แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพราะฉะนั้นก็อยากจะพูดในหัวข้อที่ว่าธรรมะทำไม คือที่ได้ตั้งใจมาด้วยกันทุกคนที่นี่เสียสละเวลามา มาอยู่ไม่สบาย นอนไม่สบาย กินไม่สบาย เพื่ออะไร ก่อนจะมาได้ถามตัวเองหรือเปล่าคะ ว่าเรามาทำไม หน้าร้อน อากาศร้อนน่าจะอยู่บ้าน น่าจะไปเที่ยวชายทะเล ไปเดินป่า แล้วมาอยู่ที่ร้อนๆ ต้องบังคับตัวเองให้ทำตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่ออะไร มีอะไรเป็นจุดบันดาลใจหรือว่าเป็นแรงผลักดันให้มา ตอบตัวเองได้ไหมคะ บางท่านอาจจะบอกว่าอยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง พอดีมีเวลาว่าง เป็นนักศึกษาปิดเทอม หรือว่าผู้ที่ทำงานแล้วก็ลางานได้ก็เลยมา นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เป็นปลายเหตุอย่างมาก แล้วเหตุจริง ๆ ที่มันอยู่ในใจที่ทำให้เราอยากจะมาเพื่อมาลองฝึกสมาธิ อบรมภาวนา ตลอดจนกระทั่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของธรรมะ มันเพื่ออะไร ก็คิดว่าอย่างน้อยที่สุดหลายท่านคงจะได้มีความรู้สึก (เสียงขาดหายไป) ที่ผ่านมาเราก็ได้มีความสุข ได้มีบ้าน มีเงินทองจับจ่ายใช้สอย มีงานการทำ มีครอบครัว มีความอบอุ่น มีความเป็นสุขในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทั้งๆ ที่มีสิ่งเหล่านั้น ทำไมบางทีใจมันไม่เป็นสุขตลอดไป บางทีใจมันหงุดหงิด มันอึดอัด มันไม่สบาย จนลงเอยด้วยคำว่าเครียด ความเครียดก็หมายถึงความตึง มันตึงเขม็งเป็นเกลียวอยู่ในใจ มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันไม่มีความผ่อนคลาย แล้วถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันเหมือนกับจะขาดผึงออกไปเลย แล้วทีนี้ถ้าไม่สามารถจะแก้ไขความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ช้าไม่นานมันก็กลายเป็นความเซ็ง เซ็งก็คือเหนื่อยหน่าย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง มองไปทางไหนก็ไม่มีความรู้สึกพึงพอใจ มันมีแต่ความหม่นหมอง มีแต่ความขุ่นมัว มีแต่ความอึดอัดขัดใจ ฉะนั้นเชื่อว่าทุกท่านได้ผ่านสภาวะของจิตที่มีความเครียดและความเซ็ง ลองใช้เงินแก้มันก็ไม่หาย ใช้อำนาจแก้มันก็ไม่หาย ใช้อำนาจแก้ก็ขู่ ตวาด บังคับ ข่มขี่ เรียกร้องเอาจากผู้ที่ด้อยกว่า มันก็ไม่หายเครียดในใจ ใช้บริวารแก้มันก็ไม่หายเครียด ใช้บ้านช่อง ใช้แอร์คอนดิชันแก้มันก็ไม่หายเครียด ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในห้องแอร์เย็น ฉะนั้นความเครียดความเซ็งที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ สิ่งนี้แหละดิฉันคิดว่าคงจะทำให้เพื่อนผู้สนใจในธรรมหลายท่านลองคิดดูว่า บางทีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา ที่คนทั่วไปมักจะเห็นว่าเป็นสิ่งคร่ำครึ หรือเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านชอบพูดว่า ครึๆ คระๆ คือมันโบราณเก่าแก่ มันล้าสมัยเต็มที ถ้าจะเอามาพูดในยุคไฮเทคนี่ มันเหมือนกับเต่าล้านปี แต่ในเมื่อบรรดาม้าเร็วช้างเร็วในสมัยนี้ไม่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาของความเครียดความเซ็งได้ บางทีเต่าล้านปีนี่มันอาจจะมีประโยชน์อะไรก็ได้ ถ้าเรารู้จักมองในแง่มุมให้ถูกต้อง แล้วก็ศึกษาให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในเช้าวันนี้ก็เหมือนกับจะเป็นการทำความเข้าใจกันว่าเรามาหาธรรมะทำไม หรือเราประสงค์ธรรมะเพื่ออะไร ดิฉันก็จะขอเสนอตามความคิดความเข้าใจของดิฉัน เพื่อให้ทุกท่านได้ลองพิจารณาดูว่าเป็นอย่างนี้รึเปล่า ถ้าเป็นจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้ไหม ข้อแรกทีเดียวถ้าจะวัดจากตัวเองนะคะ ที่เราหันเข้ามาหาธรรมะนั้นก็เพื่อหยุดการเบียดเบียน แล้วก็หยุดการถูกเบียดเบียน นี่เป็นความรู้สึก คือชีวิตนี้ที่มันเครียดที่มันเซ็งเพราะคำว่าเบียดเบียน แล้วพอการเบียดเบียนเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองดูว่าถูกเขาเบียดเบียน คือถูกคนอื่นเบียดเบียน มองจากข้างนอก โดยลืมนึกไปว่าบางทีการเบียดเบียนที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่จากคนอื่นเลย แต่เกิดจากการที่เรานั่นแหละเบียดเบียนตัวเอง ฉะนั้นดิฉันจึงสรุปลงในคำพูดว่า การที่เราจะเข้ามาหาธรรมะ ก็เพื่อหยุดการเบียดเบียน แล้วก็หยุดการถูกเบียดเบียน ทั้งสองอย่าง การถูกเบียดเบียนนี้มีลักษณะอย่างไร ทำไมเราถึงจะรู้ว่าเราถูกเบียดเบียน เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านชอบใช้คำที่อาจเข้าใจได้ง่ายๆ ท่านก็ใช้ว่า ในเมื่อมันถูกกัด คือพอรู้สึกว่ามันถูกกัดเมื่อไหร่ นั่นแหละมันถูกเบียดเบียน แต่การถูกกัดของการถูกเบียดเบียนในลักษณะนี้ ไม่ใช่การกัดข้างนอก ไม่ใช่กัดที่แขน ที่ขา ที่น่อง ที่ตัว เพราะเขี้ยวของสุนัข หรือของแมว หรือของงู หรือของสัตว์อื่นที่ใหญ่กว่านั้น หรือตัวเล็กก็อย่างแมงป่องอะไรอย่างนี้เป็นต้น มันไม่ใช่ มันไม่ใช่การขบกัดของสิ่งมีชีวิตที่กัดเอาข้างนอก แต่การถูกขบกัดในที่นี้มันเป็นการขบกัดที่ข้างใน คือขบกัดที่ใจ ทำให้ใจนั้นมันขึ้นลง นี่อาการครั้งแรก หรือสัญญาณแรกของการถูกกัดก็คือ จิตนั้นมันมีอาการขึ้นลง เรียกว่ามันโยนตัวขึ้นโยนตัวลงอย่างรุนแรง หรือมิฉะนั้นมันก็ซัดส่ายไปมาซ้ายขวาอย่างรุนแรง แล้วก็อาการของหัวใจก็เต้นแรงเต้นเร็วกว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณที่จะบอกให้เราได้สังเกต พอมีอาการเต้นแรงของหัวใจเร็วขึ้นกว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณที่จะเตือน ผู้ที่เคยดูจิตฝึกดูจิตก็จะรู้ว่า นี่คือสัญญาณเตือนให้รู้ภัยที่กำลังจะมาแล้วนะ ภัยอะไร ก็คือภัยของการถูกกัด แล้วเสร็จแล้วพอหัวใจมันเต้นแรงเร็ว ส่วนความรู้สึกภายในมันก็โยนขึ้นโยนลง เหมือนกับน้ำในทะเลที่ถูกลมพายุพัด ก็เกิดเป็นคลื่นลูกใหญ่ลูกน้อย ซัดไปซัดมา ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด หายใจไม่คล่อง ไม่สะดวก บางทีเหมือนกับรู้สึกว่าจะหายใจไม่ออกด้วยซ้ำไป ถ้าอาการมันเกิดอย่างรุนแรง นี่เป็นสิ่งที่จะสังเกตได้นะคะ ซึ่งเราควรจะสังเกต ถ้าเราสังเกตเราจะจับได้ แล้วก็รู้ว่า นี่แหละในทางธรรมท่านบอกว่า คืออาการของการถูกกัด เคยไหมคะ พูดอย่างนี้นึกออกไหมคะว่าเคยไหม เคยถูกกัดไหม ถูกกัดด้วยอะไร ถูกกัดด้วยความรัก ถูกกัดด้วยความโกรธ ถูกกัดด้วยความเกลียด ถูกกัดด้วยความกลัว ถูกกัดด้วยความระแวงสงสัย ความวิตกกังวล ไปจนกระทั่งถึงความรู้สึกแก่งแย่งแข่งดี อิจฉาริษยา ยอมไม่ได้ จะต้องเอาชนะให้ได้ จะต้องดีกว่าเขา จะต้องมีมากกว่าเขา จะต้องเป็นอะไรที่สูงกว่าเขา ใช่ไหมคะ สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้จิตไม่หยุดนิ่ง มันเกิดการถูกกัด จะเป็นรอยแผลลึกหรือตื้น แผลใหญ่หรือแผลน้อย เลือดจะออกมากหรือออกน้อย ก็ขึ้นอยู่กับอัตราหรือความรุนแรงของความรู้สึกในความรัก ในความโกรธ ในความเกลียด ในความกลัวเหล่านั้น
