แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ทีนี้งอกงาม งอกงาม จะงอกงามยิ่งขึ้น ไม่ค่อยเต็มปาก ทำไมถึงตอบไม่ค่อยเต็มปาก ไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจว่านี้กำลังงอกงามหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความหมายของชีวิตอันหนึ่งก็คือ “ชีวิตคือสิ่งที่งอกงามได้” เราจะแน่ใจว่ามันงอกงามได้ หรืองอกงามไม่ได้ก็ตามที ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องหมดกำลังใจ เพราะชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา สัจจะอันหนึ่งของชีวิตก็คือ “ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคน หรือชีวิตของสัตว์ พูดรวมได้ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ชีวิตนี้ต้องพัฒนา มันจะต้องพยายามพัฒนาตามความสามารถของตนของตน นอกจากว่าต้องพัฒนาแล้ว ยังพัฒนาได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นชีวิตนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาแล้วก็พัฒนาได้
ถ้าพูดถึงว่าการที่จะพัฒนาชีวิตนี้ พัฒนาอย่างไร พูดอย่างง่ายๆ นะคะ ก็อยากจะยกตัวอย่างผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่งที่เขาไปอบรม เข้าอบรมที่สวนโมกข์ ที่สวนโมกข์มีการจัดรีทรีท (Retreat) ให้ฝรั่งเป็นเวลาหลายปีมาแล้วทุกเดือน เดือนละสิบวัน ตั้งแต่วันที่หนึ่งถึงวันที่สิบ มีฝรั่งมาเป็นร้อยร้อยกว่าคนทุกเดือน ทุกอาชีพ ทุกวงการ แล้วก็เป็นฝรั่งที่มีการศึกษาด้วย พวกดอกเตอร์ (Doctor) พวกโปรเฟสเซอร์ (Professor) พวกแพทย์ พวกวิศวกร พวกอาร์ทิสท์ (Artist) เยอะแยะมากมายทุกอาชีพ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ฝรั่งโง่ๆ แต่เป็นฝรั่งที่เป็นปัญญาชน เป็นฝรั่งหัวกะทิก็มี บางคนก็มาอย่างชนิดที่ว่า มาเพื่อต้องการอบรม คือบินตรงมา ไปสวนโมกข์ อบรมเสร็จบินกลับบ้านทันที มีบางคนทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าเขาเห็นคุณประโยชน์ของการปฏิบัติอานาปานสติภาวนา แล้วก็จากรีทรีท (Retreat) หนึ่งที่จบไปนี่ ก็มีแหม่มคนหนึ่งเขาเขียนไว้ให้ฟังอย่างประทับใจมาก ยังสาวอยู่ แหม่มคนนั้นเขาบอกว่า ในชีวิตที่ผ่านมานี่สิ่งใดที่ร้ายที่สุด สิ่งใดที่เลวที่สุด สิ่งใดที่ร้ายกาจที่สุด ที่ชั่วที่สุด เขาผ่านมาหมดในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรที่เขาไม่ได้ผ่าน แต่เขาเพิ่งมาพบพาราไดซ์ (Paradise) คือสวรรค์ที่นี่เอง นี่เขาเขียน คือพอเราอ่านแล้วรู้สึกประทับใจ แล้วก็ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจ สงสาร จะว่าตื้นตันใจในความทุกข์ที่เขาได้พบมาตลอด พูดง่ายๆ ว่าตลอดชีวิตเขามีแต่น้ำตา เขาเพิ่งจะมีความยิ้มแย้มแจ่มใส ความเบิกบานที่นี่ เขาบอกที่นี่คือสวรรค์ ทีนี้พอเราหันมามองดูว่า สวรรค์ที่เขาว่า ที่เขาบอกที่นี่คือสวรรค์ อะไรคือสวรรค์ สวนโมกข์ที่ว่าเป็นสวรรค์ของเขามีอะไร มองไปรอบๆ ท่านผู้ใดที่เคยไปสวนโมกข์แล้วก็คงนึกออก มีแต่ดิน มีแต่ทราย