แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นหัวใจของคำสอน หรือเป็นหัวใจของธรรมะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ในคืนแห่งวันตรัสรู้
เมื่อคราวที่แล้วเราได้ดูถึงว่า เหตุที่เกิดทุกข์นั้นมันมาจากอะไร หรืออะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คราวที่แล้ว แล้วเราก็พบว่า อวิชชานี่แหละคือเหตุให้เกิดทุกข์ แต่อวิชชาเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง มันเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง เรามองไม่เห็น เราไม่รู้สึก เพราะเหตุว่ามันจับต้องไม่ได้ ฉะนั้นการที่เราจะมาใคร่ครวญในเรื่องของอวิชชาคืออะไร จึงต้องใคร่ครวญด้วยใจ และก็ตามนึกดูไตร่ตรองไปด้วยใจ ด้วยความรู้สึกของเรา ไม่ต้องใช้มันสมอง ไม่ต้องใช้การคิด แล้วจะค่อย ๆ รู้จักหน้าตาของอวิชชามากยิ่งขึ้น
เมื่อวันก่อนเราศึกษาจาก “เหตุ” ว่ามาจากอะไร ทีนี้เราจะมามองดูจาก “ผล” บ้าง ที่เราพูดกันถึงทุกข์ คือทุกข์ แล้วเราก็เอ่ยกันว่า ทำไมฉันจึงต้องทุกข์ ทำไมต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย ทีนี้เราก็มาดูกันซิว่า ทุกข์นี้มาจากอะไร คราวที่แล้วเราพูดว่า เหตุ อะไรเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด คราวนี้เราจะมามองศึกษาจากฝั่งผล เพื่อดูว่าทุกข์นี้มาจากอะไร ก็ลองดูนะคะจากรูปนี้ นี่เป็นรูปตาแก่ถือไม้เท้าเดิน นี่ก็พูดถึงว่าความแก่ที่เป็นธรรมชาติ เราก็มายึดว่าเป็นของเรา ความทุกข์นี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทุกข์นี้มาจากไหน เห็นไหมคะ เพราะมีอะไรจึงทำให้มีทุกข์
ผู้ดำเนินรายการ : มีชาติ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มี “ชาติ” ชาติอะไร ชาติของความรู้สึกว่ามีตัวมีตน ไม่ใช่ชาติของการเกิดออกจากท้องแม่ ใช่ไหมคะ ชาติของการเกิดออกจากท้องแม่ที่เป็นรูปร่างตัวตนอย่างนี้มันครั้งเดียวในชีวิต จำได้ไหมว่าเคยเจ็บปวดอย่างไรเมื่อตอนที่หลุดออกมาจากท้องมารดา จำได้ไหม จำไม่ได้ ถึงแม้บางคนที่ว่าคุณแม่คลอดยากต้องคีบหัวออกมา อย่างครูนี้ถูกคีบหัวออกมา ก็จำไม่ได้แล้วว่ามันเจ็บปวดอย่างไรในตอนนั้น เพราะมันครั้งเดียว แต่ว่าที่ต้องเจ็บปวดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วันหนึ่งตั้งหลาย ๆ ครั้ง คือการเกิดอย่างไร การเกิดของความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ชาติแบบนี้ต่างหาก “ชาติ” หรือ ชา-ติ คือการเกิดของความรู้สึกเป็นตัวกูขึ้นมา คือเป็นอัตตานี้ เป็นตัวนี้ เป็นตัวฉันนี้ พอรู้สึกเป็นตัวฉันขึ้นมาเมื่อไหร่ จิตนี้เย็นหรือร้อน
ผู้ดำเนินรายการ : ร้อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ร้อนทันที ๆ จริงหรือไม่จริงก็ลองนึกดู จริงไหม พอรู้สึกว่าเป็นฉันขึ้นมาเมื่อไหร่ มันร้อนทันที ถึงแม้ว่ามันจะลิงโลดตื่นเต้นว่า เออ ไอ้นี่มันดีนี่ ฉันได้ แต่มันปกติไหม ไม่ปกติ มันฮึกเหิมอยู่ข้างใน แล้วจิตนี้มันก็พองฟู ในขณะนั้นจิตนั้นมันก็มีความร้อนปนอยู่ ดูให้ดี ๆ มีความร้อนปนอยู่ มันมีความหนักเหน็ดเหนื่อยปนอยู่ เพราะฉะนั้นพอ “ตัวฉัน” นี่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ในความรู้สึกนะคะ เมื่อนั้นมันจะนำความทุกข์มาสู่ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าทุกข์นี้มาจากไหน ก็มาเพราะชาติ ชาติของความรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน เป็นตัวกู นี่แหละที่มันทำให้เกิดทุกข์ ฉะนั้นความเกิดอะไรที่น่ากลัว
ผู้ดำเนินรายการ : คือ “ตัวฉัน”
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นี่แหละคือความเกิดที่น่ากลัว โปรดจำไว้นะคะ การเกิดจากท้องแม่ไม่สำคัญเลย มันเป็นเรื่องของทางกายที่ออกมา แต่การเกิดของความรู้สึกเป็นตัวฉันทุกขณะ นี่แหละเป็นการเกิดที่น่ากลัวที่สุด และเราก็ไม่รู้ เพราะเราปล่อยให้มันเกิดอยู่ทุกขณะ มนุษย์ทั่ว ๆ ไปนะคะ ยกเว้นท่านผู้ฝึกฝนอบรมจิตอยู่เสมอก็จะรู้สึกว่า ความรู้สึกยึดมั่นในความเป็นตัวฉันมันลดลง แต่โดยทั่ว ๆ ไปเพราะชาติ คือความเกิดของความรู้สึกเป็นตัวฉันตัวกู เป็นอัตตา แล้วชาติอันนี้มันมาจากไหน อะไรเป็นเหตุให้มีชาติ
ผู้ดำเนินรายการ : ภพ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “ภพ” ภพ ก็คือ ความรู้สึกแห่งความมี ความเป็น ความมีความเป็นที่ทะนุถนอมเอาไว้ ที่มันกรุ่นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ มันมีภพ ถ้าหากว่าไม่มีภพเสียอย่างเดียว ชาติก็ไม่มี เพราะฉะนั้นที่พูดว่า ภพชาติ นี่ ไม่ใช่ภพชาติเกิด ภพของความมีความเป็น คือทะนุถนอมเอาไว้ในใจ คือความมีฉัน ความเป็นฉัน ที่ทะนุถนอมเอาไว้ มันก็เลยเกิดเป็นชาติขึ้นมา ถ้าหากว่าไม่มีภพ ก็ไม่มีชาติ ทีนี้ภพนี่ล่ะมันมาจากไหน ดูให้ดี ๆ
ผู้ดำเนินรายการ : อุปาทาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มาจาก “อุปาทาน” ความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในอะไร ก็ในตัวตน ในตัวนี้อีกนะคะ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวนี้มันมีมาตามลำดับ อุปาทานนี้มาจากไหน ก็มาจาก “ตัณหา” นี่เห็นไหมมันเป็นเหตุปัจจัยที่มันปรุงแต่งกันเรื่อยตลอดมา ก็มาจากตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน ถ้าไม่มีตัณหาก็ไม่มีอุปาทาน ท่านจึงได้บอกว่า ตัณหาเป็นสมุทัยของความทุกข์ เพราะมันก่อให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน ที่มันมีโดยสมมตินี้ยิ่งขึ้น ๆ ทุกที
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมว่า เพราะมีอะไรเป็นรากเหง้า “อวิชชา” ที่มันเป็นรากเหง้าอยู่ก้นบึ้งเลยทีเดียว มันคอยเป็นรากฐานที่จะดึงยึดเอาไว้ เพราะฉะนั้นอุปาทานก็เกิดจากตัณหา แล้วตัณหามันมีมาได้อย่างไร เพราะ “เวทนา” เวทนาก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วนึกดูนะคะว่า จิตเราที่ขึ้นลงอยู่ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะเวทนาใช่ไหม เพราะอำนาจของเวทนาที่เกิดขึ้นในจิต ความรู้สึกพอใจ-ไม่พอใจ พอใจลิงโลด ไม่พอใจเศร้าหมอง ความรู้สึกได้-เสีย พอได้ก็ แหม ก็รู้สึกเป็นสุข พอไม่ได้เสียเข้า ใจหดหู่