ทีนี้บางท่านอาจจะนึกว่า ความรักนี่มันก็กัดได้ด้วยรึ ในเมื่อความรักเป็นสิ่งงดงาม เป็นสิ่งจรรโลงโลก ทำให้โลกนี้มีสีสัน มีชีวิตชีวา มีความสดใส แล้วทำไมความรักมันถึงจะมาขบกัดหัวใจ ใครเคยถูกกัดเพราะความรักบ้าง ไม่ต้องยกมือหรอกค่ะ จะได้ไม่ต้องอายเพื่อนฝูง แต่เรารู้อยู่ในใจ ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตหรืออาจจะหลายๆ ครั้ง เราเคยถูกสิ่งที่เรียกว่าความรักนี่มันกัด แล้วมันก็เปลี่ยนเป็นความโกรธ ความเจ็บแค้น ความชอกช้ำ ถ้าหยุดไม่ได้ กลายเป็นอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรมกันเลย เหมือนอย่างที่เราเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏอยู่บ่อยๆ นั่นแหละถูกความรักกัด เพราะฉะนั้นประเดี๋ยวก็โป้ง ประเดี๋ยวก็ฟัน ประเดี๋ยวก็แทง ประเดี๋ยวก็พังกันให้ยับไปข้างใดข้างหนึ่ง นี่เพราะความรักกัด เพราะพอความรักมันเกิดขึ้น มันมีความรู้สึกหวงแหน มีความรู้สึกวิตกกังวล มีความเป็นห่วงว่าผู้ที่รักนั้นจะไม่มั่นคงซื่อตรงต่อเรา เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้จิตใจนี้ไม่มีความว่าง ไม่มีความสบาย นี่คืออาการของการถูกขบกัด ซึ่งก็ถูกขบกัดจากสิ่งเหล่านี้นะคะ เป็นอาการธรรมดา ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ไปจนกระทั่งถึงความหึงความหวง เป็นต้น อาการของความรู้สึกที่มันเป็นธรรมดาโลก มนุษย์ทุกคนมี ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าแก่เฒ่าเท่าใด ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลามันนะคะ ความรู้สึกอย่างนี้จะมีอยู่จนตาย แล้วมันก็กัดจนตาย พอใกล้เวลาที่กำลังนอนหายใจจะไม่ออก จะไปหรือจะอยู่ จะไปไม่ไปแหล่ ตอนนั้นก็ยังถูกขบกัด ถูกขบกัดด้วยอะไร ด้วยความรู้สึกข้อไหนคะ กลัวใช่ไหม ความกลัว กลัวตาย กลัวจะต้องหยุดหายใจ กลัวจะต้องจากบ้าน จากลูกหลาน จากสิ่งอันเป็นที่รักที่หวงทั้งหลาย เกิดความกลัว พอกลัวเข้าก็เลยตาย ตายด้วยความกระวนกระวาย ไม่ได้ตายด้วยความสุขสงบ เรียกว่าตายพร้อมๆ กับเขี้ยวพิษนี่ฝังอยู่ที่หัวใจนั่นแหละ เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าตายไปด้วยความทุรนทุราย เห็นไหมคะ ถ้าไม่ฝึกหัด ไม่อบรม ไม่ขัดเกลาจิตใจเสีย ในขณะที่ยังกำลังมีกำลังวังชาแข็งแรง มีสติปัญญาที่จะแก้ไขขัดเกลาตัวเอง พอถึงเวลาพะงาบๆๆ มีแรงไหม ไม่มีแรงแล้ว ถ้าหากว่ามัจจุราชมีตัวตนอย่างที่เขาว่ากันในหนังสือ ก็ไม่มีแรงจะต่อต้านกับมัจจุราช มัจจุราชจะลากไปทางไหน จะดึงไปทางไหน จะดึงหัวก่อน เท้าก่อน ต้องยอมตามทั้งนั้น เพราะมันหมดแรง ฉะนั้นในขณะที่กำลังมีแรงนี่แหละ ท่านจึงบอกว่ารีบรู้จักซะ อาการของการขบกัดมันเป็นยังไง ชีวิตที่ถูกขบกัดอยู่ทุกๆ วันนี่ ที่เจ็บปวดทุกวัน จนกระทั่งหาความสุขสงบเย็นไม่ได้ นั่งที่บ้านก็ร้อน นอนในห้องแอร์ก็ร้อน อยู่ที่ทำงานก็ร้อน เดินถนนก็ร้อน แม้แต่อยู่ในหมู่เพื่อนก็ร้อน มันมีแต่ความร้อน ไม่ว่าเป็นฤดูไหนมันร้อนหมดทั้งนั้น นี่เพราะการถูกขบกัด และเราก็ไม่รู้จักมัน
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่มันรบกวนจิตใจของมนุษย์ มนุษย์ก็รู้แต่เพียงว่ามันไม่สบาย แล้วก็อีกคำนึงก็คือว่ามันเป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ ใจมันเป็นทุกข์ แม้มีแต่ความทุกข์ แล้วก็บางคนก็เก่งกว่านั้น ในใจนี่แสนจะไหม้เกรียม เรียกว่าถูกแผดเผาด้วยความอะไรต่ออะไรดังกล่าวแล้วอยู่ตลอดเวลา แต่ทำเก่ง ทำเก่งข้างหน้า โอ๊ย ฉันนี่เหรอ ไม่มีล่ะเรื่องความทุกข์ รบกวนฉันไม่ได้ ฉันอยู่เหนือความทุกข์ อะไรๆ ฉันก็ไม่เอา ฉันไม่มีความทุกข์ แต่ในใจมันเอา ในใจมันไม่ยอม มันจะเอาอยู่ทุกอย่าง อย่างนี้คนๆ ใดที่อยู่ในลักษณะอย่างนี้ หลอกตัวเอง แล้วก็หลอกคนอื่น อันตรายมาก อันตรายแก่ตัวเอง ไม่ใช่อันตรายแก่คนอื่น เพราะจะไม่มีวันได้ค้นพบลงไปว่าอะไรคือสาเหตุ แล้วก็อาการที่มันเกิดอย่างนี้เขาเรียกว่าอาการอะไร เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนให้ยอมรับความจริง ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ศึกษาความจริงของธรรมชาติเพื่อจะมาแก้ไขอาการที่เกิดขึ้น ที่ทำให้จิตใจดิ้นรนทุรนทุราย ไม่มีความสุข แก้ไขมันเสีย แล้วมันจะได้สุขจริงๆ สักทีนะคะ เพราะฉะนั้นการที่มาหาธรรมะเพื่อหยุดการเบียดเบียนและการถูกเบียดเบียน การที่จะหยุดได้ก่อนอื่นแต่ละคนจะต้องรู้จักว่า สิ่งที่เรียกการเบียดเบียนคืออะไร การเบียดเบียนก็คือการที่ เบียดเบียนในที่นี้เราหมายถึงการเบียดเบียนข้างใน เพราะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่จิต การเบียดเบียนข้างใน เพราะฉะนั้นการเบียดเบียนก็คือลักษณะของอาการที่จิตส่ายขึ้นส่ายลง โยนขึ้นโยนลง ซัดซ้ายซัดขวา หรือบางทีมันก็หมุนติ้วจนกระทั่งหยุดไม่ได้ นั่นแหละคืออาการที่จิตถูกเบียดเบียน เพราะมันผิดไปจากความเป็นปกติ ความเป็นปกติของจิตก็คือจิตที่ราบเรียบ เยือกเย็น ผ่องใส ว่าง ว่างจากการเกาะกุมของความโลภ ว่างจากการเกาะกุมของความโกรธ ว่างจากการเกาะกุมของความหลง เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันว่างจากความเกาะกุมของความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นก็คือต้องรู้จักลักษณะอาการของความโลภ ว่าความโลภเกิดขึ้นมันมีอาการยังไงที่จิต ผู้ที่เคยเฝ้าดูจิตก็จะสังเกตได้เอง ความโลภก็คือความอยากได้ อยากได้โน่นได้นี่ ของเล็กของใหญ่ จะเป็นวัตถุสิ่งของทรัพย์สินเงินทอง หรือเป็นนามธรรม เช่น ความรัก ความดี ความเด่น ความดัง นี่เป็นนามธรรม ถ้ามีความรู้สึกอยากได้ อยากได้มากๆ อยากได้มาเป็นของเรา อาการมันมีความรู้สึกยังไง เหมือนอย่างเวลาเราไปซื้อของ จะไปตลาด หรือจะไปศูนย์การค้า พอมองเห็นของที่ชอบใจ แล้วคนก็เข้ามารุมกันอยู่หลายคน กลัวเขาจะเลือกที่เราหมายตาเอาไว้แล้วนี่ไปก่อน ทำยังไง ยื่นมือไปคว้าไว้ก่อนใช่ไหมคะ ยื่นมือไปคว้าไว้ก่อน ไปรวบไว้ก่อน จับไว้ก่อน เอาเข้ามากองไว้ตรงข้างๆ เรา ทั้งที่ไม่ได้ซื้อหมดหรอก แต่รวบเอาไว้เพื่อจะขอเลือก ขอเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุด นี่คือลักษณะอาการของความโลภ นั่นก็คือ เมื่อความโลภเกิดขึ้น จะมีอาการดึงเข้ามาหาตัว กวาดเข้ามาหมดล่ะ อะไรที่มันอยู่ในรัศมีที่จะกวาดได้ กวาดเข้ามาหมด กวาดเข้ามาเพื่อเอามาเป็นของฉัน ฉะนั้นสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นในใจ ในใจมันจะเต้นตึกตักๆๆ พร้อมกับความรู้สึกที่จะดึงเอาเข้ามา ดึงเอาเข้ามา มาหาตัวเรา นี่คือลักษณะของความโลภ เพราะฉะนั้นการที่เราจะดูว่าจิตกำลังถูกเบียดเบียนเพราะความโลภ ต้องศึกษาที่อาการของความโลภ มันจะเป็นอย่างนี้นะคะ มันจะดึงเข้ามา พอเกิดความโกรธ อาการของความโกรธตรงกันข้ามกับความโลภ ในขณะที่ความโลภจะดึงเข้ามา กวาดเข้ามาเป็นของเรา ความโกรธมันไม่ชอบนี่ มันไม่ถูกใจ โลภน่ะเพราะมันชอบ มันถูกใจ มันจึงอยากได้ แต่พอมันเป็นความโกรธ มันไม่ถูกใจ อาการก็ตรงกันข้าม ผลักไส ผลักไสออกไป ผลักออกไป ไม่เอา ในขณะที่โลภดึงเข้ามา โกรธผลักออกไป ในความรู้สึกว่าผลักออกไปนั้น ถ้ามันรุนแรงมาก มันก็มีถึงขนาดที่ว่าอยากจะทำลายเสีย สิ่งที่มาขวางกั้นที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ จะเป็นสัตว์ สิ่งของ จะเป็นบุคคล อยากจะทำลายให้มันออกไปนอกทาง นี่พอมันมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ร้อน มันมีอาการผสมความร้อน ร้อนเพราะความชิงชัง ร้อนเพราะความขัดใจ ความไม่ชอบไม่ได้อย่างใจ ผลักออกไป ไป ถ้าออกไปเป็นคำพูดก็ ไป ไปให้พ้น อย่ามาใกล้ฉัน แล้วก็อาจจะมีกิริยาท่าทางประกอบ นี่คือลักษณะของอาการความโกรธ ทีนี้ถ้าถูกเกาะกุมด้วยความหลงหรือโมหะ ดูยากหน่อย เพราะมันไม่ชัดเหมือนความโลภหรือความโกรธ ความโลภดึงเข้ามาชัดเจน ความโกรธผลักออกไปชัดเจน แต่อาการของความหลงนั้นมันเป็นอาการที่วนเวียน วนเวียน มัวเมาอยู่อย่างนั้นน่ะ เหมือนอย่างที่ ขอโทษ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนสุนัขไล่งับหางตัวเอง มันก็งับไม่ค่อยถูกสักที เพราะหัวกับหางมันก็อยู่ไกลกัน แต่มันก็หมุนเวียนอยู่อย่างนั้นล่ะ เราคงเคยเห็น เหมือนกับสุนัขวิ่งไล่งับหางตัวเอง ฉะนั้นอาการของความโลภมันก็เหมือนกับความรู้สึกที่พายเรืออยู่ในอ่าง หรือพายเรืออยู่ในบ่อวงกลม หาทางออกไม่ได้ วนไปเวียนมา วนไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น มันไม่มีทางออกไปไหน นั่นคือลักษณะของความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อใดที่มีความรู้สึกวนเวียนๆ อยู่อย่างนั้น วนเวียนอยู่กับความคิด คิดจะเอา คิดไม่เอา คิดเพ้อเจ้อ คิดฟุ้งซ่าน คิดไปอดีต คิดไปอนาคต ถอนใจออกไม่ได้ คิดอยู่อย่างนั้น ซ้ำซาก ทำให้นอนก็ไม่หลับ ทำงานก็ไม่ได้ เรียนหนังสือก็ไม่รู้เรื่อง เพราะมันสลัดความคิดนั้นไม่ออก มันวนเวียน เพราะฉะนั้นอาการของโมหะหรือความหลง บางทีก็วนเวียนอยู่กับความคิด บางทีก็วนเวียนอยู่กับความจำ ความจำในสิ่งที่ผ่านมา บางทีก็วนเวียนอยู่กับความรู้สึก รู้สึกชอบ รู้สึกชัง รู้สึกเอา รู้สึกไม่เอา มันวนเวียนแล้วมันสลัดไม่ได้ แล้วก็มองไม่ค่อยเห็น เพราะอะไร เพราะมันไม่ชัด ไม่ชัดเหมือนกับความโลภ เหมือนกับความโกรธ แล้วบางคนเลยเผลอคิดไปว่า การที่เราคิดอะไรอย่างนี้ คิดไปเรื่อยๆ นี่แสดงถึงลักษณะของคนฉลาดนะ คนฉลาดคนมีปัญญาเขาต้องรู้จักคิด นี่เขาคิดอย่างนี้ แต่หารู้ไม่ว่าการคิดนั้นเมื่อมาติดตามดูอย่างใกล้ชิด มันไม่มีสาระแก่นสาร มันคิดเพราะรัก คิดเพราะโกรธ คิดเพราะกลัว คิดเพราะเกลียด คิดเพราะไม่สบายไม่ชอบ แล้วมันก็อยู่ในความลังเลสงสัย อาการของโมหะมันลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ใช่ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก ถ้าหยุดไม่ได้ ที่อยู่ใหม่คือที่ไหนทราบไหมคะ โรงพยาบาลประสาท มากกว่านั้นก็โรงพยาบาลโรคจิตไปเลย เพราะฉะนั้นจึงต้องสังเกต
การที่เราจะสังเกตอาการของข้างในนี่จะช่วยเราได้มาก นอกจากช่วยตัวเรา ยังจะช่วยลูกหลานเพื่อนฝูงที่เขามีอาการอย่างนี้ ที่เราจะแนะนำบอกให้เขารู้ได้ เพราะอาการของความหลงหรือโมหะ มันเป็นอาการที่จิตแพทย์เขาบอกว่าย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำคือคิดแล้วคิดอีกอยู่อย่างนั้นน่ะ คิดแล้วคิดอีก คิดแล้วคิดเล่า ไม่สามารถจะหยุดการคิดนั้นได้เลย นี่มันจะเริ่มออกไปจากอาการของโมหะที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเราจึงประมาทไม่ได้ ว่าการถูกเบียดเบียนอย่างนี้มันไม่เป็นอะไรหรอก ใครๆ เขาก็เป็นกัน ถ้าใครพูดอย่างนี้นั่นคือคนประมาท ประมาทกับชีวิตของตัวเองอย่างยิ่ง ใครๆ เขาก็เป็นกัน มันก็จริง ควรจะถามต่อไปว่าแล้วเราอยากเป็นอย่างเขาไหม แล้วเราอยากเป็นอย่างคนที่เขาไปอยู่โรงพยาบาลประสาทไหม คนที่เขาไปอยู่โรงพยาบาลโรคจิต เราอยากจะเป็นอย่างเขาไหม นั่นแหละ เขาเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะเขาหยุดคิดไม่ได้ เขาหยุดวนเวียนไม่ได้ เขาหยุดหลงไม่ได้ เขาตัดไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ได้แต่เพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนที่อยู่ แล้วน่าเสียดายไหม รูปร่างแข็งแรง ไม่มีบาดแผลเลยตั้งแต่หัวจรดเท้า แข็งแรง ควรจะได้ใช้พลังงานนั้นให้เกิดประโยชน์ แต่กลับเกิดประโยชน์ไม่ได้ เพราะข้างในมันถูกกัด ถูกกัดจนพรุน จนไม่เหลือเรี่ยวแรง ไม่เหลืออะไรที่จะช่วยตัวเอง อย่าว่าแต่ช่วยคนอื่นเลย ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ข้างในมันพรุนหมด