มีแต่ก้อนกรวดก้อนหิน แล้วก็ที่พักที่จัดให้เขา ก็ต้องบอกว่าเหมือนถ้ำ เพราะว่าเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านต้องการให้ฝึกการอยู่ปฏิบัติ มีชีวิตเหมือนอย่างในสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะให้มีชีวิตเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกเข้าป่าไป ไม่ได้มีอะไรเลย ทรงอยู่กับดินกินกับทราย ซึ่งสวนโมกข์ก็มีแต่สิ่งเหล่านี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเจริญตาเจริญใจ หรือให้ความสะดวกสบายเลย
ถ้าเปรียบกับที่เสถียรธรรมสถาน เสถียรธรรมสถานนี้เรียกว่าเป็นสวรรค์น้อยๆ ก็ยังได้ แม้แต่พัดลมที่โน่นก็ไม่มี อาหารร้อนๆ ที่จะมาวางไว้ให้อย่างนี้ เพื่อที่จะเอาใจผู้ปฏิบัติให้ได้รับประทานอาหารอย่างสัปปายะก็ไม่มี ผู้ที่ปรุงอาหารที่สวนโมกข์นั้น เขาจะตื่นกันแต่ตีสี่ บางทีก็ตีสาม แล้วเขาก็รีบทำให้เสร็จๆ พอเสร็จแล้วอาจจะเสร็จตั้งแต่หกโมง เขาก็จะนำมาวางไว้เป็นหม้อๆ น้ำชา กาแฟ ซึ่งพวกฝรั่งชอบดื่มร้อนๆ ไม่มีหวัง น้ำชาก็เย็น กาแฟก็เย็น ข้าวเย็น แกงเย็น ผัดเย็น ทุกอย่างเย็นหมด แล้วอาหารก็เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นอาหารเรียกว่าไม่มีเนื้อสัตว์ แต่เขาก็บอกว่า นี่คือสวรรค์ และการฝึกปฏิบัติเหมือนกับเราไม่มีผิดเลย ตื่นแต่ตีสี่ และก็เริ่มรายการไปตลอดจนถึงสามทุ่ม และก็ยิ่งกว่านั้นก็คือ ห้ามพูด ต้อง Keep Silence อยู่เงียบ และการอยู่เงียบนี่เป็นการทรมานมากเลยสำหรับฝรั่ง ถ้าทรมานสำหรับคนไทยแล้วฝรั่งยิ่งกว่า เพราะท่านที่คุ้นเคยกับฝรั่งก็จะรู้ว่า เขาชอบพูด ชอบคุย ชอบสมาคม และชีวิตของเขานอนดึกตื่นสาย และเขาก็ยังบอกว่าเขาเพิ่งมาพบพาราไดซ์ (Paradise) ที่นี่เอง
พอเราหันมามอง อะไรคือสวรรค์ของเขา เรามีแต่สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” ให้กับเขา ไม่มีอะไรอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะดูตัวอย่างจากผู้หญิงฝรั่งคนนี้นะคะ เมื่อบอกว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา และพัฒนาได้ เราจะอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือ หรือเราจะอาศัยสิ่งแวดล้อมอย่างไร ที่จะให้โอกาสแก่การพัฒนาชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และก็ได้อย่างบริสุทธิ์สะอาดมาก มากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ธรรมชาติ ไม่ใช่ไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่อำนวยความสะดวก ตึกคอนกรีต มีลิฟต์ให้ใช้ มีแอร์คอนดิชัน มีสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายทุกอย่างทุกประการ ถ้าหากว่าไปอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มีแต่จะยิ่งกระตุ้น หรือว่าเร่งเร้าจิตใจนั้นให้เพิ่มความทะเยอทะยานอยากให้มากยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือมีแต่กระตุ้นตัณหา คือความอยากที่จะเป็นไปตามอำนาจของกิเลส ความโลภ เอาให้มาก ความโกรธ เพราะมันไม่ได้ดั่งใจ ความหลงวนเวียนทำอย่างไรถึงจะแก้ไขเอาให้ได้ดั่งใจ มันวนเวียนอยู่เพียงแค่นี้ แต่พอดึงกลับมาสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นเดิมของมนุษย์ พอดึงกลับมาสู่ธรรมชาติมาพบแต่สิ่งที่เรียบง่าย ไม่พบอะไรที่แสดงการเรียกร้องเลย ได้ยินไหมคะต้นหญ้ามันร้องอะไร ต้นไม้มันร้องอะไร ดอกบัวมันร้องอะไร หรือว่าก้อนหินที่เราเหยียบมัน มันร้องขออะไรบ้าง ไม่มีการร้องขอ นอกจากจะให้เมื่อมีน้ำใจ มนุษย์มีน้ำใจ ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูแลให้ความเรียบร้อยแก่มันตามเหตุตามปัจจัยที่ควรเป็น แต่มันไม่เคยเรียกร้อง เพราะฉะนั้นจิตใจที่มาอยู่กับธรรมชาติที่ไม่มีการเรียกร้อง มันก็ทำให้จิตใจที่อยากจะเรียกร้องตามสัญชาตญาณของมนุษย์ พลอยผ่อนคลายเบาบางเจือจางไปด้วย จริงไหมคะ
เมื่อเราออกไปชนบท หรือพูดง่ายๆ คือไปบ้านนอก ทำไมพร้อมที่จะหยิบยื่นให้ เพราะว่าพอเราผ่านไปที่ชาวบ้านในชนบทนี่ มองไปเห็นเขาปลูกฟัก แหม! ลูกใหญ่งาม ฟักทองลูกใหญ่งาม บางทีก็มีใบผลไม้ที่มีตามที่เขาตามมีตามเกิด อุ๊ย! มาเอาไปเลย เอาไปเลย เท่าไร ไม่เอา ไม่เอา ให้ ให้ ถ้าขืนหยิบสตางค์ให้เขาก็เป็นการขัดอกขัดใจ เป็นการทำลายน้ำใจอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น คนชนบทเขาอยู่กันด้วยความที่เขาไม่เรียกร้องซึ่งกันและกัน นี่พูดถึงชนบทแท้ๆ ที่ยังมีอยู่ในบางแห่ง อย่างที่เขาพูดกันว่า ผักบุ้งกำเดียวนี่ ให้ผักบุ้งไปกำมือเดียวนี่ ได้ข้าวมาเป็นถัง กินไปตั้งหลายวัน กินไปตั้งเป็นเดือน นี่คือน้ำใจของความไม่เรียกร้องที่มันจะได้ตอบแทนกันมา เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาชีวิตนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตข้างใน จึงจำเป็นที่เราจะต้องดึงชีวิตนั้นกลับคืนสู่ธรรมชาติ เข้ามาใกล้ธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น แล้วก็มันน่าอนาถใจ น่าสังเวชสลดใจเพียงใด มนุษย์ทุกคนค่ะไปถามเถอะ ไม่ว่าเด็กเล็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าอยู่ในฐานะไหนทั้งนั้น ใครบ้างไม่ต้องการธรรมชาติ ใครบ้างไม่ต้องการสีเขียว ใครบ้างไม่ต้องการน้ำทะเล ไม่ต้องการภูเขา มีไหมคะ ถามเถอะ พลเมืองหกสิบล้านคนต้องการทั้งนั้น แต่แล้วทำไมถึงเดี๋ยวนี้ถึงได้พยายามมุ่งหน้าทำลายสิ่งที่เป็นธรรมชาติกันนัก สีเขียวกำลังหมดไป แล้วก็มาเอาสีเขียวของธรรมชาตินี่ไปสร้างสีเขียวขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง เช่น รีสอร์ท สนามกอล์ฟ เป็นต้น ไปสร้างสีเขียวขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง สร้างทำไม สร้างเพื่อสนองอะไร ก็สนองตัณหาของตนเอง เพื่อให้ได้สิ่งที่จะตอบแทนมาเป็นวัตถุ เพราะว่าเก็บเงินได้ เพราะธรรมชาติไม่เคยเก็บเงินใคร ใช่ไหมคะ เราไปเดินริมชายทะเล เราไปปีนเขา เราเข้าป่า ป่าไม่เคยบอกว่า เสียก่อนห้าสิบบาท ภูเขาไม่เคยร้องเรียก เอาก่อนร้อยบาท น้ำทะเลก็ไม่เคยบอก เอาก่อนร้อยบาทถึงค่อยลงทะเล