นี่ท่านบอกว่า จิตของมนุษย์นี้ที่มันขึ้นลง มันเกลือกกลิ้งอยู่กับสิ่งที่เป็นความทุกข์ความร้อนตลอดเวลา เพราะตกเป็นเหยื่อของเวทนา ใช่ไหม ท่านจึงสอนว่าถ้าสามารถคุมเวทนาได้เท่านั้น เราจะคุมโลกได้ เป็นนายเหนือโลกได้ แล้วก็เวทนานี้เป็นเหตุให้จิตของมนุษย์สร้างโลกขึ้นในใจ วันหนึ่ง ๆ หลาย ๆ ใบ วันนี้มีโลกกี่ใบ ตั้งแต่เช้าที่ตื่นมาจนดึก นึกได้ไหมมีโลกกี่ใบ เราไม่ทันได้นึก แต่พอมาถามกันเข้าแล้วลองนั่งนึกดู.โอ๊ย หลายใบ บางทีพอลืมขึ้น โอ้ โลกสีชมพูแจ่มใส พอสาย ๆ อ้าว เปลี่ยนเป็นสีเทา เพราะไปพบอะไรที่ไม่ถูกอกถูกใจเข้า ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ประเดี๋ยวก็สีม่วง สีเขียว ฉะนั้นโลกในที่นี้คือโลกของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน แล้วมันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะเวทนา เพราะอำนาจของเวทนา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาเรื่องของเวทนาให้ดี ๆ ว่าเวทนานี้เกิดจากอะไร ไอ้ที่ทำให้จิตของเราขึ้นลงซัดส่ายนี่ อะไรเป็นเหตุให้เกิดเวทนา
ผู้ดำเนินรายการ : ผัสสะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “ผัสสะ” ผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างไร จำได้ไหม จะต้องอาศัยอะไร เริ่มต้นด้วย “อายตนะภายใน” ก่อนเสมอ พบกับ “อายตนะภายนอก” ที่เป็นคู่ของมัน แล้ว “วิญญาณของอายตนะภายใน” ทำหน้าที่ วิญญาณของอายตนะภายในทำหน้าที่ เช่น หูเป็นอายตนะภายใน ได้ยินเสียงซึ่งเป็นอายตนะภายนอก แล้วโสตวิญญาณคือวิญญาณทางหูทำหน้าที่ ก็เกิดเป็นผัสสะขึ้น ถ้าเพียงแต่หูได้ยินเสียง นี่ขณะนี้เราก็ได้ยินเสียงไก่ไกล ๆ หูได้ยินเสียง เป็นไง เฉย ๆ มันก็เป็นเพียงเรียกว่าโขกกัน มันมากระทบกันเฉย ๆ เพราะโสตวิญญาณยังไม่ทำหน้าที่ คือไม่รับรู้ แต่พอรับรู้เข้า เป็นเสียงไก่ ไก่ตัวนี้ขันเพราะดีนะ ขันเพราะ คงจะยังเป็นไก่หนุ่มอยู่ ชักชอบ อยากฟัง เห็นไหม ผัสสะนี้มันเป็นเหตุให้เกิดเวทนา เพราะฉะนั้นเกิดได้อย่างไร ก็เพราะผัสสะ
เพราะฉะนั้นจุดที่เราต้องระมัดระวังในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท คือ ในการศึกษาในการฝึกปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทตรงนี้ เวทนาเป็นเหตุให้เกิดผัสสะ ผัสสะมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดจาก “สฬายตนะ” อายตนะภายในหกอย่าง และก็พบกับคู่ของมัน และก็วิญญาณของอายตนะภายในทำหน้าที่ ทีนี้อายาตนะภายในเกิดจากไหน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ผู้ดำเนินรายการ : นามรูป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “นามรูป” นามรูปเกิดจากอะไร เจ้าลิงนี่ เจ้าลิงที่สอดส่ายนี่ วิญญาณ เกิดจากวิญญาณ วิญญาณเกิดจากอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : สังขาร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สังขารเกิดจากอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : อวิชชา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นเจ้าตัวผู้ร้ายสาหัสสากรรจ์โคตรประหารชีวิต ก็คือตัวไหน
