให้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันว่า การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยไม่หวัง เพื่อไม่ต้องดื่มยาพิษนี่ มันทำยังไงบ้างนะ ใครมีประสบการณ์อย่างไรก็ช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันแนะนำ ช่วยกันให้ตัวอย่าง และก็ในขณะเดียวกัน ตัวอย่างของความทุกข์ ของปัญหาที่เกิดเพราะความดิ้นรนด้วยความอยาก นำมาพูดจาสนทนาปรึกษากัน นี่เขาเรียก เป็นการพูดจาชอบ เพราะพูดแล้วเป็นทุกข์ไหม ไม่ทุกข์ ยิ่งพูดยิ่งเย็น ทำไมถึงเย็น เพราะมันมีแต่ “ดึงออก” ดึงออกจากความยึดมั่นถือมั่นในความอยากของตัวฉัน ดึงออกจากความหวังที่ตัวฉันจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ในขณะการพูดจาสนทนาอย่างนี้ มันมีแต่การส่งเสริม ให้เกิดความลด ความละในความอยาก ในความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นอัตตา ใช่ไหมคะ
เมื่อเราลดละลง เรามีความลืมตัวในทางธรรม ในภาษาธรรม มากยิ่งขึ้นเท่าใด ความหนัก มันก็จางคลาย ที่แบกอะไรต่ออะไรเอาไว้ แบกเอาไว้ข้างใน มันหนักยิ่งกว่าออกแรงแบกอีก ต้องแบกอยู่ตลอดเวลา ความเย็นก็เกิดขึ้น นี่คือ การพูดจาที่ถูกต้อง
ทีนี้พอพูดจาถูกต้อง มรรคองค์ที่ ๔ ที่ตามมาก็คือ “สัมมากัมมันตะ” สัมมากัมมันตะ คือ การงานชอบ หรือ การงานถูกต้อง ก็หมายความว่า การงานจะถูกต้องได้ มันต้องมีการกระทำที่ถูกต้องอยู่ในนั้นใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น คำว่า สัมมากัมมันตะจึงกินความกว้าง มันหมายถึงการกระทำที่ถูกต้องในทุกกรณี ไม่ได้หมายถึงแต่ว่าจะทำมาหากินเท่านั้น แต่มันหมายถึง การกระทำที่ถูกต้องที่จะเกี่ยวข้องกับผู้คน ที่กระทำการงานในชีวิตประจำวัน หรือกระทำการงานในอาชีพ หรือกระทำการงานในวงการสาธารณะ สังคมสงเคราะห์ หรือกระทำการงานเพื่อชาติบ้านเมืองอะไรก็แล้วแต่ มันรวมความกว้างถึงอย่างนั้นว่า จะต้องเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แน่นอนที่สุดการกระทำที่ถูกต้อง คือ ทำแล้วไม่เป็นทุกข์ ทำแล้วไม่ก่อปัญหา ขอให้จำเสมอนะคะ ว่า “สัมมา” นี่ทำแล้วไม่เป็นทุกข์ ทำแล้วไม่ก่อปัญหา มีแต่ความเย็น มีแต่ความเย็นมีแต่ความสงบ มีแต่ความสบาย มีแต่ความพอใจที่ได้กระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเรายกตัวอย่างตามที่พูดแล้วว่า “ความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์” ถ้าฝึกปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวัง ก็จะพ้นจากปัญหา พ้นจากความทุกข์ มีแต่ความเย็น แล้วเราได้พูดจาสนทนากันแต่ในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อลงมือกระทำ ก็จะกระทำอย่างไร ก็จะฝึกกระทำโดยไม่ต้องอยาก ลองดูสิ วันนี้จะทำโดยไม่อยาก เริ่มต้นตั้งแต่จะกระทำการกิน จะกินข้าวแต่ลองกินโดยไม่อยาก วันนี้ก็จะไม่บ่น น้ำปลาไม่มีก็ไม่เป็นไร น้ำส้มไม่มีก็ไม่เป็นไร กับข้าวอย่างนี้เราเกลียดที่สุด ก็ไม่เป็นไร คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือว่าจะพูดคุยกับเพื่อน เราก็พยายามให้มีการกระทำที่ถูกต้อง คือการกระทำต่อเพื่อนที่เราจะมี ให้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาพูดถึงในเรื่องของตัวอย่างนี้ เราก็จะฝึกกระทำ ไม่ว่าสิ่งใดทั้งนั้น ทำโดยไม่อยาก ทำโดยที่มีความกระตือรือร้น ด้วยการรื่นรมย์ ทุรนทุราย เราจะไม่ทำแบบนั้น แต่จะทำหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำหน้าที่ด้วยหน้าที่โดยไม่ต้องหวัง นี่มันก็จะมีแต่ความถูกต้อง คือ ความเย็น
