แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คงไม่สามารถตอบได้หมด แต่ว่าจะพยายามตอบในคำถามที่หนักไปในทางการปฏิบัติเสียก่อน แล้วส่วนคำถามที่เหลือก็อาจจะตอบต่อไปในตอนเย็นวันนี้ มีคำถามที่เกี่ยวกับที่เพิ่งพูดไป แม้จะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิโดยตรงแต่ก็อยากจะตอบเสียก่อน
คำถาม: ถามว่าการวิพากษ์วิจารณ์ก่อให้เกิดปัญหา แต่ถ้าเราวิจารณ์ตัวเองดูตัวเองแล้วคอยเตือนตัวเอง อย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า คือคำถามถามว่าเป็นทิฐิหรือเปล่า
ตอบ: ถ้าใช้คำว่าทิฐิกลางๆ คำเดียว ทิฐิแปลว่าความเห็น เพราะฉะนั้นก็คงจะถามว่า อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฐิหรือเปล่า คือผิดไหม ไม่ผิด เป็นสัมมาทิฐิหรือเปล่า ก็เป็นสัมมาทิฐิแต่ขึ้นกับวิธีที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ด้วยการศึกษาดูข้างใน แล้วก็ใช้ทำจิตควบคุมจิตให้สงบ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยการดูสัจธรรม ถ้าเป็นอย่างที่เราพูดกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าถูกต้องนะคะ
ผู้ใดที่วิพากษ์วิจารณ์แล้วคอยๆ เตือนตัวเองก็เรียกว่าเป็นผู้ที่มีสติ ทีนี้เกี่ยวกับคำว่าเซนซิทีฟ (sensitive) ที่ดิฉันบอกว่า คนที่เซนซิทีฟ ก็คือคนที่หวั่นไหวง่าย คนเซนซิทีฟคือคนที่หวั่นไหวง่าย อย่างเราว่าคนบางคน เธอคนนั้นนะเหรอซุปเปอร์เซนซิทีฟ คือหมายความว่าสะกิดไม่ได้ สะกิดไม่ได้ จะพูดอะไรกระทบไปสักนิดหนึ่งหรือว่าบางทีไม่ได้ตั้งใจกระทบ พูดธรรมดานี่อย่างชนิดธรรมดาตามเนื้อผ้าแต่ว่าเอาไปกระทบเสียแล้ว คือเอาไปโกรธ เอาไปหงุดหงิดเอาไปเสียใจ แต่บางทีคนเซนซิทีฟก็ไม่ได้มีอาการที่จะตอบโต้ออกมาข้างนอกเสมอไป ขึ้นอยู่กับพื้นนิสัยนะคะ แต่ก็เรียกว่ามีความหวั่นไหว หวั่นไหวแล้วก็เอาไปเสียใจ ทีนี้ผู้ถามก็บอกว่าในความเข้าใจเซนซิทีฟนี่บอกว่าเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่นเห็นคนแก่หรือคนพิการเดินอยู่ ก็เดินทอดน่องให้ช้าหน่อยหนึ่ง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่า เขาต้องรีบหรือว่าเป็นปมด้อยว่าเขาแก่เขาพิการอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ก็อยากจะเรียกว่าเป็นคนที่มีความเข้าใจผู้อื่น เป็นคนที่มีความเห็นใจผู้อื่น ไม่ใช่หมายถึงว่าเป็นผู้ที่เซนซิทีฟ แต่เป็นคนที่มีความเห็นใจคนอื่นโดยธรรมชาติ มีความเมตตากรุณา จะเรียกว่าถ้าเซนซิทีฟก็มักจะหมายถึง เซนซิทีฟในสิ่งที่เกิดขึ้นกับความรู้สึก แต่ถ้าเซนซิทีฟเฉยๆ ละก็มักจะหมายถึงไปในลักษณะนั้นนะคะ แต่จะเอาเป็นว่าเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นคนที่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เป็นคนที่มีความเมตตากรุณา แล้วก็เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างนั้นถูกต้อง