ไม่เคยมีการเรียกร้อง เพราะฉะนั้นปัญหาของมนุษย์ที่คุ้นเคยอยู่กับวัตถุ มันจึงกระตุ้นเตือนเอามาทำลายสีเขียวของธรรมชาติ แล้วก็เอาสีเขียวของธรรมชาตินี่ มาสร้างของตัวขึ้นมาใหม่เพื่อจะให้ได้สิ่งตอบแทน นี่คือความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าต้องการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง จะต้องพยายามรักษาธรรมชาติ และก็พาตัวนี้เข้ามาอยู่กับธรรมชาติให้ยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น
นี่คือการพัฒนาที่แท้จริง หรือดำเนินไปสู่ความเจริญที่แท้จริง เหมือนอย่างแหม่มคนนั้นที่เขาบอกว่า เขาพบสวรรค์ที่นี่ เพราะว่าความเจริญทางวัตถุ ที่ว่าวิเศษแค่ไหน ก้าวหน้าแค่ไหน ในทางเทคโนโลยี เขาพบมาหมดแล้ว เพราะเขามาจากตะวันตกที่เราชาวตะวันออกกำลังเลียนแบบวิ่งตามเขา พยายามจะเป็นนิกส์ (NICs) แต่เขามองเห็นแล้วว่ายิ่งเป็นนิกส์ (NICs) เท่าใด ยิ่งเป็นบ้าเร็วเท่านั้น เขาจึงพยายามหันมาหาธรรมชาติ ไม่ต้องเป็นนิกส์ (NICs) อยู่กับธรรมชาตินี่แหละ แต่เรียนรู้ธรรมชาติให้จริงให้มองเห็นว่าในธรรมชาตินั้นมีอะไรเป็นธรรมชาติของธรรมชาติบ้าง ให้รู้จักสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และก็ต้องพัฒนาด้วย พัฒนาจากความเป็นคนขึ้นสู่ความเป็นมนุษย์ หรือพัฒนาจากความเป็นปุถุชน ปุถุชน ก็คือคนหนา ยังหนาไปด้วยตัณหา ความอยาก ยังหนาไปด้วยความเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นกัลยาณชน คือสามารถขัดเกลาความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย จนใจมันเบาบางจากการเอา มีการแบ่งปัน มีการให้ และก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไปเรื่อยไป ไม่ละลด วันหนึ่งปล่อยได้ คือปล่อยการเอา ปล่อยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความยึดมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะถึงซึ่งระดับของอริยชน คือความเป็นอารยชนที่แท้จริงอย่างสมบูรณ์ คือความเป็นอริยชน เพราะฉะนั้น ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา และพัฒนาได้
ทีนี้ชีวิตประกอบไปด้วยอะไร ชีวิตก็ประกอบไปด้วย กาย จิต ฉะนั้นการที่จะพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องนั้น จึงต้องพัฒนาอย่างชนิดที่ให้สอดคล้องกัน ให้สอดคล้องกันกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติของชีวิต ชีวิตไม่ได้มีแต่กาย ไม่ได้มีแต่ร่างกาย ชีวิตมีจิต หรือมีใจด้วย เพราะมันมีจิต หรือมีใจ กายนี้มันจึงแสดงอะไรต่ออะไรต่างๆ ออกมาให้เห็น ถ้าปราศจากกาย จิตมันก็หมดอิทธิฤทธิ์อำนาจที่จะแสดงความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตประกอบด้วยกาย จิต การที่จะพัฒนาชีวิตจึงจะต้องพัฒนาให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ นั่นคือต้องพัฒนาทั้งกาย และทั้งจิตให้พร้อมๆ กัน ทีนี้ถ้าจะถามว่า ชีวิตคืออะไร เราก็ได้พูดไปแล้วนะคะว่า ชีวิตคือสิ่งที่งอกงามได้ แล้วมันจะงอกงามได้อย่างไร