เพราะไม่เคยสังเกตว่าชีวิตของการถูกเบียดเบียนนั้นน่ะ ท่านเปรียบเหมือนกับการถูกขบกัด คือขบกัดด้วยกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าจะแจกแจงออกมาเป็นคำพูดธรรมดา ก็เป็นความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา วิตกกังวล สารพัดนั่นแหละ นี่ถ้าพูดออกเป็นคำธรรมดา แต่ที่จริงแล้วเขาถูกกัดด้วยกิเลส พอกิเลสเกิดขึ้น มันก็มีตัณหาคือความอยาก ความอยากที่จะทำตามกิเลสนั้น ถ้ากิเลสโลภ ตัณหาก็อยากจะเอา ถ้ากิเลสโกรธ ตัณหาก็จะผลักออกไป ทำลายมันเสีย ถ้ากิเลสหลง ตัณหามันก็อยากคิด อยากนึก อยากจมอยู่กับความหลงความวนเวียนนั้นยิ่งขึ้น นี่เพราะอะไร เพราะอวิชชา อวิชชา อ-อ่าง ว-แหวน สระอิ ช-ช้างสองตัว สระอา อวิชชา ก็ตรงกันข้ามกับวิชชา วิชชาคือ ช สองตัว ที่ท่านแปลว่าแสงสว่าง หรือความรู้ หรือปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาข้างใน การใคร่ครวญในธรรมที่เรียกว่าเป็นสัจธรรม เช่น ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจจยตา ศึกษาใคร่ครวญจนประจักษ์ชัด ปัญญาข้างใน ที่ในภาษาอังกฤษท่านเรียกว่า Wisdom Wisdom ก็จะเกิดขึ้นในใจ ซึ่งแตกต่างจาก Intelligence หรือ Intellectuality ที่เราใช้กันว่าเป็นความฉลาด คนฉลาด ไอคิวสูง เรียนหนังสือเก่ง ทำงานคล่องแคล่วว่องไว เจริญงอกงาม นั่นเป็นความฉลาดทางร่างกาย คือทางสมอง สติปัญญา เป็นความฉลาดอย่างโลกๆ แต่คนฉลาดอย่างนั้นก็ยังไม่พ้นการถูกขบกัด จนกว่าจะรู้จักเพิ่มพูนสร้างสม Wisdom คือปัญญาข้างในให้เกิดขึ้น นั่นแหละจึงจะเป็นคนฉลาดจริง คือฉลาดทั้งข้างนอก ฉลาดทั้งข้างใน ชีวิตนี้ก็มีความสมดุล คือได้สัดส่วนกัน เหมาะสม พอดี อยู่ในทางสายกลาง มันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่คือวิชชา
วิชชาก็คือแสงสว่าง ความรู้ ปัญญาข้างใน ที่ทำให้ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เป็นสัจธรรม ก็เลยสามารถที่จะช่วยใจของตนเองให้รอดพ้นจากการถูกขบกัดได้ ทีนี้อวิชชา เติมตัวอะ คือ อ-อ่าง เข้าไปข้างหน้า ซึ่งแปลว่าไม่ อวิชชาก็คือไม่มีวิชชา วิชชา ช สองตัวนะคะ ไม่มีวิชชา ก็คือก็คือไม่มีแสงสว่าง ในจิตที่ถูกกัด ที่ถูกเบียดเบียน ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา จนมีอุปาทานยึดมั่นจะต้องเอาให้ได้นั่นน่ะ มันเป็นจิตที่กำลังเต็มไปด้วยความมืด เหมือนอย่างท่านเปรียบเทียบว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยแสงสว่าง ทั้งกลางวันกลางคืน เพราะมีไฟฟ้าทั่วไปหมด ในเมืองก็เปิดไฟฟ้า ในชนบทหลายแห่งก็เปิดไฟฟ้า มีความสว่างทั่วถึงไปหมด แต่ท่านก็บอกว่า ทั้งๆ ที่มีความสว่างทั่วบ้านทั่วเมือง แต่คนนั้นก็ยิ่งมืดลงๆๆ ทุกที จริงไหม เพราะอะไร และหมายความว่าอย่างไร ความมืด มันมืดที่ไหน ก็แน่นอน มันมืดที่ข้างใน ทั้งๆ ที่ข้างนอกนี่ อยู่กับสปอตไลท์ร้อยแรงเทียน แสงสว่างจ้าจนลืมตาก็ไม่ค่อยจะถนัด แต่ในขณะนั้นในใจมันมีแต่ความมืด มันมืดเพราะมันถูกกัดด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยตัณหาความอยากที่จะเอาให้ได้ตามนั้น ด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เพราะมันมีอวิชชา อวิชชาก็คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ นี่ค่อนข้างยาวหน่อยนะคะ แต่อธิบายถึงสภาพความเป็นจริงของจิตที่มีอวิชชาเข้าครอบงำ ก็คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ พูดอย่างนี้ ผู้ที่มีความรู้โดยเฉพาะผู้ที่เรียนมาสูงๆ จบปริญญามาก็เถียงไม่ได้ เขาไม่ได้บอกนี่ว่าไม่รู้ เขาก็ยอมรับว่ารู้อะไรต่างๆ มากมายหลายอย่าง รู้เศรษฐศาสตร์ รู้วิศวกรรมศาสตร์ รู้แพทย์ศาสตร์ รู้การศึกษาศาสตร์ รู้ศาสตร์ต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังไม่รู้ศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่ควรจะรู้ ศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่ควรจะรู้คืออะไร ทราบไหมคะ เป็นศาสตร์ที่เป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวง ต่อให้ได้ปริญญาเอกมาจากกี่สิบศาสตร์ก็ตาม แต่ถ้าขาดศาสตร์นี้ศาสตร์เดียว ไม่สามารถจะใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้องได้ เพราะฉะนั้นศาสตร์ที่ควรรู้อย่างยิ่ง ก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หมายถึงธรรมศาสตร์ ศาสตร์แห่งธรรมะ นี่ไม่รู้ เพราะเขาไม่สอนกันในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยยิ่งเกือบจะไม่พูดถึงเลย เขามัวแต่ไปสอนศาสตร์อื่นๆ เพราะเขากลัวเด็กไทยจะไม่ทันโลก จะไม่ทันสมัย จะตามก้นฝรั่งไม่ทัน เขาก็ไปสอนศาสตร์ต่างๆ เขากลัวเด็กไทยจะไม่ไฮเทค เขาก็สอนศาสตร์สารพัดศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันเด็กไทยก็ตรงเข้าแก่งแย่งแย่งชิงกัน พอเป็นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะไปอยู่ในวงการไหน วงการเศรษฐกิจ (เสียงขาดหายไป) เบียดเบียนกันทั้งสิ้น นี่เพราะอะไร เพราะขาดธรรมศาสตร์ ไม่เคยได้ศึกษาศาสตร์ของธรรมะ ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต เป็นรากฐานของศาสตร์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นอวิชชา หมายถึงสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้สารพัดอย่าง อย่างที่ว่ามาแล้ว มีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ รู้วัฒนธรรม รู้การกิน รู้การอยู่ รู้กิริยามารยาทในสังคม รู้การกินโต๊ะแบบฝรั่ง รู้แต่งเนื้อแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ รู้ทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าจะจัดจิตของตัวยังไง จิตนั้นจึงจะไม่ถูกกัด ไม่รู้จักจะจัดจิตบำรุงจิตของตัวอย่างไร จิตนั้นจึงจะไม่อ่อนเปลี้ย และก็มีแรง มีกำลังอยู่เสมอ ที่จะทำกิจการงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองด้วยความชุ่มชื่นเบิกบาน เห็นไหมคะนี่คืออวิชชา เพราะอวิชชาเข้าครอบงำจิตเมื่อใด ความรู้ ความวิเศษ ความเก่งอะไรที่มี นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ พอกิเลสเข้าครอบงำไม่ว่าตัวไหนทั้งนั้น