แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ลองดูว่ามันกระทบตรงไหน ตรงไหนก็ได้ที่รู้สึกว่าจะเฝ้าดูได้ชัดถนัดกว่าจุดอื่น ก็เลือกจุดนั้น แล้วจากนี้ไปก็ควบคุมลมหายใจ ทั้งหลายทั้งปวงให้สงบระงับ ถ้ามันเร็วก็ทำให้มันช้า ควบคุมให้ช้า ถ้ามันหนักก็ควบคุมให้เบา ถ้ามันหยาบก็ควบคุมให้ละเอียด ควบคุมด้วยสติตามความชำนาญ ที่ได้ปฏิบัติมาแล้วในขั้นที่3 ควบคุมให้เป็นลมหายใจที่ช้าลง เบาลง ละเอียดขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะยาวหรือสั้น ไม่สำคัญ สำคัญตรงที่สามารถควบคุมมัน ให้ช้าลง เบาลง จนละเอียดขึ้นทีละน้อยๆๆ และกำหนดจิตเฝ้ารับรู้ ตรงจุดที่ลมหายใจกระทบเมื่อผ่านเข้า กระทบเมื่อผ่านออก รับรู้ไว้เพื่อให้จิตมีสติ ไม่ง่วงไม่เผลอ รับรู้ทุกขณะที่ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออก ถ้าเกิดความรู้สึกเพลีย จะง่วงเพราะลมหายใจเบา ก็หายใจยาวแรง ไล่มันไปเสียก่อน ทีหนึ่งไม่ไป ก็2ที 3ทีจนกว่ามันจะเกลี้ยง แล้วจึงกลับมาเฝ้าดูลมหายใจที่จุดนั้นต่อไป พร้อมกับควบคุมให้มันสงบระงับ คำว่าสงบระงับก็หมายความว่า มันเบาลง บางลง ช้าลง ละเอียดขึ้น สังเกตดูตรงนี้ แล้วก็สังเกตผลที่เกิดขึ้นก็คือปรุงแต่งกายนี้ให้สบาย มีความผ่อนคลายไม่ตึงเครียด สบาย ผ่อนคลาย เบา แล้วจะค่อยสะท้อนไปถึงใจ ให้ใจนี้มีความสงบ มีความนิ่ง มีความเย็น เกิดขึ้นด้วย
ค่อยๆ ทำไปช้าๆ นะคะ ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องหวัง ตั้งใจทำไป ค่อยๆ ควบคุมให้สงบระงับ ไม่ต้องเอาใจใส่กับผู้ใด จงใส่ใจกับการปฏิบัติของตนเท่านั้น สติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ตรงจุดที่ตั้งใจเฝ้าดูนั้น รับรู้การกระทบของลมหายใจนั้น ทั้งเข้าและออก เข้า ออก กำหนดสติจดจ่ออยู่ที่จุดที่แตะตรงจุดนั้น เมื่อผ่านเข้าผ่านออกทุกขณะ ควบคุมให้ลมหายใจนั้นสงบระงับ ยิ่งขึ้นๆ จนรู้สึกเบาสบาย ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็ผ่อนคลาย ภายในก็นิ่งสงบ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความวิตกกังวล ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งใดทั้งสิ้นนอกจากลมหายใจ ปัจจุบันขณะนี้เป็นขณะที่มีค่าสูงสุดต่อชีวิต เพราะเป็นขณะที่เราสามารถรับรู้ทุกสิ่งได้ด้วยสติ สามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องได้แก้ไขได้ ในปัจจุบันขณะนี้จึงเป็นขณะที่มีค่ามีความหมายต่อชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องพยายามกระทำปัจจุบันขณะ ให้เป็นปัจจุบันขณะที่อยู่กับความถูกต้อง ถ้ารู้สึกง่วงอย่าฝืนอยู่กับลมหายใจ ต้องทำการขับไล่ไปเสียก่อน แล้วจึงกลับมาควบคุมลมหายใจใหม่ หรือจะลืมตาขึ้นก็ได้ พอแจ่มใสแล้วจึงปฏิบัติขั้นที่4 ต่อไป หากมีเวทนาใดเข้ามารบกวน จะเป็นสุขเวทนาก็ตามทุกขเวทนาก็ตาม