ก็คืองอกงามได้จากวิธีของการพัฒนา ถ้าถามในใจของมนุษย์ที่มนุษย์จะรู้สึกว่าตนมีความงอกงามขึ้นในจิตเมื่อไร เมื่อรู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่า ใช่ไหมคะ เมื่อเรากระทำการที่เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่า เพราะมันมีประโยชน์ ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ เมื่อใดที่มีความรู้สึกว่า อ๋อ! ชีวิตนี้มีคุณค่า เหมือนอย่างยัยแหม่มคนนั้นที่เขาคลุกคลีมากับความชั่ว ความร้ายกาจ ความเจ็บปวดขมขื่นสารพัด แล้วเขาก็ดูถูกตัวเขาเอง เขามองเห็นว่าตัวเองไม่มีคุณค่าเลย แต่บัดนี้เมื่อเขามาพัฒนาชีวิตในลักษณะวิธีการที่เขาได้เรียนรู้ และก็ฝึกอบรมไป แล้วเขาก็มองเห็นว่า อ๋อ! นี่เอง คือคุณค่าของชีวิต แล้วก็จะสามารถนำสิ่งนี้เป็นต้นทุนเพื่อไปกระทำการที่จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น ก็ยังเกิดความงอกงามด้วยความเบิกบานชุ่มชื่นว่า อ๋อ! ชีวิตนี้มีคุณค่า มีคุณค่าอย่างนี้ และคุณค่าอันนี้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น เมื่อรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ
อะไรที่ทำให้มนุษย์ยอมรับซึ่งกันและกัน ก็คงทราบอยู่แล้ว เราไม่ได้ยอมรับซึ่งกันและกันด้วยชื่อเสียงเกียรติยศ ด้วยตำแหน่งการงาน หลายท่านก็อาจจะเถียงว่าไม่จริง เพราะฉันเป็นผู้อำนวยการเขาถึงยกมือไหว้ เพราะฉันเป็นหัวหน้างานจึงมีคนเชื่อฟัง และเกรงกลัว อันนั้นนะเป็นเพียงสิ่งที่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยภายนอกเท่านั้น เราต้องดูว่าคนที่เขาไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ เขาไม่ได้เป็นประธาน เขาไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่จะไปที่ไหนที่ไหน ทั้งที่เป็นนายอะไรคนหนึ่งก็ยังมีคนตามยกมือไหว้ ยังมีคนเคารพนับถือ นั่นแหละคือคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง คือเรานับถือกันที่การกระทำ เรายกย่องเคารพกันที่การกระทำ ฉะนั้นหวนกลับมาว่าการจะพัฒนาชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ก็คือต้องพัฒนาชีวิตทั้งกาย และทั้งจิต
ทีนี้ก่อนที่เราจะพูดถึงการพัฒนาอย่างไรนะคะ ก็อยากขอเชิญให้ทุกท่านลองนึกดูว่า ในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้น ถ้าเราอยากจะแบ่งช่วงชีวิตออกเป็นตอนๆ มันน่าจะแบ่งได้สักกี่ตอน ลำดับตอนของชีวิต ก็ลองนึกดูสิคะว่า พอเกิดมาเราอยู่ในช่วงชีวิตของอะไร อย่างนิสิตนักศึกษานี่จะมองเห็น อยู่ในช่วงชีวิตของอะไรคะ การศึกษา นิสิตนักศึกษานี่อยู่ในช่วงชีวิตของการศึกษา เรียกว่าตั้งแต่เกิดมา เราจะอยู่ในช่วงชีวิตของการศึกษา จนอายุประมาณจบจากมหาวิทยาลัย เอาอย่างชนิดคนที่ไม่ต้องเรียนเก่ง เรียนข้ามชั้น เอาเรียนธรรมดา ก็อาจจะให้สักประมาณยี่สิบห้าปี นี่ช่วงชีวิตต้นนี่เป็นชีวิตของการศึกษา ใช่ไหมคะ