มันทำให้งันไปหมด ตันไปหมด เคยพูดอะไรถูกต้อง พูดไม่ถูก ปากสั่น ตัวสั่น เคยคิดอะไรแหลมคม ตื้อไปหมด มองไม่เห็นหนทาง มืด เพราะฉะนั้นนี่คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม รู้เดียงสา ต้องใช้คำว่าอย่างนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มรู้เดียงสาควรจะได้เรียนรู้แล้วจากพ่อแม่ แต่เผอิญมันเป็นคราวหรือเป็นเหตุปัจจัยที่น่าเอน็จอนาถ แม้แต่พ่อแม่ไม่น้อยเลย หารู้ไม่ว่าธรรมะคืออะไร หารู้ไม่ว่าธรรมศาสตร์คืออะไร แล้วก็ไม่รู้จนกระทั่งตัวเองถูกเบียดเบียนถูกกัดอยู่ทุกวัน จนกระทั่งมาแว้ดๆ ๆ ใส่ลูกใส่หลานก็ไม่รู้ว่านี่คืออาการถูกกัด พ่อแม่กำลังถูกกัด ปู่ย่าตายายกำลังถูกกัด ไม่รู้ ได้แต่มาแว้ดๆ ๆ ใส่ลูกใส่หลาน จนลูกหลานพากันหนีเตลิดเปิดเปิง แล้วจะเอาอะไรมาสอนลูก ในเมื่อตัวพ่อแม่ปู่ย่าตายายเองยังไม่รู้จัก แต่ก็ยังดีหรอก ยังมีเด็กที่โชคดีไม่น้อยเหมือนกันที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายรู้จักว่าธรรมะคืออะไร มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างไร แล้วก็ได้พยายามที่จะสั่งสอนลูกหลานตั้งแต่ยังเป็นเด็กให้ได้คุ้นเคย คลุกคลี ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของธรรมะ เด็กอย่างนั้นเขาเรียกว่าโชคดี โชคดีที่จะได้มีรากฐานของจิตใจที่มั่นคง แล้วก็สามารถจะใช้ความรู้ความฉลาดที่มีอยู่นั้น ตลอดจนความถนัดให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ที่ว่ายังไม่เพียงพอมีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เปิดหนังสือพิมพ์ขึ้นอ่านทั่วทั้งโลก จะไปชี้ที่ตรงไหนที่อยู่กันอย่างสงบสุข เยือกเย็น ผ่องใส หรือเป็นสวรรค์บนดิน ไม่มี ไม่ว่าอาเซีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกา ตะวันออกไกล ตะวันออกใกล้ หรือที่ไหนๆ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ มีแต่การเบียดเบียนแย่งชิง ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยความจะเอาให้ได้ในทุกวงการทั้งสิ้น นี่คือวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะมีสักกี่คนที่ได้คิดหรือว่าลองนึกดูว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัว ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงบ้านเรา ยังไม่ถึงครอบครัวของเรา ยังไม่ถึงตัวเรา แต่เราก็คือสมาชิกของโลก สมาชิกของสังคม ถ้าสังคมร้อนเราจะหนีความร้อนพ้นไหม ถ้าโลกร้อนสังคมไทยหนีพ้นไหม เดี๋ยวนี้การเดินทางการติดต่อมันรวดเร็วเหลือเกิน ชั่ววันเดียวไปได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้นเราจึงประมาทไม่ได้เลย จึงต้องควรที่ต้องศึกษาในเรื่องของความเบียดเบียนและการถูกเบียดเบียน ทีนี้ที่มนุษย์ปล่อยให้จิตถูกเบียดเบียน ถูกขบกัด ก็เพราะอวิชชามันครอบงำจิตอยู่ คือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ถ้าหากว่าสิ่งที่ควรรู้กล่าวโดยรวมก็คือธรรมศาสตร์หรือศาสตร์แห่งธรรมะ
ถ้ากล่าวให้เจาะจงลงไปอีก สิ่งที่ควรรู้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์หรือความทุกข์นั่นเอง อันเป็นข้อแรกของอริยสัจสี่ ซึ่งหลายท่านคงทราบแล้วนะคะ อริยสัจสี่ก็คือความจริงอันประเสริฐสี่ประการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ แล้วก็ได้นำมาประกาศสั่งสอนแก่มนุษย์ทั้งหลายให้รู้จักว่า สิ่งที่เราควรจะต้องศึกษาทำความรู้จักเป็นสิ่งแรก ก็คือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ท-ทหาร สระอุ ก-ไก่ ข-ไข่ การันต์ นี่แหละ จะต้องรู้จักคำว่าทุกข์ แล้วมนุษย์เราก็พูดเรื่องคำว่าทุกข์ๆ ๆ กันนี่ ตลอดวันก็ได้ พูดกันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้วในชีวิตของเรา พูดเรื่องคำว่าทุกข์ แต่ถ้าจะถามว่าแล้วรู้จักจริงๆ หรือเปล่า ว่าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์คืออะไร เคยศึกษาบ้างไหม ว่าที่สิ่งเรียกว่าความทุกข์คืออะไร น้อยคนเต็มทีที่นั่งอยู่นี่แหละค่ะ น้อยคนเต็มที ถ้าส่งกระดาษให้สักแผ่น ไหนพรรณนามาให้ฟังความทุกข์เป็นยังไง ก็อาจจะพรรณนา โอ๊ย ฉันนี่ไม่มีความสุข แต่งงานมายี่สิบปี ตอนแรกก็รักกันดี พอมีลูกมีเต้าเข้าเขาก็ไปเป็นอื่น ฉันต้องเลี้ยงลูกคนเดียวแสนลำบากตรากตรำ พรรณนาไป ร้อยหน้าก็ได้ นั่นก็คือความทุกข์เพียงส่วนเดียว เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ความทุกข์ทั้งหมด ถ้าเราจะพรรณนาอย่างนี้ พรรณนาอย่างนี้ เราจะได้หลายสิบทุกข์ เป็นร้อยๆ ทุกข์ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปพรรณนาอย่างนั้น ต้องรู้จักลักษณะของความทุกข์หรือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์อย่างชัดเจน ในความหมายของตัวมันเองก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าทุกข์หรือเมื่อพูดว่าทุกข์นี่มันมีลักษณะอาการอย่างไร เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาที่ทุกข์ ท่านบอกว่าต้องศึกษาที่ลักษณะอาการของมัน ว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์นี้มีลักษณะอาการอย่างไร ถ้าศึกษาแล้วจะค่อยฉลาดขึ้น วิชชาคือแสงสว่างจะค่อยปรากฏแก่ใจ ถ้าจะรู้เท่าทัน ท่านบอกว่าอริยสัจสี่เป็นสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษาเพื่ออะไร เพื่อว่าจะได้มีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก ที่ท่านทรงแนะนำให้มนุษย์ศึกษาอริยสัจสี่ เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก บางคนอาจจะบอกว่า โอ๊ย ฉันไม่มีหรอกข้าศึกศัตรู เพราะมีแต่เมตตากรุณา ไม่เคยมุ่งร้ายหมายขวัญใคร มีแต่เพื่อน ไม่มีศัตรู ก็จริงส่วนหนึ่งไม่ถึงครึ่งซ้ำไป แต่ที่จริงแล้ว จริงๆ น่ะ คลุกคลีอยู่กับศัตรูตลอดเวลา รู้หรือเปล่า ถ้าไม่มีศัตรู ทำไมถึงถูกขบกัด ทำไมถึงมีสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ทำไมบางทีถึงนอนไม่หลับ กินข้าวไม่อร่อย ต้องนอนก่ายหน้าผาก ทำไม นั่นแหละคือการอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าศัตรู เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นศัตรูของมนุษย์ไม่มีอะไรอื่น นอกจากสิ่งที่เรียกว่าทุกข์หรือความทุกข์ ซึ่งน่ากลัวที่สุดเลย เพราะมันเป็นศัตรูที่มองดูเหมือนกับไม่ใช่ศัตรู ใช่ไหมคะ เพราะพบมันอยู่บ่อยๆ คลุกคลีเกลือกกลิ้งใกล้ชิดมัน จนเห็นมันเป็นธรรมดา บางคนเห็นมันเป็นเพื่อน เป็นธรรมดา พอมันโผล่เข้ามาก็ เอ้า มานั่งก่อนสิ กินน้ำกินท่าก่อน ถ้าสมมติว่าเป็นคนก็จะทักทายมันอย่างนั้น แท้จริงนั่นแหละคือการเชื้อเชิญศัตรูให้เข้ามาเสียบแทง มาใกล้ชิด จนกระทั่งมันรู้จุดอ่อนว่าจะแทงตรงไหนมันถึงจะตรงหัวใจ นี่คือการที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าต้องศึกษาลักษณะอาการของมัน