และในขณะเดียวกัน อริมรรคองค์ที่ ๕ ก็คือ “สัมมาอาชีวะ” สัมมาอาชีวะ ก็หมายถึง การดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง การดำรงชีวิตถูกต้อง สัมมาอาชีวะไม่ได้หมายถึงแต่เพียงว่า อาชีพถูกต้อง คือทำมาหากินสุจริต ไม่ได้คดโกงใคร ไม่ได้หมายเพียงแค่นั้น แต่สัมมาอาชีวะ มันมีความหมายกว้างไปถึง การดำรงชีวิตถูกต้อง
การดำรงชีวิตถูกต้อง หมายความว่า ความเป็นอยู่ในชีวิตนั้นมันมีความถูกต้อง ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันในครอบครัว ในชีวิตประจำวันในการงาน ในชีวิตประจำวันในวงสังคมในวงเพื่อนฝูง และก็อื่นๆ ทุกอย่าง เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง การดำรงชีวิตที่ถูกต้องนี้ก็ จะถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องนึกไปถึงว่า ต้องรู้จักละเว้นสิ่งที่จะมาบั่นทอน หรือจะมาเบี่ยงเบนให้ความถูกต้องนี้เฉไฉไป เช่นเป็นต้นว่า ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุข อย่างนี้เป็นต้น ถ้าหากไปตกเป็นทาสของอบายมุขเข้า การดำรงชีวิตก็ผิดไปแล้ว เป็นมิจฉาไปแล้วมันไม่ใช่สัมมา ก็จะไม่ปล่อยตนปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอบายมุข จะไม่ไปคบหาคนพาล ที่จะชักนำตนให้ไปสู่ที่ต่ำ หรือให้กระทำสิ่งที่ผิดๆ ไม่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม ก็จะใฝ่หาบัณฑิต จะใฝ่หาบัณฑิตมาเป็นมิตร เพื่อเป็นกัลยาณมิตร คอยตักเตือน คอยแนะนำให้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง นี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่จะอธิบายเพิ่มเติมว่า การดำรงชีวิตถูกต้องนี่มันครอบคลุมไปถึงสิ่งเหล่านี้ ว่าจะช่วยตะล่อมเรา ตะล่อมเราให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง แต่เมื่อเรายกตัวอย่าง เรื่อง ความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยไม่หวัง จะมีแต่ความสุขสงบเย็น เพราะฉะนั้นการดำรงชีวิตถูกต้องที่จะเป็นไปตามแนวทางนี้ก็คือดำรงชีวิตอยู่ใน
ผู้ดำเนินรายการ: ความพอดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยู่ในการที่จะฝึกหัดที่จะไม่อยาก คือฝึกหัดที่จะมีชีวิตอยู่โดยอยากให้น้อยที่สุด แน่นอนล่ะ เรายังอยู่กับความอยากมานาน จะตัดทันทีไม่ได้ แต่เราก็จะฝึก อยาก ให้น้อยลงๆ คืออยากตามกิเลสน่ะให้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็ฝึกให้อยากด้วย “สติปัญญา” ฝึกให้อยากด้วยสติปัญญา มันต่างกันยังไง อยากด้วยอำนาจของ อวิชชา กับ อยากด้วยสติปัญญา มันต่างกันยังไงคะ ถ้าหากว่าอยากด้วยสติปัญญานั้น ก็มองเห็นแล้วว่าไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว แม้แต่ตัวนี้ อัตตาตัวตนนี้ ก็หาใช่ตัวใช่ตนที่แท้จริงไม่ มันเป็นอนัตตา จากการที่ได้ศึกษาใคร่ครวญใน กฎของธรรมชาติ คือ “กฎไตรลักษณ์” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังที่เราพูดกันมาแล้ว จนเห็นชัดประจักษ์ใจ ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว นี่มองเห็นชัดอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้น ความอยากที่เคยมี มากๆ ด้วยอำนาจของ อวิชชาก็จะลดลง ถ้ามีสติปัญญาที่ถูกต้องเข้าไปแทรก สติปัญญาที่ถูกต้องเข้าไปแทรกก็ช่วยขับไล่ความอยากด้วยอวิชชาให้จางคลาย ลดน้อยลง ก็จะมีการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ก็คือ เป็นการดำรงชีวิตที่มีความเย็น มีความสงบมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ทั้ง ๓ องค์นี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มันเกี่ยวกับเรื่องของ วาจา เรื่องของกายใช่ไหมคะ วาจา การพูดจา กาย ก็คือ การกระทำ เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ องค์นี้ รวมกันแล้วอยู่ในองค์ ที่เรียกว่า “ศีล” เพราะ ศีล คือสิ่งที่รักษาความเป็นปกติของ กาย วาจา และทั้ง ๓ องค์นี้ อยู่ใน ศีล ในขณะที่ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ รวม ๒ องค์นี้ รวมกันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” และก็ ๓ องค์ที่สองนี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ก็รวมกันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “ศีล”