ช่วงชีวิตที่สอง พอศึกษาแล้วไปทำไม ทำงาน ท่านเรียกว่าช่วงนี้เป็นช่วงของการเผชิญชีวิตทุกรูปแบบเลย อย่างชนิดที่ไม่มีการสอนในห้องเรียนในวิชาเรียนที่เราได้ปริญญามา ไม่มีการสอน หลายคนจะบ่นว่าไม่เห็นมีที่อาจารย์สอนไว้เลย ปัญหาที่เราพบไม่เห็นมี นี่แหละคือการเผชิญชีวิต และก็ช่วงของการเผชิญชีวิตนี้มันหนักหน่วงเสียเหลือเกิน ใช่ไหมคะ ท่านผู้เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่อยู่ในชีวิตการทำงาน ย่อมประจักษ์เองดีว่า ชีวิตของการเผชิญชีวิตนี้ มันเหน็ดเหนื่อย มันต้องต่อสู้ เรียกว่าต่อสู้ทุกรูปแบบอีกเหมือนกัน แต่การต่อสู้นี้มันก็เป็นหน้าที่ของชีวิต ใช่ไหมคะ ปลามันก็ต่อสู้อย่างปลา แมวก็ต่อสู้อย่างแมว สิงสาราสัตว์ในป่า หรือว่าบนฟ้า เช่นนก มันก็ต่อสู้ตามแบบของมัน ชีวิตคือการต่อสู้ มันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องต่อสู้ เรียกว่าต่อสู้ทั้งกาย และจิต ต่อสู้ทั้งระดับสัญชาตญาณ และก็ต่อสู้ทั้งปัญญา คือใช้ทั้งสองอย่างในการต่อสู้นั้น นอกจากนี้พอเผชิญชีวิตไป ก็ในช่วงชีวิตประมาณสักอายุเริ่มยี่สิบหก นี่เรากะอย่างคร่าวๆ นะคะ จากเสร็จการศึกษาประมาณสักยี่สิบหกปีไปถึงสักสี่สิบห้าปี นี่เรียกว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ เรายกให้ว่าเป็นวัยของการเผชิญชีวิตทุกรูปแบบ ซึ่งหนัก เหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน เผชิญชีวิตทำไม เผชิญชีวิตจากการต่อสู้ หรือจะว่าตะเกียกตะกายให้พ้นจากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ นี่พูดในทางธรรม ใช้ธรรมะ ใช้คำในทางธรรม จากความเป็นคนสู่ความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกนะคะ
พอจากนั้นแล้ว ช่วงที่สามของชีวิต จากอายุสี่สิบหกปีไปจนถึงอายุประมาณหกสิบปี เทียบกับอายุของวัยเกษียณของทางราชการ ก็น่าจะเป็นช่วงชีวิตของการบริโภคผล บริโภคผลของชีวิตจากการที่ได้เผชิญชีวิตมาทุกรูปแบบ ในตอนเผชิญชีวิตนั้นพยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นมนุษย์จากความเป็นคน เพราะฉะนั้นมาถึงช่วงชีวิตของการบริโภคชีวิต ในระหว่างอายุประมาณสี่สิบหกถึงหกสิบปี ก็จะเป็นช่วงชีวิตที่มีปัญหาน้อยลง น้อยลง น้อยลง จนเกือบจะไม่มีเลย เพราะได้รู้จักเรื่องของปัญหา ได้มีวิธีการแก้ปัญหา ได้ขบปัญหาจนกระทั่งรู้จักหลีกเลี่ยงปัญหา พยายามที่จะกระทำใจ ยกใจให้อยู่เหนือปัญหา เพราะฉะนั้นตอนที่สาม คือมาบริโภคผลของชีวิตนั้น จึงเป็นช่วงชีวิตที่เมื่อมองดูรอบๆ แล้ว สุขภาพอนามัยก็ดีพอใช้ได้ เพราะในช่วงของการเผชิญชีวิตได้พยายามต่อสู้ หรือว่ารักษาชีวิตในหนทางที่ถูกต้อง ครอบครัว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฐิ มีทุกอย่างพอตัวตามสถานะแห่งตน ตามสถานะแห่งตน ก็คือว่าตามสติปัญญา ตามความสามารถ ตามโอกาสของแต่ละคน เรียกว่าตามสถานะแห่งตน มีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีเพื่อนฝูง มีบารมีพอตัว ถ้าหากว่าผู้ใดมีความพอตัวก็จะมีความรู้สึกว่า นี่คือผลของชีวิตที่คุ้มแก่การที่จะบริโภคนะคะ และก็สามารถที่จะบริโภคผลของชีวิต