คำถาม: คำถามต่อไปบอกว่าไม่ควรกลบทุกข์ ที่ดิฉันพูดว่าไม่ควรกลบทุกข์ เช่นกินเหล้าเพื่อกลบทุกข์ ก็ผู้ถามบอกว่าไม่ค่อยเข้าใจ ทีนี้สมมติว่าเรามีทุกข์ยังหาวิธีแก้ไม่ได้ เราก็อดทนกับทุกข์นั้น แล้วก็มองให้เห็นว่าเป็นปกติธรรมดา ไม่ตีโพยตีพายหรือตอกย้ำว่าชีวิตมันอาภัพเหลือเกินทำไมเป็นอย่างนี้ แต่มองความทุกข์นั้นอย่างเข้าใจ เข้าใจอะไร ถ้าเข้าใจว่าความทุกข์นั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป คือเกิดดับเป็นอนิจจัง เป็นทุกขังเป็นอนัตตา อย่างนี้ก็เรียกว่าเข้าใจถูกต้องจริงๆ แล้วก็มองดูเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างนั้น แล้วก็พยายามแก้ไข เท่าที่ทำได้ แล้วก็อยู่กับมันได้ เพราะยังหาวิธีแก้ไม่ได้ ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา อย่างนี้เรียกว่ากลบทุกข์หรือเปล่า
ตอบ: ไม่กลบทุกข์ อย่างนี้เรียกว่ามองปัญหาอย่างผู้เห็นปัญหา แล้วก็พยายามใช้สติปัญญาที่จะแก้ไข ก็ขอให้พยายามใช้ต่อไปนะคะ ก็เชื่อว่าจะสามารถมองเห็นหนทางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิตใจข้างใน เมื่อเกิดความแจ่มใสขึ้น อาจจะเอาความทุกข์นั่นแหละมาเป็นพลัง พลังที่จะผลักดันให้สามารถกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นก็เป็นได้
คำถาม: ทีนี้ก็อีกคำถามหนึ่งของผู้มาชำระล้างจิตให้เบาบาง บอกว่าตอนแรกคิดว่าการนั่งสมาธิเดินจงกรมเป็นเรื่องที่ง่าย แต่พอเอาเข้าจริงเป็นเรื่องยากมาก เท้าที่เคยมั่นในการเดินแบบไม่มีสติคือมีสติน้อยมากไม่เคยหกล้ม แต่พอปฏิบัติแล้วจะล้มทั้งยืนด้วย มีความรู้สึกอึดอัด เครียดขึ้นมาทันที เป็นเพราะหนึ่งจากความเคยชินกับ ความมักง่ายตามปกติในการเดินโดยไม่มีสติ พอนั่ง ใช่ไหม
ตอบ: ก็ต้องบอกว่าเพราะความเครียด เพราะความตั้งใจเกินไป ก็เลยทำให้การเดินที่เคยมั่นคง มันซวดเซก็ลองนึกดูเหมือนอย่างว่า เราก็เดินได้ดีๆ เดินได้สวยๆ มั่นคง แต่พอเราเดินเข้าสู่ที่ประชุมแห่งหนึ่ง ใครๆ เขานั่งอยู่ในที่ประชุมแล้ว เรามาทีหลังแล้วก็รู้สึกว่าสายตาทุกคู่นี่มองมาที่เรา เท้าที่เดินมั่นคงชักจะแกว่งเคยเป็นไหมคะ นั่นเพราะใจมันเริ่มเครียด เครียดเริ่มรู้สึกว่าเขากำลังมองเรา นี่อัตตายึดมั่นในตัวเรา เราจะเดินได้เรียบร้อยไหม เดี๋ยวเราจะเดิน มองดูแล้วมันไม่น่าดูมันก็เลยพาลเดินไม่น่าดู นี่ก็คือเพราะความเครียด ฉะนั้นจึงพยายามทำอย่าให้เครียด แล้วก็จะเดินได้มั่นคงขึ้น