ต่อไป องค์ที่ ๖ คือ “สัมมาวายามะ” สัมมาวายะมะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง เมื่อมีปัญญาถูกต้อง มีศีลถูกต้อง คือการดำรง การรักษากาย วาจา เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะ คือ ความพากเพียรถูกต้อง ความพากเพียรอุตสาหะ มีอยู่ในใจเท่าไหร่ มีอยู่ในกายเท่าไหร่ ทุ่มเทลงไป ทุ่มเทลงไปในเรื่องอะไร ในเรื่องที่จะฝึกหัดอบรมจิตของตนเองให้เป็นผู้ที่มีความอยากน้อยลง น้อยลงๆ ลดลงๆ จางคลายจากความอยากด้วยตัณหา อวิชชา ให้ลดลงๆ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้ที่เคยมีมามาก ก็จะฝึกให้มันลดลงๆ ลดลงด้วยวิธีไหน ก็อย่างที่เราเคยพูดกันแล้วคราวก่อนโน้น โดยการที่ ฝึกดูในจิตของเราว่าเป็นยังไง ใจนี้ มันยังจะชอบหวังไหม มันยังชอบหมั่นไส้คนไหม มันยังชอบเปรียบเทียบอย่างโน้นอย่างนี้ไหม นี่แหละ เป็นการฝึกดูว่า จิตนี้เป็นยังไง ลดลงบ้างหรือเปล่า หากว่ามันมีความไม่อยากจะเปรียบเทียบอะไร มันเป็นเช่นนั้นเอง นี่ก็แสดงว่า ความที่เห็นตัวนี้เป็นตัวตนลดลง เพราะฉะนั้นตัวตนอื่นมันก็ไม่สู้จะมีอีกเหมือนกัน ความรู้สึกที่จะรำคาญที่จะหมั่นไส้ก็ลดลง มันก็เฉยๆ ทำโดยไม่หวัง นี่แหละ เป็นการฝึก เป็นการทุ่มเทความพากเพียรถูกต้องลงไปในการที่จะฝึกหัดขัดเกลาจิตของตนเองในลักษณะนี้ ก็ดำเนินตามสัมมาทิฐิที่ได้ว่าไปแล้ว และก็สัมมาสังกัปปะ ที่ตั้งใจจะทำอย่างนั้น นี่เป็นสัมมาวายามะ หรือความพากเพียรถูกต้อง มันต้องเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ความพากเพียรถูกต้องนะคะ ต้องเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยว ที่จะต้องทำให้ได้ ความอาจหาญที่ต้องทำอย่างชนิดไม่ต้องสงสารตัวเอง ไม่ต้องสงสารว่า เคยกินดีอยู่ดี เคยนุ่งห่มดี เคยอยู่อะไรต่ออะไรดีทุกอย่าง ช่างหัวมัน ช่างหัวมันในทางธรรม เด็ดเดี่ยว อาจหาญเข้มแข็ง ต้องทำให้ได้ นี่เป็น สัมมาวายะมะที่ถูกต้อง หรือ ความพากเพียรที่ถูกต้อง
จากนั้น “สัมมาสติ” องค์ที่ ๗ สัมมาสติ คือ ความระลึกรู้ถูกต้อง ก็คือระลึกรู้ในสิ่งที่เราได้พูดกันมา ในเรื่องของการศึกษาธรรมชาติจนเห็นกฎของธรรมชาติ และก็ทำหน้าที่ถูกต้องได้ เรียกว่า ถูกต้องมาเรื่อย ตามลำดับ พอจะมีอะไรไขว้เขวเฉไฉไปบ้าง สติก็จะมาทัน จะนำเอาความรู้เพราะมีปัญญาเป็นตัวนำ นำปัญญาที่ถูกต้องเข้ามาเตือน ยั้งเอาไว้แล้วก็จะได้เดินต่อไป ในหนทางที่ถูกต้อง คือเดินเพื่อลดละความอยาก และก็เพิ่มความสามารถในการจะทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ยิ่งขึ้น
ส่วนองค์สุดท้าย ก็คือ “สัมมาสมาธิ” สมาธิในที่นี้หมายความว่า ความตั้งมั่นถูกต้อง คือจิตจะมีความตั้งมั่น มั่นคง ไม่มีเฉไฉ ไม่มีหันเหไปทางไหนอีกเลย จะมุ่งมั่นไปในหนทางที่จะลดละความอยาก และฝึกทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ให้มากยิ่งขึ้น ๓ องค์หลังนี้ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “สมาธิ” เราก็ได้พูดกันครบแล้ว ๘ องค์นะคะ แต่ยังไม่หมดจดดี เราอาจจะพูดกันต่อไปในคราวหน้าอีกบ้าง สำหรับวันนี้ธรรมสวัสดีนะคะ