ผู้ดำเนินรายการ : อวิชชา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “อวิชชา” อวิชชาที่เราต้องประหารชีวิตมันให้ได้ ประหารมันด้วยอะไร ด้วย “วิชชา” ถูกแล้ว การที่จะประหารอวิชชา ต้องใช้อาวุธคือวิชชาเท่านั้น อย่างอื่นประหารอวิชชาไม่ได้ ปืนผาหน้าไม้ หรือแม้แต่ระเบิดทันสมัยที่สุดก็ถล่มอวิชชาไม่ได้ มันถล่มได้แต่วัตถุภายนอก เพราะฉะนั้นอวิชชานี้ต้องประหารชีวิตมันด้วยวิชชาเท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละอะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด อะไรเป็นปัจจัยอะไร เป็นเหตุปัจจัยอะไรแล้วทำให้ทุกข์เกิด พอจะมองเห็นไหมคะ อวิชชาเป็นรากเหง้า อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารเป็นเหตุให้เกิดวิญญาณ คือตามรับรู้ วิญญาณเป็นเหตุให้เกิดนามรูป กายใจที่มันมีสักว่าธรรมชาติ แต่อวิชชาทำให้คิดว่าเป็นตัวตน นามรูปเป็นเหตุให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นเหตุให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นเหตุให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นเหตุให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นเหตุให้เกิดภพ ภพเป็นเหตุให้เกิดชาติ พอชาติเกิดเข้าอะไรตามมา
ผู้ดำเนินรายการ : ความทุกข์เกิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความทุกข์ทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความมีปัญหาในเรื่องได้ ไม่ได้ เสีย อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา แล้ววงเวียนชีวิตนี้ก็หมุน ๆ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ทีนี้ถ้าเราจะมามองดูว่า จุดไหนล่ะที่เป็นจุดที่วงเวียนหรือสังสารวัฏนี้เริ่มหมุน จุดไหน ที่เราฟังกันมาแล้วทั้งสิบเอ็ดอาการนี้ จุดไหนที่ทำให้สังสารวัฏหรือวงเวียนชีวิตนี้เริ่มหมุน
ผู้ดำเนินรายการ : ผัสสะหรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ผัสสะ จุดอันนี้ จุดผัสสะนี้เป็นจุดที่ต้องระวัง ถ้าสมมติว่าสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วใจนี้ก็ปิดประตูสนิทแน่น ผัสสะมันก็เป็นเพียง “สิ่งสักว่า” สักแต่ว่าผัสสะ เสียงก็สักแต่ว่าเสียง รูปก็สักแต่ว่ารูป รสก็สักแต่ว่ารส สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น มันไม่สามารถจะเป็นเหตุให้เกิดเวทนาได้ ตรงจุดเวทนานี้ใช่ไหมคะที่วงเวียนชีวิตเริ่มหมุน พอเวทนา ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบ ถูกใจ-ไม่ถูกใจ พอใจ-ไม่พอใจ เกิดขึ้นเท่านั้น จิตเริ่มกระดิกแล้ว กระเพื่อมแล้ว ซัดส่ายแล้ว จะมากจะน้อยก็ตามอัตราความแรงของเวทนา ถ้าเวทนานั้นชอบมากก็ซัดส่ายหนัก ถ้าหากว่าชอบน้อยมันก็เบา ๆ พอถึงเกลียดเอาใหญ่เลย เราจะต้องผลักไปให้ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าจุดที่ต้องระมัดระวัง ความเกิดของความทุกข์ที่เราสามารถจะมองเห็นได้ สัมผัสได้ ค่อนข้างเป็นรูปธรรม มากกว่าอวิชชาซึ่งเป็นนามธรรมอย่างยิ่ง ก็คือที่จุดของผัสสะ จงระมัดระวังที่ผัสสะ ก็คือระมัดระวังเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส ปิดประตูใจให้สนิท สนิทด้วยอะไร ด้วยวิชชา ถูกแล้ว ด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ถ้าวิชชาอยู่ในจิต ความรู้ แสงสว่าง ปัญญาส่องแสงอยู่ในจิต ผัสสะมาเถอะ เท่าไหร่มันก็สักแต่ว่าผัสสะ มันด้านหมด เป็นลูกปืนด้านยิงไม่ถูก เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าต้องระมัดระวังที่จุดนี้ ฝึกจิตให้เสมอ ถ้าเดินตามหนทางของอริยมรรค หนทางอันประเสริฐ จะสามารถทันไหม ทันไหม ทันต่อผัสสะ ทำไมถึงทัน มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาสตินี้จะนำเอาปัญญาที่ถูกต้อง คือนำวิชชาที่ถูกต้องมาทันท่วงที เป็นปัญญาที่แหลมคมจะตัดได้ อ๋อ มันเกิดดับ ๆ เท่านั้นเอง มันไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงอยู่ ก็จะสามารถผ่านไปได้ ปล่อยไป จะแก้ไขอย่างไรก็แก้ไขนะคะ จัดการอย่างไรก็จัดการ แต่จุดนี้จะไม่ไปยึดมั่นเป็นทุกข์ต่อ แต่ง่ายหรือยากที่จะมาตัดตรงจุดผัสสะ พอผัสสะเกิดขึ้นตัดทันทีปุ๊บ ปิดประตูปุ๊บทันที ยาก ยิ่งเรามาฝึกใหม่ ๆ ก็ยิ่งยาก เพราะฉะนั้นมันก็มีการเพลี่ยงพล้ำกันบ้างนะคะ ถ้าสมมติว่ามันเพลี่ยงพล้ำ ผัสสะเกิดขึ้นแล้วไม่ทัน วิชชามาไม่ทัน ปัญญามาไม่ทัน เพลี่ยงพล้ำ ถึงมีเวทนาเกิดขึ้นก็จงรู้ทันเวทนา ถ้าเราฝึกหมั่นดูจิตเสมอ และฝึกเดินตามอริยมรรคมีองค์แปดอยู่เรื่อย พอเวทนาเกิดขึ้น จิตเริ่มกระดิก ๆ จะรู้สัญญาน จะรู้สัญญานที่มันกระดิก อา นี่กำลังจะได้เรื่องแล้วนะ กำลังจะได้เรื่อง นี่สมมติเราบอกตัวเอง เราก็รู้ว่าเรื่องที่มันจะได้คืออะไร เรื่องร้อนหรือเย็น ก็เรื่องร้อนนั่นแหละ ก็มันเป็นทุกข์ ระวังนะระวัง พอมันกระดิกนี่มันเป็นสัญญานล่ะ เพราะมันผิดจากความปกติ ปกติมันต้องอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพอมันกระดิกเท่านั้นล่ะ อ้าว เวทนาเกิดแล้ว ไม่ทัน มันกระดิกเสียแล้ว แต่ก็ยังดี ยังดีคือยังไง รีบเอาปัญญาคือวิชชานี้มาให้ทันในตอนที่มันมาถึงเวทนา ให้ทัน ให้เห็นว่าเวทนานั้นก็สักว่าเวทนา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะแม้แต่เวทนามันเที่ยงไหม ไม่เที่ยง ความชอบมันก็เกิดดับ ความไม่ชอบมันก็เกิดดับ ความถูกใจก็เกิดดับ ไม่ถูกใจก็เกิดดับ ไม่มีอะไรเที่ยงคงที่สักอย่าง นี่ปัญญามามันจะมาตัด มันจะบอกว่า โอ๊ย มันก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย นี่มันก็จะหยุด แต่ในขณะเดียวกันจับอย่างไรก็จับให้ถูกต้อง แก้ไขอย่างไรก็แก้ แต่ว่าหยุดจุดที่กระดิกให้กลายเป็นจิตที่ปกติ แล้วทีนี้จิตแจ่มใส ปัญญาก็จะแหลมคม ก็จะนำเอาความรู้ประสบการณ์ที่มีมาแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง นี่ประโยชน์มันอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าผู้ใดประมาท โอ๊ย เป็นไรไป เวทนาก็เวทนา ให้มันเกิดไปเถอะไม่เป็นไร ถึงแค่ตัณหาฉันก็หยุดได้ หยุดได้ไหม ยาก ยากเหลือเกิน เรียกว่าดึงจนสุดแรงจนล้มก้นกระแทกก็ยากที่จะหยุดมันได้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท ศัตรูแรกที่ต้องระวังคือผัสสะ ถ้าสมมติว่าเพลี่ยงพล้ำตรงผัสสะ ก็ยังเหลืออยู่โอกาสหนึ่ง คือเวทนา เอาเพียงแค่นี้ อย่าให้มันเลยไปถึงตัณหา ยากมาก ยิ่งบางคนประมาทหนัก เอาน่าลองหน่อยอุปาทาน ยึดมั่นมันเข้าไปจะเป็นอย่างไร มันก็ลอยตามไปเท่านั้น อุปาทานมันดึงตามไป ลอยลิ่ว ๆ ๆ ๆ ไปเลย หาที่ตั้งไม่ได้เลย และแน่นอนที่สุดเมื่อมีอุปาทานแล้ว ต้องมีภพ ต้องมีชาติ และก็ตามมาด้วยสารพัดทุกข์ นับไม่ถ้วนเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าชาติมีมาได้อย่างไร มันก็มีมาเพราะภพนี่แหละ ภพมันมาได้อย่างไร มันก็มาเพราะอุปาทาน อุปาทานมาได้อย่างไร ก็มาเพราะชาติ ชาติมาได้อย่างไร ก็มาเพราะตัณหา อุปาทานตัณหา ตัณหาแล้วก็เวทนา นี่มองเห็นเลย มันเป็นเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันมาเรื่อยเป็นลูกโซ่ ทีละอย่าง ๆ ๆ เรียกว่าพอเบา ๆ แล้วก็หนักเข้า ๆ จนบานเบ่งเป็นตัวตนออกมา คือความรู้สึกเป็นตัวตนเต็มที่ แล้วก็ทุกข์ ๆ ๆ ๆ แล้ววันหนึ่งไม่รู้กี่สิบรอบ เวลาที่เราพูดนี่เราพูดทีละอาการ ๆ สิบสองอาการก็ช้า เหมือนกับมันเกิดทีละอย่าง แต่อันที่จริงแล้วพอมันเกิดนี่ รู้ตรงไหน รู้ตรงนี้ใช่ไหม รู้ตรงมันทุกข์แล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่าอย่าประมาท อย่าไปคอยว่าให้มันทุกข์เสียก่อน ศึกษามันเสียล่วงหน้า นี่คือวิสัยของผู้มีปัญญา ศึกษาไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้ไม่ประมาท จะได้รู้ว่าทุกข์นี้มันมาอย่างไร หนทางเดินของความทุกข์มันอาศัยเหตุปัจจัยอะไรเราจึงต้องทุกข์นัก ร้อนนัก รู้เอาไว้ แล้วก็รู้ด้วยว่าจุดไหนที่ควรจะระมัดระวัง ก็คือจุดนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้อง “สำรวมอินทรีย์” แล้วก็เพิ่มพูนปัญญาให้กระจ่างแจ้ง วิชชาให้แน่นอนชัดเจน จะได้สามารถขับไล่อวิชชาให้ออกไป และวงเวียนชีวิตนี้ก็หยุด แต่หยุดนี้ไม่ได้หมายความว่าตาย มันก็ยังคงหมุนต่อไป แต่ตอนนี้มันจะเปลี่ยนทิศหมุนแล้ว มันหมุนไปสู่อะไร ตอนแรกมันหมุนไปสู่ความทุกข์ สู่ปัญหา บัดนี้มันหมุนไปสู่ความสงบเย็น มันก็ยังคงหมุนอยู่ นี่เราพูดถึงว่าเกิดได้อย่างไรและก็จะดับได้อย่างไร แต่เรายังไม่ได้พูดให้หมดจดในเรื่องความดับ แต่จะพูดกันต่อไปอีกครั้งในคราวหน้า ธรรมะสวัสดีนะคะ