คำถาม: พอนั่งสมาธิ ฟังบรรยายมีวิธีกำจัดความง่วงหรือเปล่า
ตอบ: อันนี้ก็คงจะทราบแล้วนะเมื่อเช้านี้ ที่เราพูดกันถึงเรื่อง รู้จักลมหายใจ ฉะนั้นก็เลือกใช้ลมหายใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะกำจัดความง่วงไป
คำถาม: คนที่จะมาปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุยังน้อย มักจะพูดว่าฉันยังไม่แก่ แก่แล้วค่อยเข้าวัดมีความเห็นอย่างไร คนที่พูดอย่างนี้นะคะ มีความเห็นอย่างไร
ตอบ: ก็เห็นว่าเขาเข้าใจผิด แก่แล้วจะเข้าวัด ลองดูคนแก่ก็แล้วกันที่คนแก่เข้าวัดเป็นยังไง แล้วการที่มาปฏิบัติธรรมนี้ต้องใช้กำลังบ้างไหมคะ ต้องใช้ร่างกายที่แข็งแรงไหมคะ ต้องใช้สุขภาพที่ดีไหม ก็เห็นเองแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ใดที่คอยว่าแก่แล้วเข้าวัด ก็มีแต่หามเข้าวัด ไม่มีประโยชน์อะไร หรือจะเดินเข้าวัดก็ไปเดินเป็นภาระคนอื่นเขา ไปพะงับพะง่อนให้คนอื่นเขาเป็นภาระ จะปฏิบัติทางจิตก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนุ่มๆ สาวๆ ที่มาปฏิบัติธรรม ไม่ต้องบอกว่ามาเข้าวัดหรอกนะคะ มาสนใจธรรมะ มาสนใจการปฏิบัติธรรม นี่เรียกว่าเป็นคนฉลาด แล้วก็บอกได้ว่าเป็นความหวังของสังคม เป็นความหวังของชาติบ้านเมือง ถ้ามีคนหนุ่มคนสาวมาเข้าวัดคือมาปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว เพราะจะสามารถพัฒนาชีวิตของตนเองให้เป็นชีวิตที่เป็นหลักฐานมั่นคงแก่ตนเอง แล้วก็เป็นหลักมั่งคงแก่สังคม สังคมก็จะมีความสุขสงบเย็นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถึงรู้สึกดีใจที่มีคนหนุ่มคนสาวสนใจในเรื่องปฏิบัติธรรมมากขึ้น เพราะนั่นคือการหาสิ่งที่เป็นหลักแก่ชีวิตอย่างถูกต้องนะคะ
คำถาม: ทีนี้คำถามที่ถาม เช่นการนั่งสมาธิไม่หลับตาได้หรือไม่ ตอบไปแล้วเมื่อเช้านะคะ การวิ่งตามลมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหรือไม่ เพราะรู้สึกอึดอัด เกร็ง เครียดที่ท้องด้วย