คนโดยมากพอพูดถึงความทุกข์ก็จะนึกถึงแต่เรื่องร้ายๆ ที่ใหญ่ๆ ไฟไหม้บ้าน โจรปล้น ลูกหลานสาวถูกข่มขืน เกิดอุบัติเหตุหมู่ เป็นต้น ใช่ไหมคะ ทางน้ำบ้าง ทางบกบ้าง ทางอากาศบ้าง นี่แหละถึงจะเป็นเรื่องของความทุกข์ ก็ถูก แต่ทว่าลักษณะอาการของความทุกข์ใหญ่ๆ อย่างนั้น มิได้เกิดขึ้นแก่ทุกคน ใช่ไหมคะ ในที่นี้อาจจะมีบางคนเคยถูกไฟไหม้บ้าน เคยถูกโจรปล้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ดิฉันเองก็ไม่เคยถูกในสิ่งเหล่านั้น แต่เราหนีพ้นความทุกข์ไหม เรามีความสุขสนุกสบายรื่นเริงเบิกบานไหม ตลอดเวลาไหม ก็ไม่ เพราะฉะนั้นอาการของสิ่งที่เป็นความทุกข์ที่พอพูดขึ้นแล้วทุกคนรู้ นั่นก็คือ หงุดหงิด ใครไม่เคยหงุดหงิดบ้าง ไม่มี อึดอัด ใครไม่เคยอึดอัดบ้าง ไม่มี รำคาญ ใครไม่เคยรำคาญ ไม่มี หงุดหงิด อึดอัด รำคาญ ไม่สบาย บอกไม่ถูก ว่าไม่สบายเพราะอะไร มันรู้แต่มันไม่สบายใจ ไม่สบายใจ เรียกว่าพูดไม่ออกบอกไม่ถูก แต่มันรู้ว่าไม่สบายใจ เพราะในใจมันหม่นหมอง มันมืดครึ้ม เหมือนกับท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆ มันก็ไม่สบาย มันก็ไม่สนุก ถึงแม้จะไปดูหนังดูละครที่ถูกใจ ดาราที่ตัวโปรด ก็หัวเราะไปแกนๆ อย่างงั้น ความสนุกมันไม่ซาบซึ้งขึ้นมาในใจ นั่นแหละ หงุดหงิด อึดอัด รำคาญ ขัดเคือง แม้แต่นิดๆ หน่อยๆ เช่นกินข้าวไม่อร่อย นอนไม่สบาย อ่านหนังสือไม่สนุก นักประพันธ์คนนี้ แหม เคยนิยมชมชอบ เขียนอะไรมันคมคาย มันน่าอ่าน มันมีข้อคิด โอ๊ย เรื่องนี้เขียนอย่างกับไม่ได้มีคนไม่มีสติ อยากจะขว้างหนังสือทิ้ง นี่อ่านหนังสือก็ไม่สนุก ดูหนังก็ไม่ถูกใจ จะไปเที่ยวกับเพื่อน มันก็ไม่ออกรสออกชาติ อะไรๆ มันขวางหูขวางตาไปหมด เคยเป็นไหมคะที่ว่ามานี่ ใครไม่เคยเป็นบ้าง นี่แหละท่านเรียกว่าลักษณะอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ รู้จักหรือยัง แล้วเคยสังเกตไหม ไม่สนใจ เพราะมันเป็นธรรมดา นี่แหละเพราะมันเป็นธรรมดา เราจึงปล่อยให้มันเสียดแทงขบกัดทุกวันๆ เพราะความประมาท เห็นว่ามันเป็นของธรรมดา ปัดโธ่เอ๊ย หงุดหงิด ใครๆ เขาก็หงุดหงิดกัน แล้วมันดีไหมล่ะ ลองถามซิ หงุดหงิดดีไหม ถ้าอยู่กับคนหงุดหงิดสักวันมันเป็นไง หนุ่มๆ สาวๆ นี่ คนแก่อาจจะพอทน แต่หนุ่มๆ สาวๆ นี่ เอาไหม อยู่กับคนหงุดหงิดสักวันนึง พอพบหน้าเข้าก็เริ่มต้นพูด เริ่มต้นบ่น เริ่มต้นจู้จี้จุกจิก ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ เอาไหม ไม่ไหว เพราะฉะนั้นความหงุดหงิดมันเป็นธรรมดา แต่ไม่มีใครอยากอยู่กับความหงุดหงิด ความรำคาญอึดอัดเป็นธรรมดา แต่ใครก็ไม่อยากอึดอัด เพราะมันรู้สึกแน่น แน่นข้างใน เหมือนกับหายใจไม่ออก นี่มันของธรรมดา แต่เราไม่สนใจ เราไม่ศึกษา เพราะฉะนั้นอริยสัจข้อแรก ท่านจึงรับสั่งว่าต้องศึกษาสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ได้ พระองค์ทรงศึกษาเรื่องนี้ก่อนนะคะ โปรดเข้าใจ เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าสิ่งนี้แหละที่มันรบกวนความสงบสุขของจิตใจของคนเรา เยือกเย็นผ่องใสไม่ได้ ว่างไม่ได้ คือว่างจากการรบกวนของกิเลสของตัณหาอุปาทาน ว่างไม่ได้เลย นั่นเข้ามา นี่ออกไป มันสลับกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความว่าง ไม่มีความเยือกเย็นผ่องใส ไม่มีความสงบ ไม่มีความนิ่ง มันมีแต่ขึ้นๆ ลงๆ ซัดส่ายไปมา วุ่นวายสับสนอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ที่มันเข้ามารบกวนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่พูดว่า อวิชชาเข้าครอบงำจิต จึงทำให้จิตมีสภาวะของความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้โดยส่วนรวมที่เป็นคำใหญ่ก็คือศาสตร์แห่งธรรมะ หรือธรรมศาสตร์ ถ้าเจาะจงลงไปให้ชัดเจนด้วยคำๆ เดียว ก็คือสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ นี่เป็นสิ่งแรกที่ต้องศึกษาให้รู้จักเรื่องของความทุกข์ เพราะว่าความทุกข์เป็นข้าศึก ถ้าเราจะต้องต่อสู้กับข้าศึก ทุกคนก็รู้แล้ว ไม่ต้องไปถึงข้าศึกในสมรภูมิหรอก ข้าศึกศัตรูในที่ทำงาน หรือว่าในวงการกีฬา ในสังคม แม้แต่ที่บ้าน เราจำต้องทำไม ต้องรู้จักก่อนใช่ไหมคะ ถ้าเราไม่รู้จักข้าศึก ไม่รู้กำลังของเขา ไม่ล่ะข้าศึกอันนี้ฉลาดรึโง่ มีกำลังฝีมือความสามารถขนาดไหน มีอุบายพลิกแพลงอย่างไร แล้วเราจะไปต่อสู้กับเขาได้ยังไง มันก็มีแต่ถูกเขาเสียบเอาๆ ๆ จนล้มลุกคลุกคลาน เอ้า ยืนมาใหม่ ก็เสียบเอาอีก ใครเคยมีลักษณะอย่างนี้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานเกลือกกลิ้งถลากไถล เพราะโดนความทุกข์เสียดแทง ใครไม่เป็นเลย ถ้าใครไม่เป็นเลยเป็นคนโชคดีมาก แล้วก็หวังว่าจะไม่เป็นไปได้ตลอดจริงๆ แต่ถ้าใครเป็นอยู่บ้างก็จงรู้เถิดว่า บัดนี้เราต้องเตรียมพร้อมแล้ว ผู้ฉลาดต้องเตรียมพร้อม เตรียมพร้อมที่จะสร้างสรรค์พัฒนาวิชชา ช สองตัว ให้เกิดขึ้น ให้เป็นแสงสว่าง ให้เป็นความรู้ ให้เป็นปัญญาข้างใน จะได้รู้เท่าทันอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ พอมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมองเห็นมันทันที เตรียมพร้อมที่จะตั้งรับ ตั้งรับเพื่อที่จะกำจัดมันออกไป แล้วก็เอาชัยชนะต่อมัน ให้มันไม่สามารถเข้ามารบกวนทีละน้อย คือหมายความว่ากำจัดมันออกไป ให้มันไม่สามารถเข้ามารบกวน ให้ลดลงๆ ๆ ยิ่งขึ้น จนกระทั่งหมดไปได้ในที่สุด