ก็คือสิ่งที่ตนมี จะมีเงินทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือในสิ่งที่ตนเป็น จะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย หรือจะเป็นอดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ อดีตอะไรก็แล้วแต่ จะบริโภคเป็น ก็คือว่า มีก็รู้จักใช้ ได้มาก็รู้จักเก็บอย่างไม่เห็นแก่ตัว มีการรู้จักแบ่งปัน เมื่อเป็นก็สามารถเป็นได้อย่างถูกต้อง นี่คือการบริโภคชนิดที่ไม่เป็นยาพิษมากัดตัวเอง ถ้าหากว่าในช่วงชีวิตนี้ บุคคลใดสามารถบริโภคชีวิต บริโภคผลของชีวิตได้ในลักษณะนี้ ก็เรียกว่าสามารถทำได้
ส่วนช่วงสุดท้ายของชีวิต คิดอย่างเฉลี่ยง่ายๆ จากอายุหกสิบเอ็ดปีขึ้นไป ก็เป็นชีวิตแห่งความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ต่อโลก ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อโลก นี่เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต คือชีวิตแห่งความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ต่อโลก ถ้าจะถามว่าชีวิตแห่งความสงบเย็นเป็นอย่างไร ชีวิตแห่งความสงบเย็นก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามันมีสวรรค์อยู่ทุกอิริยาบถ ยืนมันก็เป็นสวรรค์ นั่งก็เป็นสวรรค์ นอนก็เป็นสวรรค์ เดินก็เป็นสวรรค์ และสวรรค์ในที่นี้ไม่ได้อยู่บนฟ้า ไม่ได้อยู่ไกลตัว มันเป็นสวรรค์ที่อยู่ข้างใน อย่างที่ผู้ใหญ่โบราณท่านบอกว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่แหละสวรรค์อันนี้ สวรรค์ในที่นี้ ก็คือความพอใจ ความอิ่มใจ ความเบิกบานใจ มันหยุด หยุดความโลภ หยุดความโกรธ หยุดความหลง มันพร้อมที่จะแบ่งปัน พร้อมที่จะให้ รู้จักยิ้ม รู้จักยอม รู้จักเย็น ไม่ร้อน ไม่ดิ้นรน เหมือนอย่างที่เคยไป ที่เคยเป็น
นอกจากนั้น บางท่านยิ่งไปกว่าระดับนี้อีก ก็จะมีความเพลิดเพลิน สนุกสนานในการที่ได้แจกของส่องตะเกียง นี่เป็นสำนวนของเซน (Zen) ที่เขาชอบใช้ แจกของส่องตะเกียง แจกของ ของอะไร ของนั้นก็คือหมายถึง ความสุข ความสงบที่ตนมี เผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนมนุษย์ ในรูปของนิทานเซน (Zen) เรื่องหนึ่ง ไม่พูดตั้งแต่ต้นนั่นนะคะ แต่พูดตอนรูปสุดท้ายเลย หลังจากที่เขามาสู่ช่วงชีวิตสุดท้าย คือชีวิตแห่งความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ ตาคนนี้เขาก็ออกไปแจกของส่องตะเกียง แต่งตัวง่ายๆ เรียกว่าธรรมดาที่สุด ไม่มีอะไรหรูหราเลย แล้วก็แบกถุงใบใหญ่ ถุงใบใหญ่นั้นยาวจนกระทั่งเกือบจรดพื้น แล้วก็ที่แบกก็ใช้ไม้เท้า แล้วอีกมือหนึ่งก็ถือตะเกียงเดินส่องไปอย่างนี้ ถ้าจะถามว่าสิ่งที่เขาเอาไปแจกนั้นคืออะไร ที่เราพูดว่าความสุข ความสงบเย็น ตะเกียงให้แสงสว่างทุกท่านก็ทราบแล้ว เมื่อที่ใดมืด พอเราจุดไฟ เปิดสวิตช์ความสว่างเข้ามาแทนที่ขับไล่ความมืดออกไป นี่เป็นสิ่งข้างนอก แต่ความมืดที่เกิดขึ้นข้างใน นั่นคือความเขลา ความเขลาที่ตกเป็นทาสของตัณหา ความอยาก เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อขับไล่สิ่งนั้นออกไปได้ด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา ฉะนั้นตะเกียงเขาก็หมายถึงเป็นสัญลักษณ์ แล้วถุงใบใหญ่ที่เขาแบกเอาไปนั้น ก็เป็นสัญลักษณ์ตามสมมติเหมือนกัน ว่านั่นแหละคือถุงแห่งปัญญา ก็หยิบเอาปัญญาซึ่งเป็นนามธรรมออกแบ่งปันให้แก่เพื่อนมนุษย์ นั่นก็คือปัญญาที่มีอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นในช่วงชีวิตสุดท้ายนี้ บางท่านอาจจะเพลิดเพลินในการแจกของส่องตะเกียง เพราะมีชีวิตอยู่เหนือปัญหาแห่งความตาย และความอยู่ สิ่งที่มันข้องอยู่ในจิตของมนุษย์ก็คือ กลัวตาย กลัวจะอยู่ไม่เป็นสุข คำว่าอยู่ไม่เป็นสุข ก็คือว่า กลัวจะไม่ได้มีอย่างที่อยากจะมี ไม่ได้เป็นอย่างที่อยากจะเป็น มันก็ดิ้นรน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้เพราะความดิ้นรนของมนุษย์ อยากจะอยู่ อยากให้มีมากกว่าคนอื่น ได้มากกว่าคนอื่น เป็นอะไรที่วิเศษกว่าคนอื่น นี่คือดิ้นรน อยู่กับความอยู่ และก็กลัวความตาย ไม่อยากตาย อยากจะอยู่ แต่ก็ไม่มี ไม่เห็นมีใครไม่ตาย หรือว่าหนีความตายพ้นสักคน แต่ลืม ลืมตายในขณะที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่ที่จะให้ได้มากกว่าเขา ก็ลืมตาย แต่ในช่วงชีวิตสุดท้ายของบุคคลที่สามารถปฏิบัติมาจนถึงช่วงชีวิตนี้ได้ย่อมจะไม่มีความดิ้นรน ในระหว่างความอยู่ และความตาย เพราะมองเห็นเสียแล้วว่า ความสงบเย็นของชีวิตนั้นหาได้ในทุกแห่ง ถ้าสามารถรู้จักที่จะแก้ไข
ทีนี้ถ้าเราจะดูว่า ถ้าเราแบ่งชีวิตออกเป็นสี่ช่วงนะคะ ช่วงที่หนึ่ง ชีวิตแห่งการศึกษา ช่วงที่สอง ชีวิตแห่งการเผชิญชีวิต ช่วงที่สาม ชีวิตแห่งการบริโภคผลของชีวิต ช่วงที่สี่ ชีวิตแห่งความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และก็ต่อเพื่อนมนุษย์ เชื่อว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายของชีวิตนั้น คือช่วงชีวิตที่เท่าไรคะ ที่สี่ใช่ไหมคะ นี่คือช่วงชีวิตที่สี่ ที่เป็นเป้าหมายของชีวิตของมนุษย์ทุกคน ที่เราต่างตะเกียกตะกายดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนทำงานทำการเหน็ดเหนื่อยสายตัวจะขาดเพื่ออะไร เพื่อความมีชีวิตเย็น เป็นประโยชน์ แล้วเรามองดูผู้ใหญ่ที่เราได้ผ่านพบมา ก็ลองตอบตัวเองก็แล้วกันนะคะว่า เราได้พบบุคคลเช่นนี้ในปัจจุบันนี้สักเท่าใด ที่สามารถบรรลุผลสุดท้ายของชีวิต คือความมีชีวิตเย็น เป็นประโยชน์ ความมีชีวิตที่สงบเย็น เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีน้อย มีน้อยมาก ส่วนมากมักจะยังคงอยู่ด้วยความทุรนทุราย คำถามต่อไปก็คือว่า ทำไม ทำไมจึงไม่สามารถบรรลุถึงช่วงชีวิตสุดท้ายเช่นนี้ได้ มองเห็นไหมคะว่า การที่จะบรรลุผลสุดท้ายได้ ช่วงชีวิตสุดท้ายได้ แล้วก็สามารถเผชิญชีวิตได้ อย่างชนิดที่ไม่ต้องกระเสือกกระสน เหมือนปลาหมอที่ถูกเหวี่ยงขึ้นมาบนทราย แล้วก็สามารถบริโภคผลของชีวิตได้ มันจะต้องเนื่องมาจากอะไรคะ มาจากช่วงชีวิตไหนเป็นสำคัญ คะ ช่วงชีวิตต้น คือช่วงชีวิตแห่งการศึกษา ช่วงชีวิตนี้เป็นช่วง...