ตอบ: การวิ่งตามลมก็ไม่เป็นอุปสรรคเพราะเราวิ่งตามลมในระยะแรกเพียงแค่ขั้นที่ 1 2 3 เท่านั้น เพื่อบังคับให้จิตทำงานตลอดเวลาให้ติดต่อกัน แล้วก็เพื่อทำความรู้จัก หาความชำนาญเกี่ยวกับลมหายใจให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นไม่เป็นอุปสรรค เพราะขั้นที่ 1 2 3 เรายังไม่ต้องการสงบนะคะ เรายังไม่ต้องการสงบ ทีนี้ที่อึดอัด เกร็ง เครียดที่ท้อง โปรดทราบเถิดว่าความเครียดทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเอาจริงเอาจังเกินไป เพราะมีความหวัง เพราะตั้งใจจะทำให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพยายามให้เป็นธรรมชาติเหมือนอย่างที่พูดเมื่อคืนนี้ ที่พยายามให้เป็นธรรมชาติ แล้วเราจะค่อยรู้สึกผ่อนคลาย แล้วการปฏิบัติก็จะไม่เกร็งที่ไหนเลย
คำถาม: คำถามต่อไปว่าผู้รู้ที่รู้อาการของจิต ไม่ใช่ตัวจิต ใช่ไหม หรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจิต
ตอบ: ก็ขอตอบว่า ที่เรียกกันว่า “ผู้รู้” นะคะ บางท่านคุ้นกับการใช้คำว่าผู้รู้ ก็จะเรียกว่าผู้ที่รู้ รู้อาการของจิตที่เกิดขึ้น จิตสงบก็รู้ จิตไม่สงบก็รู้ จิตดิ้นรนกระวนกระวายก็รู้ ผู้รู้นั้นเป็นจิตเป็นส่วนหนึ่งของจิตหรือไม่ใช่ คำตอบของดิฉันก็คือ จิตที่กำลังเริ่มฉลาดขึ้น นั่นแหละก็เริ่มรู้ว่าอะไรต่ออะไรที่มันเกิดขึ้นภายใน มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมไหม สมควรไหม อะไรควรจะรักษาไว้ อะไรควรจะขัดเกลาแก้ไข เหมือนอย่างกับที่ตอนแรก เราไม่เคยเรียนรู้หนังสือเลย อ่านออกเขียนได้เพียงแค่ภาษาไทย แล้วก็มาเรียนภาษาต่างประเทศ อังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง ก็สามารถจะมีความรู้อะไรต่ออะไรกว้างขวาง มากขึ้นไปอีก นี่ก็เช่นเดียวกันกับจิต ที่แต่แรกไม่รู้ ก็คิดว่าความวุ่นวายสับสนเพราะคิดโน่นคิดนี่ดี เป็นลักษณะของคนฉลาด บัดนี้มาเริ่มฟัง ได้ยิน แล้วก็เอามาใคร่ครวญดู ค่อยๆ มองเห็นว่าเออจริง ที่เรานิ่งสงบสบายไม่ได้เลย เพราะมันคิดมาก คิดไม่หยุด รู้สึกโน่น ฉวยนี่เอามาเป็นเรื่องของเราเสียเรื่อย ก็เริ่มจะพยายามกำจัดความคิดที่วุ่นวายนั้น นี่ก็เรียกว่าส่วนหนึ่งเริ่มฉลาดขึ้น แต่ก็ยังทำไม่ได้อย่างใจ ก็ต้องนึกดูนะคะว่า เราปล่อยใจของเราให้หมักหมมอยู่กับความวุ่นวายสับสนอย่างนั้นมากี่ปี เท่าอายุนั่นแหละใช่ไหมคะ อายุเท่าไหร่เราก็หมักหมมมา ด้วยความวุ่นวายสับสนมาอย่างนี้ แล้วคิดว่ามันถูกแล้วก็เพิ่งมาฝึกหัด เพิ่งมาฝึกหัดปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ไม่กี่วันเลย แล้วก็จะให้สงบให้นิ่งให้เป็นจิตเกลี้ยง สะอาด มันไม่ยุติธรรม ไม่ยุติธรรมกับอะไร ไม่ยุติธรรมกับธรรมะ ใช่ไหมคะ ปล่อยให้จิตสกปรกมาตั้งเท่าไหร่ แล้วก็จะเอาธรรมะขัดให้ได้อย่างใจมหัศจรรย์ อย่างนั้นก็เป็นพระอรหันต์กันหมดแล้วในโลกนี้ เพราะฉะนั้นต้องให้เวลาบ้าง ต้องให้เวลา ต้องรอได้