เพราะฉะนั้นธรรมะทำไมข้อแรก ก็คือเพื่อหยุดการเบียดเบียน และที่พูดมานี้เชื่อว่าทุกท่านคงจะมองเห็นว่า การเบียดเบียนที่น่ากลัวที่สุดนี่ ถูกเขาเบียดเบียนหรือเบียดเบียนตัวเอง การเบียดเบียนตัวเองนี่แหละน่ากลัวที่สุด แล้วเราก็เบียดเบียนตัวเองตลอดเวลา แต่ธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวก็ทำให้คิดว่าเราเป็นคนถูก เราเป็นผู้ถูก ถูกต้อง เราไม่ผิด เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นที่ทำให้ตัวเองไม่สบายก็จะเพ่งโทษไปที่คนอื่น ซึ่งอันนี้ตรงกันข้ามกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้หันมาศึกษาใคร่ครวญดูข้างในของตัวเอง แต่ไม่ใช่มาเพ่งโทษตัวเองนะคะ การเพ่งโทษเป็นสิ่งไม่ถูกต้องทั้งข้างนอกและข้างใน ถ้าไปเพ่งโทษคนอื่นก็พอจะจับไหวจับพริบ คอยดูว่าเขาทำอะไรผิด จนบางทีก็พาลหาเรื่องและก็วิพากษ์วิจารณ์กัน อย่างที่เป็นกันอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นในหมู่เล็กๆ เช่นในหมู่พี่น้องเพื่อนฝูง ในครอบครัว ไปจนกระทั่งถึงในที่สถาบันการศึกษา ไปจนกระทั่งถึงในที่ทำงาน แล้วก็ในวงกว้างทั่วไป เพราะการวิพากษ์วิจารณ์กัน คอยวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ดูคนอื่น ว่าคนอื่นทำนั่นก็ไม่ถูก ทำนี่ก็ไม่ถูก ไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ เอาเปรียบ แต่ไม่เคยหันมาดูตัวเองเลย แล้วการเพ่งโทษก็มีแต่การก่อศัตรู เพราะฉะนั้นถ้ามาเพ่งโทษตัวเองก็ไม่ดีอีกเหมือนกัน ไม่ดีอย่างไร เพราะจะทำให้จิตใจนี้มีแต่ความเศร้าหมอง ชอกช้ำ ละอาย ขมขื่น แล้วก็โทษตัวเองว่า ไม่ควรเลย ไม่ควรทำอย่างนั้น ไม่ควรพูดอย่างนี้ ไม่ควรเป็นอย่างโน้น นี่ไม่ใช่วิธีของการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาให้รู้ลักษณะภาวะอาการของจิต อะไรที่ควรจะแก้ไข กำหนดจดจำแล้วก็พยายามแก้ไขมัน แต่ไม่ใช่เอาจิตนั้นไปจมอยู่ จมอยู่กับสิ่งที่พูดแล้ว ทำแล้ว ที่เป็นอดีตแล้ว และก็ทำให้จิตนี้ชอกช้ำไม่มีความสุข เหมือนกับเป็นการลงโทษตัวเอง ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่เพ่งโทษ แต่ดูตามความเป็นจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันเป็นอะไร แล้วก็แก้ไขมัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะหยุดการเบียดเบียน ทั้งเบียดเบียนตัวเองและเบียดเบียนผู้อื่น ก็ด้วยการศึกษาให้รู้จักลักษณะอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ มันมีลักษณะอาการอย่างไร และอาการที่จิตถูกขบกัดนั้น มันมีลักษณะอาการอย่างไร สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะยอมให้อวิชชาตัณหาอุปาทานเข้าครอบงำจิต แล้วก็เลยตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ทำตามกิเลสมาตลอด ก็แก้ไข แก้ไขตรงนี้ เมื่อแก้ไขตรงนี้ได้ จิตก็จะมีกำลัง สามารถที่จะรู้เท่าทันต่อความทุกข์ อาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้น แล้วก็สามารถที่จะกำจัด ข่ม ควบคุมบังคับ ไม่ให้มันมาขบกัดที่จิตให้เป็นความทุกข์อีกต่อไป ซึ่งด้วยวิธีใด ก็ด้วยการที่มาฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา นี่แหละเป็นศิลปะของวิธีการที่จะควบคุมจิตให้อยู่เหนือความทุกข์ ซึ่งก็จะได้เรียนรู้ต่อไปนะคะ
ทีนี้ธรรมะทำไมข้อที่สอง ก็คือเพื่อดับกรรม กรรม ก-ไก่ ร-หัน ม-ม้า กรรม คำว่ากรรมนี่เป็นคำที่เราพูดถึงกันมาก พูดถึงกันมาตลอดเวลา แล้วก็มักจะได้รับคำถามบ่อยๆ เมื่อไหร่ฉันจะสิ้นกรรม เมื่อไหร่ฉันจะหมดกรรม แหม ฉันนี่คงทำกรรมมามาก คำถามอย่างนี้เรียกว่า ถามด้วยความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มีความรู้สึกว่ากรรมที่เกิดขึ้นนี่มันถูกลิขิตหรือบงการโดยใครคนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจ แล้วบางคนก็จะชี้ขึ้นไปบนฟ้า พระพรหมลิขิตชีวิตแล้วว่าชีวิตนี้เป็นกรรมอย่างนั้น ใครเคยเห็นพระพรหมบ้าง นอกจากพระพรหมที่เอราวัณ ไม่มี เรามีแต่ได้ยินเขาว่ากัน พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา โปรดจำไว้นะคะ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา พุทธะมาจากคำว่าโพธิ คือปัญญา เพราะฉะนั้นชาวพุทธคือชาวหรือบุคคลผู้มีสติปัญญา ในการที่จะเชื่อ เลือกเชื่อหรือเลือกไม่เชื่ออย่างใด ต้องใช้สติปัญญา แล้วสติปัญญานี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องเกิดจากการที่นำมาทดลองฝึกปฏิบัติ ได้ยินอะไรมาก็นำมาใคร่ครวญ จนกระทั่งมองเห็นชัดด้วยเหตุด้วยผลว่าเป็นอย่างไรที่เป็นความจริง แล้วจึงค่อยตัดสินใจเชื่อ เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรม ก ร-หัน ม กรรมนี้ แปลว่าการกระทำ กรรมคืออะไร ถ้ามาถาม ดิฉันก็ตอบได้อย่างเดียว กรรมคือการกระทำ ภาษาอังกฤษเขาว่า Deed ดี ดับเบิ้ลอี ดี Deed มันก็ Doing คือการกระทำ กระทำอย่างใดผลอย่างนั้นจริงไหม กระทำอย่างใดผลอย่างนั้น นี่คือกฎแห่งเหตุและผล ซึ่งเป็นกฎของพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุและผล ชีวิตของคนเรา ชีวิตของมนุษย์เรานี้อยู่กับเหตุและผล ถ้าจะบอกว่าอยู่กับกรรม ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เป็นเหตุและเป็นผลแก่กันและกัน ใช่ไหมคะ กระทำเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ทำไมมันถึงได้ร้อนเหลือเกินอากาศเดี๋ยวนี้ หรือพูดง่ายๆ ว่าปีนี้ทำไมมันได้ร้อนเหลือเกิน ร้อนไปหมดทั่วทุกหัวระแหง ถึงหน้าฝนฝนก็ไม่ค่อยจะตกตามฤดูกาล ถึงหน้าร้อนก็ร้อนผิดธรรมดา ต้นหมากรากไม้ล้วนแล้วแต่ขาดความสดชื่น ขาดความงอกงาม นี่มันมีอะไรเป็นเหตุปัจจัย มีอะไรเป็นเหตุปัจจัย ก็เชื่อว่าทุกท่านรู้แล้ว มันก็คือความอกตัญญูของมนุษย์ มนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ใช่ไหมคะ ความอกตัญญูของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเอาประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นธรรมชาติสู้ไม่ไหว ธรรมชาติได้ให้ความเขียว ให้ความเขียวชอุ่ม ให้ความสดชื่น ให้ความชุ่มชื่น เพื่อให้มนุษย์ได้อยู่เย็นเป็นสุขกัน แต่เมื่อมนุษย์ลุแก่อำนาจของตัณหา ลุแก่อำนาจของความโลภและความยึดมั่นในตัวเอง จะต้องเอาให้ได้ เพราะฉะนั้นก็ถือโอกาสทำเมื่อจังหวะให้ ตัดไม้ทำลายป่าจนกระทั่งต้นน้ำลำธารก็เหือดหาย