กำหนดรู้ด้วยสติแล้วขับไล่มันออกไปด้วยลมหายใจที่ใช้ได้ อย่าไปอ้อยอิ่งอยู่กับมัน เพียงแต่รู้ว่าเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา แล้วขับไล่มันออกไป หรือมีนิวรณ์ตัวใดเข้ามารบกวนก็ให้รู้ว่าเป็นนิวรณ์ รู้ด้วยสติรู้ให้ชัดว่าเป็นนิวรณ์ตัวไหน แล้วขับไล่มันออกไป กลับมาเฝ้าดูที่จุดจุดเดียวนั้น พร้อมกับควบคุมลมหายใจให้สงบระงับยิ่งขึ้น ขณะจิตนี้เป็นขณะจิตที่เรากำลังให้โอกาสแก่ใจ ได้พัก พักจากความคิดจากความวิตกกังวล ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว ฉะนั้นจงใช้เวลานี้ให้คุ้มค่าอย่าเอางานมาปน อย่าเอาปัญหาส่วนตัวมาปน มันจะทำให้ไม่ได้อะไรเลยสักอย่างเดียว เป็นเวลาสูญเปล่าน่าเสียดาย
กำหนดจิตเฝ้าดูที่จุด ที่ลมหายใจกระทบเมื่อผ่านเข้าและผ่านออก จิตจะได้มีความสงบเยือกเย็น มีสติมีกำลัง มีกำลังมีพลังที่จะไปใช้ในการทำงาน ใช้ในการแก้ปัญหาส่วนตัวต่อไป เมื่อจิตเริ่มสงบ ก็จงเฝ้าดูที่จุดนั้นต่อไป ให้ลมหายใจสงบระงับให้ยิ่งขึ้นๆ จนความสงบภายในหนักแน่นขึ้น มั่นคงขึ้น อาการภายในมีการรวมตัวกัน หนักแน่นขึ้นจนดูเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเกิดขึ้นได้ด้วยจิตที่ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ และเฝ้าจดจ่อดูด้วยสติ อย่ากังวลที่จะทำอย่างอื่น จงทำอย่างนี้อย่างเดียวในขณะนี้ แล้วจะได้ลิ้มรสของความสงบ ความเยือกเย็นผ่องใสภายในที่ไม่เหมือนกับรสของความชุ่มชื่นอย่างใดทั้งสิ้น ต้องลิ้มรสด้วยตัวเอง แล้วจะรู้จักด้วยตัวเอง หากผู้ปฏิบัติใดมีสิ่งรบกวนเช่นความคิด ก็จงกำหนดสติดูความคิดนั้นให้เห็นอนิจจังในความคิด ดูด้วยสติทุกลมหายใจเข้าออก หากมีความจำได้หมายมั่นในอดีตมารบกวนก็จงดูอนิจจังให้เห็นในความจำได้หมายมั่นนั้นด้วยสติ พอเห็นชัดแล้วขับไล่ไป ดึงจิตกลับมาเฝ้าดูลมหายใจ ทุกขณะทั้งเข้าและออกต่อไป พร้อมกับควบคุมให้มันสงบระงับยิ่งขึ้นๆ ถ้าหากผู้ปฏิบัติใดมีความรู้สึกว่าความสงบไม่เกิดเลยในจิตมีแต่ความวุ่นวาย จงดูลงไปให้เห็นชัดว่าจิตขณะนี้ถูกรบกวนด้วยกิเลสตัวใด ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือถูกรบกวนด้วยนิวรณ์ตัวใด ดูให้ชัดจนชัดว่านี้คือธรรมชาติของจิต กำหนดรู้ด้วยสติเพื่อแก้ไขต่อไป
หากจิตของท่านผู้ใดอยู่ในความสงบแล้ว ลมหายใจละเอียดสงบระงับ จนเหมือนไม่มีลมหายใจ ก็จงกำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่จุดนั้นเฉยๆ ด้วยสติ หรือจะใช้จิตนั้นสัมผัสด้วยความรู้สึกต่อความสงบที่เกิดขึ้นภายในก็ได้ สัมผัสให้รู้จักความสงบที่เกิดขึ้น ว่าเป็นความสงบมากหรือน้อยเพียงใด แล้วควบคุมด้วยสติ ให้สงบยิ่งขึ้นๆ พยายามประคองรักษาความสงบที่เกิดขึ้นอยู่ภายในไว้นะคะ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถใด รักษาจิตให้อยู่ในจิต