หาได้ยาก สัตว์ป่าทั้งหลายก็ทุรนทุรายเดือดร้อนทั่วกันหมด เพราะความเห็นแก่ตัวของคนที่เห็นแก่ตัว โดยลืมไปว่าถ้าหากว่าภัยของความแร้นเข็ญนี้เกิดขึ้น คิดว่า อ้อ ฉันมีรีสอร์ท ฉันมีห้องแอร์ ฉันมีเงิน ฉันจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ลืมไป ว่าหนีไปที่ไหนไม่พ้น ตัวหนีไปได้ ลูกตัวยังอยู่ หลานตัวยังอยู่ ที่กอบโกยหามานี่เพื่ออะไร เพื่อลูกเพื่อหลานใช่ไหม อยากให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขใช่ไหม แล้วทำเอาไว้อย่างนี้ ลูกหลานจะอยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างไร นี่ลืม นี่คือเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยของความเห็นแก่ตัวที่ทำให้มนุษย์บางคนอกตัญญูต่อธรรมชาติ ถึงกับทำร้ายและทำลายธรรมชาติ ผลที่เกิดขึ้นที่มองเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คือความแปรเปลี่ยนวิปริตผิดไปจากความที่เคยเป็นทุกอย่างทุกประการ นี่คือกฎของธรรมชาติ ที่เป็นกฎแห่งเหตุและผล กระทำอย่างใดผลอย่างนั้น เหมือนอย่างเวลานี้ก็กำลังพยายามมีบุคคลบางกลุ่ม ที่พยายามที่จะพลิกความแห้งแล้ง ความเน่าเหม็นในแม่น้ำลำคลอง ให้เป็นความใสสะอาด เพื่อเราจะได้อาศัยแม่น้ำลำคลองนั้นใช้ประโยชน์เหมือนอย่างที่เคยมี นี่เขาเรียกว่ากำลังประกอบเหตุปัจจัยจากที่มันผิดพลาดไปแล้ว จากความเห็นแก่ตัวของคนบางคน ให้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้น้ำใสมาใช้ เพื่อจะได้มีความชุ่มชื่น นี่ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ว่าถ้าทำได้ผลที่เกิดขึ้นก็จะได้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ใสสะอาด แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้คืนชีวิตมา เหมือนอย่างสมัยพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดขึ้นไปได้อาศัยความเขียวชอุ่ม ไม่เฉพาะแต่แม่น้ำเจ้าพระยาหรอก แม่น้ำชี แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง อะไรก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ที่ถูกทำลายเพราะความเห็นแก่ตัว นี่คือกฎแห่งเหตุและผล นี่พูดถึงกฎแห่งเหตุและผล หรือเรื่องของกรรมโดยส่วนรวม ที่บางคนชอบพูดว่าฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นสักหน่อย ไม่เคยทำด้วย แล้วทำไมมันถึงต้องมาเกิดกับฉัน เพราะในสังคมนี้เราไม่ได้อยู่คนเดียว ใช่ไหมคะ ที่เราเรียกว่าเป็นสังคม เพราะมันต้องมีสมาชิกอยู่ด้วยกันในสังคม เราไม่ได้อยู่คนเดียว ถ้าคนในสังคมมีจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมากจะน้อยเท่าใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น ก็จะมีแต่จิตที่คิดทำลาย เบียดเบียน เอาเปรียบ เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง มันก็ต้องสะท้อนมาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากว่าเรากำลังนอนหลับสนิท บ้านใกล้เรือนเคียงเขาลุกขึ้นมาทะเลาะกัน ด่าทอกันแต่ดึก เรานอนหลับไหม เราก็พลอยไม่หลับไปด้วย นี่คือเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่ในวงกว้าง แล้วก็เหตุปัจจัยในวงแคบ เหตุปัจจัยในวงแคบก็คือสิ่งที่เป็นการกระทำเฉพาะตัวโดยตรง เฉพาะตัวโดยตรง ไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องเลย ไม่มีคนอื่นมาเป็นปัจจัยร่วม เหมือนอย่างเป็นต้นว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด ยึดมั่นในสิ่งใด คือถ้าประกอบเหตุปัจจัยด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลก็คือทุกข์ ใช่ไหมคะ นี่ประกอบเหตุปัจจัยด้วยความยึดมั่นถือมั่น เช่น มาปฏิบัติสมาธิภาวนา ถ้าจะว่าไปก็ต้องบอกว่าเรียกว่ามาทำดี ใช่ไหมคะ มาตั้งใจทำดีเพื่อให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้ามาด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลก็เป็นความทุกข์ พูดอย่างนี้เข้าใจไหม ด้วยความยึดมั่นถือมั่นอะไร เช่นยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะมานั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นพอฉันนั่งสมาธิ ผลฉันต้องสงบ ฉันต้องเยือกเย็นผ่องใส จิตฉันต้องเป็นสมาธิ แล้วบางคนฉันต้องเห็นอะไรต่ออะไร มีความวิเศษขึ้นมาในใจ นี่คือมาด้วยความยึดมั่นถือมั่น มาด้วยอุปาทาน เรียกว่าเริ่มต้นผิดแล้ว เพราะฉะนั้นผลมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์ยังไง พอนั่งเข้ามันก็ไม่สงบ ทำไมมันถึงไม่สงบ เพราะใจมันหวังจะให้สงบ มันก็ชักเย่อกัน สงบๆ พอนั่งต้องสงบ มันก็ไม่ยอมสงบ เพราะวิธีปฏิบัติสมาธิ มันไม่ใช่ว่าพอบอกสงบมันก็สงบ มันไม่เหมือนใครจะมาเป่าหัว เอ้า สงบ เป็นไปไม่ได้ การปฏิบัติในทางสมาธิภาวนา ใครทำอย่างไรได้อย่างนั้น ต้องทำให้ถูกวิธี เพราะฉะนั้นถ้ามาปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยอุปาทาน มีตัวฉันมา แล้วก็มีความหวังอุปาทานยึดมั่น มีความหวังว่าต้องอย่างนั้น ทุกข์แล้ว ไม่สำเร็จผล ผลก็เป็นความทุกข์ แต่ถ้ามาปฏิบัติภาวนาด้วยไม่ยึดมั่นถือมั่น คือไม่มีอุปาทาน แต่รู้ว่าการมากระทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะมันเป็นประโยชน์แก่ชีวิต จะทำให้ชีวิตนี้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นต้นทุนสำหรับที่จะไปดำเนินชีวิตต่อไป ที่จะต้องไปพบกับปัญหา จะต้องแก้ไข เผชิญปัญหาอีกมากมาย จะได้อาศัยสติ สมาธิ ปัญญานี้มาช่วยแก้ไข แล้วเสร็จแล้วก็มาเรียนรู้ มาฟัง มาฟังคำแนะนำ มาฟังคำอธิบาย ว่าวิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาคืออะไร แล้วก็มีวิธีทำอย่างไร และควรจะทำอย่างไร ก็ทำ ทำให้ถูกต้อง ให้เต็มที่ ไม่ต้องมีอุปาทาน พอนั่ง เขาบอกเวลานั่งก็นั่งขัดสมาธินะ ถ้านั่งขัดสมาธิเข้า มันทำให้นั่งได้ตัวตรง มันมีความสมดุล มันไม่ล้ำไปข้างหน้า หรือไม่หงายไปข้างหลัง แล้วก็ตาจะหลับก็ได้ ไม่หลับก็ได้ในตอนต้น แต่ขอให้จิตอยู่กับลมหายใจ ก็พยายามให้จิตอยู่กับลมหายใจ รู้ทุกขณะสัมผัสกับลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก ทำเท่านี้ บางคนอาจจะบอก เด็ก ก ไก่ อย่างนี้มันเด็ก...